Latest

หลอดเลือดโป่ง คนละเรื่องกับหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) นะคุณ

เรียนคุณหมอสันต์

สามีอายุ 52 ปี น้ำหนัก 87 ส่วนสูง 180 ทำงานบริษัทเอกชน งานค่อนข้างเครียด เดิมมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาเรื่องคอเลสเตอรอล ความดัน มีคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน เมื่อเดือน เม.ย.58 รู้สึกผิดปกติ คือหัวใจเต้นรัว แน่นหน้าอกนิดหน่อย แต่รู้สึกเหนื่อย จึงได้ไปพบคุณหมอ (1) ที่รพ. (A)  ได้ตรวจ EKG พบว่าผิดปกติ คุณหมอจึงสั่งทำ CT SCAN ผลคือ LM : Normal LCA: Calcified plaque at distal part of proximal LAD causing moderate stenosis. Normal Dgs branch. CX: Small calcified plaque at proximal and distal LCX with non significant stenosis. Normal OMs branch. RCA: Right coronary dominant. Early branching of PL and PDA branch. no significant stenosis. other: CAC=9.0 LVEF 57% Conclusion : Moderated coronary stenosis
คุณหมอ (1) แนะนำให้ฉีดสีสวนหัวใจเพื่อความชัดเจน จึงได้เข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจที่รพ. (B) โดยคุณหมอ (2) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่ทำการสวนหัวใจคุณหมอได้ชี้ให้เห็นว่าเส้น LAD ตีบ 60-70 % และได้ถามว่าปกติมีอาการแน่นหน้าอก หรือผิดปกติอย่างไร ได้แจ้งคุณหมอว่า รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกตินิดหน่อย แต่ก็สามารถออกกำลังกายได้ต่อเนื่อง 20-30 นาที คุณหมอจึงตัดสินใจว่ายังไม่ต้องทำอะไร และได้สั่งยา Statin และ ให้กินยาเก่า ( Cardiprin 100 mg. วิตามินบีรวม และกรดโฟลิค) และได้นัดตามอาการในวันที่ 8 กค.ที่ผ่านมา การไปพบแพทย์เมื่อ 8 กค.นี้ คุณหมอแจ้งว่า จุดที่เห็นว่าเป็นเส้นเลือดตีบ 60-70 % นั้น แท้จริงคือ เส้นเลือดปกติ แต่เพราะบริเวณส่วนหัว และส่วนท้ายของเส้นเลือด โป่งผิดปกติ จึงทำให้คิดว่ารอยคอดนั้นเป็นจุดตีบ คุณหมอได้จ่ายยา LIPITOR และเบบี้แอสไพริน กับนัดอีกครั้งอีก 3 เดือน ได้ส่งผลการตรวจสวนหัวใจมาด้วย
จึงขอเรียนปรึกษาคุณหมอดังนี้ค่ะ

1. ที่คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดโป่งพองผิดปกตินั้น มีโอกาสเป็นไปได้ไหมคะ และการที่เส้นเลือดโป่งพองนั้นอันตรายหรือไม่
2. การแปรผลจากการทำ CT scan ที่ รพ. A ซึ่งบอกว่ามีเส้น LAD ตีบนั้น กับการแปรผลการฉีดสีสวนหัวใจที่ รพ. B ที่ว่าเป็นเส้นเลือดโป่งพองที่หัวท้ายทำให้มีรอยคอดตรงกลาง แต่ไม่มีการตีบ นั้น คุณหมอมีความเห็นเป็นอย่างไรคะ
3. ตั้งแต่ทราบว่ามีปัญหาเรื่องหัวใจเมื่อเดือน พค. ดิฉันได้ต้มน้ำขิง พุทราจีน เห็ดหูหนู ให้สามีกินเช้าเย็น มาจนปัจจุบันนี้เป็นกว่า 1 เดือน แล้ว ตามคำแนะนำของผู้ที่เคยกินแล้วหลอดเลือดดีขึ้นจนเป็นปกติ แต่การกินน้ำนี้ทำให้น้ำตาลสูงประมาณ140-150 คุณหมอเห็นอย่างไรคะ ควรกินต่อหรือควรหยุด
4. ผลการตรวจเลือดก่อนเข้าพบคุณหมอครั้งล่าสุด ผลคือ คอเลสเตอรอล 158 (เดิม ประมาณ 170) LDL 95 (เดิม ประมาณ 110) HDL 53 (เดิม 39-40) sgot 75 SGPT 187 Creatininekinase 263 HBA 1C 5.5% คุณหมอสันต์เห็นว่าควรทำอย่างไรต่อไปดีคะ

ขอกราบขอบพระคุณมากค่ะ

……………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าที่คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดโป่งพองผิดปกตินั้น เป็นไปได้ไหมและมีอันตรายไหม ก่อนจะตอบคำถามนี้คุณต้องทำความเข้าใจกับศัพท์แสงที่แพทย์ใช่ก่อนนะ คือแพทย์ท่านไม่ได้ใช้คำว่าเส้นเลือดโป่งพอง แต่ท่านใช้คำว่าเส้นเลือดโป่งผิดปกติ เออ แล้วมันจะต่างกันตรงไหนละ มันต่างกันตรงที่ว่าคำ “พอง” ไงครับ คือว่า

     1.1 ถ้าแพทย์พูดว่าหลอดเลือดโป่งพอง ในใจท่านหมายถึงโรค aneurysm ซึ่งผนังหลอดเลือดถูกกร่อนไปด้วยการติดเชื้อก็ดีหรือด้วยไขมันแทรกผนังก็ดี จนผนังที่เคยหนาและเหนียวนึ้บกลายเป็นบางจ๋อยและอ่อนยวบยาบจนถูกความดันของเลือดดันออกจนหลอดเลือดโป่งพองจะแตกมิแตกแหล่ จัดว่าเป็นปลายทางของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ที่หากไม่จบด้วยการตีบก็จะจบด้วยการแตก

     1.2 ถ้าแพทย์ท่านพูดว่าหลอดเลือดโป่ง (ไม่มีคำว่าพอง) ในใจของท่านหมายถึงคำว่า arterial dilatation ซึ่งเป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดปกติ แต่ว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือดมันไม่เท่ากันตลอดลำ บัดเดี๋ยวใหญ่ บัดเดี๋ยวค่อยๆคอดลงไปหน่อย แล้วกลับมาใหญ่อีก แต่การไหลของเลือดไม่ได้สะดุด เปรียบเสมือนคลองคอนกรีตระบายน้ำข้างถนนที่ผู้รับเหมาสร้างให้อบต. ปกติมันควรมีขนาดเท่ากันตลอดลำตรงเพะ แต่ที่ทำโดยผู้รับเหมาของอบต.ทางเข้าบ้านผมที่มวกเหล็กมันบัดเดี๋ยวแคบบัดเดี๋ยวกว้าง จะด้วยเหตุว่าตอนตีแบบช่างเขาลืมเอาแว่นตามาหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่มันก็ใช้ระบายน้ำได้ ฉันใดก็ฉันเพล หลอดเลือดที่โป่งๆคอดๆแบบของสามีคุณนี้ทางการแพทย์ถือว่ามันเป็นความผิดปกติที่ปกติ (normal variation) ไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้มีอันตราย และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

     2. ถามว่าที่หมอรพ. A อ่านเอ็กซเรย์หลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) แล้วบอกว่ามีเส้นเลือดข้างหน้าหัวใจ (LAD) ตีบนั้น พอมารพ. B สวนหัวใจแล้วบอกว่าเป็นเส้นเลือดโป่งแบบคอดกลางโดยไม่มีการตีบ หมอสันต์มีความเห็นว่าไง ตอบว่าก็มีความเห็นเหมือนหมอทั้งสองท่านนั่นแหละครับ เพราะการตรวจ CTA เป็นการเอาคนไข้ไปเข้าอุโมงค์แล้วเอ็กซเรย์เอาเงาขึ้นมาให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพหลอดเลือดขึ้น หมอดูภาพแล้วเห็นหลอดเลือดคอดก็จึงอ่านว่าน่าจะตีบ ก็เป็นธรรมดา เพราะนี่เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อเลือกคนไข้ไปตรวจสวนหัวใจ (CAG) ดูว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ไม่ใช่การตรวจวินิจฉัย แต่พอไปสวนหัวใจภาพที่คุณส่งมาให้นั้นยืนยันว่าตรงนั้นไม่ได้ตีบ เป็นแค่โป่งๆคอดๆเฉยๆ ก็เป็นอันจบเรื่องตรงที่ว่าสามีคุณไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อันหลังนี้เป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายที่เชื่อได้ 100%

     3. ถามว่าพอทราบว่าสามีมีปัญหาเรื่องหัวใจคุณก็ขยันต้มน้ำขิง พุทราจีน เห็ดหูหนู ให้สามีกินเช้าเย็นจนเจาะเลือดแล้วได้น้ำตาล 140-150 แล้วหมอสันต์เห็นอย่างไรคะ ตอบว่าก็เห็นว่าสามีของคุณกำลังจะเป็นเบาหวานเพราะฝีมือของเมียอะสิครับ ควรจะเลิกทำอย่างนั้นเสีย หรือหากจะทำก็ต้มแบบไม่ต้องใส่น้ำตาล (ถ้าสามีเขายอมกิน)

     4. ถามว่าผลเลือดครั้งสุดท้าย  คอเลสเตอรอล 158 (เดิม ประมาณ 170) LDL 95 (เดิม ประมาณ 110) HDL 53 (เดิม 39-40) sgot 75 SGPT 187 Creatininekinase 263 HBA 1C 5.5% หมอสันต์เห็นว่าอย่างไร ตอบว่าผมเห็นว่า

     4.1 สามีของคุณไม่ได้มีไขมันในเลือดสูง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดไขมัน

     4.2 สามีของคุณกำลังเป็นตับอักเสบเฉียบพลัน (SGPT และ SGPT สูงผิดปกติ) และมีการสลายตัวของกล้ามเนื้อระดับไม่มาก ซึ่งเดาเอาว่าทั้งสองเรื่องน่าจะเกิดจากยาลดไขมัน

     4.3 สามีของคุณไม่ได้เป็นเบาหวาน แม้ว่าจะถูกภรรยาจับกรอกน้ำหวานมาหลายเดือนแล้ว

     4.4 สามีของคุณไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะหลอดเลือดของเขาเกลี้ยงเกลาดี ยาแอสไพรินจึงไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรกับเขา

     4.5  สามีของคุณมีอาการใจสั่นจากอะไรผมก็ยังไม่ทราบ เพราะไม่มีหลักฐานอะไรบ่งบอกถึงต้นเหตุของอาการใจสั่นเลย ภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ทุกภาพที่คุณส่งมาให้นั้นปกติหมด การที่หมอหัวใจทั้งสองท่านไม่ได้ให้สามีของคุณกินยากันเลือดแข็งแสดงว่าสามีของคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ซึ่งก็ดีแล้วที่ไม่เป็น ส่วนการจะรู้ว่าสามีของคุณใจสั่นเพราะอะไรมีวิธีเดียว คือรอให้มันสั่นอีกครั้งแล้วค่อยไปตรวจหัวใจใหม่

     5. ถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดีคะ ตอบว่า ควรจะทำดังนี้

     5.1 จะต้องแก้ปัญหาตับอักเสบเฉียบพลันที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆก่อน โดยการ

     5.1.1 หยุดยาลดไขมันเสียทันที จนกว่าจะหายตับอักเสบแล้วค่อยมาว่ากันใหม่

     5.1.2 หยุดยาแอสไพริน (Cardiprin) เสียทันที ไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ประโยชน์ของยาแอสไพรินมีน้อยมากจนไม่คุ้มกับพิษของยา ในคนที่กำลังมีตับอักเสบเฉียบพลันอยู่ แอสไพรินอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกรุนแรงได้

     5.1.3 พวกเห็ดหูหนูสมุนไพรต่างๆก็หยุดเสียด้วย เพราะแพทย์แผนปัจจุบันอย่างผมนี้ไม่มีความรู้หรอกว่าสมุนไพรหญ้าแห้งแต่ละชนิดมีผลต่ออวัยวะสำคัญต่อตับและไตอย่างไร แต่ขณะที่มีความผิดปกติที่ตับและไตเกิดขึ้น ต้องหยุดสมุนไพรทุกชนิดที่อาจเป็นภาระแก่ตับและไตเสียชั่วคราว

     5.1.4 อีกสามเดือนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดดูการทำงานของตับซ้ำใหม่ว่าภาวะตับอักเสบดีขึ้นหรือยัง ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ตัวใครตัวมันละครับ เอ๊ย ไม่ใช่ ก็ต้องไปหาหมอตั๊บโตโลจิสต์ (hepatologist) ให้เขาดูให้

       5.2 ปรับโภชนาการล่วงหน้าไว้เลย ในทิศทางกินผักกินหญ้าให้มากขึ้น (plant based diet) งดอาหารไขมันทรานส์ งดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกชนิด เพราะหลังหยุดยาลดไขมันได้ 3 เดือนแล้วเขาต้องไปเจาะเลือดติดตามดูตับอักเสบ จะได้ถือโอกาสดูไขมันในเลือดด้วย จะได้รู้ว่าขณะที่มีโภชนาการที่ดีแล้ว ระดับไขมันในเลือดที่แท้จริงขณะไม่ได้ยาจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ ที่แน่ๆผมยังไม่รู้ เมื่อยังไม่รู้ว่าเป็นไขมันในเลือดสูงจริงหรือเปล่า จะตะบันให้ยาลดไขมันต่อเนื่องไปก็จะเสียมากกว่าได้นะครับ เพราะสำหรับคนอย่างสามีของคุณซึ่งไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาลดไขมันจะมีประโยชน์น้อย

   5.3 เมื่อหายตับอักเสบแล้ว ไล่ให้สามีไปออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้) ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับให้เล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง การให้ออกกำลังกายนี้ด้านหนึ่งมันเป็นสิ่งที่คนทุกคนพึงทำ อีกด้านหนึ่งเป็นการเฝ้าระวังการเริ่มเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต คือถ้าเริ่มเป็น อาการมันจะโผล่ขณะออกกำลังกายก่อน (คืออาการเจ็บหน้าอก พักแล้วหาย) แต่ย้ำนะครับ ว่าตอนนี้ยังไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์