Latest

สังคมบ้าแอร์ กับ Hypereosinophilia

เรียนคุณหมอสันต์ ที่เคารพ
ดิฉันติดตาม blog คุณหมอทาง FB ดิฉันอายุ 66 (ต้องรีบบอกอายุเพราะคุณหมอให้พวก สว.เป็น first priority) ตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ มีผลเลือดเม็ดเลือดขาว Eosinophils สูงคือ7.3% ผลบอกเป็นภูมิแพ้ หรือไม่ก็มีพยาธิ แต่ดิฉันตรวจอุจจาระด้วย ซึ่งไม่มีพยาธิ  ดังนั้นก็คงเป็นภูมิแพ้
ดิฉันแพ้แอร์มาก อยู่บ้านต้องคอยเปิดๆปิดๆ  ขับรถก็ต้องสลับเปิดปิดเช่นกัน ไปห้างหรือร้านอาหาร ต้องมีผ้าคลุมไหล่ หรือผ้าพันคอเป็นอาวุธประจำกาย ช่วงเวลานอนเปิด 26 องศายังหนาว ต้องปิดแอร์นอน
ขอเรียนถามว่า จะรักษาตัวอย่างไรดี อาการเหล่านี้มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ดิฉันมีโรคประจำตัวคือ หัวใจเต้นผิดปกติ AF รักษากับคุณหมอที่จุฬา ทานยาเป็นประจำ (Tambocore)  และมีโรคคนแก่คือ เข่าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม ข้อนิ้วเสื่อมแบบปูดๆ มีการเคล็ดที่ข้อสะโพกบ้าง คงเสื่อมเหมือนกัน หมอนรองกระดูกข้อที่ 4-5 ตีบแคบ เคยกายภาพแบบดึงที่ ร.พ. แต่ยังไม่หนักถึงขนาดต้องผ่า  ชอบและเห็นความสำคัญของการ exercise แต่ เป็นคนขี้เกียจ
ขอความกรุณาคุณหมอตอบด้วยนะคะ จะคอยอ่านทาง FB ค่ะ ขอบพระคุณมากๆ 
ขอให้คุณหมอและครอบครัว มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง  และเป็นขวัญใจของแฟนคลับต่อไปอีกนานๆ รักคุณหมอจังค่ะ
ด้วยความเคารพ
นาง………….
……………………………………………………………………

ตอบครับ
     ที่จั่วหัวกันลืมไว้แบบนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับแอร์โฮสเตสนะครับ ผมตั้งจะหมายถึงแอร์เครื่องปรับอากาศ เห็นจดหมายของคุณแล้วก็คิดขึ้นได้ว่าคนไทยทุกวันนี้บ้าแอร์ และเลยไปทำให้นึกถึงความหลังเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนว่าความบ้าแอร์นี้มีได้แม้ในประเทศหนาว คือย้อนหลังไปประมาณปีพ.ศ. 2520 ผมเป็นนักเรียนแพทย์ สมัยนั้นการใช้แอร์ในเมืองไทยมีใช้จำกัดมาก ตัวผมเองตั้งแต่เกิดมาถึงตอนนั้นยังไม่เคยนอนห้องแอร์เลยในชีวิต ทั้งมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่มีห้องแอร์อยู่ห้องเดียวคือห้องคณบดีวิทยาศาสตร์ ผมทราบเพราะผมเป็นหัวหน้านักศึกษาจึงมีบุญได้เข้าห้องของท่านเป็นครั้งคราว มีอยู่ครั้งหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะไรไม่รู้มาจากญี่ปุ่นมาช่วยจัดตั้งคณะใหม่ ผมซึ่งทำงานหาเงินนอกเวลาเป็นคนสวนปลูกต้นไม้ให้มหาลัยได้ถูกเรียกมารับใช้แขกในวันหยุด (นึกย้อนหลังดูแล้วแขกคนญี่ปุ่นนี้คงไม่สำคัญเท่าไหร่นัก เพราะเอาคนระดับคนสวนมาต้อนรับ) ผมได้คุยกับแขกญี่ปุ่นคนนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ตอนหนึ่งผมถามเขาว่า อะไรคือความฝันอันสูงสุดในชีวิตของคนญี่ปุ่น เขาตอบว่า ความฝันสูงสุดของคนญี่ปุ่นระดับรากหญ้าทุกคนคืออยากจะมี 3 C ได้แก่
     “ Car, Cooler, Color TV”
     ผมถามว่า cooler หมายความว่าอะไร เขาบอกว่าก็เครื่องปรับอากาศไง เห็นไหมครับ ต้นกำเนิดของความบ้าแอร์นี้มันมาจากเมืองหนาว  และมูลเหตุจูงใจให้บ้าก็ไม่ใช่เรื่องร้อนหนาวอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการบ้า “สมบัติ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษานั่นเอง

     ความบ้าแอร์นี้บางครั้งก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการทำสิ่งดีๆเพื่อสุขภาพตัวเอง ไม่นานมานี้ผมไปสอนให้พนักงานขององค์กรแห่งหนึ่งให้สร้างวัฒนธรรมการออกกำลังกายขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมขององต์กร ซึ่งองค์กรก็ใจดีทำห้องออกกำลังกายติดแอร์อย่างดีให้ ผมถามพนักงานหญิงคนหนึ่งซึ่งสวยแต่อ้วนว่าทำไมไม่ไปออกกำลังกายในยิม เธอตอบว่า
     “ฮึ.. เหม็นขี้เต่าผู้ชาย”
     (ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
     ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทั้งๆที่เป็นสัจจะธรรมรู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าห้องออกกำลังกายต้องมีกลิ่นขี้เต่า แต่เหตุไฉนยิมทั่วเมืองไทยกลับติดแอร์อบกลิ่นขี้เต่ากันทุกแห่งไม่มีข้อยกเว้น อย่างน้อยตัวผมเองก็ไม่เคยเห็นยิมสักแห่งเดียวที่ไม่ติดแอร์ แสดงว่าความบ้าแอร์นี้มันมากจนกลบเหตุผลอื่นๆไปสิ้น

     เขียนถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ทุกวันนี้หมวกอีกใบหนึ่งของผมคือเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตด้วย และมูลนิธิฯก็มีแผนที่จะตั้งโรงเรียนฝึกสอนผู้ดูแล (care giver academy) แบบว่าจะให้ได้สะเป๊คสองประการคือ (1) ดูแลตัวเองให้เป็นก่อน (2) มีความสุขกับการใช้เมตตาธรรมทำงาน การจะฝึกสอนผู้ดูแลอย่างน้อยก็ต้องมีบ้านผู้สูงอายุขนาดเล็กไว้เป็นโรงเรียนสอน มูลนิธิฯก็วางแผนจะสร้างบ้านผู้สูงอายุขนาดเล็กขึ้นมาด้วยโดยกะจะสร้างที่มวกเหล็ก วิธีหาเงินสร้างก็คือใครบริจาคถึงหนึ่งล้านบาทขึ้นไปก็จะได้เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อมูลนิธิฯ เมื่อแก่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้วก็จะได้สิทธิ์ของผู้มีอุปการะคุณเข้าไปอยู่ในบ้านนั้นได้จนตลอดชีวิต ประเด็นที่เอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาอยู่ตรงที่บ้านผู้สูงอายุนี้โดยธรรมชาติมันต้องมีสองส่วน หรือพูดง่ายๆว่ามีสองแผนก คือ ส่วนช่วยดูแล (assisted living) และส่วนระยะสุดท้าย (end of life care) ซึ่งต้องแยกกันแบบต่างคนต่างอยู่เพราะมันคนละมู้ดคนละโทนกัน ในส่วน assisted living นั้นมิชชั่นต้องมุ่งไปที่การเร่งรัดฟื้นฟูสมรรถนะร่างกายไม่ใช่จะให้มานั่งๆนอนๆรอวันสุดท้ายอยู่เฉยๆ ก็จะต้องมีการทำห้องออกกำลังกายผู้สูงอายุหรือที่เรียกโก้ๆว่า senior gym ด้วย ตอนนี้ผมยังทำงานวิเคราะห์แบบซีเนียร์ยิมนี้ค้างอยู่ พอเห็นจดหมายของคุณแล้วทำให้ผมนึกขึ้นได้อย่างหนึ่งว่าสะเป๊คของซีเนียร์ยิมนี้ น่าจะมีสะเป็คสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือต้องเปิดรับอากาศธรรมชาติและต้องไม่ติดแอร์ นั่นหมายความว่าบ้านผู้สูงอายุจะต้องอยู่ในที่ที่อากาศดีมีต้นไม้แยะๆ จึงจะไม่ติดแอร์ได้ เพราะในการออกกำลังกายผู้สูงอายุนี้ถ้าขืนทำในห้องแอร์ มันไม่ใช่จะมีแต่เรื่องขี้เต่าอย่างเดียวนะครับ ไหนจะเรื่องลมแบบว่ามีซาวด์ดังๆประกอบด้วย แถมบางรายยังแถมแห้งบ้างน้ำบ้างก็มี (อุ๊บ.. ขอโทษ ชักเลอะเทอะ)   
     กลับมาพูดถึงเรื่องบ้าแอร์ ว่าแต่คนอื่นเขา ตัวผมเองเนี่ยแหละก็เป็นคนบ้าแอร์นะครับ เวลาอยู่กรุงเทพฯภรรยาเธอจะคอยค่อนแคะผมอยู่เรื่อยว่าคุณนี่เป็นอะไรนะเข้าบ้านได้สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปิดแอร์ บังเอิญช่วงสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้บ้านบนเขามันเหม็นกลิ่นสีที่เพิ่งทาใหม่ ทุกวันหยุดเมื่อไปมวกเราต้องอพยพไปนอนที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าระดับเก๋ากึ๊กและไม่มีแอร์ไม่มีเครื่องทำน้ำร้อน ปรากฎว่าผมก็นอนหลับสบายดี สบายกว่านอนห้องแอร์ในกรุงเทพเสียอีกทั้งๆที่เป็นกลางหน้าร้อน แสดงว่าความบ้าแอร์ของผมก็เป็นความบ้าที่ไร้เหตุผลเหมือนที่คนเมืองหนาวญี่ปุ่นบ้าแอร์เช่นกัน
     มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
     1.. ถามว่าแพ้แอร์มากจะทำอย่างไรดี ตอบว่าก็ปิดแอร์เปิดหน้าต่างสิครับ

     2.. ถามว่าตัวเองเป็นคนชอบและเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายแต่ เป็นคนขี้เกียจ หมอสันต์จะช่วยอะไรได้ไหม ตอบว่าช่วยไม่ได้หรอกครับ เพราะกรรมของใคร ก็กรรมของมัน (อุ๊บ ขอโทษครับคุณพี่ ผมเผลอไม่สุภาพกับผู้ใหญ่)

     3. ถามว่าตรวจเลือดพบว่ามีอีโอซิโนฟิลสูง ตรวจหาพยาธิก็ไม่พบ จะเป็นอะไรได้บ้าง ตอบว่าสาเหตุที่เม็ดเลือดขาวอีโอซิโสฟิลสูงนั้นมีเยอะแยะแป๊ะตราไก่ที่แม้แต่นักเรียนแพทย์ใกล้สอบยังท่องได้ไม่หมด คุณอย่าไปสนใจเจาะลึกเลย เอาเป็นว่าผมสรุปให้ฟังสั้นๆนะ คืออีโอซิโนฟิลนี้มันเป็นเม็ดเลือดขาวที่ผลิตออกมาจากไขกระดูก เหตุที่จะทำให้มันถูกผลิตออกมามากผิดปกติเนี่ยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆคือ

     3.1 พันธุกรรม ซึ่งกลุ่มนี้อีโอซิโนฟิลจะสูงไม่มาก และไม่มีอาการอะไร

     3.2 มาเป็นเอาตอนโตแล้ว (acquired eosinophilia) ซึ่งยังแยกย่อยออกเป็นอีกสองพวกย่อยคือ

     3.2.1 เป็นเพราะมีสาเหตุกระตุ้น (secondary eosinophilia) ถ้าเป็นในประเทศยากจนอย่างบ้านเรานี้สาเหตุตัวกลั่นก็คือพยาธิและเชื้อรา แต่ถ้าเป็นประเทศเศรษฐีสาเหตุตัวกลั่นก็คือโรคภูมิแพ้ เป็นต้นว่าหอบหืด ผิวหนังอักเสบแบบแพ้ หรือแม้กระทั่งแพ้ยา แพ้ยาแบบทำให้อีโอซิโนฟิลสูงนี้บางครั้งหยุดยาไปตั้งนานแล้วแต่อีโอก็ยังสูงเท้งเต้งอยู่นั่นแหละ ตัวกระตุ้นอย่างอื่นก็เช่นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ราในปอด (aspergillosis) โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่นโรคหนังแข็ง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBS) โรคต่อมหมวกไตไม่ทำงาน (Addison’s disease) เป็นต้น

     3.2.2 การเพาะชำเซลผิดปกติ (clonal eosinophilia) คือไขกระดูกเขามีหน้าที่เพาะชำเซล เหมือนศูนย์วนกรรมมีหน้าที่เพาะชำกล้าไม้แจก โดยแบ่งเป็นสายหรือเป็นครอก อย่างเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลก็ถือว่าเป็นครอกหนึ่ง เวลาเกิดปัญหาในการเพาะชำ มันจะเกิดเป็นครอกๆไป ครอกนี้เป็น ครอกนั้นไม่เป็น ตัวอย่างปัญหาการเพาะชำของไขกระดูกก็เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ โรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ (myeloproliferative syndrome) โรคเม็ดเลือดแดงมากเกิน (polycythemia)  เป็นต้น

     3.2.3 ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic eosinophilia) คือภาวะที่เป็นอะไรแพทย์ก็ไม่รู้ แต่ก็อุตสาห์ตั้งชื่อไว้

     ว่าจะพูดอย่างสรุปแล้วนะเนี่ย แต่วิชาแพทย์นี้ลงครูได้ตั้งต้นจำแนก (classification) อะไรสักอย่างแล้วละก็คุณเอ๋ย.. นั่นเป็นเวลาที่นักเรียนแพทย์จะเริ่มนับแกะ (หลับ) กันแล้ว 
     4. ถามว่าเวลามีอีโอซิโนฟิลสูงจะต้องทำการตรวจเพิ่ม (work up) อะไร ตอบว่าขึ้นอยู่กับข้อมูลจำเพาะของคนไข้แต่ละคน การตรวจพื้นฐานเช่นการนับเม็ดเลือด (CBC) และตรวจชีวเคมีของเลือด ซึ่งคุณทำไปแล้ว เป็นการตรวจพื้นฐานที่ต้องทำ เพราะจะให้ข้อมูลเบาะแสการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆซึ่งจะเสียหายผิดเพี้ยนถ้าเหตุที่ทำให้อีโอซิโนฟิลสูงเป็นโรคใหญ่ๆ ซึ่งมักมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ การตรวจที่เหลือต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลของคนไข้แต่ละคน อย่างในกรณีของคุณนี้ซึ่งทั้งมีหัวใจเต้นรัวแบบ AF ด้วย ทั้งมีอีโอซิโนฟิลสูงด้วย สิ่งแรกที่ควรทำคือไปตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ หมายความว่าเจาะเลือดดูฮอร์โมนกระตุ้นต่อม (TSH) และฮอร์โมนไทรอยด์ (FT4) เพราะความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดได้ทั้งหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) และทั้งมีอีโอซิโนฟิลด์สูง  ถ้าตรวจแล้วปกติ และทุกวันนี้หากคุณอยู่ในสภาพสุขสบายดีไม่มีปัญหาอะไรนอกจากโรคขี้เกียจ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำการตรวจอื่นๆที่มากไปกว่านี้ นี่น่าจะเป็นวิธีเข้าหา (approach) ปัญหาอีโอซิโนฟิลสูงที่ผมเห็นว่าพอเหมาะพอดีไม่ทำมากไป ไม่ทำน้อยไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
 บรรณานุกรม

  1. Klion AD, Bochner BS, Gleich GJ, et al, and The Hypereosinophilic Syndromes Working Group. Approaches to the treatment of hypereosinophilic syndromes: a workshop summary report. J Allergy Clin Immunol. 2006 Jun. 117(6):1292-302. [Medline].
  2. Klion A. Hypereosinophilic syndrome: current approach to diagnosis and treatment. Annu Rev Med. 2009. 60:293-306. [Medline].
  3. Schwartz RS. The hypereosinophilic syndrome and the biology of cancer. N Engl J Med. 2003 Mar 27. 348(13):1199-200. [Medline].