Latest

โมโหแล้วหอบหายใจไม่อิ่มเป็นลม กลัวเป็นเจ้าหญิงนิทรา

มีเรื่องรบกวนปรึกษาคุณหมอนะคะเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจ ก่อนอื่นขอเล่ารายละเอียดก่อนนะคะ ขณะนี้หนูอายุ22ปีในช่วงที่อายุประมาณ15ปีเคยมีปัญหาทะเลาะกับครอบครัวแล้วเกิดอาการเครียดร้องไห้จนหายใจไม่ทัน และหลังจากครั้งนั้นเมื่อมีปัญหาใดๆ หรือเกิดภาวะที่เครียดมากหรือร้องไห้จะมีอาการแบบนี้ทุกครั้ง และทุกๆครั้งครอบครัวจะพาส่งโรงพยาบาลพญาไท3มาโดนตลอด หนูจำอะไรไม่ได้นะคะในระหว่างที่ร่างกายเป็นแบบนั้น หนูจำได้เพียงแค่ว่าพยาบาลฉีดอะไรให้ไม่ทราบแล้วหนูก็สงบไป แต่พอตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนูก็เป็นอาการเดิมซ้ำอีกทุกครั้งที่ตื่น หนูได้ยินคุณหมอท่านหนึ่งพูดกับคุณพ่อว่า ถ้าหากหนูยังเป็นแบบนี้บ่อยครั้งจะทำให้หนูอยู่ได้น้อยลงเรื่อยๆหรือไม่แน่อาจจะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปเลยก็ได้ หนูมีประวัติการพบหมอจิตแพทย์ด้วยนะคะ อยู่ในการดูแลของจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลวชิระมาตั้งแต่อายุ15จนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันนี้หนูได้หยุดยาที่หมอให้มาทานเปนเวลานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่เกิดอาการหายใจไม่ทัน ตัวเกร็ง จนบางครั้งเพื่อนๆบอกว่าหนูแทบจะกัดลิ้นตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ ระยะหลังๆน่าจะประมาน2-3ปีค่ะ หนูมีอาการเจ็บหัวใจบ่อยครั้ง ช่วงแรกๆนานๆครั้งเปนทีนึง แต่พอเริ่มนานวันหนูเริ่มเจ็บหัวใจบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น และเจ็บมากกว่าทุกๆครั้งที่เคยเป็นมา หนูมีอาการเจ็บหัวใจเหมือนมีคนเหยียบหัวใจหนู บางครั้งปวดลามมาถึงไหล่ซ้ายของหนู แล้วหนูก็มีการเปนลมหน้ามืดหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ2ครั้งเมื่อปี52 เรียกได้ว่า2ครั้งนั้นเกิดขึ้นแบบเดือนเว้นเดือนค่ะ ระยะ2-3อาทิตย์ที่ผ่านมานี้หนูมีอาการเจ็บหัวใจมากจนหนูไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย บางครั้งเดินๆอยู่ก้อเจ็บจี๊ดขึ้นมาจนแทบล้ม เวลาออกกำลังกาย หรือเดินขึ้นบันไดก็ตาม หนูจะเหนื่อยหอบมากผิดปกติทั้งที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย อ่อ…ลืมเรียนคุณหมอไปอย่างค่ะ หนูสูบบุหรี่มาเป็นเวลาประมาณ3-4ปีแล้วค่ะ ปัจจุบันนี้ไม่ดูดจัดมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็มีสูบบ้างเป็นบางครั้งค่ะ เรื่องเหล้า เบียร์แต่ก่อนก้อดื่มทุกวันเช่นกันค่ะ แต่ตอนนี้เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทุกประเภทมาเปนเวลา2-3ปีแล้วค่ะ และหนูเคยใช้ยาเสพติด(ยาไอซ์)มาประมาณ3ปีค่ะ ตั้งแต่รู้สึกว่าเจ็บหัวใจบ่อยและหนักขึ้นหนูเลยเลิกยุ่งกับยาเสพติดค่ะ เวลาป่วยนิดๆหน่อยๆ พอไปหาหมอ เคยลองปรึกษาถามคุณหมออายุรกรรม ท่านบอกว่าอาการที่หนูเล่าว่าเจ็บหัวใจแบบไหน คุณหมอบอกว่ามีอาการเสี่ยงอยู่ แต่อยากให้ตรวจที่ศูนย์หัวใจมากกว่าจะได้ผลที่ชัดเจนกว่า ล่าสุดที่หนูเกิดอาการหายใจไม่ทันแบบนี้เกิดขึ้นล่าสุดวันที่30 มิ.ย. 53 ค่ะ คุณหมอที่รักษาบอกกับหนูหลังจากที่ฟื้นขึ้นมาแล้วว่า จากที่ดูประวัติหนูจะเป็นแบบนี้ทุก3เดือน หรือบางครั้งเกิดขึ้น2-3ครั้งใน1เดือน คุณหมอบอกว่าส่งผลเสียกับหนูเป็นอย่างมาก หมอไม่อยากให้เป็นแบบนี้บ่อยๆค่ะ

หนูรบกวนคุณหมอตอบหนูด้วยนะคะว่าหนูมีโอกาสที่จะเปนโรคหัวใจรึเปล่า ถ้ามีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจแบบไหนคะ แล้วหนูควรที่จะต้องทำอย่างไร หนูสงสารพ่อแม่มากค่ะ ที่ต้องเป็นห่วงหนูเพราะกลัวว่าหนูจะเป็นอะไรไปถ้าหากรู้เมื่อสายไปจนไม่มีทางแก้แล้ว แต่หนูไม่กล้าที่จะไปพบหมอเลย เพราะหนูกลัวที่จะได้รับคำตอบ หรือเจอกับคำตอบที่ว่าหนูอยูได้อีกไม่นานค่ะ

ตอบครับ

1. อาการที่เวลามีปัญหาทะเลาะกับครอบครัวแล้วเกิดอาการเครียด ร้องไห้จนหายใจไม่ทัน หมดสติ ต้องเข้ารพ.เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ไม่ได้เป็นอาการของโรคหัวใจ แต่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายสนองตอบต่อความเครียดด้วยการหายใจเร็วจนเลือดมีความเป็นด่างสูงมาก (hyperventilation syndrome หรือ HVS) ทำให้หมดสติ หรือชักเกร็งได้ โรคนี้วงการแพทย์ย้งไม่ทราบสาเหตุ การป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงคอขาดบาดตายอะไร ไม่ได้ทำให้อายุสั้นลง และไม่ได้ทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราด้วย เป็นเรื่องเหลวไหลที่ว่าคนเป็นโรคนี้จะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา เลิกวิตกกังวลในประเด็นนั้นได้ โรคนี้ไม่ใช่โรคร้าย และมีอัตราตายน้อยมาก (rare) แต่ว่าคนเป็นโรคนี้เรื้อรังมักจะมีอาการของระบบประสาทและระบบหัวใจร่วมด้วย ทำให้มีแนวโน้มจะถูกหมอจับทำการตรวจวินิจฉัยมากมาย แล้วก็ไม่พบอะไร

2. อาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีใครเหยียบ หรือพูดง่ายๆว่าเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดไม่มีผิด เป็นอาการหนึ่งของโรค HVS ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง มีคนไข้แบบคุณนี้จำนวนมากถูกจับตรวจสวนหัวใจ บ้างถูกให้ยาละลายลิ่มเลือด มีรายงานหนึ่งทำวิจัยคนไข้ที่ตรวจสวนหัวใจแต่ไม่พบอะไรผิดปกติ 45 คน พบว่าท้ายที่สุดคนไข้เหล่านี้ทุกคนถูกวินิจฉัยว่าเป็น HVS และเมื่อตามดูคนไข้เหล่านี้ไปอีกสามปีครึ่งก็พบว่า 67% ของคนไข้เหล่านี้มีอาการเจ็บหน้าอกเข้ารพ.อีกและถูกรับไว้รักษาเพราะเข้าใจว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำอีก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น มีบางรายถูกจับตรวจสวนหัวใจซ้ำอีก..กรรมจริงๆ

3. การรักษาโรค HVS มีหลักดังนี้

3.1 อย่าเอาถุงกระดาษครอบปากและจมูกให้หายใจในนั้น ซึ่งเป็นวิธีรักษาแบบโบราณด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เลือดเป็นด่างน้อยลงแล้วอาการจะดีขึ้น การทำแบบนั้นทำให้คนไข้จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้วแต่ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็น HVS ขาดออกซิเจนตายไปเลย

3.2 ฝึกหัดเทคนิคการควบคุมการหายใจของตนเอง ก่อนอื่นต้องเข้าใจกลไกการหายใจของคนเราในภาวะปกติก่อนว่าจะหายใจเอาลมเข้าออก (tidal volume) เพียง 35-45% ของลมที่ไล่ออกมาได้เต็มที่ (vital capacity) เท่านั้น ถ้าเราหายใจเอาลมเข้าออกมากกว่านี้ (เช่นการหายใจลึกเมื่อกลุ้มใจ) จะก่อความรู้สึกว่าเรากำลังหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม ความรู้สึกดังกล่าวจะกระตุ้นให้เราหายใจแรงขึ้นและมากขึ้นอีกเพื่อให้อิ่ม เป็นวงจรของการหายใจเร็วขึ้นๆแบบไม่รู้จบ เทคนิคที่พึงหัดคือหัดหายใจเข้าออกช้าๆแบบผ่อนลม เทคนิคดังกล่าวลดการหายใจเร็วเกินไปแบบฟืดฟาดๆได้ดี

3.3 หัดหายใจด้วยท้อง หมายถึงแขม่วท้องช่วยเวลาหายใจออก เพราะคนเป็นโรคนี้มักหายใจด้วยทรวงอกส่วนบนอย่างเดียวทำให้ปอดขยายตัวเต็มที่เกือบตลอดเวลาไม่ว่าจะหายใจเข้าหรือออก พอจะเพิ่มลมหายใจเข้าออกปอดขึ้นไปอีกก็รู้สึกว่าเพิ่มไมได้แล้ว หายใจไม่อิ่มแล้ว จึงต้องหายใจให้เร็วขึ้น แต่หากหัดใช้ท้องช่วยหายใจ ท้องจะช่วยดันกระบังลมขึ้นลงทำให้เพิ่มลมเข้าออกปอดได้ตามต้องการจึงไม่ต้องหายใจเร็ว

3.4 การลองหายใจหอบฟืดฟาดดูสัก 3-4 นาทีเพื่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้นมา แล้วควบคุมการหายใจด้วยตัวเองให้อาการต่างๆเหล่านั้นหายไป ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราควบคุมอาการเวลาเครียดมากๆได้

3.5 ใช้ยาช่วยรักษา ก็คือยากล่อมประสาท เช่นยาในกลุ่ม benzodiazepine ทั้งนี้ต้องให้แพทย์สั่งยาให้และติดตามดูแลการใช้ เพราะเป็นยาอันตราย

3.6 สำหรับประเด็นความกลัวโรคหัวใจนั้น คุณมีทางเลือกสองทาง ทางเลือกที่หนึ่ง คือ เชื่อตามข้อมูลวิจัยข้างต้นว่าอาการคล้ายหัวใจขาดเลือดในโรค HVS มีได้โดยไม่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่จริง จึงไม่ต้องไปตรวจเพิ่มเติมทางหัวใจให้ยุ่งยาก แต่ให้โฟคัสที่การรักษา HVS อย่างเดียวก็พอ กับทางเลือกที่สอง คือ ไปตรวจกับหมอโรคหัวใจเพื่อให้สบายใจว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจจริง ซึ่งทางเลือกที่สองนี้คุณต้องทำใจก่อนนะว่าอาจจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และได้รับคำแนะนำให้ตรวจสวนหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน คุณจะเลือกทางไหนคิดเอาเองและตัดสินใจเองนะครับ

3.7 ข้อสุดท้าย อันนี้ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคนี้ของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนะ แต่เป็นคำแนะนำส่วนตัวของผมเอง คือ

3.7.1 ผมแนะนำให้คุณเอาชนะอาการ HVS โดยฝึกเทคนิคการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย (relaxation response) คือธรรมชาติร่างกายคนเรานี้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้สองแบบ แบบเครียด (stress response) ก็คือหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น หายใจฟืดฟาดเร็วขึ้น ร่างกายใช้ออกซิเจนมากขึ้น แบบว่าพร้อมจะหนีหรือสู้ (fight or flight) กับอีกแบบหนึ่งคือการสนองตอบแบบผ่อนคลาย (relaxation response) คือหัวใจจะเต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง หายใจช้าลง ใช้ออกซิเจนน้อยลง การตอบสนองแบบผ่อนคลายนี้จะเกิดเมื่อสมองอยู่ในภาวะปลอดความคิด เช่นขณะฝึกสมาธิตามดูลมหายใจ (meditation) ทำโยคะ รำมวยจีน หรืออะไรที่คล้ายๆกัน คุณต้องไปฝึกของพวกนี้จนร่างกายของคุณรู้วิธีสนองตอบแบบผ่อนคลายเป็น แล้วคุณจะหายจากโรคนี้เอง

3.7.2 ผมแนะนำให้คุณฝึกจิตใจของคุณในสองประเด็น คือ (1) ฝึกระลึกรู้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้นี้คุณคิดอะไรไป ฝึก recall ความคิดของตัวเองให้ได้บ่อยๆ (2) ฝึกสังเกตใจตัวเอง (self awareness) ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่า ณ ขณะนี้ใจตัวเองเป็นอย่างไร เครียดหรือผ่อนคลาย มีความคิดหรือความรู้สึกอะไรครอบอยู่หรือเปล่า สังเกตดูเฉยๆ อย่าทำอะไรมากว่านั้น ทั้งความสามารถในการ recall และความรู้ตัวนี้ จะเป็นพื้นฐานในการดับ ”ความคิด” ที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจคิด เพราะโรคของคุณมีต้นกำเนิดจากความคิด ความคิดนำไปสู่ความกังวลหรือโมโห ซึ่งนำไปสู่อาการทางร่างกาย เมื่อดับการเกิดของความคิดเสียได้ โรคของคุณก็จะหาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Castro PF, Larrain G, Perez O, et al. Chronic hyperventilation syndrome associated with syncope and coronary vasospasm. Am J Med. Jul 2000;109(1):78-80.

2. Callaham M. Hypoxic hazards of traditional paper bag rebreathing in hyperventilating patients. Ann Emerg Med. Jun 1989;18(6):622-8.

3. DeGuire S, Gevirtz R, Hawkinson D, et al. Breathing retraining: a three-year follow-up study of treatment for hyperventilation syndrome and associated functional cardiac symptoms. Biofeedback Self Regul. Jun 1996;21(2):191-8.

4. Folgering H. The pathophysiology of hyperventilation syndrome. Monaldi Arch Chest Dis. Aug 1999;54(4):365-72.