Latest

การสร้างความบันดาลใจ (Motivation)

เรียน คุณหมอสันต์
ผมอายุ 63 ปี มีปัญหาที่อยากปรึกษาคุณหมอคือผมพยายามออกกำลังกายแล้วไม่สำเร็จ ผมเริ่มตั้งแต่ดูคุณหมอในรายการเจาะใจกับสัญญา คุณากร และตามไปดูเทปเจาะใจในยูทูปอีกหลายครั้ง ได้เริ่มต้นออกกำลังกายตามที่คุณหมอแนะนำ ซื้ออุปกรณ์ ออกไปเดินนอกบ้าน เริ่มได้สักพักก็เลิกไปแบบไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็ผ่านไปแล้วหกเดือน พยายามเริ่มใหม่ก็เป็นแบบเดิมอีก เป็นแบบนี้แล้วสี่รอบในเกือบสองปีที่ผ่านมา แต่ละรอบกว่าจะรู้ตัวก็ผ่านไปหลายเดือน ผมรู้สึกว่าผมขาดความบันดาลใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีพลังที่จะทำเรื่องอย่างนี้ให้สำเร็จ ได้แต่นั่งจมอยู่หน้าโทรทัศน์จนวันๆหนึ่งผ่านไปโดยแทบไม่รู้ตัว หรือว่าตัวผมอายุมากก็เลยไม่มีพลังจะทำอะไร สุขภาพของผมก็ไม่ดี เป็นหลายโรคแต่ขอไม่พูดถึงตรงนี้ เพราะอยากปรึกษาเรื่องการออกกำลังกายไม่สำเร็จเพียงเรื่องเดียว เพราะถ้าเรื่องนี้สำเร็จ ผมเชื่อว่าเรื่องอื่นก็สำเร็จ
…………………………………………….
ตอบครับ
          พูดถึงอายุมาก เดี๋ยวก็ตายแล้ว คิดจะทำอะไรก็คิดไปไม่ตลอด นอนรอความตายอยู่เฉยๆงี้แหละดีกว่า พูดถึงประเด็นนี้ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังนะ

          ตอนนั้นมันเป็นประมาณปีพ.ศ. 2541 คือประมาณยุคต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจล่มพอดี รพ.เอกชนเขาเชิญผมให้มาช่วยเจรจากับพวกฮาร์วาร์ดซึ่งจะเข้ามาช่วยตั้งศูนย์หัวใจในกรุงเทพ ทำไปทำมาผมก็กลายเป็นผู้อำนวยการรพ.ไปซะเลย ยามที่เกิดพิษต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจล่มเละเทะ ผมก็เลยต้องจับพลัดจับผลูได้ติดตามเจ้าของธุรกิจเขาไปเจรจาธุรกิจแบบว่าซื้อขายควบรวมกิจการกันอีรุงตุงนังกับนักธุรกิจของประเทศโน้นประเทศนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปเจรจาธุรกิจกันที่สิงค์โปร กับเจ้าสัวอายุราวสี่สิบกว่าได้ เขาเป็นมะเร็งอะไรสักอย่างในสมองต้องผ่าตัดไปแล้วสามครั้ง ครั้งสุดท้ายเพิ่งทำไปหมาดๆ ตอนนั่งเจรจาธุรกิจกันหัวเขาก็ยังโล้นและมีรอยแผลผ่าตัดเป็นตะปุ่มตะป่ำอยู่เลย เมื่อพูดถึงแผนอนาคตที่จะทำธุรกิจด้วยว่าเมื่อไรจะทำอะไร เขาพูดว่า
          My horizon is only 3 months at the time”

            (ผมมองเห็นท้องฟ้าข้างหน้าคราวละสามเดือนเท่านั้น)
          ความหมายของเขาก็คือว่า เขาจะตายวันตายพรุ่งไม่รู้ การทำธุรกิจกับเขาต้องเอาแบบกระชับ อะไรทำได้ต้องรีบทำ

          คือเถ้าแก่สิงค์โปรคนนี้จะตายอยู่แล้ว แต่แทนที่จะเอาความตายมาเป็นเครื่องถ่วงกลับเอามาเป็นตัวเร่งว่าอะไรยังไม่ได้ทำให้รีบทำ ผมจำคำพูดของเขาได้แม่นแม้จะผ่านไปแล้วสิบกว่าปี และมันกลายมาเป็นหลักคิดเมื่อผมเกษียณ คือผมอาจจะตายเร็วๆนี้ก็ได้ อะไรที่ผมอยากจะสร้างสรรค์ไว้แต่ยังไม่ได้สร้าง ให้รีบสร้างซะ โดยหลักคิดแบบนี้ทำให้ผมไม่กล้าหยุดพักมาก เพราะกลัวทำอะไรไม่ทัน ซึ่งก็มีผลดี คือทำให้ชีวิตเกษียณยังแอคทีฟมีคุณค่าอยู่
          กลับมาตอบคำถามของคุณดีกว่า ในบล็อกนี้เรายังไม่เคยพูดถึงการสร้าง การสร้างแรงบันดาล(motivation) อย่างเป็นกิจจะลักษณะเลย ทั้งๆที่มันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทำได้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราพูดถึงเรื่องนี้เสียทีก็ดีเหมือนกัน โดยผมจะแยกพูดเป็นสองส่วนนะ คือส่วนที่ทำด้วยตัวเอง และส่วนที่ทำผ่านกลุ่มหรือผ่านเพื่อน
การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง (self motivation)
แต่ละคนย่อมมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองแตกต่างกันไป แต่มีบางวิธีซึ่งคนจำนวนมากใช้แล้วได้ผลค่อนข้างแน่นอน ซึ่งผมขอยกตัวอย่างการสร้างแรงบันดาลใจให้ออกกำลังกาย โดยจะเขียนให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทุกเพศทุกวัยเลยนะ ไม่จำเพาะสำหรับคุณซึ่งอายุหกสิบกว่าเท่านั้น ผมจะเรียงลำดับตามโอกาสที่ใช้แล้วได้ผลต่อเนื่องดังนี้
วิธีที่ 1. หาเพื่อนซี้ร่วมทำ (buddy up) การมีเพื่อนก่อให้เกิดเจตนาร่วม มีการนัดหมายไปทำกิจกรรม เกิดความเกรงใจกันและกัน ทำให้โอกาสที่จะทำได้สำเร็จต่อเนื่องมีมากกว่าทำคนเดียว
วิธีที่ 2. บอกเหตุผลกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร ทำไปทำไม เช่น เพื่อจะให้หายจากโรคเสียที เพื่อจะได้มีอายุยืนยาวจนได้อุ้มหลาน เพื่อจะได้มีรูปร่างสวยหล่อ เพื่อจะได้แข็งแรงพอที่จะไปเดินทางท่องเที่ยวไกลๆตามที่วางแผนไว้ เพื่อให้เพื่อนๆตลึงในวันเลี้ยงรุ่นครั้งหน้า เป็นต้น
วิธีที่ 3. ให้การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ “ต้องทำแบบต่อรองไม่ได้ (not negotiable)” เช่นให้การออกกำลังกายมีความสำคัญกว่าการแปรงฟัน ตื่นเช้าหากยังไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ยังแปรงฟันไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้แปรงฟัน ก็ยังออกจากบ้านไม่ได้ เป็นต้น
วิธีที่ 4. แบ่งเวลาในแต่ละวันเสียใหม่ ให้เวลากับตัวเองเสียบ้าง จากเดิมที่เคยแต่ให้เวลาคนอื่น หรือให้เวลากับการทำงานเสียหมด ทั้งนี้ถือว่าเวลาออกกำลังกายเป็นเวลาที่ให้กับตัวเอง
วิธีที่ 5. เลือกออกกำลังกายด้วยวิธีที่ตนเองสนุก จะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเต้นรำ ไปร่วมก๊วนปั่นจักรยาน เมื่อทำท่าจะเบื่อกิจกรรมเดิม ก็คิดหากิจกรรมใหม่มาลองทำทันที โดยไม่ยอมให้มีช่วงหยุดเพราะความเบื่อ
วิธีที่ 6. เปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยนรสนิยม จากเดิมที่คิดแบบผู้ชม ชอบนอนดูโทรทัศน์ มาเป็นผู้แสดงเอง เปลี่ยนความคิดแบบคนหยองกอดมาเป็นคิดแบบนักกีฬา เมื่อความคิดเปลี่ยน มันจึงจะค่อยไปมีผลต่อการกระทำ
วิธีที่ 7. เมื่อออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ ร่างกายและจิตใจจะเกิดความรู้สึกดีๆ ให้เก็บความรู้สึกดีๆนี้ไว้ชักจูงกระตุ้นตัวเองให้ออกกำลังกายครั้งหน้า
วิธีที่ 8. ช่วงที่ขาดการออกกำลังกายไปหลายวัน ร่างกายและจิตใจจะเกิดความรู้สึกแย่ ให้เก็บความรู้สึกแย่นี้ไว้ขู่ตัวเองเมื่อขี้เกียจขยับไปออกกำลังกาย
วิธีที่ 9. จินตนาการว่าตนเองจะสวยจะหล่ออย่างไร ดูรูปนายแบบนางแบบ แล้ววาดภาพตนเองในอุดมคติออกมา
วิธีที่ 10. อ่านฟิตเนสแมกกาซีน อ่านเว็บไซท์การออกกำลังกาย อ่านบล็อกของนักออกกำลังกาย วิธีนี้พวกฝรั่งเขาว่าเขาใช้ได้ผลกันมาก
          วิธีที่ 11. เขียนบันทึกการออกกำลังกายของตนเอง หรือหากชอบงานเขียนอยู่แล้ว ก็เปิดบล็อกของตัวเองเขียนเล่าเรื่องการออกกำลังกายของตัวเองให้คนอื่นรู้เสียเลย
         
วิธีที่ 12. ยอมเสียเงินไปฟิตเนส เพื่อจะอาศัยบรรยากาศของฟิตเนสลากตัวเองให้ออกกำลังกาย
วิธีที่ 13. ยอมเสียเงินจ้างเทรนเนอร์ เพื่อให้เขาหรือเธอค่อยกระตุ้นให้เกิดความบันดาลใจ
วิธีที่ 14. ดูดซับความบันดาลใจจากคนอื่น รับฟังเรื่องราวความสำเร็จของคนอื่นให้มากๆ
วิธีที่ 15. นับแคลอรี่ นับทั้งยามกิน และนับทั้งยามออกกำลังกาย วิธีนี้จะทำให้บันยะบันยังในการกิน และทำให้มีแรงฮึดออกกำลังกายมากขึ้นอีกหน่อยเพื่อชดเชยกับความอยากกิน
                   
วิธีที่ 16. เข้าร่วมแจมในฟอรั่มทางอินเตอร์เน็ทก๊วนคนชอบออกกำลังกาย
         
วิธีที่ 17. ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำได้สำเร็จ เช่นรางวัลความสำเร็จที่ออกกำลังกายได้ตลอดสัปดาห์
         
วิธีที่ 18. เอาเสื้อผ้าเบอร์เล็กของตัวเองในอดีตแขวนล่อไว้
         
วิธีที่ 19. ลงทุนซื้ออุปกรณ์ เสื้อผ้า รองเท้า ที่แพงๆ สวยๆ เท่ๆ
         
วิธีที่ 20. ใช้การออกกำลังกายเป็นวิธีคลายเครียด คือเมื่อใดที่เครียดจัด ไปทำกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกาย
         
วิธีที่ 21. ใช้การออกกำลังกายเป็นเวลาที่จะได้อยู่คนเดียว คิดไตร่ตรองโน่นนี่นั่น หรือฟังเพลงขณะออกกำลังกาย
         
วิธีที่ 22. ออกกำลังกายขณะดูโทรทัศน์
         
วิธีที่ 23. ถ่ายรูป “before” ไว้รอเปรียบเทียบกับรูป “after” ในจินตนาการ
         
วิธีที่ 24. ทำตัวเองให้เป็นครู เป็นแบบอย่าง (role model) เพื่อสอนคนอื่น เช่นสอนลูก สอนเพื่อน

วิธีที่
25. สมัครเข้าแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน เพื่อจะได้ทำการฝึกซ้อม
         
วิธีที่ 26. แปะมอตโต้จูงใจด้วยคำพูดสั้นๆกินใจไว้ในที่ที่เห็นชัดทุกวัน
         
วิธีที่ 27. ซื้อหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการออกกำลังกายมาอ่าน
         
วิธีที่ 28. เมื่อเวลาล้มเหลว ใช้วิธีคุยกับตัวเองบ่อยๆ อย่าเอาแต่ตำหนิหรือค่อนแคะตัวเอง เปลี่ยนมาเชียร์ตัวเอง
         
วิธีที่ 29. ชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้ง อย่าชั่งถี่กว่านั้น แล้วใช้น้ำหนักเป็นสิ่งจูงใจในการออกกำลังกาย
         
วิธีที่ 30. เมื่อออกกำลังกายไปบ้างแล้ว รูปร่างเริ่มดีขึ้น จะเริ่มมีเสียงชม ให้จดจำคำชมเหล่านั้นไว้กระตุ้นตัวเองยามขี้เกียจ
         
วิธีที่ 31. เมื่อถดถอยมาก ให้ลองออกกำลังกายแบบลุยๆๆๆ บุกๆๆๆ เหมือนคนกำลังเข้าสนามรบ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิด adrenalin rush
         
วิธีที่ 32. เมื่อล้มเหลวทำไม่สำเร็จ ลงโทษตัวเองด้วยการทำอะไรที่ต้องฝืนใจนิดๆ เช่นโทรศัพท์ไปขอโทษเจ้านายเรื่องที่ค้างคาอยู่
         
วิธีที่ 33. สะกดจิตตัวเอง หรือสั่งจิตตัวเอง พูดง่ายๆว่าบอกตัวเองให้ทำนั่นแหละ แต่เป็นการบอกในบรรยากาศที่ปราศจากการบกวนจากสิ่งเร้าภายนอก
         
วิธีที่ 34. ตัดใจปิดหน้าจอทุกชนิด ทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ปิดหมด แล้วไปออกกำลังกาย
         
วิธีที่ 35. ขยันคิดแผนกิจกรรมใหม่ขึ้นมาลองทำ
         
วิธีที่ 37. คบเพื่อนใหม่ เลือกคบ เลือกเข้าหาแต่คนที่เขามีความบันดาลใจสูง อยู่ห่างๆคนที่จิตตก
         
วิธีที่ 38. ถ้ามีใครบ่นว่าเราอ้วน ให้ท้าเขาว่าหากเราลดความอ้วนได้ เขาจะให้เงินเรากิโลกรัมละกี่บาท ความท้าทายจากตัวเงิน เป็นการสร้างความบันดาลใจอย่างหนึ่ง
          วิธีที่ 39. อย่าโลภมาก เริ่มอะไรเล็ก แต่เริ่มเดี๋ยวนี้ ก่อนละครจะมา วิดพื้นเสียก่อนสักสิบที เป็นต้น
         
วิธีที่ 40. เปลี่ยนตัวเองจากคนดิดลบเป็นคนคิดบวก ภาคภูมิใจกับความพร้อมและปัจจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน มองเห็นสิ่งที่เรามี ไม่ใช่สิ่งที่เราขาด แล้วบอกตัวเองว่าทำไมตัวเราจึงโชคดีอย่างนี้
         
วิธีที่ 41. ท้าทายตัวเองด้วยสถิติไหม่ๆ
         
วิธีที่ 42 เตรียมอุปกรณ์ออกกำลังกายให้พร้อม และให้อยู่ในที่ๆมองเห็นตำตาชัดๆ พร้อมหยิบฉวยไปออกกำลังกายได้ทุกเมื่อ         
การสร้างความบันดาลใจโดยอาศัยกลุ่ม (group motivation)
          การสร้างความบันดาลใจโดยอาศัยกลุ่มมีความแตกต่างจากการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองตรงที่กลุ่มหรือทีมมีพลวัตที่มีลักษณะเฉพาะ การที่เราไปร่วมกลุ่มโดยตั้งใจจะไปช่วยสร้างความบันดาลใจให้คนอื่น ผลสุดท้ายเราจะได้ความบันดาลใจนั้นเสียเองเป็นทวีคูณ นี่เป็นพลังที่เกิดขึ้นโดยที่เราทำเองไม่ได้ คำว่ากลุ่มนี้มีสองคนขึ้นไปก็นับเป็นกลุ่มได้แล้ว ต่อไปนี้คือหลักการสร้างความบันดาลใจผ่านกิจกรรมกลุ่มหรือทีม
1.. คนที่จะไปสร้างความบันดาลใจให้คนอื่น ตัวเองต้องมีความบันดาลใจก่อน ต้องเป็นคนมาถึงก่อน กระตือรือร้น คิดบวก มีข่าวดีมาบอกอยู่เรื่อย มีความภักดีต่อกลุ่มเหลือล้น ถ้าในกลุ่มไม่มีใครมีความบันดาลใจที่จะมุ่งทำให้กิจของกลุ่มสำเร็จเลย กลุ่มนั้นล้มเหลวแน่นอน ดังนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองก่อน จึงค่อยไปสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
2.. ความบันดาลใจเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเป้าหมายชัดเจน เปรียบเหมือนทีมกีฬาที่ไม่ได้เข้าฤดูกาลแข่งขัน ลูกทีมก็ไม่มีแก่ใจจะซ้อม เป้าหมายที่ท้าทายของกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
3. ความบันดาลใจแม้จะสร้างขึ้นได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะอยู่ยั้งยืนยง ยังต้องการกระบวนการกระตุ้นที่ต่อเนื่อง กลุ่มหรือทีมจะต้องพบกันบ่อย ไม่ใช่ปีละครั้ง ต้องขยันประชุม ช่วยกันวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและร่วมทำแผน วันนี้มีความบันดาลใจ ใช่ว่าพรุ่งนี้จะยังมี ต้องเข้าใจตนเอง เข้าใจสมาชิกทีม ให้โอกาสกันและกัน สนับสนุนกันแลกัน
4. ความบันดาลใจจะสูง เมื่อมีการเห็นคุณค่า (recognition) คนจะทุ่มเทเพื่อให้ได้รับการยอมรับมากกว่าเพื่อสิ่งอื่นใด จึงต้องสร้างวัฒนธรรมยอมรับกันและกันในกลุ่ม มีการใช้คำชมที่เป็นของจริงบ่อยๆ
5. การได้มีส่วนร่วม จะก่อแรงบันดาลใจให้สมาชิก ต้องให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ต้องถามความเห็น ต้องให้โอกาสแสดงออก จึงจะเกิดความบันดาลใจ อาจใช้วิธีบังคับให้ทุกคนออกไอเดีย คิดนวัตกรรมที่จะทำร่วมกัน
6. การได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มหรือของทีม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ควรเรียนรู้จากความล้มเหลวในอดีต แต่โฟกัสที่การสร้างความก้าวหน้าทีละนิดๆในปัจจุบัน หยิบตัวชี้วัดหรือรูปธรรมที่แสดงให้เห็นความก้าวหน้าออกมาตีแผ่ในหมู่สมาชิก หยิบความสำเร็จของสมาชิกขึ้นมาแชร์
7. ความท้าทายจะก่อแรงบันดาลใจ ก็ต่อเมื่อเป็นความท้าทายที่มองเห็นลู่ทางชนะ ถ้าตั้งเป้าสูงเกินไป อาจทำลายความบันดาลใจ ต้องให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สมาชิกจะทำได้จริง จึงจะก่อแรงบันดาลใจ
8. สมาชิกทุกคนมีสายชนวนที่จะก่อเกิดแรงบันดาลใจขึ้นได้ทั้งนั้น เพียงแต่ต้องหาสายชนวนนั้นให้เจอ แล้วจุดมัน
9. การมีส่วนว่าได้ร่วมเป็นเจ้าของ (sense of belonging) เป็นความบันดาลใจอย่างหนึ่ง ยิ่งกลุ่มเล็ก ยิ่งมีความรู้สึกเป็นเจ้าของสูง มีความภักดีสูง
10. กิจกรรมร่วมเป็นที่มาของความบันดาลใจของกลุ่ม ควรหา “กิจกรรมนอกหลักสูตร” ดึงคนเข้ามาหากัน ทำอะไรด้วยกัน บ่อยๆ
11. ผู้นำที่กระตุ้นเก่ง เป็นความบันดาลใจแก่สมาชิก ผู้นำต้องเป็นคนมีโลกทัศน์พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง มองหาโอกาสใหม่ และพร้อมรับคำตำหนิเอง
          12. ใช้วิธีจูงใจสมาชิกด้วยตัวกระตุ้นภายนอก (extrinsic motovator) เช่นเงิน การยอมรับของเพื่อน คะแนน รางวัล และตัวกระตุ้นภายใน (intrinsic motivator) เช่น ความสุข เป้าหมายส่วนตัว การได้ปลื้มกับบุญ การได้เรียนรู้ การมีสุขภาพดี  
                  
          ทั้งหมดนี้เป็นหลักวิชานะครับ เหมือนผมสอนว่ายน้ำทางไปรษณีย์ ส่วนการใช้งานจริงคุณต้องลองเอาไปทำดู
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.      Denny, Richard. 2005. Motivate to Win (3rd Edition). Kogan Page, Limited.
2.      Ephross, Paul H. and Vassil, Thomas V. 2005. Groups that work: Structure and Process. Columbia University Press
3.      Forsyth, Patrick. 2006. How to Motivate People (2nd Edition). Kogan Page, Limited.
4.     Bandura, A. Social cognitive theory: An agentic perspective. Annual Review of Psychology 2001: 52; 1-26.
5.     Kahne, J. E., & Sporte, S. E. (2008). Developing citizens: The impact of civic learning opportunities on students’ commitment to civic participation. American Educational Research Journal. doi: 10.3102/0002831208316951
6.     Zukin, C., Keeter, S., Andolina, M. W., Jenkins, K., & Carpini, M. X. D. (2006). A new engagement? Political participation, civic life, and the changing American citizen. Oxford, UK: Oxford University Press.

…………………………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน
13 กพ. 57

Jogging day 14
(Brisk walk workout @ Rama 9 Park)
27°C, mist, mostly cloudy
It wasn’t sunny yet when … and I headed out for brisk walking at Rama 9 Park.  The park this morning was peaceful with few exercisers on their gait. The temperature was beautiful  with a slight breeze blowing. My legs are quite alright as well as my two knees. They are trustable. Please be sure that my brisk-walk workout was not just a leisurely stroll. I made it count. I used good running form, and pumped my arms so that my heart stayed elevated though it was not as tiring as jogging compared the distance with the same amount of time (30 mins)
I’ve been using Nike Run app to assist me map my jogging (brisk-walking) route, track my progress. Moreover the Nike Run app tracks distance, pace, time and calories burned with GPS giving me audio feedback every 1 kilometer I achieve. It adds a bit fun and interesting in my jogging routine. Wouldn’t it be great if we share it with your blog readers especially the guy who wrote you asking for advice on ‘Build up Motivation’ It is a free app.  It’s here to download:
Let me show you my today’s record. The green line is my brisk-walking route.