Latest

SSS ปุ่มไซนัสเสียการทำงาน

13 สค. 56
เรียน คุณหมอสันต์ ค่ะ
    ติดตาม อ่านบทความคุณหมอบ่อยๆ ค่ะ มีความรู้เพิ่มขึ้น สมองไม่ฝ่อด้วยค่ะ วันนี้เขียนถามเรื่องโรคหัวใจเพื่อขอคำแนะนำค่ะ
     ปัจจุบันอายุ 51 ปี 2 เดือน สูง 156 น้ำหนัก 46 ความดันไม่สม่ำเสมอ (วิ่งขึ้นลงไปมานานแล้ว 10 ปี) ตั้งแต่ 110 – 180 ความดันตัวล่างก็ 60 – 90, 1 ปีหลัง (จากเดิมที่ออกกำลังบ้างไม่ค่อยสม่ำเสมอ) ออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ย ด้วยการแอโรบิค 45 นาที แล้ววิ่งเหยาะๆ อีก 2 กิโล หรือ ว่ายน้ำ 45 นาที ค่าตรวจวัดไขมันในเลือดล่าสุดสองเดือนที่ผ่านมา ตัวรวมได้ 207, HDL = 85, ไตรกลีเซอไร =56, ชีพจรเฉลี่ย(จับเอง) 38-44 ชีพจรหลังแอโรบิคทันที 58-63, ผล Holter มี sinus pause ยาวสุดคือ 4.81 ค่ะ ถ้าคุณหมอจับชีพจร ก็จะจับได้ว่าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอทุกครั้ง ดื่มกาแฟเกือบทุกวัน วันละ 1 แก้วค่ะ ไม่นอนดึก ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เคยตรวจไทรอยด์ และไม่เล่นการพนัน (อันนี้ของแถมค่ะ) ไม่วูบค่ะ 
    ไปพบคุณหมอโรคหัวใจโดยคำแนะนำอย่างยิ่งยวดของคุณหมอที่ไปขอไปรับรองแพทย์เพื่อลงสระว่ายน้ำแล้ววัดชีพจรได้ต่ำและไม่สม่ำเสมอ และคุณหมอที่รพ….. (พบคุณหมอด้วยอาการท้องเสีย แต่คุณหมอแจ้งว่าน่าจะตรวจหัวใจต่อ) และ …
    คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจรพ…. วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    ประวัติการรักษาปัจจุบัน – รักษาอยู่ที่รพ… ไม่มียาทาน ล่าสุดพบคุณหมอเมื่อ 5 สิงหาคม 56 นัดครั้งต่อไป 2 ธค 56 
    ติด Holter มา 3 ครั้ง ครั้งแรกระบุ – Bradyarrhymia ครั้งที่สองระบุ – Paroxymal AF ครั้งสุดท้าย – SSS ค่ะ 
    เข้ารักษา AF ด้วยการ EP and AF Ablation เมื่อ 10-11 กค 55  คุณหมอแจ้งหลังทำว่าไม่ได้จี้เนื่องจากเมื่อกระตุ้นแล้วไม่มีอาการเกิด (จึงรอดตัว) 

    ประวัติในอดีต: เคยเป็นโรคลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทสมัยเมื่อยังเล็กอยู่ค่ะ 3 ขวบ คุณแม่เล่าว่าคุณครูเป็นคนสังเกตุเห็นและคุณแม่พาไปรักษาที่รพ รามา รักษาด้วยการทานยา 1 เดือนก็หายขาด ตรวจร่างกายอีกครั้งอายุ 18 เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย คุณหมอ(ผอ.รพ…. และ รพ.ที่….) แจ้งว่ามีเสียงผิดปกติในหัวใจ ไม่ต้องรักษา แต่ไม่ควรเรียนในสาขาที่เรียนหนักและทำงานหนัก
    ไม่มีการวูบ หรือ วิงเวียน ออกกำลังได้ตามปกติ นอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง 11.00 – 06.00 

    คุณหมอที่รักษาแจ้งว่าโดยทางการแพทย์ถ้าชีพจรต่ำกว่า 35 แม้ไม่มีอาการ ก็จะมีความจำเป็นต้องติด Pacemaker ปัจจุบันดำเนินชีวิตตามปกติและสบายดี เคยจับชีพจรด้วยตัวเอง 31 ก็เคยจับได้ค่ะ (ใน Holter ค่าต่ำสุด 29 ค่ะ) ไม่อยากให้มีอะไรฝังในร่างกาย รบกวนขอคำแนะนำสถานะปัจจุบันว่า และการดำเนินของโรคจะพัฒนาดีขึ้นได้ไหมค่ะ ปัจจุบันหลังทำ EP & AF Ablation ก็พบคุณหมอทุก 3-4 เดือนค่ะ (ใช้วิธีจับชีพจร ฟังเสียงหัวใจ และซักถามค่ะ) ทั้งนี้ส่งผลการตรวจ Echo, CTA, Holter เพื่อเป็นข้อมูลค่ะ
ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง รบกวนคุณหมอเก็บเป็นความลับด้วยค่ะ เกรงจะกระทบคุณหมอ และ รพ ที่อ้างอิง
……………………………………
https://mail.google.com/mail/ca/u/0/images/cleardot.gif
ขอข้อมูลเพิ่มประเด็นเดียว ว่าเคยมีอาการหน้ามืด หรือวูบ หรือเป็นลมหมดสติหรือไม่ครับ
สันต์
…………………………………….
https://mail.google.com/mail/ca/u/0/images/cleardot.gif
ข้อมูลเกี่ยวกับเป็นลมและวูบมีดังนี้ค่ะ – เมื่อยังเป็นเด็กเล็กประมาณ 3-4 ขวบ ค…
ข้อมูลเกี่ยวกับเป็นลมและวูบมีดังนี้ค่ะ
    เมื่อยังเป็นเด็กเล็กประมาณ 3-4 ขวบ คุณแม่บอกว่าเคยอยู่ๆ ก็ตกเก้าอี้ไปไม่ได้สติไปครั้งหนึ่ง ก็ไม่มีอะไร 
    – เมื่อสามปีก่อน ไปบริจาคโลหิต แล้วไปเดินซื้อของที่ท่าพระจันทร์ แดดเปรี้ยง แล้วไปเยี่ยมไข้ ที่คิริราช ใส่ Mask ก่อนเยี่ยมเข้าไปห้องคนไข้เป็นลมเลยค่ะ รู้สึกตัวว่าจะเป็นลม แล้วเป็นลม 
    – เมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อนบอกว่า ลุกขึ้นเร็ว แล้วก็ไม่รู้สึกตัวไปนิดหนึ่ง
    – ประมาณ 6 เดือนก่อน หลังแอโรบิค และ ว่ายน้ำ หิวข้าวมาก ตาลายค่ะ ทานอาหารแล้วก็ปกติ

มีเท่านี้ค่ะ
…………………………………………………….
เพิ่มข้อมูลประวัติการซักถามและประกันสังคมค่ะ
    – จากผล Holter ครั้งที่ 2 คุณหมอถามว่า จะทานแอสไพริน หรือไม่ และคุณหมอก็ตัดสินใจไม่จ่ายค่ะ ปกติไม่ชอบทานยาค่ะ
    – คุณหมอเคยถามว่า จะติด Pacemaker ไหม ได้ตอบคุณหมอว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ยังไม่ติดค่ะ คุณหมอแจ้งว่าถ้าเกิด หยุดนานกล้วว่าจะไม่มีตัวช่วยค่ะ 
    – และก็ให้ศึกษา Pacemaker ไว้ด้วย ถ้าจะติดก็อาจเป็นแบบมีสาย 2 เส้น แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะเป็นประเภทไหนค่ะ พบคุณหมอครั้งล่าสุดไม่ได้พูดถึง Pacemaker เลย และคุณหมอไม่สั่งทำ Holter หรือ Echo ก่อนนัดครั้งต่อไป (ใช้สิทธิคนไข้ถามไปแล้วค่ะ)
    – มีประกันสังคมประเภท 1 ที่รพจุฬา และ ครั้งที่ทำ AF Ablation ใช้ประกันสังคมของจุฬาจ่ายค่าห้องเพิ่มวันละ 700 ค่ะอื่นๆ ไม่เสียค่ะ
ถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องการติด Pacemaker เสียชีวิตไปเลยก็ไม่เป็นไรค่ะ
…………………………………………
26 เมย. 57
เรียน คุณหมอสันต์ คุณหมอยังไม่ได้ตอบให้เลยค่ะ
………………………………………………..
ตอบครับ
โธ่..ถัง ผ่านไปจนข้ามปีแล้ว ผมนึกว่าเลิกกันไปโดยพฤตินัยแล้วถึงแม้ไม่ได้ถอนทะเบียน นี่ถ้าไม่เขียนจดหมายมาทวงสารภาพว่าผมก็คงไม่ตอบ เพราะชีวิตผม อะไรที่ผ่านมา ผมก็ให้มันผ่านไป แบบว่า..
          “…โอ้ว่า อนิจจา ความรัก
            เพิ่งประจักษ์ ดังสาย น้ำไหล
            ตั้งแต่ จะเชี่ยว เป็นเกลียวไป
            ไหนเลย จะไหล คืนมา…”
แต่เอาเถอะ เมื่อคุณเขียนมาทวง ในวันที่ผมยังมีแรง ผมยินดีขุดเอามาตอบให้ ที่ว่ามีแรงเพราะสุดสัปดาห์นี้ไปสอน Health Camp ส่งท้ายก่อนปิดซีซั่นเพราะเข้าหน้าร้อน มีผู้มาเรียนสิบกว่าคน จำนวนคนไม่มากอย่างนี้ สอนสบายๆไม่เหนื่อย ยังมีอารมณ์ร้องเพลงกับลูกศิษย์ได้ตั้งหลายเพลง มีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น ร้องเพลงญี่ปุ่นให้ฟังด้วย เขาเป็นผู้ชาย ท่าทางจริงจังขึงขัง และร้องเพลงเพราะดี ส่วนลูกสาวเขาร้องเพลงชมดาวชมเดือน แต่ผมไพล่ไปคิดว่าเขาพรรณนาเรื่องเส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยวเสียฉิบ
ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ขอนิยามศัพท์ที่คุณเขียนย่อมามากมายให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้ทราบก่อนนะ
Holter ถ้าเขียนเต็มคือ Holter monitoring คือการตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดปกติชนิดที่ตอนที่ไปพบแพทย์ไม่มีอะไรผิดปกติแล้ว วิธีตรวจคือติดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้อยไว้กับตัวข้ามวันข้ามคืน ส่วนใหญ่ติดกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน เพื่อจะเอาคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เครื่องบันทึกไว้มาวิเคราะห์ว่ามีความผิดปกติของการเต้นหัวใจแบบไหนกันแน่
Sinus คำนี้ไม่ได้หมายถึงโพรงไซนัสที่จมูกที่เวลาอักเสบแล้วมีน้ำมูกไหลนะ คำนี้เขียนเต็มคือ sinus node หมายถึงตุ่มหรือปุ่มในที่ตัวหัวใจห้องบน ที่คอยปล่อยไฟฟ้าให้วิ่งไปกระตุ้นหัวใจให้บีบตัวเป็นระยะๆ
Sinus pause หมายถึงการที่ปุ่มไซนัสซึ่งควรจะปล่อยไฟฟ้าเหมือนฟ้าแลบ แปล๊บ แปล๊บ แปล๊บ เป็นจังหวะจะโคนทุกวินาที อยู่ๆกลับหยุดนิ่งเฉยไม่ปล่อยไฟฟ้าเสียหลายวินาที ทำให้หัวใจพลอยนิ่งไม่ยอมเต้นไปชั่วครู่ ซึ่งอาจมีผลให้หน้ามืดเป็นลมได้
Bradyarrhymia หมายถึงการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นช้ากว่าปกติ คือช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที
AF ย่อมาจาก atrial fibrillation หมายถึงการที่หัวใจห้องบนเต้นรัวไม่เป็นจังหวะจะโคน ทำให้หัวใจห้องล่างรับลูกไม่ถูก จังหวะการเต้นจึงเสียหมดแบบจับจังหวะไม่ได้เลย
Paroxymal AF หมายถึงการที่หัวใจห้องบนเต้นรัวเป็นพักๆ บัดเดี๋ยวเกิด บัดเดี๋ยวดับ
SSS ย่อมาจาก sick sinus syndrome หมายถึงการที่ตุ่มไซนัสทำงานผิดปกติแบบว่าปล่อยไฟฟ้าบ้าง
ไม่ปล่อยบ้าง ช่วยที่ไม่ปล่อยหัวใจก็ไม่เต้น
EP ย่อมาจาก electrophysiologic study หมายถึงการเอาสายไฟฟ้าร่อนไปตามหลอดเลือดไปจนถึงผนังด้านในของหัวใจ แล้วจิ้มผนังหัวใจวัดดูไฟฟ้าแบบปูพรมไปทีละจุดว่าตรงไหนมีไฟวิ่ง ตรงไหนไม่มีไฟวิ่ง เพื่อหาเส้นทางที่ไฟฟ้าวิ่งลัดวงจรหรือวิ่งวนอยู่นอกเส้นทางปกติ เป้าหมายสุดท้ายก็คือหาจุดที่จะ “จี้” ทำลายเส้นทางนั้นเหมือนทุบสะพานทิ้ง ไม่ให้ไฟฟ้าวิ่งได้ เป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นแบบเร็วผิดปกติ
AF Ablation ก็คือการ “จี้” เส้นทางที่ไฟฟ้าวิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดหัวใจห้องบนเต้นรัวนั่นแหละ
Pacemaker คือเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าที่ใช้ฝังไว้ในร่างกายเพื่อรักษาคนที่หัวใจเต้นช้าหรือไม่ยอมเต้นด้วยเหตุใดๆก็ตาม
Echo คือการตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียง เพื่อดูว่าลิ้นของหัวใจปิดเปิดดีไหม กล้ามเนื้อของหัวใจทุกส่วนบีบตัวดีไหม และดูว่าผนังหัวใจส่วนไหนหนาตัวผิดปกติหรือไม่
CTA ย่อมาจาก computer tomographic angiogram หมายถึงการตรวจดูภาพของหลอดเลือดหัวใจโดยวิธีฉีด “สี” หรือสารทึบรังสีเข้าไปในกระแสเลือด แล้วใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ตามถ่ายภาพตอนที่สีเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อดูว่าหลอดเลือดหัวใจตีบไปตรงไหนบ้าง อันนี้คนละอย่างกับการสวนหัวใจ (CAG – coronary angiography) นะ การสวนหัวใจต้องเอาสายสวนร้อยไปตามหลอดเลือดจนถึงหัวใจ แต่นี่ไม่ต้องใช้สายสวนเลย
เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
1.. ถามว่าคุณป่วยเป็นอะไรกันแน่ ตอบตามหลักฐานที่ให้มาว่าคุณเป็นอยู่สองโรค คือ
โรคที่หนึ่ง โรคตุ่มไซนัสทำงานผิดปกติ (sinus node dysfunction) ซึ่งถ้าเป็นมาถึงจุดหนึ่งอย่างกรณีคุณนี้จะเรียกว่าเป็นโรคตุ่มไซนัสป่วย (sick sinus syndrome หรือ SSS ก็ว่าได้
โรคที่สอง คือโรคหัวใจห้องบนเต้นรัวเป็นพักๆ (paroxysmal AF)
2.. ถามว่าการดำเนินของโรคตุ่มไซนัสป่วยนี้เป็นอย่างไร ตอบว่าโรคนี้มีแต่ทรงกับทรง จะหายก็ไม่หาย จะทรุดก็ไม่ทรุด จะตายก็ไม่ตาย ขอโทษ..พูดผิด คือโรคนี้มีอัตราตายต่ำมาก แต่ถ้าคุณไปอ่านหนังสือทางแพทย์คุณอาจเข้าใจผิดได้เพราะเขาบอกว่าโรคนี้มีอัตราตาย 2% ต่อปี แต่ในความเป็นจริงคือเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี ที่ตายๆกัน 2% ต่อปีนั้นเป็นการตายด้วยโรคอื่น (เช่นหลอดเลือดหัวใจตีบ) ที่ตายด้วยการที่ตุ่มไซนัสเบี้ยวอย่างเดียวเพียวๆนั้นมีบันทึกไว้น้อยๆๆจนแทบไม่มี
3. ถามว่าหมอจะจับฝังเครื่องกระตุ้น จะฝังดี หรือไม่ฝังดี ตอบว่าในทางการแพทย์การจะทำอะไรนั้น จะทำเมื่อได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในสองประเด็นนี้ คือ
ประเด็นที่ 1. ทำเมื่อทำแล้วชีวิตจะยืนยาวขึ้น (length of life) ดังที่ได้บอกแล้วว่าอัตราตายของโรคนี้ต่ำมาก ปัจจุบันนี้จึงไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยันว่าการฝังเครื่องกระตุ้นจะทำให้คุณมีอายุยืนยาวขึ้น
ประเด็นที่ 2. ทำเมื่อคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น (quality of life) หรือพูดง่ายๆว่าในแง่ของการบรรเทาอาการ เมื่อวิเคราะห์จากเรื่องเล่าทั้งหมดแล้ว คุณไม่เคยมีอาการที่เกิดจาก SSS เลย เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะหมอทะลึ่งจับชีพจรแล้วพบว่ามันช้ากว่าปกติ ส่วนอาการเป็นลมหมดสติที่คุณเล่ามาทั้งสี่ครั้งนั้น ไม่มีครั้งไหนที่เกิดจาก SSS กล่าวคือ
          ครั้งแรก ที่หลับนกแล้วหัวทิ่มตกเก้าอี้เมื่ออายุสี่ขวบนั้น รับประกันว่าไม่เกิดจาก SSS แน่นอนเพราะ SSS เป็นโรคยอดนิยมของคนแก่ ผมประกันเฉพาะในชาตินี้นะครับ หากต่อเนื่องมาจากชาติที่แล้วอันนี้ไม่ประกัน (แหะ แหะ พูดเล่น)
ครั้งที่สอง ที่หน้ามืดหลังบริจาคโลหิตแล้วเป็นลมหลังเดินฝ่าแดดร้อนนั้นเกิดจากร่างกายขาดน้ำ (volume deficit หรือ dehydration) โชคดีนะที่ไม่ตาย เพราะการขาดน้ำนี้ตายได้แน่นอน แน่นอนถึงขนาดว่ามีอยู่ยุคหนึ่งที่ระบบสามสิบบาทห้ามรับ (admit) คนไข้ไว้นอนรพ.แบบฉุกเฉินถ้าไม่ได้เป็นอะไรถึงขนาดหากรักษาไม่ทันจะตายได้ เขียนเป็นป้ายตัวเบ้งติดไว้ที่ห้องฉุกเฉินเลย ว่าถ้าไม่ตายไม่รับ เอ๊ย ไม่ใช่ ถ้าไม่ถึงขนาดรักษาไม่ทันจะตายไม่รับ สมัยนั้นกฎนี้แรง หมอคนไหนฝ่าฝืนก็จะถูกเจ้านายเรียกตำหนิว่าจะทำให้โรงพยาบาลเจ๊งเนื่องจากสำนักประกันสุขภาพไม่ยอมจ่ายเงิน แต่คนไข้ก็เป็นธรรมดาว่าต้องมาขอ มาหลอก มาอ้อน มาขู่ ให้หมอรับเข้านอนในรพ.เป็นประจำ บางทีหมอรำคาญทนการรบเร้าไม่ไหวก็รับไว้ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ได้เป็นอะไรหนักถึงขั้นรักษาไม่ทันแล้วจะตายดอก วิธีป้องกันตัวเองของหมอจากการถูกนายด่าก็คือ เขียนคำวินิจฉัยว่า
“ร่างกายขาดน้ำ (dehydration)”
คือวินิจฉัยแบบนี้นายไม่ด่าแน่นอน เพราะหากรักษาไม่ทันตายได้จริงๆ ดังนั้นท่านผู้อ่านทุกท่านให้ขยันดื่มน้ำเข้าไว้ โดยเฉพาะหลังการเสียของเหลวในร่างกายเช่นร้อนมาก เสียเหงื่อ ท้องเสีย มีแผลเสียเลือด เป็นต้น
เราพูดกันเรื่องอะไรอยู่นะ อ้อ.. อาการหน้ามืด
ครั้งที่สาม ที่คุณเล่าว่าลุกขึ้นเร็วแล้ววูบ อันนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่โรค
ครั้งที่สี่ ที่คุณเล่าว่าว่ายน้ำ หิวข้าว ตาลาย อันนั้นเป็นโรคก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ไม่ใช่โรค SSS
กล่าวโดยสรุป คุณไม่ได้มีอาการอะไรจาก SSS เลย การใส่เครื่องกระตุ้น จะไม่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคุณ หมายความว่าจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้น
เมื่อความยืนยาวของชีวิตก็ได้ก็น้อย คุณภาพชีวิตก็ไม่ดีขึ้น คุณจะใส่หรือไม่ใส่ก็สุดแล้วแต่คุณละครับ
4.. ถามว่าระหว่างโรคตุ่มไซนัสทำงานผิดปกติ (SSS) กับโรคหัวใจห้องบนรัวเป็นพักๆ (paroxysmal AF) โรคไหนร้ายกว่ากัน ตอบว่า paroxysmal AF ร้ายกว่าเพราะทำให้อุบัติการณ์เป็นอัมพาตเฉียบพลันสูงขึ้นชัดเจน เพราะจังหวะที่หัวใจห้องบนเต้นรัว เลือดจะค้างอยู่ในห้องหัวใจจนกลายเป็นลิ่ม พอจังหวะที่หัวใจห้องบนเลิกเต้นรัว ลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ก็จะถูกถีบ (atrial kick) ตามกระแสเลือดออกไป ซึ่งเคราะห์หามยามร้ายก็จะลอยละล่อยไปอุดหลอดเลือดในสมอง
5. ถามว่าถ้ายังงั้นใส่เครื่องกระตุ้นไม่ดีหรือ จะได้ลดอุบัติการณ์เกิดอัมพาตเฉียบพลันได้บ้าง ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจในผู้ป่วย AF จะลดการเกิดอัมพาตลงได้ แต่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการใช้ยาลดการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) จะลดอุบัติการณ์เกิดอัมพาตลงได้
6.. ถามว่าถ้างั้นจะใช้ยากันเลือดแข็งดีไหม ตอบว่าในทางการแพทย์จะใช้ยากันเลือดแข็งในผู้ป่วย AF เมื่อ “คะแนนความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด” (CHA2DS2-VASc score) สูงตั้งแต่ 1 ขึ้นไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
C = CHF = หัวใจล้มเหลว =  1 คะแนน
H = HT = ความดันเลือดสูง =  1 คะแนน
A2 = Age2 = อายุ 75 ปีขึ้นไป =  2 คะแนน
D = DM = เบาหวาน  =  1 คะแนน
S2 = Stroke = เคยเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ = 2 คะแนน
V = Vascular disease = เป็นโรคหลอดเลือด =  1 คะแนน
A = Age = อายุ 65-74 ปี =  1 คะแนน
Sc = Sex category = เป็นหญิง =  1 คะแนน
ในกรณีของคุณนี้ได้ 1 คะแนนจากความเป็นผู้หญิง ถ้าคุณอยากจะใช้ยากันเลือดแข็ง หมอเขาก็ให้ได้นะครับ เพราะมีข้อบ่งชี้แล้ว
7. ถามว่ามีอะไรที่ควรทำอีกไหม ตอบว่ามีสิครับ ก็การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ไงครับ เพราะหัวใจเต้นช้าจำนวนไม่น้อยเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำเกินไป (hypothyroidism) ซึ่งตรวจได้ง่ายๆแค่เจาะเลือด และหากพบก็รักษาได้ง่ายๆแค่กินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนเม็ดละไม่ถึงบาท แต่นี่คุณไปทำเรื่องยากๆแพงๆอย่างเช่น EP ซึ่งทั้งรุกล้ำ เจ็บตัว เลือดตกยางออก และมีความเสี่ยง คุณกล้าทำ แต่ของง่ายๆ ไม่เสี่ยง และดีมีประโยชน์ไม่แพ้กัน คุณไม่ทำ ผมไม่เข้าใจ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.      Lamas GA, Lee KL, Sweeney MO, Silverman R, Leon A, Yee R, et al. Ventricular pacing or dual-chamber pacing for sinus-node dysfunction. N Engl J Med. Jun 13 2002;346(24):1854-62. [Medline].
2.      European Society of Cardiology. 2012 Update of the  ESC Guidelines on the management of atrial fibrillation. European Heart Journal 2012. DOI:10.1093/Eurheartj.ehs253