Latest

ครูจะให้ลูกสาวอายุ 8 ขวบฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงเรียน

เรียนนายแพทย์สันต์ ที่เคารพ
ลูกสาวของผมอายุ 8 ปี มักเป็นหวัดไม่สบายบ่อย และนานๆครั้งมีอาการหอบหืดด้วย ตอนนี้ที่โรงเรียนมีจดหมายมาขอคำยินยอมผู้ปกครองเพื่อฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้นักเรียนทุกคนในราคาคนละ 400 บาท ผมไม่แน่ใจว่าควรให้ลูกสาวฉีดดีหรือไม่ อยากปรึกษาคุณหมอว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นสำหรับเด็กอายุขนาดนี้หรือเปล่า แล้วจริงหรือไม่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ถ้าเป็นสิ่งจำเป็นทำไมรัฐบาลไม่ฉีดให้ ในอีกแง่หนึ่งรบกวนคุณหมอช่วยอธิบายผลเสียของวัคซีนด้วย เพื่อนเขาเปิดอ่านในเน็ตแล้วพบว่าวัคซีนทำให้เป็นโรคสมาธิสั้นบ้าง ทำให้เกิดอาการชักหรืออาการทางสมองบ้าง ที่มีชื่อเรียกว่า Gelain barre syndrome (ขออภัยถ้าเขียนผิด) ถ้าวัคซีนมีผลเสียมากเช่นนี้ ก็ไม่ควรฉีดให้เด็กใช่ไหม

ขอขอบคุณนายแพทย์สันต์ที่ให้ความรู้และตอบคำถามตลอดมา ผมติดตามไม่ขาด มีประโยชน์มากครับ

…………………………………………………..

ตอบครับ

1. ประเด็นโรคไข้หวัดใหญ่ว่ามันแย่แค่ไหน ควรลงทุนป้องกันหรือเปล่า ข้อมูลคือว่าไข้หวัดใหญ่นี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุด ติดต่อกันง่ายที่สุด เพราะในแต่ละปีสถิติทั่วโลกพบว่าจะมีเด็ก 20% และมีผู้ใหญ่ 5% ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในปีนั้น นานๆครั้งเชื้อโรคนี้จะปรับสายพันธ์ตัวเองทำให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่ขึ้นทั่วโลกและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายคราวละมากๆเช่นการระบาดไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ (avian flu) ในปีพ.ศ. 2553 (คศ. 2009) เป็นต้น สถิติจากการระบาดใหญ่ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มคนที่มีโอกาสได้รับอันตรายจากการระบาดมากที่สุดคือเด็กและสตรีมีครรภ์ อาการของไข้หวัดใหญ่มีได้ตั้งแต่เป็นหวัดไม่สบายเล็กน้อยไปจนถึงเกิดการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต ในสหรัฐประเทศเดียวมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และปอดบวมซึ่งเป็นโรคพี่โรคน้องกันปีละประมาณ 36,000 คน ไข้หวัดใหญ่จึงจัดเป็นโรคที่ก่อความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ภาวะทุพลภาพ และต่อชีวิต ในระดับค่อนข้างสูง การป้องกันไข้หวัดใหญ่นี้จึงมีประโยชน์มากโขอยู่ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้แนะนำให้คนทุกคนทั่วโลกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งทุกปี เป็นรูทีนไปตลอดชีวิต คำแนะนำนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลที่วงการแพทย์ถือปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก ในวงเล็บว่า “ถ้าประเทศนั้นมีเงินซื้อวัคซีน”

2. ในด้านผลเสียของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีประเด็นที่คนเข้าใจผิดกันมาก ที่สมควรพูดถึงอย่างน้อยก็มีสัก 5 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. ความเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วเด็กจะป่วยต้องไปหาหมอบ่อยขึ้น ข้อเท็จจริงคืองานวิจัยความปลอดภัยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธ์ (TIV) ที่ใหญ่ที่สุดได้ทำการศึกษาในเด็ก 251,600 คนอายุ 6 เดือนถึง 18 ปี พบว่าหลังฉีดวัคซีนสองสัปดาห์อัตราการป่วยไปหาหมอของเด็กไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะก่อนฉีดวัคซีน ดังนั้นความกังวลที่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะป่วยไปหาหมอเพิ่มขึ้นนั้นไม่จริง

ประเด็นที่ 2. ความเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วเด็กส่วนใหญ่จะเป็นไข้ไม่สบาย งานวิจัยพบว่าอุบัติการณ์เป็นไข้ต่ำๆและปวดตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เกิดขึ้นจริงในอัตราประมาณ 10% แต่เป็นอาการระดับเล็กน้อย ไม่รบกวนการใช้ชีวิตปกติของเด็ก ดังนั้นความกังวลที่ว่าฉีดวัคซีนแล้วต้องไข้ต้องขาดเรียนนั้นก็ไม่จริง

ประเด็นที่ 3. ความเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้ป่วยเป็นกลุ่มอาการกิแลงแบเร (Guillan-Barré Syndrome หรือ GBS ซึ่งมีอาการทางระบบประสาทแบบชั่วคราว) มากขึ้น ความเข้าใจเช่นนี้เป็นผลมาจากข้อมูลของวัคซีนรุ่นเก่าซึ่งนำออกใช้เมื่อปีพ.ศ.2509 (คศ.1976) ขณะที่การวิเคราะห์ฐานข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อค้นหาภาวะชักและการป่วยเป็น GBS หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2007 ในเด็กจำนวน 1,195,552 คนไม่พบว่ามีอาการชักหรือเป็น GBS นอกจากนี้งานวิจัยขนาดใหญ่บางรายการเช่นงานวิจัยฐานข้อมูลวัคซีนของอังกฤษ (GPRD) พบว่าผู้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์กับการเป็น GBS น้อยกว่าผู้ที่ไม่ฉีดเสียอีก ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่(ซึ่งมักทำให้เป็น GBS ตามหลัง) ลดลง หรือเกิดจากปัจจัยกวนที่ผู้ได้รับวัคซีนมีสุขภาพทั่วไปดีกว่าผู้ไม่ได้รับก็เป็นได้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งวิเคราะห์ข้อมูล GPRD นาน 9 ปีแล้วพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่าง GBS กับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เลย ข้อสรุปในภาพใหญ่ตอนนี้คือวงการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้เป็น GBS มากขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าทำให้เป็นมากขึ้นก็เป็นอุบัติการณ์ที่ต่ำมากจนข้อมูลปัจจุบันแยกไม่ออกบอกไม่ได้ ดังนั้นยังไม่ควรเอาเรื่อง GBS มาเป็นกังวลเพราะหลักฐานจริงๆยังไม่ชัด มันจะกลายเป็นความกังวลที่มากเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้อย่าสับสนกับการที่หมอซักประวัติเมื่อพบว่าเด็กคนไหนเคยเป็น GBS ก็จะงดฉีดวัคซีน เพราะมันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กล่าวคือแม้ว่าอุบัติการณ์ของ GBS ในคนทั่วไปจะต่ำคือประมาณ 1 ใน 1 แสน แต่ในหมู่คนที่เคยเป็น GBS มาแล้วจะมีอุบัติการณ์เป็นซ้ำสูง เพียงแค่มีอะไรมากระตุ้นนิดหน่อยก็เป็นซ้ำได้ง่าย การวิเคราะห์รายงานผู้ป่วยที่เคยเป็น GBS อยู่แล้ว 311 คนที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่ามี 4% ที่รายงานว่ามีอาการ GBS เกิดซ้ำอีก แต่ทุกรายมีอาการอยู่ที่ระดับเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนในคนที่เคยเป็น GBS มาแล้ว โดยหากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูงมากก็ให้พิจารณาป้องกันด้วยวิธีกินยาต้านไวรัสแทน

ประเด็นที่ 4. ความกลัวสารไทเมอราซาลในวัคซีนว่าจะเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยต่างๆรวมถึงการป่วยเป็นโรคออติสติก สารไทเมอราซาลนี้มีปรอทเป็นส่วนประกอบ ได้ยินชื่อปรอทคนก็กลัวขนหัวลุกแล้ว แต่การสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดทั่วโลกโดย CDC และองค์การอนามัยโลกทำให้สรุปได้แน่ชัดแล้วว่าความกลัวนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คนที่ตีพิมพ์เรื่องนี้เขย่าขวัญชาวบ้านก็ถูกตำหนิติเตียนจากวงการวิทยาศาสตร์อย่างสาดเสียเทเสีย ที่ยังเป็นคดีหมิ่นประมาทฟ้องร้องกันคาโรงคาศาลฝรั่งอยู่ก็มี อย่างไรก็ตาม เพื่อตัดปัญหาความเป็นเสนียดของคำว่า “ปรอท” วัคซีนรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ได้เลิกใช้สารไทเมอราซาลไปแล้ว

ประเด็นที่ 5. ความกลัวการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง แบบว่าชักแด๊กๆๆแล้วตายทันที ทางการแพทย์เรียกว่าปฏิกริยาแพ้เฉียบพลันแบบ anaphylaxis อันนี้ก็เป็นความกลัวเกินเหตุอีกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ข้อมูลจริง หมอและพยาบาลนั่นแหละมักเป็นคนที่กลัวเรื่องนี้เกินเหตุ ข้อมูลจริงมีอยู่ว่าการวิจัยติดตามข้อมูลเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ฉีดวัคซีนไปแล้วทั่วโลกยังไม่เคยพบว่ามีเด็กตายเพราะแพ้แบบนี้แม้แต่รายเดียว แต่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ในอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก คือเกิดประมาณ 1.5 คนจากผู้ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน เรียกว่าอย่างผมนี้ซึ่งควบคุมดูแลการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ทุกวันวันละราว 20 คน ผมต้องทำงานไปถึง 91 ปี จึงจะเห็นการแพ้แบบนี้หนึ่งครั้ง (ตอนนี้ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งทำงานมาได้ 32 ปีเอง แหะ แหะ) อย่างไรก็ตามการแพ้แบบรุนแรงนี้หากเกิดขึ้นในสถานที่สามารถฉีดยาอดรินาลินแก้ความดันเลือดตกและมีอุปกรณ์ช่วยหายใจกรณีทางเดินลมหายใจอุดกั้น ก็จะได้รับการแก้ไขได้โดยง่ายและมีโอกาสเสียชีวิตต่ำมาก แต่หากไปเกิดในบรรยากาศที่ไม่มีความพร้อมดังกล่าว ก็จะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงเหมือนกัน

3. ที่คุณกลัวว่าลูกสาวเป็นหอบหืดโดนวัคซีนแล้วจะแย่นั้นไม่ต้องกลัว การฉีดวัคซีนนี้ในคนเป็นหอบหืดไม่ได้ทำให้หอบหืดมากขึ้น งานวิจัยฉีดวัคซีนในเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นหอบหืด 1,925 คน เปรียบเทียบกับฉีดยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนมีแต่การแจ้งว่าปวดเมื่อยตามตัวมากกว่า (25%) กลุ่มฉีดยาหลอก (21%) ส่วนอาการอื่นเท่ากันหมด โปรดสังเกตว่ากลุ่มที่โดนวัคซีนหลอกเนี่ย (คือเอาเข็มมาจิ่มๆแต่ไม่ได้ฉีดอะไรเข้าไปจริงๆ) ยังมีอาการปวดเมื่อยตามตัวตั้ง 21% เลยนะ ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าถ้าบอกลูกสาวว่าพรุ่งนี้เช้าไปโรงเรียนเขาจะฉีดวัคซีนกันนะลูก คืนนี้ลูกสาวนอนซมป่วยไข้ไปเลย ทางการแพทย์เขาเรียกว่าเป็นผลจากการถูกหลอก (placebo effect) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

4. ในเรื่องทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี อันที่จริงก็มีงานวิจัยบางอันที่ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่อยู่ได้ถึงสามปีหลังฉีด แต่มาตรฐานปัจจุบันยังแนะนำให้ฉีดทุกปีเพราะตัวไวรัสยอดนิยมในแต่ละปีมักเปลี่ยนหน้ากันไปหนึ่ง และเพราะข้อมูลระดับภูมิต้านทานโรคถ้าฉีดห่างกว่าหนึ่งปียังมีไม่พออีกหนึ่ง จึงต้องฉีดทุกปีกันไปก่อน

5. ที่ว่าถ้าวัคซีนนี้เป็นของจำเป็น ทำไมรัฐบาลไม่ฉีดให้ แหม ผมขออนุญาตตอบแทนท่านรัฐมนตรีเลยนะครับ “..อะแฮ่ม..เพราะเราไม่ได้รับงบประมาณเหมือนอย่างประเทศฝรั่งเขา รบกวนท่านไปบอกสส.ของท่านให้ตัดงบซื้ออาวุธมาเพิ่มงบวัคซีนให้หน่อยเดะ.. ไหนๆก็ไหนๆแล้วขอเพิ่มงบฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กผู้หญิงด้วยนะ…ขอบคุณล่วงหน้า สาธุ”

กล่าวโดยสรุป ผมแนะนำว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีไม่ว่าสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนเถิบ เป็นการลงทุนทางสุขภาพที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม และควรทำครับ เหมือนอย่างที่องค์การอนามัยโลกบอกว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่คุ้มค่าสูงสุดรองลงมาจากการลงทุนหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

References

1. Center of Disease Control. Influenza Prevention and Control Recommendations, Adapted for the 2011-12 Influenza Season. Accessed on February 8, 2012, at http://www.cdc.gov/flu/professionals/acip/adversetiv.htm

2. Ambrose CS, Yi T, Walker RE, Connor EM. Duration of protection provided by live attenuated influenza vaccine in children. Pediatr Infect Dis J 2008;27:744–8.

3. Neuzil KM, Jackson LA, Nelson J, et al. Immunogenicity and reactogenicity of 1 versus 2 doses of trivalent inactivated influenza vaccine in vaccine-naive 5–8-year-old children. J Infect Dis 2006;194:1032–9.

4. Arguedas A, Soley C, Lindert K. Responses to 2009 H1N1 vaccine in children 3 to 17 years of age. N Engl J Med 2010;362:370–2.

5. Vellozzi C, Burwen DR, Dobardzic A, Ball R, Walton K, Haber P. Safety of trivalent inactivated influenza vaccine in adults: background for pandemic influenza vaccine safety monitoring. Vaccine 2009;27:2114–20.

6. Chung EY, Huang L, Schneider L. Safety of influenza vaccine administration in egg-allergic patients. Pediatrics 2010;125:e1024–30.

7. Nicholson K, Wood JM, Zambon M, et al. Influenza. Lancet. 2003;362:1733-1745.