Latest

ยาคุม

ดิฉันเป็นโรค pcos หมอให้ทานยาคุมกำเนิด
แต่ยาคุมที่ดิฉันทานเป็นชนิด hormone ต่ำ Gestodene 60 mcg, Ethinyl estradiol 15 mcg
อยากทราบว่าเกี่ยวกับการที่ดิฉันมีประจำเดือนออกมาน้อยหรือไม่ เพราะทานยี่ห้อนี้ทีไรประจำเดือนมาน้อยมาก และมีออกกระปิดกระปอยระหว่างรอบเดือนด้วย
ควรจะเปลี่ยนยี่ห้อมั้ยคะ ช่วยแนะนำยี่ห้อด้วยค่ะ เอาที่ไม่ทำให้บวมน้ำด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ
………………………………………

ตอบครับ

1. การทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ใช่หรือไม่ ตอบว่า ใช่ครับ การทบทวนงานวิจัยทั้งหมดที่เปรียบเทียบยาฮอร์โมนสูงกับ โดยใช้จุดตัดที่ ethinyl estradiol 20 mcg เป็นเส้นแบ่งสูงกับต่ำ ได้ข้อสรุปว่ายาคุมฮอร์โมนต่ำทำให้เกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยมากกว่ายาคุมฮอร์โมนสูง ทั้งนี้เป็นเพราะกลไกการหยุดเลือดออกทางช่องคลอดคือการที่ระดับฮอร์โมนเพศในเลือดเพิ่มสูงขึ้นๆๆเพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ ถ้ายาคุมที่มีฮอร์โมนสูงย่อมจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่ายาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำ

2. การมีประจำเดือนมาน้อย เป็นเพราะทานยาคุมชนิดฮอร์โมนต่ำใช่หรือไม่ ก็ตอบว่าใช่อีก เพราะกลไกการเกิดประจำเดือนมากหรือน้อยขึ้นกับว่ามีฮอร์โมนมากระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากหรือน้อย ถ้ามีฮอร์โมนมากระตุ้นน้อย เยื่อบุโพรงมดลูกก็หนาตัวน้อย เมื่อหลุดลอกออกกมาเป็นประจำเดือนก็มีปริมาณน้อย

3. ขอยาคุมที่ไม่ทำให้บวมน้ำ คำตอบคือยังไม่มีใครทราบว่ายานั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า เพราะการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบยาคุมทั้งหมดที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดในประเด็นการลดบวมและการทำให้น้ำหนักเพิ่ม ไม่สามารถสรุปได้ว่ายาใดดีกว่ายาใด แม้กระทั้งระหว่างยาที่มีฮอร์โมนมากกับยาที่มีฮอร์โมนน้อย ก็ยังสรุปไม่ได้เลยว่ามันทำให้บวมน้ำแตกต่างกันหรือเปล่า (ผมให้ชื่องานวิจัยไว้ที่บรรณานุกรมท้ายนี้) ดังนั้น ถ้ามีคนบอกคุณว่ายาคุมยี่ห้อนี้ทำให้บวมน้อยกว่าเพื่อน แสดงว่าคนนั้นถ้าไม่หลอกขายยาก็ใช้ข้อมูลที่รู้มาไม่ครบถ้วนมาบอกคุณแบบตาบอดคลำช้าง

4. ถามว่าควรจะเปลี่ยนยี่ห้อไหม ตอบว่าถ้าใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ถ้าใช้หลักหมอไทยแผนโบราณที่ว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” จะลองเปลี่ยนดูก็ไม่เสียหลายนะครับ

ผมตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ คราวนี้ขอผมแถมบ้าง คือยาคุมกำเนิดนี้ ไม่ใช่อะไรที่คนเราควรจะทานต่อเนื่องนานๆหลายๆปีนะครับ ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ของมันให้ดี เพราะมันมีข้อเสียมากเหมือนกัน ข้อเสียใหญ่ๆของมันมี 5 ประเด็นคือ

1) มันทำเลือดแข็งตัวเร็ว ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในระบบไหลเวียนเลือดได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่โรคที่เรากลัวกันหลายโรค เช่นการเพิ่มโอกาสเป็นอัมพาต (stroke) และเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) เป็นต้น

(2) ยาคุมทำให้เป็นมะเร็งของปากมดลูก เต้านม และตับเพิ่มมากขึ้น (แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยลง)

(3) ยาคุมทำให้ตับเสียหายได้

(4) ยาคุมทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้ในบางคน

(5) ยาคุมทำให้อ้วน อ้วนจริงๆนะครับ ไม่ใช่บวมน้ำ เพราะฮอร์โมนเพศที่เอามาใช้ทำยาคุมมีฤทธิ์เพิ่มการสะสมไขมันไว้ในร่างกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Gallo MF, Nanda K, Grimes DA, et al; 20 microg versus >20 microg estrogen combined oral contraceptives for contraception. Cochrane Database Syst Rev. 2008 Oct 8;(4):CD003989.
2. Gallo MF, Lopez LM, Grimes DA, et al; Combination contraceptives: effects on weight. Cochrane Database Syst Rev. 2008 Oct 8;(4):CD003987.
3. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Breast cancer and hormonal contraceptives: Collaborative reanalysis of individual data on 53,297 women with breast cancer and 100,239 women without breast cancer from 54 epidemiological studies. Lancet 1996; 347:1713–1727. Marchbanks PA, McDonald JA, Wilson HG, et al. Oral contraceptives and the risk of breast cancer. New England Journal of Medicine 2002; 346(26):2025–2032.
4. Althuis MD, Brogan DD, Coates RJ, et al. Breast cancers among very young premenopausal women (United States). Cancer Causes and Control 2003; 14(2):151–160.
5. Hankinson SE, Colditz GA, Hunter DJ, et al. A quantitative assessment of oral contraceptive use and risk of ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 1992; 80(4):708–714.
6. Centers for Disease Control and Prevention and the National Institute of Child Health and Human Development. The reduction in risk of ovarian cancer associated with oral-contraceptive use. The Cancer and Steroid Hormone Study of the Centers for Disease Control and the National Institute of Child Health and Human Development. New England Journal of Medicine 1987; 316(11):650–655.
7. Schildkraut JM, Calingaert B, Marchbanks PA, Moorman PG, Rodriguez GC. Impact of progestin and estrogen potency in oral contraceptives on ovarian cancer risk. Journal of the National Cancer Institute 2002; 94(1):32–38.
8. Greer JB, Modugno F, Allen GO, Ness RB. Androgenic progestins in oral contraceptives and the risk of epithelial ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 2005; 105(4):731–740.
9. Emons G, Fleckenstein G, Hinney B, Huschmand A, Heyl W. Hormonal interactions in endometrial cancer. Endocrine-Related Cancer 2000; 7(4):227–242.
10. Smith JS, Green J, Berrington de GA, et al. Cervical cancer and use of hormonal contraceptives: A systematic review. Lancet 2003; 361(9364):1159–1167.
11. Yu MC, Yuan JM. Environmental factors and risk for hepatocellular carcinoma. Gastroenterology 2004; 127(5 Suppl 1):S72–S78.