Latest

จบแพทย์ฟิลิปปินส์ เป็นหมอชั้น 2 ใช่ไหม

เรียนคุณหมอสันต์
     ขออนุญาตเรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ ตอนนี้หนูเป็นนักกายภาพบำบัด อยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนึงในกรุงเทพ กำลังทำเรื่องไปเรียนต่อแพทย์ที่ฟิลิปปินส์ ในสถาบันที่แพทยสภารับรองค่ะ แต่หนูมีเรื่องที่กังวลอยากขอเรียนปรึกษาคุณหมอดังนี้ค่ะ
 1. แพทย์ฟิลิปปินส์เป็นหมอชั้น 2 ไม่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ เรียนที่ไทยยังไงก็ดีกว่า (แต่การจะเรียนในเมืองไทยโอกาสค่อนข้างจำกัดค่ะ) จริงหรือไม่ค่ะ
 2. การกลับมา intern ที่ไทย อาจจะไม่มีโรงพยาบาลไหนรับ
 3. อาจจะไม่มีโรงพยาบาลรับเข้าทำงานหากเรียนจบแล้ว หรือแม้แต่การเรียนต่อเฉพาะทางเค้าก็จะไม่รับ จริงหรือไม่ค่ะ
         ตอนนี้หนูเครียดมากเลยค่ะ แต่การเป็นหมอคือสิ่งที่หนูอยากทำมาตลอด และตั้งใจจะมุ่งมั่นให้ถึงที่สุด หากคุณหมอมีข้อคิดอะไรแนะนำหนูได้น่ะค่ะ

                                 ด้วยความเคารพ
                                  ……..

……………………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าแพทย์จบจากฟิลิปปินส์เป็นหมอชั้น 2 ไม่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ไทย ใช่หรือไม่ ตอบว่า ไม่ใช่ครับ เพราะไม่มีสำนักมาตรฐานที่ไหนมาจัดอันดับหรือตีทะเบียนแพทย์เมืองไทยว่าหมอที่จบมาจากสถาบันไหนประเทศไหนเป็นชั้นหนึ่ง จบมาจากไหนเป็นชั้นสอง ดังนั้นในวงการแพทย์ไทยปัจจุบันนี้มีแพทย์ชั้นเดียว คือแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันชั้นสองปัจจุบันนี้ไม่มีครับ

     ในการทำงานในชีวิตจริงของแพทย์ แทบไม่มีใครทราบปูมหลังของใครว่าหมอคนไหนจบมาจากไหนหรอกครับ แค่จะจำกันว่าหมอคนไหนทำงานในสาขาไหนจะได้ส่งปรึกษาคนไข้กันได้ถูกแค่นี้ก็ยังจำกันไม่ได้แล้ว ดังนั้นปูมหลังไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ “คุณลักษณะ” และ “ฝีมือ” ของแต่ละคนต่างหากที่เป็นตัวจำแนกว่าใครเป็นเพชรแท้ ใครเป็นขี้หมา ซึ่งคุณลักษณะที่ว่านี้มันเป็นสิ่งที่แต่ละคนได้รับการบ่มเพาะกันมายาวนานตั้งแต่โดยพ่อแม่และคนใช้ที่บ้านตัวเอง โดยครูที่โรงเรียนชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม และที่โรงเรียนแพทย์เอง หากนับเวลาที่ถูกบ่มเพาะทั้งหมดกว่าจะจบแพทย์อายุราว 25 ปี ก็เป็นเวลาในโรงเรียนแพทย์ราว 6 ปี หรือไม่ถึง 25% เท่านั้นเอง

     ดังนั้นสำหรับคนที่คิดจะเป็นแพทย์ จะเรียนสถาบันไหนประเทศไหนไม่สำคัญแต่ขอให้ให้โฟคัสที่สองก๊อก คือ  

     ก๊อกแรก สอบใบประกอบโรคศิลป์ให้ได้ก่อน แค่ด่านนี้ก็หินและโหดพอควรแล้ว เมื่อผ่านด่านมหาหินนี้ไปได้แล้วก็ค่อยไปก๊อกสอง

     ก๊อกสอง ให้โฟกัสที่การ บ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีให้ตัวเอง พูดง่ายๆว่าพัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีเชาวน์อารมณ์หรืออีคิว (EQ) สูง รับฟังคนอื่นเป็น ให้อภัยคนอื่นได้ พูดภาษาคนกับคนอื่นรู้เรื่อง

     เพียงเท่านี้ผมรับประกันว่าก็จะเป็นหมอที่ดีได้และประสบความสำเร็จในอาชีพแพทย์แน่นอน

     2. ถามว่าจบแพทย์ฟิลิปปินส์แล้วกลับมา intern ที่เมืองไทยจะหาโรงพยาบาลรับอินเทอร์นยาก จริงหรือไม่ ตอบว่า จริงครับ แต่ปัญหานี้เป็นกับแพทย์ที่เรียนจบจากต่างประเทศทั้งหมดไม่ว่าจบจากประเทศไหน ไม่เฉพาะแต่แพทย์ที่จบจากฟิลิปปินส์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะตำแหน่ง “แพทย์ฝึกหัด” หรือ intern นี้ได้สูญพันธ์ไปจากระบบการแพทย์ของไทยมานานเกือบยี่สิบสามสิบปีแล้ว จึงไม่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ไหนมีระบบฝึกสอนแพทย์ฝึกหัดเหลืออยู่ นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เนื่องจากนโยบายเร่งปั๊มแพทย์ไทย โรงพยาบาลใหญ่ทุกแห่งในภาครัฐทุกวันนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตแพทย์ (ที่ไม่มีแพทย์ฝึกหัด) ของมหาวิทยาลัยไม่แห่งใดก็แห่งหนึ่ง ทุกแห่งจึงวุ่นวายขายปลาช่อนอยู่กับภารกิจฝึกสอนนักศึกษาแพทย์ของตัวเองซึ่งมีตัวชี้วัดคอยบังคับไล่บี้ จี้ ไช จนไม่มีเวลาหรืออารมณ์มาจัดทำระบบฝึกสอนแพทย์ฝึกหัดจากต่างประเทศ การฝึกสอนแพทย์ฝึกหัดที่จบจากต่างประเทศเองว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ภารกิจของเขา จะไปว่าโรงพยาบาลเขาก็จึงไม่ได้ แต่ว่าแพทยสภาก็บังคับให้ผู้จบแพทย์จากต่างประเทศมาเป็นแพทย์ฝึกหัดในเมืองไทยก่อน ไม่งั้นไม่ให้สอบ เออ มันเป็นยังงี้ซะด้วยซิคะท่านสารวัตร แต่ว่าผมก็ไม่ว่าแพทยสภาหรอกนะ เพราะเขาก็หวังดีเพราะว่าผู้จบแพทย์จากต่างประเทศบางคนทั้งชีวิตยังไม่เคยจับตัวคนไข้เลย การบังคับให้มาเป็นหมอฝึกหัดในเมืองไทยจึงดีต่อทุกฝ่าย ทั้งต่อตัวหมอและต่อคนไข้ของเขาในอนาคต แต่การแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ก็ไปก่อปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือแพทย์จบใหม่จากต่างประเทศไม่มีที่ที่จะฝึกเป็นแพทย์ฝึกหัด ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงในการแก้ไข

     ณ ขณะนี้ ตรงนี้ยังไม่มีใครยื่นมือเข้ามาแก้ไข คนที่เป็นลูกหมอก็เอาตัวรอดด้วยวิธีอาศัยคุณพ่อคุณแม่ฝากหรือยัดให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับที่ถึงเกณฑ์เป็นสถาบันฝึกอบรมของแพทยสภาได้ที่ไหนสักแห่ง ว่าน้องจ๋าช่วยรับลูกของพี่หน่อยนะ รับเอามันไว้ใช้งานสักปีเถอะ ไม่ให้เงินเดือนก็ไม่ว่าอะไร บางกรณีแพทย์ที่จบจากต่างประเทศก็จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วสมัครขอเข้าเป็นแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งโดยขอจ่ายค่าฝึกอบรมให้โรงพยาบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งถ้าผู้อำนวยการใจดีก็จะรับ แต่ถ้าผู้อำนวยการมัวแต่ยุ่งขิงกับเรื่องเฉพาะหน้าอื่นๆอยู่ก็จะไม่รับ ก็ต้องพากันตระเวนหาโรงพยาบาลที่เขารับกันต่อไปจนกว่าจะพบ หรือจนกว่าจะมีใครสักคนหนึ่ง (เช่นบริษัทที่ทำธุรกิจชักจูงนักเรียนไทยไปเรียนแพทย์ต่างประเทศ) ลุกขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่างแพทย์ฝึกหัดกับโรงพยาบาลเพื่อทำโครงการฝึกสอนแพทย์ฝึกหัดที่จบจากต่างประเทศเสียให้เป็นเรื่องเป็นราว

     อนึ่ง แม้ว่ากฎหมายไทยกำหนดว่าจะเอาใบประกอบโรคศิลป์ในเมืองไทย ต้องมาเป็นแพทย์ฝึกหัดในเมืองไทยอย่างน้อยหนึ่งปี ความจริงวิธีเลี่ยงก็มีอยู่นะ คือคุณสอบใบประกอบโรคศิลป์ของประเทศที่คุณไปเรียนให้ได้ก่อน เพราะกฎหมายไทยมีข้อยกเว้นว่าถ้าได้ใบประกอบวิชาชีพในประเทศที่แพทยสภารับรองแล้ว สามารถมาสอบใบประกอบวิชาชีพไทยได้โดยไม่ต้องมาเป็นแพทย์ฝึกหัดในเมืองไทยก่อน

     3. ถามว่าเมื่อจบแพทย์จากฟิลิปปินส์ สอบใบประกอบวิชาชีพได้แล้ว ก็อาจจะไม่มีโรงพยาบาลรับเข้าทำงาน หรือรับเข้าฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางจริงหรือไม่ ตอบว่า จริง ถ้าคุณหมายถึงการเข้าทำงาน หรือเข้าฝึกอบรมในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง เพราะโรงพยาบาลเอกชนดีๆนั้นไม่รับหมอจบใหม่อยู่แล้ว เขารับแต่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์รักษาคนไข้มามากระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับว่าจบมาจากไหนดอก ส่วนโรงพยาบาลของรัฐบาลนั้นเขาถูกยัด “โควตา” ของแพทย์ใช้ทุนมาให้รับซะมากเกินพอแล้ว เขาไม่มีอัตราเงินเดือนที่จะมารับแพทย์นอกโควตาดอก ส่วนการแย่งกันเข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านนั้นมันแย่งกันสาหัสอยู่อย่างเสมอมา ไม่ว่าคุณจะจบจากไหน ในประเทศ หรือต่างประเทศ  ก็แป๊ะเอี้ย ลำดับความสำคัญสูงสุดจะได้แก่แพทย์ที่ใช้ทุนในชนบทครบแล้ว และได้รับทุนจากโรงพยาบาลต้นสังกัดมาเรียน พวกนี้โรงเรียนแพทย์รับเข้ามาฝึกอบรมได้ไม่อั้น เพราะตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินเดือนแต่ได้เล่าเบ๊มาใช้งานฟรี ต้นสังกัดเขาเป็นคนจ่ายเงินเดือน แพทย์อิสระไม่ว่าจะจบจากไหน หากไม่มีต้นสังกัด จะมีลำดับความสำคัญระดับบ๊วย เพราะรับมาแล้วต้องยุ่งยากหาเงินมาจ่ายเงินเดือนให้อีกต่างหาก  ตัดปัญหาไม่รับดีกว่า

     ในกรณีที่แพทย์จบใหม่จากต่างประเทศคิดจะไปทำงานในที่ๆมีความต้องการแพทย์สูงที่สุด นั่นก็คือไปเป็นแพทย์ทั่วไปอยู่ในโรงพยาบาลชนบทที่ห่างไกล ก็จะต้องรอตำแหน่งที่เหลือหลังจากการกระจายแพทย์ใช้ทุนซึ่งจบในประเทศออกไปจนครบหมดแล้ว แนวโน้มคือกว่าคุณจะเรียนจบ ถึงตอนนั้นอีกสี่ห้าปี รัฐบาลจะไม่สามารถหาตำแหน่งในราชการให้แก่แพทย์ใช้ทุนได้เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะถึงตอนนั้นแพทย์จะจบปีละ 2,000 คนทุกปีๆ แต่ตำแหน่งในชนบททั้งประเทศมีไม่ถึง 4,000 ตำแหน่ง ดังนั้นโอกาสที่แพทย์จบจากต่างประเทศจะได้เข้ารับราชการ ไม่ว่าจะสมัครใจไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอเล็กอำเภอน้อยห่างไกลแค่ไหน โอกาสนั้นก็ยังมีน้อยมาก เว้นเสียแต่ในอนาคตหากรัฐบาลตัดสินใจส่งแพทย์ไปอยู่ระดับตำบล (รพ.สต) สถานการณ์ก็จะดีขึ้นหน่อย คือจะมีตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกราว 5,000 ตำแหน่ง แต่ก็จะดีอยู่เพียงไม่กี่ปี เพราะเราผลิตแพททย์เองได้ปีละ 2,000 คนแล้ว บวกที่จบมาจากต่างประเทศอีก ภายในเวลาไม่กี่ปีตำแหน่งก็หมดอยู่ดี

     ดังนั้น การไปเรียนแพทย์ต่างประเทศ เมื่อจบแล้ว จึงต้องมองเผื่อไปที่การมีอาชีพอิสระของตัวเองด้วย จึงจะประกันความผิดหวังได้แน่นอน

     ผมตอบคำถามของคุณหมดแล้วนะ คุณบอกว่าขอให้ผมแนะนำอะไรก็ได้ ต่อไปนี้คือคำแนะนำเพิ่มเติมของผม

     ประเด็นที่ 1. ดังได้กล่าวมาแล้วว่ามิชชั่นในก๊อกหนึ่งคือการสอบใบประกอบโรคศิลป์ให้ได้ สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึง คือนานมาแล้วสมัยที่ผมยังอยู่ในราชการ เคยรับเชิญไปสอนกลุ่มแพทย์จบใหม่จากต่างประเทศซึ่งทุกคนเป็นอินเทอร์นที่รวมตัวกันจัด “ติวเข้ม” กันเองเพื่อเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพ ผมไปถึงห้องสอนมีอินเทอร์นจบจากต่างประเทศมาเรียนกันนับได้ราวหนึ่งร้อยคน ผมรับเชิญไปสอนเรื่องทางคลินิกเกี่ยวกับโรคหัวใจ สไตล์การสอนของผมก็จะหลอกล่อโต้ตอบกับนักเรียนด้วย พอผมสอนไปได้สักพักผมก็รู้เลยว่าน้องๆแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศเหล่านี้ความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ (basic medical science) ไม่แน่น หรือจะเรียกว่าหลวมโพรกเพรกก็ว่าได้ แหย่ดูตรงไหนก็เจอแต่รูกลวง นี่ผมไม่ได้ประเมินแบบมีอคตินะ ไปเลียบเคียงแอบดูสถิติการสอบใบประกอบวิชาชีพที่ไม่เปิดเผยของแพทยสภาก็ได้ คือการสอบใบประกอบวิชาชีพทุกวันนี้ให้นั่งสอบข้อสอบเดียวกันไม่ว่าจะเรียนแพทย์จากในประเทศหรือต่างประเทศ เนื้อหาการสอบเหมือนกันหมดคือแบ่งเป็นสามก๊อก
     ก๊อกหนึ่งสอบวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (basic medical science part)
     ก๊อกสองสอบเรื่องคลินิก (clinical part)
     ก๊อกสามสอบทักษะการซักประวัติตรวจร่างกายและการรักษาโรคเบื้องต้น (clinical skill part)

     ทั้งสามก๊อกนี้ ก๊อกที่คนตกมากที่สุดคือก๊อกหนึ่ง คือวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน คือทุกรอบที่เปิดสอบจะมีผู้สอบตกโดยรวมประมาณ 26% โดยส่วนใหญ่ของผู้สอบตก เป็นนักศึกษาแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ

     ดังนั้นผมแนะนำว่าหากคุณจะไปเรียนต่างประเทศจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ฟิลิปปินส์หรือที่จีน พอเรียนครบสามปีได้สิทธิ์สอบก๊อก 1. แล้วให้รีบมาสอบทันที อย่ารอจนเรียนจบแพทย์ เพราะยิ่งรอไปโอกาสที่คุณจะสอบก๊อกหนึ่งได้ยิ่งลดลง หากมาสอบแล้วไม่ผ่านก็ยังไม่ต้องรีบเรียนต่อคลินิก ผมแนะนำให้ดร็อพไว้แล้วปรับปรุงความรู้พื้นฐานแล้วสอบก๊อกหนึ่งซ้ำให้ผ่านก่อน เพราะถ้าความรู้พื้นฐานคุณไม่ดีแล้วรีบไปเรียนคลินิก คราวนี้มาสอบอีกทีมีหวังตกทั้งพื้นฐานตกทั้งคลินิก เพราะวิชาแพทย์นี้หากพื้นฐานวิทยาศาสตร์เช่นสรีรวิทยาไม่แน่นแล้ว ไม่มีทางจะเอาดีได้เลย ไม่ว่าจะระดับคลินิกทั่วไป หรือระดับการแพทย์เฉพาะทาง ถ้าหากทู่ซี้สอบพื้นฐานไปหลายครั้งแล้วก็ยังไม่ผ่านก็ให้ไขก๊อกเลิกเรียนแพทย์กลางคันไปทำมาหากินอย่างอื่นซะเลยดีกว่า

     ประเด็นที่ 2. ผมมีโอกาสได้สังเกตผลผลิตแพทย์จบใหม่ที่ผ่านมือผมทั้งในฐานะเป็นแพทย์ฝึกหัดบ้าง เป็นแพทย์ประจำบ้านบ้าง เมื่อเห็น performance ของผลผลิตจากแต่ละแหล่ง ผมก็ชอบที่จะนั่งอนุมานย้อนหลังไปถึงกระบวนการที่ครูของเขาปั้นพวกเขาขึ้นมา คำวิจารณ์ของผมต่อไปนี้อาจไม่เป็นที่ชอบใจของบางท่านนะ แต่เนื่องจากผมเป็นแพทย์อิสระไม่ได้สังกัดโรงเรียนแพทย์ใดๆแล้ว ผมจึงปากเสียได้โดยไม่ต้องเก็บงำ คือผมประเมินโดยไม่ได้เห็นตัวโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตแพทย์ในประเทศเหล่านั้นดอก แต่ประเมินเอาจากผลผลิตที่ผ่านมือผม ว่าโรงเรียนแพทย์ในต่างประเทศที่เด็กไทยชอบไปเรียนกันนั้น ยังอ่อนเชิงในเรื่องที่เรียกว่า “แพทยศาสตร์ศึกษา (medical education)” เมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์ในเมืองไทย คำว่ากระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษานี้มันแยกย่อยออกเป็นสามส่วน คือ

     (1) การวางวัตถุประสงค์ (objective) ของหลักสูตร
     (2) การจัดประสบการณ์เรียนรู้ (learning experience) หมายถึงว่าการจะให้นักเรียนผ่านพบได้เห็นได้ฟ้ง ได้ทำอะไรเพื่อให้เกิดความรู้ ทักษะ และเจตคติดังที่วางวัตถุประสงค์ไว้  และ
     (3) การประเมินผล (evaluation) ว่านักเรียนได้มีความรู้ ทักษะ เจตคติตรงตามสะเป๊คที่ตั้งไว้จริง

     ในส่วนของการวางวัตถุประสงค์นั้นไม่มีประเด็นอะไร เพราะโรงเรียนแพทย์ทั่วโลกจะวางวัตถุประสงค์ของหลักสูตรคล้ายๆกัน แต่ในส่วนของการจัดประสบการณ์เรียนรู้และการประเมินผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินผลนั้น ผมเห็นว่าของโรงเรียนแพทย์ต่างประเทศที่เด็กไทยชอบไปเรียนนั้น มีกระบวนการประเมินผลที่ดูเหมือนจะสะเปะสะปะไม่ค่อยได้มาตรฐานตามหลักวิชาการประเมินผล ผลผลิตที่ออกมาจึงแตกต่างกันไปแบบกางเกงคนละเบอร์แม้จะติดป้ายว่าเบอร์เดียวกัน อันนี้ผมมองว่าเป็นจุดอ่อนของโรงเรียนแพทย์ต่างประเทศที่เด็กไทยชอบไปเรียน ซึ่งต่างจากโรงเรียนแพทย์ในเมืองไทยที่ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลปืนเที่ยง (ซึ่งยิงที่ท่าราชวรดิษฐ์) ผลผลิตที่ได้มีความคงเส้นคงวาค่อนข้างดี ไม่ได้แตกต่างกันมากจนเซอร์ไพรส์

     ประเด็นของผมก็คือ เมื่อคุณจะไปเรียนในโรงเรียนที่มีกระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษาไม่แข็งแรง คุณต้องแก้ไขจุดอ่อนนี้ด้วยตัวคุณเอง เพื่อประกันว่าคุณจะไม่กลายเป็นผลผลิตที่หลุดสะเป๊ก วิธีแก้ไขจุดอ่อนด้วยตัวเองก็คือ ผมแนะนำให้คุณไปหาซื้อข้อสอบประเมินผลที่เป็นมาตรฐาน เช่นข้อสอบของ USMILE มาหัดทำ แล้วดูเฉลย แล้ววิเคราะห์ย้อนไปหาโครงสร้างของกระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษา เช่นว่า ข้อนี้ เขาถามอย่างนี้เพื่ออะไร แล้วตัวเลือกทั้งห้าข้อนี้ แต่ละข้อทำไมเขาเอามาให้เป็นตัวเลือก เขาจะประเมินหรือมองหาอะไรในตัวเรา แล้วเรามีสิ่งที่เขาอยากจะมองหานั้นหรือยัง ถ้าไม่มี เราต้องไปขวนขวายเสาะหาประสบการณ์อะไรเพิ่มเติมจากตรงไหน ถึงจะมีคุณสมบัติที่เขามองหานั้น ถ้าเราทำข้อสอบผิด ก็วิเคราะห์ไปว่าทำไมเราทำผิดไม่ตรงกับเฉลย เรายังขาดความรู้อะไรที่เขาวัดดูแล้วมาพบว่าเราไม่มี  อย่างนี้เป็นต้น

     พูดง่ายๆว่าการเรียนแพทย์ในต่างประเทศแบบที่นักเรียนไทยชอบไปเรียน เรียนยากกว่าเรียนในเมืองไทยเยอะแยะมากมายหลายเท่า เพราะนักเรียนต้องเป็นทั้งผู้เรียนที่ขวนขวายหาความรู้ ทักษะ และสร้างเจตคติ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรด้วยตัวเอง ทั้งยังต้องเป็นครูประเมินผลตัวเองว่าได้ตรงสะเป๊คของหลักสูตรแล้วหรือยัง ต้องทำเองหมด จะไปหวังพึ่งกระบวนการจัดประสบการณ์เรียนรู้และกระบวนการประเมินผลของทางโรงเรียนไม่ได้ เพราะมันได้รับการพิสูจน์โดยผลผลิตรุ่นก่อนๆแล้วว่ามันไม่คงเส้นคงวา ขืนไปพึ่ง ก็มีโอกาสที่เราจะจบออกมาแบบหลุดสะเป๊กโดยไม่รู้ตัว แล้วมาสอบใบประกอบวิชาชีพตกซ้ำซาก เสียเวลาในชีวิต และหมดโอกาสที่จะได้ประกอบอาชีพแพทย์สมความตั้งใจ

     ประเด็นที่ 3. คุณบอกว่าการเป็นหมอคือสิ่งที่คุณอยากทำมาตลอด และตั้งใจจะมุ่งมั่นให้ถึงที่สุด ผมถามหน่อยสิครับว่าองค์ประกอบไหนของอาชีพแพทย์ละครับ ที่ทำให้คุณอยากจะเป็นแพทย์เหลือเกิน ลองไล่ดูนะ (1) การได้รับเกียรติและยกย่อง (2) การได้โชว์ออฟ หรือได้บลัฟเพื่อนว่าฉันก็ฉลาดเรียนหมอได้นะ (3) การสนองเจตนาของพ่อแม่ (4) การจะได้ดูแลพ่อแม่ยามท่านแก่เฒ่า (5) การมีงานทำ (6) การมีโอกาสรวย (7) การได้ทำงานที่สุขสบายขึ้นกว่าเดิม (8) การมีโอกาสได้แฟนดี แฟนหล่อ หรือแฟนเป็นหมอ (9) การมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนเจ็บไข้

     ผมจะจาระไนให้คุณฟังทีละประเด็นนะ

     (1) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะจะได้รับเกียรติและยกย่อง ความเป็นจริงคือทุกวันนี้มีหมอหนุ่มๆสาวๆจำนวนหนึ่งได้ทิ้งอาชีพหมอไป อีกส่วนหนึ่งอยู่ในอาชีพหมอแบบกัดฟันกรอดๆไม่มีความสุข เพราะเขามาพบความจริงว่าอันที่จริงคนไข้จำนวนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่?) ไม่ได้ให้เกียรติยกย่องหมอเลย แถมยังคิดว่าหมอเป็นบริกรรับใช้ให้เขาอีกด้วย

     (2) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะอยากจะโชว์ออฟ หรือบลัฟเพื่อนว่าฉันก็เรียนหมอได้นะ ถึงวันที่คุณเรียนจบหมอแล้วไปโชว์ออฟกับเพื่อน เพื่อนของคุณจะทำตาโตแล้วว่า “..นี่แกโง่ขนาดนี้เลยเหรอวะ”

     (3) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะอยากสนองเจตนาของพ่อแม่ ผมแนะนำให้คุณให้ค่อยๆอธิบายให้พ่อแม่ฟังว่าชีวิตของคุณ คุณอยากจะใช้มันอย่างไร แล้วก็หันมาใช้ชีวิตของคุณตามแบบที่คุณอยากเป็นจริงๆดีกว่า เพราะพ่อแม่อีกไม่นานก็จะตายจากเราไปแล้ว แต่ตัวเราต้องอยู่กับเราไปจนเราตาย

     (4) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะหวังจะได้ดูแลพ่อแม่ยามท่านแก่เฒ่า ความเป็นจริงคือเวลาพ่อแม่หมอป่วย หมอไม่มีเวลาไปดูแลหรอกครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวหมอสันต์เอง ต้องฝากให้น้องสาวซึ่งไม่ได้มีความรู้อะไรในทางการแพทย์เลยเป็นผู้ดูแลแทน

     (5) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะอยากจะมีงานทำ ตอนนี้คุณก็มีงานทำอยู่แล้วนะ

     (6) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะอยากจะรวย คุณมาผิดที่แล้วครับ หมอที่มีความสุขกับอาชีพหมอไม่มีใครรวย หมอที่รวยเป็นหมอแบบทำงานไปด้วย พร้อมกับจุดไฟฌาปณกิจตัวเองไปด้วย เพราะอาชีพหมอนี้เป็นอาชีพกรรมกร ถ้ากรรมกรจะรวยได้ก็ต้องเอาแรงเข้าแลก ตรงนี้คุณคงเข้าใจนะครับ

     (7) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะอยากได้ทำงานที่สุขสบายขึ้นกว่าเดิม ผมรับประกันว่างานปัจจุบันของคุณก็สุขสบายพอๆหรือมากกว่าเป็นหมออยู่แล้วครับ

     (8) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะจะได้แฟนดี แฟนหล่อ หรือแฟนเป็นหมอ สถิติอย่างไม่เป็นทางการจากเพื่อนรุ่นน้องของผมที่ยังสอนอยู่ในโรงเรียนแพทย์บอกว่าลูกศิษย์ของเขาทุกวันนี้เป็นหญิง 80% เป็นชาย 5% ที่เหลือเป็นตุ๊ด คุณเป็นเด็กวิทย์คงพอคำนวณได้นะว่าโอกาสจะได้แฟนในโลกแคบใบนั้นจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์

     (9) ถ้าอยากเป็นหมอเพราะจะได้ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ ตอนนี้คุณกำลังทำงานช่วยเหลือคนเจ็บไข้อยู่นะครับ การดูแลสุขภาพผู้คนในปัจจุบันนี้มีสามส่วนที่สำคัญเท่าเทียมกัน คือ การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และการฟื้นฟู ส่วนแรกคือการส่งเสริมสุขภาพ กับส่วนสุดท้ายคือการฟื้นฟู กำลังถูกทอดทิ้งไม่มีใครใส่ใจทำอย่างจริงจัง เพราะคนส่วนใหญ่เฮโลไปทำส่วนที่สองคือการรักษาโรค แล้วการที่คุณจะทิ้งส่วนที่กำลังต้องการคนไปทำส่วนที่มีคนมากเกินไปแล้ว มันจะดีหรือครับ

     ก่อนจบ ผมขอเล่าให้ฟังถึงหนังเรื่องหนึ่งนะ จำชื่อไม่ได้แล้ว หนังเล่าชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง (พระเอก) ร่ำรวย แล้วก็ประสบอุบัติเหตุ เป็นอัมพาต เข้าโรงพยาบาล ฟื้นฟูร่างกายอย่างเข้มข้นเอาจริงเอาจังอยู่หลายเดือน โชคดีที่ได้นักกายภาพฝีมือระดับโปรที่เป็นทั้ง role model เป็นทั้ง motivator ด้วย จนกลับมามีร่างกายที่ปกติได้อีก กลับมารวยต่อไป แต่แล้วต่อมาก็ประสบปัญหาชีวิต ซึมเศร้า ถึงขั้นไม่เอาอะไรในชีวิตอีกแล้ว คิดฆ่าตัวตายลูกเดียว ทั้งยา ทั้งจิตแพทย์ ก็เอาไม่อยู่ ภรรยาได้ไปอ้อนวอนนักกายภาพบำบัดที่เคยฟื้นฟูร่างกายให้เขากลับมาเยี่ยมเขา นักกายภาพกับคนไข้เก่าของเขาจึงได้พบกัน อยู่ด้วยกันแบบเงียบๆ คุยกันไม่กี่คำ แต่ว่าคุยกันแบบคนคุยกับคน จนในที่สุดคนไข้ได้แรงบันดาลใจกลับมามีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้อีกครั้ง หนังเรื่องนั้นประทับใจผมมาก และสอนให้ผมรู้ว่า

     อาชีพอะไรก็ได้ ถ้าคุณทำแบบใส่ใจมันอย่างลึกซึ้ง คุณก็จะมีความสุขกับมันได้ และถ้าตัวผมเองมีอาชีพเป็นนักกายภาพ ผมจะไม่ขวนขวายไปมีอาชีพหมอเลยจริงๆ…สาบาน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน (13 มีค. 58)

อ.เขียนดีมากครับ
ผมอ่านบทความ ของ อ เรื่องแพทย์ชั้น2แล้ว ได้รายละเอียดดีครับ รู้แจ้ง เห็นจริง ผมมีเพื่อนส่งลูกไปเรียน จีนก็มีครับ ตัวผมเองจบ phillipines ครับ สอบผ่านปี 55 ทำคะแนนได้ดีพอสมควร เงินเดือน 2แสน ครับ เคยทำราชการสาธารณสุขมาก่อนครับ
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อเด็กไทยครับ

ขอแสดงความนับถือ

พ phillipines

………………………………………………………………

จดหมายจากผู้อ่าน 2

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
     วันนี้มีโอกาสได้อ่านเมลที่มีการถามคุณหมอเรื่องแพทย์ชั้น2 หนูเป็นนักศึกษาแพทย์ที่จีนค่ะ อยากส่งมาขอบคุณที่ได้อ่านแล้วรู้สึกเพิ่มพลังให้กับชีวิต จากที่มีเรื่องกังวลอยู่หลายๆเรื่อง เพราะตอนนี้เหลือแค่1ปีก็จะกลับไทยแล้ว พอได้อ่านก็รู้สึกมีแรงผลักดันขึ้นมาค่ะ
    ขอโทษนะคะที่ไม่รู้จะติดต่อทางไหนเพื่อที่จะบอกว่าขอบพระคุณ เลยส่งมาทางนี้(ซึ่งเป็นเมลสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ)แต่ก็ส่งมา เพราะวันนี้ที่ได้อ่านมันทำให้สุขภาพทางจิตของหนูดีขึ้นมากๆ หนูจะเป็นหมอที่ดีและเก่งแค่ได้เศษเสี้ยวนึงของคุณหมอสันต์ หนูก็ดีใจแล้วค่ะ
    ขอบคุณมากๆนะคะ กะคำตอบที่ทำให้นักศึกษาแพทย์คนนึงรู้สึกแรงฮึดสู้
 อตน*อปม*กเร????

……………………………………………………………..