Latest

โปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ..ทำเองซะเลยสิครับ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

หนูค้นหาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโรคหัวใจทางอินเทอร์เน็ตและเจอเวบไซต์การถามตอบปัญหาสุขภาพของคุณหมอ หนูจึงอยากจะเรียนถามดังนี้ค่ะ คือว่า พ่อของหนูมีอาการเวียนหัวรุนแรงมาก คล้ายบ้านหมุน 2 วัน ไม่หาย ซึ่งก่อนหน้านี้คุณพ่อได้ทานข้าวมันไก่ หมูกรอบ ข้าวหน้าเป็ดเยอะมาก กระทั่งทานไม่ไหว และอาเจียนในเวลาต่อมา หลังจากนั้นก็เวียนหัวมาก (เคยไปตรวจและคุณหมอบอกว่าเป็นความดันสูง ระยะหลังคุณพ่อไม่ค่อยได้กินยาด้วยค่ะ) จึงไปหาหมอที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง วัดความดันอยู่ในระดับปกติ แพทย์ฉีดยาแก้เวียนหัวให้ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้าน วันรุ่งขึ้น 11 เมษา 54 อาการแย่ลง เดินไม่ไหว หน้าซีด จึงรีบพาไป รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ในตอนแรกแพทย์ฉีดยาแก้เวียนหัวให้ และตรวจหู กระทั่งแพทย์วินิจฉัยว่า มีอาการหูเสื่อมเล็กน้อย ซึ่งคุณพ่อยังสามารถได้ยินตามปกติ และไม่รู้สึกถึงความผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งในตอนนั้นคุณพ่อหายเวียนหัวแล้ว ทาง รพ. ตรวจหัวใจให้ด้วย ผล Lab ออกมา แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นลักษณะของผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ในขณะที่คุณพ่อของหนูไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน และ ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้มีอาการแต่อย่างใด แพทย์จึงตรวจเลือดซ้ำ ทำอัลตร้าซาวน์หัวใจ และฉีดสี ผลที่ได้ยืนยันผลเดิม ซึ่งแพทย์บอกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องมีอาการแล้ว แต่มีส่วนน้อยมากที่จะไม่แสดงอาการอะไรเลย ตอนนั้นแพทย์จึงรีบให้ย้ายไปห้อง CCU และแนะนำให้ทำบอลลูนหัวใจ ซึ่งก็ได้ตัดสินใจทำ ณ ตอนนั้นเลย เนื่องจากไม่ทราบว่าจะต้องเร่งด่วนเพียงใด คุณพ่อทำบอลลูน และใส่ขดลวดไป 3 เส้น เป็นแบบธรรมดา 1 เส้น และเคลือบยา 2 เส้น อาการหลังทำบอลลูน คือ
– หายใจไม่อิ่ม พอหายใจลึกๆ ก็จะเจ็บแปล๊บ
– เหนื่อยง่ายมาก จนบางครั้งเหมือนหายใจไม่ทัน
– ไอบ่อย
– เวลาหาวจะหาวได้ไม่สุด ถ้าหาวสุดจะเจ็บหน้าอก
– เวลาเรอจะเจ็บด้านหลังช่วงบน
(ก่อนการทำบอลลูนไม่เคยมีอาการข้างต้นเลยค่ะ)
ซึ่งหลังทำบอลลูนเสร็จ ต่อมาไข้ขึ้น หมอดูผล x-ray ปอด บอกว่ามีน้ำท่วมปอด จึงให้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาการดีขึ้นและแย่สลับกันไป เหมือนจะดีขึ้น แต่ก็ได้ย้ายเข้า-ออก CCU 3 ครั้ง จนกระทั่งวันที่ 20 เมษา 54 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คุณพ่อไม่มีไข้แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาหายใจได้ไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย หาวได้ไม่สุด เจ็บเวลาเรอ และเวลานอนตะแคงขวาจะเจ็บหน้าอก จึงขอความกรุณาคุณหมอให้คำปรึกษาด้วยนะคะ เป็นห่วงคุณพ่อมากมากค่ะ หนูไม่รู้จะไปปรึกษาใครจริงๆ ค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
ขอขอบพระคุณค่ะ
ลูกสาว

……………………………………………………..

ตอบครับ

ผมขอพูดถึงแค่สองประเด็นนะ

1. ประเด็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือด ปกติคนเราเมื่อเป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการแน่นหน้าอก แต่กรณีคุณพ่อของคุณนี้ เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแต่มีอาการเวียนหัวหน้ามืด ซึ่งเป็นอาการที่ดูเผินๆไม่เกี่ยวกันเลย แต่อันที่จริงแล้วเกี่ยวกัน ทางการแพทย์เรียกว่าเป็นอาการหัวใจขาดเลือดแบบไม่คลาสสิก (atypical angina) ซึ่งมีได้หลายแบบ ที่สำคัญมีสามแบบคือ

1.1 เวียนหัวหน้ามืดเป็นลม จากหัวใจเต้นรัวแล้วเลือดขึ้นสมองไม่ทัน

1.2 หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม จากหัวใจล้มเหลวแล้วน้ำท่วมปอด

1.3 จุกเสียดแน่นท้องอาหารไม่ย่อย จากการปวดแบบร้าว (refer pain)

ดังนั้นคนทั่วไปควรทราบว่าแน่นหน้าอกเป็นอาการแบบคลาสสิกของหัวใจขาดเลือดก็จริง แต่คนสูงอายุที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างข้างต้นแล้วอาการรุนแรงทำอย่างไรก็ยังไม่หาย ให้คิดถึงว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไว้ด้วย แม้จะไม่มีอาการแน่นหน้าอกก็ตาม

2. ประเด็นการฟื้นฟูหัวใจ เมื่อทำการรักษาโรคหัวใจแบบไฮเทคไม่ว่าจะเป็นทำบอลลูนก็ดี ผ่าตัดหัวใจบายพาสก็ดี ทำเสร็จแล้ว ถ้าเป็นรพ.เอกชนก็หมดเงินหลายแสน หมอให้กลับบ้านบอกว่าหายแล้ว แต่เจ้าตัวก็ยังเดี้ยงเหมือนเดิม หรือเดี้ยงมากกว่าเดิม ทั้งหายใจก็ไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกอยู่เรื่อย ตะแคงก็เจ็บ หงายก็เจ็บ แม้เพียงแค่จะหาวจะเรอก็ไม่กล้าทำแรงๆ เรียกว่าทำการรักษาหัวใจแบบไฮเทคมาแล้ว นึกว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ที่ไหนได้กลับแย่กว่าเดิม วันๆมีแต่ความเจ็บ ความกลัว และความทุกข์ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทำบอลลูนขยายหลอดเลือดในบ้านเรา คือปัญหาการขาดการฟื้นฟูหัวใจ (cardiac rehabilitation) ที่จริงจังและมีประสิทธิผล ผมขอขยายคำสำคัญของเรื่องนี้ซึ่งมีอยู่สามคำนะ

2.1 การฟื้นฟูหัวใจ (cardiac rehabilitation) หมายถึงการเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับโรคและฝึกทำกิจกรรมเพื่อให้กลับไปมีกิจกรรมเต็มขั้นจนทำอะไรได้ระดับเดียวกับหรือมากกว่าก่อนการป่วยเป็นโรคหัวใจให้ได้ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ เอาแค่จะยืดอกยังไม่กล้านี่ก็แสดงว่าการให้ความรู้ยังไม่ดี ผมเคยเห็นคนไข้ที่ทำผ่าตัดหัวใจมาแล้วหกเดือนมาหาคราวนี้เดินห่อไหล่แบบคนพิการมาเลย เพราะยืดอกแล้วมันเสียว เขากลัวหน้าอกแบะเป็นสองข้าง เลยไม่กล้ายืดอก นี่ขาดความรู้กันถึงขนาดนี้ ผมจึงไม่แปลกใจที่คุณพ่อของคุณหาวก็ต้องค่อยๆ เรอก็ต้องเบาๆ เพราะความกลัวจากความไม่รู้

2.2 การฟื้นฟูหัวใจอย่างจริงจัง หมายถึงการฝึกกิจกรรมเป็นขั้นตอนอย่างจริงจังหามรุ่งหามค่ำเหงื่อไหลไคลย้อย ใหม่ๆก็ต้องทำในรพ.หรือในศูนย์ฟื้นฟูหัวใจที่มีคนมีความรู้ช่วยดูแล ต้องทำกันจริงจังแบบประคองกันไป ลากกันไป เพราะการฟื้นฟูก็คือการฝืนสู้ หน้าอกหดก็ต้องฝืนยืด ไอแล้วเจ็บก็ต้องฝืนไอ หลังจากทำเองได้มั่นใจแล้วก็ไปทำต่อที่บ้าน ในระหว่างฟื้นฟูหัวใจนี้ก็เรียนรู้เรื่องการจัดการปัจจัยเสี่ยงและการปรับโภชนาการอาหารการกินไปด้วย แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทยไม่มีศูนย์ฟื้นฟูหัวใจที่มีผลงานพอจะเรียกได้ว่าเอาจริงเอาจัง สมัยที่ผมทำงานอยู่ต่างประเทศมีบริการศูนย์ฟื้นฟูหัวใจเป็นดอกเห็ด บ้างก็เป็นรีสอร์ทไปนอนกันนานสองอาทิตย์บ้าง เดือนหนึ่งบ้าง แต่เมืองไทยไม่มีเลย เคยมีคนพยายามจะเปิดบริการฟื้นฟูหัวใจขึ้นมาแต่ก็เจ๊งไปหมดเพราะหมอโรคหัวใจเองไม่ยอมส่งคนไข้ไปใช้บริการบ้าง ตัวคนไข้ไม่เอาบ้างเพราะกลัวเสียเงินหรือไม่ก็ขี้เกียจออกแรง จึงต้องทนอยู่อย่างมีชีวิตหลังบอลลูนหรือหลังผ่าตัดแบบชีวิตที่ไร้คุณภาพไป เหมือนอย่างคุณพ่อของคุณตอนนี้นี่แหละ

2.3 การฟื้นฟูหัวใจอย่างมีประสิทธิผล หมายความว่าต้องทำโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจอย่างมีเป้าหมาย (goal oriented rehabilitation) หมายถึงว่าโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจต้องมีการกำหนดเป้าหมายเฉพาะตัวคนไข้ว่าจะเอาให้ถึงระดับไหนในเวลาเท่าไร เช่นสามวันต้องเดินได้ หนึ่งสัปดาห์ต้องทำงานบ้านเบาๆได้ สองสัปดาห์ต้องวิ่งและว่ายน้ำได้ แล้วก็มุ่งทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยทำไปทีละขั้นๆจนสำเร็จ

3. จากจุดนี้ไป คุณควรทำอย่างไรต่อดี ผมแนะนำให้คุณกลับไปที่รพ.เดิม กลับไปคุยกับหมอหัวใจคนเดิม ถามถึงโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจว่ามีไหม ถ้ามี ถามว่าเขาทำอย่างไร ฟังดูเข้าท่าไหม ถ้าฟังดูเข้าท่าก็สมัครเข้าโปรแกรมเลย จะนาน 15 วัน หรือหนึ่งเดือนก็ต้องเอา ถ้าฟังดูไม่เข้าท่าก็ย้ายไปหาที่รพ.อื่น เวลาสอบถามหาโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ให้ถามด้วยว่าใครเป็นหัวหน้าโปรแกรม โปรแกรมที่ดีควรจะมีแพทย์ฟื้นฟูหัวใจหรือแพทย์โรคหัวใจเป็นหัวหน้า ถ้าหาจนทั่วกรุงเทพแล้วไม่มี (ผมเข้าใจว่าต้องมีบ้างละน่า แต่อาจจะแพงหน่อย อย่างน้อยผมรู้ว่ารพ.ที่รักษาฝรั่งอยู่แห่งสองแห่งก็มีโปรแกรมนี้) แต่ถ้าหาจนทั่วแล้วไม่พบ ผมแนะนำให้คุณทำโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจให้คุณพ่อของคุณเอง หาอ่านหนังสือหรือในเน็ทหรือเลียบๆเคียงๆถามนักกายภาพบำบัด แล้วก็ทำโปรแกรมมั่วๆขึ้นมาเอง กำหนดเป้าหมาย วางแผนกิจกรรม แล้วก็ลงมือพาคุณพ่อฟื้นฟูหัวใจแบบลุยเองเลย อยู่เมืองไทยบางเรื่องก็ต้องช่วยตัวเองเป็นหลักละครับ ที่ผมแนะนำแบบนี้ไม่ได้แนะนำส่งเดชนะครับ อย่าลืมว่ากำพืดเดิมผมเป็นหมอหัวใจนะ จะแนะนำเรื่องการรักษาหัวใจแบบส่งเดชได้อย่างไร ไม่นานมานี้ผมมีคนไข้คนหนึ่ง เป็นอัมพาตเจียนตายแล้วกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนผมแปลกใจ ที่แปลกใจเพราะผมทราบดีว่าโปรแกรมฟื้นฟูหลังอัมพาตของเมืองไทยแม้จะไม่แย่เท่าการฟื้นฟูหัวใจแต่ก็ดีกว่ากันไม่เท่าไหร่ เขาไม่น่าจะฟื้นตัวเร็วขนาดนี้ เมื่อสอบถามรายละเอียดจึงทราบว่าคนไข้ซึ่งอยู่ปักษ์ใต้มีพี่ชายเป็นช่างอู่ซ่อมรถ เขาจึงบอกให้พี่ชายทำกายอุปกรณ์ให้ตามแบบที่เขาเห็นและจำได้จากโรงพยาบาล แล้วก็ให้เมียพาเขาออกกำลังกายบนกายอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างเอาเป็นเอาตายทุกวัน เดี๋ยวนี้ปร๋อกลับไปขับรถจี๊บบัญชาการสวนยางได้เป็นปกติแล้ว นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่บอกว่าหากทำเองได้ ย่อมดีกว่าจะรอให้รพ.ทำการฟื้นฟูให้ ความเสี่ยงของการฟื้นฟูหัวใจเองแบบสะเปะสะปะก็มีบ้าง แต่เป็นความเสี่ยงที่น้อยมาก อย่าไปกลัวว่าจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบครั้งก่อนอีก เพราะกลไกการเกิดคือภาวะหลอดเลือดตีบนั้นได้รับการแก้ไขไปแล้ว ความเสี่ยงจึงเหลือน้อยมาก เทียบกับประโยชน์ที่จะได้แล้วมันแสนจะคุ้ม

ขอให้ประสบความสำเร็จนะครับ ถ้าคุณพ่อฟื้นตัวได้ดี จะทำธุรกิจเปิดศูนย์ฟื้นฟูหัวใจก็ได้นะ ไม่มีคู่แข่งหรอก เพราะคนมีความรู้ที่เคยเปิดก็เจ๊งไปหมดแล้ว คนไม่มีความรู้ก็ไม่กล้าเปิดเพราะกลัวทำคนไข้ตาย แต่คุณเปิดศูนย์ฟื้นฟูหัวใจด้วยคอนเซ็พท์ “ฟื้นฟูตัวเอง” รับประกันไม่มีเจ๊ง ถ้าเปิดจริงผมจะรับเป็นที่ปรึกษาให้ฟรี พูดจริงนะ อิ..อิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์