Latest

ต่อมลูกหมากอักเสบจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ผมได้รักษาอาการต่อมลูกหมากอักเสบกับทางพญาไท 3 มาประมาณ 2 เดือนกว่า แล้วแต่ยังไม่หาย ทำให้กังวลใจเป็นอย่างมาก นอนไม่หลับ น้ำหนักลด วิตกกังวล ปวดท้องเหมือนถ่ายหนักแต่ไม่ถ่าย ล่าสุดไปพบแพทย์ จึงได้ยาตัวใหม่มาทานเพิ่ม มี imipramine รักษาโรคซึมเศร้า tumax capsule และ colofac รักษาอาการลำไส้แปรปรวน หลังจากผมทานยาทั้งสามตัวนี้แล้ว ทำให้เวลาปัสสาวะต้องรอนานกว่าปกติ กว่าจะปัสสาวะจะออก พอออกมาก็เป็นสายเล็ก ๆ ไม่พุ่งเหมือนเมื่อตอนที่ทานยาต่อมลูกหมากอย่างเดียว ผมจึงสงสัยว่าเป็นผลจากข้างเคียงจากยาตัวใหม่หรือปล่าว ผมควรจะหยุดยาเหล่านี้ก่อนแล้วทานแต่ยารักษาต่อมลูกหมากอักเสบอย่างเดียว หรือว่าสามารถทานร่วมกับยาตัวไหนได้บ้างครับ

……………………..

ตอบครับ

1. ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้ตรงกันกับ “โรคต่อมลูกหมากอักเสบ” ก่อน เพราะฟังเผินเหมือนกับเป็นโรคที่มีเชื้อบักเตรีไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบขึ้น ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นจริงมีเพียง 5% ของคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่ะเป็นโรคนี้เท่านั้นเอง (เรียกว่า category I สำหรับพวกเฉียบพลัน กับ category II สำหรับพวกเรื้อรัง) คนไข้ที่เหลืออีก 95% ซึ่งรวมทั้งคุณด้วย ไปตกอยู่ในกลุ่มที่หมอสมัยใหม่เรียกว่า Chronic Prostatitis/Chronic Pelvic Pain Syndrome (CP/CPPS) ซึ่งจัดเป็น category III แยกออกไปต่างหาก ถ้าจะให้แปลโรคนี้เป็นภาษาไทยผมขอถือวิสาสะแปลว่าเป็นโรค “ปวดหน่วงที่ช่วงล่างของผู้ชายโดยไม่ทราบสาเหตุ” ถ้าเรียกชื่ออย่างนี้แล้วคราวนี้คุณก็คงพอเข้าใจนะครับว่าคุณกำลังเจอกับอะไร เพราะอย่าว่าแต่คุณเลย หมอเองก็มืดสิบด้านอยู่เหมือนกัน

2. โรค CP/CPPS นี้อาการมันพันกันยุ่งแยกไม่ออกจากโรคที่ไม่รู้สาเหตุอีกสองโรคคือ Irritable bowel syndrome (IBS) ซึ่งผมขอเรียกง่ายๆว่าโรคประสาทลงลำไส้ กับโรค Chronic fatigue syndrome (CFS) ซึ่งผมขอเรียกง่ายๆว่าโรคเปลี้ยล้าเรื้อรังโดยไม่ทราบเหตุ ทั้งสามโรคนี้มันคร่อมกันมั่ว แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยาที่หมอของคุณให้มาดูๆไปก็เป็นยารักษา IBS เสียทั้งกระบิ รวมทั้งยาต้านซึมเศร้าด้วย

3. ถามว่ายา Imipramine กับยา Tumax กับยา Colofac ทำให้ปัสสาวะออกยากได้ไหม ตอบว่าได้แน่นอน เพราะยาทั้งสามตัวล้วนมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (anticholinergic) ทำให้แรงเบ่งขับปัสสาวะลดลง

4. ถามว่าควรหยุดยาทั้งสามตัวเสียดีไหม ตอบว่าดีครับ เพราะคุณได้รับการรักษามา 2 เดือนแล้ว ยาที่มีสาระจริงๆคือยาปฏิชีวนะซึ่งหมอใช้ในสองสัปดาห์แรก ตอนนี้พ้นระยะนั้นมาแล้ว ยาที่เหลือล้วนเป็นยาบรรเทาอาการ ไม่มียารักษาเลย เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรแล้วจะไปรักษาอะไรละครับ หลักการใช้ยาบรรเทาอาการก็คือถ้ากินแล้วอาการลดลงถือว่าโอเค. แต่ถ้ากินแล้วอาการเพิ่มขึ้นก็โนเค.เท่านั้นเอง การหยุดยาจึงไม่มีอะไรซีเรียส

5. ผลงานวิจัยการรักษาโรคนี้ที่พอจะได้ผลอยู่บ้างจะใช้วิธีที่หลากหลายเปะปะมาก รวมไปถึงการทำจิตบำบัด ทำโยคะ กายภาพบำบัดสกัดจุด (trigger point) ฝังเข็ม ออกกำลังกาย คลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งวิธีเหล่านี้หมอในเมืองไทยไม่ได้นำมาใช้ เพราะหมอไทยนิยมใช้ยาลูกเดียว ถ้าอยากลองวิธีเหล่านี้คุณต้องไปลองเอาเอง และไหนๆก็จะไปลองเองแล้วผมเชียร์ให้ลองอีกอย่างด้วยซะเลยครับ คือการทำวิปัสสนาแบบที่เรียกว่าเวทนานุสติปัฐฐาน คือการสังเกตอาการปวดของตัวเองว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว มันยังอยู่ หรือมันไปแล้ว ทำนองนั้น จะได้ผลหรือเปล่าไม่รู้นะครับ แต่ถ้าจะลองตั้งหลายอย่างลองนี่อีกอย่างไม่น่าจะเสียหลาย ถ้าได้ผลบอกผมด้วยนะ..อิ อิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์