Latest

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่อเป็นแล้ว กลับดีหรือหายได้

แต่เดิมนั้นวงการแพทย์มีความเชื่อว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่อเป็นแล้วมีแต่จะเดินหน้าเป็นมากขึ้น จนต้องจบลงด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดหัวใจ หรือการตายจากหัวใจวายเท่านั้น
ต่อมานพ.ออร์นิชและคณะ ได้ทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างจริงจัง จะทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เป็นแล้วถอยกลับมาดีขึ้นได้หรือไม่ โดยเอาคนป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและตรวจสวนหัวใจพบว่ามีจุดตีบที่หลอดเลือดหัวใจแน่นอนแล้วมา 93 คน สุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการรับประทานอาหารมังสะวิรัติแบบไขมันต่ำ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายระดับปานกลางแต่สม่ำเสมอ และจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆเช่นฝึกสมาธิ โยคะ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ให้ใช้ชีวิตในแนวทางดูแลสุขภาพไปตามแบบปกติ

ทั้งสองกลุ่มอยู่ภายใต้การทดลองเป็นเวลานาน 1 ปี เมื่อครบปีแล้วก็ทำการตรวจสวนหัวใจซ้ำ แล้วเอาผลการตรวจสวนหัวใจมาวิเคราะห์ พบว่ารอยตีบของหลอดเลือดหัวใจของกลุ่มที่ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ถอยกลับ (reverse) ไปตีบน้อยลงจากเฉลี่ย 40.0% เป็น 37.8% (ดีขึ้น 4.5%) ขณะที่ของกลุ่มควบคุม รอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจยิ่งตีบมากขึ้น จากเฉลี่ย 42.7% เป็น 46.1% (เลวลง 5.4%) และเมื่อเอาเฉพาะรอยตีบที่เป็นมากเรับประทาน 50% มาวิเคราะห์พบว่าในกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจถอยกลับไปตีบน้อยลงจากเดิมตีบ 61.1% เหลือตีบ 55.8 % ไขมันเลว (LDL) ในเลือดลดลงมา 37% และอาการเจ็บหน้าอกลดลง 91% ในขณะที่กลุ่มควบคุมรอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจยังคงเดินหน้าไปตีบมากขึ้นจากเดิมตีบ 61.7% ไปเป็นตีบ 64.4% ไขมัน LDL ลดลงเพียง 6% และอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นถึง 165%

งานวิจัยนี้สรุปได้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างจริงจังด้วยการปรับอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด สามารถใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เป็นแล้วให้กลับมาดีขึ้นได้ และเป็นการเปลี่ยนความเชื่อที่มีมาแต่เดิมว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่อเป็นแล้วจะมีแต่ตีบยิ่งขึ้นจนต้องจบด้วยการทำบอลลูนหรือผ่าตัดหัวใจหรือหัวใจวายเท่านั้น

หลังจากนั้นรัฐบาลอเมริกันได้ให้ทุนวิจัยสืบเนื่องโดยติดตามคนไข้สองกลุ่มนี้ต่อไปอีก 5 ปี [2] จึงได้พบว่ากลุ่มที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจริงจัง มีรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจถอยกลับไปตีบน้อยลงไปอีกจากน้อยลงจากเดิมที่ดีขึ้น 4.5% เมื่อสิ้นปีที่ 1 เป็นดีขึ้น 7.9% เมื่อสิ้นปีที่ 5 ขณะที่กลุ่มควบคุมรอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจก็ยิ่งเดินหน้าตีบมากขึ้นกว่าเดิม จากเลวลง 5.4% เมื่อสิ้นปีที่ 1 เป็นเลวลง 27.7% เมื่อสิ้นปีที่ 5 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมาก (p<0.001) ในแง่ของการเกิดเหตุการณ์หัวใจขาดเลือดครั้งสำคัญถึงขั้นต้องเข้านอนโรงพยาบาลหรือทำบอลลูนหรือผ่าตัด พบว่ากลุ่มที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเกิดเหตุการณ์หัวใจครั้งสำคัญเฉลี่ยคนละ 0.89 ครั้ง ขณะที่กลุ่มควบคุมเกิดเหตุการณ์หัวใจครั้งสำคัญเฉลี่ยคนละ 2.25 ครั้ง และเมื่อวิเคราะห์รายละเอียดของเหตุการณ์หัวใจครั้งสำคัญของทั้งสองกลุ่มพบว่าของกลุ่มควบคุมเป็นเหตุการณ์ที่หนักกว่า ต้องจบลงด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและผ่าตัดหัวใจมากกว่า งานวิจัยรอบที่สองนี้สรุปได้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างจริงจังด้วยการรับประทานอาหารมังสะวิรัติแบบไขมันต่ำ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายระดับปานกลางแต่สม่ำเสมอ และจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ ยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดมากยิ่งขึ้น นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990fb 336: 129-33 1990.
2. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998.