Latest

Adult Onset Still’s Disease – AOSD

เรียนคุณหมอ
ดิฉันเพิ่งได้รับคำวินิจฉัยโรคว่าเป็น adult still’s disease อาการหลัก ๆ กับคือ ไข้สูง ปวดข้อ และมีผื่นขึ้นทั้งตัวยกเว้นหน้า ส่วนอวัยวะภายในอื่น ๆ ยังดีอยู่ 
ตั้งแต่วันที่ 15 หมอให้กินยากดภูมิฯ Prednisolone 5mg   วันละ4 เม็ด (เช้า 2 เย็น 2) แต่กดอาการไม่อยู่ เลยเพิ่มเป็นวันละ 6 เม็ด (แบ่งเช้า 3 เย็น 3) ตั้งแต่วันที่ 17  คราวนี้น่าจะอยู่ เพราะจนถึงขณะนี้ 11น. วันที่ 18 ยังไม่มีอาการใด ๆ มาเยือน  ผื่นก็ยุบลงมากและไม่มีขึ้นใหม่ นอกจากยา Prednisolone  วันละ 6 เม็ดแล้ว ก็มียาตัวอื่น ๆ คือ
Telfast 180 mg   วันละ 2 เม็ด แบ่งเช้าเย็นครั้งละ 1
Atarax 25 mg วันละ 1 เม็ด ก่อนนอน
Indomethacin 25 mg  ครั้งละ 2 เม็ด  ทุก 8 ชั่วโมงเฉพาะเวลาปวด (ก่อนหน้านี้ ดิฉันไม่อยากกินสะเตียรอยด์ คุณหมอเลยให้ลองยา Indomethacin นี้อยู่สองวัน แต่ไข้-ผื่นไม่ลด อาการปวดลดลงนิดหน่อย) นอกจากนั้นก็มียาบำรุง และยาเคลือบกระเพาะ
ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวาน ดิฉันก็พยายามหาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติมจากเวปฯของสถาบันที่หนึ่ง ได้ข้อมูลว่า ประมาณ 20% ของคนไข้โรคนี้  อาการจะสงบภายในหนึ่งปี และไม่กลับมาเป็นอีก
http://www.umm.edu/ency/article/000450all.htm ดิฉันก็เลยแอบหวังว่าตัวเองจะอยู่ในกลุ่มนี้
เรียนถามคุณหมอสองเรื่องค่ะ
1. ดิฉันจะดูแลตัวเองอย่างไรดี ควรออกกำลังกายได้ขนาดไหน และเรื่องอาหารที่เหมาะควร ฯลฯ
2. หมอให้กิน Calcium carbonate 600 mg  วันละ 2 เม็ด ( แบ่งเช้า 1 เย็น 1)  ดิฉันกังวลนิด ๆ เพราะเพิ่งอ่านข้อมูลเรื่องแคลเซี่ยมเม็ดจากบล็อคคุณหมอ ว่ามันส่งผลเสียมากกว่าผลดี  โดยเฉพาะเกี่ยวพันกับโรคหัวใจ  เลยไม่แน่ใจว่าจะกินต่อไปหรือหยุด  แล้วจะทำอย่างไรกับกระดูกที่กำลังจะผุคะ ถ้าไม่กินแคลเซี่ยมเสริมนี่
ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ
ขอแสดงความนับถือ
(………………….)
…………………………………………..
ตอบครับ
     ก่อนจะตอบคำถามของคุณผมขอเนื้อที่สักสี่ห้าบรรทัดสรุปเรื่องย่อของโรค Still’s disease ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปฟังก่อนนะครับ ความจริงโรคนี้ก็คือข้ออักเสบใดๆที่มีไข้ มีผื่น มีปวดข้อแล้วหาสาเหตุอะไรก็ไม่เจอเลย ก็จะถูกเหมาเข่งมาอยู่ตรงนี้ วันหน้าถ้าหาสาเหตุโรคจริงของเขาเจอขึ้นมาก็อาจจะต้องเปลี่ยนคำวินิจฉัยไปตามเหตุที่แท้จริง ถ้าเป็นในเด็กโรคนี้เรียกว่าข้ออักเสบไม่ทราบเหตุในเด็ก (juvenile idiopathic arthritis – JIA) แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่เรียกว่า adult onset Still’s disease – AOSD) วงการแพทย์ยังงงเต๊กอยู่เลย ไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไรและจะต้องรักษาอย่างไร ได้แต่มีอาการอะไรก็รักษากันไปตามอาการนั้น อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ได้พบกันบ่อย ประมาณว่าในแต่ละปี ทุกหนึ่งแสนคนจะเป็นแค่ไม่ถึงหนึ่งคน   
เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
1.. ถามว่าจะดูแลตัวเองอย่างไรดี ตอบว่าจริงๆแล้วยังไม่มีใครรู้หรอกครับเพราะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าโรคนี้เกิดจากอะไรจะไปบอกวิธีรักษาเป็นตุเป็นตุได้อย่างไร ในสภาพที่วงการแพทย์ยังเอ๋ออยู่นี้ สำหรับคนที่เป็นโรคนี้ ผมแนะนำเอาจากสามัญสำนึกของผมเองโดยไม่มีหลักฐานอะไรว่าควรดูแลตัวเองเหมือนคนเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กล่าวคือ
     1.1 ต้องออกกำลังกายและขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแยะๆ อย่างน้อยก็ต้องออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป คือ ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้นาน 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 วัน ควบกับการเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
     1.2 ในเรื่องโภชนาการก็ใช้คำแนะนำโภชนาการปี 2011 ของ USDA สำหรับคนทั่วไป ว่า
สิ่งที่ควรกินให้น้อยลงห้าอย่างได้แก่
(1)  ไขมันทรานส์ เช่นเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม ครีมเทียม เนยเทียม
(2)  น้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องดื่มทุกชนิด
(3)  ไขมันอิ่มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มากับอาหารผัดและทอด
(4)  ธัญพืชที่ขัดสี เช่นข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ สปาเกตตี้ ขนมปังขาว
(5)  เกลือหรือของเค็ม  
ส่วนสิ่งที่ควรกินให้มากขึ้นเจ็ดอย่างได้แก่
(1)  ผักและผลไม้ อย่างน้อยให้ได้วันละ 5 เสริฟวิ่ง
(2)  ผลเปลือกแข็ง (nuts)  และเมล็ด (seed) เช่นงา เม็ดก๊วยจี้เป็นต้น
 (3) ถั่วต่างๆ
(4)  ปลาและอาหารทะเล
(5)  นมไร้ไขมัน
(6)  ไข่วันละไม่เกิน 1 ฟอง
(7)  กินธัญพืชไม่ขัดสีเช่นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีทแทนข้าวขาวขนมปังขาว
2.. เรื่องแคลเซียมนั้น หมอเขาให้บนคอนเซ็พต์แบบข้ามช็อต คือคาดหมายว่ายาสะเตียรอยด์จะทำให้เกิดกระดูกพรุน และตั้งความหวังว่าแคลเซียมจะช่วยรักษากระดูกพรุนได้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานจะจะว่าแคลเซียมแบบยาเม็ดจะรักษากระดูกพรุนได้จริง ในอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับผลเสียของแคลเซียมที่ว่าทำให้อุบัติการณ์ของนิ่วเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นหลักฐานแบบจิ๊บๆนิดๆหน่อยๆไม่ได้หนักแน่นมั่นคงอะไร เรียกว่าหลักฐานเบาทั้งคู่ ผมแนะนำว่าในกรณีของคุณเราให้น้ำหนักอะไรก็ตามที่อาจก่อประโยชน์กับกระดูกมากกว่าอะไรก็ตามที่อาจจะก่อโทษต่อหัวใจหรือก่อนิ่ว เพราะกระดูกเป็นเรื่องที่อยู่ตรงหน้าเหน่งๆแล้ว ส่วนนิ่วกับโรคหัวใจยังเป็นเรื่องไกลตัวยังมองไม่เห็นหุ่งเลยตอนนี้ ชั่งน้ำหนักแล้วเราเอาเรื่องที่อยู่ตรงหน้าก่อนดีกว่า แปลว่าหมอให้กินแคลเซียมก็กินไปเถอะครับ
3.. เรื่องการป้องกันกระดูกพรุนในผู้ป่วยใช้ยาสะเตียรอยด์นี้ หลักฐานมีว่าสิ่งที่ช่วยได้แน่ๆมีสองอย่างเท่านั้นคือ (1)  การเลิกใช้ยาสะเตียรอยด์ให้เร็วที่สุดทันทีที่เลิกได้ กับ (2)  การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้าม ตัวที่ (3) ที่อาจจะช่วยได้คือการให้กินวิตามินดีเสริมถ้าเป็นคนมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดี.อยู่เดิม ส่วนแคลเซียมนั้นคนนึกว่ามันดี แต่จริงๆแล้วเป็นเพราะมันติดมาในงานวิจัยเกี่ยวกับวิตามินดี.  หมายความว่าถ้าให้กินแคลเซียมบวกวิตามินดี.แล้วจึงพบว่าดี ส่วนแคลเซียมเม็ดเดี่ยวๆเพียวๆโดยไม่มีวิตามินดี.นั้นหลักฐานปัจจุบันนี้พบว่าไม่มีประโยชน์อะไร อันนี้พูดถึงแคลเซียมแบบยาเม็ดเสริมนะ ไม่ใช่แคลเซียมในอาหารธรรมชาติ เพราะแคลเซียมในอาหารธรรมชาติเรารู้ว่ามันดีของมันอยู่แล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์  
บรรณานุกรม
1.      Pay S, Turkcapar N, Kalyoncu M, et al. A multicenter study of patients with adult-onset Still’s disease compared with systemic juvenile idiopathic arthritis. Clin Rheumatol. 2006;25:639-644.
2.      Efthimiou P, Paik PK, Bielory L. Diagnosis and management of adult onset Still’s disease. Ann Rheum Dis. 2006;65(5):564-572.
4.      Bolland MJ, Grey A, Avenell A, et al. Calcium supplements with or without vitamin D and risk of cardiovascular events: reanalysis of the Women’s Health Initiative limited access dataset and meta-analysis. BMJ 2011; DOI: doi:10.1136/bmj.d2040. Available at: http://www.bmj.com. 
5.      Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: Meta-analysis. BMJ 2010; 341:c3691.