Latest

อยากเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวแต่กลัวไม่เท่

สวัสดีครับอาจารย์
         ผมติดตามอ่านบทความของอาจารย์มาตลอดครับ รู้สึกชื่นชม ประทับใจ บทความที่อาจารย์เขียนมากครับ เพราะนอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังมีการสอน การให้ข้อคิดต่างๆ มีความรู้สึกในความเป็นครูสอนลูกศิษย์ครับ 
         ปัจจุบันผมจบ พบ. และกำลังทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ครับ อยากเรียนปรึกษาอาจารย์ในฐานะที่ อาจารย์เป็นแพทย์ผู้เชียวชาญทั้ง CVT และ FM ครับ คือในปัจจุบันการเรียนต่อในสาขาต่างๆ มันมีหลายแง่มุมประกอบการตัดสินใจ เพราะบางสาขาเช่นสาขาศัลยกรรมอย่าง CVT -Neuro , หรืออายุรกรรมอย่าง Cardio-Neuro ฯลฯ  ดูท้าทาย เรียนยาก ดูเป็นเชี่ยวชาญ แต่ก็แลกด้วย งานหนัก เครียด เวลาส่วนตัวที่หายไป กับบางสาขาเช่น FM , จิตเวช , Patho  นิติเวช ดูสบายๆกว่า มีเวลาให้ครอบครัว งานไม่หนักมาก ไม่เครียด แต่เพื่อนแพทย์มอง ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไร ดูธรรมดา ในฐานะที่อาจารย์ เป็นผู้เชียวชาญทั้งสองสาขา อยากขอให้อาจารย์เปรียบเทียบครับ เพราะผมก็สนใจเรียน FM ดูเป็นทางออกของการแพทย์ที่ดี เน้นการส่งเสริมป้องกัน การดูแลตัวเอง ตลอดจนมองคนไข้ให้เป็นคนนะครับ รักษาคนไม่ใช่รักษาโรค แต่ในสังคมปัจจุบันยังไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไรครับ แล้วถ้าผมจบ FM อนาคตต่อไปผมควรจะไปอยู่จุดไหนครับ
ขอแสดงความนับถือ และขอบคุณอาจารย์มากครับ 
………………………………..
ตอบครับ   
    ผมเพิ่งกลับจากตจว. ไปสอนคนไข้ใน health camp มาสามวันสองคืน ยังไม่หายเมารถ จึงเลือกจดหมายเบาๆขึ้นมาตอบก่อน และจดหมายของคุณหมอถือว่าเป็นจดหมายเบาๆสำหรับผู้อ่านทั่วไป จะได้รับความบันเทิงไปด้วยว่าหมอเขาตัดสินใจในงานอาชีพเขาอย่างไร
    1.. ข้อสังเกตของคุณหมอที่ว่าสาขาที่มีความลึกและยากเช่นศัลยกรรมหัวใจ ศัลยกรรมประสาท อายุรกรรมหัวใจ อายุรกรรมประสาท แม้จะเท่แต่ก็เครียด เทียบกับบางสาขาเช่นเวชศาสตร์ครอบครัว, จิตเวช, พยาธิวิทยา นั้นแม้จะไม่เท่แต่ก็สบายๆกว่า ข้อสังเกตอันนี้อาจจะไม่เป็นความจริงนะครับ เพราะความจริงที่ได้จากการวิจัยซึ่ง Medscape เพิ่งสอบถามแพทย์ในอเมริกาไปไม่นานมานี้ พบว่าท็อปห้าสาขาที่มีความสุขในชีวิตมากที่สุดเรียงตามลำดับโดยเอาสุขมากที่สุดไว้ข้างบน คือ

ลำดับที่ 1. แพทย์โรคผิวหนัง (4.23),
ลำดับที่ 2. ศัลยแพทย์ตกแต่ง (4.22)
ลำดับที่ 3. แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ (4.20),
ลำดับที่ 4. ศัลยแพทย์กระดูก (4.19),
ลำดับที่ 5. อายุรแพทย์โรคหัวใจ (4.17).
ขณะที่ห้าสาขาที่สุขน้อยที่สุดเรียงตามลำดับเอาสุขน้อยที่สุดไว้ข้างบนคือ
  
ลำดับที่ 1. แพทย์เวชบำบัดวิกฤติ (intensivists) (3.98)
ลำดับที่ 2. กุมารแพทย์และสูตินรีแพทย์ (4.01)
ลำดับที่ 3. พยาธิแพทย์, จิตแพทย์, และศัลยแพทย์ทั่วไป (4.04)
ลำดับที่ 4. อายุรแพทย์, แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแพทย์ห้องฉุกเฉิน (4.06)
     ถ้ามองภาพรวมจะเห็นว่าสาขาที่เจาะลึกและแคบ หมอจะมีความสุขมากกว่า ขณะที่สาขาที่เนื้อหาวิชากว้าง หมอจะมีความสุขน้อยกว่า
     2.. ในงานวิจัยเดียวกันนี้ ได้สกัดเอาปัจจัยที่หมอที่สุขมากมีร่วมกันมากที่สุดไว้ด้วย ได้แก่
– มีอายุเกิน 60 ปี
– มีเงิน
– ไม่มีหนี้
– น้ำหนักแรกคลอดปกติ
– มีสุขภาพดี
– ออกกำลังกายเฉลี่ย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป
– ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยวันละ 1-2 ดริ๊งค์
– ไม่สูบบุหรี่
– แต่งงานแล้วและยังแต่งงานอยู่
– เชื่อในศาสนาและทำงานจิตอาสาให้องค์กรศาสนา
    ส่วนแพทย์กลุ่มที่มีความสุขเฉลี่ยน้อยที่สุด มีลักษณะดังนี้
– มีสุขภาพไม่ดี
– ไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
– อ้วน
– อายุ 50 เศษๆ
– เงินไม่พอใช้
– ไม่มีเงินเก็บ
– มีหนี้สินตุงนัง
– หย่าร้าง
– เชื่อในศาสนาแต่ไม่ทำงานจิตอาสา
– ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
     จากผลวิจัยส่วนนี้จะเห็นว่าปัจจัยกำหนดความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่สาขาวิชาที่เราเลือกว่าเท่ไม่เท่ เครียดไม่เครียด แต่น้ำหนักมันไปอยู่ที่ (1) การมีเงินใช้ (2) การมีสุขภาพกายดี (3) การมีชีวิตครอบครัวราบรื่น (4) รู้จักการใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย และ (5) การมีโอกาสได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นในเชิงจิตอาสาด้วย ผมคิดว่าข้อสรุปนี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ ไม่เฉพาะอาชีพแพทย์
    3.. ถามว่าจะเลือกเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวจะดีไหม ตอบว่าถ้ามองปัจจัยกำหนดความสุข 5 ประการตามผลวิจัยข้างบน จะเห็นว่าการเลือกเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวจะได้ประการที่ 2-5 แน่ๆ แต่ประการที่ 1 คือการมีเงินใช้นั้น อาจจะเป็นรองสาขาอื่น ดังนั้นการจะตอบคุณว่าดีหรือไม่ดี ผมต้องมีข้อมูลจากตัวคุณก่อนว่าคุณให้ความสำคัญกับการหาเงินได้มากๆไหม บางคนต้องหาเงินเพราะความจำเป็นไม่ใช่เพราะงกเงิน เช่นยังไม่ทันเรียนจบพ่อแม่ก็มีหนี้สินรอไว้แล้ว มีน้องอีกเป็นพรวนที่จะต้องส่งเสีย เป็นต้น บางคนอยากมีเงินเพราะวางเป้าหมายชีวิตไว้ที่การมีวัตถุไว้ครอบครองแยะๆ บางคนมักน้อย ไม่คิดเอาอะไรมากขอมีชีวิตที่กลางๆพอไปได้ก็พอ เป็นต้น คุณเป็นคนแบบไหนละ ถ้าคุณจำเป็น หรือสไตล์ชีวิตอยากจะหาเงินแยะๆ ผมแนะนำว่าอย่าเลือกเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว เพราะถ้าดูสถิติในอเมริกาสาขาที่มีรายได้ต่ำสุดสามสาขาคือ เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรศาสตร์ทั่วไป และกุมารเวชศาสตร์ (ขณะที่สามสาขาที่มีรายได้สูงสุดในอเมริกาคือศัลยกรรมกระดูก อายุรกรรมหัวใจ และรังสีวินิจฉัย) แต่ถ้าคุณไม่มีความจำเป็นต้องหาเงินไปใช้หนี้หรือส่งเสียใคร และตัวเองอยากมีชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพมากกว่าที่จะมุ่งมีเงินแยะๆ เรียนเวชศาสตร์ครอบครัวก็ดีนะครับ
      4. ถามว่าถ้าเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว จบแล้วจะไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง เท่าที่ทำกันอยู่ตอนนี้ก็มีอยู่สองรูปแบบนะครับ คือ

     4.1 ทำงานเป็น gate keeper ซึ่งเป็นงานในระบบการดูแลสุขภาพที่มีผู้จ่ายเงินเป็นบุคคลที่สาม เช่นสามสิบบาท (UC) ประกันสังคม คนไข้จะเข้าที่คลินิกของ gate keeper ก่อน จะเรียกชื่อคลินิกว่าอย่างไรก็ตาม แต่หน้าที่เหมือนกันคือแก้ไขปัญหาพื้นฐานรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ควบกับการกลั่นกรองผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางแล้วส่งให้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งหน้าที่นี้จะทำได้ดีที่สุดหากที่ทำงานอยู่ในชุมชนของคนไข้เลย เช่นรพ.ชุมชน (หรือรพ.สต.ซึ่งในอนาคตคงจะต้องมีแพทย์ไปอยู่) ตรงนั้นจะทำหน้าที่ gate keeper ได้ง่าย เพราะบุกไปถึงบ้านหรือถึงครอบครัวของคนไข้ได้ ส่วนในรพ.ขนาดใหญ่ คนทำหน้าที่ gate keeper นี้จะถูกโถมทับด้วยจำนวนคนไข้ที่มากเกินไป บางแห่งก็ถูกกำหนดเป้ามาเลยว่าจะต้องตรวจให้ได้วันละเท่านั้นเท่านี้ราย ซึ่งด้วยการเร่งรัดอย่างนั้นย่อมจะใช้หลักเวชศาสตร์ครอบครัวได้ลำบาก   
     4.2 ทำงานในศูนย์ตรวจสุขภาพ อันนี้เป็นรูปแบบของรพ.เอกชน ซึ่งมีแผนกที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะ ผู้รับบริการเป็นคนไม่ป่วยหรือป่วยแต่รักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็พอ ทุกคนจะมาหาหมอปีละครั้งเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ตรงนี้ก็เป็นจุดที่จะทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ดี หลายคนที่ทำงานตรงนี้มานานจะมีผู้ป่วยขาประจำจนกลายเป็นหมอประจำครอบครัวของผู้ป่วย ถ้ามีผู้ป่วยขาประจำมาก ก็จะมีรายได้ดีพอควร และได้ทำงานที่มีคุณค่าในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพแลป้องกันโรคให้แก่ผู้ที่ยังไม่ป่วย

      5. ถามว่าในความเห็นของผมที่เคยทำมาทั้งสาขาที่ลึกและแคบอย่างศัลยกรรมหัวใจ และสาขาที่กว้างอย่างเวชศาสตร์ครอบครัว อย่างไหนดีกว่ากันอย่างไร ตอบว่าดีทั้งคู่ครับ ดีคนละแบบ อันนี้ผมเปรียบระหว่างช่วงเป็นหมอผ่าตัดหัวใจกับช่วงทำงานเป็นแพทย์ทั่วไปอยู่รพ.อำเภอสมัยหนุ่มๆซึ่งยังไม่มีเงินมีทองหรือมีชื่อเสียงอะไรนะ (ไม่ได้เปรียบเทียบกับช่วงเป็นหมอประจำครอบครัวในปัจจุบันนี้เพราะเป็นช่วงที่ผมแก่และมีเงินพอใช้แล้วมันอาจจะเปรียบกันไม่ได้) สมัยหนุ่มผมทำงานเป็นหมอทั่วไปในลักษณะหมอเวชศาสตร์ครอบครัวปัจจุบันนี้ อยู่ในโรงพยาบาลเล็ก เปิดคลินิกด้วย ผมรู้จักคนไข้ “วงใน” ของผมทั้งครอบครัว และเข้าไปมีบทบาทปรับเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมของคนไข้ค่อนข้างมาก ในแง่ของการประสานเชื่อมโยงกับ specialist ผมก็สื่อสารจี้จิกกับ specialist ซึ่งอยู่ไกลถึงกรุงเทพบ้าง หาดใหญ่บ้าง (ผมอยู่ที่อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช) เขียนจดหมายหา โทรศัพท์ถาม เพื่อให้การรักษาคนไข้ที่ผมส่งไปมีความต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ทำกันในภาคราชการนะครับ มันไม่ใช่ทำไม่ได้ มันทำได้ ถ้าเรารักที่จะทำ มีความสนุกที่ได้ทำ แล้วผมก็มีความสุขมาก จัดว่าเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่ง ความผูกพันระหว่างผมกับคนไข้ในชนบทนั้นลึกซึ้งโรแมนติกซะไม่มี เช่น มีอยู่วันหนึ่ง เป็นกลางฤดูหนาว ผมขับรถปิ๊คอัพสีขาวคู่ใจเลียบทุ่งรวงทองรับลมเย็นเพลินแล้วหลงทางไปในชนบทของปากพนัง กำลังกลับรถหันรีหันขวางอยู่กลางทางลูกรังก็เห็นคนสองคนที่ปลายทุ่งนาข้างโน้นโบกมือและตะโกนโหวกเหวกมาได้ยินเบาๆ เมื่อเขม้นมองก็เห็นว่าเป็นแม่กำลังจูงลูกอายุสักสิบขวบวิ่งมาตามคันนามุ่งตรงมาที่รถผมอยู่และโบกมือให้ผมรอก่อน ผมยืนพิงรถรออยู่นานมากกว่าเธอและลูกจะฝ่าทุ่งนาเวิ้งว้างมาถึงในสภาพหอบแฮ่กๆตัวโยน แล้วละล่ำละลักชี้ไปที่ลูกแล้วบอกว่าเจ้าลูกชายคนนี้ที่หมอรักษามันตอนเป็นไข้เลือดออกตอนนี้มันสบายดีแล้ว พลางกางแขนยื่นรวงข้าวสีทองที่หอบมาเต็มแขนให้ผม
     “… ฉันเห็นรถหมอ จึงรีบเกี่ยวข้าวใหม่ของฉันมาให้”
     ผมงี้อึ้งกิมกี่ไปเลย เอื้อมมือไปรับรวงข้าวที่หอมกรุ่นนั้นมาราวกับเป็นของสูงค่า ขณะที่พยายามกลั้นน้ำตาตัวเองไว้เต็มที่ไม่ให้ไหล
     เมื่อมาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ มันก็ดีไปอีกแบบ ผมมีความสุขกับความพยายามที่จะแก้ปัญหายากๆหินๆให้คนไข้เฉพาะคน การเป็นหมอเฉพาะทางผมไม่ค่อยสนิทกับคนไข้เท่าไหร่นัก แต่สนิทกับโรคของเขามากกว่า แต่ผมก็สนุกไปกับความท้าทาย ความยากของโรค การยื้อกันระหว่างเรากับยมทูต บางทีเราก็ชนะ ชนะทีเราก็เหิมเกริมว่ากูแน่ แต่บางทีเราก็แพ้ แพ้ที่ก็จ๋อยกลายเป็นคนธรรมดาไปหลายวัน ในยุคโน้นไม่มีการฟ้องหมอมาเป็นเรื่องให้เสียบรรยากาศโรแมนติก การเป็นหมอผ่าตัดจึงสนุกมาก ในยุคนี้อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในแง่ที่มีการฟ้องร้องกันง่ายเกินไป แต่ความสนุกของการเป็น specialist ก็ยังอยู่ที่นั่นแหละ ไม่ได้หายไปไหน ถามว่าเครียดไหม มันก็เครียด จนเดี๋ยวนี้บางคืนผมยังฝันว่าทำผ่าตัดหัวใจแบบยากสุดๆอยู่แบบว่าผ่าตัดกันกลางตลาด คนไข้ก็ท่าจะไม่รอด เลือดนองเตียงผ่าตัด หมอน้อยที่เป็นผู้ช่วยอยู่ก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หยิบอะไรไม่ถูกเลย เป็นต้น พอตื่นนอนแล้วดีใจแทบตายว่ามันไม่เป็นความจริง แต่ความเครียดจากการรักษาเคสยากๆมันก็เหมือนความเครียดใกล้สอบนะแหละครับ มันไม่ถึงกับทำให้ตายหรอก ถ้าองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิตมันดี เช่นมีเงินใช้ ชีวิตครอบครัวดีมีความสุข ความเครียดจากความยากของงานมันก็เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย
    
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
………………………………..
บรรณานุกรม
1.      Medscape’s Physician Lifestyle Report: 2012. Access on March 28 2012 at http://www.medscape.com/sites/public/lifestyle/2012/



     11 กค. 55

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพค่ะ
    ถูกใจมาก สำหรับคำถามและคำตอบ  เรื่อง  อยากเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวแต่กลัวไม่เท่ห์   ขอยกตัวอย่าง  ดิฉันได้รู้จักกับ ผศ.ดร.มรว.นายแพทย์ธันยโสภาค  เกษมสันต์ ซึ่งเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว (ที่รู้จักเพราะลูกชายของท่านมาเรียนเกษตรแม่โจ้ก็เลยเป็นเพื่อนกัน) ครอบครัวเขามีความสุขมากเลย เท่ห์อีกต่างหาก  ช่วงแรกของชีวิตอาจต้องการความเท่ห์  แต่ถ้ามีครอบครัวหรืออายุมากขึ้นรับรองว่าต้องการความสุขมากกว่า  ถ้าชีวิตมีแต่ความเท่ห์แต่ไม่มีความสุขอาจเครียดตายก่อนอายุอันควรก็ได้
(……………)
…………………………………