Latest

เป็นนิ่วในไตซ้ำซาก

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูอายุ 37 ปี เมื่อสามปีก่อนปวดท้องเพราะเป็นนิ่วที่กรวยไต ได้รับการรักษาด้วยการทำช็อกเวฟให้นิ่วแตก แล้วอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ หมอบอกว่าให้หนูดื่มน้ำมากๆ แต่ดื่มน้ำเปล่ามันจืด หนูจึงดื่มชาแทน ชาจีนบ้าง ชาดำบ้าง ชาเขียวบ้าง บางดื่มถึง 6 ขวด มาปีนี้หนูเป็นนิ่วอีกแล้ว มีอาการปวดท้องทรมานมากกินไม่ได้อาเจียน หมอทำ CT แล้วบอกว่ามีนิ่วขนาด 10 ซม. จุกอยู่ที่จุดต่อระหว่างกรวยไตกับหลอดไต คราวนี้ได้ทำการรักษาโดยวิธีเรียกว่าอะไรไม่ทราบ หมอบอกว่าใช้เลเซอร์ ซึ่งก็สำเร็จด้วยดี แต่ต้องคาสายไว้ในตัวซึ่งจะต้องมาผ่าตัดภายหลังอีก ปัญหาก็คือว่าทำไมหนูจึงเป็นนิ่วซ้ำซาก ชั่วชีวิตนี้จะต้องเป็นอีกกี่หน ไตหนูจะพังหรือเปล่า มีสมุนไพรอะไรป้องกันนิ่วได้บ้าง คุณหมอช่วยแนะนำด้วยค่ะ

………………………………..

ตอบครับ

1. การรักษานิ่วที่คุณทำไปครั้งแรกเรียกว่าช็อกเวฟ (extracorporeal shock wave lithotripsy หรือ ESWL) คือเอาคลื่นเสียงส่งจากภายนอก ผ่านผิวหนังไปเขย่านิ่วให้แตก ส่วนที่คุณทำครั้งที่สองเรียกว่า ureteroscopy หรือ URS ควบกับ laser lithotripsy คือเป็นการเอากล้องแบบโค้งได้ขนาดเล็กเท่าหลอดกาแฟสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ผ่านกระเพาะปัสสาวะ ผ่านหลอดไต (ureter) ไปจนถึงตัวนิ่วที่ใกล้กับกรวยไต แล้วปล่อยเลเซอร์ให้นิ่วแตกแล้วเอาตะกร้าลวดขนาดจิ๋วลากนิ่วออกมา ส่วนสายที่หมอคาไว้เรียกว่า JJ catheter คือปลายมันขดสองข้างเป็นตัว J ข้างหนึ่งอยู่ในกรวยไต อีกข้างหนึ่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จุดประสงค์ก็เพื่อระบายน้ำปัสสาวะให้ผ่านจุดที่นิ่วเคยอยู่ซึ่งอาจจะเกิดการบาดเจ็บชั่วคราวจากการใช้เลเซอร์ สายนี้มักคาไว้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ เวลาจะเอาออกก็ไม่ยาก ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำแบบคนไข้นอก หมอจะส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้วลากสายนี้ออกมาเท่านั้นเอง

2. การที่คุณหมอแนะนำดื่มน้ำมากๆ (มากกว่าวันละ 2 ลิตร)นั้น เป็นวิธีป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำได้ดี คือป้องกันได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากๆ

3. แต่การที่คุณประยุกต์คำแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆไปดื่มน้ำชามากๆแทนนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะน้ำชามีออกซาเลทซึ่งเป็นสารตัวการก่อนิ่วตัวเอ้ตัวหนึ่ง ยิ่งถ้าตั้งอกตั้งใจดื่มวันละหลายขวดก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นนิ่วซ้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตามชาต่างชนิดกันก็มีออกซาเลทไม่เท่ากัน งานวิจัยปริมาณออกซาเลทในน้ำชาชนิดต่างๆพบว่าชาถุงแบบอังกฤษมีออกซาเลท 4.68 มก. ชาจีน(ชาใบ) มีออกซาเลท 5.11 มก. ชาเขียวและชาอู่หลงมีออกซาเลทเฉลี่ย 0.23 – 1.15 มก. ชาสมุนไพรเช่นชา Rooibos และ Honeybush มีออกซาเลทน้อยที่สุด คือมีตั้งแต่ 0 – 3 มก. ถ้าคุณกลัวเป็นนิ่วซ้ำ หลีกเลี่ยงชาเป็นดีที่สุด

4. คุณยังอายุไม่มาก แต่ก็เป็นนิ่วซ้ำซากเสียแล้ว อนาคตอาจจะต้องเป็นอีกหลายครั้ง ผมแนะนำให้คุณคุยกับหมอของคุณในประเด็นต่อไปนี้

4.1 เอานิ่วที่ลากออกมาได้ไปวิเคราะห์ทางแล็บ เพื่อดูว่าเป็นนิ่วชนิดไหน เพื่อจะได้มองหาวิธีป้องกันได้ถูก คือนิ่วในทางเดินปัสสาวะของคนเรานี้มีได้สี่แบบตามสารที่ประกอบกันเป็นนิ่ว คือ (1) นิ่วแคลเซียม (เช่นแคลเซียมออกซาเลท) (2) นิ่วสตรูไวท์ (Struvite หรือ magnesium ammonium phosphate) (3) นิ่วกรดยูริก และ (4) นิ่วซีสตีน

4.2 ต้องสืบค้นให้แน่ใจว่าไม่ได้มีเหตุอื่นให้เป็นนิ่วง่ายอยู่ เช่น
(1) เจาะเลือดดูฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นไฮเปอร์พาราไทรอยด์ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมมากขึ้น
(2) เจาะเลือดดูระดับกรดยูริกเพื่อวินิจฉัยแยกการเป็นนิ่วจากกรดยูริกซึ่งพบบ่อยในคนเป็นโรคเก้าท์
(3) เก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงไปตรวจหาระดับ โปตัสเซียม, แคลเซียม, กรดยูริก , แมกนีเซียม, ฟอสเฟต เทียบกับสารเหล่านี้ในเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไตว่าผิดเพี้ยนไปเพราะเหตุใดหรือเปล่า เช่นอาจจะเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Bartter Syndrome ซึ่งไตจะทำงานเพี้ยนไปในลักษณะที่ผลสุดท้ายจะมีโปตัสเซียมและแคลเซียมรั่วออกไปอยู่ในปัสสาวะมาก ทำให้เป็นนิ่วได้ง่าย
(4) คุณใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาระบายยาถ่ายเป็นประจำหรือเปล่า ที่ถามอย่างนี้เพราะสาวๆที่กลัวอ้วนเขาชอบใช้กัน ถ้าใช้อยู่ต้องเลิกทันที เพราะยาขับปัสสาวะ ยาระบายยาถ่าย (laxative) ถ้าใช้มากจะทำให้ไตทำงานเพี้ยนไปคล้ายกับคนเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งแพทย์เรียกว่า pseudo Bartter syndrome

4.3 ยังไม่ต้องตีอกชกหัวกลัวไตพัง ตัวนิ่วไม่ได้ทำให้ไตพัง โรคพันธุกรรมอย่าง Bartter Syndrome ก็ไม่ได้ทำให้ไตพัง คนเป็นนิ่วไตจะพังก็ต่อเมื่อนิ่วอุดตันทางเดินท่อปัสสาวะอยู่นานจนปัสสาวะไหลไม่ได้และกรวยไตโป่งพองหรือมีการติดเชื้อขึ้น ดังนั้นนอกจากจะตั้งใจดื่มน้ำมากเป็นนิสัยแล้วควรทำอุลตร้าซาวด์ดูไตทุกปีเพื่อประเมินขนาดและตำแหน่งของนิ่วและขนาดของกรวยไตซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะ ถ้าพบว่ามีการอุดตันหรือนิ่วชักมีขนาดโต ก็ต้องรีบรักษา แต่ถ้านิ่วมีขนาดเล็กควรจะเลือกวิธีรอไปก่อน เพราะ 85% ของนิ่วในไตจะหลุดออกมาได้เอง

5. เรื่องสมุนไพรรักษานิ่วผมไม่ทราบครับ เพราะผมมีความรู้แต่วิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่มีความรู้เรื่องสมุนไพรเลยครับ ต้องขออำไพที่ให้คำแนะนำไม่ได้จริงๆค่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Charrier MJ et al. Oxalate content and calcium binding capacity of tea and herbal teas. Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition. 2002; 11(4): 298-301
2. Colussi G, Rambolá G, Airaghi C, De Ferrari ME, Minetti L. Pseudo‐Bartter’s syndrome from surreptitious diuretic intake: differential diagnosis with true Bartter’s syndrome. Nephrol Dial Transplant1992; 7:896–901.
3. Robb JD, Delargy MA, Nolan M, Tomkin GH.Hypokalaemia: Bartter’s syndrome or pseudo-Bartter’s syndrome? Journal of the Royal Society of Medicine 1984;77:384-6