Latest

Physician Health Study สิ่งที่คนบ้าวิตามินตั้งตาคอย

     ความนิยมกินวิตามินแร่ธาตุเป็นอาหารเสริมนั้นนิยมกันมากแน่นอน การวิเคราะห์ผลสำรวจโภชนาการแห่งชาติของอเมริกา (NHANES) พบว่า49% ของคนอเมริกันทุกอายุกินวิตามินแร่ธาตุเสริมทุกวัน โดย 33% เป็นการกินแบบวิตามินรวม ที่เหลือก็เจาะจงกินสารพัดตามความเชื่อของตน เช่นวิตามิน เอ. บี. ซี. อี. (28%) บ้างก็กินแร่ธาตุเช่นเหล็ก เซเลเนียม โครเมียม (18%) บ้างก็กินสมุนไพรหญ้าแห้งอัดเม็ด (20%) ยิ่งคนเรียนหนังสือมากยิ่งชอบกินวิตามินและอาหารเสริมมาก

     ความพ่ายแพ้ยกแรกของกลุ่มคนบ้าวิตามินเกิดขึ้นเมื่อปี 1994 เมื่อมีการสรุปผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเอานักสูบบุหรี่มาแบ่งเป็นสามกลุ่มเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มกินวิตามินเอ.(เบต้าแคโรตีน) กลุ่มกินวิตามินอี. และกลุ่มกินยาหลอก ว่าใครจะเป็นมามะเร็งปอดมากน้อยกว่ากัน ซึ่งผลสรุปสุดท้ายว่าไม่ต่างกัน งานวิจัยนี้ทำเอาคนทำเบต้าแคโรตีนอัดเม็ดขายต้องเจ๊งไปเลย

     ต่อมาในปี 2008 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยที่ออกแบบอย่างดี สุ่มตัวอย่างคนอายุ 50 ปีขึ้นไปมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินอี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินวิตามินซี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินยาหลอก งานวิจัยนี้เริ่มเมื่อปี 1997 แล้วตามไปสิบปีเพื่อดูว่าใครจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่ากัน ผลที่ได้คือไม่ต่างกัน

     ต่อมาในปี 2009 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยอาสาสมัครที่แบ่งเป็นสามกลุ่มเดิมนั้น คือกินวิตามินอี. วิตามินซี. กับกินยาหลอก โดยสรุปในประเด็นว่าใครจะเป็นมะเร็งมากกว่ากัน ผลที่สรุปได้คือไม่ต่างกันอีกเช่นเคย

     งานวิจัยทั้งสามงานข้างต้นนั้นเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงที่สรุปได้แน่ชัดแล้วว่าการกินวิตามินเอ.ก็ดี วิตามินอี. ก็ดี วิตามินซี. ก็ดี ไม่ได้ลดการป่วยหรือตายจากโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด

     จึงเหลือแต่วิตามินรวม (multivitamin-MTV) เท่านั้น ที่เป็นความหวังของคนบ้าวิตามินทั้งหลาย ว่ามันน่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายบ้าง แต่พอย่างเข้าปี 2009 ก็ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาเกี่ยวกับวิตามินรวมขนาดใหญ่ที่สุด คืองานวิจัยสุขภาพหญิง (Women Health Study) ซึ่งเป็นการสกัดข้อมูลเปรียบเทียบแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างในหญิง 161,808 คน ติดตามดูนาน 8 ปี พบว่าหญิงที่กินวิตามินรวมกับหญิงที่ไม่กินมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งชนิดต่างๆและการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆไม่ต่างกันเลย ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนของวิตามินรวมทั้งหลายพอสมควร  อย่างไรก็ตาม งานวิจัยสุขภาพหญิงเป็นงานวิจัยระดับตามดูกลุ่มคน (cohort) โดยไม่ได้สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ เรียกว่ายังไม่ใช่หลักฐานขั้นสูงสุดที่จะเชื่อถือได้สนิทใจนัก ความหวังของคนชอบวิตามินรวมจึงยังไม่มอดเสียทีเดียว

      ตลอดสิบปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ทั่วโลกจึงได้แต่ตั้งตาคอยผลการวิจัยของ โครงการวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study II) ซึ่งเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ออกแบบอย่างดี จัดว่าเป็นหลักฐานระดับสูงสุดที่เชื่อถือได้ โดยเอาแพทย์ชายที่อายุเกิน 50 ปีไปแล้วจำนวน 14,641 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินรวมของจริง (Centrum Silver) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินหลอก แล้วติดตามดู 10 ปี เพื่อจะดูว่ากลุ่มไหนจะเป็นมะเร็ง (มะเร็งของอวัยวะต่างๆทุกชนิดยกเว้นมะเร็งผิวหนัง) และโรคเรื้อรังต่างๆ มากกว่ากัน บัดนี้ผลวิจัยส่วนที่เกี่ยวกับมะเร็งได้ออกมาแล้ว และได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) ฉบับที่ออกสัปดาห์นี้ ผลที่ได้นี้ไม่ถึงกับทำให้ตื่นเต้น แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้แฟนๆวิตามินรวมผิดหวังเสียทีเดียว

    ผลที่ออกมาคือกลุ่มที่กินวิตามินรวมของจริงมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็ง 17.0 ครั้งต่อ 1,000 คนปี ขณะที่กลุ่มที่กินยาหลอกมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็ง 18.3 ครั้ง ต่อ 1,000 คนปี เรียกว่ากลุ่มกินวิตามินรวมเป็นมะเร็งน้อยกว่าเล็กน้อยแบบชนะเฉือนกันไปแค่ปลายจมูก แต่ก็มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.04) สำหรับท่านที่งงกับตัวเลขผมสรุปของจริงให้ฟังได้ว่าทุกๆ 1,000 คนที่อยู่ในงานวิจัยนี้นาน 10 ปีกลุ่มกินวิตามินเป็นมะเร็ง 17 คน กลุ่มกินยาหลอกเป็นมะเร็ง 18.3 คน เรียกว่าจับคนมากินวิตามินรวม 1,000 คนนานสิบปีจะมีผลลดการเกิดมะเร็งได้หนึ่งคน หรือถ้าจะพูดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือในสิบปีกลุ่มกินวิตามินเป็นมะเร็ง 1.7% กลุ่มกินยาหลอกเป็นมะเร็ง 1.83% ต่างกันอยู่ 0.13% ฟังดูแล้วก็จิ๊บๆมากนะครับ แต่ข้อมูลแค่นี้ก็มากพอที่จะให้คนขายวิตามินเอาไปขยายผลได้แล้ว อย่างน้อยก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่ามาซื้อวิตามินรวมกินกันเถอะ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ

     แม้แต่ตัวผมเอง ต่อแต่นี้ไปก็ต้องเปลี่ยนคำพูดที่ใช้กับคนไข้เรื่องวิตามินรวมเสียใหม่ จากเดิมที่เคยพูดว่า “ผมไม่แนะนำให้กินวิตามินรวม เพราะไม่มีหลักฐานว่ามันมีประโยชน์อะไร” คราวนี้ผมต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่เป็น

     “มีหลักฐานว่าคนกินวิตามินรวมเป็นประจำทุกวันเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนไม่กินบ้างเล็กน้อย เนื่องจากผลแตกต่างระหว่างกินกับไม่กินมันไม่มากนัก ผมจึงขอให้คุณตัดสินใจเองว่าจะกินวิตามินรวมทุกวันหรือเปล่า”

คำถาม

    “อ้าว.. แล้วตัวหมอสันต์ละ จะกินวิตามินรวมทุกวันหรือเปล่า?”

คำตอบ

    “แหะ..แหะ ต้องกินครับ เพราะขนาดไม่มีหลักฐานว่าดีเมียยังบังคับให้กินจนแทบเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ตอนนี้มีหลักฐานว่าดี แม้จะดีนิดเดียว แต่จะหลบเมียพ้นเรอะ”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       Bailey RL, Gahche JJ, Lentino CV,  et al.  Dietary supplement use in the United States, 2003-2006.  J Nutr. 2011;141(2):261-266
2.       The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group.  The effect of vitamin E and beta carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers. The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group.  N Engl J Med. 1994;330(15):1029-1035
3.       Hennekens CH, Buring JE, Manson JE,  et al.  Lack of effect of long-term supplementation with beta carotene on the incidence of malignant neoplasms and cardiovascular disease.  N Engl J Med. 1996;334(18):1145-1149
4.       Gaziano JM, Glynn RJ, Christen WG,  et al.  Vitamins E and C in the prevention of prostate and total cancer in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial.  JAMA. 2009;301(1):52-62
5.       Sesso HD, Buring JE, Christen WG,  et al.  Vitamins E and C in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial.  JAMA. 2008;300(18):2123-2133
6.  Neuhouser ML, Wassertheil-Smoller S, Thomson C,  Aragaki A, Anderson GL, Manson JE, Patterson RE, Rohan TE, van Horn L, Shikany JM, Thomas A,  LaCroix A, Prentice RL. Multivitamin Use and Risk of Cancer and Cardiovascular Disease in the Women’s Health Initiative Cohorts. Arch Intern Med. 2009;169(3):294-304. doi:10.1001/archinternmed.2008.540.
7.  Gaziano JM, Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE.Multivitamins in the Prevention of Cancer in MenThe Physicians’ Health Study II Randomized Controlled Trial.  JAMA. 2012;():1-10. doi:10.1001/jama.2012.14641.