Latest

Physician Health Study ภาค 2 อกหักซ้ำสองของคนบ้าวิตามิน

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมเขียนถึงผลวิจัยของโครงการวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) ซึ่งเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ออกแบบอย่างดี จัดว่าเป็นหลักฐานระดับสูงสุดที่เชื่อถือได้ โดยเอาแพทย์ชายที่อายุเกิน 50 ปีไปแล้วจำนวน 14,641 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินรวมของจริง (Centrum Silver) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินหลอก แล้วติดตามดูราว 14 ปี โดยรายงานในประเด็นการเป็นมะเร็งออกมาก่อน ซึ่งสรุปผลว่า กลุ่มที่กินวิตามินรวมของจริงมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็ง 17.0 ครั้งต่อ1,000 คนปี ขณะที่กลุ่มที่กินยาหลอกมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็ง 18.3 ครั้ง ต่อ 1,000คนปี เรียกว่ากลุ่มกินวิตามินรวมเป็นมะเร็งน้อยกว่าเล็กน้อยแบบชนะเฉือนกันไปแค่ปลายจมูก แต่ก็มีนัยสำคัญทางสถิติอย่างหวุดหวิด (p=.04) ผลดังกล่าวสร้างความผิดหวังเล็กๆสำหรับแฟนๆวิตามิน เพราะมันแตกต่างกันจิ๊บๆเหลือกิน พูดง่ายๆก็คือว่าว่าทุกๆ 1,000 คนที่อยู่ในงานวิจัยนี้นาน 1 ปีกลุ่มกินวิตามินเป็นมะเร็ง 17 คน กลุ่มกินยาหลอกเป็นมะเร็ง 18.3 คน เรียกว่าจับคนมากินวิตามินรวม1,000 คนนานหนึ่งปีจะมีผลลดการเกิดมะเร็งได้หนึ่งคน หรือถ้าจะพูดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือในหนึ่งปีกลุ่มกินวิตามินเป็นมะเร็ง 1.7% กลุ่มกินยาหลอกเป็นมะเร็ง 1.83% ต่างกันอยู่ 0.13% เท่านั้นเอง

          ยังเหลืออีกประเด็นหนึ่งที่งานวิจัยนี้ยังไม่ได้สรุปออกมา คือประเด็นที่ว่าการกินวิตามินรวมนานปีจะช่วยลดการป่วยและตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจหรือไม่ เพราะโดยแนวคิดเชิงทฤษฎี วิตามินส่วนใหญ่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มันน่าจะลดการเป็นโรคหลอดเลือดซึ่งกำเนิดจากปฏิกริยาการอักเสบที่ตั้งต้นโดยอนุมูลอิสระได้ และตอนนี้ ผลวิจัยดังกล่าวก็ออกมาแล้ว
แถ่น..แทน.. แท้น  
ผลออกมาว่าวิตามินไม่ช่วยป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเลย…แป่ว..ว….ว

          ผลวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน  (JAMA) พบว่าตลอดการวิจัย 14 ปี มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ป่วยหนักและตายจากเรื่องหลอดเลือดหัวใจซึ่งพิสูจน์ทราบแน่ชัดด้วยการสวนหัวใจ  1,732 ครั้ง ในจำนวนนี้ คำนวณได้ว่าหากหารจำนวนคนและเวลาที่อยู่ในงานวิจัยให้เท่ากันที่  1,000 คน-ปี พบว่าผู้ที่จับฉลากได้กินวิตามินจริง (Silver Centrum) เกิดเหตุป่วยหนักหรือตายเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจ 11.0 ครั้งต่อ 1,000 คน-ปี ขณะที่ผู้จับฉลากได้กินวิตามินหลอกเกิดเหตุป่วยหนักหรือตายเพราะหลอดเลือดหัวใจ 11.8 ครั้ง ต่อ 1,000 คน-ปี เรียกว่าตัวเลขของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเลย งานวิจัยนี้จึงสรุปได้แน่ชัดว่าการกินวิตามินรวมนานเป็นสิบๆปี ไม่ช่วยให้ป่วยหรือตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจน้อยลงแต่อย่างใด

          ถ้าเรามามองย้อนหลังอย่างไม่มีอคติ คืออย่าไปใส่ใจว่าคนเรานิยมกินวิตามินแร่ธาตุเป็นอาหารเสริมกันมากแค่ไหน (ตัวเลขคนกินวิตามินในอเมริกามีถึง 49% ของคนทั่วไป ในจำนวนนี้ 33% กินแบบวิตามินรวม ที่เหลือ 28.8% กินแบบเจาะจงรายตัว เช่นวิตามิน เอ. บี. ซี. อี. อีก 18% กินแต่แร่ธาตุเช่นเหล็ก เซเลเนียม โครเมียม มีอีก 20% กินสมุนไพรหญ้าแห้งอัดเม็ด) มองย้อนหลังไปเราก็จะพบว่าผลวิจัยที่เป็นหลักฐานระดับสูงที่รายงานผ่านมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆนั้นล้วนบ่งบอกไปในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้นว่า การกินวิตามินเสริมนอกเหนือจากอาหารปกติสำหรับคนที่ไม่มีเหตุให้ขาดวิตามินเป็นพิเศษนั้น ไม่มีประโยชน์เพิ่มเติมแต่อย่างได้ ผมขอถือโอกาสนี้ลำเลิกความหลังให้ฟังนะครับ

          ผลวิจัยครั้งแรกออกมาในปี ค.ศ. 1994 เมื่อมีการสรุปผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเอานักสูบบุหรี่มาแบ่งเป็นสามกลุ่มเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มกินวิตามินเอ.(เบต้าแคโรตีน) กลุ่มกินวิตามินอี. และกลุ่มกินยาหลอก ว่าใครจะเป็นมามะเร็งปอดมากน้อยกว่ากัน พบว่าไม่ต่างกัน แถมกลุ่มที่กินเบต้าแคโรตีนยังเป็นมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่กินด้วยซ้ำไป

     ต่อมาในปี 2008 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยที่ออกแบบอย่างดี สุ่มตัวอย่างคนอายุ50 ปีขึ้นไปมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินอี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินวิตามินซี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินยาหลอก งานวิจัยนี้เริ่มเมื่อปี 1997 แล้วตามไปสิบปีเพื่อดูว่าใครจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่ากัน ผลที่ได้คือไม่ต่างกัน

     ต่อมาในปี 2009 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยอาสาสมัครที่แบ่งเป็นสามกลุ่มเดิมนั้น คือกินวิตามินอี. วิตามินซี. กับกินยาหลอก โดยสรุปในประเด็นว่าใครจะเป็นมะเร็งมากกว่ากัน ผลที่สรุปได้คือไม่ต่างกันอีกเช่นเคย

     งานวิจัยทั้งสามงานข้างต้นนั้นเป็นสรุปได้แน่ชัดแล้วว่าการกินวิตามินเอ.ก็ดี วิตามินอี. ก็ดี วิตามินซี. ก็ดี ไม่ได้ลดการป่วยหรือตายจากโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด


     ส่วนวิตามินรวม (multivitamin-MTV) งานวิจัยแรกที่หักอกคนบ้าวิตามินก็คือเมื่อปี 2009 มีการตีพิมพ์งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาเกี่ยวกับวิตามินรวมขนาดใหญ่ที่สุด คืองานวิจัยสุขภาพหญิง (Women Health Study) ซึ่งเป็นการสกัดข้อมูลเปรียบเทียบแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างในหญิง 161,808 คน ติดตามดูนาน 8 ปี พบว่าหญิงที่กินวิตามินรวมกับหญิงที่ไม่กินมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งชนิดต่างๆและการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆไม่ต่างกันเลย แม้ว่าจะมีเสียงผู้รักวิตามินคัดค้านว่านี่เป็นการวิจัยแบบตามดูกลุ่มคน (cohort) โดยไม่ได้สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ เรียกว่ายังไม่ใช่หลักฐานขั้นสูงสุดที่จะเชื่อถือได้สนิทใจนัก


พอมาเมื่อปลายปีที่แล้วและปีนี้ เมื่อผลวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) นี้ออกมา ว่าการกินวิตามินต่อเนื่องนานเป็นสิบๆปี ไม่ได้ช่วยลดการป่วยหรือตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจเลย และช่วยป้องกันมะเร็งได้น้อยมาก คือต่างจากคนไม่กินวิตามินแค่ 0.13% โปรดสังเกตว่ามีเลขศูนย์นำหน้าด้วยนะ เรียกว่ามันมีประโยชน์น้อยซะจนไม่คุ้มที่จะตะบันกินวิตามินทุกวัน

มองย้อนหลังไปอย่างนี้แล้ว มันสรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องสรุปว่า การกินวิตามินกับไม่กิน มันไม่แตกต่างกัน หรือพูดง่ายๆว่าสำหรับคนปกติที่ไม่มีเหตุพิเศษให้ขาดวิตามิน การกินวิตามินเสริมมันไม่มีประโยชน์มากไปกว่าการอยู่เปล่าๆ ผมสรุปแบบนี้เชื่อว่าย่อมต้องถูกคนบ้าวิตามินตีหัวเอาอย่างแน่นอน แต่ว่าผมมีหน้าที่ให้ข้อมูล การตัดสินใจซื้อวิตามินกินเป็นหน้าที่ของท่าน ท่านซื้อกินผมไม่ว่า แต่ผมรายงานข้อมูลท่านก็อย่าว่าผมนะครับ แหะ แหะ ขอลาก่อนนะ อยู่นานเดี๋ยวเจ็บตัว เพราะเมียผมก็บ้าวิตามินเหมียน..กัลล์
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.       Gaziano JM, Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE. Multivitamins in the Prevention of Cancer in MenThe Physicians’ Health Study II Randomized Controlled Trial.  JAMA. 2012;():1-10. doi:10.1001/jama.2012.14641.
2.       Sesso HDChristen WGBubes VSmith JPMacFadyen JSchvartz MManson JEGlynn RJBuring JEGaziano JM. Multivitamins in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2012 Nov 7;308(17):1751-60. doi: 10.1001/jama.2012.14805.
3.       Bailey RL, Gahche JJ, Lentino CV,  et al.  Dietary supplement use in the United States, 2003-2006.  J Nutr. 2011;141(2):261-266
4.       The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group.  The effect of vitamin E and beta carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers. The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group.  N Engl J Med. 1994;330(15):1029-1035
5.        Hennekens CH, Buring JE, Manson JE,  et al.  Lack of effect of long-term supplementation with beta carotene on the incidence of malignant neoplasms and cardiovascular disease.  N Engl J Med. 1996;334(18):1145-1149
6.        Gaziano JM, Glynn RJ, Christen WG,  et al.  Vitamins E and C in the prevention of prostate and total cancer in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial.  JAMA. 2009;301(1):52-62
7.        Sesso HD, Buring JE, Christen WG,  et al.  Vitamins E and C in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial.  JAMA. 2008;300(18):2123-2133
8.      Neuhouser ML, Wassertheil-Smoller S, Thomson C,  Aragaki A, Anderson GL, Manson JE, Patterson RE, Rohan TE, van Horn L, Shikany JM, Thomas A,  LaCroix A, Prentice RL. Multivitamin Use and Risk of Cancer and Cardiovascular Disease in the Women’s Health Initiative Cohorts. Arch Intern Med. 2009;169(3):294-304. doi:10.1001/archinternmed.2008.540.