Latest

หนูเป็นหมอตาค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
หนูติดตามบทความ และบล็อกของอาจารย์มาสักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกทึ่งในความสามารถในการอธิบายของอาจารย์มากค่ะ ว่าอาจารย์มีความรู้กว้างขวางและละเอียดจริงๆ ยังจำไปใช้อธิบายกับคนไข้บ้างตามสมควร หนูเป็นหมอตาค่ะ เรียนจบแพทยศาสตร์ 6 ปี เพิ่มพูนทักษะ … ปี แล้วต่อเป็นหมอตาอีก … ปี เรียกได้ว่าเป็นเด็กเรียนมาตลอด ตอนนี้จบแล้ว ทำงานจริงๆ แล้วค่ะ หนูเป็นเด็กเรียนมาตลอดผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สอบบอร์ดได้อันดับต้นๆ และก็ยังอยากเรียนต่อไปอีก แต่ตอนนี้ยังรอตำแหน่ง รอทุน และรอตัดสินใจอยู่ค่ะ ในอนาคตข้างหน้าหนทางเริ่มไม่แน่นอน ไม่เป็นไปตามแบบแผนอย่างที่คิด ตอนนี้หนูเลยทำงานในรพ.เอกชนไปก่อน
เพิ่งเริ่มทำได้ไม่กี่เดือน หนูก็เริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ คือหนูเริ่มมีปัญหากับการผ่าตัด คิดว่าอาจารย์ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดเหมือนกันน่าจะพอเข้าใจความรู้สึก ก่อนหน้านี้หนูก็มีปัญหาบ้างตามปกติ skill อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี แต่พอมาทำที่เอกชน เคสแรกๆ หนูรู้สึกกดดันมาก แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี (ก่อนหน้านี้หนูผ่าตัดในรพ.รัฐบาลมาก่อน ประมาณ 200 เคส เคสยากๆ ก็ทำมาบ้างแล้ว) จนมีเคสเมื่อเร็วๆ นี้ หนูผ่าตัดมี complication เค้าคุยพอเข้าใจ แต่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อรักษาเพิ่มเติม หนูเสียขวัญมาก กลัวโดนฟ้อง หลังจากนั้นหนูก็ผ่าตัดไม่ได้อีก เซ็ตมาก็ทำไม่ได้อีก พอมีปัญหาสองเคสติดกันตอนนี้หนูไม่อยากผ่าตัดอีกต่อไปแล้วค่ะ ไม่อยากทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้ ไม่อยาก harmful ต่อคนไข้ จนคิดอยากเลิกเป็นหมอ เข้าตำราความรู้ท่วมหัวเอาตัวไปรอด complication นี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในการผ่าตัดตา แต่หนูเป็นคน personality type A ค่อนข้างจริงจัง รับผิดชอบ คาดหวังสูง และ รู้สึกผิดมาก รู้สึกรับมันไม่ได้จริงๆ ค่ะ ตอนนี้จิตใจยังไม่แข็งแรงเลย จึงคิดว่าน่าจะมีทางเลือกอะไรให้ตัวเองบ้าง
     1. เป็นหมอตาเอกชนที่เดิม แต่ไม่ผ่าตัด ถ้าต้องผ่าก็ส่งให้หมอคนอื่น ข้อนี้คิดไว้มากที่สุด ถึงจะรู้สึกว่าคุณค่าลดลง ทำงานไม่สมกับที่เรียนมา แต่คงต้องยอม
     2. ลาออกจากเอกชนไปทำงานรพ.รัฐบาล เผื่อความกดดันจะลดลง และskill จะดีกว่านี้ แต่ข้อนี้หนูกลัว เพราะระบบรัฐบาลตอนนี้อ่อนแอเต็มที
     3. พยายามหาทางเรียนต่อใน field ที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้าเอาทุนมหาลัยไปเรียน ก็ต้องกลับมาสอน resident ผ่าตัดอยู่ดี 
     4. เลิกเป็นหมอไปเลย ลองหาอาชีพอื่นทำ
ขอรบกวนช่วยแนะนำแนวทางด้วยนะคะ ตอนนี้ไม่ไหวแล้วจริงๆ 
ขอบพระคุณค่ะ
……………………………………
ตอบครับ
     อ่านจดหมายของคุณหมอแล้วผมนึกถึงบทหนึ่งในคัมภีร์เต๋า ซึ่งเขียนว่า
                                                                                             
“…นายขมังธนู จะยิงไม่พลาดเลยสักครั้งเดียว หากเดิมพันด้วยถั่วลิสงหนึ่งเม็ด

นายขมังธนู จะยิงเกือบพลาด หากเดิมพันเป็นหญิงขี้ริ้ว

นายขมังธนู จะยิงพลาดอย่างสิ้นเชิง หากเดิมพันเป็นหญิงงาม…”
     นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมยิ่งกดดันตัวเองว่าต้องทำผ่าต้ดให้ได้ดี ผลมันกลับยิ่งแย่ เออ.. ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละค่า คุณหมอขา เอาเถอะ มาดูปัญหาของคุณหมอทีละประเด็นดีกว่านะ
ประเด็นที่ 1. เราขาดอะไรไป ในการจะเป็นศัลยแพทย์ที่ดีความเป็นศัลยแพทย์ที่ดี มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ห้าอย่าง คือ

1.      ความรู้  (knowledge)
2.      ดุลพินิจ  (judgment)
3.      ทักษะ  (skill)
4.      ความคิดสร้าง  (creativity)
5.      การสื่อสาร  (communication)
     
     ฟังตามเรื่องที่เล่า สองอย่างแรกคือความรู้และดุลพินิจ ผมมั่นใจว่าคุณหมอมีพอ แต่สามอย่างหลังผมไม่แน่ใจ เราลองมาเจาะดูมันทีละอย่างนะ

      ทักษะ (skill) ไม่ว่าทักษะในเรื่องใดๆก็มีวิธีสร้างคล้ายๆกัน มีองค์ประกอบสามอย่าง คือ (1) ขั้นตอนปฏิบัติจากต้นจนจบที่ละเอียดยิบและเหมือนเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า (2) สมาธิที่จดจ่อไปทีละขั้นตอนไม่วอกแวก และ (3)  การฝึกทำซ้ำๆ จนจังหวะในจะเคลื่อนไหวตอนไหนอย่างไรกล้ามเนื้อมันจำได้ไม่ต้องรอให้สมองสั่ง อย่างที่พวกนักกีฬาโอลิมปิกเขาเรียกว่าการฝึกจนเกิด “muscle memory”

      ตัวอย่างเช่น คุณเคยไปดูนักร้องเขาฝึกร้องเพลงไหม นอกจากการตั้งสมาธิแล้ว การจำขั้นตอนปฏิบัติมันจะละเอียดไม่เพียงแค่จำเนื้อร้อง จังหวะ และทำนองเท่านั้น เขาหรือเธอยังต้องจำว่าตอนไหนของประโยคจะหายใจเข้าสั้นๆ ปลายของเนื้อท่อนไหนจะหายใจเข้ายาวลึก ตอนไหนของเพลงที่ต้องแขม่วท้องไล่ลมออกช่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องหายใจเข้าอันจะทำให้เสียความต่อเนื่องของเพลง การซ้อมก็ไม่ใช่ซ้อมแค่สิบยี่สิบครั้งนะ แต่ซ้อมกันเป็นร้อยๆครั้ง การผ่าตัดก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการเย็บอวัยวะอะไรสักอย่าง เราจะต้องจำขั้นตอนได้ถึงว่าเมื่อเย็บมาถึงที่จุด 8.00 นาฬิกานี้ เราจะเอียงเข็มกี่องศา เย็บไปแล้วกี่ stitch เราจึงจะเริ่มดึงเชือกให้ตึง และเมื่อเราผูก สมมุติว่าเราผูกทั้งหมด 6 ปม ปมแรกเราจะผูกแบบไหน แรงเท่าไร ปมที่สองผูกแรงเท่าไร เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะทำได้เหมือนเดิมทุกครั้งก็ต้องอาศัยสมาธิที่นิ่ง และการฝึกฝนที่มาก การที่คุณคุยว่าผ่าตัดแบบนี้มาแล้วสองร้อยราย ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคุณมีทักษะที่ดีพอ ถ้าสองร้อยรายนั้นคุณทำมันแบบผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเหมือนกับทำงานทั่วไปเช่นการกวาดบ้านถูพื้น ผมฟังจากที่คุณเล่าว่าพอมีปัญหาเคสแรก คุณทำเคสที่สองต่อไม่ได้ แค่นี้ผมก็รู้แล้วว่าทักษะคุณยังไม่พอ คุณยังไม่สามารถตัดความคิดให้สมองว่างและนิ่งก่อนเริ่มการผ่าตัดแต่ละครัั้งซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของการผ่าตัดทุกชนิดได้ เมื่อสมาธิไม่นิ่งเสียแล้ว การจะมาละเมียดละไมไล่ขั้นตอนไปทีละขั้นๆนั้นก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วคุณจะผ่าตัดให้ดีได้อย่างไร ดังนั้นในประเด็นทักษะนี้คุณยังต้องฝึกฝนเพิ่มเติมอีก ตัวผมเองนั้นเป็นคนฟุ้งสร้านสติแตกมาตั้งแต่หนุ่ม ก่อนผ่าตัดผมต้องนั่งสมาธิสักห้านาทีทุกครั้งจนกลายเป็นนิสัยตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ในเรื่องการฝึกทักษะการใช้มือ สมัยผมเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่กับฝรั่ง ผมต้องเก็บเศษหลอดเลือดที่เหลือใช้แช่ไว้ในตู้เย็นที่บ้านเรียงไว้เป็นตับ และยืมเครื่องมือห้องผ่าตัดกลับบ้านเพื่อฝึกเย็บหลอดเลือดเกือบทุกวัน ครูที่ดีที่สุดคือ complication ที่เกิดจาการผ่าตัดของเรา ศัลยแพทย์ที่ดีจะต้องถือไว้ก่อนว่า complication ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความบกพร่องในทักษะของตัวเราเองเสมอ จนกว่าเราจะพิสูจน์ได้อย่างแจ้งชัดว่าไม่ใช่ วันไหนผ่าตัดมาแล้วมี complication ผมก็จะกลับมาฝึกทบทวนทักษะทีละขั้นที่บ้าน ผมฝึกจนก่อนนอนผมนึกไล่เลียงเหตุการณ์ที่ผิดพลาดและวิธีแก้ไขตั้งแต่ต้นจนจบได้หมด ทุกคืนที่ผมนอนหลับฝัน 80% ของความฝันจะฝันเห็นแต่ field  ผ่าตัด การจะเอาดีด้านทักษะ คุณต้องฝึกตัวเองประมาณนั้น

     ความคิดสร้าง (creativity) ถ้าจะให้ผมนิยามว่า creativity คืออะไร มันก็คือความสามารถที่จะแถกเหงือกเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้งเมื่อคุณเผชิญสถานะการณ์ที่นอกเหนือตำรา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหมอผ่าตัดต้องมี creativity เพื่อจะได้เอาตัวรอดได้ไง อีกประการหนึ่ง การผ่าตัดที่เราออกแบบและทำกันอยู่ทุกวันนี้มันยังเป็นวิธีรักษาโรคที่มีความบกพร่องอยู่มาก วันข้างหน้าคนรุ่นหลานรุ่นเหลนคงเอาไว้อ่านเป็นประวัติศาสตร์และเล่าสู่กันฟังเพื่อความขบขันเท่านั้น มันยังจะต้องถูกพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก และการพัฒนานั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าศัลยแพทย์ไม่มี creativity

     การสื่อสาร (communication)สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ วิธีเลือกสาขาที่พูดกันเล่นๆก็คือคนที่พูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่องควรเลือกเป็นศัลยแพทย์ เพราะเอามาสก์ปิดปากก็ทำงานได้โดยไม่ต้องพูดกับใครแล้ว แต่ในชีวิตจริงความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นให้ “เก็ท” นั้นเป็นคุณสมบัติที่คนจะเป็นหมอผ่าตัดขาดไม่ได้เลย นับตั้งแต่การให้ข้อมูลความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดให้คนไข้เข้าใจมันตามความเป็นจริงก่อนที่จะตัดสินใจผ่าหรือไม่ผ่า นอกจากจะพูดแล้วต้องบันทึกด้วย ศัลยแพทย์ที่ดีต้องเป็นนักเขียนที่ดี นายเคยบอกผมว่าเพียงแค่หยิบชาร์ตมาอ่าน “preoperative summary” ที่ศัลยแพทย์เขียนไว้ ก็บอกได้เลยว่าศัลยแพทย์คนนั้นเป็นคนมีความรู้และวิสัยทัศน์ต่องานของเขากว้างหรือแคบแค่ไหน ยิ่งถ้าได้อ่าน operative note ที่เขาเขียน ก็จัดอันดับได้เลยว่าเขาเป็นศัลยแพทย์ระดับใด บางเรื่องที่เป็นเรื่องซ้ำซากแต่สำคัญ ก็ควรใช้วิธีทำเป็นเอกสารให้คนไข้อ่าน ยกตัวอย่างเช่นการจะสื่อให้คนไข้ทราบว่าการมาผ่าตัดตาเนี่ย มีโอกาสตายจากการดมยาสลบได้ด้วยนะ ข้อมูลที่ฉิวเฉียดแบบนี้เหมาะที่จะพิมพ์ไว้เป็นเอกสารประกอบให้คนไข้อ่านมากกว่าที่จะนำมาไฮไลท์ด้วยการพูด ทุกอย่างที่เราบันทึกไว้ก็ดี ที่พิมพ์เป็นเอกสารมอบให้คนไข้ก็ดี นอกจากจะเป็นเครื่องบอกว่าเราเป็นศัลยแพทย์ที่มีระดับแล้ว ยังเป็นพยานหลักฐานที่จะช่วยคุ้มครองเรากรณีมีปัญหาทางกฎหมายด้วย การที่คุณกลัวถูกคนไข้ฟ้อง แสดงว่าทักษะในการสื่อสารของคุณก็ดี วิธีการทำงานของคุณก็ดี ระเบียบปฏิบัติของรพ.ที่คุณทำงานอยู่ก็ดี ยังไม่รอบคอบรัดกุมพอที่จะสร้างความมั่นใจให้ตัวคุณเองได้
ประเด็นที่ 2. อนาคตจะไปทางไหนดี  ที่คุณคิดถึงการจะเลิกเป็นหมอก็ดี ทำงานที่เดิมแต่เลิกผ่าตัดก็ดี หรือไปเรียนต่อในสาขาที่ไม่ต้องผ่าตัดก็ดี ล้วนเป็นทางเลือกที่ “งี่เง่าไม่เข้าท่าทั้งสิ้น อะไรกัน.. ผ่าตัดแล้วมี complication สองรายจะพาลเลิกอาชีพเลยเรอะ การผ่าตัดแต่ละครั้งก็เหมือนการขึ้นชกมวย มันย่อมต้องมี win some, lose some แต่ประเด็นอยู่ที่ we win more than we lose อย่าไปโฟคัสที่ความล้มเหลวหรือความคิดลบสิ ถ้าศัลยแพทย์คิดลบอย่างคุณหมด ต่อไปใครจะมาผ่าตัดให้คนไข้ คิดอย่างนั้นไม่ดีหรอก หันมาโฟคัสที่โอกาสพัฒนาตัวเองให้เป็นมืออาชีพยิ่งๆขึ้นไปดีกว่า อย่าปล่อยให้เรื่องเล็กๆหันเหเราไปจากแนวทางชีวิตหลักเลย

     คุยกันถึงตอนนี้แล้วผมนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ผมเคยดูหลายสิบปีมาแล้ว เป็นเรื่องของเด็กสาวบ้านนอกอเมริกันที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเต้นบัลเลต์ ฝันอยากจะใช้ชีวิตเต้นกินรำกินในบาร์ ได้ต่อสู้ฟันฝ่าจนได้เข้าเรียนบัลเลต์ในโรงเรียนกิ๊กก๊อกที่เมืองเล็กเมืองหนึ่ง ระหว่างเรียนก็ไปหาลำไพ่ตามบาร์กับก๊วนพวกเพื่อนนักบัลเลต์ด้วยกันซึ่งมีทั้งชายจริงหญิงแท้และทั้งตุ๊ด มีชีวิตที่สรวลเสเฮฮามาก วันหนึ่งได้ออกแสดงในโรงใหญ่ ได้รับคำชมทางหนังสือพิมพ์จากนักวิจารณ์ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์อนาคตไกลคนหนึ่งว่าเป็นนักบัลเลต์ที่มีพรสวรรค์พิเศษ แล้วชีวิตก็ดลให้ได้พบหน้าและตกหลุมรักกับหนุ่มนักหนังสือพิมพ์คนนั้น ขณะเดียวกันก็ได้รับจดหมายเชิญของแมวมองโรงเรียนดังให้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียน New York Academy of Dance เธอโยนจดหมายเชิญทิ้งเพราะชอบชีวิตที่เมืองเล็กแห่งนี้มากกว่า ไฮไลท์มาถึงตอนใกล้จบที่นักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเทพบุตรในฝันคนนั้นได้งานดีที่วอชิงตัน เขามาชวนเธอไปแต่งงานใช้ชีวิตคู่ถาวรอยู่ด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่าเธอต้องเลิกเต้นกินรำกินและเลิกชีวิตแบบขลุกไม่รู้วันรู้คืนอยู่กับกลุ่มก๊วนนักเต้นเสีย เขาจากไปพร้อมกับคำมั่นว่าพรุ่งนี้จะมารับเธอที่หน้าบาร์..ถ้าเธอจะไปกับเขา

     คืนนั้นเธอครุ่นคิด ขณะมองเพื่อนๆที่กำลังดื่มกินสรวลเสเฮฮาหลังเสร็จงานเต้นในบาร์ ความรักนั้นมีให้เทพบุตรหนุ่มเต็มหัวใจไม่มีข้อกังขา แต่เธอรำพึงกับตัวเองว่า

“…นี่เป็นชีวิตที่ฉันใฝ่ฝันถึง..ไม่ใช่หรือ (Isn’ t this the life I have been dreaming for?)
ฉันต่อสู้มาอย่างหนักเพื่อจะได้มาใช้ชีวิตอย่างนี้..ไม่ใช่หรือ
แล้วนี่ฉันจะทิ้งสิ่งนี้ไปเพื่อแสวงหาอะไร..”

     รุ่งเช้า นางเอกก็แพ็คกระเป๋าออกจากบาร์แต่เช้ามืดไปจับรถไฟไปนิวยอร์คก่อนที่พระเอกจะมาที่บาร์ หนังจบในฉากที่นางเอกกำลังเรียนบัลเลต์อยู่ในคลาสที่นิวยอร์ค เต้นไปพลาง น้ำตาไหลอาบแก้มไปพลาง

     หนังจบที่ตรงนั้น

     ประเด็นของผมก็คือ ถ้านี่เป็นชีวิตที่เราใฝ่ฝันถึงมานาน ทุ่มเทเพื่อมันมานาน และตอนนี้เราก็มาอยู่ที่นี่แล้ว เพิ่งนั่งก้นยังไม่ทันอุ่นเลย แล้วเราจะทิ้งมันเพื่อไปค้นหาสิ่งใด?
      
ทางเลือกในอนาคตสำหรับคุณหมอ ในระยะสั้น ผมแนะนำทางใดทางหนึ่งในสองทางคือ

1.      อยู่ที่เดิมนั่นแหละ ทำงานเดิมนั่นแหละ รวมทั้งงานผ่าตัดด้วย แต่ว่าทำเรื่องหลักคือลงมือพัฒนาความเป็นศัลยแพทย์ของตัวเองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการฝึกทักษะทั้งสมาธิและมือ และการสื่อสารกับคนไข้และครอบครัว  ดังที่ผมได้แนะนำไปแล้ว ฝึกด้วยตัวเอง ในระหว่างฝึกอาจหยุดการผ่าตัดไปชั่วคราวก็ได้ การเริ่มใหม่อาจเริ่มด้วยการช่วยพี่เขาฟรีๆก่อนก็ได้ เมื่อฝึกสมาธิได้จนใจนิ่ง จำขั้นตอนการผ่าตัดได้แม่นยำ เคลื่อนไหวมือคล่องจนแทบจะหลับตาทำได้ ก็ค่อยลงมือผ่าตัดคนไข้จริงๆใหม่อีกครั้ง

2.      ย้ายไปทำงานโรงพยาบาลของรัฐ แต่ก็เพื่อเป้าหมายอันเดิม คือเพื่อพัฒนาความเป็นศัลยแพทย์ของตัวเองอย่างจริงจัง ความคิดของคุณหมอที่ว่ารพ.ของรัฐเป็นระบบที่อ่อนแอนั้นเป็นโลกทัศน์ที่คับแคบและไร้เดียงสามากนะ..จะบอกให้ สถานที่ทำงานทุกแห่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียของมันเอง ซึ่งหากเราฉลาดก็เลือกใช้ประโยชน์ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง อย่าโทษที่ทำงานว่าซื่อบื้อ ควรโทษตัวเรานั่นแหละที่ซื่อบื้อไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของที่ทำงานของเรา
     
     ในประเด็นความกลัวการถูกฟ้อง ทำไมไปโฟคัสที่ความกลัวซึ่งเป็นความคิดลบละ น่าจะหันมาโฟคัสที่การพัฒนาทักษะการผ่าตัดและการสื่อสารกับคนไข้ซึ่งเป็นเรื่องบวกจะไม่ดีกว่าหรือ การเป็นศัลยแพทย์ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องทั้งๆที่ตั้งใจทำดีนั้นมีอยู่จริง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์สูงมากมายอะไรนัก ในโลกนี้มีอาชีพอะไรที่ไม่มีความเสี่ยงในงานอาชีพเลยบ้าง ไม่มีหรอก เอาเป็นว่าควรสนองตอบแต่พอดี แค่เราซื้อประกันถูกฟ้องไว้ก็เป็นการสนองตอบที่พอดีแล้ว อย่าสนองตอบด้วยการคิดลบจนเกินพอดีเลย หันมาสนองตอบทางบวกคือพัฒนาทักษะการผ่าตัดและการสื่อสารดีกว่า เพราะยิ่งเรามีทักษะทั้งสองอย่างนี้สูงก็ยิ่งมีโอกาสถูกฟ้องน้อยลง อีกทั้งการมีชีวิตอยู่เพื่อมุ่งพัฒนาตนเองย่อมเป็นชีวิตที่มีคุณภาพกว่าการมีชีวิตอยู่แบบหัวหดด้วยความกลัวเป็นไหนๆ    

     ส่วนในระยะยาว เมื่อฝึกทักษะจนพอใช้การได้ดีแล้ว ผมสนับสนุนให้คุณไปเรียนต่อตามที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เพราะจุดแข็งของคุณก็คือความรู้ (knowledge) คุณต้องโฟคัสที่จุดแข็งของคุณ การเป็นศัลยแพทย์ที่รอบรู้ เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นมาในวิชาชีพ เพราะความรู้เป็นรากฐานที่สำคัญของจินตนาการหรือความคิดสร้าง (creativity) ขอให้อย่าหยุดเดินไปข้างหน้า เดิน เดิน เดิน แล้ววันหนึ่งคนอย่างคุณจะกลายเป็นหมอที่มีคุณค่าต่อวงการแพทย์ไทยในอนาคต
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์