Latest

คุณแม่กำลังจะตาย

คุณหมอสันต์คะ

กำลังดูแลคุณแม่อยู่ค่ะ คุณแม่อายุ 89 ปี เข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินเพราะสำลักน้ำลายแล้วปอดบวม ตอนนี้อยู่ในไอซียู.ที่รพ. … มาได้สิบหกวันแล้ว ใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่ตอบสนอง เอ็กซเรย์ปอดยังขุ่นทั้งสองข้าง หมอบอกว่าโคม่า ม่านตาขยาย สมองส่วนนอกไม่ทำงานแล้วเหลือแต่ก้านสมองยังทำงานอยู่ แต่ดูเหมือนคุณแม่จะรู้ตัวอยู่บ้าง ดูเหมือนจะกังวลหรือเสียใจอะไรอยู่สักอย่าง คือดิฉันเดาเอานะคะ ความดันเลือดต่ำระดับ 60-70 จนต้องใช้ยาหยอดกระตุ้นตลอดเวลา ดิฉัน search google หา จึงเจอบทความเรื่องระยะสุดท้ายของชีวิตที่คุณหมอเขียนไว้ตั้งแต่ 12 กค. 53 แล้ว http://visitdrsant.blogspot.com/2010/07/end-of-life-care.html  อ่านไปก็ร้องไห้ไป เพราะทุกอย่างที่คุณหมอแนะนำไว้ ดิฉันไม่ได้ทำสักอย่างเลย ดิฉันไม่เคยถามถึงเจตนารมณ์ล่วงหน้าของท่านว่าหากเวลานี้มาถึงท่านอยากให้ดิฉันทำอย่างไร ดิฉันเห็นท่านทรมานอยากจะให้หมอให้ยามอร์ฟีนหนักๆแต่ก็ไม่กล้าพูดกับหมอ ทั้งกลัวหมอจะไม่พอใจว่าดิฉันล้ำเส้น และทั้งกลัวความรู้สึกว่าเราไม่สู้เพื่อท่่านจนวาระสุดท้าย ตอนนี้หมอพูดถึงจะให้อาหารทางหลอดเลือดเพื่อให้การใช้ยาปฏิชีวนะได้ผล ได้แจ้งดิฉันแล้วแต่ดิฉันยังตัดสินใจไม่ถูก เห็นคุณแม่เหมือนจะทุกข์ใจยังไม่อยากจะไป ดิฉันก็ยิ่งกลัดกลุ้ม ทุกวันนี้ทำได้แค่บีบมือคุณแม่ กลั้นน้ำตาไว้ แล้วออกมาร้องไห้หน้าห้องไอซียู. ขอคำแนะนำว่ามาถึงตรงนี้แล้ว ควรจะทำไงดี

……………………………………………..

ตอบครับ

      ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ ผมประเมินเอาจากเรื่องที่เล่ามา ว่าคุณแม่ตอนนี้เป็นผู้ป่วยที่กำลังจะตายแล้ว จากข้อมูลที่คุณให้มาห้าอย่างคือ
(1) อายุของท่านที่อยู่ในวัยที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ไข้ก็ตาย ไม่ไข้ก็ตาย”
(2) การวินิจฉัยของแพทย์ว่าท่านอยู่ในระยะโคม่าและเหลือแต่การทำงานของก้านสมอง
(3) ภาวะติดเชื้อที่ได้ให้ยาทางหลอดเลือดมาเกือบสองสัปดาห์แล้วไม่สนองตอบ
(4) การที่ต้องหยอดยาเพื่อเพิ่มความดันเลือดไว้ตลอดเวลาแสดงว่าท่านอยู่ในภาวะช็อกต่อเนื่อง
(5) การที่แพทย์พูดถึงการให้อาหารทางหลอดเลือด ซึ่งแสดงว่าท่านมาถึงระยะขาดอาหารรุนแรงแล้ว

      เมื่อเอาทั้งห้าเหตุนี้มารวมกัน ผมประเมินทางไปรษณีย์ (แบบปัดเศษขึ้น) ว่าโอกาสที่คุณแม่ของคุณจะกลับฟื้นขึ้นมาเดินเหินได้นั้น…ไม่มีเลย

    ประเด็นที่ 1. ถามว่าเรื่องนี้การดูแลคนกำลังจะตายนี้ หลักวิชาแพทย์มีว่าอย่างไร ตอบว่า สำหรับผู้ป่วยที่สิ้นหวังหมดทางรักษาให้ฟื้นกลับมาเดินเหินได้แล้ว สิ่งที่แพทย์พึงทำคือ

      1. มุ่งบรรเทาความทรมานทางกาย (ปวด หอบเหนื่อย)  และทางใจ (กลัว กังวล หดหู่ รู้สึกไร้ค่า) ด้วยการใช้ยา เช่นมอร์ฟีน และด้วยการปลอบโยนต่างๆ

     2. ไม่ให้การรักษาใดๆที่ไร้ประโยชน์ (futile treatment) การจะบอกว่าอะไรไร้ประโยชน์ก็ต้องไปดูว่าอะไรมีประโยชน์ก่อน ในทางการแพทย์สิ่งที่ถือว่ามีประโยชน์ที่แพทย์ควรทำให้คนไข้มีสองอย่างเท่านั้นเอง คือ
(1) สิ่งที่ทำแล้วผู้ป่วยมีความยืนยาวของชีวิต (length of life) มากขึ้น และ
(2) สิ่งที่ทำแล้วผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิต (quality of life) ดีขึ้น

     อะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่ได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ถือว่าเป็นการรักษาที่ไร้ประโยชน์ หลักจริยธรรมแพทย์มีอยู่ว่าแพทย์จะต้องไม่ให้การรักษาใดๆที่ไร้ประโยชน์แก่ผู้ป่วย นี่เป็นหลักกว้างๆนะ ของจริงก็ต้องไปว่ากันที่หน้างานอีกทีว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรไร้ประโยชน์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของแพทย์แต่ละคนด้วย

     ประเด็นที่ 2. ถามว่าในฐานะที่เป็นลูกอย่างคุณนี้ ควรจะทำอย่างไร ตอบว่า

     1. ในแง่ความทุกข์ทรมานทางร่างกายของผู้ป่วยนั้น แพทย์อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้มากที่สุด เราในฐานะญาติมีหน้าที่อย่างเดียวคือให้ท้ายแพทย์ให้เต็มที่ อย่าให้แพทย์กังวลว่าเขากำลังทำศึกสองด้าน หมายความว่าด้านหนึ่งก็กลัวคนป่วยจะทรมาน อีกด้านหนึ่งก็กลัวญาติจะมาฟ้องเอาถ้าให้ยาบรรเทาอาการหนักไป คุณควรจะพูดกับหมอให้หนักแน่นว่า

     “คุณหมอคะ ดิฉันเข้าใจว่าการช่วยไม่ให้คุณแม่ต้องปวดหรือทรมานอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นเหตุให้ท่านต้องเสียชีวิตเร็วขึ้น ดิฉันเข้าใจและยอมรับได้ คุณหมออย่าได้กังวลว่าหากเกิดอะไรขึ้นแล้วทางครอบครัวจะเข้าใจคุณหมอผิด ดิฉันรับประกันว่าเรื่องอย่างนั้นไม่มี..”

     2. ในแง่การบรรเทาความทุกข์ทางใจให้ ก่อนอื่นให้เคลียร์ข้อกังขาในประเด็นที่ว่าสมองคุณแม่จะรับรู้การสื่อสารจากเราได้หรือไม่ ให้เคลียร์ข้อสงสัยนี้ทิ้งไปก่อน ให้ถือว่าแม้ท่านจะโคม่าแล้ว แต่เราพูดอะไรท่านก็ยังได้ยินและรับรู้ได้ อันนี้ผมไม่ใช่มั่วนิ่มนะ มันมีงานวิจัยทางคลินิกหลายรายการที่ยืนยันว่าในภาวะที่สมองเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บ (TBI) จนแสดงการสนองตอบไม่ได้หรือโคม่าอยู่นั้น สมองยังรับรู้เสียงพูดได้ทั้งนี้จากการประเมินด้วยคลื่นสมอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับงานวิจัยติดตามผู้ฟื้นจากภาวะหมดสติว่าส่วนหนึ่งยังจดจำคำพูดคำจาของคนรอบข้างในระหว่างที่หมดสติไปได้ หลักฐานระดับเรื่องเล่าก็มีบันทึกไว้มากมายว่าคนที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายแล้วฟื้นกลับมาได้จะเล่าได้เป็นฉากๆว่าเขารับรู้เหตุการณ์และเสียงพูดของผู้คนรอบข้างขณะที่เขาหมดสติอยู่นั้นได้ เรื่องแบบนี้มีเล่าไว้มากที่สุดในหนังสือดีระดับคลาสสิกเล่มหนึ่งชื่อ The Tibetan Book of Living and Dying. ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ทมาอ่านได้ฟรี
   
     3. ก่อนจะพูดอะไรกับท่านก็ต้องรู้ก่อนว่าคนใกล้ตายมีอะไรอยู่ในใจบ้าง ต่อไปนี้เป็นข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้

     (1) อย่าไปมะโนเอาเองว่าคนใกล้ตายจะกลัวตาย งานวิจัยเชิงคุณภาพที่ทำกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้ตายที่ประเทศอังกฤษพบว่าคนใกล้ตายไม่มีใครกลัวตาย ทุกคนยังแซ่ซ้องสรรเสริญการเปิดช่องให้แพทย์ช่วยคนใกล้ตายให้ได้ตายง่ายๆเสียด้วยซ้ำไป

     (2) ไม่ใช่ว่าในใจของผู้สูงอายุที่ใกล้ตายจะไม่กลัวอะไรเลย งานวิจัยผู้มีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไปพบว่าแม้ส่วนใหญ่จะไม่กลัวตาย แต่ก็กลัวว่าจะตายอย่างไร (ตายทรมานหรือไม่ทรมาน) กลัวจะเป็นภาระกับลูกหลาน กลัวว่าจะไม่ทันได้เตรียมตัวนัดหมายให้ดิบดีเสียก่อนว่าจะตายที่ไหน ดังนั้นการจะพูดอะไรทำอะไรก็ควรจะมุ่งไปที่การคลายความกังวลในประเด็นเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ท่านอาจจะยังค้างคาใจอยู่

     (3) อย่าไปมะโนเอาเองว่าคนสูงอายุอยากจะตายในห้องไอซียู.ของโรงพยาบาล การทบทวนงานวิจัยที่มีกระบวนการวิจัยที่เชื่อถือได้พบว่า 75% ของผู้สูงอายุต้องการตายที่บ้าน แม้ว่าในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เมื่อถึงเวลาตายจริงกลับมักไม่ได้ตายที่บ้านก็ตาม

     (4) หลักวิชาแพทย์สรุปขั้นตอนการสนองตอบของจิตใจคนเราต่อการเจ็บป่วยรุนแรงออกเป็นห้าระยะ คือ เริ่มด้วยการปฏิเสธ แล้วโกรธ แล้วต่อรอง แล้วซึมเศร้า แล้วจึงยอมรับ ซึ่งการสนองตอบต่อการจะตายก็มีลักษณะคล้ายกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพูดและยังแสดงออกได้ การจะไปเยี่ยมไปหาไปพูดคุยเราต้องเข้าใจระยะต่างๆเหล่านี้ให้ดี จะได้ไม่ไปโกรธใส่คนป่วยถ้าเกิดบางจังหวะเขาพูดไม่เพราะกับเรา

     (5) ธรรมชาติของคนเราในยามเผชิญวิกฤติในชีวิต ย่อมจะต้องการได้โอกาสที่จะคุยอะไรกับใครสักคนในแบบที่เปิดเผยความในใจต่อกันได้โดยไม่ต้องกลัวอะไรไม่ต้องซุกซ่อนอะไร คนเราทุกคนต้องการโอกาสแบบนี้  แม้คนใกล้จะตายก็ไม่เว้น

     4. แล้วควรจะทำอะไรหรือพูดอะไรกับท่านบ้าง สิ่งที่คุณทำไปแล้ว ที่เล่าว่าไปถึงก็กลั้นน้ำตา แล้วออกมาร้องไห้ข้างนอก อย่างนั้นมันไม่เข้าท่าเลย มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรทำ ผมแนะนำว่าสิ่งที่คุณควรทำควรพูดคือ

     4.1 ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมคุณแม่ ให้รีแลกซ์ ผ่อนคลาย ทำตัวให้เป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเองอย่างที่คุณเป็นจริงๆ คุณแม่จะคุ้นเคยกับคุณที่เป็นคุณ จะไม่คุ้นเคยกับคุณที่เป็นคนสติแตกเอาแต่ร้องไห้เป็นเผาเต่า

     4.2 พูดกับท่านในเรื่องทั่วๆไปเพื่อก่อบรรยากาศที่เอื้อต่อการสื่อและรับความรู้สึกจากใจถึงใจก่อน ช่าย..ย พูดทั้งๆที่ท่านไม่รู้ตัวแล้วนั่นแหละ เวลาพูดให้ใช้สามัญสำนึก และใช้อารมณ์ขัน แม้ว่าจะพูดกับคนใกล้ตายก็ตาม มิชชั่นของคุณไม่ใช่พูดเพื่อชุบชีวิตของคุณแม่ แต่พูดเพื่อให้ท่านเข้าถึง พลัง ความเชื่อ ศรัทธา ของตัวท่านเอง เพราะในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านต้องใช้พลังนั้น

     4.3 คุณพูดกับท่านแบบให้ความรัก แผ่เมตตา คิดง่ายๆว่าถ้ากลับกันเป็นคุณจะตายนอนแบ็บอยู่บนเตียงแล้วคุณแม่มาเยี่ยม คุณจะโหยหาอะไร อยากได้อะไร คุณอยากจะให้คุณแม่ทำยังไงกับคุณ พูดยังไงกับคุณ คุณก็ทำอย่างนั้น พูดอย่างนั้น พูดกับท่านที่ข้างๆหูของท่าน พูดแบบนิ่มๆ แบบใส่ใจ จ้องมองตาท่าน จับมือท่าน นวดแขน ทาโลชั่นให้ท่าน ผ่อนลมหายใจให้เข้ากับการหายใจของท่าน แม้จะหายใจโดยเครื่องก็ตาม คือให้ร่างกายกับร่างกายสื่อสารถึงกัน

     4.4 บางครั้งคุณจะไม่พูดอะไรเลย แค่ไปอยู่ด้วย เป็นตัวของตัวเองแบบธรรมชาติ ก็ถือว่าโอแล้ว

     4.5 ในจังหวะเวลาและบรรยากาศที่เหมาะสม คุณจะต้องกล่าวคำลากับคุณแม่ ตรงนี้สำคัญ คุณต้องทำ คุณอาจคิดไม่ออก ผมจะพูดให้ฟังเป็นตัวอย่างนะ

“…แม่คะ หนูอยู่กับแม่ที่นี่นะคะ หนูรักแม่ แม่กำลังจะตาย ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติสำหรับทุกชีวิต แม้ว่าหนูอยากให้แม่อยู่กับหนูตลอดไป แต่หนูก็ไม่อยากให้แม่ต้องมาทนทุกข์ทรมาน เราแม่ลูกอยู่ด้วยกันมานานพอสมควรแล้วนะแม่ ลูกจะจดจำวันคืนดีๆที่เราเป็นแม่เป็นลูกกันมา แต่แม่อย่ายื้อยุดกับชีวิตอีกต่อไปเลยนะแม่ แม่อยากไปเมื่อไหร่ก็ไปเถอะ ลูกเต็มใจให้แม่ไป แม่ไม่ได้ไปอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างหรอก แม่มีความรักที่หนูมีต่อแม่ไปด้วยตลอดไป หนูรักแม่เสมอ สวัสดีนะคะแม่…”

     เขียนมาถึงตอนนี้นึกขึ้นได้ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ เรื่องการลาคนตายหรืออนุญาตให้คนตายไปเถอะนี้ สมัยที่ผมเป็นทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่เมืองนอก ธรรมเนียมปฏิบัติของที่นั่นคือคนจะตายต้องมีพระมาสวดส่งวิญญาณแบบว่ามาพูดอะไรเข้าท่าๆ (say something nice) เสียก่อน แล้วจึงจะปล่อยให้ตายได้ เนื่องจากผมเป็นหมอหัวใจจึงต้องเป็นคนที่ปั๊มหัวใจคนไข้ขณะที่รอพระมา ด้วยธรรมเนียมนี้โรงพยาบาลจึงต้องมีโบสถ์และมีพระอยู่ประจำในโรงพยาบาล ตอนนั้นผมยังหนุ่มๆ ผมมองธรรมเนียมนี้ว่าไร้สาระมาก เพราะคนยังไงก็ต้องตายอยู่แล้วจะมาพิรี้พิไรให้เสียเวลาทำไม จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง ผมกำลังปั๊มหัวใจคนไข้ที่ไม่รอดแน่แล้ว แต่วันนั้นพยาบาลพยายามตามหาพระแล้วแต่หาไม่พบ สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ ต้องตามด้วยเพจเจอร์ พระซึ่งเป็นพระหนุ่มท่านชื่อจอห์นไม่รู้ไปอยู่ไหน ผมปั๊มหัวใจอยู่เป็นชั่วโมง พยาบาลจึงรายงานว่าตามจอห์นพบแล้ว ผมถามว่าเขาอยู่ที่ไหน พยาบาลตอบว่า

     “อยู่ในร้านเหล้าหน้าโรงพยาบาลนี่เอง” ผมเลยถือโอกาสสวดพระเสียเลยว่า

     “โธ่ เจ้าจอห์น…เจ้าพระเวร”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แต่ว่ามาถึงวันนี้ วัยนี้ วัยที่ตัวผมเองก็แก่ใกล้ตายแล้ว มานึกย้อนหลังดู ธรรมเนียมรอพระมาสวดส่งวิญญาณแบบนั้นผมว่าเข้าท่ามากนะ นึกภาพผู้ป่วยตายในโรงพยาบาลในเวลาดึกดื่นค่อนคืนในบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรเลย ลูกเมียก็ไม่มีใครอยู่ใกล้สักคน มีแต่หมอกะเหรี่ยงกับพยาบาลรูปร่างราวกับนางยักขิณีสองสามคนเดินวิ่งกันไปมาขวักไขว่ บรรยากาศแบบนั้นมันตายลงที่ไหนละครับ อย่างน้อยมีเสียงพระมาพูดกล่าวคำลาเพราะๆท่วงทำนองเนิบๆเย็นๆ มันเป็นการตายที่มีคุณภาพกว่ากันแยะ

     5. เมื่อคุณได้พูดในสิ่งที่ควรพูดกับท่านแล้ว คราวนี้คุณก็ต้องมาทำเรื่องที่ยากขึ้น คือการตัดสินใจว่าจะช่วยให้ท่านได้ตายอย่างสงบอย่างไร จะช่วยให้ท่านได้ตายที่ไหน

     เรื่องปลีกย่อยเช่นจะให้อาหารทางหลอดเลือดหรือเปล่า จะหยุดยาปฏิชีวนะหรือเปล่า ล้วนเป็นเรื่องที่ตัดสินใจไม่ยาก เพราะทั้งการให้อาหารทางหลอดเลือดแก่คนป่วยที่สิ้นหวังก็ดี การทู่ซี้ให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่ไม่สนองตอบต่อยาแล้วก็ดี ล้วนแต่เป็นการรักษาที่ไร้ประโยชน์ (futile treatment) ซึ่งหลักจริยธรรมห้ามไม่ให้แพทย์ทำอยู่แล้ว ญาติจึงสามารถตัดสินใจขอให้แพทย์หยุดได้โดยง่าย

     แต่การตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจนี่สิเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่แพทย์ไม่ทำ หากตีความตามหลักวิชา การใช้เครื่องช่วยหายใจต่อชีวิตของคนไข้ออกไปในสภาพที่การรักษานั้นหมดหวังที่คนไข้จะหายจนกลับลุกขึ้นมาเดินเหินแล้ว ก็เป็นการรักษาที่ไร้ประโยชน์ (futile treatment) ที่แพทย์ไม่ควรทำเช่นกัน แต่ประเด็นอยู่ที่ตอนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจนั้นมันเป็นสถานะการณ์ที่ท่อช่วยหายใจมีประโยชน์และควรทำเพราะตอนนั้นด้วยความหวังว่าการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อจะทำให้ปอดบวมหายและปอดกลับมาหายใจได้เอง แต่มาตอนนี้เครื่องช่วยหายใจกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ไปเสียแล้ว แต่แพทย์ก็ไม่ยอมเอาออก เพราะตอนเรียนแพทย์ไม่ได้ถูกสอนมาให้หยุดเครื่องช่วยหายใจของคนไข้ แม้ว่างานวิจัยตัวแพทย์เองพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่หากตัวเองเป็นคนป่วยระยะสุดท้ายจะไม่ยอมให้ใครใส่ท่อช่วยหายใจให้ตัวเองหรือหากใส่แล้วก็จะให้เอาออก แต่กับคนไข้ของตัวเองผมไม่เห็นมีแพทย์คนไหนยอมเอาท่อออกให้แม้ว่าครอบครัวจะร้องขอก็ตาม มียกเว้นกรณีเดียว คือกรณีที่ญาติขอพาผู้ป่วยไปเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งตรงนี้คุณต้องตัดสินใจเองว่าจะเอาแบบไหน การนำผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้านมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็คือคนเรานี้ถ้ามีโอกาส ก็ควรจะได้ตายที่บ้าน การตายที่บ้านมันเป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย คุ้นเคย และสงบ คนเราจะตายทั้งทีมันควรจะได้ตายในบรรยากาศอย่างนี้ แต่ข้อเสียก็คือการตายที่บ้านคุณต้องมีหมอหรือพยาบาลที่คุณจะเรียกหามาฉีดยาระงับปวดหรือระงับอาการกระวนกระวายให้ได้เมื่อจำเป็น

     ในกรณีที่คุณตัดสินใจนำคุณแม่กลับไปตายที่บ้าน ก็ขอหมอกลับบ้าน โดยขอนำท่อช่วยหายใจ และใช้กระเปาะช่วยหายใจแบบใช้มือบีบ (ambu bag) ช่วยหายใจท่านไปด้วยขณะเดินทางกลับ เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ก็จัดบรรยากาศให้ดี ให้ลูกหลานคนใกล้ชิดมาบอกลาคุณแม่ แม้ว่าคุณแม่จะไม่รู้ตัวก็บอกลาไปเถอะ ทุกคนต้องมาเพื่อโบกมือลา เหมือนมาท่าเรือเพื่อส่งคุณแม่ออกเรือไปท่องมหาสมุทร ไม่ใช่มาร้องไห้อาลัยไม่ให้คุณแม่ไปไหน อย่าให้ใครมาร้องไห้เล่นลิเก ต้องเตี้ยมกันก่อน ไม่ให้ใครมาเล่นบทสติแตกผิดคีย์ ทุกคนต้องมาแบบมีสติ มาช่วยสร้างบรรยากาศสงบเงียบและผ่อนคลาย หรือบรรยากาศที่น่าตาย ถ้าคุณแม่เป็นคนธรรมะธรรมโมก็อาจจะนิมนต์พระมาสวด หรือมาเทศน์ให้ท่านมีสติในวาระสุดท้าย แล้วก็ตามหมอหรือพยาบาลมาเผื่อช่วยฉีดยาบรรเทาหากท่านมีอาการกระวนกระวาย เมื่อท่านสงบดีแล้วคุณก็พูดกับท่าน บอกลาท่าน แล้วถอดท่อช่วยหายใจออกให้ท่าน คุณนั่นแหละถอดเอง อาจจะขอคำแนะนำจากพยาบาลว่าถอดอย่างไร ซึ่งทำได้ง่ายมาก แค่เอากระบอกฉีดยาดูดเอาลมออกจากลูกโป่งเล็กๆข้างท่อแล้วก็ดึงท่อออกช้าๆเบาๆ แล้วก็พูดกับท่าน อยู่กับท่าน จนท่านสิ้นลม แล้วก็เอาฝ่ามือลูบปิดเปลือกตาท่านลง

“…ยามแก่เฒ่า หวังเจ้า เฝ้ารับใช้

ยามป่วยไข้ หวังเจ้า เฝ้ารักษา

เมื่อถึงยาม ต้องตาย วายชีวา

หวังลูกช่วย ปิดตา เมื่อสิ้นใจ ฯ…”

          ในกรณีที่คุณตัดสินใจให้ท่านตายที่โรงพยาบาล อันนี้มันขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่คุณนำท่านไปรักษา บางโรงพยาบาลจะมีระบบที่เอื้อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ติดเครื่องช่วยหายใจได้ย้ายออกจากไอซียู.ไปอยู่ที่วอร์ดหรือห้องพิเศษได้ คุณก็ควรขอย้ายท่านออกไปห้องพิเศษ เพื่อจะได้ทำบรรยากาศของห้องพักให้มันมีบรรยากาศสงบคล้ายบรรยากาศที่บ้านมากที่สุด ในกรณีที่ได้ไปอยู่ห้องพิเศษเช่นนี้ การจะถอดท่อช่วยหายใจเหมือนตอนไปอยู่ที่บ้านก็ยังทำได้ โดยปรึกษาหมอผู้รักษาให้ท่านเห็นชอบด้วยเสียก่อน

     แต่บางโรงพยาบาลมีข้อปฏิบัติห้ามเอาผู้ป่วยที่ต้องใช้ความถี่ในการดูแลมากหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจออกจากไอซียู.ไปอยู่วอร์ดหรือห้องพิเศษเด็ดขาด ส่วนใหญ่โรงพยาบาลเอกชนจะมีกฎเหล็กเช่นนี้ เพราะกลัวคนไข้ไปตายในสภาพที่ขาดคนดูแลและขาดความพร้อมแล้วจะถูกญาติฟ้องเอาเรื่องเอาราวภายหลัง อย่างไรก็ตาม การเจรจาขอนำคุณแม่ขึ้นไปเสียชีวิตในห้องพิเศษก็ยังเป็นสิ่งควรทำ ซึ่งทุกโรงพยาบาลหากได้ทราบเจตนาที่แท้จริงของครอบครัวโดยที่ครอบครัวเซ็นรับรองแน่นหนาว่าจะไม่เอาเรื่องเอาราวกับโรงพยาบาลที่การเอาใจใส่ดูแลไม่ทั่วถึงเหมือนอย่างในไอซียู.แล้ว ทางโรงพยาบาลก็มักจะยอม

     ในกรณีที่คุณไม่ประสงค์จะขอย้ายคุณแม่ออกจากไอซียู. คุณก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องรอให้คุณแม่อยู่ในไอซียู.โดยมีเครื่องช่วยหายใจต่อชีวิตไว้ต่อไป จนกว่าท่านจะเสียชีวิตในไอซียู.ในสภาพที่มีเครื่องช่วยหายใจคาอยู่อย่างนั้นตามวิถีไอซียู. ซึ่งเป็นการตายแบบที่คนสมัยปัจจุบันส่วนใหญ่เขาตายกัน หากคุณเลือกวิธีนี้ คุณไม่ควรไปจุ้นจ้านหรือเต้นแร้งเต้นกาขอจัดฉากหรือเรียกคนมาเข้าแถวกล่าวลาคุณแม่ เพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงานปกติของแพทย์พยาบาลประจำห้องไอซียู. และเป็นการระดมเชื้อโรคจากภายนอกให้เข้าไปในไอซียู. ซึ่งจะเป็นผลเสียกับผู้ป่วยคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย คุณควรทำเพียงแค่เมื่อไปเยี่ยมคุณแม่ ก่อนกลับทุกครั้งคุณก็บอกกับท่านว่า

“…แม่คะ วันนี้ได้เวลาหนูต้องกลับไปบ้านก่อนแล้วนะ เพราะในไอซียู.เขาไม่ให้ญาตินอนเฝ้า ระหว่างที่ลูกไม่อยู่ที่นี่ แม่อยากไปเมื่อไหร่ก็ไปได้นะ ลูกเต็มใจให้แม่ไป หนูรักแม่เสมอ สวัสดีนะคะแม่…”

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Portnova Galina, Kseniia Gladun, Ivanitskii Alexey. The EEG Analysis of Auditory Emotional Stimuli Perception in TBI Patients with Different SCG Score. . Open Journal of Neurosurgery. 2014:4(2); 81-96. DOI: 10.4236/ojmn.2014.42017

2. Sisson R . Effects of auditory stimuli on comatose patients with head injury. Heart Lung. 1990 Jul;19(4):373-8.

3. A Chapple, S Ziebland, A McPherson, and A Herxheimer. What people close to death say about euthanasia and assisted suicide: a qualitative study. J Med Ethics. 20006; 32(12):706-710 doi.  10.1136/jme.2006.015883

4. Teno JM, Clarridge BR, Casey V, Welch LC, Wetle T, Shield R, Mor V: Family perspectives on end-of-life care at the last place of care. JAMA 2004, 291(1):88-93. PubMed Abstract | Publisher Full Text

5. Bell CL, Somogyi-Zalud E, Masaki KH: Methodological review: measured and reported congruence between preferred and actual place of death. Palliat Med 2009, 23(6):482-490. PubMed Abstract | Publisher Full Text

6. Lloyd-Williams M, Kennedy V, Sixsmith A, Sixsmith J: The end of life: a qualitative study of the perceptions of people over the age of 80 on issues surrounding death and dying.
J Pain Symptom Manage 2007, 34(1):60-66. PubMed Abstract | Publisher Full Text
Palliat Med 2007, 21(1):35-40. PubMed Abstract | Publisher Full Text

7. Holdsworth L, Fisher S: A retrospective analysis of preferred and actual place of death for hospice patients. Int J Palliat Nurs 2010, 16(9):424-430. PubMed Abstract | Publisher Full Text

8. Rinpoche, Sogyal (2002). The Tibetan Book of Living and Dying. New York: HarperCollins.  ISBN 0-06-250834-2.