Latest

นพ.สันต์พูดกับผู้ชมทีวี.ช่อง 5 เรื่องงูกัดระหว่างน้ำท่วม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ พูดในรายการ “บุษบายามเช้า” ทางทีวีช่อง 5 เมื่อวันที่ 28 ตค. 54 เวลา 8.30 น. เรื่องปัญหาการเฝ้าระวังสุขภาพตัวเองและการจัดการแผลทุกชนิดรวมทั้งแผลงูกัดในระหว่างน้ำท่วม

คุณกวาง (พิธีกร)

คู่มือปฐมพยาบาลระหว่างน้ำท่วม” ที่โครงการ “รวมไทยอาสา” ทำขึ้นนี้ ทราบว่าคุณหมอเป็นคนเขียน ไม่ทราบว่ามีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง

นพ.สันต์

ภาคที่หนึ่งเป็นการให้ปัจจุบันพยาบาลหรือ first aid ทางกาย ก็มีตั้งแต่เรื่องการประเมินสัญญาณชีพ การจัดการแผลชนิดต่างๆ ตั้งแต่แผลน้ำกัดเท้า แผลของมีคมหรือเศษแก้วใต้น้ำบาด เรื่องผิวหนังอักเสบ งูกัด แมลงหรือสัตว์กัด และการจัดการกระดูกหักเบื้องต้น ภาคที่สองเรียกง่ายๆว่าเป็นการให้ปัจจุบันพยาบาลทางใจ

คุณกวาง

ทราบว่าคู่มือนี้ทำขึ้นประกอบการฝึกอบรมอาสาสมัครโครงการรวมไทยอาสา แต่ถ้าผู้ชมทางบ้านจะขอคู่มือโดยไม่มีเวลามารับการฝึกอบรม จะเป็นไปได้ไหมคะ

นพ.สันต์

ได้สิครับ ท่านที่ต้องการไปใช้ให้ติดต่อไปที่เบอร์โทรศัพท์ 1772 โดยตรงเลยครับ

คุณกวาง

คุณหมอลองแซมเปิ้ลตัวอย่างเรื่องในคู่มือที่ผู้ชมทางบ้านที่ถูกน้ำท่วมจะใช้ประโยชน์ได้เลยบ้างสิคะ

นพ.สันต์

เรื่องที่หนึ่งก็คือเฝ้าระวังสัญญาณชีพซึ่งเป็นตัวบอกการเจ็บป่วยของตัวเอง ผมพูดประเด็นเดียวก็แล้วกันนะคือการใช้ปรอทวัดไข้ ปรอทหน้าตาอย่างนี้นะครับ หาซื้อจากร้านขายยาปากซอยได้ ทุกบ้านควรจะมีไว้ เวลาจับปรอทอย่าจับกระเปาะสีเงินนี่นะครับ เพราะมันจะแสดงค่าอุณหภูมิของนิ้วมือเราแทนที่จะแสดงค่าอุณหภูมิของคนที่เราจะวัด ต้องจับอีกปลายที่เป็นด้านตัวเลข นี่ อย่างนี้ ก่อนใช้ก็ต้องสะบัดแรงๆหลายๆครั้ง ปึ๊ก ปึ๊ก ปึ๊ก อย่างนี้ แล้วเอาขึ้นมาอ่านดูก่อนว่าลำปรอทลงไปอยู่ต่ำกว่าเลข 35.5 องศาซี.หรือยัง เมื่อลงไปต่ำกว่านั้นแล้วก็ให้อมไว้ใต้ลิ้น อ้าปาก กระดกลิ้นขึ้น อย่างนี้ แล้วอมไว้ แล้วต้องจับเวลาด้วยนะครับ ต้องอมไว้นาน 3 นาที อย่าใจร้อน ครบ 3 นาทีแล้วเอาออกมาอ่านดูว่าปลายลำปรอทอยู่ที่เลขอะไร ถ้าสูงกว่า 37.8 ก็แสดงว่าเป็นไข้แล้ว จะได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่หรือกับหมอทางโทรศัพท์ได้ถูกต้อง
เรื่องที่สองคือทุกบ้านควรมีและควรรู้จักวิธีใช้ถุงมือยาง ถุงมือแบบนี้นะครับ มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเวลาเราทำแผลล้างแผลให้คนอื่น ถุงมือนี่ทั้งช่วยป้องกันโรคจากเลือดน้ำเหลืองของคนอื่นมาติดเรา ทั้งช่วยป้องกันโรคจากมือของเราไปสู่แผลของคนที่เราจะช่วย การใส่ถุงมือก็ต้องระวังไม่ไปจับส่วนนอกของถุงมือที่เราจะใช้หยิบแผล แบบนี้นะครับ
ไหนๆใส่ถุงมือแล้วผมพูดถึงการล้างแผลหน่อยนะ คือผมไปเห็นผู้ที่เกิดแผลเลือดออกส่วนใหญ่ก็รีบจะปิดไว้แน่นเลย ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัย มันต้องล้างแผลอย่างทั่วถึงก่อน ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาดเช่นน้ำดื่มก็ได้ เทน้ำราดลงไปบนแผลแยะๆแบบนี้เลย เรียกว่าใช้น้ำเป็นขวดๆหรือหลายขวด แล้วเอาผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดเช็ดและขูดในเนื้อแผลให้ขี้ดินหรืออะไรที่สกปรกออกไปให้หมด ตอนนี้จะเจ็บหน่อยก็ต้องทนเอา แล้วก็ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดเช็ดรอบแผลให้แห้ง ไม่ต้องใส่ยาอะไรลงไปในแผลนะครับ เน้นที่การล้าง ล้างลูกเดียว ล้างให้สะอาดอย่างเดียวก็พอ แล้วเอาผ้าก๊อซสะอาดปิดไว้ ปิดพลาสเตอร์เหนียวทับแบบนี้

ผมไปพบพี่น้องที่น้ำท่วมส่วนหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องออกจากบ้านลุยน้ำทุกวันแม้ว่าจะมีแผลที่เท้าแล้ว เป็นแผลน้ำกัดเท้าบ้าง เป็นแผลถูกแก้วบาดบ้าง แต่ก็ยังลุยน้ำไม่ได้หยุดเพราะอาชีพมันบังคับ ถ้าเป็นอย่างนั้นการทายาน้ำกัดเท้าก็ดี การล้างแล้วปิดแผลก็ดี จะไม่ดีนะครับ ให้ท่านทำอย่างนี้ ตอนเช้าที่จะต้องไปลุยน้ำ ไม่ต้องทายาฆ่าเชื้อรา ไม่ต้องปิดแผล ให้ทาวาสลินหนาๆกันน้ำเข้าแผลแทนจะดีกว่า พอเสร็จงานตกเย็นอาบน้ำเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ค่อยล้างแผลปิดแผลหรือทายาฆ่าเชื้อราทิ้งไว้ข้ามคืน

อีกประเด็นหนึ่งก็คือแผลบวกน้ำเน่าทำให้เป็นบาดทะยักง่าย เวลามีแผลต้องถามตัวเองว่าในสิบปีที่ผ่านมานี้เคยฉีดกระตุ้นวัคซีนบาดทะยักบ้างหรือเปล่า ถ้าสิบปีมานี้ไม่ได้ฉีดเลย ต้องไปสถานีอนามัยเพื่อฉีดกระตุ้นวัคซีนบาดทะยักทันทีที่มีแผล

คุณกวาง

แล้วถ้างูกัดละคะคุณหมอ ทำแผลแบบเดียวกันหรือเปล่า

นพ.สันต์

การล้างก็เหมือนกัน คือล้างให้สะอาด ล้างจนขี้ดินหมด แต่แผลงูกัดนี่มีประเด็นอย่างหนึ่งคือพี่น้องชาวบ้านที่ถูกงูกัดจะรัดเหนือแผลด้วยเชือกฟางบ้าง ฉีกเอาแขนเสื้อออกมารัดบ้าง รัดติ้วแน่นปึ๋งจนนิ้วมือบวมเลย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง คือการรัดเหนือแผลเมื่อถูกงูกัดเนี่ยเราไม่ได้รัดจนไม่ให้เลือดไหลกลับนะครับ เรารัดเพื่อให้พิษงูไปทางน้ำเหลืองช้าลง ดังนั้นไม่ต้องรัดแน่นจนเลือดไหลกลับไม่ได้ ดีที่สุดก็คือท่านต้องมีผ้ายืดหรือ elastic bandage แบบนี้นะครับ มีไว้ประจำบ้าน การรัดเหนือแผลเมื่อถูกงูกัดคือใช้ผ้ายืดแบบนี้รัดให้แน่นพอควร พันเหนือแผลอย่างนี้นะครับ พอพันเสร็จแล้วเอาตะขอเกี่ยวหรือปิดพลาสเตอร์ให้มันอยู่ตัว แล้วก็มาตรวจดูว่าความแน่นมันพอควรหรือว่ามากเกินไป วิธีตรวจก็คือขั้นที่ 1 เราเอานิ้วชี้ของเราสอดเข้าไปใต้ผ้ายืด ต้องสามารถสอดนิ้วเข้าไปได้แบบคับๆ อย่างนี้ นี่ถือว่าแน่นพอควร ขั้นที่ 2 ก็คือเรามาดูปลายเล็บมือหรือเล็บเท้าว่าสีของเขาเป็นอย่างไร ถ้าสีของเล็บยังเป็นสีชมพูอย่างนี้ก็โอเคอยู่ แต่ถ้าเล็บสีซีดจ๋องหนองหรือทั้งเล็บทั้งมือเป็นสีม่วงคล้ำไปเลย นั่นแสดงว่ารัดแน่นเกินไป ต้องคลายผ้ายืดออกแล้วพันใหม่

คุณกวาง

น่าเสียดายนะคะท่านผู้ชม คุณหมอมีหุ่นจะมาสอนให้ดูด้วยว่าเวลามีคนหมดสติจะต้องช่วยอย่างไร แต่เวลาหมดเสียแล้ว จำเป็นต้องลาท่านผู้ชมไปก่อนละค่ะ