Latest

นิ่วในถุงน้ำดี (gall stone)

สวัสดีค่ะคุณหมอ มีเรื่องจะเรียนปรึกษาค่ะ พอดีดิฉัน ไปตรวจเจอ นิ่วในถุงน้ำดี ขนาดประมาณ 0.7-1 Cm ในบริเวณ ถุงน้ำดี เลยอยากเรียนถามคุณหมอว่า มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดแค่ไหน แล้วถ้าไม่ผ่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ถ้าผ่าจะมีผลระยะยาวมั้ย จะพอกินยาได้มั้ย ถ้าไม่ผ่า ดิฉันมีโรคประจำตัวหอบหืด เคยรับยาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 พอดีแพทย์ที่ทำการรักษาดิฉัน ไม่ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ และค่ารักษา ประมาณเท่าไหร่ของโรงพยาบาลพญาไท คือสารภาพตามตรงว่า ยังไม่อยากไปหาแพทย์ตอนนี้ และจะต้องเดินทางไกลสิ้นเดือนนี้ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

……………….

ตอบครับ

1. นิ่วในถุงน้ำดี ที่อยู่ของมันดีๆเงียบๆแบบที่คุณมีนี้ เรียกว่า silent gall stone ไม่มีความจำเป็นต้องไปผ่าตัดมันครับ ผมแนะนำว่าไม่ควรผ่าตัดด้วย เพราะการผ่าตัดคือต้องตัดเอาถุงน้ำดีออก (cholecystectomy) ซึ่งประมาณ 10-15% ของคนที่ทำผ่าตัดชนิดนี้จะเกิดกลุ่มอาการหลังตัดถุงน้ำดี (post cholecystectomy syndrome) คือมีอาการแน่นท้องหรือปวดท้องใต้ชายโครงขวาเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดท้องเสียเรื้อรังได้อีกประมาณ 10% เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยู่สุขสบายดีแล้วก็อย่าแสวงหาความลำบากเลยครับ

2. คนที่เลี้ยงนิ่วในถุงน้ำดีไว้โดยไม่ผ่าตัดออก มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสองอย่างคือ (1) เกิดอาการจากนิ่วประมาณ 1-2% ต่อปี อาการที่เกิดจากนิ่วนี้เรียกว่า biliary colic หรือบางทีเรียกว่า gall stone attack ซึ่งเกิดจากถุงน้ำดีพยายามบีบตัวไล่นิ่วที่คาท่อน้ำดีอยู่ มีอาการคือปวดท้องใต้ชายโครงขวาค่อนข้างรุนแรงแบบบีบเป็นพักๆ อาจจะร้าวไปถึงหัวไหล่ เป็นอยู่ครั้งหนึ่งบางทีนานหลายนาทีหรือนานเป็นชั่วโมง เมื่อใดก็ตามที่มีอาการอย่างนี้ ก็เป็นสัญญาณว่าต้องผ่าตัดแล้ว มิฉะนั้นสักวันก็อาจแจ๊คพอตเกิดนิ่วอุดท่อน้ำดีแบบถาวรแล้วไม่ไปไหนจนถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ปวดท้องมาก ไข้ขึ้น ถุงน้ำดีแตก ถุงน้ำดีแตกนะครับ ไม่ใช่ดีแตก ซึ่งกลายเป็นกรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉินคล้ายๆกับไส้ติ่งแตก

3. มีคนจำนวนมากรวมทั้งแพทย์ส่วนหนึ่งด้วย ที่เข้าใจผิดว่าอาการสะเปะสะปะอื่นๆเช่นแน่นท้องหลังอาหาร ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แก้สในกระเพาะมาก แสบใต้ลิ้นปี่ (heart burn) หรือแม้กระทั่งท้องผูกท้องเสีย ว่าเป็นอาการเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานการแพทย์ใดยืนยันว่าอาการเหล่านี้เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี และผู้ป่วยจำนวนมากถูกชักจูงให้ทำผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพื่อรักษาอาการเหล่านี้ แล้วก็ไปพบเอาตอนท้ายว่ามันไม่ได้ผล เพราะมันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

4. ยาสลายนิ่วในถุงน้ำดีก็มีนะครับ ชื่อ Ursodeoxycholic acid (ursodiol) แต่ว่าไม่เป็นที่นิยมใช้เพราะมันต้องกินกันถึงสองปี และถ้าหยุดยานิ่วก็กลับมาเป็นอีก และมันใช้ได้กับนิ่วชนิดสีน้ำตาลที่เกิดจากโคเลสเตอรอลเท่านั้น ยานี้ทำจากน้ำดีของหมี ดังนั้นหากคุณอยากได้ชื่อว่าเก่งเหนือคนอื่นเพราะได้กินดีหมีไตมังกรมาแล้วก็ยานี้แหละครับ ใช่เลย

5. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก (cholecystectomy) หลักวิชาแพทย์แนะนำให้ทำเมื่อมีอาการที่เกิดจากนิ่ว (biliary colic) เท่านั้น ค่าผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกชนิดผ่าตัดผ่านกล้อง ราคาประมาณ 100,000 – 120,000 บาท ครับ (สมัยนี้คงไม่มีใครผ่าตัดแบบแผลเปิดเบ้อเร่อขวางอยู่ใต้ชายโครงอีกแล้ว)

6. ในแง่ของการป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ยังไม่มีวิธีเจ๋งๆเลยครับ เรารู้เพียงแต่ว่านิ่วในถุงน้ำดีมีสองแบบ 80% เป็นนิ่วสีน้ำตาลที่เกิดจากโคเลสเตอรอล มักเป็นในหญิงอ้วนอายุสี่สิบขึ้นไปซึ่งสมัยเป็นนักเรียนแพทย์เราท่องจำกันว่า female, fat, forty (ถ้าชั้นเรียนไหนเจออาจารย์แพทย์โอลด์เมดจอมจู้จี้ก็จะปรับคำท่องว่า female, fat, forty, unmarried) อีก 20% เป็นนิ่วสีดำเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดซึ่งมักพบในคนเป็นโรคเลือดเช่นทาลาสซีเมีย เรารู้แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็น แต่เรายังไม่รู้วิธีป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี

7. ที่คุณจะไปเมืองนอกตอนนี้ก็ไปเถอะครับ ไม่มีใครเขาห้ามคนมีนิ่วขึ้นเครื่องบินหรอก โอกาสที่จะเป็นนิ่วในถุงน้ำดีในชั่วชีวิตของคนเรานี้ ถ้าเป็นหญิงมีโอกาสเป็นกันถึง 50% ถ้าเป็นชายมีโอกาสเป็นถึง 30% แทบจะเรียกว่านิ่วในถุงน้ำดีเนี่ยเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับภายในกายของเราเลยนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Halldestam I, Kullman E, Borch K. Incidence of and potential risk factors for gallstone disease in a general population sample. Br J Surg. 2009:96(11);1315-22.

2. Portincasa P, MOschetta A, Palasciano G. Cholesterol gallstone disease. Lancet 2006 : 368(9531); 230-9.