Latest

ไตรกลีเซอไรด์สูงทั้งบ้าน

ดิฉันเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เจาะเลือดครั้งสุดท้ายได้ 400 พี่สองคนเป็นไตรกลีเซอไรด์สูงทั้งคู่ คุณแม่เสียชีวิตเมื่ออายุ 57 ปี ด้วยโรคหัวใจขาดเลือด ดิฉันไปหาหมอ ได้ยาโลปิดมาทาน ไตรกลีเซอไรด์ลดเหลือ 150 แต่ว่ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ลองหยุดยาดูไตรกลีเซอไรก็ขึ้นไปสี่ร้อยอีก อยากถามว่ายาโลปิดเป็นสิ่งจำเป็นไหม ทานนานๆมีอันตรายไหม มีทางเลือกอื่นอะไรบ้าง และดิฉันจะเสียชีวิตเร็วเหมือนคุณแม่ไหม

สงวนนาม)

ตอบครับ

1. คุณมีกรรมพันธุ์ไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงของการเป็นหลอดเลือดและหัวใจมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนที่ว่าจะอายุสั้นเหมือนคุณแม่ไหม ผมว่าไม่เหมือน เพราะยุคของคุณคนมีปัจจัยเสี่ยงต่างลงมือจัดการปัจจัยเสี่ยงกันทั่วโลก ทำให้อุบัติการเสียชีวิตลดลง ดังนั้นคุณต้องอายุยืนกว่าคุณแม่ของคุณแน่นอนครับ

2. ก่อนที่จะพูดไปถึงยา เรามีวิธีลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้หลายวิธี กล่าวคือ

a. การออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน หมายความว่าออกกำลังกายให้ได้ทั้งสองแบบ คือแบบแอโรบิก (เช่นวิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน) ให้ถึงระดับเหนื่อยพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่เป็นเพลง) นานครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง กับออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม (strength training) ให้ได้สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง

b. การลดอาหารไขมันและแป้งละเอียด (refine carbohydrate) เช่นข้าวขาว ขนมปังขาว ถ้าลดจริงจังชนิดลดข้าวมื้อละชามเหลือช้อนเดียว บางคนไตลกลีเซอไรด์สูงสามสี่ร้อยลดลงมาได้โดยไม่ต้องใช้ยา น้ำตาลและน้ำผลไม้หวานๆก็เป็นตัวเพิ่มไตรกลีเซอไรด์ดีนักง

3. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ต้องลดละเลิก เพราะแอลกอฮอล์เพิ่มไตรกลีเซอไรด์

4. ตัวเลือกยารักษามีดังนี้

a. ตัวที่ปลอดภัยที่สุดซึ่งผมเชียร์มากที่สุดตอนนี้คือน้ำมันปลาหรือไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งหมอเขาไม่ค่อยสั่งกันเพราะมันไม่เท่ เนื่องจากเป็นของที่คนไข้หาซื้อกินเองได้ งานวิจัยพบว่ากินน้ำมันปลาวันละ 4 กรัม (4 แคปซูล) ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ 40% เลยเชียว แถมยังลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจหลอดเลือดได้ด้วย ดังนั้นน้ำมันปลาดีที่ซู้ด

b. ยา Gemfibrozil (Lopid) เป็นยามาตรฐานสำหรับรักษาไตรกลีเซอไรด์สูง แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ลางเนื้อชอบลางยา บางคน อย่างเช่นคุณไม่ค่อยถูกกับยานี้ แต่อย่าไปว่าเขาไม่ดีนะ เพราะเป็นยาในดวงใจของหมอหัวใจทั่วโลกเลยทีเดียว

c. ยา Niacin (Nicotinic acid) มีชื่อน่าเลื่อมใสอีกชื่อหนึ่งว่า “วิตามินบี 3” ขนาด 1.5 กรัมต่อวันก็ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ถึง 50% แต่ก็มีแจ็คพอตเกิดตับอักเสบคางเหลืองเอาได้เหมือนกัน ทำให้หมอพากันขยาดยานี้ไม่กล้าจ่ายให้คนไข้กันง่ายๆ

โดยสรุป ผมแนะนำให้ปรับวิถีชีวิต ออกกำลังกายจริงจัง ปรับโภชนาการแบบเอาเป็นเอาตาย และกินน้ำมันปลาวันละ 4 กรัม (4 เม็ด) ดูก่อนสักสามเดือน ถ้าทำได้จริงรับประกันไตรกลีเซอรไรด์ลงแน่ เพราะผู้ป่วยของผมหลายรายเขาสูงกว่าของคุณอีกยังลงได้เลย ถ้าทำแล้วไม่ลง ลองเขียนมาหาผมอีกที จะได้เจาะลึกว่าทำ (ออกกำลังกาย + โภชนาการ) เป็นหรือเปล่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. National Cholesterol Education Program. Executive Summary of The Third Report of The National Cholesterol Education Program (NCEP) Expert Panel on Detection, Evaluation, And Treatment of High Blood Cholesterol In Adults (Adult Treatment Panel III). JAMA. May 16 2001;285(19):2486-97.
2. Wu J, Song Y, Li H, et al. Rhabdomyolysis associated with fibrate therapy: review of 76 published cases and a new case report. Eur J Clin Pharmacol. Sep 16 2009;
3. Abourbih S, Filion KB, Joseph L, Schiffrin EL, Rinfret S, Poirier P. Effect of fibrates on lipid profiles and cardiovascular outcomes: a systematic review. Am J Med. Oct 2009;122(10):962.e1-8.
4. Roth EM, Bays HE, Forker AD, et al. Prescription omega-3 fatty acid as an adjunct to fenofibrate therapy in hypertriglyceridemic subjects. J Cardiovasc Pharmacol. Jul 10 2009;
5. Goldberg RB, Jacobson TA. Effects of niacin on glucose control in patients with dyslipidemia. Mayo Clin Proc. Apr 2008;83(4):470-8.