Latest

โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ประเด็นการจะล้างไตกับการเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น

(ภาพวันนี้ / ดอกติ้ว)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนถามอาจารย์ครับ

คุณพ่ออายุ 75 ปี ตอนนี้ CKD stage 5 (GFR 11) ยังช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มมีปัญหาความจำระยะสั้น (ไม่รู้จาก CKD หรือ เริ่มมี vascular dementia) กับมีโรคร่วมอื่นเช่น AF, MDS, small aortic aneurysm, HTN, DLP ครับ

ปรึกษาอาจารย์ว่าควรล้างไตดีไหมครับ กังวลเรื่องคุณภาพชีวิตคุณพ่อ กับเห็นคนไข้ล้างไตส่วนนึง เห็นว่าล้างไตแล้ว dementia เหมือนจะมากขึ้นครับ และการล้างไตคงไปไหนมาไหนแบบเดิมได้ยากขึ้นครับ

เคยคุยเป้าหมายกับครอบครัวสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตเป็นหลักครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ

นพ. …

………………………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. การป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง สัมพันธ์กับการเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมหรือไม่ ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าเรื่องทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด หมายความว่าการป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังไม่ได้เป็นต้นเหตุให้เกิดสมองเสื่อม แต่มีหลักฐานว่าการป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะท้ายๆสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโมเลกุลชี้บ่งโรคสมองเสื่อม เช่น NfL และ p-tau181 ซึ่งคงเกิดจากการที่ไตสูญเสียความสามารถในการขับทิ้ง แต่ที่แน่ๆคือโรคไตเรื้อรังไม่เกี่ยวอะไรกับเป็นสมองเสื่อมมากขึ้น

ประเด็นที่ 2 การล้างไต (hemodialysis) สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมมากขึ้นหรือไม่ หลักฐานปัจจุบันพบว่าการล้างไตสัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ล้างไต เขียนมาถึงตรงนี้ผมขอนอกเรื่องนิดหนึ่งว่าทุกวันนี้ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมที่เรารู้แน่แล้ว 5 ตัวคือ

(1) การล้างไต เพิ่ม 2.4 เท่า

(2) อายุ 86 ปีขึ้นไป 2.1 เท่า

(3) การเป็นคนผิวดำ 1.70 เท่า

(4) การอยู่ในบ้านพักคนชรา 1.36 เท่า

(5) การเป็นผู้หญิง 1.12 เท่า

ประเด็นที่ 3. โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หากไม่สนใจเรื่องความยืนยาวของชีวิตแล้ว จะเอาคุณภาพชีวิตเป็นที่ตั้ง ควรจะล้างไตหรือไม่ ตอบได้ง่ายมากเลยครับ ว่าถ้าคุณภาพชีวิตทุกวันนี้ดีแล้ว ก็จะไปล้างไตทำไมละครับ เพราะสิ่งที่ต้องการคือคุณภาพชีวิต ซึ่งมีอยู่แล้ว นั่นประการหนึ่ง และการจะต้องเลือกทำอะไรไม่ทำอะไรที่ถึงขั้นเลือดตกยางออก คนที่จะพูดคำสุดท้ายคือตัวผู้ป่วยเองนะครับ ถึงเราผู้เป็นลูกจะเป็นหมอเองก็เถอะ อย่าให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นพ่อของเราเองต้องร้องเรียนขอใช้สิทธิผู้ป่วย มันจะเสียฟอร์มว่ามีลูกเป็นหมอทั้งที นั่นอีกประการหนึ่ง

นพ.สันต์ ใ ยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Stocker H, Beyer L, Trares K, et al. Association of Kidney Function With Development of Alzheimer Disease and Other Dementias and Dementia-Related Blood Biomarkers. JAMA Netw Open. 2023;6(1):e2252387. doi:10.1001/jamanetworkopen.2022.52387
  2. McAdams-DeMarco MA, Daubresse M, Bae S, Gross AL, Carlson MC, Segev DL. Dementia, Alzheimer’s Disease, and Mortality after Hemodialysis Initiation. Clin J Am Soc Nephrol. 2018 Sep 7;13(9):1339-1347. doi: 10.2215/CJN.10150917. Epub 2018 Aug 9. PMID: 30093374; PMCID: PMC6140560.