Latest

นักศึกษาแพทย์หญิง.. หลับราวตายยังไม่วายง่วง

เรียน อ.สันต์ ที่เคารพ 
           ดิฉันเป็นนศพ. คนหนึ่งที่กำลังเรียนชั้นปี 4 ในสถาบันแห่งหนึ่งในกทม. มีปัญหาอยากรบกวนปรึกษาและขอคำแนะนำจากอาจารย์ดังนี้ 
            1 เรื่องการนอน ดิฉันมีปัญหาอย่างมากในการนอน เหมือนไร้สาระแต่เป็นเรื่องจริง ปัญหานี้เป็นตั้งแต่ขึ้นชั้นคลินิคมาได้ สามสี่เดือน คือเหนื่อยมาก กลับมาบ้าน สามทุ้่มสี่ทุ่มสิ่งแรกที่อยากทำก็คือนอน(แล้วก็นอนจริงๆ) หลับยาวกว่าจะตื่นอีกทีก็ตี 5 ครึ่ง เตรียมไปราวน์เช้าในวันใหม่ ทุกวันนี้การเรียนเป็นการเรียนแบบต้องราวนฺ์ทุกวัน ไมมีวันหยุด เหนื่อยมากๆกับความรู้สึกที่กลับมาบ้าน ควรจะได้อ่านหนังสือก็หมดแรง นอน ง่วงมากๆ แต่พอเข้าวันใหม่มีแรงจะมาอ่านหนังสือ ก็ต้องไปราวน์อีกแล้ว 
            ดิฉันเดิมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ชอบทำงาน ผลการเรียนดี แต่ทุกเย็นไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไรจริงๆ มันแลดูเป็นปัญหาเล็กๆ เดี๋ยวก็ปรับตัวได้-เป็นกันทุกคนแหละ-เดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่ปรากฏว่ายังมีอาการลากยาวมาก จนถึงตอนนี้จะจบปี 4 แล้ว ผลการเรียนออกมาเกรดก็เละเทะไม่มีชิ้นดี (ซึ่งไม่แปลกใจเลยเพราะวันๆ ไม่เคยแม้แต่จะแตะหนังสือ อ่านหนังสือก่อนสอบก้อไม่ได้ ก็ย่อมทำข้อสอบออกมาไม่ค่อยจะได้) เริ่มกังวลใจแล้วว่าเป็นแบบนี้ต่อไปจะเอาความรู้ที่ไหนไปรักษาคน และเอาความรู้ที่ไหนไปสอบผ่านได้ใบประกอบวิชาชีพ
             คนที่บ้านก็เริ่มบ่น จากที่เครียดๆ ที่รพ.ก็ต้องมาโดนบ่นอีก นอนอีกแล้ว ทำไมเอาแต่นอน แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทุุกวันนี้พยายามลองทุกวิธี หัดดื่มกาแฟ(ปกติตอนเรียนพรีคลินิคอ่านหนังสือถึงตี 1 ตี 2 ได้ทุกวันไม่เคยนอนก่อนเที่ยงคืนโดยต้องดื่มกาแฟ หรืออะไร) เครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลายทั้งแหล่ แต่ไม่ได้เป็นผลเลย คอยังพับเหมือนเดิมตั้งแต่สามสี่ทุ่ม 
            เคยเป็นอาการหนักขนาดว่าบางทีอยู่ที่รพ.คุยกับพยาบาลอยู่ ก็คอพับลงไปเหมือนจะหลับมึนๆ แล้วก้อเงยหน้ามาตอบพี่เค้าได้สามสี่คำ ก็คอพับต่อ แล้วพอพี่เค้าพูดต่อก็ต้องเงยหน้ามาพูดกับพี่เค้าต่อ 
            แล้วชีวิตมันก็เป็นอยู่แค่นี้จริงๆค่ะอาจารย์ ไม่เหลืออะไรเลย การออกกำลังกาย ไปเที่ยว เดินห้าง คุยโทรศัพท์กับเพื่อนตอนก่อนนอน อ่านเว็บบอร์ด ดูยูทูป ดูหนัง ฟังเพลง ดูดารา อ่านหน้งสือพิมพ์  มันไม่เหลืออะไรแบบไม่เหลืออะไรจริงๆค่ะอาจารย์ แม้กระทั่งทานข้าวเย็น กลับมาแล้วก็ฟุบเลยต่อให้วันไหนข้าวกลางวันก็ไม่ได้กิน(เพราะไม่มีเวลา) พอมานั่งนึกย้อนไปก็ตกใจตัวเองมากๆ เสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่อยู่เวร พอราวน์เสร็จเที่ยงๆ ก็กลับมานอนตลอดบ่าย ตื่นอีกทีเย็นๆ เวลานั้นสั้นๆของสัปดาห์ที่ได้มีเวลาทำอะไรบ้าง เช่นไปซื้อเครื่องเขียน เอาชีทเรียนมาเปิดดู ไปซื้อของกับครอบครัว 
             บางเช้าดิฉันก็ไปราวน์สาย เพราะตื่นไม่ไหว เริ่มรู้ตัวว่าเป็นปัญหาหนักๆ พยายามแก้ทุกทาง รู้ว่าที่ทำอยู่มันไม่ถูกแต่ก็ไม่รุ้จะแก้ยังไงแล้วค่ะ ไม่กล้าไปปรึกษาใครเพราะหลายคนก็จะบอกว่าใครๆก็เป็น เราก็นอนเยอะเหมือนกัน แต่คือแบบตัวเองก็รู้ตัวอยู่ว่าที่เป็นอยู่มันนอนเยอะกว่าปกติ จนการเรียนตกหนัก สุขภาพกาย สุขภาพจิตแย่ 
             อยากรบกวนอาจารย์หมอช่วยแนะนำทีค่ะ ว่าเคยเจอลูกศิษย์คนไหนเป็นแบบนี้ไหมคะ หรือว่าน่าจะมีสาเหตุทางกายอะไรที่รบกวน sleep-wake cycle ได้ขนาดนี้ เพราะอาการเป็นต่อกันมา 7-8 เดือนแล้ว(ตลอดปี 4)แล้วค่ะ หรือดิฉันเป็นเด็กที่จัดอยู่ในประเภทที่ขี้เกียจและกำลังตกอยู่ในภาวะขี้เกียจอย่างหนัก อาจารย์พอจะมีเทคนิคอะไรไหมคะ ที่จะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น 
            2) ปัญหาเรื่องเท้า เริ่มเขียนมายาวจะขอเล่าต่อสั้นๆ คือดิฉันมีปัญหาปวดเท้าหนักมาก ทุกครั้งที่อยู่บนวอร์ดและหลังจากลงวอร์ด ปัญหานี้ก็เหมือนจะเป็นปัญหา common ของนศพ ตอนขึ้นคลินิคใหม่ๆเช่นกันค่ะ แต่อาการของดิฉันก็ยังไม่ดีขึ้นเลย หลังจากผ่านมานานมากแล้ว ลองเปลี่ยนรองเท้าตามเพื่อนมาทุกยี่ห้อที่เค้าว่าใส่สบาย ก็ไม่ดีขึ้น ปวดหนักมากๆขนาดเคยไปหาอาจารย์ออร์โถ อาจารย์ก็แนะนำให้ประคบร้อน ทานยาแก้ปวด ไม่แน่ใจว่านี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุให้นอนมากหรือเปล่า เพราะกลับมาทุกครั้งก็จะนอนยกเท้า นอนแช่น้ำอุ่นหมดแรงอย่างนี้ทุกครั้ง (เดี๋ยวนี้ไม่ได้นอนที่เตียงแต่ย้ายมานอนที่โซฟาแทนเพราะอยากยกเท้าค่ะ)
สุดท้ายนี้ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยให้อาจาย์หมอมีความสุข ความเจริญ ประสบความสำเร็จ คิดสิ่งใดสมปรารถนาที่ตั้งใจไว้ ตั้งแต่ปีใหม่นี้ไปถึงตลอดปีเลยค่ะ
ขอบคุณค่ะ 
………………………………..
ตอบครับ
แม่เฮย.. เขียนมาฉบับเดียวเอาตั้งแต่เรื่องหัวถึงเรื่องเท้าเลยนะ ขอตอบเรื่องการนอนหลับเรื่องเดียวนะ น่าเสียดายที่คุณไม่ได้บอกน้ำหนักและส่วนสูงมาด้วย ทำให้ผมไม่ทราบว่าคุณอ้วนหรือเปล่า ถ้าทราบก็จะทำให้โรคที่จะต้องวินิจฉัยแยกแคบเข้า แต่ไม่ทราบก็ไม่เป็นไร ผมวินิจฉัยแบบมั่วๆเอาได้
ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอคุยเล่นๆก่อนนะ การที่คุณเป็นทุกข์เป็นร้อนที่ตัวเองหลับมากนี้ผมเห็นใจ เพราะผู้หญิงที่เอาแต่หลับมักไม่เป็นที่ชื่นชมของผู้คนเท่าไหร่ โดยเฉพาะในอินเดีย ผมยกตัวอย่างร้อยแก้วบางบทจากหนังสือหิโตปเทศให้อ่านนะ บทหนึ่ง ได้จาระไนลักษณะของหญิงที่ผู้ชายควรหลีกเลี่ยงให้ไกลว่า..
“….หลับราวตายแล้วยังไม่วายง่วง
ดื่มเหล้าล่วงลำคอ
พอใจอยู่ห่างจากสามี….”
            และอีกบทหนึ่งได้จาระไนนิสัยเลวที่วิญญูชนควรหลีกเลี่ยงว่า
           
            “….ผู้หวังความเจริญในโลกนี้
พึงหลีกเลี่ยง
          ความเกียจคร้าน
          และการง่วงซึม ไม่ว่องไว…”
           
การที่คุณเป็นนักศึกษาแพทย์ แล้วชีวิตประจำวันมันกินเวลาไปหมดจนไม่เหลือเวลาทำอะไรเลย อันนี้ผมเชื่อ เข้าใจ และเห็นใจ แต่ชีวิตนักศึกษาแพทย์ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ ผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่ง นางเอกเป็นพยาบาลสาวอเมริกัน แต่มีความมุ่งมั่นว่าอยากจะเป็นหมอ สอบเข้าแพทย์ในอเมริกาที่ไหนก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจไปเรียนแพทย์ที่เปอร์โตริโก สาระหลักของหนังเล่าเรื่องชีวิตของนักศึกษาแพทย์ในเกาะเล็กๆกระจอกๆอย่างเปอร์โตริโกว่ากว่าจะได้ความรู้มาต้องลำบากลำบนเพียงใด รายละเอียดผมจำไม่ได้แล้ว แต่จำได้ตอนเดียว คือตอนไอ้หนุ่มรูปหล่อมาชวนไปออกเดทกัน เธอก็ชอบใจเขามากอยู่แต่ตัวเองไม่มีเวลาเลย เพราะเป้าหมายหลักของชีวิตคือการจะเป็นหมอให้ได้นั้นต้องมาก่อน เธอพยายามไล่นิ้วไปตามไดอารี่ส่วนตัวเพื่อหาเวลาว่างมาเจียดให้กับหนุ่มหล่อคนนั้น ในที่สุดก็พบเวลาว่างในเย็นวันหนึ่ง เธอรีบลงล็อกจองลงไปในช่องเวลาอันน้อยนิดนั้นโดยเขียนเป็นตัวแดงไว้ในช่องนั้นว่า
“….มีเซ็กซ์”
ผมนึกในใจว่า โอ้โฮ.. จะมีเซ็กซ์ทั้งทีต้องจองเวลาล่วงหน้าอย่างนี้เลยนะ แล้วเซ็กซ์แบบนั้นมันจะหนุกไหมเนี่ย!
พูดถึงคุณชอบหลับตอนราวน์ อันนี้ก็เป็นธรรมดาของนักศึกษาแพทย์เช่นกัน นานมาแล้ว สักสิบปีได้แล้วมัง ผมเคยขับรถเที่ยวไปในเยอรมัน แล้วขึ้นไปเล่นสกีที่ยอดเขาซุกสปิท ซึ่งเป็นเทือกเขาแอลป์ในพรมแดนเยอรมันด้านใกล้กับประเทศออสเตรีย ผมจ้างครูสกีส่วนตัวคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกเขาจะชื่อพอล เขาจะย้ำคิดย้ำทำเรื่องความปลอดภัยมาก เวลาสกีกันไปได้สักพักจนเหนื่อยหอบแฮ่กๆแล้ว เราก็จะหยุดยืนเอาสกีโพลค้ำหิมะพักเหนื่อยและคุยกันไปพลาง เขาอธิบายว่าการระวังเรื่องความปลอดภัยให้นักเรียนเป็นอะไรที่ยากที่สุดสำหรับเขาในการสอนสกี เมื่อรู้ว่าผมเป็นหมอและสอนนักเรียนแพทย์ด้วย เขาถามผมว่า
“แซนท์  ในการสอนนักศึกษาแพทย์ของคุณละ อะไรเป็นส่วนที่ยากที่สุด” ผมตอบว่า

“ยากตรงที่ผมต้องทำให้พวกเขาตื่นให้ได้ก่อน!
พอลได้ฟังแล้วหัวเราะก๊าก   
เลิกคุยเล่นมาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1.. ถามว่าการที่คุณมีอาการชอบนอนหลับช่วงกลางวันมาก หลับไม่เลือกที่ จนเสียการเสียงานหรือเสียการเรียน เป็นความผิดปกติไหม ตอบว่าเป็นความผิดปกติแน่นอน อาการอย่างนี้ภาษาแพทย์เรียกว่าอาการหลับกลางวันมากเกิน หรือ excessive daytime sleepiness เรียกย่อๆว่า EDS
2.. ถามว่าการที่คุณหลับไปแล้วแต่ก็ยังดูเหมือนยืนคุยกับพี่พยาบาลต่อไปได้ เป็นความผิดปกติไหม ตอบว่าเป็นความผิดปกติแน่นอน ภาษาแพทย์เรียกว่า automatic behavior ซึ่งผมขอแปลว่า “นิสัยแขกยาม” คำว่านิสัยแขกยามนี้ผมตั้งขึ้นเองเพราะตอนเด็กๆเคยเห็นแขกซึ่งกลางวันขายถั่วกลางคืนรับจ้างอยู่ยาม เวลาอยู่ยามกลางคืนจะนั่งลืมตาโพลงไขว่ห้างและกระดิกเท้ายิกๆๆๆ แต่จริงๆแล้วกำลังหลับอยู่
3. ถามว่าในคนที่ได้นอนพอแล้ว มีโรคอะไรบ้างที่ยังทำให้มีอาการ EDS และมีนิสัยแขกยามได้ ตอบว่ามีหลายโรค อย่างน้อยต้องตรวจคัดกรองสามสี่โรคง่ายๆก่อน คือ
3.1 โรคโลหิตจาง ซึ่งวินิจฉัยได้ง่ายๆโดยการเจาะเลือดตัวเองไปตรวจ CBC ดูก็รู้แล้ว
3.2 โรคไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) โดยเฉพาะในหญิงอ้วน ซึ่งจะทำให้เป็นคนอืดอาดเชื่องช้าง่วงเหงาหาวนอนทั้งวันได้ วิธีวินิจฉัยก็ต้องเจาะเลือดตรวจดูฮอร์โมนไทรอยด์ (FT4) ซึ่งจะต่ำ และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์(TSH)  ซึ่งจะสูง
3.3 โรคนอนกรน (obstructive sleep apnea) ซึ่งการวินิจฉัยต้องตรวจด้วยวิธีนอนหลับในห้องแล็บ (sleep test)
3.4 คุณไม่ได้เล่าให้ฟังว่าคุณมีอาการแบบนะจังงัง (cataplexy) หรือไม่ ผมหมายถึงอาการที่ทั้งๆทื่ตื่นอยู่บัดดลนั้นก็เกิดอาการคล้ายเป็นอัมพาตขยับแขนขาไม่ได้ไปวูบหนึ่ง เหมือนคนถูกจี้สกัดจุดในหนังกำลังภายใน ถ้าคุณมีอาการแบบนั้น ก็มีโอกาสจะเป็นอีกโรคหนึ่งชื่อโรคนาร์โคเล็พซี่  (narcolepsy) เพราะอาการหลับมากอาจพบในหลายโรค แต่อาการ cataplexy พบได้ในโรคนี้โรคเดียว โรคนาร์โคเล็พซี่เป็นโรคของระบบประสาทกลางที่มีเอกลักษณ์ว่าสมองไม่สามารถควบคุมวงจรการหลับและตื่นให้ปกติได้ ทำให้หลับๆตื่นๆได้ทั้งวันทั้งๆที่พยายามฝืน มักหลับบางช่วงสั้นเพียงหนึ่งวินาทีก็มี กำลังคุยกันก็หลับได้ บางคนมีอาการนะจังงังร่วมด้วย บางคนมีอาการผีอำร่วมด้วย คนเป็นโรคนี้คุณภาพของการนอนหลับตอนกลางคืนก็มักไม่ค่อยดีด้วย มักตื่นกลางคืนบ่อย ฝันมาก ชอบละเมอ ชอบออกอาการกางมือกางไม้ขณะฝัน หรือขยับขายิกๆเป็นพักขณะนอนหลับ การวินิจฉัยโรคนาร์โคเล็พซี่นี้ถ้ามีอาการนะจังงังร่วมด้วยก็วินิจฉัยจากประวัติได้เลย แต่ถ้ามีอาการหลับมากอย่างเดียวโดยไม่มีอาการนะจังงังก็ต้องทำ sleep test หรือที่เรียกว่าตรวจ polysomnogram (PSG)เพื่อวินิจฉัยแยกเอาโรคความผิดปกติอื่นๆของการนอนหลับ เช่นโรคนอนกรน (Obstructive sleep apnea – OSA) ออกไปก่อน แล้วจึงตรวจหาความยาวของช่วงหลับก่อนฝัน  (multiple sleep latency test หรือ MSLT) การตรวจชนิดนี้ทำในห้อง sleep test เช่นกันแต่ทำในขณะตื่น คำว่าช่วงหลับก่อนฝัน (sleep latency period) ก็หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มหลับจนถึงฝันหรือเข้าระยะหลับฝัน (REM) วิธีตรวจก็คือให้งีบหลับตอนกลางวันแล้ววัดคลื่นสมอง คนปกติเมื่อหลับแล้วจะใช้เวลาอย่างน้อย 12 นาทีขึ้นจึงจะฝัน ถ้าหลับแล้วฝันเลยก็วินิจฉัยได้ว่าช่วงหลับก่อนฝันสั้นผิดปกติซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรคนาร์โคเล็พซี่ 
4.. ถามว่าถึงตอนนี้ คุณควรจะทำอย่างไรดี ตอบว่าอย่างน้อยคุณต้อง
4.1 ตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยแยกโลหิตจางและไฮโปไทรอยด์ อันนี้ต้องทำเป็นสิ่งแรก และทำทันที ถ้าเป็นก็รักษากันง่ายๆและหายเลย
4.2 อย่าขับรถ เพราะอันตราย คุณควรย้ายจากบ้านไปอยู่หอพัก ปกติคณะแพทย์ทุกแห่งจะมีหอให้นักศึกษาแพทย์ระดับคลินิกอยู่ ถ้าเขาไม่มีให้คุณต้องไปร้องเรียนกับคณบดี การอยู่บ้านแล้วขับรถหรือนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้าไปเรียนคลินิกนั้น มีแต่คนสองจำพวกเท่านั้นที่ทำกัน คือคนบ้า กับเด็กอมมือที่ไม่รู้จักพ้นอกพ่อแม่
4.3 หามุมและเวลางีบสั้นๆตอนกลางวันเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ต้องอายใคร ว่างงานแม้จะสักห้าหรือสิบนาทีก็ถอดเสื้อกาวน์ออกแล้วก็ฟุบมันที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ไม่ต้องมีฟอร์ม วิธีนี้ฟลุ้คๆได้แฟนด้วยนะ เพื่อนผมคนหนึ่งได้แฟนเพราะอีตาผู้ชายมาหลงรักเธอตอนเห็นเธองีบหลับอ้าปากหวอที่มุมวอร์ด เขาว่าเธอหลับแล้วน่าร้าก..ก
4.4 ปรับคุณภาพการนอนตอนกลางคืนให้ดีขึ้น เช่น (1) เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา (2) หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ กาแฟ บุหรี่ และสารกระตุ้นอื่นๆ หลายชั่วโมงก่อนนอน (3) ออกกำลังกายแต่เนิ่นๆก่อนนอน คือตอนเช้าหรืออย่างน้อย 4-5 ชั่วโมงก่อนนอน (4) จัดบรรยากาศห้องนอนให้ดี ปรับอุณหภูมิ สี แสง เสียง ให้พอเหมาะ (5) ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น นั่งพักโดยไม่ทำอะไรตื่นเต้นสักพัก อย่านอนแบบสมองค้างยังทำงานไม่เสร็จ
4.5 สร้างกลุ่มบำบัดของตัวเองขึ้นมา แลกเปลี่ยนพูดคุยในหมู่คนชอบหลับด้วยกัน กลุ่มบำบัดแบบนี้เมืองไทยไม่มีการจัดให้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต้องหาทางทำความรู้จักแล้วไปฟอร์มกลุ่มกันเอาเอง เอาพวกนศพ.ด้วยกันนั่นแหละ การทำกลุ่มบำบัดมีประโยชน์มาก เพราะคนชอบหลับมากๆมักมีหัวอกเดียวกัน คือมักถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี้เกียจ สันหลังยาว โง่ ไม่มีวินัย ไม่รักดี ไม่มีความตั้งใจทำอะไร เหลาะแหละ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พอถูกประณามมากเข้าก็พาลอยากแยกตัวจากคนอื่น การพบกับคนหัวอกเดียวกันจะเกิดพลังช่วยเหลือกันและกันได้
4.6 หาเวลาคุยให้กำลังใจตัวเองบ้าง ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจว่าตัวเองเป็นนางสาวหลังยาว โรคหลับมากทุกชนิดเป็นโรคความรุนแรงต่ำ แม้โรคนาร์โคเล็พซี่ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่แย่ที่สุดในกลุ่มนี้สถิติก็ยังบอกว่าไม่เคยมีคนเป็นนาร์โคเล็พซี่รายใดที่จบลงด้วยการเป็นอัมพาตถาวรหรือตายกะทันหันแม้แต่รายเดียว ดังนั้นการเป็นนางสาวชอบหลับนี้สามารถมีชีวิตปกติได้ เพียงแต่ต้องตั้งใจทำพฤติกรรมบำบัดหรือใช้วินัยกับตัวเองให้มาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ “คน” คนหนึ่ง ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยพึงทำกันอยู่แล้ว
4.7 หากทำทั้งหกข้อแล้วยังไม่ดีขึ้น ผมแนะนำให้ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณ เพื่อขอรับการรักษากับแพทย์ อย่าริอ่านรักษาตัวเอง เพราะสถิติในอเมริกาพวกนักศึกษาแพทย์เป็นพวกที่ติดยาต้านซึมเศร้ามากกว่าประชาชนโดยเฉลี่ย ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชหรือประสาทวิทยาเป็นคนรักษา ยาที่ใช้รักษาปกติก็ไม่หนียากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มนี้ คือ (1) กลุ่มยากระตุ้นระบบประสาทกลางเช่น Modafinil (2) คือกลุ่มยาต้านซึมเศร้า ทั้งกลุ่มย่อย tricyclic เช่น ยาimipramine และกลุ่มย่อย SSRI 1เช่นยา fluoxetine (3) กลุ่มยากล่อมประสาทระดับแรง คือยา sodium oxybate ยาทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก ไม่ควรซื้อหรือหามากินเอง
     
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม                                                              
1. Zeman A, Britton T, Douglas N, et al. Narcolepsy and excessive daytime sleepiness. BMJ 2004; 329:724.