Latest

อีกหนึ่งคนจริงตัวเป็นๆ ที่ปรับชีวิตอย่างสิ้นเชิงแล้วโรคเริ่มถอยกลับ

เรียนคุณหมอสันต์ครับ
คุณหมอจำผมได้ไหมครับ คนที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบสามเส้น แล้วหมอเชียงใหม่แนะนำให้ผ่าตัดบายพาสแต่ผมยังไม่อยากผ่า แล้วได้มาอบรม (คอร์สสุขภาพที่ Health Cottage) เมื่อ 26-27 เมย. 56 หลังการอบรม ผมได้นำไปดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น ในการเลือกซื้อและทานอาหาร ส่วนการออกกำลังกายก็รักษาระดับ คือ เช้าเดินประมาณ 40-45 นาที ขณะเดินก็บริหารท่อนแขนโดยยกดัมเบลเหล็กประมาณ 1 กก. ช่วงเย็นขี่จักรยานรอบหมู่บ้านหรือห้องฟิตเนต 40-45 นาที นานๆครั้งจะมีอาการเหนื่อยบีบหัวใจนิดๆตอนเริ่มต้น ไม่ได้ออกกำลังกายหนักถึงกับเล่นเทนนิส ผมเล่นกอล์ฟสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยการเดิน 18 หลุมไม่มีอาการเหนื่อยครับ ยกเว้นสนามภูเขา ที่ต้องเดินขึ้น-ลงเนิน เหนื่อยเล็กน้อย ผมอ่านหนังสือ “คุยกับหมอสันต์” หน้าที่ 155 คนที่ตีบ 3 เส้น ดูแล้วคล้ายๆกัน แต่ ค่า EF ของผมดีกว่า (81 %)

เมื่อ 22 กค. 57 ผมไปสวนหัวใจ ตามคำแนะนำหมอที่เชียงใหม่ บอกว่าสามารถทำบอลลูนให้ได้ (ไม่น่าเล้ย) ปรากฏว่า พอฉีดสีเข้าไปแล้ว หมอบอกว่า มีหินปูนพอกมาก เสี่ยงที่จะทำ เลยไม่ทำ แนะนำเหมือนเดิมคือบายพาส ผมยังไม่ตัดสินใจ ขอคิดก่อน เพิ่งมาอ่านที่หมอเขียน กรณีเดียวกันเลย การอุดตัน พอๆกัน แต่ EF ผมดีกว่า ผลที่ได้คือการฉีดสี 2 ครั้งมาเปรียบเทียบกัน ผมดูแล้วมีตัวหนึ่ง LAD จาก 90 ลงมา 80 % (ตามที่แนบ) ผมไม่เข้าใจภาษาที่หมอเขียน ยกเว้นคำที่หมอสันต์อธิบายไว้ครับ
ผมขอความกรุณาหมอวิเคราะห์ผลของ 17 มค. และ 22 กค. ให้ผมเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่ามีเส้นไหน ดีขึ้น แย่ลง หรือเท่าเดิม (ตามแผ่นฉายที่วิจัยที่อบรม ลดลง) ในที่แนบมีชื่อยาที่ทานด้วยครับ
ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาหลังไปอบรมและเปลี่ยนการดำรงชีวิต ดูร่างกายภายนอกผอมลง นน.ลดลง 4 กก. ตอนนี้ 50 กก. แต่รู้สึกว่าเหมือนไม่เป็นอะไร เมื่อก่อนขับรถช่วงบ่ายใช้เวลาขับ 2.30 ชม.จะง่วง แต่ตอนนี้ ไม่ง่วง การขับรถเป็นข้อห้ามไหมครับ
หมอที ชม.บอกว่า ปัจจุบันใช้เส้นเลือดฝอยไปช่วยเลี้ยง อาจเกิดความเสี่ยงฉับพลันได้ ผมลดความเสี่ยงโดยไม่ออกกำลังกายหนัก ไม่วิ่ง งดทานของทอดนอกบ้าน (ขึ้นบันไดที่บ้านชั้น 2 ไม่เป็นไรครับ)

ปล.หากข้อมูลผมจะเป็นประโยชน์กับท่านอื่นๆ ผมยินดีให้บอกเล่าต่อครับ
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
…………………………………………………………
ตอบครับ
     1.. การที่แพทย์ชวนสวนหัวใจโดยตอนแรกบอกว่าน่าจะทำบอลลูนได้ แต่พอสวนจริงๆแล้วทำไม่ได้ ต้องถอยทัพ อันนี้แพทย์ท่านนั้นทำถูกแล้ว และแสดงว่าท่านเป็นแพทย์ที่ดีนะครับ เพราะเมื่อใดที่เห็นว่าหากทู่ซี้ทำไปแล้วคนไข้จะเสียมากกว่าได้ก็ถอยฉากโดยไม่ห่วง “หน้า” หรือ “ฟอร์ม” ของตัวเอง แสดงว่าแพทย์ท่านนั้นบรรลุความเป็นหมออาชีพแล้ว
     2.. ขอให้ผมช่วยประเมินผลการสวนหัวใจสองครั้งว่าหลอดเลือดดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรบ้าง ตอบว่าผมไม่เห็นภาพจึงช่วยประเมินให้ไม่ได้ครับ ผมแนะนำให้ถือตามรายงานของคุณหมอที่สวนหัวใจ ซึ่งคุณก็บอกเองไปแหม็บๆว่ารอยตีบที่หลอดเลือดข้างซ้าย (LAD) เมื่อสวนหัวใจครั้งหลังพบว่าตีบน้อยกว่าเมื่อสวนหัวใจครั้งแรก อีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลที่มีประโยชน์คือการที่อาการทั่วไปของคุณดีขึ้น มี fitness มากขึ้น เป็นผลประเมินที่เชื่อถือได้อีกทางหนึ่งว่าโรคของคุณกำลังถอยกลับ
     3.. ถามว่าเป็นโรคหัวใจตีบสามเส้นขับรถได้ไหม ตอบว่าขับได้ครับ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าคนเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบขับรถแล้วจะประสบอุบัติเหตุสูงกว่าคนทั่วไป สมัยผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เคยต้องไปขึ้นศาลเพราะเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง คือคนไข้เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบสามเส้นแบบคุณนี้แหละ เขามีอาชีพขับรถเมล์ เมื่อหมอประจำครอบครัว (GP) ของเขาเห็นผลการตรวจสวนหัวใจว่าหลอดเลือดตีบก็เขียนหนังสือไปถึงบริษัทรถเมล์ห้ามไม่ให้เขาขับรถเมล์ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับคนในชุมชนซึ่งเป็นผู้โดยสาร เพราะหมอ GP เขาดูแลชุมชน เขาต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของคนในชุมชนของเขา ข้างคนไข้ก็แจ้นมาหาผม ผมบอกว่าขับได้ และออกใบรับรองแพทย์ให้เขาขับรถเมล์ได้ เรื่องก็เลยต้องไปถึงศาลเพราะหมอสองคนพูดไม่เหมือนกัน ผมให้การต่อศาลโดยใช้สถิติของโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคหัวใจ ว่ากรีนเลนมีคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ขณะนั้นกี่หมื่นคน (ผมจำไม่ได้แล้วตอนนี้) และเกือบทั้งหมดขับรถอยู่บนถนน ในจำนวนนี้ประมาณ 2,000 คนอยู่ในคิวรอผ่าตัดบายพาส เพราะที่นั่นกว่าจะได้บายพาสต้องรอเฉลี่ยหลายปีเนื่องจากเป็นระบบสามสิบบาท เอ๊ย..ไม่ใช่ เป็นระบบรักษาฟรีแบบสังคมนิยม แต่สถิติการติดตามคนไข้เหล่านี้ย้อนหลังห้าปีที่ฐานข้อมูลของกรีนเลนทำไว้ ไม่มีอุบัติเหตุที่เกิดเพราะคนเหล่านี้เจ็บหน้าอกหรือหัวใจวายคาพวงมาลัยแม้เพียงครั้งเดียว มีสถิติบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุหนึ่งราย แต่ก็เป็นเพราะคนขับรถคันอื่นซึ่งเป็นคนหนุ่มซิ่งรถมาชนรถเขา ผมบอกศาลว่าสิ่งที่คุณหมอ GP ใช้แจ้งระงับไม่ให้คนไข้ขับรถเป็นเพียง “ข้อสันนิษฐาน” ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความห่วงใยคนในชุมชนของเขา แต่สิ่งที่ผมนำเสนอต่อศาลเป็น “ข้อเท็จจริง” ผลปรากฏว่าคนไข้ชนะคดี สามารถทำมาหากินขับรถเมล์ต่อไปได้
     4.. ดูคุณจะเป็นห่วงที่ตัวเองผอมลง คำแนะนำทั่วไปก็คือเวลาอายุมากขึ้น ใครมาทักว่าผอมให้ดีใจ เพราะคนอายุมากที่ผอมจะอายุยืนกว่าคนอ้วน ดังนั้นเมื่ออายุมาก ผอมดีกว่าอ้วน แต่ถ้าคุณไม่อยากผอมมาก ก็เพิ่มอาหารโปรตีนสิครับ ถ้าไม่ชอบอาหารเนื้อสัตว์หมูเห็ดเป็ดไก่ก็ใช้โปรตีนจากพืชเช่นถั่ว งา นัทต่างๆ แทนก็ได้ ถ้าได้โปรตีนวันละสัก 60 -100 กรัมพร้อมกับออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อไปด้วยรับประกันว่าไม่ผอมแน่   
     5.. คำปรารภของคุณหมอที่เชียงใหม่ที่ว่าปัจจุบันนี้ใช้เส้นเลือดฝอยไปช่วยเลี้ยง อาจเกิดความเสี่ยงฉับพลันได้ นั่นเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้มาจากงานวิจัย COURAGE trial ซึ่งทำการวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบสองเส้นบ้าง สามเส้นบ้าง ที่ไม่ได้ตีบตรงโคนหลอดเลือดซ้าย (LM) และที่มีอาการเจ็บหน้าอกไม่ถึงชั้นที่ 4 (คือไม่ถึงกับขยับตัวนิดเดียวเป็นเจ็บ) โดยให้กลุ่มหนึ่งรักษาด้วยการไม่ทำอะไรรุกล้ำ อีกกลุ่มหนึ่งรักษาแบบรุกล้ำ เช่นทำบอลลูนหรือทำบายพาส แล้วตามดูสิบสองปี พบว่าอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือการตายกะทันหันของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันเลย
     6. สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ ท่านเจ้าของจดหมายนี้เป็นตัวอย่างของผู้ลงมือปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างจริงจังด้วยการออกกำลังกายและการปรับอาหารการกิน แม้ว่าจะมาลงมือช้าไปหน่อย คือมาลงมือเอาเมื่อเป็นโรคจ๋าจนทำบอลลูนไม่ไหวและแพทย์แนะนำให้ทำผ่าตัดบายพาสแล้ว แต่แม้จะช้าก็ไม่ได้สายเกินไป และเมื่อลงมือปรับไปแล้วก็มีผลดีให้เห็น อย่างน้อยผลการตรวจสวนหัวใจสองครั้งก็ได้ผลว่าครั้งที่สองดีกว่าครั้งแรก อาการเจ็บหน้าอกก็น้อยลง และความฟิตของร่างกายก็มากขึ้น ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักฐานวิจัยที่วงการแพทย์สรุปได้ก่อนหน้านี้ว่าการปรับวิถีชีวิตทำให้โรคถอยกลับได้ สำหรับท่านที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างคนไข้ท่านนี้ การจะตัดสินใจบอลลูน ไม่บอลลูน ผ่าตัด ไม่ผ่าตัด นั้นไม่สำคัญ ท่านจะทำยังไงก็ได้ ชอบแบบไหนก็ทำไปเถอะ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้และท่านจะต้องทำให้ได้ คือการปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงและจริงจังเหมือนอย่างที่ท่านที่เป็นเจ้าของจดหมายฉบับนี้ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม

1.
Boden WE, O’rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.
2. Boden WE, O’Rourke RA, Teo KK, et al: Optimal medical therapy with or without PCI for stable coronary disease. N Engl J Med 2007;356:1503-1516.

3. Trikalinos TA, Alsheikh-Ali AA, Tatsioni A, et al: Percutaneous coronary interventions for non-acute coronary artery disease: a quantitative 20-year synopsis and a network meta-analysis. Lancet 2009;373:911-918.

4. Stergiopoulos K, Brown DL: Initial coronary stent implantation with medical therapy vs medical therapy alone for stable coronary artery disease: meta-analysis of randomized controlled trials. Arch

5. Go AS, Mozaffarian D, Roger VL, et al: Heart Disease and Stroke Statistics–2013 Update: A Report From the American Heart Association. Circulation 2013;127:e6-e245.

6. Agostoni P, Valgimigli M, Biondi-Zoccai GG, et al: Clinical effectiveness of bare-metal stenting compared with balloon angioplasty in total coronary occlusions: insights from a systematic overview of randomized trials in light of the drug-eluting stent era. Am Heart J 2006;151:682-689.

7. Hanekamp C, Koolen J, Bonnier H, et al: Randomized comparison of balloon angioplasty versus silicon carbon-coated stent implantation for de novo lesions in small coronary arteries. Am J Cardiol 2004;93:1233-1237.

8. Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990fb 336: 129-33 1990. 

9. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
10. Esselstyn CB Jr, Ellis SG, Medendorp SV, Crowe TD. A strategy to
arrest and reverse coronary artery disease: a 5-year longitudinal study
of a single physician’s practice. J Fam Pract 1995;41:560 –568.
11. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.
12. Esselstyn CB Jr. Resolving the coronary artery disease epidemic

through plant-based nutrition. Prev Cardiol 2001;4:171–177.

………………………………………

29 กค. 57

จดหมายจากผู้อ่าน

แฟนชื่อ  …  ……. เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย  เป็นเวลา  4  ปีแล้ว  จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่เคยกินยาตามหมอสั่ง  ไม่กินเลยค่ะ  แต่ตอนนี้วิ่งมาราธอน  42 กิโลค่ะ  รับทั้งถ้วยรับทั้งเหรียญ เพียบ  จากที่อ้วน 78 กิโล  ตอนนี้  60 กิโล  ดูแลตัวเองแบบที่หมอทำ  สุดยอดค่ะ
………………………………………………..