Latest

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์เรื่องส่วนตัว

(ตัดและปรับปรุงจากบทสัมภาษณ์ในหนังสือ “วารสารวงการแพทย์” )

อยากทราบพื้นเพเดิมของอาจารย์

ผมเป็นคนเหนือ เกิดที่จังหวัดพะเยา ก็เรียกว่ากำพืดเดิมเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา เป็นลูกชาวนา คุณพ่อมีอาชีพทำนา ว่างนาก็รับจ้างตัดผมไปด้วย คือว่างเมื่อไรพ่อก็จะเป่าเขาควายเสียงดังกังวานไปทั้งหมู่บ้าน เป็นสัญญาณว่ากัลบกพร้อมให้บริการแล้ว ผมเองเป่าเขาควายได้ตั้งแต่ยังไม่ได้นุ่งกางเกง ลูกค้าได้ยินเสียงเขาควายก็มาที่ร้านจะตัดผม มองหาช่างเท่าไรก็ไม่เจอ ได้ยินแต่เสียงกังวานมาจากหลังโต๊ะตัดผม พออ้อมไปดูจึงรู้ว่าเป็นบักหำน้อยตัวนิดเดียวยืนเป่าเขาควายอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย

ที่ว่าบ้านนอกนั้น นอกขนาดไหนคะ

ก็หมายความว่าการจะเข้าไปถึงหมู่บ้านต้องไปด้วยเกวียนหรือเดินเท้าไปเท่านั้น พอมีรถยนต์เข้าไปในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก จำได้ว่าพวกเราประมาณสิบคนได้ ต่างตื่นเต้นมาก ทิ้งการเล่นทุกอย่างมาวิ่งตามรถยนต์กันตั้งแต่หัวหมู่บ้านจนถึงท้ายหมู่บ้าน ก็เติบโตมาแบบเด็กบ้านนอกสมัยนั้น เรียนรู้วิธีหากินกับท้องไร่ท้องนา ตั้งแต่เทคนิคการขุดปูที่คันนา การล้วงกบ การเรียนรู้ก็ไม่มีครู ต้องเสี่ยงเอาเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งเราจะล้วงรูกบกัน เพื่อนคนหนึ่งที่ช่างสังเกตก็บอกว่าเอ.. รูนี้มันใหญ่กว่ารูกบธรรมดานะ อีกคนก็บอกว่าล้วงเลย ตัวมันต้องใหญ่แน่ ผมก็ล้วงเข้าไป ปรากฏว่างูตัวเท่าหัวแม่มือเลื้อยปราดพันแขนออกมาเลย ทำเอาวงแตก
หรืออย่างการเอาหนอนผีเสื้อที่มวนใบกล้วยออกมาปิ้งไฟกินนี่ก็ต้องมีเทคนิค ต้องสังเกต ตอนที่ฉันเยาว์ฉันเขลาอยู่ก็ดันไปเอาหนอนช่วงที่ยังไม่ทันเป็นดักแด้ดีมาปิ้งกิน แทนที่จะอร่อยแบบมันยกร่องก็กลายเป็นได้ลิ้มรสชาติเหม็นเขียวแบบตรึงใจไม่รู้ลืมแทน

เป็นเด็กบ้านนอกแล้วทำไมได้เรียนสูง แสดงว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยงมาดีมาก

นั่นก็ถูกส่วนหนึ่งครับ เรามีกันสามคนพี่น้อง แม้จะยากจนแต่ก็ได้เรียนหนังสือทุกคน พี่ชายจบวิศวจุฬาฯสมัยโน้นนะครับ ซึ่งเท่มาก น้องสาวมาเรียนที่เตรียมอุดมแล้วจบปริญญาโทเภสัชที่มหิดล คือคุณพ่อเป็นชาวนายากจนประเภทที่ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นคนมีวิชั่น คือเห็นภาพอนาคตที่ยังมองไม่เห็น มองไม่เห็นจริงๆนะครับ เพราะสมัยโน้นทางเหนือจากจังหวัดลำปางขึ้นไปทางเชียงรายไม่มีทีวี.ดู และคนในหมู่บ้านก็ไม่เคยออกจากบ้านไปไหนไกล เรื่องจะได้เห็นกรุงเทพฯนั้นลืมไปได้เลย การที่ชาวนาคนหนึ่งจะแหกประเพณีของหมู่บ้านส่งลูกไปอยู่วัดกับท่านพระครูที่อำเภอเพื่อให้ได้เรียนหนังสือนั้นต้องถือว่านั่นเป็นคำนิยามของคำว่าการมีวิสัยทัศน์ทีเดียว
แต่ว่าเครดิตอีกส่วนหนึ่งต้องยกให้การบังคับบัญชาของอาจารย์พระและท่านพระครูเจ้าอาวาสวัดที่ในอำเภอ เพราะผมไปอาศัยวัดเพื่อเรียนหนังสือในอำเภอตั้งหลายปี และก็เรียนรู้ระเบียบวินัยและการทำงานหนักที่นั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก
ส่วนที่ว่าพ่อแม่เลี้ยงดีหรือไม่ ถ้าเทียบกับที่ผมเองเลี้ยงลูกบังเกิดเกล้ายี่สิบกว่าปีหลังที่ผ่านมานี้นี้ก็เรียกว่าเป็นคนละสไตล์เลยละ คือสมัยผมเด็กๆ ครอบครัวของเรายากจน ทุกคนต้องทำงาน พี่ชายหัวดีคำนวณเก่งก็ต้องช่วยพ่อชั่งข้าว บันทึกน้ำหนัก คำนวณราคาข้าวเปลือกที่พ่อรับมาจากเพื่อนชาวนาเพื่อไปส่งให้กับโรงสี น้องสาวมีนิสัยเป็นแม่ค้าก็ไปเร่ขายน้ำมะพร้าวใส่ถุงพลาสติกบ้าง ขนมบ้าง ตัวผมเองไม่ถนัดค้าขายแต่ถนัดไปทางเกษตรกรรมก็เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกเห็ด และคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่แผลงๆเรื่อยไป ผลปรากฏว่าพี่ชายกับน้องสาวเป็นตัวทำเงิน แต่ผมเป็นตัวผลาญเงิน

ทำไมถึงว่าเป็นตัวผลาญเงินละคะ

ก็ผมมีนิสัยทำอะไรเดิมๆนานไม่ได้ มันต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆชีวิตถึงจะมัน อันนี้จะว่าผมเองก็ไม่ได้ มันเป็นกรรมพันธุ์ คือคุณพ่อเป็นตัวอย่าง ท่านเบื่อทำนาก็มาตัดผม เบื่อตัดผมก็ปั้นกระเบื้องมุงหลังคาขาย นี่ถ้าท่านยังอยู่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอาจลำบากก็ได้ (พูดเล่นนะครับ) เบื่อปั้นกระเบื้องก็มาขายข้าวเปลือก เบื่อขายข้าวก็มาขายของชำ เบื่อขายของชำก็มาทำร้านขายหนังสือ ผมก็เลยได้เชื้อมา อย่างช่วงเรียนม.ศ. 2 ซึ่งก็เทียบได้กับม. 2 สมัยนี้ ผมเลี้ยงไก่พื้นเมืองอยู่ดีๆ แข่งกับพี่ชายซึ่งเลี้ยงหมู ซึ่งต่างคนต่างก็ทำกำไรได้พอควร แต่ความที่ผมอ่านหนังสือแยะ ทั้งหนังสือในร้าน และหนังสือเก่าที่ซื้อมาห่อของชำขาย มันก็เลยร้อนวิชา พอทราบข่าวว่าฟาร์มยุทธนา (ซึ่งต่อมากลายมาเป็นบริษัทซีพี.) ได้ซื้อลูกไก่แบบไฮบรีดจากเมืองนอกมาเพาะขาย ผมก็หาซื้อมาเลี้ยงทันที แต่สมัยโน้นยังไม่มีโนว์ฮาว คือไม่มีใครรู้ว่าไก่พวกนี้เมื่อเลี้ยงพอเป็นหนุ่มแล้วต้องรีบขายเอาเนื้อ จะเลี้ยงให้ออกลูกหลานไม่ได้ ตอนเลี้ยงตอนแรกมันก็โตเอาๆและเป็นสีเดียวกันคือขาวโพลนหมดทั้งเล้า ผู้คนแตกตื่นมาดูกันทั้งหมู่บ้าน แต่พอมันโตพ้นวัยหนุ่มสาวแล้วมันก็ทยอยตายกันทีละตัวสองตัว หาสาเหตุไม่ได้ ถามพวกเกษตรก็ไม่มีใครรู้เรื่อง ผมเองลงมือผ่าศพไก่เพื่อหาสาเหตุ เห็นตับมันใหญ่คับตัวผิดปกติมาก จึงไปหาอ่านจากหนังสือ สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ได้ความว่ามันเป็นโรคตับใหญ่ซึ่งเกิดจากไวรัส แต่หนังสือสมัยนั้นคนเขียนก็คงยังไม่รู้จริงเท่าไรนัก เพราะแนะนำให้รักษาโรคตับใหญ่ด้วยยาเตตร้าไซคลิน ผมก็ทำตาม โดยไม่รู้ว่ามันเป็นยาฆ่าบักเตรี จะไปรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสอย่างโรคตับใหญ่ได้อย่างไร

แล้วที่ว่าอาจารย์เลี้ยงลูกเองคนละสไตล์นี่มันเป็นไงคะ

ก็คือมีลูกคนเดียว แล้วภรรยาผมเขาก็ทำจ๊อบหลักคือเป็นผู้จัดการบุตร ส่วนจ๊อบหมอเด็กนั้นเป็นอาชีพรอง ตื่นเช้ามาครูไวโอลินมาก่อน ควักกันออกมาจากที่นอนสีไวโอลินอี๋ออ..อี๋ออ.. พอสายครูฝรั่งมาเรียนอังกฤษฟุตฟิตฟอไฟ แล้วก็ครูเปียโน แล้วก็ครูคณิตศาสตร์ แล้วก็ครูเท็นนิส ฯลฯ ผมละเห็นใจคุณพอผู้บุตรจริงๆ คือเขาชื่อ “พอ” นะครับ ถ้าผมถูกเลี้ยงแบบเขา สมองผมคงจะตายด้านคิดอะไรเองไม่ออกไปนานแล้ว เพราะครูแยะเกินไป.. ครูช่วยคิดให้หมด

ทำไมตั้งชื่อลูกว่า “พอ” ละคะ

ผมเป็นคนตั้งเองนะครับ คือตอนแรกฝันอยากมีลูกสาว จะทำให้เป็นหญิงมั่นที่เก่งกาจ ตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าว่า “ดวงตะวัน” หวังว่าเธอจะเป็นดรุณีที่เจิดจรัสเหมือนดวงอาทิตย์ แต่พอโผล่ออกมาเป็นคุณพอก็เลยตั้งหลักไม่ทัน เลยคิดว่า..เอาชื่อที่เป็นเครื่องเตือนสติตัวผมเองก็แล้วกัน คือ “พอ” นี่หมายความว่าชีวิตนี้อย่าไปอยากได้อะไรมากเกินไป เดี๋ยวก็จะตายแล้ว จะไม่ทันใช้ชีวิตอย่างใจฝันก็ตายเสียก่อนเพราะมัวไล่ตามความอยาก เพราะว่าความอยากนี้มันมีเอกลักษณะตรงที่พอเราสนองมันแล้ว มันกลับอยากมากขึ้น ถ้าวิ่งตามมัน ก็ไม่รู้จะไปสิ้นสุดที่ไหนจนตายเสียก่อน ทางเดียวที่จะสู้กับพิษภัยของความอยากได้ก็คือ การตั้งชื่อลูกชายว่า “พอ” ไว้เตือนสติตัวเองนี่ไงครับ

เล่าเรื่องความรักที่นำมาสู่การแต่งงานให้ฟังหน่อยสิ

แหม ของผมมันไม่โรแมนติกประเภทรักแรกพบแบบในหนังนะครับ คือเราเป็นคลาสเมทกัน เรียนแพทย์ด้วยกันมา รู้จักกันมานาน จบมาแล้วก็แต่งงานกัน เรื่องมันก็มีอยู่แค่นั้น
ผมเองนั้นชอบเขาเพราะเขาสนใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมทำ คือตอนเรียนหนังสือผมเองไม่มีเงิน ก็ต้องอาศัยทำงานให้มหาวิทยาลัยเป็นค่าเทอม ทำงานสนามปลูกต้นไม้บ้าง และก็ไปทำงานหลักอยู่ที่โรงเลี้ยงหนู หมายถึงโรงเลี้ยงสัตว์ทดลองของคณะวิทยาศาสตร์นะครับ ผมกินนอนกับสิงห์สาราสัตว์ในโรงเลี้ยงนั่นแหละ ผมนี่เชี่ยวชาญเรื่องหนูนะครับ รู้ดีว่าชนิดไหนจะออกลูกเมื่อไร มีนิสัยอย่างไร เวลาแฟนผมแวะมาเยี่ยมผมก็จะเลือกเอาหนูที่หน้าตาน่ารักและนิสัยดีอย่างเช่นหนูแฮมสเตอร์มาให้เธอดู ถ้าวันไหนเห็นเธอเหนื่อยและท้อแท้มา ผมก็จะเอาหนูกินีพิกซึ่งหน้าตาตลกตัวอ้วนตะลุกปุ๊กและมีนิสัยจุ๊กจิ๊กอยู่ไม่สุขมาให้ดูแทน คือพูดง่ายๆว่าการจีบผู้หญิงนี่เทคนิคมันก็ต้องเปลี่ยนไปตามภาวะวิสัยแหละครับ

ในชีวิตเคยทำอะไรที่ทำให้ตัวเองเสียใจมากๆบ้างไหม

ถ้าถามว่าเคยเสียใจมากๆไหมก็มีนะครับ คือตอนที่คุณพ่อตาย ตอนนั้นผมเพิ่งอายุสิบเจ็ดเอง เสียใจมาก..ก…ก ตอนนั้นมันยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของชีวิตด้วย และเหตุการณ์นั้นก็เปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของผมไปมากทีเดียว
ส่วนที่ว่าตัวเองเคยทำอะไรให้ตัวเองเสียใจมากๆไหม คิดๆดูแล้วมันก็ไม่มีที่ถึงกับเสียใจนะครับ แต่มันก็มีบ้างที่ทำไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่น่าทำ คือมันเป็นความรู้สึกเขินอยากจะเตะตัวเองมากกว่า และมันก็จำอยู่ในใจ ไม่ยอมหนีไปไหน มีเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องเล็กๆไม่คุ้มที่จะพูดถึงหรอกครับ

แล้วสิ่งที่ทำมาแล้วรู้สึกพอใจหรือภูมิใจมากละคะ

ก็พอมีบ้าง

สิ่งแรกก็คือที่ได้ไปอยู่ปากพนังและสร้างโรงพยาบาลปากพนังขึ้นมาจากความช่วยเหลือของชุมชน คือตอนหนุ่มๆผมไปเป็นหมออยู่ที่ปากพนัง ที่นครศรีธรรมราช เป็นอำเภอใหญ่ มีประชากรแสนกว่าคน แต่ตัดขาดจากภายนอกด้วยแม่น้ำ ต้องนั่งแพยนต์ไป ก็ไปทำงานในสุขศาลาเรือนไม้ สร้างไว้ตั้งแต่สมัย ร.เจ็ดแล้ว เป็นบรรยากาศที่โรแมนติกมาก หมอหนุ่มสาวสองคนในชนบทอันกว้างใหญ่ ผมปั่นจักรยาน หมอสมวงศ์ซ้อนท้าย ผมได้คบหากับคนในชุมชน ชักชวนเศรษฐีมีเงิน จนได้เงินมาล้านหกแสนบาทซึ่งก็เป็นเงินมากเหลือเกินที่จะระดมได้จากอำเภอหนึ่งเมื่อสมัยสามสิบปีมาแล้ว อีกด้านหนึ่งผมก็วิ่งเต้นเข้าหาเจ้าเข้าหานาย ตั้งแต่ปลัดกระทรวง สส. ไปถึงรัฐมนตรี เพื่อเจียดเอางบเศษเหลือที่พอจะรวบรวมได้ เมื่อเอามารวมกันกับเงินบริจาคก็มากพอที่จะสร้างโรงพยาบาลสำหรับชุมชนขนาด 30 เตียงขึ้นมาได้สำเร็จ ที่จำได้นี่ไม่ใช่เรื่องการสร้างโรงพยาบาล แต่เป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาลโดยมีผมเป็นตัวเชื่อม

เรื่องที่สองก็คือตอนที่ผมไปทำงานเป็นหมออยู่ที่เมืองนอก ตำแหน่งของผมเขาเรียกว่าเป็นซีเนียร์ รีจีสตราร์ หมายถึงเป็นหัวหน้าขี้ข้าที่ไม่มีวันจะได้เป็นนาย หรือตำแหน่ง “ขุนทาส” ทำนองนั้น ที่นั่นเขาจะมีรางวัลสูงสุดสำหรับคนระดับนี้ เรียกว่ารีจีสตราร์ อะวอร์ด ซึ่งไม่มีกะเหรี่ยงคนไหนเคยได้ เรียกว่าเป็นรางวัลสำหรับคนขาวโดยเฉพาะ แต่ปีนั้นทีมแพทย์อาวุโสของโรงพยาบาลลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผมได้รางวัลนี้ เรียกว่าลงมติแหกประเพณีให้เลยทีเดียว แม้ว่าในที่สุดบอร์ดบริหารจะระงับว่ารางวัลนี้ตามระเบียบต้องเป็นซิติเซนเท่านั้นจึงจะได้ และผมก็อดไปตามระเบียบในนาทีสุดท้าย แต่ก็แอบภูมิใจที่สต๊าฟที่เป็นคนขาวแท้ๆทั้งหมดลงมติให้ผมเป็นเอกฉันท์

เรื่องที่สามก็ตอนกลับมาทำงานเมืองไทยแล้ว โดยบังเอิญผมมีปัญหาเมื่อผู้ป่วยของผมเองเกิดหัวใจหยุดเต้น แล้วต้องปฏิบัติการช่วยชีวิต ก็ได้พบว่าระบบปฏิบัติการช่วยชีวิตของบ้านเรามันไม่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ คนจบมาคนละแห่งพอมาเข้าทีมเดียวกันก็ไม่เข้าขากัน ผมจึงตั้งใจว่าจะต้องผลักดันให้มีมาตรฐานเรื่องนี้ขึ้นในเมืองไทยให้ได้ โดยเข้าไปทำงานเป็นกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ผลักดันให้มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างสมาคมกับกระทรวงสาธารณสุข และร่วมมือกับสมาคมหัวใจอเมริกัน ตัวผมเองเดินทางไปๆ มาๆ ดัลลัสกรุงเทพหลายครั้ง ทำอยู่หลายปี จนการจัดทำมาตรฐานการช่วยชีวิตและระบบฝึกอบรมที่เหมือนกันทั้งประเทศเกิดขึ้นได้สำเร็จ มีตำราคู่มือมาตรฐานที่ผมเองเป็นบรรณาธิการ ซึ่งพิมพ์ออกใช้แล้วหลายครั้ง งานนี้เป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของแพทย์โรคหัวใจและวิสัญญีแพทย์ทั้งประเทศจำนวนมาก และเป็นงานที่เป็นความทรงจำที่ดีงานหนึ่ง

เรื่องที่สี่ก็คือการแหกคอกจากราชการออกมาสร้างระบบผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาคนจนผ่านระบบประกันสังคมและสามสิบบาทในภาคเอกชน คือเมื่อสิบกว่าปีก่อน การผ่าตัดหัวใจให้คนจนทำได้แต่ในรพ.ของรัฐ เพราะในภาคเอกชนมีต้นทุนสูงถึงสามแสนบาท ขณะที่ประกันสังคมจ่ายแสนเดียว แต่ว่าภาคราชการรอย่างเดียวมันทำไม่ทัน มีคนไข้เข้าคิวรอผ่าตัดนานกว่าจะได้ผ่าก็ปีกว่าสองปี บ้างก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ที่ต้องล้มหายตายจากไปก่อนก็มาก ผมพยายามแก้ปัญหานี้โดยหาทางจัดตั้งระบบที่เรียกว่า “องค์การมหาชน” ขึ้นมาเพื่อให้มีเงินมาจูงใจให้หมอทำงานนอกเวลาจะได้ผ่าตัดได้มากขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเพื่อนร่วมอาชีพส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ อีกส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนลงไปจนเหลือรายละหนึ่งแสนบาทได้ บ้างก็เชื่อว่าคิวรอผ่าตัดเนี่ย จนตายก็ทำไม่หมด อย่าไปพยายามเลย ผมจึงตัดสินใจออกจากราชการมาจัดตั้งระบบนี้ในภาคเอกชน ตอนแรกมาตั้งทำที่พญาไท โดยร่วมมือกับฮาร์วาร์ดเรียกว่าศูนย์หัวใจพญาไท-ฮาร์วาร์ด เริ่มตั้งแต่สนามหลวงคือสร้างคนและพัฒนาวิธีทำให้มีต้นทุนต่ำ โดยเรียนรู้จากเพื่อนที่ผ่าตัดหัวใจอยู่ที่อินเดีย เพราะที่นั่นหมอเขาเย็บต่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจสามเส้นด้วยไหมเย็บเส้นเดียว ทำที่พญาไทอยู่หลายปีจนพญาไทหมดสัญญากับฮาร์วาผมก็ย้ายไปตั้งทำต่อที่เกษมราษฎร์ประชาชื่น เดี๋ยวนี้เกษมราษฎร์ประชาชื่นทำผ่าตัดหัวใจให้คนจนปีละ 700 ราย เป็นศูนย์หัวใจรักษาคนจนที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศ ตอนนี้คิวรอผ่าตัดหัวใจทั่วประเทศไทยก็หมดแล้ว เพราะหลายสถาบันเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามจะทำ จึงได้จัดระบบผ่าตัดนอกเวลาขึ้นมาบ้าง เมื่อทุกคนระดมผ่า คิวที่ยาวเหยียดก็หมดไป

ช่วยสรุปว่าเรียนจบอะไรมาจากที่ไหนให้ฟังบ้างสิคะ

สิ่งที่น่าเบื่อสำหรับคนทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือการฟังหมอพูดถึงเรื่องที่เขาเรียนรู้มา เพราะหมอนั้นกว่าจะเรียนจบฝึกจบก็อายุสี่สิบเข้าไปแล้ว พอถูกถามว่าเรียนอะไรมาบ้างก็จะปากแข็งคอแข็งจาระไนว่าข้านี้เรียนมามากเหลือเกิน พูดไปได้ไม่ถึงครึ่งคนฟังหลับเสียแล้ว เพราะมันแยะเกินไป ผมเล่าสั้นๆในเวอร์ชั่นที่มันไม่น่าเบื่อมากก็แล้วกันนะ

ผมเรียนหนังสือแค่มศ.3 หรือม. 3 ปัจจุบัน แล้วมาสอบเทียบเอา ไม่ได้เรียนจนจบมัธยมปลายอย่างคนอื่นเขา ตอนจบมศ.3 ก็วางแผนตามความชอบไว้ 3 แบบว่า

แบบที่หนึ่ง คือจะไปสอบเข้าเตรียมทหาร เพราะมีครูคนหนึ่งเป็นทหารแล้วสอนลูกเสือที่โรงเรียน ทำให้ผมเกิดชอบชีวิตที่มีระเบียบวินัย เข้าแถว เป่านกหวีด ปิ๊ด ปี้ ปิ๊ด เป็นอันมาก

แบบที่สองคือจะไปเรียนสายอาชีวะที่เพาะช่าง เพราะผมชอบวาดรูป ตอนเป็นเด็กวัดที่หน้าวัดเป็นที่ตั้งของแกลลอรี่ของครูจำรัส พรหมมินทร์ นักวาดรูปรับจ้างบ้านนอกแต่ฝีมือดี เมื่อว่างจากงานวัดผมก็อยู่ในนั้นแหละ ช่วยครูผสมสี ล้างกระป๋อง ไปตามเรื่อง ตัวผมเองก็วาดรูปสีน้ำมันบนผ้าใบผืนเบ้อเร่อได้แล้ว ยังติดอยู่ที่ฝาบ้านที่พะเยามาจนถึงทุกวันนี้รูปหนึ่งเลย จึงคิดว่าชีวิตนี้ถ้าเอาดีทางวาดรูปแบบครูจำรัสก็จะมีความสุขดี

แบบที่สามก็คือจะไปเรียนเกษตรที่แม่โจ้ เพราะผมชอบเกษตรอยู่แล้ว แค่เป็นนักเรียนมัธยมผมก็ทำเกษตรและวิจัยอะไรใหม่ๆสำหรับสมัยนั้นไปแล้วตั้งหลายเรื่อง

วางแผนไว้สามอย่าง แต่เพื่อนที่จะไปสอบเข้าแม่โจ้มาถึงก่อน และมาชวนไปสอบด้วยกัน ผมก็จึงไปสอบเข้าแม่โจ้ก่อน การสอบสมัยนั้นคือคุณต้องวิ่งจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ไปแม่โจ้ซึ่งเป็นระยะทาง 18 กม. หากรอดชีวิตไปถึงแม่โจ้ได้ในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงจึงจะได้เข้าสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ผมสอบได้ ก็เลยเข้าเรียนที่แม่โจ้ ขุดดินฟันหญ้าอยู่สามปี ก็อยากมีความรู้เรื่องการวิจัยทางการเกษตรมากขึ้น จึงตัดสินใจมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรที่บางเขน แล้วมาเรียนที่บางเขน

แล้วมาเป็นหมอได้อย่างไรคะเนี่ย

เรียนที่บางเขนได้ไม่กี่เดือน น้องสาวซึ่งเรียนชั้นม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมก็ป่วย คือเธอป่วยจากความเครียดในชีวิตนะ พ่อก็เพิ่งตาย ตัวเองซึ่งมีอายุเพียงสิบสี่ปีต้องจากบ้านจากแม่มาเรียนหนังสือเมืองกรุงอย่างโดดเดี่ยว วันหนึ่งครูของเธอก็เรียกพี่ชายไปหา และบอกว่าน้องสาวเพี้ยนไปเสียแล้ว คือเธอสอบได้ที่สองแล้วฉีกกระดาษข้อสอบต่อหน้าครู แบบว่าเกิดมาฉันไม่เคยสอบได้ที่สองนะ ประมาณนั้น อาการป่วยของน้องมีแต่แย่ลง การรักษาของหมอตอนนั้นผมมองยังไงก็ไม่เข้าท่า จนถึงจุดหนึ่งผมก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยพาน้องกลับบ้านไปรักษากันเองแบบพี่รักษาน้อง ที่บ้านที่พะเยา และจุดนี้เองที่อยู่ๆผมก็อยากจะเป็นหมอขึ้นมาอย่างไม่มีปีไม่มีขลุ่ย เมื่อน้องหายและกลับมาเรียนได้แล้ว ผมก็สอบเข้ามหาลัยใหม่ โดยเลือกเรียนแพทย์ เขาสอบกันห้าวิชา คืออังกฤษ ชีวะ เคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ แต่ผมมีความรู้แค่สามวิชา เพราะไม่เคยเรียนม.ปลายมาจึงไม่มีความรู้ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ซึ่งต้องใช้หลักตรีโกณในการคำนวณ แต่ผมก็สอบติดนะ ไปติดที่คณะแพทย์สงขลานครินทร์ เรียน วทบ. และจบแพทยศาสตร์บัญฑิต เป็นแพทย์บุกเบิกหรือรุ่นอัตคัตของที่นั่น ที่ว่ารุ่นอัตคัตคือเวลาจะเรียนวิชาสรีรวิทยา ซึ่งเป็นวิชาที่สอนถึงระบบต่างๆของร่างกาย ครูก็จะแบ่งนักศึกษาแพทย์ออกเป็นกลุ่มๆละ 6 คน แต่ละกลุ่มก็ให้คีมจับหมาหนึ่งคู่และกระสอบหนึ่งใบ พวกเราต้องไปไล่จับหมาจรจัดในตลาดหาดใหญ่เพื่อเอามาเรียนมาทดลองทางสรีรวิทยาเอาเอง ชาวบ้านที่รักหมาไม่เข้าใจเราก็ต่อว่าใจร้ายตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้วจะเป็นหมอได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นหมาที่จับมาด้วยความยากลำบาก เมื่อเอาใส่กรงขังไว้ที่คณะวิทย์ กลางคืนมันร้องโหยหวนจนยามทนไม่ได้เลยปล่อยมันไป รุ่งขึ้นเรามารู้เข้าว่าไม่มีหมาจะเรียนก็แทบลมจับ ต้องตั้งหน่วยฉก.พร้อมคีมและกระสอบออกทำการฉุกเฉินกันเลยทีเดียว

แล้วมาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจได้อย่างไรคะ

จบแพทย์ ไปทำงานใช้ทุนที่ปากพนัง ครบกำหนดแล้วก็มาฝึกอบรมเฉพาะทางจนได้วุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอก แล้วก็ไปฝึกอบรมเฉพาะด้านการผ่าตัดหัวใจทรวงอกและหลอดเลือดที่กรีนเลน ประเทศนิวซีแลนด์ จนได้ Certificate of cardiovascular & thoracic surgery full registrar training มาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่รพ.ราชวิถี ทำผ่าตัดหัวใจบายพาสอยู่หลายปี แล้วก็ไปฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยที่เพรสบิไทเรียน ดัลลัส เท็กซัส อเมริกา หลังจากนั้นเมื่อมาทำงานกับฮาร์วาร์ด ก็ไปๆมาๆบอกสตันกรุงเทพ หลังจากนั้นก็ทั้งผ่าตัด ทั้งสอน และเดินทางบ่อยๆ หลายประเทศ สอนบ้าง บรรยายบ้าง สุดแล้วแต่เวลาและโอกาส

นอกจากจะเป็นหมอผ่าตัดหัวใจแล้ว ทราบว่าเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้วย

ครับ เป็นผู้อำนวยการรพ.พญาไท 2 อยู่สองรอบ รวมแล้วก็เจ็ดปี เป็นผู้อำนวยการรพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่นอีกสองปี คือมันเริ่มจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาทางคลินิก ซึ่งบางส่วนมันต้องใช้กลไกการบริหารเข้าไปแก้ แก้ไปแก้มาก็เลยกลายเป็นผู้อำนวยการเองไปเสียเลย ใหม่ๆก็ผ่าตัดหัวใจไปด้วย ทำงานบริหารไปด้วย แต่งานบริหารมันทำแล้วจะพันตัวดิ้นไม่หลุด ในที่สุดก็แทบไม่ได้ผ่าตัดหัวใจเลย เอาแต่ทำงานบริหารอย่างเดียว

แล้วที่มาเขียนหนังสือ “5 วิธีสู่วิถีชีวิตไม่ป่วย” นี่ละคะ

คือพอทำงานผ่าตัดหัวใจไปมากกว่าสองพันรายแล้วมันเริ่มรู้สึกว่าเรากำลังทำอะไรที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ทำแล้วก็ต้องมาทำอีก เพราะการผ่าตัดหัวใจผ่านไปสิบปียี่สิบปีโรคมันจะดำเนินต่อไปจนหลอดเลือดตีบอีกแล้วก็ต้องมาผ่าใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะใช้เวลาที่เหลือในชีวิตมาทำสิ่งที่แก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำอย่างนี้ไปจนตายหรือ ประกอบกับตัวเองก็เริ่มป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเสียเอง ถ้าไม่ทำอะไรลงไปสักอย่าง วันข้างหน้าก็ต้องไปนอนบนเขียงให้คนอื่นเขาผ่าตัดหัวใจของเราเองบ้าง จึงหันมารักษาตัวเองด้วยแนวทางส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พอเห็นว่ามันดีก็มีใจอยากชักจูงคนอื่นให้ทำตามบ้าง อยากจะทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็เลยตัดสินใจเลิกผ่าตัดหัวใจ เลิกเป็นผู้อำนวยการ ไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวและสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว คิดดู สอบเอาตอนอายุห้าสิบกว่านะครับ ถ้าไม่ชอบจริงก็คงไม่ทำ สอบได้แล้วก็เปลี่ยนมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง ด้านหนึ่งก็เปิดคลินิกส่งเสริมสุขภาพ คือแก้ปัญหาสุขภาพให้คนไข้เป็นรายคน อีกด้านหนึ่งก็ให้ความรู้ด้านนี้แก่สาธารณชน ทั้งเขียนหนังสือ เขียนเว็บไซท์ชื่อ health.co.th และเขียนบล็อกชื่อ visitdrsant.blogspot.com ซึ่งก็มีคนเข้ามาอ่านแยะเหมือนกัน คือเดือนละประมาณ 3 หมื่นคน หนังสือนี้ก็มีคนอ่านพอสมควร พิมพ์ไปสองครั้งแล้ว โดยทางอมรินทร์พริ้นติ้งเป็นผู้พิมพ์ให้ คือพูดง่ายๆว่า การให้ความรู้หรือ health education เป็นเครื่องมือหลักของการส่งสริมสุขภาพและป้องกันโรค เมื่อตั้งใจจะเป็นหมอทางด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้วก็ต้องยอมเหนื่อยให้ความรู้กับสาธารณชน ในทุกรูปแบบ หนังสือนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง

แล้วเรื่องเกษตรที่เรียนมาจากแม่โจ้ก็เลยทิ้งไปหมดเลย?

ไม่ทิ้งครับ แต่ว่ามันลดลงไปเป็นงานอดิเรก คือทุกวันหยุดผมก็ยังไปทำไร่ที่สระบุรี ผมปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ ไร่ของผมเนี่ย ได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ของแท้จากองค์การ IFOAM ซึ่งเป็นสถาบันรับรองเกษตรอินทรีย์นานาชาติด้วยนะ ทำเป็นเล่นไป เพียงแต่ว่ามันเป็นแค่ทำเล่นๆ ทำจริงไม่ได้ เพราะต้องเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า

ทราบว่าเป็นประธานมูลนิธิด้วย

ครับ คือผมเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต นั่นอันหนึ่ง และเป็นกรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก นั่นอีกอันหนึ่ง และเป็นกรรมการที่ปรึกษามาตรฐานการช่วยชีวิตของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย นั่นก็อีกงานหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นงานจิตอาสา คือทำฟรี เพื่อให้ตัวเรามีความสุขว่าได้ทำสิ่งดีๆ และคนอื่นมีความสุขจากผลที่เราทำนั้น

ฟังดูแล้วผ่านชีวิตมามากเหลือเกิน ชีวิตที่เหลืออยู่อยากทำอะไรบ้างคะ

ผมก็เหมือนคนอื่นอีกหลายคนที่มีความโลภอยากทำอะไรหลาย.ย..ย อย่างเยอะแยะมากมาย ในด้านส่วนตัวก็อยากมีเวลาทำอะไรที่เคยคิดอยากทำตั้งแต่เด็กแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เช่น อยากปลูกดอกไม้ทำสวนดอกไม้ที่สวยชนิดที่คนมาเดินชมแล้วเก็บไปฝันถึงได้อีกนาน อยากวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ อยากนั่งลงเล่นเปียโนให้เป็นล่ำเป็นสันเสียที และอยากเรียนภาษาใหม่อีกสักหนึ่งภาษา เช่นภาษาญี่ปุ่นเป็นต้น

ในเรื่องงานก็อยากสร้างสรรค์อะไรที่แตกต่าง แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า make a difference โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรที่มีคุณค่าแก่สังคมหรือแก่โลก หรือแก่ผู้อื่น หรือแก่อะไรก็ได้ที่ไกลออกไปจากตัวเอง เพราะผมเดินทางในชีวิตมาไกลพอที่จะสรุปได้ว่าอะไรที่มุ่งเอาแต่เพื่อตัวเองนั้น มันให้ความสุขทางใจได้น้อยกว่าอะไรที่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง

คำว่า Make a difference นี่หมายความว่าอย่างไรคะ

หมายความว่าการประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างที่เป็นครั้งสำคัญ อะไรที่ถ้าไม่มีเราอยู่ตรงนั้นแล้วมันจะไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่ารายละเอียดมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานการณ์ ตัวอย่างเช่นสมัยที่ผมยังเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ในราชการ ผมมุ่งที่จะสร้างระบบที่จะทำให้ผู้ป่วยหลายพันคนที่รอผ่าตัดหัวใจอยู่คนละ 1 – 2 ปีทั่วประเทศได้รับการผ่าตัดหัวใจโดยไม่ต้องรอคิว ถ้าทำได้จริง มันก็จะเป็นความแตกต่างที่ชัดเจน ก่อนเรามาสู่อาชีพนี้ คนต้องทนทุกข์และตายไปกับการรอผ่าตัดหัวใจเป็นพันๆคน แต่เรามาแล้วสิ่งนี้ถูกแก้ไขไปได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสร้างความแตกต่าง อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างแนวคิดนะครับ

มาถึงวันนี้ ในประเด็น make a difference นี้ผมยังมีความโลภหรือมีกิเลสอยากทำอยู่อีกสองอย่าง

หนึ่งก็คือการทำให้ทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นทิศทางหลักของเรื่องสุขภาพของผู้คน หมายความว่าทำให้ผู้คนหันมาทำตัวเองให้มีสุขภาพดี ด้วยการลงมือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อนและจัดการความเครียด ตัวผมเองทำตัวเองให้ได้ก่อน แล้วก็ชักชวนคนอื่นทำตาม ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มหันมาทำเรื่องนี้เต็มตัวแล้ว และชีวิตที่เหลืออยู่ผมก็คงมุ่งทำเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก

เรื่องที่สองคือสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่มีโครงสร้างที่จะรับมือกับโรคเรื้อรังเช่นโรคหัวใจหลอดเลือด อัมพาตอัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคไต โรคมะเร็งเป็นต้น คือระบบโรงพยาบาลของเราในปัจจุบันออกแบบมารับมือกับการดูแลปัญหาเฉียบพลัน เรียกว่าเป็นระบบ acute care การจัดการโรคเรื้อรังด้วยโครงสร้างที่ฝรั่งเรียกว่า chronic care นั้นเรายังไม่มี เมื่อเจาะลึกลงไปดูการจัดการโรคเรื้อรังในบ้านเราก็จะพบว่าพากันมุ่งใช้ยารักษาเป็นหลักซึ่งงานวิจัยระยะยาวก็บอกแล้วว่ามันไม่ได้ผล ขณะที่การนำมาตรการส่งเสริมสุขภาพมาแก้ปัญหาโรคเรื้อรังแบบที่เรียกว่า secondary prevention นั้นบ้านเรายังไม่ค่อยได้ทำกัน และเมื่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังดำเนินมาถึงจุดหนึ่งเช่นสมมุติว่าเป็นอัมพาตนอนติดเตียง ระบบ acute care ในปัจจุบันนี้ก็มีต้นทุนสูงเกินไปในการดูแล มันจะต้องมีรูปแบบใหม่ในการดูแลเกิดขึ้นมารับตรงนี้ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะทำให้มันเกิดขึ้น

ความโลภอยากทำโน่นทำนี่มันก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ว่าชีวิตของเราต้องดำเนินไปอย่างมีความสุขตามอัตภาพด้วย หมายความว่าหากเร่งอยากทำโน่นทำนี่มากเกินไปก็จะเป็นเหตุให้เครียดเสียเอง พูดง่ายๆว่าแนวทางก็คือจะทำไปเรื่อยๆ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น

เคยทำอะไรไม่สำเร็จบ้างไหม

เคยสิครับ เยอะแยะ ซึ่งก็ปลงไปหมดแล้ว เพราะผมเป็นคนปลงง่าย ก็โถ.. คุณจะเรียกร้องเอาอะไรจากชีวิตมากมายละครับ มีสุขภาพกายดี มีปัจจัยสี่บริโภค มีภรรยาน่ารัก มีลูกที่เรียนหนังสือจบและพ้นอกไปเป็นตัวของเขาเองได้แล้ว แค่นี้ก็ถือว่าได้มามากเกินพอแล้วไม่ใช่หรือครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………..