Latest

กลัวไม่ฟื้นหลังดมยาสลบ

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูตรวจพบติ่งเนื้อขนาด 0.5 ซม. บริเวณปากมดลูก หนูไปตรวจกับหมอสูเนื่องจากมีเลือดออกทุกวันประมาณเปลี่ยนแผ่นอนามัยบางๆวันละ 1-3 แผ่น หมอแนะนำให้ขูดมดลูกและเอาติ่งเนื้อออก โดยแนะนำให้ฉีดยานอนหลับ คุณหมอคะ หนูกังวลมากเนื่องจากหนูกลัวเกิดการผิดพลาดอาจทำให้หนูไม่ฟื้น หรือหากหนูบอกหมอดมยาว่าทานยาต้านซึมเศร้าอยู่ เค้าอาจจะปรับยาให้แรงจนเกินขนาด อาจไม่ฟื้นนอกจากนี้หนูยังกลัวอาการหลังฟื้น เพราะหนูเคยฟื้นจากผ่าตัดมาแล้ว panic. คล้ายรู้สึกมีอาการฟู่ฟ่าในร่างกาย กลัวตาย กลัวหายใจไม่ออก อาการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกหลังการได้รับยานอนหลับในการส่องกล้องที่สะดือ ผ่า endometriosis อาการนี้ยังคงอยู่ 3-4 ปีกว่าจะหายขาด
ส่วนตอนผ่าคลอดวางยาสลบหนูก็กลัว ฟื้นมาตอนแรกก็ดีค่ะ สักพักรู้สึกกลัว กลัวตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่แน่ใจเพราะหนูกดมอร์ฟีนมากไปรึเปล่าด้วยค่ะ
สุดท้ายนี้ คุณหมอคิดว่าหนูควรฉีดยานอนหลับหรือวางยาสลบดีคะ แล้วก็ ความปลอดภัยมีแค่ไหนคะ หนูควรบอกแพทย์เรื่องกินยา( lexapro 10 mg. And lexotan 1.5 mg. วันละ 1-2 เม็ด) ไหมคะ กลัวหมอจะให้ยาแรงไปค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

……………………………………………………………….

ตอบครับ

1. เป็นติ่งเนื้อที่ปากมดลูก มีเลือดออกผิดปกติ หมอแนะนำให้ตัดตัวอย่างติ่งเนื้อออกร่วมกับขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาตรวจวินิจฉัย ว่าทั้งในโพรงมดลูกและทั้งที่ปากมดลูก มีอะไรซีเรียสหรือเปล่า นี่เป็นขั้นตอนการวินิจฉัยมาตรฐาน ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าควรทำ

2. ในการทำการวินิจฉัยดังกล่าวนี้ บางหมออาจจะทำการรักษาควบไปด้วยเลย กล่าวคือถ้ามีข้อมูลว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก (stage IA) หมออาจจะใช้ลวดไฟฟ้าร้อนๆคว้านเอาเนื้อปากมดลูกออก เรียกว่าทำลีพหรือ LEEP ย่อมาจาก loop electrical excisional procedure หรือไม่ก็อาจจะทำผ่าตัดเอามีดคว้านเอาเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย เรียกว่าทำ conization หรือทำ cone biopsy ทำแล้วก็เอาเนื้อที่ตัดออกมาตรวจดูซ้ำว่าตัดออกหมดไหม ถ้าหมดก็จบ การทำทั้งสองอย่างนี้หมออาจตัดสินใจทำไปเลยขณะคุณหลับหรือสลบอยู่โดยไม่ปลุกคุณขึ้นมาถามกลางคัน ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ควรทำสำหรับแพทย์อีกเหมือนกัน ดังนั้นคุณจึงควรเปิดใจล่วงหน้า มอบความไว้วางใจให้หมอเขาตัดสินใจไปเลยโดยไม่โวยวาย

3. ถามว่าควรบอกหมอเรื่องยาต้านซึมเศร้าที่ทานอยู่หรือไม่ ตอบว่าต้องบอกให้หมดครับ เวลาไปหาหมอสาขาไหนก็ตาม ต้องจาระไนให้เขาฟังให้หมดว่าคุณทานยาของหมอในสาขาอื่นอะไรบ้าง ถ้าไม่บอก หมอเขาจะตรัสรู้ได้อย่างไรละครับ อย่าหวังให้เขาอ่านเอาเองจากเวชระเบียน เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นหมอโดยเฉพาะหมอใหญ่ๆแล้ว ชั้นแต่จะอ่านลายมือตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอด จะไปหวังให้หมอเขาอ่านลายมือของหมอคนอื่นออกนั้นเป็นความคาดหวังที่เกินจริงไป และถ้าหมอเขาไม่รู้ว่าเราทานยาอะไรอยู่บ้าง เขาก็ป้องกันยาตีกันไมได้ นอกจากยาแผนปัจจุบันแล้ว ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน วิตามิน หญ้าแห้ง อะไรที่ทานอยู่ก็ต้องบอกเขาให้หมด

4. ประเด็นความกลัวตาย กลัวไม่ฟื้น กลัวหายใจไม่ออก กลัวเป็นเจ้าหญิงนิทรา ฯลฯ อันนี้เป็นความกลัวที่เกินพอดี (panic disorder) คุณเป็นคนรุ่นใหม่คงรู้จักนายสตีฟ จ๊อบส์ เซียนคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งตายไปใช่ไหมครับ มรดกทางความคิดอันหนึ่งที่เขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังซึ่งมีค่ามากก็คือแนวคิดของเขาที่ว่าคนเราควรทำใจยอมรับความตายว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง เขาบอกว่าคนเราเมื่อยอมรับความตายได้ เรื่องอื่นๆก็ล้วนเป็นเรื่องกระจอกไม่มีอะไรต้องน่ากลัวทั้งสิ้น การตัดสินใจเรื่องใดๆในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่เรามีชีวิตอยู่เราก็จะสามารถตัดสินใจไปอย่างชอบด้วยเหตุผลโดยไม่มีอคติเรื่องความกลัวมาชักใบให้ไข้วเขวหรือให้ลำบากใจ ดังนั้นวิชา “ทำใจ”หรือผมชอบเรียกว่าวิชา “make your heart” นี้ จึงเป็นวิชาหลักที่คุณต้องเรียนต้องหัดอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าคุณทำได้ ยาต้านซึมเศร้าทั้งหลายที่ทานอยู่ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป

5. จะวิธีดมยาสลบ ฉีดยาสลบ ฉีดยาชาเช้าที่หลัง ฉีดยานอนหลับขณะแพทย์ทำหัตถการ (deep sedation) หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ทุกวิธีมันได้อย่างก็เสียอย่าง ด้านหนึ่งคือความปลอดภัย อีกด้านหนึ่งคือความเจ็บปวดขณะทำ วิธีฉีดยาเฉพาะที่มีความปลอดภัยสูงสุดแต่ก็เป็นวิธีที่โหดที่สุด ส่วนวิธีดมยาสลบก็เป็นธรรมดาว่ามีความเสี่ยงของการดมยาเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็หลับสบายไปตื่นขึ้นมาก็เสร็จแล้วโดยไม่เจ็บไม่ปวดเลย คุณเลือกวิธีไหนก็ได้ ไม่สำคัญครับ สำคัญที่การหัดทำใจกับความกลัวตายมากกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์