Latest

ถ้าเอาชนะความกลัวนี้ไม่ได้ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

ท่านผู้อ่านครับ

     จดหมายฉบับนี้ผมจะขอตอบเป็นฉบับสุดท้ายสำหรับซีซั่นหน้าร้อนนี้นะครับ เพราะเดือนพฤษภาคมผมจะหลบไปขับรถเที่ยวฝรั่งเศส กลับมาอีกทีก็เดือนมิถุนายนโน่น ไปเทียวครั้งนี้ก็ไม่ถึงกับจะเอาแต่เที่ยวไร้สาระอย่างเดียว แต่ตัั้งใจจะไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆที่คนชราระดับผมแล้วควรจะได้เรียนแต่ยังไม่ได้เรียน หลักๆก็จะไปเรียนสามเรื่อง คือ (1) จะไปเรียนเรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียนทางใต้สุดของฝรั่งเศส ทั้งด้วยการทำความรู้จัก กิน และเรียนรู้วิธีทำ โดยได้นัดหมายว่าจะบุกไปกินข้าวถึงบ้านของเชฟชาวฝรั่งเศสคือบุกถึงก้นครัวเขาเลยทีเดียว (2) จะไปเรียนรู้เรื่องดอกไม้ในหน้าฤดูสปริงและวิธีปลูกวิธีจัดต้นไม้ของสวนโมเนต์ (Monet Garden) ที่นอกเมืองปารีส คือกะจะไปทำความรู้จักดอกไม้ทุกชนิดที่เขาปลูกในน้้น ไอเดียไหนขโมยได้ก็จะขโมยมาใช้ปลูกของตัวเองที่บ้านโกรฟเฮ้าส์บ้าง (3) จะไปเรียนวิธีการทำไร่ทำฟาร์มของชาวไร่ย่านอัลซาซ ทางตะวันออกเฉียงเหนือนู้น ไปเรียนให้รู้จริงๆว่าฟาร์มแถบนั้นเขาทำกันอย่างไร เพราะการทำไร่นี้สำหรับผมแล้วมันเป็นของชอบ ยังไงเสียก็ตัดไม่ขาด อย่างน้อยขโมยไอเดียมาทำสวนปลูกผักสวนครัวของตัวเองบ้างก็ยังดี ไปคราวนี้ผมเอาคอมพิวเตอร์ไปด้วย กะว่าขับรถไปเขียนหนังสือไป กลับมาแล้วน่าจะได้หนังสือสักหนึ่งเล่ม ซึ่งถ้าไม่พิมพ์เป็นเล่มจริงๆก็คงจะเอาขึ้นเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทเป็น ebook การไปครั้งนี้ตอนแรกว่าจะไปกันแค่สามพ่อแม่ลูก แต่ภรรยาซึ่งเป็นคนชอบประหยัดไปเกณฑ์เพื่อนซี้มาอีกสองคนเพื่อให้นั่งเต็มรถจะได้หารค่าเช่ารถ ก็เลยกลายเป็นห้า แต่ต่อมาก็มีเพื่อนซี้อีกคู่หนึ่งซึ่งเป็นหมอคู่กับหมอฟันบอกว่าจะไปด้วย ถึงรถเต็มแล้วจะให้เช่ารถอีกคันขับตามกันไปก็เอา เอ้า.. เอาก็เอา สรุปสุดท้ายรายการขับรถเที่ยวไปในฝรั่งเศสงวดนี้จึงมีรวมทั้งสิน 8 พระหน่อด้วยกัน

     พูดถึงหมอกับหมอฟัน หมายถึงหมอแพทย์ผู้ชายมาจับคู่แต่งงานกันหมอฟันผู้หญิง ผมมีเพื่อนเป็นแบบนี้หลายคู่ บางคู่ก็ง้องแง้งๆสามวันดีสี่วันไข้ บางคู่ก็หวานดีจี๋จ๋า ผมถามผู้ชายของคู่ที่หวานดีจี๋จ๋าว่าคุณมีเมียเป็นหมอฟันคุณมีหลักการใช้ชีวิตคู่อย่างไร เขาตอบว่า

     “นอนนิ่งๆ อ้าปาก แล้วฟังอย่างเดียว”

      (ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     มาตอบจดหมายของท่านผู้อ่านวัยรุ่นท่านนี้กันดีกว่า

………………………………………………

กราบเรียนคุณหมอสันต์

     หนูอายุ 20 ปี เริ่มมีปัญหาตอน ม.ปลาย คือหนูมีปัญหากับการเรียน ไม่รู้จะเรียนไปทำไม และอีกอย่างหนึ่ง เวลาเข้ากลุ่มหนูทนเพื่อนที่โง่ไม่ได้ เนื้อหาการสอนในโรงเรียนหนูมันก็โง่จนหนูทนไม่ไหว เรื่องที่ครูสอนก็โง่ การทดลองทางวิทย์บางอย่างที่เราขอทำเพื่อพิสูจน์ครูก็ไม่ให้ทำ คุณพ่อคุณแม่พาหนูไปรักษาที่รพ… หมอบอกว่าหนูเป็นโรค bipolar กินยาสองอย่างจนมึนคิดอ่านอะไรไม่ออก หนูจึงเลิกกิน ตอนนี้หนูอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 แต่เพิ่งพักการเรียนมา เพราะหนูมีความคิดอยากตาย หมอที่รพ… แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้หนูหยุดเรียนและเข้ารักษาในโรงพยาบาล …. เขาบอกว่าโรงพยาบาลนี้มีระบบป้องกันการฆ่าตัวตายดีกว่าที่บ้าน แต่ว่าค่ารักษาแพงมาก หนูไม่ยอมเข้าเพราะสงสารพ่อแม่จึงรับปากกับพ่อแม่ว่าหนูไม่ฆ่าตัวตาย แต่หนูยอมรับว่าความคิดอยากตายมันก็ยังวนเวียนมาอยู่เป็นประจำ ครั้งล่าสุดนี้หนูกินยา Fluoxetine อยู่สามเดือนแต่ไม่ได้ผล จึงแอบหยุดไป หมอที่รพ. … พยายามถามว่าหนูได้ยินสียงแว่วหรือเห็นภาพหลอนหรือไม่ หนูยืนยันว่าหนูไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน หนูใจเข้าว่าถ้าหูแว่วหรือเห็นภาพหลอนแสดงว่าหนูเป็นบ้าไปแล้ว ใช่ไหมค่ะ หนูเคยไปขอปฏิบัติธรรมที่ … แต่พอท่านรู้ว่าหนูเป็น bipolar ก็แนะนำว่าอย่ามาปฏิบัติเพราะจะทำให้อาการหนักขึ้น และให้กลับไปรักษากับหมอ มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือคะ ที่ว่าการปฏิบัติธรรมจะทำให้เป็นบ้ามากขึ้น

     หนูสนใจปรัชญาและ metaphysic หนูดู TED talk และ search เรื่องการเจ็บป่วยของหนู และได้มาพบคุณหมอสันต์ตอบคำถามคนอื่นที่คุณหมอแนะนำให้แยกตัวเองออกมาเป็นอีกคนหนึ่งแล้วเฝ้าดูความคิดของตัวเอง หนูก็เอาไปลองทำดูเอง ก็ได้ผลบ้างกับความโกรธและความรู้สึกซึมเศร้า คือเวลาหนูโกรธ เดี๋ยวนี้หนูรู้ตัวเร็วขึ้นและไม่รุนแรงกับคนอื่นเหมือนแต่ก่อน แต่ไม่ได้ผลกับความกลัว หนูเข้าใจว่าเป็นเพราะความกลัวมันละเอียดอ่อนใช่ไหมคะ มันเกิดขึ้นโดยหนูไม่รู้ตัว หรือบางทีก็รู้ตัวอยู่ว่ากำลังกลัว แต่มันก็กำลังกลัวมากจนไม่มีช่องให้คิดทำอย่างอื่นได้เลย เวลามันมามันก็มาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย มันเป็นความกลัวแบบทันทีและสุดขีด หนูกลัวมากว่ามันจะกลับมาอีก แล้วมันจะทำให้หนูบ้า พอมันมาแต่ละทีหนูจะใจสั่นตั๊กๆ เหงือแตก แน่นหน้าอก ตัวสั่นสะท้านจนเพื่อนจับหนูกดลงกับพื้นแล้วถามว่าหนูเป็นอะไร บางทีหนูก็รู้สึกว่าตัวเองเหมือนถูกผีเข้า บางทีก็เหมือนมีแมงไต่ทั่วตัว บางทีก็กลัวตาย แต่อีกใจหนึ่งก็แอบคิดว่าตายก็ดีนะ และก็คิดวางแผนตายอยู่บ้างเป็นบ้างครั้ง

     แล้วหนูจะต้องทำอย่างไรดีคะ บางครั้งมันกลัวมากจนหนูลุกลี้ลุกลนเหมือนกับว่าถ้าอยู่เฉยๆหนูคงจะถูกมันฉีกหนูเป็นชิ้นๆ ตอนนี้พ่อกับแม่ตกลงให้หนูไปเรียนภาษาที่อเมริกามีกำหนด 6 เดือน พ่อกับแม่ต้องการให้หนูใช้เวลาช่วงดร็อพหนึ่งปีให้เป็นประโยชน์จะได้ไม่ฟุ้งสร้าน แต่หนูคิดว่าไปครั้งนี้หนูไปหัดอยู่คนเดียวเพื่อหาทางเอาชนะความกลัว คุณหมอคะ หนูอยากรู้ว่าความกลัวนี้มันเกิดขึ้นที่ไหนของสมอง มีมีสถานะเป็นอะไร เป็นไฟฟ้า หรือเป็นพลังงานแบบไหน มันมีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วจะต้องรับมือกับมันอย่างไร  ถ้ากลับจากกอเมริกามาแล้วหนูยังเอาชนะไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่หนูจะอยู่อีกต่อไป เพราะหนูคงทนความกลัวจนต้องลุกลี้ลุกลนอย่างนี้ไปได้อีกไม่นาน หนูวางแผนว่าจะฆ่าตัวตายคะคุณหมอ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     ปัญหาของคุณแม้จะเกิดกับคนที่อายุน้อยเพิ่งจะยี่สิบ แต่ก็เป็นปัญหาชีวิตที่ลึกซึ้ง ควรที่ได้รับการรักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง แม้จะมาจนถึงตอนนี้แล้วผมก็ยังยืนยันแนะนำคุณให้ทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตเอาจากเรื่องที่เล่า คุณผ่านโรงพยาบาลจิตเวชมาแล้วสองโรงพยาบาล และอีกหนึ่งสถานปฏิบัติธรรม การจะไล่คุณกลับไปหาจิตแพทย์อีกโดยไม่พูดอะไรกับคุณเสียบ้างเลย ก็ดูจะเป็นการผิดวิสัยของหมอประจำครอบครัวที่ใส่ใจต่อคนไข้ เราจึงจะคุยกันนิดหน่อยนะ เรื่องที่ผมจะคุยกับคุณนี้เป็นความรู้และหลักปฏิบัติกว้างๆ ซึ่งคุณ หรือท่านผู้อ่านท่านอื่นที่มีปัญหาทางใจ ไม่ว่าจะโรคกลัวเกินเหตุ (panic disorder) หรือย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive disorder ) หรือซึมเศร้า (depressive disorder) หรือเป็นโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder) ต้องเอาไปทดลองประยุกต์ใช้กับตัวเองเอาเอง ผมจะพูดกับคุณไปเรื่อยเปื่อยทีละประเด็นๆตามที่หัวผมจะคิดขึ้นได้นะ

     1. ถามว่าคนเราถ้าเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงแว่วแสดงว่าบ้าใช่ไหม ตอบว่าการเห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง (hallucination) ถ้าเห็นหรือได้ยินเป็นตุเป็นตะอยู่ประจำจนเป็นเรื่องเป็นราวแบบไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตจริงเลย ในเชิงอาการวิทยาแพทย์ถือเอาเป็นจุดตัดง่ายๆว่าถึงขั้นบ้า (psychosis) ถูกต้องแล้วครับ แต่การวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวช แพทย์ไม่ได้ใช้ข้อมูลแค่นี้ เขายังต้องอาศัยข้อมูลประกอบอื่นๆอีกหลายอย่างซึ่งเราคงไม่มีเวลาพูดถึงกันรายละเอียดในวันนี้ คำว่าบ้าหรือ psychosis นี้เป็นแค่สมมุติบัญญัติที่วงการแพทย์ตั้งขึ้นเท่านั้นเองนะ ประเด็นสำคัญที่คุณควรเก็ทก็คือในชีวิตจริงเส้นแบ่งระหว่าง “บ้า” กับ ”ดี” นั้นจริงๆแล้วไม่มี อย่างหมอสันต์นี้อากาศร้อนบางวันก็บ้าเหมือนกัน อีกประการหนึ่ง คนที่เห็นภาพหลอนและได้ยินเสียงหลอนที่ยังทำงานใช้ชีวิตปกติอยู่ในสังคมก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย ถ้าจะพูดกันในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกก็คือการเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงหลอนนั้นไม่ได้หมายความว่าคนนั้น “เสียสติ”เสมอไปหรือไม่ได้หมายความว่าจะเสียสติตลอดไป แพทย์เขาจึงต้องเอาข้อมูลทุกด้านมายำรวมกันก่อนจึงจะวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้

     2. ถามว่าความกลัวนี้มันเกิดขึ้นที่ไหนของสมอง มีสถานะเป็นอะไร เป็นไฟฟ้าหรือเป็นพลังงาน ก่อนจะตอบคำถามนี้ผมขอชี้แจงก่อนนะ ว่าความกลัวมันคือความคิดที่เกิดขึ้นให้จิตสำนึกรับรู้ได้ (thought formation) ดังนั้นผมปรับคำถามของคุณเพื่อให้มันครอบคลุมกว้างขึ้นนะว่า “ความคิดเกิดที่ตรงไหนของสมอง และมีสถานะเป็นอะไร” ตอบว่า ไม่มีใครรู้หรอกครับ วงการวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตรวจจับหรือวัดความคิดได้ เมื่อตรวจจับหรือวัดไม่ได้ ก็จะไปรู้ได้อย่างไรละครับว่ามีมีสถานะเป็นอะไร ของแข็ง ของเหลว หรือก้าซ หรือไฟฟ้า หรือเป็นคลื่นพลังงานอย่างเช่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่รู้หรอกครับ จึงได้แต่เดาเอา ว่ามันน่าจะเกิดในสมองนี่แหละ ตรงไหนไม่รู้ มันเกิดขึ้นในที่ (space) เดียวกันกับที่เซลของสมองอยู่หรือเปล่า หรือว่ามันเกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งที่ทับซ้อนกันได้ ไม่มีใครรู้หรอก มันมีสถานะเป็นอะไรเราก็ไม่รู้ ได้แต่เดาเอาว่ามันจะต้องเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าในเซลสมองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะเวลาเกิดความคิดเราตรวจวัดได้ว่าคลื่นไฟฟ้าของสมองมันปั่นป่วนวุ่นวายกว่าตอนไม่เกิดความคิด โดยสรุปคำถามข้อนี้ไม่มีคำตอบ และคุณก็อย่าพยายามไปรู้มันเลย เพราะมันไม่ใช่ความรู้ที่จะช่วยให้คุณหายบ้าได้

     3. ถามว่าความคิดทุกชนิดซึ่งรวมถึงความกลัวด้วย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อันนี้ความรู้ทางการแพทย์พอมีนะ วงการแพทย์รู้ว่าการเกิดความคิดมีขั้นตอนดังนี้

     ขั้นที่ 1. มันเริ่มจากสิ่งเร้านอกตัวของเรามากระตุ้นอายาตนะของเราก่อน จะเป็นภาพ เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัสก็แล้วแต่ แล้วอายาตนะซึ่งทำหน้าที่เป็นอวัยวะรับ (sense organ)  ก็จะรับรู้สิ่งเร้านั้น แล้วแปลงสัญญาณการกระตุ้นนั้นเป็นไฟฟ้า ไม่ว่าจะมาในรูปของแสงสีกลิ่นหรือสัมผัส จะถูกแปลงเป็นไฟฟ้าหมด แล้วส่งไฟฟ้านั้นไปตามเซลประสาทเพื่อรายงานให้สมองทราบ เมื่อไฟฟ้านั้นมาถึงสมอง จิตสำนึกก็จะรับรู้ว่ามีสิ่งเร้านั้นๆมากระตุ้น

     ขั้นที่ 2. ข้อมูลที่ว่ามีสิ่งเร้ามากระตุ้นและจิตสำนึกได้รับทราบแล้วนั้น ทั้งหมดจะถูกส่งไปเก็บที่หน่วยความจำ ตอนนี้วงการแพทย์เองก็ยังไม่รู้ว่าหน่วยความจำนี้เก็บอยู่ที่ไหนบ้าง ได้แต่เดาเอาว่ามันคงสำเนาเก็บเป็นไฟฟ้าวิ่งวนๆอยู่ในเซลประสาทในสมองตรงนี้บ้าง ตรงนั้นบ้าง แต่ต่อมาเมื่อระบบการเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ที่เคยเก็บไว้ในเครื่องสามารถย้ายข้อมูลไปเก็บบนก้อนเมฆได้ หมายถึงเก็บในอินเตอร์เน็ทเช่น iCloud ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าเฮ้ย แล้วความจำของมนุษย์เรามันเก็บได้บนก้อนเมฆด้วยหรือเปล่า เออ คำถามบ้าๆแบบนี้ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็ยังตอบไม่ได้เช่นกัน แต่มันก็มีความเป็นไปได้

     ขั้นตอนที่ 3. เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าแล้ว ระบบประสาทและสมองของคนเรามีวงจรสนองตอบแบบอัตโนมัติ (reflex) เช่นพอโดนไฟจี้มือก็จะหดหนีทันที วงจรสนองตอบแบบอัตโนมัตินี้ตอนเกิดมาใหม่ๆก็มีไม่กี่วงจร แต่เมื่อโตๆขึ้นก็จะยิ่งมีมากและซับซ้อนขึ้นๆ และการสนองตอบต่อสิ่งเร้านี้ก็ไม่ใช่มีแต่ในรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างเดียว แต่มีหลายหลายรูปแบบ การก่อความคิดใหม่ (thought formation) ก็เป็นการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบหนึ่ง ข้อมูลการสนองตอบอัตโนมัติที่ได้ทำไปในแต่ละครั้งก็จะถูกส่งไปเก็บไว้ในหน่วยความจำทั้งหมด

     ขั้นตอนที่ 4. มีการนำความจำเก่าๆมาสร้างเป็นวงจรสนองตอบอัตโนมัติใหม่ๆ (conditioned reflex) ยกตัวอย่างเช่นงานทดลองสั่นกระดิ่งให้หมาฟัง ถ้าสั่นแล้วเฉย หมาก็เฉยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อมาเอาใหม่ สั่นกระดิ่งแล้วอีกห้านาทีต่อมาเอาอาหารให้กิน ทำอย่างนี้ไปไม่กี่ครั้งพอสั่นกระดิ่งปุ๊บ หมาน้ำลายไหลปั๊บ คือสมองของหมาเอาความจำในอดีตมาสร้างเป็นวงจรสนองตอบอัตโนมัติ ทำให้การสนองตอบต่อสิ่งเร้าเปลี่ยนไปจากเดิม พูดง่ายๆว่าความจำในอดีตทำให้หมาคิดได้ ว่าเฮ้ย เสียงกระดิ่งแบบนี้เดี๋ยวก็ได้กิน หมายความว่าความจำในอดีตนั่นแหละ ที่ถูกนำมาปรุงเป็นความคิดใหม่ ดังนั้นถ้าผมจะตอบคุณคำถามที่ว่าความกลัวเกิดจากอะไรว่ามันเกิดจากความจำของเราในอดีตก็ไม่ผิด

     เพียงแต่ว่าในการนำความจำในอดีตมาสร้างวงจรการสนองตอบใหม่ๆที่ซับซ้อนหลังจากได้รับสิ่งเร้าแล้วนี้ มันมีรายละเอียดเชิงลึกอีกมาก กล่าวคือสมองของเราเมื่อได้รับข้อมูลผ่านเข้ามาทางอายาตนะแล้ว ก็จะมีวิธีจัดการข้อมูลสองแบบ คือ

     แบบที่ 1. คือวิธีเทียบข้อมูลในหน่วยความจำแล้ววิเคราะห์หรือคำนวณไปทีละรายการ (serial processing) คือเมื่อได้รับสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามา ณ เวลาเดี๋ยวนี้ สมองส่วนที่รับผิดชอบงาน serial processing จะไม่รายงานสรุปผลให้จิตสำนึกทราบทันที แต่จะไปค้นความจำในอดีตเพื่อหาสิ่งที่เหมือนกัน หรือที่เกี่ยวข้องกัน ทีละชิ้นๆ ค้นได้อันหนึ่งก็เอามาเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์ด้วยตรรกะหรือคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เพิ่งรับเข้ามาทีหนึ่ง เปรียบเทียบวิเคราะห์ไปทีละชิ้นๆๆ จนหมดข้อมูลที่มีอยู่ในคลังเท่าที่จะควักออกมาได้ตอนนั้น แล้วเอามาต่อๆกันเป็นเรื่องราว คือสมองส่วนนี้มองสิ่งเร้าครั้งแรกให้เห็นเป็นจุดเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆขยายจนเห็นความสัมพันธ์กันไปมาเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ แล้วก็รายงานเรื่องทั้งหมดให้จิตสำนึก (consciousness) ทราบ รายงานนี้ส่งในรูปแบบของภาษา หรือเป็นตัวเลข ว่าสิ่งเร้าใหม่ที่รับเข้ามานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับของเก่าที่เคยรับรู้ในอดีตแล้ว มันคืออะไร ดีหรือไม่ดี เป็นมิตรหรือเป็นศัตรู เป็นสมบัติของเราหรือไม่ใช่ของเรา ฯลฯ และรายงานเชิงวิเคราะห์ด้วยว่ามันจะก่อผลต่อเราในอนาคตได้กี่แบบ แบบที่ดีที่สุดจะเป็นยังไง แบบที่แย่จนถึงแย่ที่สุดจะเป็นอย่างไร ดังนั้นผลการประมวลข้อมูลในแบบที่ 1 นี้ ผลที่ได้คือความคิดใหม่ (new thought formation) นั่นเอง ความกลัวก็เป็นผลจากการประมวลผลด้วยวิธีนี้ ซึ่งหากการกำกับควบคุมของจิตสำนึกไม่ดี การประมวลผลแบบนี้ก็จะทำให้บ้าได้หลายชนิด รวมทั้งบ้าแบบกลัวเกินเหตุ (panic disorder) แบบคุณนี้ได้

     แบบที่ 2. คือวิธีวิเคราะห์ข้อมูลปัจจุบันแบบทำคู่ขนานหรือทำไปพร้อมกันตูมเดียว (parallel processing) คือพอได้รับเอาข้อมูลที่แตกต่างหลายหลากชนิด (เช่น ภาพ เสียง กลิ่น รส อุณหภมิ สัมผัส) จากสิ่งแวดล้อมรอบกายเข้ามาพร้อมๆกัน ณ วินาทีนี้ ก็จะประมวลทีเดียวพร้อมกันตูมเดียวเสร็จเดี๋ยวนั้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นข้อมูลภาพก็จะเอาทั้งข้อมูล ขนาด ระยะใกล้ไกล ความลึก ความชัด สี ของสิ่งที่เห็น มาประมวลพร้อมกันเสียทีเดียว เป็นต้น สมองส่วนนี้จะประมวลผลแล้วรายงานให้จิตสำนึกทราบเป็นภาพใหญ่ ว่า ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นการรายงานในลักษณะดิบๆ คือรายงานเป็นภาพเสียงกลิ่นรสหรือเย็นร้อนอ่อนแข็ง ไม่ใช่รายงานเป็นภาษา ไม่ใช่รายงานเป็นตัวเลข วิธีประมวลภาพของสมองส่วนนี้ก็จะจับภาพใหญ่มัวๆซัวๆให้ได้ก่อน แล้วค่อยไล่ไปหารายละเอียดซึ่งประกอบขึ้นจากจุดเล็กๆในภาพใหญ่นั้น เสมือนการเติมจุด pixel ของภาพในกล้องดิจิตอล ดังนั้นผลของการประมวลข้อมูลในแบบที่สองนี้ ผลที่ได้ก็คือว่าข้อมูลสถานะปัจจุบันที่นี่เดี๋ยวนี้ (here and now) ในรูปของภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัสเท่านั้น โดยไม่มีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถึงจะไม่มีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้อง หากจิดสำนึกกำกับควบคุมการประมวลผลในส่วนนี้ไม่ดี ก็จะทำให้บ้าแบบเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงหลอนแล้วเป็นตุเป็นตุว่าเป็นของจริง (schizophrenia) ได้เหมือนกัน

ในการประมวลผลข้อมูลของสมองเพื่อนำมาสร้างเป็นกลไกการสนองตอบแบบอัตโนมัติใหม่ๆนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนที่สมองทำงานเองแบบอัตโนมัติ (autonomic nervous system) กับส่วนที่จิตสำนึกเข้าไปร่วมรับรู้หรือบงการ (voluntary nervous system) ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยะสำคัญทั้งหมดทั้งหัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง เป็นการทำงานโดยอัตมัติทั้งหมด จิตสำนึกมีบทบาทร่วมอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือคอยกลั่นกรองผลที่ประมวลได้ว่าอะไรผิดความจริงหรือเวอร์หลุดโลกไป ก่อนที่จะนำผลประมวลนั้นไปสั่งการสนองตอบ (response) ผลการกลั่นกรองของจิตสำนึกนี้จะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำด้วยเช่นกัน และจะถูกนำไปสร้างความคิดใหม่ๆครั้งต่อๆไป ดังนั้น จิตสำนึก หรือพูดง่ายๆว่าสติ จึงเป็นตัวการที่ทำให้การสนองตอบต่อสิ่งเร้าเดียวกันไม่เหมือนกัน

     ยกตัวอย่างน้ำนองแฉะถนน ศิลปินซึ่งสมองคุ้นเคยกับการประมวลผลแบบ parallel processing มาเห็นเข้าก็จะตะลึงในความงามขององค์ประกอบของภาพที่สมบูรณ์แบบเมื่อมีเงาสะท้อนของตึกรามว่ามีความสวยงามอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วสนองตอบโดยการหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายเพื่อจะเอาไปวาด แต่นักวิทยาศาสตร์อย่างคุณซึ่งสมองคุ้นเคยกับการประมวลผลแบบ serial processing มาเห็นเข้าก็จะคิดไปถึงโอกาสเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำมีคนตายเลือดนองพื้น ไปได้ถึงโน่น แล้วก็สนองตอบโดยการถ่ายรูปส่งเข้าไลน์ด่ารถบรรทุกที่ทำน้ำหกหรือด่าเทศบาลที่ไม่ยอมมาแก้ไข เห็นแมะ สิ่งเร้าแบบเดียวกัน แต่การสนองตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่วงจรการสนองตอบเก่าๆที่เก็บไว้ในหน่วยความจำและวิธีกำกับของจิตสำนึกของแต่ละคน

     แล้วสิ่งเร้าที่เป็นตัวตั้งต้นให้เกิดการประมวลผลข้อมูลนี้มันมาจากไหนบ้างละ ก็ภาพเสียงกลิ่นรสและสัมผัสที่ร่างกายเราได้รับมานั่นแหละ แต่มีเหมือนกันที่ไม่มีสิ่งเร้าใหม่มากระตุ้นเลย แต่ความคิดใหม่ก็เกิดขึ้นได้ เช่นตอนเรานอนหลับทำไมเราฝันได้ เพราะความฝันก็คือผลลัพท์จากการประมวลผลข้อมูลของสมองเหมือนกัน แสดงว่าเจ้าตัวความจำในอดีตนี้ จังหวะเหมาะๆมันก็ลอยละล่องชะแว้บขึ้นมาสู่กระบวนการประมวลผลได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้ามากระตุ้น เรียกว่าสมองนี้มีความสามารถพิเศษที่จะขุดเรื่องเก่าๆขึ้นมาคิดใหม่โดยไม่ต้องมีสิ่งเร้าอะไรกระตุ้นก็ยังได้

     สรุป ผมตอบคำถามของคุณข้อนี้ที่ว่าความกลัวเกิดจากอะไร ว่าเกิดจากการที่สมองสนองตอบต่อสิ่งเร้าใหม่ๆ โดยเอาความจำเก่าๆในอดีตมาร่วมสร้างเป็นวงจรการสนองตอบแบบอัตโนมัติใหม่ๆซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าๆ โดยเป็นการสนองตอบในรูปแบบของการคิด (thought formation) ซึ่งก็คือคิดกลัวนั่นแหละ

     4. ถามว่าจะเอาชนะความกลัวได้อย่างไร ตอบว่า เนื่องจากวิทยาศาสตร์ไม่รู้จักความคิด ไม่สามารถถ่ายรูปหรือวัดความคิดได้ จึงยังไม่รู้ว่าจะควบคุมความคิดได้อย่างไร ข้อมูลที่วงการแพทย์มีในปัจจุบัน เป็นผลวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์บ้าง เป็นการวิจัยกลุ่มคนเปรียบเทียบวิธีรักษาสองแบบโดยใช้ตัวชี้วัดที่เป็นอัตวิสัยบ้าง ไม่ใช่ความรู้กลไกการจัดการความคิดที่ชั่งตวงวัดได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แท้ๆ คุณจึงต้องฟังหูไว้หู แต่ผมก็แนะนำให้คุณเอาคำแนะนำของทางการแพทย์ไปลองปฏิบัติดู วิธีที่แพทย์ใช้แก้ปัญหาความกลัวมีดังนี้

     4.1 การฝึกสติเพื่อลดความเครียด (MBSR – mindfulness based stress reduction) ซึ่งวิธีนี้ผมแนะนำให้คุณทำมากๆเลย มาถึงวันนี้มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันผลว่าการฝึก MBSR รักษาอาการป่วยแบบคุณนี้ได้ดี มีอยู่งานวิจัยหนึ่งอาการแบบคุณนี้คนที่เข้าฝึก MBSR อาการหายเกลี้ยงกลับมาอยู่ในระดับปกติภายในสัปดาห์ที่ 7 งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบหลายรายการก็ยืนยันว่า MBSR รักษาโรคแบบของคุณได้ดีกว่าไม่ทำ MBSR อย่างมีนัยสำคัญ ผมเคยเขียนเรื่อง MBSR นี้ไปหลายครั้งแล้ว คุณหาอ่านย้อนหลังในบล็อกนี้เอาได้ หรืออ่านที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2014/06/mbsr.html อนึ่ง ไหนๆคุณก็ไปเรียนที่อเมริกาแล้ว ไปเข้าคลาส MBSR ในละแวกที่คุณเรียนอยู่ก็ดีนะครับ สมัยนี้เขามีสอนกันทุกรัฐ แต่ว่าในเมืองไทยยังไม่มีใครสอน ผมเข้าใจว่าผู้สอนกลัวจะหาลูกค้าไม่ได้เพราะเมืองไทยมีหลักสูตรสมาธิวิปัสสนาของเกจิอาจารย์ดังๆแยะ ทั้งดีด้วย ทั้งฟรีด้วย แต่ตัวหมอสันต์เองเปิดสอน MBSR ที่มวกเหล็กในหน้าหนาวปีละประมาณหนึ่งครั้ง ครั้งหน้าคงประมาณมกรา 59 (ไม่ฟรีนะ) ซึ่งถึงตอนนั้นคุณคงไม่อยู่แล้ว คุณใช้วิธีอ่านที่ผมเขียนแล้วเอาไปหัดเองทำเองก็แล้วกัน

     โดยสรุป สาระหลักของ MBSR คือคุณต้องหัดเลิกสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบ serial processing หันมาสนใจการสนองตอบแบบ parallel processing ซึ่งเรียกง่ายๆว่าการอยู่กับปัจจุบัน (being here and now) คือโฟคัสเฉพาะการรับรู้สิ่งเร้าดิบๆภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัสโดยไม่ไปโฟกัสที่ความคิดต่อยอด การอยู่กับปัจจุบันเริ่มด้วยการหันมาสนใจว่า ณ ขณะนี้ มีสิ่งเร้าอะไรเข้ามาบ้าง เห็นภาพอะไรอยู่ ได้ยินเสียงอะไรบ้าง ได้กลิ่นหรือรสอะไรไหม ตามผิวหนังมีความรู้สึกอะไรอยู่หรือเปล่า การเฝ้าดูลมหายใจก็เป็นการโฟกัสกับปัจจุบันที่ดีอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตาดอก ฝึกรับรู้สิ่งเร้า ณ ปัจจุบันโดยเพิกเฉยต่อความคิด ฝึกบ่อยๆ ถี่ๆ พอจิตใจอยู่กับสิ่งเร้าในปัจจุบันได้ค่อนข้างดีแล้ว จึงค่อยฝึกย้อนมองดู (recall) ความคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ มองเฉยๆให้รู้ว่ามีความคิดอะไรอยู่ ธรรมชาติของความคิดเมื่อถูกเฝ้ามองมันก็จะฝ่อไปเอง ไม่ต้องไปพยายามกำจัดความคิด แต่ให้พยายามจะฝึกให้มีสติที่จะย้อนไปดูว่าเมื่อตะกี้นี้มีความคิดเรื่องอะไรอยู่ในหัว แล้วก็ดูๆๆมันไปจนมันฝ่อหายไปเอง พอมันหายไปแล้วก็กลับมาอยู่ที่ปัจจุบันกับภาพเสียงกลิ่นรสและสัมผัสที่ผิว ณ ขณะนี้อีก ทำอย่างนี้แหละ เดี๋ยวก็หายบ้า เอ๊ย ไม่ใช่ เดี๋ยวความกลัวมันก็จะฝ่อหายหมดไปเอง

     4.2 การเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ ซึ่งก็มีทั้งวิธีสอนให้คิดใหม่ (Cognitive therapy) หรือการทำพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) เช่นการพาคนไข้กลับไปเจอกับสิ่งที่ทำให้กลัวซ้ำๆหลายๆครั้งจนดื้อด้านต่อความกลัวไปเอง แต่ว่าในเมืองไทยนี้หมอจิตแพทย์ที่ให้การรักษาแบบพฤติกรรมบำบัดแบบเอาจริงเอาจังอาจมีไม่มากนัก คุณต้องเสาะหาเอาเอง ผมรู้จักบางท่านแต่แนะนำให้คุณไม่ได้เพราะมันผิดกฎของแพทยสภา

     4.3 ใช้ยา อันนี้เป็นวิธีที่แพทย์ทั่วโลกถนัดที่สุด แม้จะไม่รู้ว่ายาไปมีกลไกการดับความคิดอย่างไร แต่อย่างน้อยก็รู้ว่ายาที่ให้เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแล้วจะลดความคิดกลัวได้ดีกว่ายาหลอก ยายอดนิยมที่ใช้กันก็เช่นยาคลายกังวลอย่าง Alprazolam (Xanax) ยาต้านซึมเศร้ารวมทั้ง phenoxetine ที่คุณได้รับมานั้นก็เป็นยายอดนิยมตัวหนึ่งในการรักษาโรคนี้ ยานี้ทำให้ง่วงได้ แต่ไม่มีอันตรายอย่างอื่น ไม่เสพย์ติด เพียงแต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งยาจึงจะอยู่ได้ (psychological dependence) เคยมีคนไข้เขียนมาที่นี่แล้วเล่าให้ผมฟังว่าเป็นโรคนี้และกินยานี้ไปนับได้ถึง 3,000 เม็ด ซึ่งช่วยยืนยันว่าถึงไม่เสพย์ติด แต่ก็ทำให้กินกันจนลืมได้เหมือนกัน ยาเหล่านี้ล้วนเป็นยาควบคุมพิเศษ เมื่อมีด้านดี ก็มีด้านเสีย ถ้าจะใช้ ผมแนะนำให้ใช้มันภายใต้ความดูแลของจิตแพทย์เท่านั้น ตัวผมเองซึ่งเป็นหมอทั่วไป ถึงจะมีสิทธิตามกฎหมายที่จะสั่งยาพวกนี้ให้ใครก็ได้ แต่ผมเองไม่ยอมสั่งให้ใครเลย

     5. ถามว่าคนเป็นโรคจิตชนิดกลัวเกินเหตุหรือ bipolar ถ้าไปปฏิบัติธรรมแล้วจะอาการบ้าจะกำเริบจริงหรือ ตอบว่าไม่จริงครับ แต่ว่าการไปนั่งหลับตาฝึกสมาธินี้มันมีข้อพึงระวังในคนที่มี hallucination ผมหมายถึงว่าคนที่ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริงแม้ในขณะที่ตื่นลืมตาแป๋วๆอยู่ คนแบบนั้นไม่ควรไปนั่งหลับตาฝึกสมาธิเด็ดขาด ควรฝึกด้วยวิธีอยู่กับปัจจุบัน (being here and now) ขณะลืมตาอยู่กับผู้อยู่กับคนนะดีแล้ว เพราะขนาดตื่นๆลืมตาโพลงๆอยู่ยังเกิด hallucination ได้ แล้วหากไปนั่งหลับตาทำสมาธิก็ย่อมยิ่งเพิ่มโอกาสเกิด hallucination มากขึ้นไปอีก เพราะเวลาที่สมาธิเราเริ่มจะนิ่งนั้นความคิดแบบ serial processing จะลดลงไป แต่ความคิดแบบ parallel processing จะมากขึ้น ดังนั้นทุกอย่างที่เข้ามาในสมองจะมีแต่ภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัสเท่านั้น สาระพัดภาพที่จะมองเห็นแม้กำลังหลับตาอยู่ ภาพ ภาพ ภาพ จะต้องมีสติกลั่นกรองให้ดีว่ามันเป็นแค่ความคิดที่เสนอตัวเองมาในลักษณะของภาพจึงจะอาตัวรอดได้ ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะเองผมเคยมีประสบการณ์ตรง แล้วคนบ้าที่แม้ขณะตื่นๆลืมตาอยู่ยังกรองไม่ได้ว่าภาพไหนจริงภาพไหนหลอก หากไปนั่งหลับตาเห็นสาระพัดภาพเข้าอย่างนั้นก็ต้องบ้าหนักขึ้นแน่นอนใช่ไหมครับ

     6. ที่คุณมีแผนจะฆ่าตัวตายนั้น ผมเห็นด้วย เอ๊ย..ไม่ใช่ ผมไม่ขัดข้อง แต่ว่ามันยังอีกตั้งหลายเดือนไม่ใช่หรือกว่าคุณจะไปอเมริกาแล้วกลับมา เอาปัจจุบันนี้ก่อนดีกว่า อย่าไปคิดไกลถึงขนาดนั้นเลย being here and now ให้คุณไปอเมริกาแล้วกลับมาก่อน หากยังไม่เปลี่ยนแผนค่อยเขียนมาหาผมอีกก็แล้วกัน เขียนมาตอนที่ยังไม่ตายนะ ถ้าตายแล้วไม่ต้อง เพราะผมกลัว..ว ผี (หิ หิ พูดเล่น)

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hazlett-Stevens. Mindfulness-based stress reduction for comorbid anxiety and depression: case report and clinical considerations. J Nerv Ment Dis. 2012 Nov;200(11):999-1003. doi: 10.1097/NMD.0b013e3182718a61.

2. Khoury, Bassam; Lecomte, Tania; Fortin, Guillaume; Masse, Marjolaine; Therien, Phillip; Bouchard, Vanessa; Chapleau, Marie-Andrée; Paquin, Karine; Hofmann, Stefan G. (2013). “Mindfulness-based therapy: A comprehensive meta-analysis”.Clinical Psychology Review 33 (6): 763–71. doi:10.1016/j.cpr.2013.05.005.PMID 23796855

3. Hoge EA, Bui E, Marques L, Metcalf CA, Morris LK, Robinaugh DJ, Worthington JJ, Pollack MH, Simon  NM. Randomized controlled trial of mindfulness meditation for generalized anxiety disorder: effects on anxiety and stress reactivity. J Clin Psychiatry. 2013 Aug; 74(8):786-92.

4. Kim, Y. W., Lee, S.-H., Choi, T. K., Suh, S. Y., Kim, B., Kim, C. M., Cho, S. J., Kim, M. J., Yook, K., Ryu, M., Song, S. K. and Yook, K.-H. (2009), Effectiveness of mindfulness-based cognitive therapy as an adjuvant to pharmacotherapy in patients with panic disorder or generalized anxiety disorder. Depress. Anxiety, 26: 601–606. doi: 10.1002/da.20552

5. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.