Latest

ปรี๊ดแตก..โอกาสหัวใจวายเพิ่มขึ้น 8.5 เท่า

     การจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์…เป็นความสูญเสียของทุกคนที่มาร่วมกันที่นี่ในวันนี้ รวมทั้งตัวผม ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจารย์มายาวนานด้วย

     อาจารย์…เป็นคนชอบสอน ชอบเผยแพร่สิ่งดีๆไปให้คนรอบตัวท่าน เพราะท่านมีโลกทัศน์ว่าชีวิตที่ดีก็คือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ผมเดาใจอาจารย์ได้ว่าหากทำได้ท่านคงจะสื่อสิ่งดีๆอะไรก็ตามที่สื่อได้ให้แก่ทุกท่านที่มาที่นี่ในวันนี้ ผมจึงขอถือวิสาสะสื่อสิ่งเหล่านั้นถึงท่านแทนอาจารย์

     ประเด็นที่จะสื่อคือเรื่องการจัดการความเครียด ซึ่งมีสองส่วน

     ส่วนที่หนึ่ง คือการดำรงชีวิตประจำวันในรูปแบบที่ไม่เครียด

     ส่วนที่สอง คือการรับมือกับความเครียดแบบเฉียบพลัน

     แม้ว่าอาจารย์…จะมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดมานานสิบกว่าปีแล้ว แต่อาจารย์ก็มีวิธีจัดการความเครียดในส่วนที่หนึ่ง คือการดำรงชีวิตประจำวันในรูปแบบที่ไม่เครียดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราเรียนรู้จากท่านได้ ท่านปลูกผักต่างๆและเพาะพันธุ์ดอกไม้ไว้หน้าบ้านพักของท่าน เช้าขึ้นท่านก็ดื่มกาแฟเดินรดน้ำผัก ตกเย็นท่านก็เอาไวโอลินมาสีให้ผักฟังบ้าง เอากีต้าร์มาดีดให้ผักฟังบ้าง วันไหนธุระยุ่งท่านก็สั่งให้คนงานลูกน้องเอาวิทยุมาเปิดให้ผักฟังแทน ชีวิตประจำวันของท่านผ่านไปอย่างนุ่มนวลและผ่อนคลายเพราะท่านเป็นคนมีปฏิสัมพันธ์โอภาปราศัย เป็นที่รักของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

     ในด้านการรับมือกับความเครียดเฉียบพลัน เราก็สามารถเรียนรู้จากอาจารย์ได้เช่นกัน แต่เป็นการเรียนโดยวิธีมองย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่ผ่านมา คือขณะที่อาจารย์บริหารจัดการชีวิตประจำวันของตัวเองให้ดำเนินไปได้ทุกวันอย่างผ่อนคลายไม่เครียด แต่ในชีวิตจริงของคนเรา บางวันมันมีความเครียดเฉียบพลันที่เราไม่ได้คาดฝันไว้ก่อนเกิดขึ้นได้ คือบังเอิญคนงานลูกน้องของอาจารย์มีอยู่คนหนึ่งเป็นคนแบบที่เรียกง่ายๆว่า “บ้า” วันหนึ่งอาจารย์ก็เกิดความเครียดเฉียบพลันขึ้นจากการทำงานกับลูกน้องคนนี้

     การดำเนินของโรคหัวใจขาดเลือดตามธรรมชาตินี้ ในเชิงอาการวิทยามันจะมีเหตุการณ์สองแบบ แบบที่หนึ่งเรียกว่าเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) คือเมื่อร่างกายทำงานมากก็จะเกิดเกิดการเจ็บหน้าอกขึ้น เพราะเมื่อขณะร่างกายทำงานมากหัวใจจะต้องใช้เลือดมาก เลือดไหลผ่านรูตีบไม่ทัน ก็เจ็บหน้าอก แต่พอพักก็หาย นั่นแบบหนึ่ง เป็นอาการปกติธรรมดาของโรคนี้ ไม่มีอันตรายเร่งด่วนอะไร เป็นแค่ตัวชี้วัดหรือเป็นเครื่องเตือนว่าหัวใจรับได้แค่ไหนซึ่งเจ้าตัวควรหัดสังเกตตัวเองและไม่ฝืนออกกำลังกายไปให้มากเกินกว่าจุดนั้น

     แบบที่สองคือการเจ็บหน้าอกแบบด่วน (unstable angina) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหดตัวรุนแรงหรือเลือดก่อตัวเป็นลิ่มมาอุดหลอดเลือดหัวใจไว้แบบทันทีทันใด และอุดแบบถาวร นานเกินยี่สิบนาทีแล้วยังไม่หายเจ็บหน้าอก การจะเกิดกรณีอย่างนี้ได้ต้องมีเหตุการณ์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งในสองสามอย่าง หนึ่งในเหตุการณ์พิเศษเหล่านั้นก็คือความเครียดเฉียบพลัน จะเรียกว่า “ของขึ้น” หรือ “เดือด” หรือ “น็อตหลุด” หรือ “มิ้ง” ก็ได้ ถ้าเป็นวัยรุ่นเขาเรียกว่า “ปรี๊ดแตก” ณ จุดนี้เป็นพีคหรือจุดสุดขีดของความเครียด สมองของเราจะเห็นช้างตัวเท่าหมู เป็นจุดที่มีโอกาสที่เกิดอะไรขึ้นได้มากมายกับระบบหัวใจหลอดเลือด ความดันเลือดพุ่งขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็ว ใช้ออกซิเจนมาก หลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง (coronary spasm) บางครั้งหดตัวอยู่นานหลายนาทีไม่ยอมคลายตัว ลิ่มเลือดก็ก่อตัวขึ้นง่ายในขณะนั้น ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้สั่งและเราไม่รู้ตัว กลไกที่แท้จริงวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบทั้งหมด ทราบแต่ว่าภายใน 2 ชั่วโมงนับจากจุดปรี๊ดแตกนี้ มีโอกาสเกิด heart attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าปกติถึง 8.5 เท่า เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นแล้ว ถ้าเป็นมากก็จะถึงขั้นหมดสติ ซึ่งหลังจากนั้นถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายลงไม่มากนักก็ฟื้นได้ ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายลงไปมากก็ไม่ฟื้น

     โอกาสเกิดเรื่องเช่นนี้มีได้ทุกคน คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้วก็มีโอกาสเกิดมากกว่า แต่คนที่ไม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่เลยก็เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ การจะเอาตัวรอดจากหัวใจวายฉุกเฉินจากความเครียดเฉียบพลันนี้เราจะต้องรู้ตัวเสียตั้งแต่เราเริ่มตั้งต้นเครียด อย่ารอจนถึงโมโหปากคอสั่นเพราะถึงตอนนั้นมันเครียดมากเกินไปแล้ว เราต้องมีสติขยันดูใจเราบ่อยๆ รู้ตัวเสมอว่า ณ ขณะนี้เราหงุดหงิดหรือเปล่า เราใกล้จะปรี๊ดแตกหรือยัง ถ้าใกล้แล้วเราต้องพาตัวเองออกจากความเครียดนั้นทันที ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ค่อยผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆพร้อมกับบอกให้กล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลาย ทำใจให้ปล่อยวาง รีแล็กซ์..ซ์

     เมื่อเราหายใจเข้าลึกๆเต็มปอด แล้วกลั้นนิ่งสักพัก แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกช้าๆพร้อมกับบอกให้กล้ามเนื้อทั่วตัวซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลายที่สมองเราคุมได้นี้ให้ผ่อนคลาย ระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งรับฟังสัญญาณการทำงานของกล้ามเนื้อลายอยู่ตลอดเวลาก็จะผ่อนคลายการสนองตอบแบบเครียดลงตามไปด้วย ทำให้อะไรๆในระบบหัวใจหลอดเลือดที่กำลังเขม็งเกลียวไปสู่จุดแตกหักผ่อนคลายกลับลงมาสู่ปกติได้

     เทคนิคนี้สำคัญมาก และจำเป็นสำหรับทุกคน ครั้งหนึ่งในชีวิตทุกคนจะต้องได้ใช้เทคนิคนี้ ท่านจะต้องหัดทำบ่อยๆจึงจะทำเป็น อย่าปล่อยให้ความเครียดพุ่งสูงขึ้นๆโดยไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะถ้าปล่อยอย่างนั้นหลอดเลือดหัวใจอาจหดตัวทันทีโดยไม่ยอมคลาย พาหัวใจหยุดเต้นได้

     วันนี้เรามาส่งอาจารย์… ผมขอเป็นตัวแทนอาจารย์สื่อสารถึงท่าน ว่าในการใช้ชีวิตจากนี้ไปข้างหน้า นอกจากท่านจะต้องดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ผ่อนคลายไม่เคร่งเครียดแล้ว ท่านยังจะต้องฝึกทักษะไว้รับมือกับความเครียดเฉียบพลันด้วยการฝึกสติตามดูใจตัวเอง เมื่อเห็นว่าจะเริ่มเครียดก็ตั้งใจหายใจเข้าลึกๆแล้วเป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆพร้อมกับบอกให้กล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลาย ทำใจให้ปล่อยวาง ฝึกทำแบบนี้บ่อยๆ วันละหลายๆครั้งได้ยิ่งดี

     ถ้าจะมีผลบุญใดๆเกิดขึ้นจากการสื่อสารเรื่องนี้สู่ทุกท่าน ก็ขอให้ผลบุญนั้นหนุนส่งอาจารย์…ไปสู่สุขคติด้วยเทอญ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์