Latest

นิสิตทันตแพทย์ปี 4 ถึงกับต้องร้องไห้ต่อหน้าคนไข้

กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมเป็นนิสิตทันตแพทย์กำลังขึ้นชั้นปี4 ตอนนี้เปิดเทอมมาแล้ว4วัน แต่มันเป็น 4 วันที่ทรมานเหลือเกินสำหรับผม เพราะผมลึกๆเป็นคนกลัวโรงพยาบาล เช่น กลิ่น Sterile ต่างๆในโรงพยาบาล ผู้คนที่เจ็บป่วย คุณหมอหรือพี่ๆพยาบาล มันทำให้ผมเกิดอาการมือไม้สั่น รู้สึกอึดอัด อยากร้องไห้ น้ำตาไหล จิตใต้สำนึกมันสั่งให้ตัวเป็นเช่นนั้น เกิดอาการคล้ายๆเหมือนคนกลัวผี หรือกลัวสัตว์ร้ายที่ไม่ชอบเอามากๆ ต้นเหตุเกิดจากผมเป็นคนอ่อนแอ ไม่สบายง่าย เลยเป็นเหตุให้เข้าโรงพยาบาลบ่อยตั้งแต่เด็กๆ ทุกครั้งไปโรงพยาบาลก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือการรักษาเท่าไหร่ กลัวคุณหมอ กลัวพี่พยาบาล กลัวรถเข็น กลัวไปหมด ร้องไห้ตลอดจนกระทั้งทำการรักษาเสร็จ เป็นแบบนี้ทุกครั้ง (ไม่เคยมีประวัติที่ไม่ดีเกี่ยวกับโรงพยาบาลเลยนะครับ) และที่สำคัญพอโตมาก็อยากเรียนหมอแต่ต้องสละสิทธิ์ที่นั่งคณะแพทย์ไปเพราะตอนรอวันสัมภาษณ์ตรวจสุขภาพ ผมเกิดความคิดว่าเรายังกลัวสิ่งที่เราเด็กๆกลัวหรือเปล่าเลยไปเดินเล่นนานอยู่หลายวัน ก็จริงๆครับผมยังคงเกิดอาการแบบที่กล่าวอยู่ เลยสละสิทธิ์ไปเพราะครอบครัวไม่อยากให้เราเกิดอาการแบบนั้น ที่บ้านอยากให้เราไปพบจิตแพทย์ แต่ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปสักที่ ตอนหลังจากนั้นเลยลองเลือกแอดมิสชั่น (Entrance) เข้าคณะทันตแพทย์ดู และก็ติดคับ เพราะส่วนตัวสนใจสายนี้รองลงมาจากคณะแพทย์และ มีโอกาสไปค่ายอยากเป็นหมอฟันมาก็เลยชอบและเราก็ไม่มีความกลัวเหล่านั้นเลยในสายนี้ หรือแม้กระทั่งไปทำฟันในคลินิกก็ไม่มีอาการดังกล่าวเลย แต่พอเรียนมาจนขึ้นคลินิก ทั้งๆที่บรรยากาศอาจจะไม่เหมือนโรงพยาบาลเท่าไหร่ แต่ขึ้นคลินิกมาวันแรกจนถึงวันนี้ อาการของผมมันค่อยๆหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำหัตถการต่างๆมือไม้สั่น ความกดดันมันเหมือนความกลัวในอดีตมีมากขึ้นทุกวัน อยากร้องไห้ทั้งๆที่ไม่เกิดจากอาจารย์หรือคนไข้แม้แต่น้อยเลย เกิดจากตัวเองล้วนๆเหมือนสมัยเป็น “เด็กที่กลัวโรงพยาบาล” อาการมันคล้ายกันมาก มันกลับมาเป็นอีกแล้ว ทั้งๆที่ผมคิดว่าตัวเองน่าจะหายไปเพราะตลอดที่เรียนมีโอกาสได้ขึ้นคลินิกบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่พอต้องมาอยู่ตลอดทั้งวันมันเริ่มออกอาการชัดเจนมากขึ้นๆ ผมจะขอคำปรึกษาอาจารย์หมอคับว่าควรต้องทำยังไงดีคับ

1.ผมควรบอกอาจารย์ฝั่งคลินิกหรือเปล่าครับเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตนะ เพราะตอนสัมภาษณ์ทดสอบทางจิตวิทยาเข้ามาเรียนก็ไม่ปัญหาอะไร แต่ผมกังวลเรื่องเวลาทำหัตถการกับคนไข้คับตลอด 4 วันผมไม่มีสมาธิเลยคับ อาการเหล่านั้นมันอาจทำให้ผมทำหัตถการผิดพลาดเพราะสมาธิไม่มีเลยอาการต่างๆ จะเกิดตลอดเวลา ที่ผ่านมาต้องดึงสติตัวเองพอสมควรกว่าจะผ่านไปแต่ละวันคนไข้ทักขนาดทำไมคุณหมอต้องร้องไห้เลยหรอ? คืออาจารย์ที่มาคุมดูแลตรวจความถูกต้องเราเวลาสอนท่านจะพูดจาดุ แต่จริงๆเราไม่ได้กังวลเรื่องนั้นเลย ควรไปบอกอาจารย์ไหมคับท่านอาจจะช่วยอะไรได้บ้างสำหรับเคสผม

 2. ผมไปฝึกกรรมฐานบ่อยนะครับตั้งแต่เด็กๆยันโต แต่ลองเอามาใช้ฝึกจิตกับสิ่งที่เรากลัวไม่ค่อยได้เลย ต้องให้เวลาพอสมควรกว่าจะดึงตัวเองขึ้นมาได้แต่ก็ไม่หาย เสียเวลาคับ อาจารย์พอมีการฝึกสมาธิวิธีที่ไหนที่จะช่วยให้ความกลัวหายหรือเปล่า ผมรู้นะคับทุกอย่างเกิดจากตัวเอง ตัวเองสร้างสิ่งนั้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง แต่มันจะพอมีวิธีรักษาเพื่อให้มันลดลงได้ไหมคับ

 3. ผมควรจะต้องพบจิตแพทย์อย่างเป็นทางการสักทีหรือเปล่าครับ

ขอบคุณอาจารย์นะครับ ขอคำชี้แนะผมด้วย ถึงแม้อาจารย์จะเป็นหมอศัลย์แต่ก็น่าจะมีวิธีช่วยไม่มากก็น้อยหาทางให้ผมได้บ้าง

……………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าเป็นบ้า..เอ๊ย ไม่ใช่ มีอาการกลัวเกินเหตุ (panic) ควรจะบอกอาจารย์ไหม ตอบว่าควรบอกสิครับ อย่างน้อยก็ควรบอกอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะคุณเสียค่าเทอมจ้างอาจารย์ที่ปรึกษามาก็เพื่อมาช่วยคุณให้ก้าวข้ามพ้นอุปสรรค์ใดๆที่จะทำให้คุณเรียนไม่จบ เสียเงินแล้ว ก็ต้องใช้บริการสิครับ อย่าไปกลัวว่าอาจารย์จะมองเราในแง่ร้ายแล้วหาทางเคี้ยะเราทิ้งเพราะกลัวเราจบไปเป็นหมอฟันเพี้ยน ความคิดแบบนั้นเป็น “มโน” หรือความคิดลบของเราเองซึ่งคนเป็นครูอาชีพไม่มีใครคิดแบบนั้นดอก อย่างเลวที่สุดถ้าครูเห็นว่ามันเป็นบิ๊กดีลที่เขาจะเอาไม่อยู่ เขาก็จะเสาะหาคำแนะนำหรือส่งคุณไปปรึกษาจิตแพทย์เอง ประเด็นสำคัญคือโรค panic disorder นี้เป็นโรคกระจอกที่ไม่มีใครอ้างเป็นเหตุไล่คุณออกจากโรงเรียนได้แน่นอน แต่ว่าถ้าไม่รักษาโรคนี้ ปล่อยให้มือไม้สั่นกรอฟันสูงๆต่ำๆแก้ยังไงก็ไม่เรียบ คุณอาจจะถูกไล่ออกจากโรงเรียนได้นะ เพราะอาชีพคุณเป็นอาชีพที่ต้องมีทักษะ จึงจะทำได้

     พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมเป็นเด็ก อายุ 14 ปี ประมาณพ.ศ. 2508 มีการสร้างถนนสายเอ.2 ผ่านตำบลที่ผมอยู่ ซึ่งก็คือถนนพหลโยธินจากกรุงเทพฯไปแม่สายในปัจจุบันนี้แหละ มีผู้รับเหมาเป็นบริษัทฝรี่งชื่อบริษัทโคซีฟาร์ งานนี้เป็นงานใหญ่ ไม่มีแรงงานท้องถิ่นมากพอที่จะมาทำงาน ต้องรับสมัครกันแล้วรับสมัครกันอีก ผมได้ติดตามลุงซึ่งทำงานเป็นโฟร์แมนรับสมัครงานให้ฝรั่ง บางครั้งผมก็ได้รับมอบหมายจากลุงให้นั่งเป็นกรรมการสอบคัดเลือกด้วย ถึงจุดหนึ่งเมื่อคนงานหายากสุดขีด ในการรับสมัครและสอบคัดเลือกช่างไม้ ลุงผมได้ลดสะเป๊คคนที่จะรับลงมาเรื่อยๆจนท้ายที่สุดลุงได้กำหนดคุณสมบัติคนจะเข้าเป็นช่างไม้ไว้ว่า

     “หากมันตอกตะปูลงไปข้างหน้าได้ ก็ให้รับเข้ามาได้”

     โห..นี่เรียกว่าเป็นการลดสะเป๊คแบบสุดๆเลย จะมีช่างไม้บ้าที่ไหนที่ตอกตะปูแล้วตะปูย้อนกลับไปข้างหลังได้ แต่ว่าทำงานกับฝรั่งต้องมีการกำหนดสะเป๊ค ต้องมีการสอบคุณสมบัติ ลุงก็เลยต้องทำ ผมซึ่งเป็นผู้ช่วยของลุงก็ต้องนั่งเป็นกรรมการสอบ คิดย้อนหลังแล้วก็น่าขำ พวกช่างไม้แก่ๆที่เจนจัดงานช่าง ต้องมาตอกตะปูลงกระดานต่อหน้าเด็กอายุ 14 ปีซึ่งไม่เดียงสางานช่างเลย  แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ มีผู้สมัครที่ตอกตะปูแล้วทำตะปูกระเด็นไปข้างหลังได้จริงๆ เท่าที่ผมจำได้อย่างน้อยก็สองคน ทำไงดี ตำแหน่งเราก็แยะ คนก็ไม่พอทำงาน นี่จะต้องมาคัดคนออกเพราะเกณฑ์สอบที่ตลกนี่อีก ผมรายงานให้ลุงทราบแล้วถามว่าจะให้รับเข้ามาไหม ลุงตอบว่า

     “แล้วเอ็งคิดว่าคนที่ตอกตะปูไปข้างหน้าไม่ได้ มันจะเป็นช่างไม้ได้ไหมละ”

     ตอนนั้นผมยังเด็กอายุ 14 ปี ผมไม่มีความเจนจัดพอที่จะตอบคำถามนี้ได้หรอก แต่ผมเห็นนายฝรั่งอยู่ใกล้กับที่ลุงนั่งจึงตอบไปเป็นภาษาอังกฤษชัดถ้อยชัดคำว่า

     “No!”

     ประเด็นของผมคือถึงครูของคุณเขาจะไม่ถือว่าอาการที่คุณเป็นจะเป็นเรื่องซีเรียสจนคุณจะเรียนไม่ได้ก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่พยายามรักษาตัวเองและปล่อยให้มันเป็นอุปสรรคต่อการฝึกทักษะอาชีพของคุณ วันหนึ่งครูเขาก็ต้องจำหน่ายคุณออกจากสายอาชีพนี้เพราะคนขี้ปอดจนมือไม้สั่นกรอฟันให้เรียบไม่ได้ จะเป็นหมอฟันได้อย่างไร
   
     2. ถามว่าควรพบจิตแพทย์ไหม ตอบว่า ควรครับ เพราะอาการที่คุณเป็นนี้ภาษาแพทย์เขาเรียกว่า panic disorder หรือโรคกลัวเกินเหตุ เป็นโรคที่จิตแพทย์เขาพบเห็นและช่วยเหลือให้การรักษาอยู่เป็นประจำซึ่งส่วนใหญ่เขาก็รักษาหาย การพบจิตแพทย์มีแต่ได้กับได้ ไม่มีอะไรเสียเลยครับ อีกอย่างหนึ่ง ไหนๆก็พูดถึงจิตแพทย์แล้ว ขอพูดอีกนิดหนึ่งนะ ว่าทำไมคนไทยเราจึงมองการไปพบจิตแพทย์ราวกับว่าจะเป็นการทำบาปใหญ่หลวง จิตแพทย์นะเขาเป็นกัลยาณมิตรนะครับ ถ้าคุณไม่เข้าหากัลยาณมิตร แล้วคุณจะเข้าหาคนแบบไหนละครับ

     3. ถามว่าเป็น panic disorder ต้องไปฝึกสมาธิวิปัสนาที่สำนักไหนอย่างไร แหะ แหะ ตอบว่า ผมไม่มีคุณวุฒิที่จะตอบตรงนี้ได้หรอกครับ เพราะผมไม่ได้เป็นผู้รู้ในเรื่องนี้ แต่มีข้อมูลที่อาจจะนอกเรื่องนิดหนึ่งแต่อาจมีประโยชน์กับคุณนะ คือเมื่อไม่นานมานี้ผมดูสารคดีของ BBC เขาพูดถึงอินเดีย แล้วในหนังนั้นก็กวาดกล้องไปตามริมฝั่งน้ำซึ่งมีพวกโยคีดัดตนกันอยู่ แล้วไปซูมที่โยคีตนหนึ่งซึ่งรูปร่างออกท้วมนิดๆผิดโยคีทั้งหลาย แต่ที่สะดุดตาผมคือท่าที่แกแขม่วพุง แว่บ แว่บ แว่บ นั้น เวลาแกแขม่ว พุงของแกจะยุบไปเสียจนสะดือแทบจะยุบลงไปติดกระดูกสันหลัง ทั้งๆที่แกท้วมออกอย่างนั้น เสียงบรรยายหนังบอกว่าแกกำลังปฏิบัติราชาโยคะ รายละเอียดอื่นๆผมจำไม่ได้ แต่ด้วยความอยากรู้ว่าเทคนิคแขม่วพุงบันลือโลกของแกทำอย่างไรผมจะได้เอามาสอนคนไข้พุงพลุ้ยของผมให้ทำตามบ้าง ผมจึงเขียนอีเมลไปหาเพื่อนที่เป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่อินเดีย เราสนิทกันเพราะเคยทำงานเป็นขี้ข้าฝรั่งด้วยกันมาก่อน ผมบอกเขาว่าให้ส่งสรุปเรื่องราชาโยคะมาให้ผมไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ เขาตอบเมลมาความยาวประมาณสิบบรรทัด เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆไม่มีบาลีหรือสันสกฤตแทรกหรือวงเล็บไว้เลย ผมจะทับศัพท์ตัวสำคัญและแปลหรือวงเล็บภาษาไทยบางคำ และขยายความบ้างเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นนะ

“..     ราชาโยคะมีหลักปฏิบัติตามลำดับ 8 อย่าง จากง่ายไปยาก ดังนี้
1..Social discipline  คือ วินัยทางสังคม เช่น พูดเพราะ ยิ้ม
2. Self discipline  คือ วินัยตนเอง เช่น อาบน้ำทุกวัน (ผมยกตัวอย่างเองนะ)
3. Posture คือ สนใจท่าร่างและการเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง  อยู่ในท่าที่ทำให้ตัวเองผ่อนคลาย สบายๆ ได้นานๆ แขม่วพุง ยืดออก เยื้องย่างอย่างตั้งใจทุกเวลานาที
4. Breathing คือหัดหายใจอย่างตั้งใจอย่างโยคี ลึกๆ ช้าๆ และหัดอยู่กับลมหายใจตัวเองเป็นอาจิณ มีลูกเล่นเล็กๆเช่นปิดรูจมูกทีละข้าง เป็นต้น
5. Turning attention inward คือปิดใจไม่สนใจสิ่่งภายนอกซึ่งหมายความรวมถึงความคิดใดๆด้วย ให้ความสนใจหดกลับสู่ภายในคือความรู้ตัว
6. Concentration หรืือสมาธิ หรือเข้าฌาณ คือจดจ่อจิตอยู่กับอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียว จนไม่มีความคิด ไม่มีร่างกาย มีแต่สิ่งที่จดจ่อ
7. Intuition คือการตั้งตัวเป็นผู้สังเกต (individual consciousness) คอยสอบสวนกำพืดของแต่ละความคิดให้เห็นว่าแท้จริงมันก็มาจากอีกความคิดหนึ่งคือความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุคคลนั่นเอง ทำไปๆในที่สุดความคิดก็จะถูกเปิดโปงและทำลายไปจากใจหมดไม่เหลือ  
8. Samadhi อันนี้แขกไม่ได้ขยายความมาว่าเขาหมายถึงอะไร ผมขอเดามั่วเอาเองว่าคงหมายถึงการที่
เมื่อหมดความคิดแล้ว ผู้สังเกตหรือ individual consciousness ก็เข้าไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่สังเกตคือความรู้ตัวนั้น (cosmic consciousness) น่าจะตรงกับภาษาแขกว่าเป็นการหลอมรวมอาตมันเข้ากับปรมาตมัน เทียบกับพุทธก็น่าจะนิพพาน ประมาณนั้น “

     ทั้งหมดที่เพื่อนผมส่งมาให้นี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการแขม่วพุงหรือหุบขี้ปุ๋มที่ผมอยากรู้เลย แต่มันเข้ามาในช่วงที่คุณอยากหาที่ฝึกสมาธิอยู่พอดี ผมว่าคุณอย่าไปฝึกที่สำนักไหนเลย ฝึกที่ชีวิตประจำวันของคุณนั่นแหละ และวิธีการก็ไม่ต้องไปเอาแบบพิสดารที่ไหน เอาแบบราชาโยคะที่แขกส่งมาเนี่ยแหละ

     ก่อนจบ สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ผมขอถือโอกาสนี้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับโรคโรคกลัวเกินเหตุ หรือ Panic disorder ว่ามันเป็นโรคที่วินิจฉัยเอาจากอาการ ไม่มีการตรวจทางแล็บยืนยัน ดังนั้นถ้ามีอาการครบเกณฑ์โดยที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้เลย เกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV) นิยามโรคนี้ว่าอยู่ๆก็กลัวอะไรขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย กลัวแบบสุดขีด (intense fear) ขึ้นถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 10 นาที และต้องมีอาการร่วมคือ (1) กังวลว่าจะกลับเป็นอีก (2) กังวลว่ากลับเป็นแล้วจะมีผลเสียตามมา (3) มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเพราะความกลัวนั้น ทั้งนี้อาการเหล่านี้ต้องไม่เกิดจากยา หรือการเจ็บป่วยอื่นใด และต้องเป็นอยู่นานเกินหนึ่งเดือน โดยต้องมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างใน 13 อย่างต่อไปนี้
1.1 ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
1.2 เหงือแตก
1.3 ตัวสั่นหรือสะทกสะท้าน
1.4 หายใจสั้นๆขัดๆ
1.5 รู้สึกอะไรติดคอ หายใจไม่ได้
1.6 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
1.7 คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
1.8 เวียนหัว หรือเป็นลม
1.9 เหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้ายๆกับผีเข้า
1.10 กลัวคุมสติไม่อยู่ กลัวจะเป็นบ้า
1.11 กลัวตาย
1.12 รู้สึกชาๆตื้อๆหรือเหมือนมีแมลงไต่ที่ผิวหนัง
1.13 หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ
      โรคนี้เป็นโดยไม่ทราบสาเหตุ วงการแพทย์รักษาโรคนี้ด้วย 4 วิธีใหญ๋ๆคือ
     (1) ใช้ยา เช่นยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI อย่าง fluoxetine ยากล่อมประสาทเช่น Lorazepam (Ativan) หรือ Alprazolam (Xanax) เป็นต้น
     (2) สอนให้คิดใหม่ (Cognitive therapy) ก็คือการสอนให้มีสติตามทันความคิดของตัวเองนั่นเอง สอนให้เข้าใจว่าความคิดของตัวเองจะต่อยอดไปสู่ความกลัวได้อย่างไร ถ้าตั้งหลักตามความคิดทัน ความกลัวก็จะไม่เกิด
     (3) วิธีพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) คือการพาคนไข้กลับไปเจอกับสิ่งที่ทำให้กลัวซ้ำๆหลายๆครั้งจนดื้อด้านต่อความกลัวไปเอง ซึ่งมักต้องอาศัยเทคนิคผ่อนคลาย (relaxation) เช่นการผ่อนลมหายใจเข้าออกช่วยด้วยเสมอเพราะขณะทำพฤติกรรมบำบัดอาจเกิดความกลัวถึงระดับเป็นอันตรายได้
     (4) สอนฝึกสติลดความเครียด (MBSR) ซึ่งวิธีการขั้นละเอียดผมพูดไปหลายครั้งแล้วจะไม่พูดซ้ำอีก สาระหลักคือต้องสร้างความรู้ตัว (awareness) ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะความรู้ตัวจะเป็นตัวแทนที่หรือบล็อคความคิดและความรู้สึกกลัวโดยอัตโนมัติ คือการบล็อคความคิดหรือความรู้สึกทางใจจะใช้วิธีห้ามใจนั้นไม่ได้ ต้องใช้วิธีใช้ความรู้ตัวเฝ้ามองมันเฉยๆ (bare attention) นี่เป็นสุดยอดวิชาของเรื่องนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision. Washington, DC: American Psychiatric Press; 2000.
2. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.