Latest

การข้ามผ่านดงความคิดตัวเอง เราจะเริ่มได้ที่ตรงไหนครับ

(ภาพวันนี้ / ไฟฟ้ามวกเหล็กดับ จุดเทียนกินข้าววับๆแวมๆ)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

อาจารย์ครับ

การข้ามผ่านดงความคิดของตัวเองที่อาจารย์แนะนำให้สอนเด็ก เราจะเริ่มการข้ามผ่านนี้ได้ที่ตรงไหนครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

ในการตอบคำถามนี้เมื่อผมพูดว่าความคิด ให้เข้าใจว่าผมหมายถึงประสบการณ์ในใจทุกชนิดที่เกิดขึ้นต่อยอดการรับรู้สิ่งเร้าผ่านอายตนะ รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึกด้วย ทั้งนี้เพื่อความง่ายแก่การสื่อสาร

การจะฝ่าข้าม “ดง” ความคิดของตัวเองไปสู่ความรู้ตัวที่ปลอดความคิด ให้เริ่มเป็นขั้นตอนดังนี้

  1. เมื่อแรกเริ่ม ต้องอาศัยความคิดเชิงตรรกะสรุปประเด็นให้ตนเองเห็นด้วยอย่างถ่องแท้เสียก่อนว่า “ความคิด” ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเราเรียกตัวเราว่า “ฉัน” ความคิดก็ไม่ใช่ฉัน เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ฉันสังเกตเห็นได้ ดังนั้นความคิดเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) ขณะที่ฉันเป็นผู้สังเกต (the observer) นี่เป็นตรรกะง่ายๆตรงไปตรงมาซึ่งทุกคนเห็นตามตรรกะได้ทันที
  2. คราวนี้ให้สังเกตดูกระบวนการสังเกตของเราเอง ว่าเราจะสังเกตเห็นอะไรได้ มันเริ่มจากการที่เราให้ความสนใจ (pay attention) เราให้ความสนใจอะไร เราก็จะสังเกตเห็นสิ่งนั้น เมื่อเราเผลอไม่ได้ตั้งใจสังเกตดูอะไร ความสนใจของเราจะไปขลุกอยู่ในความคิดโดยอัตโนมัติเพราะเราฝึกตัวเองให้เสพย์ติดความคิดมาตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้ดูเหมือนเราถูกผนึกเป็นสิ่งเดียวกับความคิดแบบแยกกันไม่ออก แต่เมื่อเราดึงความสนใจออกจากความคิดไปจดจ่อที่สิ่งอื่น เช่น ลมหายใจ หรืออะไรก็ตามที่ปรากฎอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือแม้แต่จดจ่อกับกิจที่เรากำลังทำเช่นล้างจาน กวาดบ้าน ความคิดก็จะถูกเพิกเฉยหรือหันหลังให้ แล้วมันก็จะฝ่อหายไปเอง ดังนั้นในขั้นตอนที่สองนี้ให้หัดสังเกตอะไรก็ได้รอบๆตัว ที่ไม่เกี่ยวกับความคิด สังเกตเห็นตามที่เห็น ไม่ต้องไปคิดต่อยอด
  3. เมื่อสามารถดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาสังเกตสิ่งอื่นได้แล้ว คราวนี้ให้ใช้ความสนใจนั้นสังเกตดูความคิดเสียเอง ซึ่งมีสองวิธี วิธีที่ 1. ซึ่งง่ายที่สุด คือเมื่อความคิดเกิดขึ้นแล้ว เราย้อนกลับไปดู (recall) ว่าเมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ วิธีที่ 2. คือเริ่มเมื่อเราดึงความสนใจมาอยู่กับสิ่งอื่นเช่นลมหายใจได้แล้ว ความคิดเก่าหายไปแล้ว คราวนี้เราอาศัยความตื่นตัว (alertness) ตั้งใจ ตั้งตา รอดูว่าความคิดใหม่เรื่องแรกที่จะโผล่เข้ามาต่อจากนี้มันจะเป็นเรื่องอะไร ซึ่งเราไม่มีทางเดาล่วงหน้าได้ แต่เราสนใจที่จะจับมัน พอมันโผล่มาและเราจับมันได้ว่าเป็นเรื่องอะไรแล้วเราก็ทิ้งมันไป หมายความว่าเลิกสนใจมันไม่ไปคิดต่อยอด หันมาตั้งใจตั้งตารอจับความคิดที่สองที่จะโผล่ขึ้นมาใหม่ การรอจับความคิดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 ขึ้น ช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 นี่แหละ คือความรู้ตัวยามปลอดความคิด ยิ่งเราขยันตื่นตัวตั้งตารอสังเกตดู ช่องว่างนี้ก็จะยิ่งกว้างขึ้นๆ อุปมาความคิดเหมือนฝูงชนในตลาดนัดในชนบทซึ่งแน่นขนัดไปหมด แต่ถ้าเราค่อยๆเดินเบียดเข้าไปในระหว่างคนนั้นคนนี้เพื่อมุ่งหน้าออกจากตลาด เมื่อมาใกล้ขอบๆนอกๆของตลาดผู้คนจะเบาบางลง เราก็ไม่ต้องเบียดมาก พอพ้นตลาดออกมาได้ก็กลายเป็นทุ่งนาโล่งกว้างที่ผู้คนแทบไม่มีเลย อุปมาการแหวกฝูงชนในตลาดย่อมยากเฉพาะตอนอยู่ที่ใจกลางตลาดฉันใด การแหวกหาช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 ก็ยากเมื่อเริ่มต้นฉันนั้น พอออกมาถึงท้องนาซึ่งเปรียบเหมือนความรู้ตัวอันกว้างใหญ่ ความคิดซึ่งเปรียบเหมือนคนในตลาดก็ไม่มีอิทธิพลใดๆอีกต่อไป
  4. เมื่อความคิดห่างออกไป ก็จะเหลือแต่ภาวะปลอดความคิดขณะที่เรายังตื่นอยู่ ซึ่งผมตั้งชื่อเรียกง่ายๆว่า “ความรู้ตัว” มันคือส่วนที่ลึกที่สุดหรือส่วนที่ไกลที่สุดของเรา ที่เรา (ฉัน) จะมีประสบการณ์กับมันได้ มันเป็นส่วนที่ภาษาไม่อาจอธิบายไปถึงเพราะมันเป็นที่ที่ไม่มีความคิดจึงใช้ภาษาซึ่งเป็นตรรกะที่ใช้สื่อความคิดไปอธิบายมันไม่ได้ ที่ตรงนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ในการเกิดมามีชีวิต มันเป็น unknown ที่เขียนเป็นตำราหรือเล่าเป็นวิดิโอคลิปไม่ได้ ทุกคนต้องออกจากความคิดของตัวเองไปทำความรู้จักกับมันเอาเอง ผมบอกได้คร่าวๆว่ามันมีอัตลักษณ์ที่สำคัญประมาณสี่ห้าอย่างคือ (1) มันเป็นพลังงานของความรักความเมตตา (love) ที่หลอมรวมทุกชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่มีอัตตามาเป็นเส้นสมมุติแบ่งแยก (2) มันเป็นความเบิกบาน (joy) ที่ตามติดไล่หลังการได้ให้ ได้แชร์ ได้ยอมรับ มาโดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่เราให้อะไรแก่ชีวิตอื่น ให้สังเกตความเบิกบานที่ตามหลังการให้นั้นให้ดี จนรู้จักมันดี คุ้นกับมันดี มันจะช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ตัวได้ง่ายขึ้น (3) มันเป็นความสงบเย็น (peace) เพราะมันปลอดตัวตนให้ต้องมาพะวงปกป้องหรือเชิดชู (4) มันเป็นที่ที่ทุกอย่างที่โผล่มาตรงนี้จะได้รับการยอมรับ (acceptance) อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะที่นั่นมันไม่มีกลไกของภาษามาสร้างคอนเซ็พท์ว่าอย่างนี้รับได้ อย่างนั้นรับไม่ได้ (5) มันเป็น “บ่อ” ของปัญญาญาณหรือความรู้แบบโผล่มาให้เห็นเองอัตโนมัติ (wisdom) ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตปกติได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

คำบอกเล่าของผมฟังดูเหลือเชื่อ ออกแนวไสยศาสตร์ ไม่เม้คเซ้นส์หากไตร่ตรองเอาตามตรรกะของเหตุและผล แต่ด้วยข้อจำกัดของภาษาผมเองจึงไม่สามารถอธิบายแจกแจงให้ลึกซึ้งกว่านี้ได้ ได้แต่แนะนำว่าให้ท่านฝึกหัดฝ่าดงความคิดที่เต็มไปด้วยคอนเซ็พท์อันคับแคบออกไปให้ได้ก่อน เหมือนคนพยายามมุดออกจากตลาดจนพ้นออกไปสู่ทุ่งนากว้างที่อุปมาเหมือนสนามของความรู้ตัวให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยไปเรียนรู้ และรู้จักมันเอาเองในตอนนั้น

ปล. ทั้งหมดนี้หากคุณทำแล้วมันไม่เห็นทีท่าว่าจะเวิร์ค ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์