Latest

หมอน้อยอยากเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล

     วันหยุดยาวที่ผ่านมา ผมทำโปรเจ็คสำเร็จไปอีกสองโปรเจ็ค โปรเจ็คที่ 1. ก็คือการต่อเกวียนไว้ปลูกดอกไม้ที่หน้าบ้านโกรฟเฮ้าส์ ท่านผู้อ่านคงจำภาพล้อเกวียนขี้กะโล้ที่ผมถ่ายมาให้ดูหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ตอนนี้มันถูกแปลงโฉมเป็นเกวียนเท่ระเบิดซึ่งออกแบบโดยสถาปนึกสันต์ไปเรียบร้อยแล้ว ผมถ่ายรูปมาให้ดูเป็นหลักฐานด้วย ก่อนที่มันจะถูกกาลเวลากัดกร่อนให้ผุพังไปอีกรอบ

     โปรเจ็คที่ 2. ก็คือโครงการเล่นของสูง คือซ่อมหอคอยไงครับ เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน หวังว่ามันจะเป็นหอคอยที่จะอยู่คู่ไปจนชั่วอายุขัยของบ้านโกรฟเฮ้าส์ ผมใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปหอคอยเห็นท้องฟ้าสีบลูของมวกเหล็กหน้าหนาวมาให้ท่านดูด้วย

    สองโปรเจ็ค เจ็ดวัน เล่นเอาหลังและเอวเคล็ดไปเหมือนกัน การกลับมารอบนี้จึงขอเริ่มต้นด้วยการตอบจดหมายเบาๆของคุณหมอผู้หญิงท่านนี้ก่อนนะครับ ส่วนคำถามเรื่องการเจ็บป่วยหนักๆของคนไข้ ขอเอาไว้วันหลัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………

สวัดดีคระ อาจารย์
หนูเป็นแฟนเพจ คระ ขณะนี้หนู เป็นอินเทิรน 3 อยู่ โรงพยาบาลชุมชน … คระ
หนู มีความฝัน อยากจะเป็น 1. หมอยูโร 2.ผู้บริหารโรงพยาบาลคระ ขณะนี้หนู ได้สมัครเรียนยูโร แล้วคระ กำลังรอประกาดผลอยู่ แต่หนูอยากจะรบกวนถาม อาจารย์เรื่องแนวทางในการเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลคระ ว่าจะต้องเริ่มต้นและวางแนวทางชีวิตยังไง คระ ถ้าอาจารย์จะกรุณาชี้แนะแนวทางให้หนู

ขอบพระคุณมากคระ

……………………………………………………………

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามของคุณ ผมต้องขอถามคุณกลับก่อนว่าทำไมคุณจึงอยากเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล หรืออยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพราะคำตอบของผมมันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพราะเหตุใด

     เหตุที่คนเป็นหมออยู่เดิมคิดอยากจะเป็นผู้อำนวยการ มักมีห้าหกสาเหตุ เช่น
(1) อยากได้เงิน
(2) อยากได้เกียรติและการเคารพยกย่อง
(3) อยากทำงานที่สบายกว่าการเป็นหมอ
(4) อยากมีอำนาจบังคับบัญชาคน
(5) ชอบงานบริหารจัดการเป็นชีวิตจิตใจ
(6) อยากทำโรงพยาบาลให้ได้อย่างที่ใจคุณฝันอยากจะได้

     ถ้าเป็นเพราะเหตุที่ (1) คือ อยากได้เงิน ผมแนะนำว่าคุณเปลี่ยนใจดีกว่า ผมไม่พูดถึงกรณีเป็นผู้อำนวยการที่ไม่ดีที่คอยหาช่องโกงกินนะ เพราะเข้าใจว่านั่นไม่ใช่เจตนาของคุณ  แต่ผมจะเปรียบเทียบระหว่างการเป็นผู้อำนวยการที่ดี กับการเป็นหมอที่ดี การเป็นหมอที่ดีได้เงินมากกว่าแน่นอน อย่างโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ผมเคยบริหารอยู่ เมื่อเอาหมอทุกคนซึ่งตอนนั้นนับทั้งฟูลไทม์พาร์ทไทม์มีอยู่ประมาณ 350 คนมาเรียงกันตามระดับรายได้แล้ว หมอที่เป็นผู้อำนวยการจะไม่ติดหนึ่งใน 50 อันดับแรกของหมอที่มีรายได้สูงสุด ในระดับสากลนั้นก็ชัดเจนเป็นที่รู้กันทั่วโลก จนมีคำฝรั่งติดปากผู้บริหารโรงพยาบาลว่า

     “คุณบริหารธุรกิจให้ดียังไงก็ทำไปเถอะ แต่ทำใจไว้ก่อนนะว่าเงินส่วนใหญ่จะไหลไปเข้ามือหมอ” 

     เพราะโครงสร้างต้นทุนธุรกิจนี้ในระดับสากลคือหนึ่งในสามเป็นค่าแรง (ไม่นับหมอ) หนึ่งในสามเป็นค่าเสื่อมราคาและค่าวัสดุสิ้นเปลือง หนึ่งในสามเป็นค่าหมอ เหลือเป็นกำไรราวสิบเปอร์เซ็นต์ เมืองไทยถ้าคิดเฉลี่ยก็ไม่หนีสูตรนี้เท่าไหร่เว้นเสียแต่เมื่อแยกดูเป็นรายแห่งก็อาจจะแตกต่างกันไป เช่น โรงพยาบาลหัวแถวอาจกำไรถึงยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์ แต่โรงพยาบาลหางแถวขาดทุน เฉลี่ยโหลงโจ้งแล้วก็คือพอๆกับของฝรั่ง ในภาครัฐบาลก็ใช้สูตรนี้ได้ คุณไปดูเถอะ หมอผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ใช่หมอที่อู้ฟู่ที่สุดในจังหวัดดอก ดังนั้นสรุปว่าเป็นหมอธรรมดาๆที่ดีๆ จะได้เงินมากกว่าเป็นผู้อำนวยการที่ดีๆ

     ถ้าเป็นเพราะเหตุที่ (2) คืออยากได้เกียรติและการยกย่อง ผมก็แนะนำว่าคุณเปลี่ยนใจดีกว่า เพราะ “เกียรติ” และ “การยกย่อง” ที่แท้จริง ไม่ได้มากับตำแหน่งใด แต่มากับพฤติกรรมที่แสดงออกถึงน้ำใสใจจริงของคนคนนั้น ดังนั้นเกียรติและการยกย่องจึงมาสู่ทุกๆคนในทุกๆตำแหน่งหากเป็นคนมีพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงธาตุแท้ของความเป็นคนดีมีน้ำใจ หากคุณไปแสวงหาเกียรติจากการมีตำแหน่ง ตำแหน่งที่เป็นของปลอมนั้นจะหลอกคุณให้ใช้ชีวิตไปผิดทางและห่างไกลออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตไปทุกวันๆตราบใดที่คุณยังปลื้มกับตำแหน่งนั้นอยู่
     อีกประการหนึ่ง หากจะเปรียบเทียบระหว่างการเป็นหมออาชีพกับการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล การเป็นหมออาชีพมีโอกาสจะได้รับเกียรติและการยกย่องมากกว่า ขณะที่การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีโอกาสที่จะได้รับการ “ลดเกียรติ” หรือถูก “ตื๊บ” มากกว่า

     ถ้าเป็นเพราะเหตุที่ (3) คืออยากทำงานที่สบายกว่าการเป็นหมอ ผมก็แนะนำว่าคุณเปลี่ยนใจดีกว่า เพราะการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ดี ลำบากกว่าการเป็นหมอที่ดี ยิ่งโรงพยาบาลอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ด้อยพัฒนา ชีวิตของผู้อำนวยการก็ยิ่งลำบาก นานมาแล้วผมเคยไปบรรยายวิชาการโรคหัวใจให้สมาคมแพทย์แห่งประเทศพม่า และได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ผู้อำนวยการได้มาต้อนรับขับสู้ ผมจำท่านได้ดีเพราะท่านมีนิสัยคุยกันไป บัดเดี๋ยวท่านก็ขยับคลายปมผูกโสร่งที่เอวแล้วคลี่โสร่งออกมาเขย่าๆราวกับจะให้ลมโกรกเข้าไปในที่ลับให้ถนัดๆ เสียทีหนึ่ง บัดเดี๋ยวก็ทำอีกละ บัดเดี๋ยวก็ทำอีกละ ผมได้ถามถึงชีวิตการเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลในพม่า ท่านตอบว่า

“ยุ่งครับ ยุ่งทุกวัน นี่ผมยังไม่ได้กลับบ้านไปดูหน้าลูกเมีย 18 วันติดต่อกันมาแล้วเนี่ย”

     แน่นอนว่าการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเมืองไทยคงไม่ถึงขนาดนั้นดอกนะ แต่ก็มีชีวิตที่ลำบากกว่าการเป็นหมอดีๆธรรมดาๆ แน่นอน

     ถ้าอยากเป็นด้วยเหตุที่ (4) คือ อยากมีอำนาจบังคับบัญชาคน ผมก็จะแนะนำว่าคุณเปลี่ยนใจซะดีกว่า เพราะความบ้าอำนาจเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับการบรรลุ “ความสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตคนเรา ความบ้าอำนาจเป็นการฟูมฟัก “องค์” ซึ่ง “องค์” หรือ “ตัวกู” นี่แหละที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุอิสระภาพทางใจอันเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน และคุณจะไปทำในสิ่งที่ทำให้คุณไปคนละทิศกับสิ่งที่คุณอยากจะได้อย่างแท้จริงทำไมละครับ

     จึงเหลือเพียงสองกรณีเท่านี้ที่ผมเชียร์ให้คุณเดินหน้าหาโอกาสเป็นผู้อำนวยการ คือกรณีที่ (5) คือถ้าคุณรักชอบงานบริหารจัดการ และกรณีที่ (6) คือถ้าคุณมุ่งมั่นอยากจะทำโรงพยาบาลให้ได้อย่างที่ใจคุณฝันอยากจะให้มันเป็น ในการตอบคำถามครั้งนี้ ผมจะเดาเอาว่าคุณอยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งในสองข้อสุดท้ายนี้

     ถามว่าอยากเป็นผู้อำนวยการเมื่อโตขึ้น ตอนนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร ตอบว่าต้องเตรียมตัวในสามส่วน คือ ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skill) และ เจตคติ (attitude) ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มันจะคละเคล้ากันไปในแต่ละเรื่อง หลายคนมีความเชื่อว่างานบริหารเป็นการใช้ common sense แก้ปัญหา ไม่ต้องเรียนก็ได้ ก็อาจจะจริงอยู่ถ้าเป็นการทำงานเล็ก แต่งานใหญ่อย่างการบริหารโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีความรู้การบริหารซึ่งต้องไปเรียนมาจากที่คนอื่นเขารวบรวมไว้ เพราะเราจะไปเสียเวลาเดาหรือลองผิดลองถูกทำไมละครับในเมื่อเรื่องเดียวกันนั้นมีคนเขาลองมามากแล้วและมีสรุปข้อดีข้อเสียเขียนไว้เป็นตำราชัดเจนแล้ว อีกอย่างหนึ่งงานบริหารมันมีประเด็นเยอะแยะมากมายหลากหลาย การเรียนเอาจากที่เขาสรุปไว้ดีแล้วเป็นทางลัดที่ควรทำ การจะเป็นผู้อำนวยการรพ. อย่างน้อยคุณก็ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งในสี่เรื่องต่อไปนี้ก่อน คือ

     (1) การเงินบัญชี เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่รู้เรื่องนี้อย่าไปเป็นผู้อำนวยการ เพราะจะพาโรงพยาบาลล่มจม ถ้าเป็นรพ.เอกชนก็คือเจ๊ง ถ้าเป็นรพ.ของรัฐก็จะก่อหนี้สินรุงรังโดยไม่รู้ตัวทิ้งมรดกเละเทะไว้ให้คนรุ่นหลังๆมาสะสางแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในหลายๆรพ. อย่าไปคิดว่าในฐานะผู้บริหารคุณไม่ต้องรู้เองก็ได้แต่จะอาศัยใช้ลูกน้องทำให้ เพราะเหตุที่มีเจ้านายคิดตื้นๆแบบนี้จึงได้มีข่าวว่าหน่วยราชการบางหน่วยถูกลูกน้องโกงทรัพย์ขององค์กรไปพันกว่าล้านบาทโดยที่เจ้านายยังหูไม่กระดิกไม่รู้เรื่องเลย เรื่องแบบนี้มีทั้งในภาครัฐและเอกชน ผมรู้จักผู้บริหารธุรกิจเอกชนหลายรายซึ่งถูกลูกน้องโกงแบบเนียนๆไปซะแทบหมดเนื้อหมดตัว ประเด็นสำคัญเวลาลูกน้องเพ็ดทูลอะไรมาแล้วคุณเชื่อหมดแต่ศาลเขาไม่เชื่อนะครับว่าคุณเป็นคนโง่โดยบริสุทธิ์ใจ ศาลเขาจะถือว่าคุณแกล้งโง่มากกว่า เพราะคนที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารแล้วจะมาอ้างว่า

     “ข้าแต่ศาลที่เคารพ หนูเป็นคนโง่” 

     มันฟังไม่ขึ้น คนเข้าปิ้งคือตัวคุณในฐานะที่เป็นเจ้านายเขา ดังนั้นอย่างน้อยการจะเป็นผอ.คุณต้องเข้าใจหลักการบัญชีมาตรฐาน ผมไม่ได้หมายถึงบัญชีเงินสดรับเข้าจ่ายออกแบบที่ทำกันในหน่วยราชการทั่วไปนะ แต่ผมหมายถึงระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิ์ (accrue account) คือให้มีความรู้ว่าอะไรเป็นสินทรัพย์ อะไรเป็นหนี้สิน อะไรเป็นส่วนของเจ้าของ อย่างเช่นถ้ารพ.ซื้อเครื่องมือแพทย์มาหนึ่งชิ้น ตามระบบนี้จะไม่ลงบันทึกในบัญชีค่าใช้จ่ายแม้ว่าจะจ่ายเงินค่าเครื่องมือออกไปหมดแล้วก็ตาม แต่จะเอาไปลงบันทึกในบัญชีสินทรัพย์ แล้วจะเอาเฉพาะค่าเสื่อมราคาในปีนั้นเท่านั้นมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย เป็นต้น คืออย่างน้อยคุณต้องรู้พอที่จะอ่านงบการเงิน งบดุล งบกำไรขาดทุนเป็น การจะเรียนเรื่องนี้ผมแนะนำให้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธี วิธีแรกคือเล่นหุ้น แล้วเกาะติดทำความเข้าใจรายงานผลประกอบการของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ให้มากที่สุด ไม่เข้าใจตรงไหนก็ซื้อหนังสือมาอ่านประกอบหรือถามคนที่รู้ วิธีที่สองก็คือไปสมัครทำงานเป็นเล่าเบ้ทางด้านการเงินการบัญชีให้องค์กรอะไรก็ได้ที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่นไปสมัครเป็นผู้ช่วยเหรัญญิกของสมาคมศัลยแพทย์ยูโร (สมมุติ) หรือของมูลนิธิอะไรก็ได้ แล้วก็ไปเจ๊าะแจ๊ะกับพนักงานบัญชี เกาะติดไปทุกขั้นตอนเพื่อเรียนรู้ว่าก่อนที่จะมาเป็นงบการเงินของนิติบุคคลแห่งนั้นในแต่ละปีเขาต้องทำอะไรกันบ้าง ถ้าไม่อยากไปทำงานให้ใครจะใช้วิธีหาเพื่อนจดทะเบียนตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเล็กๆขึ้นมาแล้วประกบดูการทำงานของพนักงานบัญชีเอาก็ได้ ส่วนวิธีที่สามคือการไปเข้าเรียนบัญชีด้วยตัวเองนั้นผมไม่แนะนำ เพราะคุณจะมีโอกาสสอบตกและเลิกเรียนกลางคันสูง

     (2)  การบริหารกระบวนการ เรื่องนี้สาระหลักของมันไม่มีอะไรมาก มันตรงไปตรงมาจนนักเรียนวิชาบริหารท่องจำกันได้ ว่าในการบริหาร ผู้บริหารต้องทำหกอย่างคือ
2.1 ตั้งเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัด (set goal)
2.2 วางแผน (planning)
2.3 มอบหมายงานและให้ทรัพยากร (delegation)
2.4 ตามไปกำกับตรวจสอบและสนับสนุน (supervision)
2.5 ประเมินผล ให้รางวัล ลงโทษ และ (evaluation)
2.6 ทำตัวเป็นแม่แบบให้แก่ลูกน้องในองค์กร (role model)

     หลักใหญ่มันมีแค่นี้ แต่รายละเอียดและประเด็นปลีกย่อยมันมีมาก การจะเรียนรู้ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทำสองด้าน ด้านหนึ่งคือไปซื้อตำราบริหารของกูรูที่ดังๆติดตลาดแล้ว เช่น ปีเตอร์ ดรักเกอร์ มานอนอ่านแทนหนังสืออ่านเล่น อีกด้านหนึ่งให้คุณเข้าไปช่วยทำงานพัฒนาคุณภาพงานของโรงพยาบาลที่คุณทำงานอยู่ หมายถึงการช่วยเขาทำเรื่องขอรับรองคุณภาพรพ. (HA) ยิ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ขอการรับรองนานาชาติ (JCI) ยิ่งดี ให้คุณทำการศึกษาข้อกำหนดและมาตรวัดคุณภาพต่างๆของผู้เยี่ยมสำรวจให้ละเอียด เพราะทั้งหมดนั้นนะแหละคือกระบวนการบริหารโรงพยาบาลที่เป็นสากล

     ส่วนการไปเข้าเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ดีหรือไม่ดีนั้นผมโนคอมเมนต์ คุณต้องตัดสินใจเอง เพราะคุณภาพของโรงเรียนธุรกิจทั้งในเมืองไทยและเมืองนอกสมัยนี้มีทั้งที่ดีและที่ด้อยแตกต่างกันมาก จนสรุปไม่ได้เลยว่าไปเข้าโรงเรียนดีกว่า หรือนอนอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านดีกว่า ตัวผมเองสมัยเป็นผอ.ก็เคยส่งลูกน้องระดับผู้จัดการร่วมยี่สิบคนไปเรียน MBA ด้วยความเชื่อว่าเป็นทางลัดดีกว่าให้มาลองผิดลองถูกเอาที่หน้างาน แต่เมื่อพวกเขาจบมาแล้ว ผมชักไม่ค่อยแน่ใจว่าความเชื่อของผมถูกหรือผิด

     (3) การบริหารคน หรือบริหารทรัพยากรบุคคล ผมไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โอนย้าย เลื่อนตำแหน่ง วินัย การลงโทษ แค่นั้นนะ แต่หมายถึงหลักวิชาที่จะ “นำ” คน จะพัฒนาคนให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของโรงพยาบาล และที่จะเกลี่ยหรือแงะเอาความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของคนแต่ละคนออกมาเป็นทรัพยากรสร้างสรรค์งานของโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด ความรู้เรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากตำราเช่นกัน แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการฝึกหัด “เล่นกับคน” ด้วยตัวเราเอง หมายถึงการหัดนำคนที่ร่วมงานกับเราอยู่ทั้งข้างบน ข้างล่าง และข้างๆ คือการนำเขาเนี่ยเราไม่จำเป็นต้องเป็นนายเขา เราก็นำเขาได้ คือการบริหารคนนี้ส่วนหนึ่งมันเป็นลูกเล่นที่ได้มาจากการฝึกฝนจนทำได้แนบเนียน

     เขียนถึงตรงนี้ขอเล่าอะไรนอกเรื่องหน่อยนะ คือสมัยที่ผมไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนต่างจังหวัด ราวปีพ.ศ. 2524 พี่คนหนึ่งซึ่งเป็นสาธารณสุขอำเภอเล่าให้ผมฟังว่าเขาเคยเป็นพนักงานอนามัยอยู่ที่จังหวัดน่าน สมัยนั้นเป็นสมัยสงครามประชาชน คือคนไทยรบกับคนไทย และเมืองน่านก็เป็นสมรภูมิเดือดที่ขึ้นชื่อจุดหนึ่งของประเทศทีเดียว ผู้คนสมัยนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย พูดผิดหูกันหน่อยเป็นได้เรื่อง วันหนึ่งมีงานเลี้ยงหลังประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งจังหวัดที่สนามของโรงพยาบาลน่าน ก็เกิดการวิวาทขนาดใหญ่ถึงขั้นใช้กำลังกันขึ้นจนเลือดตกยางออกไม่รู้ว่าใครเป็นใครไม่มีใครหยุดสถานะการณ์ได้ เรียกตำรวจมาตำรวจมาถึงก็ได้แต่เก้ๆกังๆเพราะตำรวจเองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย และที่ฟัดกันอยู่นั้นก็ล้วนเป็นคนในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขที่ชาวบ้านเขานับหน้าถือตาทั้งนั้น มีคนไปบอกผู้อำนวยการโรงพยาบาล ท่านก็เดินจ้ำอ้าวลงมาทั้งๆที่ยังอยู่ในชุดนอนสวมกางเกงแพรอยู่ มาถึงลานที่คนตลุมบอนฝุ่นตลบกันอยู่ ท่านขึ้นไปยืนบนเวทีพยายามตะโกนพูดก็ไม่มีใครฟัง ท่านจึงชักปืนสั้นจากเอวออกมายิงขึ้นฟ้าเสียงดังปัง แต่นั่นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่ขณะที่เสียงปืนท่านดังปังนั้นเผอิญกางเกงแพรของท่านหลุดลุ่ยลงมากองกับพื้นด้วย จนท่านต้องรีบโก้งโค้งลงมาจับกางเกงแพรหิ้วขึ้นบังจุดยุทธศาสตร์แทบไม่ทัน คนที่กำลังทะเลาะกันรุนแรงด้วยทัศนะการเมืองคนละขั้วก็กลับมาหัวเราะท้องแข็งด้วยความขบขันจนลืมเรื่องทะเลาะกันไปเลย ผมฟังเรื่องเล่าแล้วยังนึกชมกลเม็ดการจัดการคนของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านว่าเด็ดขาดจริงๆ

     (4) การตลาด ตรงนี้ผอ.โรงพยาบาลส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับผมว่าทำไมการบริหารโรงพยาบาลต้องมีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ความเห็นของผมนั้นเห็นว่าธุรกรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะทำกันในภาครัฐหรือภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมอะไร ล้วนผลิตสินค้าหรือบริการสนองความต้องการของลูกค้าหรือตลาดเหมือนกันหมด อย่างในภาครัฐประชาชนผู้รับบริการนั่นแหละคือตลาด ถ้าไม่เอาหลักการตลาดมาใช้ แล้วจะทำพันธะกิจนี้ให้สำเร็จได้อย่างไรละครับ อนึ่ง คำว่า “การตลาด” นี้ผมหมายความรวมไปถึงการหาวิธีให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตไปสู่การมีสุขภาพดี ที่องค์การอนามัยโลกใช้คำเรียกว่า  social marketing ด้วย

     วิธีเตรียมตัวในเรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องอื่น คือหาหนังสืออ่าน กับทดลองทำ อย่างน้อยคุณควรเข้าใจหลักคิดพื้นฐานทางการตลาดให้ทะลุปรุโปร่ง ไล่ตั้งแต่ แนวคิดเรื่ององค์ประกอบหลักของการตลาด (marketing mix) ที่นักเรียนวิชานี้ท่องจำกันเป็นตัว P เช่น product, price, place, promotion, people, positioning, packaging เป็นต้น แนวคิดเรื่องการสร้างโอกาสใช้ประโยชน์ (utility) ทั้งในแง่รูปแบบ สถานที่ เวลา สิทธิ และภาพลักษณ์ แนวคิดเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยน หมายถึงธุรกรรมยื่นหมูยื่นแมว หมูไปไก่มา ซึ่งมักเน้นกันในประเด็นการสื่อสารทางการตลาด แนวคิดเรื่องกระบวนการจัดการตลาด เช่นการวิจัยตลาด การเลือกกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดยุทธศาสตร์ และการจัดการผลิตภัณฑ์ คือต้องเข้าใจหลักพื้นฐานทั้งหมดนี้ก่อน แล้วจึงค่อยเอามาประยุกต์ใช้กับธุรกรรมของเรา อันไหนใช้ได้อันไหนใช้ไม่ได้ค่อยว่ากัน แต่อย่าปิดหูปิดตาไม่เรียนรู้หลักการตลาดเป็นอันขาดเพราะคุณจะเป็นผู้บริหารที่ดีไม่ได้ถ้าคุณไม่เดียงสาเรื่องหลักการตลาด

     เมื่อคุณเตรียมตัวพร้อมแล้ว ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสนามที่จะลง ผมแนะนำให้คุณหาทางไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กๆในต่างจังหวัด เพราะเป็นโรงพยาบาลในระดับที่มีอะไรให้คิดฝันและสร้างสรรค์ได้แยะมาก ในเรื่องการบริหารรพ.ชุมชนนี้ ผมเคยเขียนตำราการบริหารโรงพยาบาลให้กับหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเคยตัดบางตอนเรื่องตัวอย่างกรณีศึกษาเกี่ยวกับการบริหารรพ.ชุมชนมาให้อ่านในบล็อกนี้ด้วยเมื่อสองสามปีก่อน ถ้าคุณสนใจก็ลองตามไปอ่านดูได้ที่
http://visitdrsant.blogspot.com/2012/01/blog-post_13.html

     อีกประเด็นหนึ่งที่ขอแถมไว้ล่วงหน้าคือเมื่อคุณได้เป็นผู้อำนวยการแล้ว ให้ตั้งกรอบเวลาไว้ในใจว่าจะเป็นกี่ปี ผมแนะนำว่า 4-8 ปี เป็นกรอบเวลาที่เหมาะ หากนานกว่านี้ตัวคุณนั่นแหละจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของโรงพยาบาล เพราะขณะที่งานหมออาชีพยิ่งทำนานแช่อยู่นานจะยิ่งดี แต่งานบริหารยิ่งแช่อยู่นานยิ่งไม่ดี ตรงนี้เป็นเหตุหนึ่งของความเสื่อมของระบบโรงพยาบาลในภาครัฐของเรา เพราะไม่มีระบบแซะหรือปลดผู้อำนวยการออกเมื่อสมควรแก่เวลา ทำให้ผู้อำนวยการบางท่านแช่อยู่ในตำแหน่งนานเกินไป เมื่อถึงเวลาตัวคุณเองเป็นผู้อำนวยการคุณต้องรู้จักปลดตัวเองในเวลาอันควร มิฉะนั้นแทนที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆทิ้งไว้ จะกลายเป็นว่าตัวคุณนั่นแหละคือขยะที่ทำให้คนรุ่นหลังเขาปวดหัวต้องมาหาทางเก็บทิ้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์