Latest

หลักเวชศาสตร์ครอบครัว

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ดิฉันอยากทราบหลักการปฏิบัติตนตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัวจากคุณหมอ คุณหมอเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

…………………………………….

ตอบครับ

หลักเวชศาสตร์ครอบครัวนั้นเป็นหลักของหมอที่จะใช้ดูแลคนไข้นะครับ แต่ผมเข้าใจว่าคุณถามหาหลักการปฏิบัติตัวเองสำหรับคนไข้เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีหรือที่เรียกว่าหลักการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใช่ไหมครับ ดังนั้นผมแยกตอบเป็นสองเรื่องดังนี้

เรื่องที่ 1. หลักการปฏิบัติตัวเองสำหรับคนไข้เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดี หรือที่เรียกว่าหลักการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น เรื่องมันยาว ผมเขียนเป็นหนังสือพอกเก็ตบุ๊คชื่อ “5 วิธี สู่วิถีชีวิตไม่ป่วย” โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งพิมพ์ให้ หนังสือเล่มนี้ เนื้อหาสาระเป็นการแนะนำให้ผู้อ่านปรับวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิงใน 5 เรื่อง คือ (1) การออกกำลังกาย (2) โภชนาการ (3) การพักผ่อนและจัดการความเครียด (4) การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ (5) การประเมินความเสี่ยงสุขภาพของตนเองและลงมือจัดการความเสี่ยงนั้น รายละเอียดคุณหาซื้อหนังสือจากร้านนายอินทร์มาอ่านดูได้ครับ

เรื่องที่ 2. หลักเวชศาสตร์ครอบครัว แหม เรื่องนี้ของชอบเลยนะครับ ถึงแม้รู้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจถามถึงเรื่องนี้ แต่ผมขอตอบนะครับ เพราะว่ามันร้อนวิชา คือการทำมาหากินทางเวชศาสตร์ครอบครัวเนี่ย มันมีแก่นของมันอยู่ 10 ประการดังนี้

1. หลักการดูแลสุขภาพแบบต่อเนื่อง (continuous care) คือดูกันตั้งแต่เกิดมา จนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยทำงาน แต่งงาน เข้าสู่วัยกลางคน เกษียณอายุ เข้าสู่วัยชรา จนกระทั่งเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าหมอกับคนไข้ใครจะตายก่อนใคร เรียกว่าเกาะติดกับเรื่องสุขภาพของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

2. หลักเน้นความสัมพันธ์แบบคนกับคน (personal relationship) ระหว่างทีมงานซึ่งนำโดยแพทย์ฝ่ายหนึ่ง กับผู้ป่วยอีกฝ่ายหนึ่ง คือคบหากันแบบเสมอกัน แบบเพื่อนซี้กัน ทำนองนั้น ไม่ใช่แบบนักวิชาชีพกับผู้รับบริการ

3. หลักให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นอัตวิสัย (subjective data) เช่นความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง อันเป็นส่วนที่ถูกเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญในระบบการแพทย์เชี่ยวชาญแบบเฉพาะทางในปัจจุบัน

4. หลักมุ่งเน้นเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centered Care) ไม่มุ่งเน้นที่โรคหรือวิธีการรักษาโรค โดยเป็นการดูแลที่ผสมผสาน (comprehensive care) ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งในมิติของ กาย จิต สังคม (bio-psycho-social) และคำนึงถึงบริบท รอบตัวผู้ป่วย (context of illness) ตั้งแต่ตัวคนป่วย ครอบครัว สังคมรอบตัว

5. หลักมุ่งส่งเสริมสุขภาพ (health promotion) ในทุกโอกาส อันได้แก่ (1) ให้การศึกษา (health education) ให้ผู้ป่วยมีความรู้และทักษะที่จะดูแลสุขภาพตนเองได้ (2) กระตุ้นช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่วิถีสุขภาพสำเร็จ โดยนำทั้งทฤษฎีความเชื่อ (Health Belief Model) ทฤษฏีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (Stage of Change Model) และทฤษฏีอิทธิพลสังคม (Social Cognitive Theory) มาประยุกต์ใช้

6. หลักมุ่งการป้องกันโรค (disease prevention) ในทุกโอกาส อันได้แก่ (1) การให้วัคซีนป้องกันโรค (vaccination) ที่ครบถ้วน (2) การค้นหาและจัดการปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรค (health risk factors management) และ (3) การตรวจคัดกรองเพื่อให้พบโรคสำคัญตั้งแต่ระยะแรก (disease screening)

7. หลักดูแลผู้ป่วยแบบเจาะลึกเป็นรายคน ทำการประเมินความเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล (individual health risks assessment) แล้วนำข้อมูลมาจัดทำแผนสุขภาพส่วนบุคคล (personal health plan) ร่วมกับผู้ป่วย แล้วก็ช่วยผู้ป่วยให้บรรลุผลสำเร็จตามแผน

8. หลักความปลอดภัย (safety) และการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (continuous quality improvement) ผ่านกระบวนการวิจัยพัฒนางานประจำ (routine to research) ดูแลสุขภาพโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (evidence based treatment) เป็นตัวชี้นำการตัดสินใจ มีตัวชี้วัดคุณภาพ (health index) ที่บ่งบอกว่าสุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้น มีระบบตรวจสอบการประกอบวิชาชีพของแพทย์และทีมงานแบบรับฟังข้อมูลป้อนกลับ (feed back) จากคนไข้

9. หลักเป็นกุญแจเชื่อม (key link) เครือข่ายสุขภาพ (health network) รอบตัวผู้ป่วย คือหมอเป็นผู้ประสานเชื่อมโยง (coordination) การดูแลทุกส่วนเพื่อผู้ป่วย ทั้งการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ การเป็นผู้จัดการทรัพยากร (resource manager) แทนผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม จากบุคคลและสถานที่ที่เหมาะสม ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

10. หลักขยายช่องทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ (expanded access) ได้หลายทิศทางอย่างไม่จำกัด และเพิ่มช่องทางสื่อสารระหว่างทีมงานฝ่ายแพทย์กับผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์ อีเมล เว็บไซท์ เป็นต้น

เป็นไงครับ หลักสิบประการของเวชศาสตร์ครอบครัว เท่มากเลยใช่ไหมครับ แต่จะทำได้แค่ไหนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์