Latest

เสียงแหบ กับ PCOS และลูกอีกสามคน

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์

ดิฉันมีเรื่องรบกวนต้องปรึกษาคุณหมอ ดิฉันต้องขออนุญาตเล่่าข้อมูลส่วนโรคส่วนตัวซึ่งโรคเยอะค่ะดูวุ่นวาย เพื่อให้คุณหมอได้ประกอบการวินิจฉัยนะคะ

โรคที่เป็นมี3โรค

1.โรคธัยรอยด์ต่ำ หลังจากทานรังสีเมื่อปี36 ก็เป็นธัยรอยด์ต่ำมาตลอด ตอนนี้คุมได้ฮอร์โมนคงที่แต่ต้องทานยา 150 มก/วัน ฮอร์โมนล่าสุดเมื่อเดือนธันวา TSH 0.04 FT 4 ก็ปกติค่ะ

2.โรค พีซีโอดี ดิฉันมีลูกยาก เมื่อไปพบคุณหมอถึงทราบว่าเป็นโรคนี้ ดิฉันเลยลดน้ำหนัก คุมพวกอาหารแป้งและน้ำตาล เพราะคุณหมอไม่ได้ให้ยาทานเลยต้องคุมอาหารเอง ผลก็ตั้งครรภ์หลังจากลดน้ำหนักทันทีค่ะ แต่อาการของโรคนี้ดิฉันจะเป็นแค่ ประจำเดือนไม่ตรงจะมาทุก45- 60 วัน ,มีขนหน้าแข้งดก , เสียงแหบนิดหน่อย(เกี่ยวกับเสียงแหบไม่เคยรู้มาก่อนว่าเกี่ยวกับโรคนี้ เพิ่งอ่านเจอเมื่อวานค่ะ) หลังจากคลอดลูกคนที่2แล้วประจำเดือนมาค่อนข้างปกติค่ะคือ ทุก 32-34วัน มาเกือบทุกเดือนค่ะ

3. โรคภูมิแพ้ แพ้อาหารหลายชนิด แพ้สารเคมี แพ้อากาศ

ปัญหาตอนนี้คือเสียงแหบค่ะ เป็นช่วงๆอยู่ดีๆก็เสียงแหบ อยู่ดีๆก็หายเป็นปกติ ลองสังเกตดู คือเสียงจะแหบช่วงมีประจำเดือน พอหลังไข่ตก เสียงจะค่อนข้างปกติ เป็นอย่างนี้มา 3 รอบประจำเดือนแล้วค่ะ ดิฉันไปหาคุณหมอธัยรอยด์ เมื่อเดือนธันวาที่ผ่านมา เพราะเมื่อ10 ปีก่อนขี้เกียจทานยาธัยรอยด์ ตัวเลยบวมเสียงก็เลยแหบ ก็เลยคิดว่าเป็นเหมือนตอนก่อน แต่ผลเลือดธัยรอยด์ทุกอย่างปกติ คุณหมอเลยให้มาหาคุณหมอด้านหู คอ จมูก

ดิฉันไปพบคุณหมอ หูคอจมูก ท่านแรกเมื่อ2 อาทิตย์ก่อน ส่องกล้องดูเหมือนมีก้อนเนื้อทำให้เส้นเสียงปิดไม่สนิท คุณหมอให้ทานยาลดบวม และยาแก้อักเสบ ถ้าไม่หายคงต้องใช้เลเซอร์จี้ออก(เมื่อตอนไปพบดิฉันแจ้งให้คุณหมอทราบว่าดิฉันสังเกตเองว่าจะเสียงแหบช่วงมีประจำเดือน และจะมีเสียงปกติหลังจากไข่ตกไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับฮอร์โมนหรือไม่ คุณหมอบอกไม่เกี่ยวกัน กรณีนี้จะเกิดเฉพาะคนท้องเท่านั้น) หลังจากกินยาครบแล้วก็ไม่หาย ดิฉันก็ไม่อยากจะจี้ออก เลยลองเปลี่ยนคุณหมอ เมื่อวานเลยไปพบคุณหมอ หูคอ จมูก ที่รพ….. คุณหมอ ลองส่องกล้องตรวจแล้วเส้นเสียงไม่มีตุ่มเนื้อแล้วแค่ขรุขระนิดหน่อย คุณหมอบอกว่าไม่ต้องจี้เพราะไม่มีตุ่มเนื้อไม่รู้จะจี้อะไร คุณหมอสงสัยเรื่องธัยรอยด์ว่าปกติหรือเปล่า ดิฉันแจ้งให้ทราบว่าตรวจไปเดือนธันวา ผลเลือกปกติ คุณหมอก็คาดว่าอาจเป็นกรดไหลย้อน ทำให้ระคายเคือง และก็ขอตรวจเลือดดูธัยรอยด์อีก 2 อาทิตย์ คุณหมอให้ยาตัวเดิมมาทานอีก

ดิฉันดูแล้วเหมือนการรักษาไม่คืบหน้าเลยเหมือนวนมาอยู่ที่เดิม ที่ดิฉันคิดว่าเป็นเพราะธัยรอยด์ แต่ในเมื่อคุณหมอธัยรอยด์ดูแล้วไม่ใช่ปัญหาแล้ว ก็เลยส่งมาที่คุณหมอด้านคอ แต่คุณหมอด้านคอ กลับจะส่งกลับไปธัยรอยด์อีก

ดิฉันเลยลองกลับมาหาข้อมูลในอินเตอร์เนต เพราะยังข้องใจเกี่ยวกับฮอร์โมนโดยหาเกี่ยวกับ ฮอร์โมนเพศหญิง เสียงแหบ ก็ได้มาว่า ภาวะ พีซีโอเอส ทำให้เสียงแหบ ก็เลยมาเชื่อมโยงเองเกี่ยวกับที่สังเกตว่าจะมีปัญหามากๆในช่วงที่กำลังมีประจำเดือน เพราะอาจเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงต่ำ แต่พอช่วงไข่ตก ฮอร์โมนเพศหญิง สูงกว่าแอนโดรเจน ก็เลยเสียงไม่ค่อยแหบ ไม่ทราบว่าดิฉันคิดเองพอมีส่วนที่ถูกต้องมั๊ยค่ะ ดิฉันอยากให้คุณหมอวินิจฉัยด้วยค่ะ ดิฉันต้องไปพบคุณหมอสูตินรีเวชเพื่อรักษาพีซีโอดีหรือไม่ค่ะ แต่ถ้าไปเพราะมีอาการเสียงแหบ พอจะเล่าเรื่องทั้งหมดมันก็ยาวคุณหมอก็ไม่ค่อยมีเวลาฟัง และสุดท้ายจะส่งไปหาหมอด้านคออีกค่ะ

รบกวนคุณหมอสันต์ให้คำแนะนำด้วยค่ะว่าต้องเริ่มต้นไปพบคุณหมอด้านไหนควรแจ้งคุณหมอว่าอย่างไรถึงเรื่องทั้งหมด ตอนนี้ทรมานมากค่ะที่ไม่มีเสียง สอนการบ้านลูกไม่ได้เลยเพราะเค้าเด็กมากต้องใช้เสียงมากในการสอนเพราะไม่ค่อยยอมฟัง

ด้วยความเคารพอย่างสูง

……………………………………………..

ตอบครับ

อ่านเรื่องของคุณแล้วทำให้นึกถึงโจ๊กที่พวกหมอๆเราคุยกันเล่นในห้องพักแพทย์สมัยผมทำงานอยู่เมืองนอก เรื่องมีอยู่ว่าตาแก่คนหนึ่งแกเคี้ยวขนมปังผิดท่าแล้วฟันปลอมเกิดหลุด ไปอ้าปากดูในกระจกก็หาฟันไม่เจอ จึงวิ่งโร่ไปหาหมอฟัน หมอฟันส่องปากดูแล้วก็บอกว่า

“..มันคงลงไปในคอแล้วละ ผมจะส่งคุณไปให้หมอหูคอจมูกดู”

แล้วเขาก็ถูกส่งต่อไปให้หมอหูคอจมูก ซึ่งเอากล้องส่องยาวประมาณหนึ่งคืบส่องเข้าไปในคออยู่ตั้งนาน แล้วก็บอกว่า

“..ไม่เจอ ท่ามันจะลงไปติดอยู่ที่หลอดอาหาร ผมส่งคุณไปหาหมอศัลยกรรมทรวงอกก็แล้วกัน”

แล้วเขาก็ถูกส่งต่อไปหาหมอศัลยกรรมทรวงอก ซึ่งเอากล้องส่องยาวประมาณหนี่งศอกส่องหลอดอาหารดูและว่า

“…ไม่เห็นมีอะไรนี่ น่าจะอยู่ในกระเพาะอาหารนะ ไปให้หมอจีไอ.ดูก็แล้วกัน”

แล้วเขาก็ถูกส่งไปหาหมอจีไอ. คำว่า GI นี้ย่อมาจาก gastrointestinal หมายถึงหมอทางเดินอาหาร หมอทางเดินอาหารส่องกล้องยาวประมาณสองศอกเข้าไปดูทางปากอยู่นานพอสมควร แล้วว่า

“..ไม่เจอแฮะ แต่เห็นเหมือนมีรอยมันผ่านไป น่าจะลงไปในลำไส้ใหญ่ ผมจะส่งคุณไปให้ตุ๊ดโตโลจิสต์ดูนะ”

แล้วเขาก็ถูกส่งไปหาตุ๊ดโตโลจิสต์ (ชื่อจริงของเขาคือ proctologist แปลว่าหมอศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) หมอตุ๊ดโตโลจิสต์ส่องกล้องยาวครึ่งคืบเข้าไปทางก้นแล้วร้องว่า

“…ฮ้า ในทวารหนักของคุณมีฟันอยู่ด้วยแฮะ ผมจะส่งคุณไปหาหมอฟันก็แล้วกัน”

จบละ แคว่ก..แคว่ก..แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

เอ.. ว่าแต่คุณถามผมเรื่องอะไรนะ อ้อ นึกออกละ เรื่องเสียงแหบ เอาละ ตอบคำถามนะ

1. เสียงแหบ ไปหาหมอหูคอจมูก ท่านส่องกล้องดูแล้วพบมีตุ่มเนื้อบนสายเสียง อันนี้เป็นอะไรที่เจอกันบ่อยมาก เกิดกับคนที่ใช้เสียงมาก ถ้าเป็นกรณีของคุณซึ่งเป็นแม่บ้านมีลูกหลายคนต้องแผดเสียงตลอดเวลา ทางหมอเขาเรียกว่า housewife nodule แปลว่าตุ่มยายเพิ้ง เอ๊ย..ขอโทษ ตุ่มแม่บ้าน ถ้าเป็นกับคุณครูที่ชอบว้ากเด็กก็เรียกว่า teacher nodule แปลว่าตุ่มคุณครู ถ้าเป็นกับนักร้องก็เรียกว่า singer nodule หรือตุ่มนักร้อง วิธีรักษาก็ไม่มีอะไร เพียงแต่หุบปากเสียก็หาย (หมายความว่าหยุดใช้เสียงชั่วคราวนะครับ แหะ..แหะ) หยูกยาทั้งหลายไม่จำเป็น มีแต่ยาผีบอกทั้งนั้นไม่ว่าจะเรียกเป็นยาลดบวมหรือยาเอ็นไซม์ลดการอักเสบก็ตาม แต่หมอเขาก็ต้องให้ยา เพราะถ้าไม่ให้ยาคุณก็ไม่ยอมลุก ก็ตรวจคนไข้คนอื่นไม่ได้สักที

2. ถามว่าเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome – PCOS หรือ PCOD) ทำให้เสียงแหบได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เพราะเสียงแหบก็ดี ขนดกก็ดี ล้วนเป็นอาการของบุคลิกชาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ

3. ถามว่าเสียงแหบเป็นรอบๆตามรอบเดือน เกิดจากฮอร์โมนเพศที่ผลิตอย่างผิดปกติจากรังไข่ได้ไหม ตอบว่าก็ได้อีกแหละครับ แต่กลไกมันซับซ้อนกว่าที่คุณเข้าใจ เอาละไหนๆคุณก็เป็นคนชอบรู้มาก ผมจะอธิบายกลไกการผลิตของฮอร์โมนเพศชายในผู้หญิงให้ฟังนะ สำหรับผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่อยากจะรู้มากยากนานให้ข้ามตรงนี้ไปเลย

ประเด็นที่ 1. มารู้จักฮอร์โมนเพศชายก่อน คืออาการบุคลิกชายในผู้หญิงนี้เกิดจากฮอร์โมนเพศชาย ตัวฮอร์โมนชายหรือแอนโดรเจนที่เป็นตัวออกฤทธิ์เลยเรียกว่าเทสโทสเตอโรน (testosterone) เขียนย่อว่า T ซึ่งครึ่งหนึ่งผลิตตรงมาจากโรงงาน (รังไข่ กับต่อมหมวกไต) อีกส่วนหนึ่งโรงงานผลิตมาในรูปของสารตั้งต้นชื่อแอนโดรสเตนีไดโอน (androstenedione) เขียนย่อว่า AD กับดีไฮโดรอีปิแอนโดรสเตอโรน (dehydroepiandrosterone) เขียนย่อว่า DHEA แล้วผู้ใช้ปลายทางคือตับบ้าง ผิวหนังบ้าง เนื้อเยื่อไขมันบ้าง จับสารตั้งต้นสองตัวนี้มาเปลี่ยนเป็นเทสโทนเตอโรน (T) คุณอาจจะท้วงว่าอ้าว ก็ในเมื่อไหนๆก็จะกลายะเป็น T กันหมดแล้วมาพูดถึง AD กับ DHEA ทำไมละ ตอบว่าคือมันยังงี้ค่า ท่านสารวัตรขา AD กับ DHEA เกือบทั้งหมดผลิตมาจากต่อมหมวกไตแทบจะที่เดียวเลย ดังนั้นถ้าฮอร์โมน T สูง หมอก็จะตามไปดูระดับ AD กับ DHEA ด้วยเพื่อจะได้รู้ว่า T ที่สูงนะ มันผลิตมาจากไหน เท่านั้นเองแหละค่า

ประเด็นที่ 2. กลไกการผลิตฮอร์โมนเพศชายในรังไข่ มันผลิตมาจากกลุ่มเซลชื่อ “ทีข้าเซล” (theca cell) เซลพวกนี้ถ้ามันมีมากผิดปกติฮอร์โมนที่ผลิตได้ก็จะมาก ถ้าเซลพวกนี้ไปออกันอยู่รอบๆถุงน้ำ ก็เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) แต่ถ้ามันไปออกันอยู่ในเนื้อรังไข่ ก็เป็นโรคไม่มีชื่อไทย เรียกว่าโรค hyperthecosis ผมแปลง่ายๆว่าโรค “ทีข้าเซลกำเริบ” ก็แล้วกัน ซึ่งมีอาการคล้ายกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ แต่ว่ามีบุคลิกชายเด่นกว่า มีเสียงแหบสะใจกว่า ประเด็นสำคัญคือในการผลิตฮอร์โมนเพศชายของทีข้าเซลพวกนี้ มันไม่ได้สนใจระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจนหรือโปรเจนเตอโรน แต่มันจะแอบฟังคำสั่งจากสมองซึ่งมาในรูปของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองชื่อลูทีไนซิ่งฮอร์โมน (leutenizing hormone เขียนย่อว่า LH) ความจริงสมองปล่อย LH เพื่อเป็นสัญญาณให้เกิดการตกไข่ หมายความว่าสมองจะปล่อย LH ออกมาก่อนแล้วหยุดปล่อยทันทีเพื่อให้ระดับฮอร์โมน LH ตกลง เมื่อใดที่ระดับฮอร์โมน LH ตกลงมาทันทีก็จะเกิดการตกไข่ แต่เจ้าพวกทีข้าเซลเหล่านี้ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่อะไรในการตกไข่พากันแอบรับสัญญาณ LH ด้วย เมื่อใดที่ LH มีระดับสูงมันก็จะตะบันผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมา พอระดับ LH ต่ำก็หยุดผลิต ดังนั้นอาการบุคลิกชายรวมทั้งเสียงแหบก็จึงเกิดหนักเป็นรอบๆขึ้นๆลงๆตามหลังระดับ LH ได้

4. ถามว่าเสียงแหบเป็นโรคอะไรได้บ้าง ตอบว่าเป็นได้หลายสิบโรค แต่ที่พบบ่อยและสำคัญ ก็เช่น

4.1 ใช้เสียงมากจนเกิดตุ่มที่สายเสียง เช่นตุ่มยายเพิ้ง เอ๊ย อีกละ ไม่ใช่..เช่น housewife nodule เป็นต้น

4.2 กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ

4.3 กล่องเสียงระคายเคืองจากสารระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ

4.4 กรดไหลย้อนขึ้นมาถึงกล่องเสียง (เกิดตอนนอนหลับ)

4.5 โรคไฮโปไทรอยด์

4.6 มีสาเหตุให้ฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งอาจเกิดจากเหตุที่รังไข่ ที่ต่อมหมวกไต หรือที่สมอง ก็ได้

4.7 มะเร็งกล่องเสียง

4.8 มะเร็งปอด (กระจายไปต่อมน้ำเหลืองในทรวงอก ไปกดเส้นประสาทเลี้ยงสายเสียง)

5. ถามว่าจากนี้ไปควรทำตัวอย่างไรดี จึงจะพ้นวงจรหมอไทรอยด์ให้ไปหาหมอหูคอและจมูก จากหมอหูคอจมูกไปหาหมอจมูกหูและคอ แล้วต่อไปหาหมอไทรอยด์ ฯลฯ ตอบว่า หากจับความจากตรงที่ตรวจไทรอยด์แล้วปกติ ตรวจกล่องเสียงแล้วสายเสียงเปิดปิดเป็นปกติ ขั้นต่อไปให้คุณทำเป็นขั้นตอนดังนี้

5.1 ให้เริ่มที่ “หมอคุณ” ก่อนนะครับ งงอีกละสิ แหะ..แหะ ขอนอกเรื่องอีกหน่อยนะ คือสมัยลูกชายผมเป็นเด็กเล็กๆเขามีทายกับเพื่อนว่าหมูอะไรเอ่ย หมุนคอได้ เฉลย..ก็ “หมูยอ” ไง เพราะ “หมูยอ” ก็คือ “หมอยู” และหมอยูก็คือ “หมอคุณ” และหมอคุณก็คือ “หมุนคอ” เห็นแมะ อ้าวถึงไหนละ กลับเข้าเรื่อง อ้อ ให้เริ่มที่หมอคุณ หมายความว่าเริ่มที่ตัวคุณเองนะแหละ โดยคุณต้องทำสามเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง กำจัดสารระคายเคืองออกไปจากชีวิตให้หมดก่อนทั้งกาแฟ แอลกอฮอล์ บุหรี่ (ถ้ามี)

เรื่องที่สอง ก็รักษาโรคตุ่มยายเพิ้งด้วยตัวเอง เลิกว้าก เลิกตะเบ็งเสียง หัดรูดซิปปากโดยเฉพาะหลังจากสามีเข้าบ้านแล้ว

เรื่องที่สาม ทำตัวให้ลดปัจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อนก่อน โดย (1) ถ้าน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนัก (2) เลี่ยง ชอกโกแลต น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ (3) เปลี่ยนวิธีทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ อย่าเห็นแก่กิน (4) หลังอาหารมื้อเย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ห้ามนอน (5) แอบยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขาขึ้น ที่แนะนำให้แอบก็เพราะสามีจะได้ไม่รู้ เพราะถ้าไม่บอกว่าหัวเตียงสูงแล้วนะ ก็จะไม่รู้ แต่ถ้ารู้ก็จะเป็นโวยวาย

ให้คุณทำสามอย่างนี้ไปสักสามเดือนแล้วประเมินผลดู ถ้าเสียงแหบยังไม่หายก็ไปขั้นที่สอง

5.2 คราวนี้ให้ไปหาหมอต่อมไร้ท่อ ไม่ได้หมายความว่าหมอที่ท่อตันหรือไม่มีท่อนะครับ แต่หมายความว่า endocrinologist ซึ่งเป็นหมอเชี่ยวชาญเรื่องฮอร์โมนโดยเฉพาะ ไปถึงก็แจ้งความจำนงอย่างเดียวเลยว่าอยากจะตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายเพื่อวินิจฉัยแยกเนื้องอกของรังไข่หรือเนื้องอกของต่อมหมวกไต สะเต็พนี้ต้องทำ เพราะเนื้องอกของทั้งสองต่อมเป็นเรื่องซีเรียส วิธีวินิจฉัยก็คือดูระดับของเทสโทสเตอโรน (T) ว่าสูงปรี๊ดผิดมนุษย์เพศเดียวกันทั้งหลายหรือเปล่า คือหญิงทั้งหลายรวมทั้งคนเป็นโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบด้วย ยังไง๊ ยังไง ฮอร์โมน T ก็จะไม่เกิน 150 ng/dl ถ้าเกินนี้..เป็นเรื่อง ต้องทำการตรวจค้นหาเนื้องอกในทั้งสองอวัยวะด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)ช่องท้อง (ในทางปฏิบัติหมอจะเจาะมันทั้ง T, ทั้ง AD และทั้ง DHEA เพื่อให้บอกได้ว่า T ที่สูงนั้นมันผลิตจากรังไข่หรือจากต่อมหมวกไต จะได้โฟกัสการค้นหาง่ายขึ้น)

5.3 ถ้าไปหาหมอต่อมไร้ท่อแล้วตรวจแล้วพบว่าระดับฮอร์โมน T แม้จะสูงก็จริงแต่การตรวจ CT ไม่พบเนื้องอกอะไรเลย ก็สบายใจไปเปลาะหนึ่งว่าเรื่องร้ายๆไม่มีแน่ อย่างดีก็เกิดจากโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เจ้าเก่าของเราเอง หรือไม่ก็เป็นโรคทีข้าเซลกำเริบ (hyperthecosis) ถึงจุดนี้คุณมีทางเลือกสามทาง คือ

ทางเลือกที่ (1) ยอมรับเสียงแหบนั้นเสียและปรับมันให้เป็นแหบเสน่ห์ จะได้ไม่น้อยใจในชีวิตตัวเองมาก ในระหว่างนี้ก็ร้องเพลงรอไป รอให้ประจำเดือนหมด เพราะโรค PCOS จะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนหมด แต่ถ้าเป็นโรค hyperthecosis ไม่เกี่ยวนะครับ ถึงประจำเดือนหมด ข้าก็จะกำเริบ จะทำไม

ทางเลือกที่ (2) ไปหาหมอต่อมไร้ท่อ ขอทดลองรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินด้วยยา ซึ่งที่นิยมใช้กันมีสองตัวคือยาเสริมฤทธิ Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) เพื่อหวังให้ GnRH ไประงับการหลัง LH ลงจะได้ไม่กระตุ้นทีข้าเซลให้กำเริบมากนัก กับอีกตัวหนึ่งคือยาต้านอัลโดสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนของต่อมหมวกไต ทั้งสองตัวได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แล้วแต่ดวง

ทางเลือกที่ (3) ตัดรังไข่ออกทิ้งมันซะเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นกรณีประจำเดือนหมดแล้วก็ยังแหบ เพราะไหนๆก็เลิกใช้งานแล้ว แหะ แหะ ผมพูดได้เพราะไม่ใช่รังไข่ของผม แต่ของคุณคุณคิดเอาเองก็แล้วกันนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Goldman JM, Kapadia LJ. Virilization in a postmenopausal woman due to ovarian stromal hyperthecosis. Postgrad Med J 1991; 67:304.

2. Vollaard ES, van Beek AP, Verburg FA, et al. Gonadotropin-releasing hormone agonist treatment in postmenopausal women with hyperandrogenism of ovarian origin. J Clin Endocrinol Metab 2011; 96:1197.