Latest

ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นจริงหรือไม่

ยาคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่างๆหรือไม่

ข้อมูลเท่าที่วงการแพทย์มี มีอยู่ห้าประเด็นคือ

1. ยาคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม เราทราบแน่นอนแล้วว่าโอกาสเป็นมะเร็งจะเพิ่มขึ้นถ้ามีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงอยู่นานๆ เช่น (1) กรณีคนมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว(ก่อนอายุ 12 ขวบ) หรือ (2) หมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 55 ปี) หรือ (3) มีลูกคนแรกช้า (เมื่ออายุเกิน 30 ปี) หรือเป็นสาวตลอดไม่มีลูกเลย สำหรับผลยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศเหมือนกันนั้น ในปีค.ศ. 1996 วารสาร Lancet ได้ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาขนาดใหญ่ที่สุด คือรวมรวมข้อมูลจากประมาณ 90% ของงานวิจัยระบาดวิทยาในเรื่องนี้ทั้งโลกเลยทีเดียว พบว่าหญิงที่กินยาคุมกำเนิดมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าหญิงทั่วไปเล็กน้อย แต่จะกลับมาเหมือนคนทั่วไปเมื่อเลิกกินยาคุมกำเนิดได้นาน 10 ปีขึ้นไป

ต่อมาในปี 2002 ได้มีการวิจัยชื่อ CARE study แบบซึ่งวิจัยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอายุ 35-64 ปีจำนวน 4,575 คน เทียบกับหญิงที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านมจำนวนเท่าๆกับ พบว่าการกินยาคุมกำเนิดไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลที่ขัดแย้งกับงานวิจัยแรก

ต่อมาในปี 2003 สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ได้จ้างทำวิจัยด้วยวิธีสำรวจหญิงเป็นมะเร็ง 907 คนเปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่เป็นมะเร็ง 1,700 คนโดยเน้นประเด็นการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ตั้งแต่เริ่มใช้เมื่อไร หยุดเมื่อไร แล้วพบว่าหญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่หรือใช้แล้วแต่เพิ่งเลิกไปไม่นาน มีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าหญิงทั่วไป ซึ่งเป็นผลที่กลับไปเหมือนผลการวิจัยเชิงระบาดวิทยาเมื่อปี 1996

อย่างไรก็ตาม การวิจัยทั้ง 3 รายการแม้จะเป็นการวิจัยขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ จึงมีความเชื่อถือได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ข้อมูลที่วงการแพทย์มีอยู่ ณ ขณะนี้จึงสรุปได้เพียงว่า ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ หรือกินแล้วแต่เลิกไปแล้วไม่เกิน 10 ปี “อาจจะ” มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิด

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งรังไข่ งานวิจัยทุกรายการให้ผลตรงกันอย่างคงเส้นคงว่าคนกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่าคนไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิด ยิ่งกินอยู่นาน ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่น้อยลง ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับชนิดของฮอร์โมนที่ใช้ในยาเม็ดที่กิน

3. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) งานวิจัยพบว่าคนกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยกว่าคนทั่วไป

4. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งปากมดลูก หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนานๆ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูดที่เด่นและชัดเจนกว่าคือการติดเชื้อไวรัสเอ็ชพีวี. ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เล็กกว่ามาก

5. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งตับ งานวิจัยหลายรายการสรุปผลว่ายิ่งใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากขึ้นสำหรับผู้หญิงผิวขาวและผิวดำ แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงสำหรับผู้หญิงเอเชียและอัฟริกาซึ่งมีอัตราการเป็นมะเร็งตับอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

สรุปสุดท้ายก็คือยาคุมกำเนิดทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับเพิ่มขึ้น และอาจทำให้เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งโพรงมดลูกลดลง โดยยิ่งใช้นาน ยิ่งมีผลมากขึ้น ดังนั้น ในแง่ของการป้องกันมะเร็ง ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงไม่เหมาะกับสตรีที่มีแผนคุมกำเนิดเป็นการถาวรหลายสิบปี เช่นสตรีที่สมรสแล้วและมีบุตรครบแล้ว การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเช่นการทำหมันหรือการใส่ห่วงเป็นวิธีที่นอกจากจะได้ผลแน่นอนกว่าแล้ว ยังปลอดภัยจากการเป็นมะเร็งมากกว่าด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Breast cancer and hormonal contraceptives: Collaborative reanalysis of individual data on 53,297 women with breast cancer and 100,239 women without breast cancer from 54 epidemiological studies. Lancet 1996; 347:1713–1727.
2. Marchbanks PA, McDonald JA, Wilson HG, et al. Oral contraceptives and the risk of breast cancer. New England Journal of Medicine 2002; 346(26):2025–2032.
3. Althuis MD, Brogan DD, Coates RJ, et al. Breast cancers among very young premenopausal women (United States). Cancer Causes and Control 2003; 14(2):151–160.
4. Hankinson SE, Colditz GA, Hunter DJ, et al. A quantitative assessment of oral contraceptive use and risk of ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 1992; 80(4):708–714.
5. Centers for Disease Control and Prevention and the National Institute of Child Health and Human Development. The reduction in risk of ovarian cancer associated with oral-contraceptive use. The Cancer and Steroid Hormone Study of the Centers for Disease Control and the National Institute of Child Health and Human Development. New England Journal of Medicine 1987; 316(11):650–655.
6. Schildkraut JM, Calingaert B, Marchbanks PA, Moorman PG, Rodriguez GC. Impact of progestin and estrogen potency in oral contraceptives on ovarian cancer risk. Journal of the National Cancer Institute 2002; 94(1):32–38.
7. Greer JB, Modugno F, Allen GO, Ness RB. Androgenic progestins in oral contraceptives and the risk of epithelial ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 2005; 105(4):731–740.
8. Emons G, Fleckenstein G, Hinney B, Huschmand A, Heyl W. Hormonal interactions in endometrial cancer. Endocrine-Related Cancer 2000; 7(4):227–242.
9. Smith JS, Green J, Berrington de GA, et al. Cervical cancer and use of hormonal contraceptives: A systematic review. Lancet 2003; 361(9364):1159–1167.
10. Yu MC, Yuan JM. Environmental factors and risk for hepatocellular carcinoma. Gastroenterology 2004; 127(5 Suppl 1):S72–S78.