Latest

อย.สหรัฐฯ (FDA) อนุมัติฉลากโยเกิร์ตว่าอาจลดความเสี่ยงเบาหวานชนิด 2 ได้

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

(ก่อนเริ่มบทความนี้ขอใช้พื้นที่ตรงนี้โฆษณาหน่อยว่าหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” ของหมอสันต์ จะมีวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (28 มีค.- 8 เมย.) ที่บู้ท L07 ของฟรีมายด์ พับบลิชชิ่ง ในราคาปกติ (เพราะของดีตั้งราคาไว้ถูก ลดไม่ลงแล้ว หิ..หิ)

……………………………………………….

หลังจากที่ผู้ผลิตโยเกิร์ตในสหรัฐฯรายหนึ่งได้ส่งหลักฐานวิจัย 117 รายการ ไปขออนุมัติ FDA เพื่อให้เขียนข้างถ้วยโยเกร์ตได้ว่ามันช่วยลดการเป็นเบาหวานประเภท 2 ได้ และหลังจากได้พิจารณากันอยู่ 5 ปี ในที่สุดองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ก็ได้อนุมัติให้ผํู้ผลิตโยเกิร์ตเขียนฉลากข้างถ้วยโยเกิร์ตได้ว่า

“กินโยเกิร์ตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3 เสริฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท2 ลงได้ ทั้งนี้ FDA ได้อนุมัติ claim นี้โดยสรุปจากหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด”

หรือ

“กินโยเกิร์ตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3 เสริฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท2 ลงได้ ทั้งนี้ตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัด”

คำอนุมัตินี้ออกมาเมื่อ 1 มีค. 2024 ซึ่งนับเป็นกรณีที่น้อยครั้งมากที่ FDA จะยอมให้อาหารใดๆอ้างสรรพคุณเชิงรักษาโรค (health claim) ได้อย่างนี้

แต่ก่อนที่แฟนๆบล็อกจะเฮโลไปซื้อโยเกิร์ตกินเพื่อลดหรือรักษาโรคเบาหวาน หมอสันต์ขอให้ใช้ประเด็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ต่อไปนี้พิจารณาประกอบด้วยเสมอ คือ

1.. งานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐานขออ้างสรรพคุณโยเกิร์ตว่าลดโรคเบาหวานได้นี้ เป็นงานวิจัย ระดับ prospective cohort study ที่แม้จะเป็นงานวิจัยคุณภาพดี แต่มีระดับชั้นที่ต่ำกว่างานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงบอกได้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการกินโยเกิร์ตกับการเป็นเบาหวานน้อยลงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากินโยเกิร์ตเป็นสาเหตุให้ลดการเป็นเบาหวานได้ คือบอกได้แต่การพบร่วมกัน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน

2.. โยเกิร์ตที่ใช้ในงานวิจัยเป็นโยเกิร์ตแท้ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้าไป (added sugar) แต่ว่าในโยเกิร์ตที่เขาทำขายนั้นเกือบทั้งหมดใส่น้ำตาลเพิ่มเพียบ หากจะกินโยเกิร์ตลดโรคเบาหวานท่านควรกินกรีกโยเกิร์ตที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเลยจึงจะดี

3.. สิ่งที่จะทำให้คนหายป่วยจากโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานเป็นการประชุมแห่งเหตุ ไม่ใช่มีเหตุเพราะขาดจุลินทรีย์จากโยเกิร์ตอย่างเดียว ในแง่การจะกินอาหารเพื่อรักษาโรคได้อย่างแท้จริงต้องมุ่งไปที่รูปแบบการกินที่ทำให้สุขภาพดี (dietary pattern) หมายถึงอาหารทั้งหมดที่คนๆนั้นกินเป็นประจำอยู่ทุกวัน ไม่ใช่มุ่งเป้ากินอาหารตัวใดตัวหนึ่งเป็นอาหารพระเอกหรือ superfood เพียงตัวเดียว ดังนั้นการกินโยเกิร์ตเพื่อหวังลดโรคเบาหวานขณะที่รูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมเป็นอาหารทำให้เป็นเบาหวาน (เช่นรูปแบบการกินสมัยใหม่ในปัจจุบันที่มีไขมันอิ่มตัวจากสัตว์มาก มีแคลอรี่สูง มีแป้งขัดสีหรือน้ำตาลมาก มีกากหรือเส้นใยจากพืชน้อย) ก็จะไม่มีผลในการรักษาโรคเรื้อรังดีเท่าการเปลี่ยนรูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมแบบยกแผง โดยผมแนะนำให้เปลี่ยนการกินจากรูปแบบปัจจุบันไปหารูปแบบการกินที่มีหลักฐานว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนแล้วเช่นอาหารมังสวิรัติ อาหารพืชเป็นหลัก อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารแดชไดเอ็ท เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Chen, M., Sun, Q., Giovannucci, E., Mozaffarian, D., Manson, J. E., Willett, W. C., & Hu, F. B. (2014). Dairy consumption and risk of type 2 diabetes: 3 cohorts of US adults and an updated meta-analysis. BMC Med, 12, 215.