Latest

การย้ำคิดก็คือการขาดความรู้ตัวเหมือนความมืดก็คือการขาดแสงสว่าง

กราบเรียนคุณหมอสันต์
ลูกสาวเรียนคณะพยาบาลที่ ม. … ปี … ตอนนี้มีอาการซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นของเธอคนหนึ่งได้ฆ่าตัวตายจริงๆ หนูเป็นทุกข์มากว่าตัวเองเลี้ยงลูกมาไม่ดี ลูกจึงต้องมามีความทุกข์กับชีวิตแบบนี้ จนอาจารย์ที่ปรึกษาของลูกสาวต้องมาให้คำปรึกษาตัวหนูด้วยอีกคน คุณหมอช่วยหนูด้วย

……………………………………………

ตอบครับ

     ข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กหนุ่มเด็กสาวในสถาบันการศึกษามีในทุกประเทศ ทุกสาขาอาชีพที่เด็กเรียน ไม่ใช่เป็นเพราะคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ลูกของคุณเข้าไปเรียนดอก มันเป็นเพราะระบบการศึกษาที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มันเป็นระบบที่มีฐานรากมาจากสมัยมนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยวิธีกดขี่ข่มเหงกันและกัน ระบบนี้สอนคนให้เอาชนะ เป็นผู้พิชิต ได้ที่หนึ่ง สอง สาม สี่ห้า เป็นหัวเคิร์ฟ นั่งอยู่บนหัวคนอื่นให้สำเร็จ เราสอนให้เชื่อในความคิดที่ว่าความเป็นบุคคลหรืออัตตาของเรานี้เป็นของจริง และสอนให้คนหลับหูหลับตาพอกพูนอัตตาตัวเองให้ใหญ่กว่าอัตตาของคนอื่น สอนให้เบ่งอัตตาประกวดกัน แต่ว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ทนระบบสังคมแบบนี้ไม่ได้ เวลาเขาเอาชนะในระบบนี้ไม่ได้ เขาก็รู้สึกว่าเขาไม่มีค่าที่จะอยู่ในระบบนี้อีกต่อไป แม้ในหมู่เด็กที่เอาชนะได้ก็มีจำนวนหนึ่งที่ไม่มีความสุขหรือมีความรู้สึกผิดกับการที่ต้องมานั่งอยู่บนหัวคนอื่น เพราะคนจำนวนหนึ่งไม่มีธรรมชาติที่จะเอาชนะคะคานหรือเป็นผู้พิชิต แต่มีธรรมชาติที่จะสำรวจค้นหา เป็นส่วนหนึ่ง มีส่วนร่วม และทำความเข้าใจ แต่ว่าระบบการศึกษาไม่ได้เปิดโอกาสให้ได้ใช้ธรรมชาติอย่างหลังนี้

     สิ่งที่เราพร่ำสอนบ่มเพาะให้เกิดขึ้นในชีวิตของเด็กนั้นคือความย้ำคิด (compulsiveness) ซึ่งมันจะผูกเป็นวงจรสนองตอบแบบอัตโนมัติชนิดที่มีความคิดและความจำพ่วงอยู่ในนั้นด้วยขึ้นในระบบประสาทอัตโนมัติ (conditioned reflex) เหมือนหมาที่ถูกสอนให้ฟังเสียงกระดิ่งก่อนได้อาหารทุกวันๆจนมันน้ำไหลทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง ความคิดที่วนเวียนมาโผล่ในหัวของเด็กผ่านวงจรระบบประสาทอัตโนมัติแบบซ้ำซากนี้จะบงการชีวิตเด็กไปจนตาย หรือจนกระทั่งเด็กจะฟลุ้คๆเรียนรู้วิธีหลุดพ้นหรือปลดแอกตัวเองให้เป็นอิสระเสรีจากกรงความคิดของตัวเองได้ด้วยตัวเองสำเร็จ น่าเสียดายที่เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีที่จะปลดแอกตัวเองออกจากตรงนี้ไปได้ ขณะเดียวกันเด็กส่วนหนึ่งก็ไม่อาจทนอยู่ในความย้ำคิดนี้ต่อไปได้ ต้องเลือกวิธีฆ่าตัวตายเป็นทางออก

     การย้ำคิดก็คือการมีชีวิตอยู่โดยขาดความรู้ตัว เหมือนความมืดที่ขาดแสงสว่าง

     ถ้าห้องนี้มืด คุณจะรวมพลังกันขับไล่แบบพากันเอาไม้กวาดไล่ตีความมืดสำเร็จไหม ไม่อย่างแน่นอน มันมีทางเดียวเท่านั้นคือเปิดให้แสงสว่างเข้ามา

     เมื่อคุณมีความย้ำคิด อย่าไปพยายามปลุกปล้ำกับความย้ำคิด คุณไม่มีวันทิ้งความคิดด้วยวิธีขับไล่หรือปลุกปล้ำกับมันได้ คุณจะทิ้งความคิดได้ก็ด้วยการมีความรู้ตัวเท่านั้น การฝึกวิธีใช้ชีวิตให้มีความรู้ตัวอยู่เสมอจึงเป็นหนทางเดียวที่จะปลดแอกตัวเองออกจากกรงของความย้ำคิดซึ่งเป็นมรดกอันเลวร้ายที่ระบบการศึกษาและระบบสังคมยัดเยียดใส่หัวพวกเราทุกคน

    การฝึกถอยความสนใจออกจากความย้ำคิดไปอยู่กับความรู้ตัว จะทำอย่างไร ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่าให้ทำโดยอาศัยเครื่องมือห้าชิ้น ขอพูดตรงนี้อีกครั้งหนึ่งนะ เพราะมันคือหัวใจของการเดินหน้าไปสู่ความหลุดพ้นจากการถูกจองจำอยู่ในความย้ำคิด เครื่องมือทั้งห้าชื้นได้แก่

     เครื่องมือชิ้นที่ 1. คือความสนใจ (attention) สิ่งนี้คุณมีติดตัวมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว เพียงแค่ในการใช้เครื่องมือนี้คุณต้องฝึกดึงความสนใจออกจากตรงนั้นไปไว้ตรงนี้ให้ได้อย่างใจหมาย ปกติความสนใจมันถูกสอนให้ไปขลุกอยู่ในความคิดตลอดเวลา คุณต้องสามารถดึงมันออกจากความคิดไปจอดไว้ที่อื่นที่คุณอยากให้มันไปจอดอยู่ สถานที่จอดกลางทางที่ง่ายที่สุดที่คุณควรจะฝึกเอามาจอดก่อนก็คือการเฝ้าดูการหายใจ หมายความว่าให้คุณฝึกถอยความสนใจออกมาจากความคิด เอามาจอดเฝ้าดูการหายใจเข้าออกแทน

     เครื่องมือชิ้นที่ 2. คือการลาดตระเวณรู้สึกร่างกาย (body scan) ความรู้สึกบนร่างกายนั้นมันเกิดขึ้นจากพลังงานของร่างกายที่เรียกว่าพลังชีวิต (vital energy) แบบที่ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” หรือที่ภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” นั่นแหละ คุณสามารถเข้าไปคลุกคลีตีโมงหรือรับรู้การมีอยู่ของมันได้ด้วยเทคนิคการเอาความสนใจของคุณไปลาดตระเวณรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย ความรู้สึกหรืออาการบนร่างกายนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า feeling ภาษาบาลีใช้คำว่าเวทนา ซึ่งมันเกิดขึ้นจากพลังชีวิต การคลุกคลีตีโมงกับพลังชีวิตมีแต่คุณไม่มีโทษ ผลพลอยได้คือจะทำให้คุณผละหนีจากความคิดอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ได้ง่ายขึ้น

     เครื่องมือชิ้นที่ 3. คือการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) เพราะการผ่อนคลายร่างกายเป็นกลเม็ดในการถอยความสนใจออกมาจากความคิดแบบเนียนๆอีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือความคิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดชนิดที่เรียกว่า “อารมณ์” นั้นมันมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระเรื่องราวในภาษา อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกาย ซึ่งมักเป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อระงับขาหนึ่งก็มีผลระงับอีกขาหนึ่งด้วย ประเด็นสำคัญคือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อนี้เราสั่งการเอาได้ มันจึงเป็นทางลัดในการวางความคิดแบบเนียนๆ

     เครื่องมือชิ้นที่ 4. คือสมาธิ (meditation) หมายถึงการที่คุณเอาความสนใจไปจ่ออยู่ที่อะไรอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวอย่างต่อเนื่องลึกลงไปๆๆ จนความสนใจถูกลากออกมาจากความคิดอย่างสิ้นเชิงมาอยู่กับสิ่งที่คุณจดจ่อเท่านั้น การฝึกสมาธิก็ต้องนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละยี่สิบสามสิบนาทีทุกวัน ควบคู่ไปกับการฝีกมีสมาธิขณะทำงานและขณะใช้ชีวิตประจำวัน

     เครื่องมือชิ้นที่ 5. คือการขยันตื่น (alertness) หมายถึงว่าคุณทำตัวเองให้ตื่นขึ้นมาด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ยืดหน้าอกขึ้น แอบสะดุ้งตัวเองนิดๆ ให้ตื่นตัวมาอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันข้างนอกก็คือภาพเสียงสัมผัสตรงหน้า ปัจจุบันข้างในก็คือพลังชีวิต เมื่อเวลาเราตื่น มันจะเป็นเหมือนคนที่ต้องเดินสัญจรอยู่บนคลองที่ผิวน้ำแข็งในหน้าหนาว คือต้องเดินด้วยความตื่นตัวพร้อมรับรู้และระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะอาจเหยียบลงไปบนน้ำแข็งตรงที่มันบางกว่าปกติแล้วยวบลงไปได้ หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องตื่นเหมือนกับทหารที่ถูกส่งไปลาดตระเวณในดินแดนของศัตรู ตัวเองไม่รู้ภูมิประเทศ ไม่รู้ว่าเจ้าภาพเขาจะซุ่มโจมตีตรงไหนเมื่อไหร่ จึงต้องลาดตระเวณด้วยความตื่นตัวระแวดระวังอย่างยิ่ง ต้องตื่นประมาณนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือคุณกระตุ้นตัวเองให้ตื่นขึ้นมาไม่ใช่นานๆครั้ง แต่ทุกวินาทีหรือทุกลมหายใจเข้าออก เครื่องมือชิ้นนี้มันคือการธำรงรักษาหรือผดุงความรู้ตัวของคุณเอาไว้ มันเป็นเครื่องมือที่มีความลึกซึ้งมาก และคุณจะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนหากคุณขยันใช้มันได้จนทุกลมหายใจเข้าออก

     เครื่องมือทั้งห้าชิ้นนี้จะช่วยเปิดเอาความรู้ตัวเข้ามาส่องไล่ความย้ำคิดให้แผ่วหายไปเหมือนสวิสต์ไฟเป็นเครื่องมือเปิดแสงสว่างเข้ามาขับไล่ความมืดภายในห้อง โดยที่ไม่ต้องไปปลุกปล้ำขับไล่ความมืดด้วยการเอาไม้กวาดไล่ตีหรือด้วยวิธีอื่นๆเลย ให้คุณหาทางให้ลูกสาวได้รับรู้และทดลองการใช้เครื่องมือทั้งห้าชิ้นนี้ ลองให้เธอพยายามทำเองก่อน หากติดขัดอะไร ให้หาโอกาสพาเธอมาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์