Latest

นักศึกษาแพทย์ปีสอง กับการบริหารข้อมูลเข้าสมอง

เรียน หมอสันต์

ดิฉันติดตามบล็อกของหมอมานาน เป็นประโยชน์ทั้งเรื่องสุขภาพ และเรื่องแนวการเรียนของลูกๆ ปัจจุบัน ลูกสาวคนโตเรียนแพทย์ ปี 2 (ม. เอกชน) คนเล็กผู้ชายกำลังจะเข้าปี 1 (ม. แถววังหน้า) ที่เขียนมาถึงคุณหมอ เพื่อขอแนวทางการพูดคุย และทำความเข้าใจ สอนลูกให้เข้มแข็งอดทน ต่อการเรียนและการเป็นหมอต่อไปในอนาคต ลูกสาวเป็นเด็กที่ตั้งมั่นมาก อาจจะคาดหวังสูง จริงๆ เธอเป็นเด็กเรียนดีปานกลาง แต่สามารถสอบเข้าหมอ(ม.เอกชน) ได้ เธอมีความตั้งใจที่จะทำเกรดดีดี เพื่อที่จะหาประสพการณ์สัก1 ปี ก่อนที่จะไปเรียนเฉพาะทางโดยขอไว้ว่าจะไปเรียน ต่างประเทศ  เพราะเธอชอบภาษาอังกฤษ และต้องการเปิดโลกของตัวเอง การเรียนปี 1 เธอทำเกรดได้ดี เฉลี่ยมากกว่า3.5 แต่พอเข้าปี 2 เริ่มสอบออกมาคะแนนต่ำกว่า Mean ทีไร ก็จะร้องไห้ ถามแม่ว่าทำไม หนูว่าทำได้ ทำไมคะแนนน้อย  กลัวเกรดตก แม่ก็ได้แต่ปลอบ และพยายามลดการคาดหวังของเขาลง โดยบอกว่าวิชานี้ เขาอาจไม่ถนัด เกรดไม่สำคัญหรอก ไว้เอาใหม่ ช่างมัน ช่างมัน  การเรียนตอนนี้เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ต้องอยู่หอ อ่านหนังสือทุกวัน จนดึก และเข้าใจว่าต่อไปก็จะหนักมากขึ้น

ขอถามว่า
 1. เราจะปลอบและให้กำลังใจเขาอย่างไรดี เพื่อให้เขามีกำลังใจและสู้ ค่ะ
2.  หากจนจบ6 ปี คะแนนไม่ถึง 3:00 โอกาสการเรียนต่อเฉพาะทางใน USA จะลดน้อยลงมั้ยคะ
หรือว่าจะขึ้นกับการสอบ USMLE และ ภาษา มากกว่า คะ
คนที่ 2 นี่ห่วงน้อยหน่อยเพราะเป็น ผู้ชาย และเพื่อนเยอะ และชอบเล่นกีฬา คงจะมีทางออกในการระบายความเครียด

ขอเรียนถาม และขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

แม่ผู้ห่วงใย

……………………………………

ตอบครับ

ชีวิตของมนุษย์เราเปรียบได้กับการยิงธนู ซึ่งแบ่งง่ายๆได้เป็นสองภาค ภาคแรก คือการน้าวสายธนู เล็ง แล้วปล่อยลูกธนูออกจากแหล่ง ภาคหลัง คือการลุ้นว่าธนูที่แล่นออกจากแหล่งไปแล้ว จะเข้าเป้าหรือเปล่า

     ความล้มเหลวในชีวิต เกิดขึ้นได้ทั้งสองภาค ความล้มเหลวในภาคแรกเกิดจากความไม่เจนจัดในการน้าวสายธนูการเล็งธนู และการปล่อยลูกธนู ความล้มเหลวในภาคหลัง เกิดจากความไม่เจนจัดต่อชีวิตในแง่ที่ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่างที่มันเกิดตาม “การประชุมแห่งเหตุ” ของมันเอง กลับไปลุ้นให้มันเกิดอย่างที่ใจเราอยากจะให้มันเกิด และคาดการณ์ร้ายล่วงหน้าไปถึงว่าถ้ามันไม่เกิดอย่างที่เราอยากให้มันเกิด สิ่งร้ายๆสารพัดก็คงจะตามมา ทำให้เราได้รับความคับข้องใจล่วงหน้าตั้งแต่อนาคตนั้นยังมาไม่ถึงซะแล้ว ความคับข้องใจล่วงหน้านี้บางครั้งมันแผ่สร้านย้อนเวลาขึ้นมาครอบงำนักยิงธนูตั้งแต่ตอนยังไม่ได้เริ่มน้าวสายธนูด้วยซ้ำไป ซึ่งในเรื่องนี้ปรมาจารย์เต๋าสอนไว้ว่า

     “…นายขมังธนู จะยิงไม่พลาด ถ้าเดิมพันเป็นถั่วลิสงเม็ดเดียว
     นายขมังธนู จะยิงเกือบพลาด ถ้าเดิมพันเป็นหญิงขี้ริ้ว
     นายขมังธนู จะยิงพลาดอย่างสิ้นเชิง ถ้าเดิมพันเป็นหญิงงาม..”

     หันกลับมาที่ลูกสาวของคุณ ในเมืองไทยนี้ได้เคยมีผู้ทำวิจัยสาเหตุความเครียดของนักศึกษาแพทย์ไทยไว้ ซึ่งสรุปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ไทยเครียดมีอยู่เจ็ดแปดอย่าง แต่ที่เป็นเหตุท็อปสองอันดับแรกคือ
     (1) ความกังวลถึงอนาคต กับ
     (2) การบริหารเวลาในการเรียน

     พูดง่ายๆว่านักศึกษาแพทย์ไทยนี้ทั้งน้าว เล็ง และยิงธนูก็ไม่เป็น และทั้งทำใจเวลาลุ้นให้ธนูเข้าเป้าก็ยังไม่เป็นด้วย ลูกสาวของคุณก็ไม่เว้น

     วันนี้ผมจะไม่เน้นภาคหลังของการยิงธนูนะ เพราะมันเป็นปรัชญาชีวิตที่ท่านผู้อ่านที่ยังเรียนแพทย์อยู่ไปศึกษาเอาจากที่ไหนก็ได้ แต่ผมจะเน้นภาคแรกของการยิงธนู คือนักศึกษาแพทย์จำนวนหนึ่งมีความสามารถไม่มากพอที่จะฟันฝ่าไปจนจบหลักสูตรได้ จึงถูกไล่ออกกลางคันด้วยเหตุสอบตกซ้ำซาก ผมไม่ได้หมายความว่าพวกเขาโง่เง่าเต่าตุน เพราะวิชาแพทย์ไม่ได้รีดเค้น creativity หรือการคิดวิเคราะห์ลึกซึ้งจากหัวของนักศึกษามากมายนักดอก แต่ประเด็นคือปริมาณของข้อมูลที่จะต้องจำแนกแยกแยะจัดเก็บไว้ในสมองและควักออกมาเชื่อมโยงกันให้ได้ทันในเวลาสอบนั้นมันมากมายมหาศาล นักศึกษาแพทย์ที่จะเอาตัวรอดได้จึงต้องเป็นผู้ที่บริหารเวลาได้อย่างดีเยี่ยม คือบริหารการจัดเก็บของมูลเข้าสมองซักซ้อมการควักออกใช้ให้เป็นและให้ทัน และต้องรีบทำให้สำเร็จจบเป็นหมวดเป็นหมู่อย่างเบ็ดเสร็จทีละวันๆ หรืออย่างช้าทีละสัปดาห์ๆไป อย่างช้าที่สุดไม่เกินทีละสองสัปดาห์ เพราะสมัยนี้สองสามสัปดาห์ก็สอบกันทีหนึ่งแล้ว ดังนั้นพอลงทะเบียนเรียนเสร็จยังไม่ทันเริ่มวันแรกก็ต้องศึกษาภาพรวมของเนื้อหาหลักสูตรและวางแผนเวลาเรียนแล้ว พอวันแรกผ่านไปก็ต้องปรับวิธีการและการบริหารเวลาตามให้ทัน ยิ่งหลายวันผ่านไปก็จะยิ่งพบว่าดินเริ่มพอกหางหมูมากขึ้น ก็ต้องรีบแคะดินทิ้งแบบวันต่อวัน หากไม่ทันก็ต้องงดกิจกรรมอื่นๆในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อแคะดินพอกหางหมูให้หมดก่อนเริ่มสัปดาห์ใหม่ กิจกรรมที่สำคัญจนเลิกไม่ได้เช่นการออกกำลังกายก็ต้องเอามาผสานกับการแคะดินพอกหางหมู เช่นวิ่งจ๊อกกิ้งไปด้วยท่องศัพท์กายวิภาคศาสตร์ไปด้วย เป็นต้น

     ความสามารถที่จะบริหารเวลาและบริหารการจัดเก็บข้อมูลเข้าสมองให้ทันนี้เป็นปัจจัยแบ่งเกรดนักศึกษาแพทย์ ในหมู่นักศึกษาแพทย์เองเขาเรียกพวกที่ทำเรื่องนี้ได้ดีว่า “เทพ” พวกทำได้กลางๆว่า “สามัญชน” ส่วนพวกที่เอาตัวแทบไม่รอดในแต่ละสัปดาห์เขาเรียกกันว่า “แกะ” ชื่อนี้ได้มาจากขณะที่คนอื่นเขานั่งเรียนกันแต่พวกหลังนี้นับแกะ (หลับ) เพราะว่าบริหารเวลาไม่เป็นบริหารข้อมูลเข้าหัวไม่ทันต้องนอนดึกดื่นผิดมนุษย์มนาแล้วมาตาปรือหรือหลับในห้องเรียน ถึงแม้พวก “แกะ” นี้จะได้รับการยกย่องในหมู่นักศึกษาแพทย์ด้วยกันว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม คือเป็นพื้นให้คนอื่นเหยียบตลอด แต่ว่าชีวิตส่วนตัวของแกะนั้นลำบากมาก เพราะขณะที่คนอื่นเขาบริหารข้อมูลเข้าสมองแบบคนหยิบของจากหิ้งซูเปอร์มาร์เก็ตใส่รถเข็น แต่แกะทำแบบคนเก็บสินค้าที่ร่วงกระจายกลางถนนเพราะถุงแตก ไหนจะต้องรีบจนจัดหมวดหมู่ไม่ได้ ไหนจะต้องตัดใจทิ้งของบางชิ้นเพราะรถกำลังจะวิ่งมาชน

     เทคนิคที่ผมใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเข้าสมองให้ทันเวลาตอนที่ผมเรียนแพทย์นั้น อาจจะเป็นเทคนิคที่แตกต่างจากคนอื่นแต่ท่านผู้อ่านที่ยังเรียนอยู่อาจเอาไปประยุกต์ใช้ได้ ผมใช้เทคนิคต้อนวัวเข้าคอก คือสมัยหนึ่ง ก่อนที่จะมาเรียนแพทย์ เมื่ออายุราว 18 ปี ผมเคยฝึกงานเป็นคาวบอยอยู่ในฟาร์มเลี้ยงวัว ทุกเย็น ความรับผิดชอบของผมก็คือผมจะต้องดูแลการนำวัวเข้าคอก คอกใครคอกมัน หมายความว่าวัวบางตัวจะมีศักดิ์สูงกว่าและได้อยู่คอกดีกว่าวัวบางตัว บางวันบางตัวหายหัวไปผมก็ต้องนึกย้อนว่าตอนกลางวันมันไปกินหญ้าอยู่แถวไหนแล้วไปลากเอาตัวมา ขณะมันเข้าคอกผมต้องคอยดูแข้งขาของแต่ละตัวว่ามีตัวไหนบาดเจ็บบ้างก็ต้องโยกประตูบังคับให้ไปเข้าซองที่พาไปยังคอกวัวป่วยเพื่อจะได้เอาไปเข้าที่หนีบ (หนีบตัววัวไม่ให้ดิ้น) เพื่อทำแผลในวันรุ่งขึ้น

     เมื่อมาเรียนแพทย์ ในชั้นปีต้นๆผมเรียนเละตุ้มเป๊ะไม่เป็นสับประรดเลย เพราะมัวไปทำกิจกรรมทางการเมืองและกิจกรรมนอกหลักสูตรสารพัด บางวิชาก็สอบตก บางครั้งคะแนนต่ำจวนเจียนจะต้องซ้ำชั้น เพิ่งมาตั้งศูนย์ได้เมื่อปีท้ายๆของการเรียน ซึ่งพอดีเป็นยุคหอยครองเมืองและนักศึกษาถูกปราบจนหมอบกระแต กระดิกกระเดี้ยก็ไม่ได้ ซ่าก็ไม่ออกแล้ว ผมจึงได้มีเวลาหันมาสนใจการเรียนจริงจัง และได้เอาเทคนิคของคาวบอยมาใช้

     คือทุกเย็นกินข้าวเย็นเสร็จแล้วขณะที่เพื่อนๆเขาลงมืออ่านหนังสือกัน แต่ผมจะยังนั่งเฉยอยู่ก่อน นั่งทำสมาธิตามดูลมหายใจสักครู่จนใจสงบแล้วใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงคิดย้อนหลังไปตั้งแต่เช้าว่าวันนั้นทั้งวัน ว่าที่ห้องเล็คเชอร์ก็ดี ที่วอร์ดคนไข้ก็ดี ผมเรียนรู้อะไรใหม่ๆมาบ้าง แล้วก็จับของใหม่เหล่านั้นใส่เข้าสมองไปตามพวกตามกลุ่มที่มันควรจะไปเหมือนต้อนวัวเข้าคอก กรณีที่เรื่องใหม่มีความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องเก่าที่ผมจับเข้าคอกไปในวันก่อนหน้านั้นแล้ว ผมก็จะยอมเสียเวลาคิดใคร่ครวญทบทวนว่าเก่ากับใหม่มันสัมพันธ์โยงใยกันอย่างไรจนเข้าใจดีแล้วจึงจะวางมันลงไว้ในสมองนั่นแหละ สมัยโน้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมจึงต้องเขียนบันทึกสั้นๆแค่หัวเรื่องเตือนความจำไว้ในสมุดข่อยประจำตัว ซึ่งเพื่อนๆมาเปิดอ่านก็จะพากันส่ายหัวเพราะมันไม่มีรายละเอียดที่จะช่วยให้ทำข้อสอบได้เลย ตรงไหนที่ข้อมูลขาดหายเชื่อมโยงกันไม่ได้หรือสงสัยว่าจะรับข้อมูลมาผิด ผมก็จะเขียนเป็นลิสต์ไว้เพื่ออ่านเพิ่มเติมในคืนนั้น ถ้าคืนนั้นไม่จบหากเป็นเรื่องที่เอาไปถามครูหรือพี่ที่คุมวอร์ดได้ก็จดไว้ถาม แต่หากเป็นเรื่องที่ถามไม่ได้ อ่านเองก็ไม่จบในคืนนั้นถ้าไม่สำคัญผมจะทิ้งเลย ถ้าสำคัญมากก็จะบันทึกไว้ใน ”สุสานคำถาม” ซึ่งผมบอกตัวเองว่าเอาไว้เรียนจบแล้วหากมีเวลาจะได้ไปหาอ่านเพิ่มเติม ปรากฏว่าสุสานคำถามนี้ จนเดี๋ยวนี้ ผ่านไปเกือบสี่สิบปีแล้ว บางคำถามผมก็ยังไม่มีเวลาไปอ่านเพิ่มเติมให้เคลียร์หมดไปจากหัวสักที

    ในการจัดหมวดหมู่ความรู้ใหม่เข้าหัวนี้ ผมจะทำแบบว่าตัวเองกำลังฝึกสติ และกำลังนั่งทำงานอยู่ พูดง่ายๆว่าทำแบบฝึกสติในชีวิตประจำวัน เหมือนกำลังต้อนวัว ตัวนี้ไปทางโน้น ตัวโน้นมาทางนี้ เฮ้ยตัวนี้ขามีแผล แยกออกมาก่อน คือทำแบบทำงาน ไม่ทำแบบท่องหนังสือ แล้วมันสนุกมาก เพราะเวลาเราทำงานเราจะมีสติดีกว่าเวลาเราท่องหนังสือ สมุดข่อยประจำตัวของผมนั้นพอผมจบแพทย์มันกลายเป็นอะไรที่มีประโยชน์กับตัวเองมาก โดยผมเพิ่มรายละเอียดเข้าไปภายหลังตามความจำเป็น บางหน้าก็ต้องแม็กซ์หน้าใหม่แทรกเข้าไป จนผ่านไปยี่สิบสามสิบปีก็ยังใช้อยู่ จนผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจระดับอาจารย์แล้วก็ยังอาศัยสมุดข่อยเล่มนี้รื้อฟื้นวิชาแพทย์อยู่บ่อยๆ เพิ่งจะมาเลิกใช้ไปเมื่อราวสิบปีมานี้เอง ซึ่งตอนนั้นคอมพิวเตอร์มันเจ๋งมากแล้ว ผมจึงเปลี่ยนมาเก็บความรู้ของผมบนคอมพิวเตอร์โดยใช้อากู๋เป็นผู้ช่วยค้นหาจนถึงทุกวันนี้

     ทั้งหมดที่เล่ามานั้นจะช่วยได้เฉพาะการเรียนให้มีความรู้ไปสอบนะ แต่ว่าลูกสาวของคุณยังไปไม่ถึงด่านใหญ่นะ คือในสองสามปีแรก คนที่เคยเรียนหนังสือแบบม้าตีนปลายหรือพวก creativity สูงๆที่ชอบคุยว่าเรียนไม่เก่งแต่สอบเก่ง ยังอาจจะพอถูลู่ถูกังไปได้ แต่พอไปถึงปีที่ 4 ซึ่งมีงานคลินิกเข้ามาแทรกมีเคสการบ้านที่ต้องทำส่งแล้วละก็..ร่วงกันระนาว เนื่องจากจะไปเจอด่านหินอีกด่านหนึ่ง เพราะในชั้นเรียนระดับปี 1-3 นี้ แค่โฟกัสที่การสร้างวินัยตนเองให้สามารถย่อยและจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าหัวให้ทัน แค่นี้ก็พอเอาตัวรอดได้แล้ว แต่พอไปปีที่ 4 ซึ่งต้องเรียนคลินิกหนัก วิชาแพทย์จะมุ่งคัดคนที่ขาดสำนึกในหน้าที่ (sense of duty) ทิ้งออกไปจากระบบอย่างเอาเป็นเอาตายและทารุณเลยทีเดียว กระบวนการนี้เป็นเหมือนกันในโรงเรียนแพทย์ทั่วโลก เพราะแก่นแท้ของความเป็นแพทย์ที่แท้จริงก็คือสำนึกในหน้าที่นี่เอง ความที่ปัจจุบันนี้ปริมาณนักศึกษามีมาก ครูอาจารย์ก็ไม่มีเวลาที่จะมาประคบประหงมเป็นรายคนมากนัก จึงหันไปใช้กระบวนการประเมินผลเป็นเครื่องมือหลักในการผลิตโดยมีเวลาให้กับกระบวนการพัฒนาตัวนักศึกษาน้อยลง ดังนั้นนักศึกษาแพทย์ต้องรับผิดชอบพัฒนาบ่มเพาะสำนึกในหน้าที่ระดับสูงเยี่ยมให้เกิดขึ้นในตัวเองให้ได้จึงจะรอดตาย นักศึกษาแพทย์ที่ฉลาดปราดเปรื่องแต่ไม่มีเป้าหมายชีวิตที่แจ่มชัดก็ดี พวกที่รับจ้างเรียนหนังสือก็ดี หรือพวกที่ไม่มีรักแท้ (passion) ให้กับการอุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บไข้ก็ดี จึงมักจะถูกระบบโละทิ้งไปตอนอยู่ชั้นปีที่ 4 นี่เอง

     คุยกันมาตั้งนานแล้วยังไม่ได้ตอบคำถามของคุณเลย มาตอบคำถามนะ

     1.. ถามว่าจะปลอบและให้กำลังใจลูกที่กำลังเรียนแพทย์และท่าจะไปไม่รอดอย่างไรดี ตอบว่าในส่วนการเสาะหาความรู้ ลองชี้แนะให้ฝึกใช้สติในการจัดย่นย่อและเก็บความรู้เข้าหัวเป็นหมวดหมู่แบบวันต่อวันอย่างที่ผมเล่าดู ในส่วนของความกังวลถึงอนาคต ลองชี้แนะให้ฝึกใช้สติอยู่กับเรื่องในวันนี้ก็พอ ส่วนคะแนน หรือเกรด หรืออนาคตจะได้ไปเมืองนอกเมืองนาได้ขี่ช้างขี่ม้าหรือไม่ อย่าเพิ่งไปคิดถึงมันเลย เพราะมันเป็นเรื่องของพรุ่งนี้ ยิ่งการสอบที่ผ่านไปแล้วก็ยิ่งไม่ต้องไปคิดถึงมันใหญ่ เพราะมันเป็นเมื่อวานนี้ซึ่งหมดไปแล้ว

     2. ถามว่าจบปีหกเกรดไม่ถึง 3.0 จะลดโอกาสได้ไปเทรนที่อเมริกาลงไหม ตอบว่าไม่มีผลหรอกครับ การสอบ USMILE เขาไม่สนหรอกว่าใครจบมาเกรดเท่าไหร่ การมีความรู้เท่านั้นจึงจะผ่านการสอบไปได้

     3. อันนี้ผมแถมให้แม้ว่าคุณจะไม่ได้ถาม คือการเล็งเป้าหมายชีวิตไว้สูงเป็นเรื่องที่ดี การตั้งใจสอบ USMILE อย่างน้อยก็ทำให้มีความรู้ดีครบเครื่องที่จะเป็นหมอได้อย่างมีความสุข การมุ่งมั่น (motivation) ว่าจะต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หนังสือโบราณของอินเดียชื่อหิโตปเทศพูดว่า..

     “..บัณฑิตพึงสังวรไว้ 
     ว่าเรื่องทั้งหลายในโลกนี้ 
     ที่ไม่เป็นไปดังที่เราคาดหมายก็มีอยู่เก้าในสิบส่วน..”

     ดังนั้นกระต่ายเจ้าปัญญาย่อมจะขุดรูออกจากโพรงของตัวเองไว้หลายรู ยามคับขันรูนี้ตันก็ไปรูโน้น ไม่ยึดติดว่าฉันจะต้องมุดออกรูนี้ให้ได้ การคิดอ่านไปเทรนเมืองนอกวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีแผนสำรองเผื่อสิ่งที่อาจเป็นไปได้ (contingency plan) ไว้ด้วย เช่นว่าจบแพทย์แล้วเราจะให้เวลากับเรื่องนี้สักห้าปีนะ ถ้าผ่านไปห้าปีแล้วยังไม่สำเร็จก็ถอยกลับมาแผนสอง อย่างนี้เป็นต้น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต คือต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ อาจจะได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะในชีวิตนี้ เรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับของเรามันมีมาก ถ้าไปยึดมั่นว่าต้องได้อย่างนี้อย่างนั้นก็มีหวังบ้าได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. สุวรรณา สี่สมประสงค์. การศึกษาความเครียดของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6, สาระนิพนธ์. Accessed on July 15, 2015 at http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Gui_Cou_Psy/Suwanna_S.pdf