Latest

สาวน้อย ไปป่วยอยู่ที่อังกฤษ

ลุงหมอ
นี่เคลียร์ลูกแม่…นะคะ

เคลียร์มาถึงอังกฤษได้สิบวันแล้ว ได้เข้าอยู่หอพักแล้ว เรื่องที่มหาลัยก็เตรียมเสร็จหมด คือเคลียร์ไม่สบายมาอาทิตย์นึงแล้ว ตอนแรกที่เป็นคือเมื่อวันเสาร์ที่แล้วตากฝนตื่นมาเลยเหมือนเป็นหวัดมีไข้ ปวดหัวแต่ไม่มีน้ำมูกคะ วันอาทิตย์น้ำมูกไม่มี ไข้ลด แต่ก็ยังมึนๆอยู่ หลังจากนั้นมาเริ่มไอ จนวันที่สี่ถึงมีน้ำมูก ตื่นมาแสบคอมาก คอแห้งแล้วก็ไอมาตลอด เวลาหายใจเข้าเหมือนมีลมตีออกมาตลอดเวลา มีเสมหะบางครั้ง ตอนนี้ไม่มีน้ำมูก ไม่ปวดหัวแต่ไอตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนเช้าตื่นนอน กับตอนกลางคืน ไอเหมือนอาการกรดไหลย้อน ที่เคลียร์รู้สึกมีแรงดันจากคอตลอดเวลา ไอจนปวดคอคะ บางครั้งปวดคอเหมือนต่อมมันบวม ตอนนี้กินยาลดกรด โมติเลียม ที่แม่เตรียมมาให้คะ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

     เอาประเด็นการวินิจฉัยว่าเป็นอะไรก่อน เห็นจดหมายของคุณแล้วคิดถึงคำบอกเล่าของครูของผมท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นหมอทหาร ท่านเล่าว่าสมัยหนึ่งท่านติดตามป๋าเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ไปตรวจเยี่ยมไปตามชนบทภาคใต้ พบเห็นชายแก่ชาวบ้านคนหนึ่งอุ้มลิงที่ท่าทางจะไม่สบายอยู่ในตัก ป๋าจึงถามว่า

     “ลุ้ง.. ลิ้งมันเป๋นไร้?”

     ลุงตอบด้วยความนอบน้อมว่า

     “ลิ้ง มันก็เป๋นลิ้ง!”

     อาการที่คุณเล่ามา ประเมินง่ายๆแบบตรงไปตรงมามันเป็นการติดเชื้อในทางเดินลมหายใจ (respiratory tract infection) อย่าไปคิดซับซ้อนถึงปัญหาในระบบทางเดินอาหาร กรดไหลย้งไหลย้อนให้ยุ่งยากเลย ลมที่ตีออกมาเวลาหายใจเข้าเป็นกลไกกระตุ้นการไอเวลาติดเชื้อในทางเดินลมหายใจแล้วระคายเคือง (cough reflex) ไม่ใช่ลมจากกระเพาะอาหาร

     การติดเชื้อเกิดจากภูมิคุ้มกันลดลงฮวบฮาบ ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจาก

(1) อุณหภูมิร่างกายเย็นเกินไป (หรือร้อนเกินไป) หรือเปลี่ยนอุณหภูมิร่างกายฮวบฮาบ
(2) ความเครียด
(3) การอดนอน
(4) การตากฝนไม่ได้เป็นเหตุของการติดเชื้อ แต่ลมและฝนเป็นตัวบอกการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศซึ่งมีผลต่อภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย เพราะเมื่ออากาศเปลี่ยน ภูมิคุ้มกันมักตก และมักป่วย แบบที่เรียกว่าไข้หัวลม
(5) ร่างกายอ่อนแอจากการขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดน้ำจากการเดินทางไกล

     ตัวเชื้อที่ทำให้ป่วยครั้งนี้อาจเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อบักเตรีก็ได้ ส่วนใหญ่ (80%) เป็นเชื้อไวรัส เหลือประมาณ 20% เป็นการป่วยจากเชื้อบักเตรี

     วิธีรักษาให้ทำตามลำดับความสำคัญดังนี้

     1. ต้อง keep warm ใช้ long johns ถุงมือ หมวก ผ้าพันคอ เป็นบ้านนอกเข้ากรุงอย่าไปรีบระเริงอากาศเย็น ให้เวลาร่างกายทำความคุ้นเคยกับอากาศเย็น (acclimation) ตรงนี้สำคัญที่สุด กระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นเดือน

     2. ให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอ  ที่สำคัญที่สุดก็คือโอกาสได้นอนหลับอย่างเพียงพอ ในอุณหภูมิที่เราสบายๆ

     3. ดื่มน้ำให้มากในตอนกลางวัน น้ำอุ่นหรือน้ำเย็นก็ได้ ดื่มจนเข้าห้องน้ำบ่อยทุกสองชั่วโมง คือดื่มวันละ 1-2 ลิตร

     4. ก่อนนอนให้นั่งสมาธิตามดูลมหายใจตัวเองเพื่อขจัดความคิดกังวลสัก 5 นาที ให้จิตสงบแล้วค่อยนอน เป็นการตัดวงจรความเครียดเรื้อรัง อย่าเข้านอนโดยมีความคิดจะทำโน่นนี่นั่นติดอยู่ในหัว

     5. เนื่องจากการป่วยครั้งนี้เกิดขึ้นในสภาวะที่ร่างกายและจิตใจเครียดเพราะเพิ่งย้ายถิ่นฐานที่อยู่และเปลี่ยนอากาศไปแบบสุดๆ งานวิจัยบอกว่าเฉพาะกลุ่มคนที่ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดมาก (extreme stress) อย่างนี้ วิตามินซี.อาจช่วยลดอุบัติการณ์ของการเป็นหวัดได้ครึ่งหนึ่ง และอาจลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ ดังนั้น ในช่วงปรับตัวกับที่ใหม่นี้ หากจะกินวิตามินซี (วันละ 500 – 1000 มก.) ทุกวันก็ไม่เสียหลาย จนกว่าจะหายสบายดีแล้วค่อยหยุดกิน
   
     สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่น การใช้วิตามินซี.ป้องกันหวัดนี้ ไม่ได้ผลในคนทั่วไปนะ งานวิจัยบอกว่ามันได้ผลเฉพาะในคนที่อยู่ในภาวะเครียดสุดๆ เช่น นักสกีทางไกล นักวิ่งมาราธอน เป็นต้น

     6. ยาบรรเทาอาการคัดจมูก หากจะใช้ควรใช้เฉพาะยาในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนกินก่อนนอนเท่านั้น เช่น Telfast (ไม่ง่วง) หรือ Chlorpheniramine (ง่วงและหลับดี) หากอาการมากอาจกินเช้าเม็ดเย็นเม็ดก็ได้

     ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกที่มีส่วนผสมของ pseudoephedrine (อย่างเช่น Consinut หรือ Actifed) เพราะตัว pseudoephedrine จะเพิ่มความเครียดให้ร่างกายมากขึ้น เผลอๆอาจกลายเป็นใจสั่นนอนไม่หหลับไปเลย

     7. ไม่ควรใช้ยาลดไข้บรรเทาปวด (paracetamol) เพราะจะไปบดบังอาการไข้ ทำให้วินิจฉัยภาวะปอดบวมได้ยาก อีกอย่างหนึ่งยา paracetamol นี้ไม่ใช่ว่าเป็นยาที่ปลอดภัยนักหนา ที่ทำให้ตับวายและตายก็มีให้เห็นกันอยู่นานๆครั้ง ไม่จำเป็นไม่ใช้ดีที่สุด ถ้าปวดหัวก็ทำเวทนานุสติปัฏฐาน แบบว่า ปวดหนอ..ปวดหนอ

     ในกรณีที่ปวดทนไม่ไหวต้องกินยา ก็กินยา paracetamol เม็ดเดียว (500 mg) ไม่บ่อยกว่าทุกหกชั่วโมงค่อยกินหนึ่งครั้ง คนไทยตัวกระเปี้ยกเดียวแต่ชอบกินยาพาราเซ็ตตามอลทีละ 2 เม็ด (1,000 มก) ซึ่งมากเกินความจำเป็น งานวิจัยพบว่าที่ขนาด 10 mg/kg ก็บรรเทาปวดได้ไม่ต่างจากขนาดที่สูงกว่านั้น

     8. การกินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (บางคนก็เรียกว่ายาแก้อักเสบ) สำหรับคนที่ป่วยเป็นหวัดมานานเกิน 7 วันแล้วอย่างคุณนี้ เป็นทางสองแพร่ง คือเลือกจะกินหรือไม่กินก็ได้ เพราะตอนนี้เราไม่มีหลักฐานว่าติดเชื้ออะไร (บักเตรีหรือไวรัส) หากถือตามอุบัติการณ์ มันน่าจะเป็นไวรัสมากกว่า ไวรัสไม่มียาฆ่า ยาปฏิชีวนะฆ่าได้แต่บักเตรีเท่านั้น การกินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะซี้ซั้วมีผลเสียต่อตัวเรามากกว่าผลดี อีกอย่างหนึ่ง ณ ขณะนี้การติดเชื้อไม่ได้รุนแรง ตัวบอกความรุนแรงคือการมีไข้สูง ดังนั้น ไม่กินดีกว่า เว้นเสียแต่ว่าหากมีไข้สูงต่อเนื่อง ควรกินยาปฏิชีวนะเพราะอาจลามเป็นปอดบวมได้ หรือถ้าไข้สูงแล้วไม่มียาก็ต้องไปหาหมอของมหาลัย

     กรณีที่พกยาไปจากบ้านเพียบแบบนักเรียนไทยทั้งหลาย หากจะกินยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน ตัวเลือกตามผลความไวการสนองตอบของเชื้อที่เมืองไทยตามลำดับ คือ

     Levofloxacin (Cravit) 500 mg วันละครั้ง 7 วัน หรือ

     Clarithromycin (Klacid) 500 mg วันละคร้้ง 7 วัน หรือ

     Augmentin 625 mg ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน (ที่เมืองไทยไม่ค่อยได้ผลแล้ว ที่อังกฤษไม่รู้)

ในกรณีที่กินยาปฏิชีวนะ ก็ไม่ต้องตะบันกินจนครบ 7 วันตามโผ พออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดเลย ปล่อยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายรับไม้ทำหน้าที่ต่อ คอนเซ็พท์ที่ว่ากินยาต้องครบคอร์สเพราะกลัวเชื้อดื้อยานั้นตอนนี้ต้องเปลี่ยนเสียใหม่ ว่ากินยาปฏิชีวนะต้องกินให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อหัวแข็งที่ซุ่มอยู่ในตัวกำเริบขึ้นมา (superinfection) เพราะเชื้อหัวแข็งจะซ่าไม่ออกถ้าอยู่ในดงของเชื้อหัวอ่อน เมื่อยาปฏิชีวนะไปทำลายเชื้อหัวอ่อนที่เป็นมิตรในร่างกายเสียหมด ก็เป็นตาของเชื้อหัวแข็งออกมาเล่น การเล่นกับเชื้อหัวแข็งสมัยนี้แม้แต่หมอโรคติดเชื้อยังหวาดกลัวคนไข้ตายคามือตัวเองเลย เพราะยามีเท่าเดิม แต่ชื้อหัวแข็งทุกครั้งที่แบ่งตัวออกลูกจะได้ลูกที่แปลงร่างดื้อยาได้ เปลี่ยนยาอีก มันก็แปลงร่างดื้อยาอีก

     การเจ็บป่วยครั้งนี้ หากเป็นการติดเชื้อไวรัสในภาวะร่างกายเครียดแบบนี้ จะใช้เวลานานประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ จึงจะหายเบ็ดเสร็จ ไม่มียาวิเศษตัวใดจะเร่งให้หายเร็วกว่านี้ได้

มีอะไรเขียนมาหาลุงอีกได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Hemila H, Chalker E for Cochrane Acute Respiratory Infections Group.  Vitamin C for preventing and treating the common cold.  The Cochrane Library, DOI: 10.1002/14651858.CD000980.pub4. Accessed athttp://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/14651858.CD000980.pub4/abstract on May 21, 2013
……………………………………………………………………