Latest

10 วิธี รักสมองให้ถูกทาง (10 Ways to Love Your Brain)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

ดิฉันกลุ้มใจมากเรื่องคุณแม่ค่ะ จึงขอรบกวนเขียนมาขอความช่วยเหลือ ขอคําแนะนํานะคะ
คุณแม่ดิฉันอายุ 77 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง หัวใจ พาร์กินสัน ไต ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง กระเพาะปัสสาวะเสื่อม ต้องใส่สายปัสสาวะตลอดเวลา และปีที่แล้วหมอนรองกระดูกเคลื่อน จากพอเดินได้ใช้ไม้เท้าช่วย แต่เนื่องจากผ่าตัดไม่ได้ และหมอนรองกระดูกเคลื่อนทําให้ปวดขาตลอดเวลา เลยไม่ค่อยได้เดิน ตอนนี้ขาจึงลีบมากไม่มีแรงยืนหรือเดินด้วยตัวเองไม่ได้เลยค่ะ ล่าสุดเดือนที่แล้วคุณแม่ไม่ยอมใส่สายปัสสาวะ เป็นผลทําให้ปัสสาวะเป็นหนอง เข้า ไอซียู ต้องสอดท่อช่วยหายใจ 2-3 วันกว่าจะหายค่ะ นํ้าหนักจาก 55 ตอนนี้เหลือ 46 ค่ะ ความดันปกตฺิจะประมาณ 160-180
ระยะหลังๆมีอาการสับสน เริ่มเป็นมาก 2-3 เดือนหลัง บางครั้งจําบ้านตัวเองไม่ได้ คิดว่าเป็นบ้านญาติบ้าง บ้านคนอื่นบ้าง จะหงุดหงิด คอยแต่จะให้ลูกๆพากลับบ้าน ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก้อไม่ยอมเชื่อ และเอาแต่ต่อว่าลูกๆ ทั้งวัน พยายามที่จะลุกขึ้นมาเดินกลับเอง แต่ลุกไม่ขึ้นค่ะ บางครั้งก้อหงุดหงิดเฉยๆ ไม่พูดจากับใคร………
  เวลาไปฟอกไตจะปวดขามากค่ะ จะขอให้พยาบาลถอดสายออกก่อนเวลา ซึ่งพยาบาลจะไม่ยอมถอดให้ ก้อจะต่อว่าพยาบาลแรงๆ โดยเฉพาะคนดูแลส่วนตัวจะถูกด่าว่าแรงๆหยาบคาย ล่าสุดถึงขนาดสาบแช่งเลยค่ะ และจะต่อว่าเป็นชั่วโมงจนกว่าจะถอดสายให้ ไม่สนใจว่าคนไข้คนอื่นจะมองและรําคาญ เดี๋ยวนี้ก้าวร้าวมากขึ้นทุกวันๆ และหลังฟอกไตบางครั้งความดันจะชึ้นสูงถึง 190-200 นอกจากนี้บางคืนจะนอนไม่หลับ นอนได้ไม่กี่ชั่วโมง แล้วก้อสับสน เหมือนคุยกับใครอยู่หรือคิดว่าตัวเองอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านค่ะ

ตอนนี้คุณแม่ได้รับยา ตามรายการต่อไปนี้ค่ะ

PLAVIX               75 mg  วันละ 1 เม็ด เฉพาะเช้า
VASTAREL MR    35mg    ”     2 เม็ด เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ด
MONOLIN           60mg    ”     1  ”    เฉพาะเช้า  
CONCOR           2.5 mg   ”     1  ”     เฉพาะเช้า
ADALAT CR       60 mg    ”     2  ”    เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ด
LASIX                500mg    ”    1  ”   เช้ากลางวันครั้งละ 1/2 เม็ด
APRESOLINE      50mg    ”    2    ”    เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ด
LIPITOR             20 mg    ”    1   ”     เฉพาะเย็น
LYRICA              75 mg    ”    1   ”     เฉพาะเย็น
SERMION          10 mg    ”    1  ”      เฉพาะเช้า
TRILEPTAL        300mg  ”   1/2 ”    เฉพาะเย็น
FOLICACID         5mg     ”   1  ”       เฉพาะเช้า
STALEVO          150mg   ”   3  ”      เช้ากลางวันเย็นครั้งละ 1 เม็ด
CHALK              350mg   ”   2  ”     เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ด
NOVONORM       2 mg                   ตัวนี้ไม่ค่อยได้ทานค่ะ ใช้วิธีเจาะนํ้าตาลก่อนอาหารเย็นถ้าไม่สูงมากก้อไม่ทาน ตามคุณหมอบอกเพราะกลัววูบค่ะ
ULTRACETT                   วันละ 8-10 เม็ด วันละ 4-5 ครั้งๆละ 2 เม็ดเวลาปวด
FBC                                 ”     2      เม็ด เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ด

ดิฉันได้แนบผลตรวจเลือดมาให้ด้วยค่ะ ใน attached files
ขอรบกวนคุณหมอสันต์ด้วยนะคะ ว่าพอจะมีวิธีไหนที่จะสามารถลดความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยได้บ้างมั้ยคะ
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

…………………………………………………………………………

     เห็นจดหมายของคุณแล้วทำให้นึกถึงเมื่อสองวันก่อน ผมนอนดึก ทั้งๆที่รุ่งขึ้นจะต้องรีบไปทำงานเพราะมีนัดช่องสามมาสัมภาษณ์เรื่องอะไรสักอย่างเนี่ยแหละ คือรู้ว่านอนดึกไม่ดี แต่แก้ไม่หาย เพราะเวลาอ่านวารสารการแพทย์เล่นๆตอนกลางคืนแล้วมันเพลินจนลืมเวลาเป็นประจำ สองวันก่อนหลังจากนอนดึกผมรีบตื่นแล้วรีบขับรถไปทำงาน แล้วไปน้ำมันหมดกลางทางด่วนเพราะเบลอจนลืมดู ขณะที่รถผมเริ่มจามแค่ก แค่ก แค่ก ผมต้องเปิดไฟฉุกเฉินขอทางเลนอื่นเพื่อเอารถเข้าไหล่ทางอย่างทุลักทุเล พอจอดไหล่ทางได้แล้วก็โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากทางด่วนตามเบอร์ที่อยู่หลังใบเสร็จ แล้วก็รอ นานราวสิบนาทีรถทางด่วนสีเหลืองก็เปิดไฟแว่บๆคลานกระดึ๊บๆตามคลื่นรถติดมาถึง พอรถเหลืองจอด ผมก็เห็นน้องพนักงานช่างผู้ชายหนุ่มรูปหล่อในชุดช่างสีส้มลงจากรถเหลืองที่เปิดไฟแว่บๆไว้ เขาหิ้วแกลลอนน้ำมันลงมาด้วย เมื่อเห็นผมแต่งชุดทำงานผูกเน็คไทยืนกอดอกทอดอาลัยอยู่หลังรถตัวเอง เขาก็ตะโกนร้องทักมาแต่ไกลว่า

     “…เกจ์น้ำมันเสียเหรอพี่”  

     ผมตอบว่า

     “ไม่ใช่หรอก เกจ์สมองของพี่เองเสีย”

ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

ตั้งแต่วันนั้นผมก็บอกตัวเองว่าผมจะต้องเป็นคนใหม่ที่เข้านอนก่อนสี่ทุ่มให้ได้ ตื่นเช้ามาทุกวันก็จะท่องคำก็สัญญาบอกตัวเองว่า “Today I will be a new man” จนกว่าผมจะทำได้ ไม่บอกเปล่านะ ผมตั้งนาฬิกาปลุกอย่างถาวร 21.30 น. ไว้ที่ไอโฟนของผมด้วย แต่ไหนแต่ไรผมไม่เคยใช้นาฬิกาปลุก แต่คราวนี้ผมจะใช้มันละ ไม่ใช่ปลุกให้ตัวเองตื่นนอนนะ แต่ปลุกให้ตัวเองเข้านอน ก็เวอร์คอยู่ได้สองวัน วันนี้มาเข้าอีหรอบเดิมอีกละ โทษจดหมายของคุณแหละ ผมเห็นคำโอดครวญแล้วก็อดจะตอบใม่ได้ ทั้งๆที่ไม่มีสาระอะไรที่จะมาตอบให้เป็นประโยชน์แก่คุณมากนัก แต่ก็ตั้งใจว่าหลังจากตอบจดหมายของคุณแล้ว ต่อไปผมจะต้องเข้านอนก่อนสี่ทุ่มให้ได้

มาตอบจดหมายของคุณดีกว่า

พูดอย่างซินเซียร์เลยนะ ผมเอาจดหมายของคุณมาตอบด้วยเจตนาที่จะเอาเปรียบคุณเล็กน้อย คือผมไม่มีคำตอบที่ดีให้คุณ แต่ผมก็คิดจะเอาประโยชน์จากจดหมายของคุณให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้เห็นภาพว่าสุดท้ายของโรคสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเสื่อมจากเหตุใด ภาพสุดท้ายมันเป็นอย่างไร มันหนักหนาสาหัสสำหรับผู้ดูแลขนาดไหน เพื่อจะได้กระตุ้นให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันสมองเสื่อมให้ตัวเอง ซึ่งจังหวะนี้เป็นเดือนแห่งโรคสมองเสื่อม สมาคมอัลไซเมอร์อเมริกัน (AAA) ได้ออกแนวปฏิบัติชื่อ “10 วิธีรักสมองให้ถูกทาง” มาเตือนใจเราทุกคน ผมขอขัดจังหวะแปลให้อ่านตรงนี้หน่อยนะ แล้วผมสัญญาว่าจะไม่ลืมพูดกับคุณตอนท้าย

     “…American Alzheimer’s Association 

     10 วิธี รักสมองให้ถูกทาง

     1. ตั้งศีรษะคุณไว้ให้มั่น ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของสมองเสื่อมคือการกระแทกมากบ้างน้อยบ้างที่ศีรษะ เช่นเผลอเดินโขกประตู ลุกขึ้นชนของหน้าต่าง ขับรถก็อย่าลืมคาดเข็มขัด ปั่นจักรยานก็อย่าลืมสวมหมวกกันน็อค อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ทำให้เกิดเลือดออกเรื้อรังในชั้นใต้ดูราของสมองผู้สูงอายุแล้วสมองเสื่อมตามมา

     2.. อาบเหงื่อ ออกกำลังกายด้วยวิธีใดก็ได้ให้เหนื่อยจนหายใจเร็วขึ้นหัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้นด้วย งานวิจัยหลายรายการสรุปได้ตรงกันว่าการออกกำลังกายจนเหนื่อยสัมพันธ์กับการที่สมองจะเสื่อมช้าลง

     3. หลับซะ       การได้นอนไม่พอ หรือนอนไม่หลับ ส่งผลถึงความจำและการใช้ความคิดวินิจฉัย

     4. เลือกเติมพลังให้ถูกสะเป๊ค  กินอาหารที่มีไขมันต่ำแต่มีผักผลไม้สูง งานวิจัยพบว่าอาหารบางชนิดที่มีแคลอรี่ต่ำและผักผลไม้สูง เช่นอาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารลดความดัน (DASH diet) มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงสมองเสื่อมลง

     5. ท้าทาย   ลองเย้ยสมองของคุณเองสิว่าจะมีน้ำยาแค่ไหน ลองสร้างเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นได้ไหม จิ๊กซอว์ง่ายๆแค่นี้ต่อได้หรือเปล่า ลองทำอะไรแบบอาร์ท อาร์ท ศิลปิน ศิลปิน บ้างก็ได้ จับอะไรที่บังคับให้คิดอ่านหากลเม็ดเข้าแก้ไข การท้าทายสมองอาจให้ประโยชน์ต่อสมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว

     6. ฝึกจิต  บางงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับสมองเสื่อม ดังนั้นดูแลสุขภาพจิตของคุณให้ดี จัดการความเครียดให้เป็น จะด้วยวิธีฝึกสมาธิ โยคะ มวยจีน ก็ได้ เมื่อจิตตกหรือซึมเศร้าก็ให้รีบรักษา

     7. หาเพื่อน   ยิ่งได้พบปะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สมองยิ่งเสื่อมช้า จงขยันหาเพื่อนและหมั่นพบกับเพื่อนเข้าไว้ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ยิ่งดี เข้ากลุ่มร้องเพลงก็ได้ ถ้าหาคนเป็นเพื่อนไม่ได้ก็หาน้องหมาสักตัว 

     8. ไปโรงเรียน  การเข้าชั้นเรียนไม่ว่าในวัยไหนก็ช่วยลดสมองเสื่อมได้ทั้งนั้น หาที่ลงทะเบียนเรียนอะไรสักอย่างสองอย่าง เข้าอบรมตามศูนย์ของชุมชน หรือทางอินเตอร์เน็ท

     9. อย่าทิ้งหัวใจ  หลักฐานแสดงว่ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดมาก ยิ่งเป็นสมองเสื่อมมาก ไม่ว่าจะเป็นความอ้วน ไขมัน ความดัน เบาหวาน จำไว้ว่าถ้าหัวใจไปดี สมองก็จะไปดีตาม

     10. ของไม่ดีเลิกซะ  ผลวิจัยยืนยันว่าการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อม เลิกเมื่อไหร่ความเสี่ยงก็ลดลงเมื่อนั้น ดังนั้นเลิกบุหรี่ซะ..”

     จบเรื่องที่จะให้คนอื่นอ่านละ ทีนี้มาเรื่องของเรา คือคุณกับผม

     ผมเห็นใจคุณมาก

     คุณได้ทำในสิ่งที่ดีมาก ซึ่งไม่ใช่ลูกทุกคนจะทำได้อย่างคุณ ขอให้คุณภาคภูมิใจกับสิ่งที่คุณทำ ฝรั่งเขาเรียกว่าถึงใครไม่รู้ แต่พระเจ้าก็รู้

     “God knows you have been tried”

     เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปสอนชั้นเรียนผู้เกษียณอายุขององค์กรระดับประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดสอนที่นครนายก นักเรียนของผมคนหนึ่ง (ซึ่งอายุหกสิบแล้ว) ได้เล่าให้ผมฟังว่าที่ข้างบ้านของเขาซึ่งเป็นบ้านสวนไม่ไกลจากกรุงเทพ คนบ้านข้างๆมีพ่อซึ่งเป็นสมองเสื่อม แต่ชอบเดินออกไปนอกสวนแล้วหลงทางกลับบ้านไม่ได้ ชาวบ้านเขาต้องจับมาส่งบ้าง มาแจ้งว่าอยู่ที่โน่นที่นี่บ้าง จนลูกชายทนไม่ไหวจึงจับพ่อขังไว้ที่ใต้ถุนบ้าน โดยเอาไม้ตีระแนงปิดตายแบบเล้าไก่ขังไว้ไม่ให้ออกไปไหนเลย ทั้งกิน นอน ขับถ่าย อยู่ในนั้นเสร็จ ผอมโกงโก้ สกปรก และเหม็น ตัวคนเล่าซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสงสารก็เลยแวะเวียนเอากล้วยน้ำว้าไปยื่นลอดรูไม้ระแนงให้กินเป็นประจำ

     ผมเข้าใจว่าทำไมลูกชายจึงทำอย่างนั้น เพราะผมเข้าใจโรคสมองเสื่อมดี และผมชื่นชมคุณที่ไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้น เพราะผมเข้าใจภาระที่คุณต้องเผชิญดี

     ปัญหาของคุณแม่ของคุณมันซับซ้อนขมวดปมหลายชั้น เกินกำลังที่ผมจะช่วยแก้ด้วยการเขียนบอกทางไปรษณีย์อย่างนี้ได้ ทั้งยังเกินกำลังของคุณและของโรงพยาบาลท้องถิ่นซึ่งมีทรัพยากรจำกัดมีภาระอื่นๆเต็มมือจะเข้ามาช่วยแกะเชือกให้ได้ ผมจึงตัดสินใจว่าเราอย่าไปพูดถึงปัญหาของคุณแม่ของคุณดีกว่า เพราะมันสายเกินไปแล้ว เราปลงเสียดีกว่า คิดเสียว่าอีกไม่นานท่านก็จะตายจากเราไปแล้ว เราก็ให้ท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะให้ได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ส่วนที่เหลือก็สุดแต่บุญกรรม

     มาพูดถึงเรื่องของคุณดีกว่า เพราะคุณยังอายุน้อย ยังมีเวลาที่จะตั้งหลักฝึกฝนและดูแลตัวเองได้ มาพูดกันว่าทำอย่างไร คุณจึงจะผ่านวันเวลาแบบนี้ไปได้อย่างมีความสุขทั้งตอนนี้และตอนที่ระลึกย้อนหลังเมื่อคุณแม่จากไปแล้ว ผมแนะนำว่า  

     คุณต้องดูแลตัวเองก่อน ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี

     การจะมีสุขภาพกายที่แข็งแรง คุณต้องเลือกทานอาหารที่ดี โปรตีน ผัก ผลไม้ ลดอาหารไขมันและแป้งลง คุณต้องออกกำลังกายทุกวัน ทั้งขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทั้งวัน และหาเวลาวันละชั่วโมงเพื่อออกกำลังกายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จะด้วยวิธีใดก็ได้

     การจะมีสุขภาพจิตที่ดี คุณต้องจัดเวลานอนพักผ่อนให้พอ จัดเวลาเบรกจากการดูแลคุณแม่ตอนกลางวันเพื่อที่จะมีเวลาส่วนตัวอยู่ในพื้นที่แยกที่เป็นตัวของตัวเอง และคุณต้องหัดตัดตอนความคิดซึ่งเป็นต้นเหตุของความเครียดด้วยกิจกรรมเช่นการฝึกสติ ฝึกสมาธิตามดูลมหายใจ โยคะ หรือรำมวยจีน เป็นต้น โดยทำทุกวัน อย่างน้อยวันละสัก 20 นาที

     ทั้งหมดนั้นจะทำให้คุณมีสุขภาพดี เมื่อคุณมีสุขภาพดี คุณจึงจะมีพลังไปให้สิ่งดีกับคุณแม่ของคุณได้ ถ้าคุณยังไม่มีพลัง คุณอย่าเพิ่งไปพยายามเลย มันจะมีโอกาสจบลงด้วยความร้าวฉานและความรู้สึกผิดในภายหลังมากกว่า

     ในระหว่างที่คุณฟูมฟักสร้างพลังให้ตัวเองนี้ หากมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับคุณแม่คุณก็รับรู้และรับฟังแบบเฉยๆ (ฝึกวิชาหูทวนลม) อย่าไปใส่ใจอะไรว่าเป็นเรื่องซีเรียส ให้อภัย แผ่เมตตา ไม่ตะโกนหรือตะคอกโต้ตอบ แต่พูดให้ช้าลง พูดตรงหน้า ตั้งใจพูด ขยันพูด หรือเดินหนีไปชั่วคราวหากการปฏิสัมพันธ์ไม่ไปในทางบวก ใช้สามัญสำนึก และอารมณ์ขันในการทำงานดูแล เรื่องที่แก้ไขไม้ได้ก็ปลงหรือปล่อยวางซะ ถ้าคุณแม่กดดันคุณก็เพิกเฉยซะ คงความสัมพันธ์แบบมิตรไมตรีและเมตตาต่อกันไว้ จะเป็นเราเมตตาท่านอยู่ข้างเดียวก็ได้ แต่อย่าไปสร้างความสัมพันธ์แบบเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คุณธำรงชีวิตบางด้านของตนเองที่เป็นความรื่นเริงบันเทิงใจไว้แยกต่างหากคุณแม่ไว้ด้วย

     เมื่อคุณมีพลังแล้ว จึงค่อยหันมาดูแลคุณแม่มากขึ้น ซึ่งผมจะเน้นเรื่องเดียว คือให้คุณหาจังหวะเวลาที่จะชักจูงให้ท่านเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับความเจ็บปวดและความตาย ผ่านกิจกรรมการฝึกสติ ซึ่งแน่นอนว่าคุณเป็นได้แค่ผู้บอกทางเท่านั้น ท่านจะเดินหรือไม่เดินไม่ใช่เรื่องของคุณ แต่ถ้าผู้บอกทางเป็นคนที่เดินไปทางนั้นก่อนแล้ว ท่านก็มีแนวโน้มที่จะเดินตาม ถ้าคุณทำตรงนี้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านได้รับในช่วงสุดท้ายของชีวิตนี้

ส่วนการดูแลอื่นๆตามหลักการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมนั้น สำหรับกรณีของคุณผมเห็นว่ามันไม่สำคัญ และมันอาจจะใหญ่เกินกว่าที่คุณจะทำได้ แต่ว่าหากคุณสนใจจะลองดูก็ได้

     หลักวิชามันเริ่มตั้งแต่

     (1) การดูแลจัดการความปลอดภัยของสถานที่ พื้น ทางเดิน แสงสว่าง ราวเกาะ สิ่งของเกะกะที่อันตราย
     (2) การทำตารางประจำวันสำหรับคนสูงอายุหรือคนป่วยเรื้อรังที่เราดูแล นับตั้งแต่มื้อยา มื้ออาหาร กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมฝึกสมอง กิจกรรมพิเศษต่างๆ การขับถ่าย การอาบน้ำ การเข้านอน
     (3) การทำตารางประจำวันสำหรับผู้ดูแลเอง ซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึง เวลาพักส่วนตัวโดยไม่ได้อยู่กับคนสูงอายุหรือคนป่วย วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เวลาทานอาหาร เวลาออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที เวลานอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
     (4) การกำหนดเป้าหมายการดูแลผู้ป่วย ซึ่งในระยะสั้นต้องไฮไลท์เป้าหมายเฉพาะหน้าเพียงหนึ่งหรือสองเรื่อง เช่น “.ให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงพอเดินไปเดินมาเองได้” หรือ “เข้าห้องน้ำเองให้ได้” เป็นต้น
     (5) การจัดการด้านโภชนาการ  เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพอเพียง
     (6) การฟื้นฟูร่างกายจนทำได้เต็มศักยภาพที่ท่านมี
     (7) การฟื้นฟูสมองได้เต็มศักยภาพของคนป่วย (8) การกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่มี
     (9) การดูแลจัดการเรื่องยา

     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหลักวิชานะ การปฏิบัติก็ยืดหยุ่นไปตามสภาวะ ผมต้องขอโทษที่ไม่สามารถลงไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติได้เพราะในขั้นนั้นมันต้องประเมินผู้ป่วย ประเมินสภาพแวดล้อม แล้วจึงจะวางแผนได้ ยกตัวอย่างเอาแค่เรื่องจัดการฤทธิ์ข้างเคียงและการตีกันของยาหลายตัวที่กำลังกินอยู่นี่ก็ยากเละตุ้มเป๊ะแล้ว คุณต้องแวะเวียนคุยกับหมอบ่อยมาก ยิ่งถ้าหมอเขาไม่มีเวลาคุยกับคุณก็จบเลย ดังนั้นวันนี้คุณเอาแต่หลักการไปหาลู่ทางประยุกต์ใช้เอาเองก็แล้วกัน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เพราะผมย้ำแล้วว่าส่วนนี้ไม่ใช่ส่วนสำคัญ

     ในเวลาที่เหลืออยู่นี้ ส่วนสำคัญคือส่วนแรก..คือการเตรียมท่านให้พร้อมที่จะรับมือกับความเจ็บปวดและความตายด้วยตัวของท่านเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์