Latest

เทคนิคการใช้ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนนิสัยคน

ก่อนหน้านี้มีท่านผู้อ่านบทความของผมเรื่องหลักทฤษฏีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Stage of Change Model) ได้ถามแง่มุมการใช้งานจริงว่ากรณีไหนใช้ได้ใช้ไม่ได้ และผมได้รับปากว่าจะเขียนเล่าประสบการณ์เมื่อนำลงใช้กับคนจริงๆหลายๆคนให้ฟัง

ประเด็นสำคัญในการนำหลักทฤษฏีนี้ลงใช้คือต้องแยกสาระของเรื่องออกเป็นสองส่วนก่อน คือ

(1) ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนิสัย (stage of change)

(2) กลวิธีที่เลือกใช้เปลียนนินสัย (process of change)

โดยผมจะขอว่าไปทีละขั้นตอนดังนี้

(1) ขั้นยังไม่สนใจ (Precontemplate) มองยังไงก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเอาจริง อย่างน้อยก็ยังไม่เอาจริงใน 6 เดือนข้างหน้านี้ คนมักจะติดอยู่ที่ขั้นนี้นาน ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนถ่องแท้อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเคยลองมาแล้วไม่สำเร็จ จึงใช้วิธีหันหลังให้ ไม่สนใจ ไม่ทำ

กลวิธีที่พึงเลือกใช้ในขั้นตอนนี้คืออะไรก็ได้ทำให้เขาเชื่อก่อน เพราะการไม่สนใจเกิดจากความไม่เชื่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก จนมีทฤษฎีด้านสุขภาพว่าคนเรานี้ถ้าไม่เชื่อก็จะไม่ทำ (health believe theory) ดังนั้นในขั้นนี้จึงต้องทำให้เชื่อลูกเดียว ซึ่งมีสองประเด็นย่อย คือ (1) ให้ข้อมูลความจริง สำหรับคนที่ยังไม่รู้ความจริง ถ้าเป็นคนมีการศึกษาก็ให้ข้อมูลผลการวิจัยที่ดีๆ (2) การสร้างความเชื่อน้ำยาตัวเอง เพราะคนที่ล้มเหลวจะเกิดความไม่เชื่อน้ำยาตัวเอง อันนี้ยากมาก ยากจริงๆ ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ให้เห็นความสำเร็จของตัวเองในเรื่องง่ายๆก่อน

(2) ขั้นสนใจแต่รอฤกษ์ (Contemplate) สนใจที่จะทำแล้ว แต่ยังรั้งรออยู่บ้าง ประมาณว่าในหกเดือนข้างหน้านี้คงจะได้ลงมือทำแน่

กลวิธีที่เลือกใช้ในขั้นตอนนี้คือการปลุกจิตสำนึก ปลุกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ตื่น ใช้วิธีต่างๆบอกให้รู้ผลเสียของการไม่เปลี่ยนที่จะกระทบตนเองและผู้อื่นอย่างไร ต้องกระตุ้นหรือผลักดันจิตใจอารมณ์ ชี้ให้คิดถึงคนตัวเอง คิดถึงลูกเมีย คนรอบข้าง

(3) ขั้นตัดสินใจทำ (Preparation) ตั้งใจเอาจริงแน่นอน วางแผนเป็นตุเป็นตะแล้ว ประมาณว่าไม่เกินหนึ่งเดือนข้างหน้าที่คงได้ลงมือทำจริง

ในขั้นนี้กลวิธีเด็ดมีอย่างเดียวคือการเปิดให้มีทางเลือก เพราะงานวิจัยบอกว่าการตัดสินใจลงมือจะเกิดได้เร็วขึ้นถ้ามีทางให้เลือก จะเลิกบุหรี่เหรอครับ มีให้เลือกสามทางนะ หักดิบเลย หรือใช้นิโคตินกัม หรือจะค่อยๆลดลงวันละมวน เป็นต้น

(4) ขั้นลงมือทำ (Action) คือลงมือทำไปแล้ว แต่ยังต่อเนื่องมาได้ไม่เกินหกเดือน

กลวิธีที่ใช้ในขั้นนี้เป็นอะไรที่หินที่สุด ตัวช่วยหลักมีสองตัว คือ (1) วินัย วินัยลูกเดียว ทั้งวินัยต่อตนเอง และวินัยนัยหมู่คณะ เช่นระเบียบบริษัท (ห้ามพนักงานขึ้นลิฟท์เพื่อบังคับให้เดินขึ้นบันไดออกกำลังกาย เป็นต้น) วินัยต่อตนเองเป็นอะไรที่ยากสุด เพราะไปผูกพันกับความสามารถในการตามสังเกตใจตัวเอง ความสามารถในการนึกขึ้นให้ได้ (recall) ว่าเอ๊ะตัวเผลอลืมทำอีกละ และการคอยรู้ตัวอยู่เสมอ (awareness) ว่าขณะนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ทั้งสองเรื่องนี้ใครทำได้เก่งก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ทำให้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของการปรับเปลี่ยนนิสัยคน (2) กัลยาณมิตร เป็นตัวช่วยตัวที่สองที่สำคัญไม่แพ้กัน คนที่มีเพื่อนดี หรือมีพวกลากไป มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จง่ายกว่าคนที่ทำอยู่คนเดียว รู้อยู่คนเดียว

ทริคสำคัญก็คืออย่าเอากลวิธีหรือ process of change ที่ไม่ใช่ของที่เหมาะกับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (stage of change) นั้นๆไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาอยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือยังไม่สนใจจะทำ ซึ่งแน่นอนสาเหตุมาจากไม่เชื่อ สมมุติว่าเขาไม่เชื่อน้ำยาตัวเอง ถ้าเราไปเอากลวิธีสำหรับขั้นตอนอื่นไปใช้ เช่นไปเขย่าเขา ปลุกจิตสำนึกเขาให้เห็นแก่ลูกแก่เมียหรือแก่ตัวเอง (ซึ่งเป็นกลวิธีสำหรับขั้นตอนที่สอง) หรือเอาวินัยหมู่คณะไปครอบ (ซึ่งเป็นกลวิธีสำหรับขั้นตอนที่สี่)ทำให้ตายเขาก็ไม่สนใจทำ เพราะในขั้นตอนที่ 1 นี้มันต้องเวอร์คบนความเชื่อก่อน ต้องทำให้เขาเชื่อน้ำยาตัวเองก่อนว่าเขาทำได้ เป็นต้น

พอพ้นจากขั้นนี้ที่ 4 นี้ไปแล้ว มันง่ายแล้วละ เพราะมันติดลมแล้ว สิ่งที่พึงทำก็คือหันไปใช้หลักทฤษฏีความยืนหยัดและสิ่งเย้ายวน (Self efficacy & temptation)คือความยืนหยัด (self efficacy) หมายถึงความมั่นคงในทิศทางที่ตั้งใจไว้แม้ในสถานะการณ์ที่สั่นคลอน ซึ่งต้องต่อสู้กับสิ่งเย้ายวน (temptation) อันหมายถึงมารหรือความแรงของสิ่งที่มาชักจูงให้ใจอ่อนหันเหกลับไปสู่วิถีเดิมๆก่อนการเปลี่ยนแปลง ในขั้นที่ 5 นี้ก็เพียงแต่ประคับประคองให้การเปลี่ยนแปลงคงอยู่ด้วยการเสริมสร้างความยืนหยัดให้หนักแน่นขึ้นทุกวัน และลดทอนสิ่งเย้ายวนให้เหลือน้อยที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Prochaska JO, Velicer WF. The transtheoretical model of health behavior change. Am J Health Promot 1997 Sep-Oct;12(1):38-48.