Latest

หัวใจล้มเหลว กับเรื่องของ Lolo Jones

  ผมไม่สบายทุกวันเลย ออกแรงก็ไม่ได้ เหนื่อย เวียนหัว หายใจไม่ออก อ๋อ..ผมเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ไปนอนโรงพยาบาล 5 วันหมอยังไม่รู้เลย สุดท้ายโคม่า ทั้งที่หลอดเลือดตีบเส้นเดียวที่ต้องสวนบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน อีกเส้นตีบ 50% หมอยังไม่ทำบอลลูนให้ อีกเส้นปกติ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องกล้ามเนื้อหัวใจจึงตายเป็นบริเวณกว้าง สุดท้ายต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ราคาแพงมาก ตอนยังไม่ใส่นั่งพอมึนหัว หัวใจก็หยุดเต้นเลย ตอนอยู่โรงพยาบาลเป็นหลายครั้งมาก ปั๊มหัวใจจนเรากลัว เพราะปั๊มแต่ละครั้งก็เจ็บเหมือนกัน ตอนนี้แบตเตอร์รี่ใกล้หมดแล้ว ต้องเปลี่ยนเครื่อง แต่ยังไม่มีเงินเลย ประกันสังคมก็เบิกไม่ได้ ตอนนี้หมอบอกหัวใจโตมาก ทำให้น้ำท่วมปอด อยากรบกวนคุณหมอช่วยดูรายการตรวจให้ด้วยครับ ต้องใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย อาจไม่ชัดเท่าไหร่ มีทำเอ็คโค่ 2 ครั้งครับ วันที่ 8 กับ 12 มีนาคม 2555

…………………………………..

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) จนโคม่าไป โดยมีสาเหตุคือหลอดเลือดหัวใจตีบเพียงเส้นเดียวเท่านั้น ดังนั้นผมเดาเอาว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นน่าจะเป็นเพราะจังหวะที่หัวใจบางส่วนขาดเลือดเผอิญทำให้หัวใจห้องล่างเกิดเต้นรัว  (VF) คุณจึงต้องถูกปั๊มหัวใจซ้ำแล้วซ้ำอีก ตัวหัวใจส่วนอื่นๆที่หลอดเลือดยังดีอยู่อาจพลอยขาดเลือดไปด้วยขณะที่ทำการปั๊มหัวใจเพราะแรงดันเลือดตอนนั้นไม่พอส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจ หลังจากนั้นแม้จะทำบอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบแล้ว ใส่ขดลวดถ่างแล้ว แต่กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปแล้วก็ไม่ยอมฟื้น จึงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา จนต้องแก้ด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (ผมเข้าใจว่าคงเป็นเครื่อง CRT-D) มาถึงวันนี้อาการหัวใจล้มเหลวก็ยังไม่ดีขึ้น คุณยังมีอาการเหนื่อยง่าย เรามามองปัญหาของคุณทีละประเด็นนะครับ

     1.. ประเด็นที่คุณติดใจว่าการรักษาที่หมอเขาทำกันตอนนั้นมันช้าไปหรือเปล่า ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจของคุณเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ผมว่าเรื่องมันแล้วไปแล้ว อย่าไปย้ำคิดซ้ำซากวกวนอยู่กับสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีตเลยครับ คิดไปก็ไลฟ์บอย ยอมรับ เรียนรู้ แล้วกลับมาอยู่กับสภาพที่เราเป็น ณ ตอนนี้ดีกว่า อย่างที่เพลงเขาว่า

     “..อยู่ที่เรียนรู้
     อยู่ที่ยอมรับมัน
     ตามความคิดสติเราให้ทัน 
     อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
     และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด..”

ผมจะเล่าอะไรให้ฟังนะ คือช่วงนี้เขาแข่งโอลิมปิกกัน ผมกำลังรอดูการแข่งกระโดดข้ามรั้ว 100 เมตรหญิง คนที่ผมเชียร์ไม่ใช่เต็งหนึ่ง เธอชื่อโลโล่ โจนส์ (Lolo Jones) ตามสถิติการวิ่งล่าสุดเธอเป็นมือวางอันดับที่ 14 แต่ผมเชียร์เธอเพราะเมื่อโอลิมปิก 2008 ที่เมืองจีนโลโล่เป็นเต็งหนึ่ง คนเชื่อว่าเธอจะนอนมาแบบไม่มีพระนำ และเธอก็วิ่งนำมาตลอดจริงๆจนมาถึงรั้วที่ 9 จากทั้งหมด 10 รั้ว บังเอิญที่รั้วที่ 9 นี้ปลายเท้าของเธอไปเกี่ยวเอารั้วเข้าทำให้ตัวเองพลิกกลิ้งไปบนพื้น เธอเล่าความรู้สึกว่าความฝันอันเต็มเปี่ยมของคนทั้งชาติที่ฝากไว้กับเธอหลุดลอยหายไปทันทีที่ร่างเธอสัมผัสพื้น น้ำตาเธอไหลพร่างพรูจนมองอะไรไม่เห็น แต่ภาพที่ถ่ายทอดทีวี.ไปทั่วโลกวันนั้นคือภาพของโลโล่พยุงตัวเองลุกขึ้น มือหนึ่งบีบเค้นขาข้างที่เจ็บอีกมือหนึ่งก็แหวกว่ายอากาศพาตัวเองวิ่งข้ามรั้วสุดท้ายมาถึงเส้นชัยเอาเป็นคนที่ 7 ท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนดูซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนดังกระหึ่มสนาม
การกลับมาที่โอลิมปิก 2012 ของโลโล่ครั้งนี้มีประเด็นคือหลังจากโอลิมปิก 2008 โลโล่ต้องผ่าตัดแก้ความพิการแต่กำเนิดที่แกนประสาทสันหลังซึ่งทำให้เกิดอาการปลายเท้าหมดความรู้สึก (ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เท้าของเธอเกี่ยวรั้วในครั้งนั้น) หมอและใครๆก็ส่ายหัวว่าเธอคงวิ่งข้ามรั้วไม่ได้อีกแล้ว แต่เธอก็ลงมือฟื้นฟูตัวเองแบบบ้าเลือดและขยันลงแข่งสารพัดแมทช์อีก ชนะบ้างแพ้บ้าง แล้วก็เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหน้าขารุนแรงจนต้องพักเด็ดขาดไปหลายเดือน แต่ในที่สุดสามารถพาตัวเองเข้ามาอยู่ในทีมชาติชุดโอลิมปิก 2012 อีกจนได้ ผมชอบแคแรคเตอร์ที่รีบลืมความล้มเหลวในอดีตแล้วมาโฟกัสกับปัจจุบันได้ทันทีของเธอ ไม่ว่าบาดแผลในอดีตมันจะทำให้ปัจจุบันดูลางเลือนเป็นไปไม่ได้อย่างไรก็ตาม แต่ไม่เห็นเธอไปคร่ำครวญถึงมันเลย

2.. ผลตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echo) ที่คุณส่งมาให้นั้น มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญสองเรื่องเท่านั้นคือ หนึ่งอัตราการบีบเลือดออกจากหัวใจ (EF) มีเพียง 40% ซึ่งต่ำไปหน่อย กับ สอง ลักษณะการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นแบบอ่อนปวกเปียกไปทั่วทุกส่วน (global hypokinesia) ถือเป็นข้อมูลยืนยันว่าอาการเหนื่อยง่ายเกิดจากกล้ามเนื้อเสียการทำงาน (cardiomyopathy) จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวครับ

3.. สิ่งที่คนที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อเสียการทำงานอย่างคุณนี้พึงทำ นอกเหนือจากการใส่ใจกินยาที่หมอหัวใจให้มาอย่างสม่ำเสมอ และการใช้เครื่องกระตุ้นที่คุณได้ใส่ไปแล้ว ก็คือ

     3.1 ต้องฟื้นฟูร่างกายหรือพูดง่ายๆว่าต้องออกกำลังกายอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ยิ่งหน่อมแน้มเรื่องการออกกำลังกายยิ่งทำให้ทรุดโทรมเร็ว จะเพลาก็เฉพาะช่วงที่ซีเรียสมากๆเช่นช่วงสงสัยจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือช่วงหัวใจกำลังล้มเหลวแบบตกต่ำสุดขีดเท่านั้น การออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวนี้ควรทำถึงระดับหนักพอควรหรือ moderate intensity (คือเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ก็พอ ไม่ควรทำไปถึงระดับหนักมาก  (คือเหนื่อยจนพูดไม่ออก) 

     3.2 ต้องลดน้ำหนัก คนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวทำตัวให้ผอมดีกว่าทำตัวให้อ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักมาก หัวใจยิ่งต้องทำงานหนัก ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักทุกวันจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ถ้าวันไหนน้ำหนักขึ้นต้องสัมมนากับตัวเองทันทีว่าทำไม แล้วรีบลงมือปรับน้ำดื่ม อาหาร และการออกกำลังกายให้ได้ดุลพอดี

     3.3 ปรับโภชนาการในทิศทางมุ่งลดโซเดียม (ไม่เค็ม) และเพิ่มโปตัสเซียม (ผักและผลไม้แยะๆ) เรื่องโภชนาการนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมแนะนำคือคุณควรจะกินน้ำมันปลา เพราะงานวิจัยสุขภาพหัวใจหลอดเลือด (Cardiovascular Health Study) พบว่าคนที่ยิ่งมีระดับไขมันโอเมก้า-3 ชนิดโซ่ยาว (EPA) มาก ยิ่งมีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวน้อย ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งชื่องานวิจัย GISSI-HF ซึ่งเอาคนป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเจ็ดพันคนมาแบ่งครึ่งให้กินไขมันโอเมก้า-3 เทียบกับยาหลอกแล้วพบว่ากลุ่มที่กินไขมันโอเมก้า-3 มีอัตราตายระยะยาวที่ต่ำกว่า

     3.4 ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินลมหายใจที่ป้องกันได้เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ ซึ่งมีตัวเลือกให้สองชนิดคือ PPSV23 (pneumococcal polysaccharide vaccine 23 valent) และ PCV13 (pneumococcal conjugated vaccine 13 valent) เป็นต้น
   
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม

1.       BristowMR, Saxon LA, Boehmer J, et al. Cardiac-resynchronization therapy with or without an implantable defibrillator in advanced chronic heart failure. N. Engl. J. Med. 2004;350:2140–2150
2.       Mozaffarian D, Lemaitre RN, King IB, et al. Circulating Long-Chain {omega}-3 Fatty Acids and Incidence of Congestive Heart Failure in Older Adults: The Cardiovascular Health Study: A Cohort Study. Ann Intern Med. Aug 2 2011;155(3):160-70.
3.       Marchioli R, Levantesi G, Silletta MG, et al, for the GISSI-HF investigators. Effect of n-3 polyunsaturated fatty acids and rosuvastatin in patients with heart failure: results of the GISSI-HF trial. Expert Rev Cardiovasc Ther. Jul 2009;7(7):735-48.