Latest

หญิง 69 ปี กระดูกพรุน ซิสต์ที่ไต และน้ำมันมะกอกแบบทนความร้อน

เรียนคุณหมอ

ดิฉันอายุ69ปี นน.59 สูง 154ซม.

1. มีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน คะแนน T-score ที่กระดูกหลังได้ -3.2 คะแนนกระดูกหัก WHO ได้ 7% ตอนนี้ ทาน protaxos 2 g. คืนละ 1 ซอง ทานมา 7 เดือนแล้ว หมอว่าควรทาน3 ปี และทาน vitamine D 20000u  อาทิตย์ละ1 เม็ด 16 อาทิตย์เพราะวิตามิน ดีต่ำกว่าเกณต์ คือ 21 ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หมอท่านหนึ่งให้หยุดทาน protoxose เพราะอันตราย ต่อระบบทางเดินอาหาร จริงมั้ยค่ะ ควรหยุดมั้ย

2. ปัญหาเกี่ยวอักเสบกับไต แต่เดิมเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆหมอให้ทำอัตตาซาวน์ พบว่ามี small stone ในไตข้างขวา และ ซีสต์ ขนาด 1.9 cm ที่ไตข้างซ้าย หมอให้ ทำ CT scan   โดยวิธีฉีดสี พบว่า ขนาดซีสต์ลดลง 1.5 cm.หมอบอกเป็นซีสต์ประเภท 2 ไม่น่าวิตกกังวล ควรทำการตรวจอีกมั้ย เพราะหมอแจ้งอีก 3 เดือน ให้มีการตรวจ ct scan อีกรอบ โดยไม่มีการฉีดสี มีอันตรายมั้ยถ้าทำบ่อย ขณะนี้ค่า creatinine 0.76 mg% eGFR80 stage2 ml/min/1.73m

3.มีค่าไขมันในเลือดสูง cholesteral 218 mg% triglyceride 113 mg% HDL 65mg% LDL -C (cal)130 mg% ทานยา LIVALO 2 mg ( pitavastatin) 20 ปีแล้ว ค่าตามที่บอกข้างบนยังปริ่มๆ หรือสูงกว่าเกณท์  หมอที่ให้หยุด protaxos ให้หยุดกิน LIVALO ด้วย แต่ให้กิน Bestatin10( simvastatin) แทน ควรเปลี่ยนมั้ย
4. คนเป็นโรคไต และโรคเบาหวาน ควรดื่มน้ำมะพร้าวมั้ย

5. มีญาติผู้ใหญ่ที่หวังดีซื้อเห็ดหลินจือแดงเป็นแคปซูลยี่ห้อหลินจือมินของเกาหลีและ Z-oil ที่สกัดจากกระเทียม ,รำข้าว ,งาขี้ม้อน และน้ำมันมะพร้าว มาให้รับประทานดิฉันยังไม่กล้ารับประทานเพราะกลัวมีผลกระทบกับไตตามข้อมูลที่ให้คุณหมอมาตามคำถามข้างต้นขอคำแนะนำว่าควรรับประทานหรือไม่ค่ะ

6. ไปอัลตร้าซาวด์มาพบมีนิ่วขนาดหนึ่งเซนติเมตรในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการอะไรไม่ปวดหลังไม่ปวดเอวไม่ปวดท้องไม่ปวดไต่ลิ้นปี่ด้านขวาศัลยแพทย์ บางคนบอกให้เอาถุงน้ำดีออกเพราะถ้าปล่อยให้นิ่วโตขึ้นจะเสียดสีกับถุงน้ำดีทำให้เป็นมะเร็งได้แต่บางคนบอกว่าถ้ายังไม่มีอาการอะไรก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันเพียงแต่สี่หรือห้าปีให้อัลตร้าซาวด์ดูขนาดใหม่ว่าโตขึ้นเท่าไรขอคำแนะนำคุณหมอด้วยค่ะว่าควรทำอย่างไรและขนาดของนิ่วในถุงน้ำดีนั้นไม่ควรโตเกินกี่เซ็นติเมตรคะ

7. เหมือนเคยอ่านที่คุณหมอเคยตอบเรื่องการใช้น้ำมันประกอบอาหารว่าคุณหมอใช้น้ำมันมะกอก  น้ำมันมะกอกแบบ extra vregin 100เปอร์เซ็นต์นั้น ใช้ได้ทุกอย่างเลยหรือคะ ผัด ทอด
ขอบพระคุณมากค่ะ

………………………….

ตอบครับ

     1.. เรื่องกระดูกพรุน หากมองจากคะแนนความแน่นกระดูก (T-score ที่กระดูกหลังได้ -3.2 คะแนน) คำเรียกในทางการแพทย์ก็เรียกว่าเป็นโรคกระดูกพรุนจริง ไม่ใช่กระดูกบาง ถ้ามองจากมุมนี้มุมเดียว ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะใช้ยารักษากระดูกพรุนได้ ซึ่งคุณหมอที่รักษาคุณคนแรกเขาให้ยาเพราะเขามองออกมาจากมุมนี้เพียงมุมเดียวอย่างนี้

     แต่การจะตัดสินใจแก้ปัญหาสุขภาพรวมทั้งเรื่องการป้องกันกระดูกหักจากกระดูกพรุนด้วย เราไม่ควรมองออกมาจากมุมมองเพียงมุมเดียว ควรจะมองปัจจัยรอบด้านทั้งหมดก่อนแล้วค่อยตัดสินใจให้การรักษา องค์การอนามัยโลกจึงได้คิดคะแนนความเสี่ยงความเสี่ยงกระดูกหัก (FRAX score) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้แพทย์มองให้ครบทุกมุมก่อนตัดสินใจใช้ยา สาระหลักของ FRAX score นี้เป็นการคำนวณโดยเอาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 13 อย่างคือ (1) ชาติพันธ์ (2) อายุ (3) น้ำหนักเพศ (4) น้ำหนัก (5) ส่วนสูง (6) การมีกระดูกหักมาก่อน (7) การมีพ่อแม่กระดูกหักมาก่อน (8) การสูบบุหรี่ (9) การใช้ยาสะเตียรอยด์ (10) การเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ (11) การมีโรคที่ทำให้เกิดกระดูกพรุน (12) การดื่มแอลกอฮอล์ (13) ผลตรวจความแน่นกระดูกสะโพก ใครๆก็สามารถคำนวณคะแนน FRAX score ของตัวเองได้โดยใส่ปัจจัยเหล่านี้เข้าไปในเว็บไซท์ต่างๆที่รับคำนวณ FRAX รวมทั้งเว็บ เช่นที่  http://www.shef.ac.uk/FRAX/ หากใส่เข้าไปแล้วได้คะแนนโอกาสจะเกิดกระดูกสะโพกหักในสิบปีข้างหน้ามากกว่า 3% หรือโอกาสเกิดกระดูกหักทั่วตัวมากกว่า 20% ก็ถือว่ามีความเสี่ยงกระดูกหักมากเป็นพิเศษ จึงจะถือว่ามีเหตุผลจากทุกมุมมองรวมกันที่สรุปว่าสมควรใช้ยารักษากระดูกพรุนได้

     ในกรณีของคุณผมดูในใบรายงานการตรวจความแน่นกระดูก โรงพยาบาลรามาเขาอุตส่าห์คำนวณ FRAX score ออกมาให้เรียบร้อยแล้ว ว่าความเสี่ยงกระดูกหักทั่วตัวในสิบปีข้างหน้าของคุณคือ 7.1% และความเสี่ยงกระดูกสะโพกหักของคุณในสิบปีข้างหน้าคือ 1.8% ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สมควรจะใช้ยาหากถือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นการมองอย่างรอบด้าน คุณก็ไม่ควรใช้ยารักษากระดูกพรุนครับ หากกำลังกินอยู่ก็ควรจะเลิกเสียตามที่หมอคนที่สองแนะนำ
ถามว่ายากินรักษากระดูกพรุนมีอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารจริงไหม ตอบว่าจริงครับ ในแง่ที่จะกัดกร่อนทำลายเยื่อบุหลอดอาหารส่วนปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกินยาไม่ถูกวิธี ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยา เราก็ต้องใช้ยาให้ถูกวิธี แต่ในกรณีของคุณนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ก็หยุดมันเสียเลยโดยไม่ต้องรอไปชั่งน้ำหนักกับอันตรายของยาหรอกครับ

      คุณควรจะทำอย่างไรต่อไป อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว แคลเซียมเม็ดก็ไม่ให้ทาน ยารักษากระดูกพรุนก็ไม่ให้ใช้ แล้วจะให้ทำอย่างไรต่อไป ตอบว่า สิ่งที่คุณควรทำ คือ

  1.1. คุณต้องเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง เอาให้ถึงระดับมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic) ให้ถึงระดับหนักพอควร คือหนักจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละสองครั้ง หลักฐานวิจัยบอกว่ายิ่งการออกกำลังกายที่มีการเล่นกล้ามหรือมีแรงกระแทกกระทั้นต่อกระดูกมากเช่นการกระโดดโลดเต้นต่างๆ ยิ่งทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้มาก

     1.2. คุณต้องหัดท่าร่าง (posture) คือทำตัวแบบอกผายไหล่ผึ่งหลังตรงแขม่วท้องตลอดเวลา วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อพยุงกระดูกสันหลังแข็งแรง เป็นการป้องกันผลเสียจากหลังโค้ง (kyphosis) ไม่ให้แย่ลงจนการเป็นหลังค่อม (compression fracture of spine)

     ประเด็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดึงหลังซึ่งสำคัญมากสำหรับคุณ ให้ดูตรงนี้
     http://visitdrsant.blogspot.com/2015/01/blog-post_25.html

     1.3. คุณต้องให้ร่างกายได้รับวิตามินดี.อย่างพอเพียง อย่าลืมว่างานวิจัยในคนไทยผู้ใหญ่พบว่าส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี. วิธีให้ร่างกายได้รับวิตามินดี.ทำได้โดย

     1.3.1 ออกแดดบ่อยๆ แดดที่ให้วิตามินดีต้องเป็นแดดจัดๆ คือช่วง 10.00 น. -15.00 น. และต้องรับตรงๆ ไม่ทาครีมกันแดด ไม่ใส่เสื้อกางเกงแขนยาวขายาว และไม่ผ่านกระจกเช่นกระจกรถยนต์หรือกระจกหน้าต่างบ้านด้วย

     1.3.2 ทานอาหารที่ให้วิตามินดี.มาก ซึ่งได้แก่ปลาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่น้ำมันมากเช่นปลาซาลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น

     1.3.3 ทานวิตามินดี.เสริม ชื่อวิตามินดี2 (ergocalciferol) ขนาดเม็ดละ 20,000 IU ทานเดือนละ 2 เม็ด คือทุก สองสัปดาห์ทานหนึ่งเม็ด แค่นี้ก็พอ เพราะคนเราต้องการวิตามินดีวันละ 600-800 IU เท่านั้น และวิตามินดี.นี้ร่างกายเก็บสะสมไว้ใช้ยามขาดได้ แบบว่าตากแดดหน้าร้อนเก็บวิตามินไว้ใช้ได้ถึงหน้าหนาวก็ยังได้เลย

     1.4 คุณต้องให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติอย่างเพียงพอ โดยวิธีเช่น ดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองทุกวัน

     2. เรื่องกรวยไตอักเสบ คุณเคยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆก็จริง แต่ไม่เคยมีหลักฐานว่าคุณเป็นกรวยไตอักเสบนะครับ เพราะผลอุลตร้าซาวด์ที่พบว่ามีนิ่วขนาดเล็กในไตข้างขวาและมีซีสต์ที่ไตข้างซ้าย ไม่ใช่หลักฐานว่าคุณเป็นไตอักเสบ แต่เอาเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือคุณมีซิสต์ขนาดเล็กที่เนื้อไต ซึ่งในรายงานการทำซีที.บอกว่ามันถูกจัดชั้นเป็นซิสต์ชั้นที่ 2 ซึ่งหมอแนะนำให้ทำซี.ที.ดูซ้ำ แล้วคุณไม่อยากทำ จะทำดีหรือไม่ทำดี

     ก่อนจะตอบคำถามนี้คุณต้องเข้าใจการจัดชั้นของซิสต์ที่ไตก่อน คำว่าซิสต์ที่ไต หรือ renal cyst หมายความว่าเนื้อไตที่เดิมแน่นๆตันๆแบบเซ่งจี๊ที่เราเห็นในข้าวต้ม เกิดมีบางจุดที่กลายเป็นวงกลมโบ๋โจ๋ มีเยื่อบุบางๆหุ้มอยู่โดยรอบโดยภายในวงกลมนั้นมีน้ำอยู่เป็นส่วนใหญ่ สมัยก่อนที่เราไม่มีการทำอุลตร้าซาวด์ดูภาพในท้องคนกันเป็นว่าเล่นอย่างทุกวันนี้เราก็ไม่รู้หรอกว่าประมาณครึ่งหนึ่งของคนเราที่เดินไปเดินมาบนถนนเนี่ย จะมีซิสต์อยู่ในไต แต่พอทำอุลตร้าซาวด์ไปเห็นเข้าก็เลยกลายเป็น “งานเข้า” ต้องมาวุ่นวายขายปลาช่อนว่าเจ้าซีสต์ที่เห็นอยู่นี้มันคืออะไร มาจากไหน จะไปไหนต่อ หมายความว่าจะกลายเป็นมะเร็งของเซลเนื้อไตหรือเปล่า พอถูกบี้หนักเข้าหมอเอ็กซเรย์ขี้รำคาญคนหนึ่งชื่อ Bosniak จึงได้หาทางไล่ซิสต์ให้เข้าหมวดหมู่เพื่อนิยามว่าซิสต์นั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขนาดไหน เรียกว่า Bosniak Classification ดังนี้

     Bosniak class 1:  Simple Cyst คือซิสต์แท้ๆ ซิสต์ง่ายๆ มีเยื่อบุเรียบกริบ ไม่มีแคลเซียมเกาะ ไม่มีเยื่อกั้นเกะกะข้างใน เสียงสะท้อนจากตรงกลางซิสต์ก็เรียบราวกระจกซึ่งบ่งบอกว่าข้างในเป็นน้ำล้วนๆอันเป็นเอกลักษณ์ของซิสต์ ถ้าเป็นคลาสนี้ก็ไม่มีโอกาสเป็นมะเร็ง ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องตามดูยังได้เลย เกือบทั้งหมดของซิสต์ที่ตรวจพบในการตรวจสุขภาพประจำปีจะเป็นแบบนี้ จะเรียกว่าซิสต์บ้าซิสต์บอ หรือจะว่าซิสต์เพื่อนแพทย์ก็ได้ เพราะเป็นอะไรที่ช่วยให้แพทย์มีงานทำ และขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนไข้หายกังวลเรื่องอื่นหันมากังวลเรื่องซิสต์บ้าซิสต์บอนี่แทน

     Bosniak class 2: Minimal complex cyst คือซิสต์ที่มีเยื่อกางกั้นภายในวุ่นวายเหมือนมีมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ บางทีก็แข็งๆเหลวคล้ายมีการติดเชื้อ บางจุดก็สะท้อนเสียงแบบแน่นปึ๊ก (hyperdense) ซิสต์แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็ง 5-10%ต้องตรวจซ้ำให้เห็นภาพชัดๆด้วย CT หรือ MRI และต้องติดตามดูเป็นระยะๆหากผิดท่านักก็ต้องเอาเข็มจิ้มตัดชิ้นเนื้อออกมาดู

     Bosniak class 3: Complex cyst คือเป็นซิสต์แบบมีผนังหนา หรือมีเยื่อกั้นภายในหนาปึ๊ก แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ถึง 50% ถ้าใจเย็นก็ตามดูถี่ๆหน่อย แต่ถ้าใจร้อนก็ตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาดูซะเลย

     Bosniak class 4: Malignant cyst: คือแบบว่าขยุกขยิก ขอบไม่เรียบ มีเนื้อตันอยู่ข้างใน แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 75 – 100 % อย่างน้อยต้องเอาเข็มจิ้มเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาดู หรือหากใจร้อนก็ทำผ่าตัดเอาออกซะเลย

ในกรณีของคุณนี้เขารายงานว่ามันเป็น class 2 มีโอกาสเป็นมะเร็ง 5-10% ที่หมอแนะนำให้ทำซีที.ซ้ำในอีกหกเดือนหรือหนึ่งปีข้างหน้านั้นมันก็โอแล้วไง แต่พอถึงเวลาคุณเกิดไม่อยากทำซีที.ซ้ำขึ้นมาเหตุผลผมฟังเอาจากที่คุณเล่านะ ว่าครั้งแรกทำอุลตร้าซาวด์ขนาดมัน 1.9 ซม. ครั้งหลังทำซีที.ขนาดมัน 1.5 ซม. แสดงว่าขนาดมันเล็กลง คงไม่ใช่มะเร็งแล้ว ไม่ต้องทำซีที.ซ้ำได้ไหม เรื่องนี้ต้องค่อยๆคลี่ทีละประเด็นนะ คือการเอาขนาดที่วัดด้วยซีที.มาเปรียบกับขนาดที่วัดด้วยอุลตร้าซาวด์นั้นมันเปรียบกันไม่ได้ เหมือน มันเหมือนคุณดูขนาดของไอ้เท่งในหนังตลุงซึ่งเป็นเงาดำๆของแผ่นฉลุบนจอ มันไม่เท่ากับขนาดของแผ่นฉลุรูปไอ้เท่งตัวจริงที่นายหนังมองเห็นซึ่งเป็นภาพสะท้อนตรงจากแผ่นฉลุเข้าตานายหนังโดยตรงดอก ถึงจะมีการคำนวณชดเชยแล้วมันก็ไม่เท่ากันอยู่ดี ดังนั้นข้อมูลความแตกต่างของขนาดที่คุณว่ามาเป็นข้อมูลขี้หมาเชื่อถือไม่ได้ ผมจึงแนะนำว่าคุณความจะเดินหน้าทำ CT หรือ MRI ซ้ำเพื่อตามดูการเปลี่ยนแปลงของซีสต์ตามที่แพทย์เขาแนะนำนะดีแล้ว

ถามว่าการทำ ซีที. มีอันตรายไหม ตอบว่าก็มีผลข้างเคียงของการได้รับรังสีเอ็กซ์อยู่บ้าง แต่ชั่งน้ำหนักอันตรายของมันกับประโยชน์ที่จะได้จากการวินิจฉัยแยกมะเร็งเนื้อไตให้ได้แต่เนินๆ ประโยชน์มันก็มากกว่าความเสี่ยง และควรทำการตรวจครับ

     3. เรื่องไขมันในเลือด ค่าที่คุณให้มามันไม่ได้สูงถึงขั้นที่จะต้องใช้ยาลดไขมัน เรื่องการใช้ยาลดไขมันนี้ผมเขียนในบล็อกไปแล้วบ่อยมากคุณหาอ่านเอาเองก็แล้วกัน ในกรณีของคุณซึ่งเป็นคนมีความเสี่ยงต่ำ แพทย์ที่ใจร้อนจะใช้ยาลดไขมันเมื่อ LDL สูงกว่า 160 มก. ส่วนแพทย์ที่ใจเย็นอย่างผมนี้จะใช้ยาเมื่อ LDL สูงกว่า 190 มก. ถือว่าเป็นมาตรฐานทั้งคู่ เพราะแพทย์เถียงกันไม่ตกฟาก จึงต้องมีสองมาตรฐาน คุณไม่ถึงมาตรฐานไหนเลย จะไปใช้ยาลดไขมันทำไมละครับ

     ส่วนประเด็นที่ว่ายา pitavastatin กับ simvastatin อันไหนดีกว่ากัน ตอบว่ามันขึ้นอยู่กับว่าผู้แทนยายี่ห้อไหนสวยกว่ากัน อะจ๊าก..ก ขอโทษ พูดเล่น งานวิจัยเกี่ยวกับยา statin มีแยะมากแต่สรุปสรุปภาพใหญ่ได้ว่ายา statin ทุกตัวมีผลข้างเคียงและความสามารถในการลดไขมันไม่ต่างกัน คุณจะเปลี่ยนจากตัวไหนไปหาตัวไหนก็สุดแต่ความหล่อ..เอ๊ย ไม่ใช่ สุดแต่ความชอบของคุณเถอะครับ แต่ตัวผมขอตั้งข้อสังเกตว่าคุณจำเป็นต้องใช้ยาลดไขมันจริงหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญกว่า

     4. ถามว่าคนเป็นโรคไต และโรคเบาหวาน ควรดื่มน้ำมะพร้าวมั้ย ตอบว่าน้ำมะพร้าวเป็นอาหาร ใครใคร่ดื่มก็ดื่มได้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ไม่ได้มีกฎหมายห้ามเลย ในแง่ของโรคไต สมัยก่อนเมื่อยังไม่มีการล้างไตกันอยู่ทุกหัวมุมถนนอย่างทุกวันนี้ เราจะห้ามคนเป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) ระยะสุดท้าย (ระยะที่ 5) กินหรือดื่มอะไรที่มีโปตัสเซียมอยู่สูงรวมทั้งน้ำมะพร้าวด้วย เพราะกลัวว่าโปตัสเซียมเข้าไปแล้วออกไม่ได้ แต่สมัยนี้มีเครื่องล้างไต สบายมาก อยากกินอะไรกินเลยครับ ส่วนคนเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 1-4 หรือคนที่ไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรังเลยแต่เป็นโรคประสาท สามารถกินหรือดื่มอะไรที่มีโปตัสเซียมสูงรวมทั้งน้ำมะพร้าวได้ตามสบายครับ

     สำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน น้ำมะพร้าวตามธรรมชาติ (ที่ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไป) เป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำ (16 แคลอรี่ต่อ 100 กรัม) ต่ำกว่าน้ำอัดลมและน้ำผลไม้กล่องหรือเครื่องดื่มใส่น้ำตาลอื่นๆประมาณสามเท่า ดังนั้นคนเป็นเบาหวานก็ดื่มได้ครับ แต่น้ำมะพร้าวใส่กล่องหรือใส่ถุงที่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไปแล้วทั้งแบบแอบใส่หรือแบบใส่แล้วเขียนบอกไว้โต้งๆนั่นเป็นคนละเรื่องนะครับ อันนั้นเป็นเครื่องดื่มใส่น้ำตาล ซึ่งคนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงสุดฤทธิ์สุดเดชครับ

     5. ถามว่าเห็ดหลินจือแดงเป็นแคปซูลยี่ห้อหลินจือมินของเกาหลีและ Z-oil ที่สกัดจากกระเทียม ,รำข้าว ,งาขี้ม้อน และน้ำมันมะพร้าว ดีไหม ตอบว่าหมอสันต์ไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าอาหารเสริมในตลาดครับ เพราะภรรยาห้ามไว้ เพื่อสวัสดิภาพของสามีเธอเอง

     6. ถามว่าไปอัลตร้าซาวด์มาพบมีนิ่วขนาดหนึ่งเซนติเมตรในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการอะไร ควรผ่าตัดเอาออกไหม ตอบว่าไม่ควรผ่าตัดครับ รายละเอียดอ่านตรงนี้นะครับ
http://visitdrsant.blogspot.com/2014/12/blog-post_16.html

     7. ถามว่าน้ำมันมะกอกแบบ extravergin 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ใช้ได้ทุกอย่างทั้งผัดทั้งทอดเลยหรือคะ ตอบว่า อ้าว ทำไมละครับ ถ้าใช้ผัดทอดตำรวจจะจับเหรอ หิ หิ พูดเล่น ตอบว่าคนฝรั่งเศสทางใต้ คนตุรกี คนกรีซ เขาใช้น้ำมันมะกอกทุกชนิดรวมทั้งชนิด ใส เหลือง เขียว ทั้งเวอร์ ไม่เวอร์ และทั้งเอ็กซตร้าเวอร์ด้วย เอามันทำทุกอย่างรวมทั้งผัดทั้งทอด ก็ไม่เห็นเขาตายกันนะครับ แต่ในบ้านเรานี้ซึ่งผู้คนไม่คุ้นเคยกับน้ำมันมะกอกดูออกจะเกร็งและเข้มงวดเรื่องสะเป๊คโน่นนี่นั่นมากเป็นพิเศษ ความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์คือว่าตัวน้ำมันมะกอกเองนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการผัดทอด เพราะมันมีจุดเดือดสูงถึง 300 องศาซี. และจุดไหม้ (smoke point) สูงถึง 190 องศาซี. ซึ่งสูงเกินอุณหภูมิที่เราทำอาหารในครัวไม่ว่าจะผัดหรือทอด หลักฐานเกี่ยวกับความเสถียรของน้ำมันมะกอกได้จากงานวิจัยเปรียบเทียบการใช้น้ำมันมะกอกในการทอดแบบ deep fry ซ้ำ 20 ครั้ง เทียบกับการใช้น้ำมันดอกทานตะวันพบว่าหลังการใช้ 20 ครั้งแล้วน้ำมันมะกอกมีโมเลกุลของเสีย (Polar component – PC) ตกค้างเพียง (19.7g/100g) ซึ่งน้อยกว่าน้ำมันดอกทานตะวัน (25.3g/100g) อีกการทดลองหนึ่งใช้น้ำมันมะกอกทอดอาหารแบบยาวข้ามวันข้ามคืน (24-27 ชม.) แล้วนำน้ำมันที่เหลือมาตรวจเปรียบเทียบกับน้ำมันชนิดอื่นพบว่าน้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันที่ทนต่อการเกิดปฏิกริยาเคมีมากที่สุดในบรรดาน้ำมันไม่อิ่มตัวด้วยกัน ดังนั้นน้ำมันมะกอกจึงเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัว(ซึ่งไม่ก่อโรค)ที่ใช้ผัดทอดได้อย่างปลอดภัย

     แต่ว่าที่ขาฮาร์ทคอร์เรื่องสุขภาพในเมืองไทยมักมีความเห็นต่อต้านการเอาน้ำมันมะกอกชนิดเวอร์จินมาผัดทอดนั้นเพราะในน้ำมันมะกอกทุกชนิดจะมีกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ปะปนอยู่ด้วยตามธรรมชาติมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต กรดไขมันอิสระนี้มีหลายชนิด บางชนิดมีจุดไหม้ต่ำกว่าน้ำมันมะกอก คือยังไม่ทัน 190 องศาก็ไหม้แล้ว ทำให้มีกลิ่นเหม็นไหม้ในอาหารผัดทอด ทำให้อาหารไม่อร่อย หากจะเรียงลำดับชนิดของน้ำมันมะกอกตามการมีกรดไขมันอิสระเจือปน จะได้ดังนี้

     7.1. น้ำมันมะกอกหีบเย็น (vergin olive oil) มีกรดไขมันอิสระตามธรรมชาติติดมามากที่สุด แต่ตามสะเป็คของสภามะกอกนานาชาติก็ห้ามไม่ให้ติดมาเกิน 3.3g/100 g. จึงจะเรียกว่าเป็น ordinary vergin ที่คนกินได้ แต่ถ้ามีตกค้างมากกว่านั้นเขาเรียกว่า lampante vergin ซึ่งไม่ใช่ของคนกิน เขาเอาไว้ใช้ในอุตสาหกรรม

     7.2. น้ำมันมะกอกหีบเย็นเอาแต่ส่วนหัวกะทิ (extra vergin olive oil) มีกรดไขมันอิสระน้อย คือมีต่ำกว่า 0.8 g/100 g.

     7.3 น้ำมันมะกอกที่ได้จากการเอาเศษมะกอกที่เหลือจากการหีบเย็นไปบดแล้วสกัดด้วยสารสกัด(ไฮโดรคาร์บอน)แล้ว เอาความร้อนไล่สารสกัดทิ้งไป เรียกว่าน้ำมันมะกอกกลั่น (refine olive oil) จะมีกรดไขมันอิสระค้างอยู่ต่ำที่สุด คือต่ำกว่า 0.3

     น้ำมันมะกอกกลั่น (refine olive oil) นี้พวกฮาร์ดคอร์สุขภาพถือว่าเหมาะแก่การผัดทอดมากที่สุดเพราะมีกรดไขมันอิสระเจือปนต่ำสุดจึงมีโอกาสไหม้น้อยที่สุดแถมราคายังถูกที่สุดอีกด้วย แต่ว่ามันขายไม่ค่อยออกเพราะมันใสนิ้ง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คนไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกจริง คนขายจึงเอาไปปนก็น้ำมันมะกอกชนิดเวอร์จินให้มันมีสีมีกลิ่นบ้างจะได้มีคนซื้อมากขึ้น สภามะกอกให้เรียกชื่อน้ำมันลูกผสมนี้ว่าน้ำมันมะกอกธรรมดา (olive oil) ซึ่งเป็นน้ำมันมะกอกที่วางขายส่วนใหญ่บนหิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งจะมีกรดไขมันอิสระอยู่น้อยกว่าชนิด extravergin แต่ก็มากกว่าชนิด refine olive oil

     เนื้อหาสาระเชิงวิทยาศาสตร์ว่าควรใช้น้ำมันมะกอกชนิดไหนผัดทอดก็มีอยู่เท่านี้ แต่ถ้าถามว่าหมอสันต์ใช้น้ำมันมะกอกชนิดไหนผัดทอด ตอบว่าใช้น้ำมัน extravergin รูดมหาราชทั้งผัดทั้งทอดทั้งราดสลัดพ่นทับหน้าอาหารและจิ้มจุ่มครับ แพงหน่อยก็ช่างมันเพราะเงินไม่ใช่ของเรา เป็นเงินของเมีย ขอให้มันอร่อยดีและชีวีเราง่ายขึ้นก็ถือว่าโอละ..หิ หิ  

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. National Osteoporosis Foundation. 2013 Clinician’s Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Accessed on January 25, 2015 at http://nof.org/files/nof/public/content/file/917/upload/481.pdf
2. Curry NS, Cochran ST, Bissada NK (August 2000). “Cystic renal masses: accurate Bosniak classification requires adequate renal CT”. American Journal of Roentgenology 175 (2): 339–
3. Food Chem Toxicol. 2010 Oct;48(10):2972-9. doi: 10.1016/j.fct.2010.07.036. Epub 2010 Aug 3. Olive oil stability under deep-frying conditions. Casal S1, Malheiro R, Sendas A, Oliveira BP, Pereira JA.
4. Bastida. Thermal Oxidation of Olive Oil, Sunflower Oil and a Mix of Both Oils during Forty Discontinuous Domestic Fryings of Different Foods. Food Science and Technology International February 2001; 7 :115-21. doi: 10.1106/1898-PLW3-6Y6H-8K22