Latest

มะเร็งปอด กับยารักษาแบบล็อคเป้า (Target Therapy)

คุณหมอสันต์ที่นับถือ
ผมอายุ 62 ปี เคยสูบบุหรี่แต่เลิกไปนานแล้ว ผมเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลใหญ่ ได้ส่งผลตรวจมาด้วย ทำคอมพิวเตอร์ปอด สมองและท้องแล้วไม่มีมะเร็งที่อื่น ได้ทำผ่าตัดเอาปอดออกไปสองกลีบจากทั้งหมดสามกลีบ โดยคุณหมอ… ที่โรงพยาบาล… หมอบอกว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3 ตัดเนื้องอกออกไปได้หมด แต่แพทย์ก็ยืนยันให้ทำเคมีบำบัดโดยให้เหตุผลว่าแม้จะมั่นใจว่าตัดได้หมด แต่มันมีโอกาสที่ตัวมะเร็งจะแพร่กระจายออกไปแล้วโดยที่เราไม่ทราบ อีกทั้งหมอว่าผมเองอายุยังไม่มาก ร่างกายยังแข็งแรง ควรจะรับเคมีบำบัด หมอบอกว่าถ้าทำการรักษาเต็มที่มีโอกาสอยู่ได้ถึงห้าปี ผมใจเสียมาก เต็มที่ก็แค่ห้าปีเองหรือ ตัวผมนั้นไม่เอาเคมีบำบัดแน่นอนเพราะไม่อยากมีชีวิตที่แย่อาเจียนผมร่วง และผมก็เชื่อมั่นในแนวทางธรรมชาติบำบัดมากกว่า เพื่อนบางคนแนะนำว่าสมัยนี้เขามียาทำลายมะเร็งแบบล็อคเป้า (target therapy) จึงอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่า (1) ผมไม่เอาเคมีบำบัดจะเสียหายมากไหม (2) มีการฉีดยาทำลายมะเร็งแบบล็อคเป้าจริงหรือเปล่า มีประโยชน์จริงหรือเปล่า ถ้ามีมันต่างจากการทำเคมีบำบัดอย่างไร อย่างผมจะฉีดยาล็อคเป้านี้ได้ไหม และผมควรจะทำไหม (3) ผมจะอาศัยถั่งเช่า เห็ดหลินจือแดง ขมิ้นชันสกัด กินรักษาควบไปด้วยจะได้ไหม (4) ถ้าผมยอมรับการรักษาแบบล็อคเป้าหรือเคมีบำบัด ผมจะกินมังสะวิรัติได้หรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าคุณหมอ.. จะกดดันให้ผมกินเนื้อนมไข่เยอะๆโดยให้เหตุผลว่าระหว่างให้เคมีบำบัดจะได้ไม่โทรมมาก แต่ใจผมไม่อยากกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวว่าจะไปเลี้ยงมะเร็งให้เติบโตขึ้นมาอีก

Right lower lobe of lung, lobectomy:
-Invasive adenocardinoma, predominantly invasive acinar pattern
-Tumor size 2.5 cm
-No pleural invasion
-Free bronchial resection margin
-Metastasis is in extrapulmonary peribronchial lymph node (3/5)
-Metastasis in right subcarina lymph node 91/5)
-No metastasis in right inferior pulmonary ligament node (0/3)
……
Pathologist Date of Report: ….
………………………………………………………………….

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. ชนิดของเซลมะเร็ง คือมะเร็งปอดนี้เกิดจากเซลได้หลายชนิด แต่เพื่อความง่ายวงการแพทย์ยำรวมกันเหลือสองชนิดเท่านั้น คือชนิดเซลเล็ก (small cell lung cancer – SCLC) กับชนิดเซลไม่เล็ก (non-small cell lung cancer – NSCLC) ของคุณนี้เป็นเซลมะเร็งชนิด adenocarcinoma ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับบุหรี่เท่าไหร่ และเป็นชนิดที่ถูกจัดรวบอยู่ในกลุ่มชนิดเซลไม่เล็ก (NSCLC) ซึ่งมีภาษีดีกว่าชนิดเซลเล็กทั้งในแง่ความง่ายในการรักษาและการมีความรุนแรงของโรคต่ำกว่า มีอัตรารอดชีวิตที่ดีกว่า

     ประเด็นที่ 2 การแบ่งระยะ (staging) มะเร็งปอดแบ่งออกเป็นสี่ระยะ การจะจัดว่าใครอยู่ในระยะไหนนั้นเขาเอาข้อมูลจากสามมุมมองมายำรวมกัน คือขนาดของเนื้องอก (tumor-T) การแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ (node – N) และการแพร่กระจายไปทางกระแสเลือด (metastasis –M) เป็นระบบการแบ่งระยะที่เรียกว่า TNM staging อย่างของคุณนี้ขนาดเนื้องอกไม่เกิน 3 ซม. เรียกว่าเป็น T1 มะเร็งนอกจะไปถึงต่อมน้ำเหลืองในปอด (peribronchial) แล้วยังไปถึงต่อมน้ำเหลืองกลางตัว (subcarina node)ด้วย จึงได้คะแนนเป็น N2 แต่ไม่มีหลักฐานการแพร่กระจายไปที่ไหนไกลๆทางกระแสเลือดจึงเป็น M0 สรุปว่าเป็น T1N2M0 ซึ่งระบบการจัดระยะเขาจัดให้เป็นระยะที่สามหรือ III-A
ประเด็นที่ 3. การพยากรณ์โรค การที่คุณใจเสียเพราะจับคำพูดหมอมาได้ว่าอย่างดีที่สุดคุณจะอยู่ได้ 5 ปีนั้นคุณฟังมาผิดแน่นอน คุณไม่ใช่คนเดียวหรอกที่เข้าใจคำอธิบายหมอผิดแบบนี้ สมัยผมหากินอยู่เมืองนอกคนไข้ของผมเป็นฝรั่งก็เคยเก็ทคำอธิบายของผมผิดแบบนี้เช่นกัน เขาประท้วงผมว่า

“You gave me only 5 years?”

“คุณให้เวลาผมแค่ห้าปีเองหรือ?”

ความเป็นจริงคือหมอเขาพยายามจะอธิบายการพยากรณ์โรค หมายความว่าอธิบายอนาคตของโรคนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยวิธีอ้างอิงสถิติคนไข้โรคเดียวกันระยะเดียวกันที่ป่วยมาแล้วก่อนหน้านี้จำนวนมากว่าพวกเขามีอนาคตอย่างไร วิธีมาตรฐานที่จะบอกอนาคตของโรคมะเร็งที่แพทย์ใช้มีสองแบบ

     แบบที่ 1. บอกเป็นอัตรารอดชีวิตใน 5 ปี (5 years survival rate) แปลว่าคนเป็นมะเร็งแบบนี้ระยะนี้วันนี้ 100 คน ถ้าไปดักดูที่ห้าปีข้างหน้าจะมีชีวิตรอดไปถึงตอนนั้นกี่คน อย่างของคุณนี้เป็นมะเร็งชนิดเซลไม่เล็ก (NSCLC) ระยะที่ 3A อัตรารอดชีวิตในห้าปีคือ 40% หมายความว่าผ่านไปห้าปี คนเป็นโรคนี้ระยะนี้ 100 คน จะเหลืออยู่ 40 คน นี่เป็นสถิติที่ได้มาจากคนร้อยพ่อพันแม่มีปัจจัยต่างๆแตกต่างกัน ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราว่าจะอยู่ไปได้อีกกี่ปี เราอาจจะอยู่ไปได้อีก 20 หรือ 30 ปีก็ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆของตัวเรา แต่ยามที่คนไข้กำลังตกใจเรื่องมะเร็ง ฟังหมอพูดยาวเหยียดจะจำได้ไม่หมด จำได้แต่คำว่า 5 ปี จึงเหมาโหลว่าตัวเองจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด..ด มาก

     แบบที่ 2. บอกเป็นระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย(mean survival time) วิธีนี้หมอไม่ค่อยได้พูดกับคนไข้ เพราะยิ่งพูดคนไข้ยิ่งเข้าใจผิดหนักและยิ่งใจเสีย คืออัตรารอดชีวิตเฉลี่ยนี้บอกเป็นหน่วยเวลา เช่นบอกเป็นเดือน ตัวเลขนี้ได้จากการติดตามดูคนเป็นมะเร็งชนิดนี้ระยะนี้จำนวน 100 คนตามไปจนทุกคนเสียชีวิตหมดเกลี้ยงแล้วเอาเวลาที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมดมารวมกันแล้วหารด้วย 100 ได้ตัวเลขออกมาเป็นระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย อย่างของคุณนี้เป็นมะเร็งเซลไม่เล็กระยะ 3A ระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ยคือ 14 เดือน ผมพูดถึงตรงนี้คุณคงพอเข้าใจแล้วนะว่าทำไมหมอถึงไม่ชอบใช้ตัวเลขนี้พูดกับคนไข้ เพราะพูดไปก็จะสติแตกทันทีว่าฮ้า อยู่ได้แค่ 14 เดือนแค่นั้นเองหรือ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด..ด มาก ทั้งๆที่ความจริงแล้วตัวเลขนี้เป็นสถิติรวมที่ไม่ได้เจาะจงอะไรกับตัวเราเลย แต่ว่าพูดไปแล้วคนไข้จะจำตัวเลข 14 เดือนอยู่ในหัวว่าเป็นวันนัดพบยมพะบาล จะลบอย่างไรก็ไม่ออก ดังนั้นหมอส่วนใหญ่จึงไม่พูดดีกว่า

     จะเห็นว่าการบอกการพยากรณ์โรคนี้พูดอย่างไรก็ฟังดูไม่สร้างสรรค์ทั้งสิ้น ถ้าหมอจะไม่พูดอะไรเสียเลยจะไม่ดีกว่าหรือ ตอบว่าไม่ดีครับ เพราะหมอจำเป็นต้องให้คนไข้เลือกวิธีการรักษา การรักษาแต่ละวิธีมีโทษและประโยชน์ คนไข้ต้องรู้เพื่อเอามาเปรียบเทียบกัน ประโยชน์ของการรักษามะเร็งทางการแพทย์นับกันในรูปของอัตรารอดชีวิตในห้าปีหรือระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ยเท่านั้น ดังนั้นหมอจึงจำเป็นต้องพูดด้วยเหตุฉะนี้

      ประเด็นที่ 4. ความแตกต่างระหว่างยาเคมีบำบัดกับยาทำลายเซลแบบล็อคเป้า ผมอธิบายแยกดังนี้

     ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) คือยาที่กินหรือฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว จะเลือกทำลายเซลที่กำลังแบ่งตัวอยู่ทุกเซล ใครมีการแบ่งตัวกันที่ไหนข้าโซ้ยหมด เซลร่างกายปกติที่เขาต้องแบ่งตัวออกลูกหลานทดแทนตัวเองตามปกติก็ไม่เว้น แต่เซลที่ขยันแบ่งตัวคือเซลมะเร็ง ดังนั้นเซลมะเร็งจะโดนโซ้ยหนักกว่าเซลร่างกายปกติ

     ยาทำลายเซลแบบล็อคเป้า (target therapy) ก่อนจะเข้าใจยาตัวนี้ต้องเข้าใจกลไกการแบ่งตัวของเซลมะเร็งก่อน ว่าส่วนใหญ่เขาแบ่งตัวตามคำสั่งของยีน หมายถึงรหัสพันธูกรรมที่อยู่ตรงแก่นกลางของเซลนั้นๆ รหัสพันธุกรรมนี้ ในการจะสั่งการ (up regulate) หรือจะอยู่เฉยใส่เกียร์ว่าง (down regulate) นี้เขาทำหน้าที่ไปตามสวิสต์ที่อยู่ข้างโมเลกุลของเขา ถ้าสวิสต์นี้เปิด เขาก็จะสั่งการให้เซลมะเร็งแบ่งตัว ถ้าสวิสต์นี้ปิด เขาก็จะใส่เกียร์ว่างไม่สั่งให้เซลมะเร็งแบ่งตัว ยาทำลายเซลแบบล็อคเป้าก็คือสารเคมีที่ไปออกฤทธิปิดสวิสต์ตัวนี้นั่นเอง คือตัวยาไม่ได้ไปทำลายเซลโดยตรง แค่ไปปิดสวิสต์เฉยๆ โดยทั่วไปยาทำลายเซลแบบล็อคเป้าจะมีผลข้างเคียงของยาน้อยกว่ายาเคมีบำบัด

     แต่ว่าไม่ใช่ว่าคนไข้คนไหนอยากใช้ยาทำลายเซลแบบล็อคเป้าก็ใช้ได้เลย การจะใช้ยาจะต้องเอาเนื้องอกที่ตัดออกมาแล้วไปตรวจหาว่าเขามีสวิสต์ชนิดที่ยาทำลายเซลแบบล็อคเป้าจะเข้าไปปิดได้หรือเปล่า ถ้าเขาไม่มีสวิสต์อย่างว่า การใช้ยาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีรูกุญแจอยู่จะเอากุญแจไปปิดอะไรถูกแมะ

     การตรวจหาสวิสต์นี้เรียกว่าการตรวจหาจุดกลายพันธ์ที่ออกคำสั่งได้ (driver mutation) สำหรับมะเร็งปอดที่นิยมตรวจหากันก็มีสองสามตัว เช่น EGFR mutation, ALK traslocation เป็นต้น เอาแต่ชื่อก็พอนะ อย่าให้แปลชื่อเลย เดี๋ยวจะพาคุณงงเข้าป่าเปล่าๆ สวิสต์เหล่านี้มีเทคนิคการตรวจหลายแบบแต่ผมจะไม่พูดถึงในรายละเอียด เทคนิคบางแบบถ้าจำนวนเนื้องอกมีปริมาตรไม่พอก็ตรวจไม่ได้ การตรวจทำได้ในรพ.ขนาดใหญ่ๆ ใช้เวลาตรวจทั้งสิ้นประมาณ 2 สัปดาห์ และแน่นอนว่าต้อง..เสียเงิน

     ประเด็นที่ 5. การรักษามาตรฐาน สำหรับมะเร็งปอดชนิดเซลไม่เล็กระยะ 3A การรักษามาตรฐานมีสามก๊อก คือ

     ก๊อกที่ 1. คือผ่าตัดออก

     ก๊อกที่ 2. ตามด้วยเคมีบำบัด จะใช้ยาเคมีบำบัดมากหรือน้อยตัวก็ตามกำลังที่ผู้ป่วยจะรับได้ (กำลังร่างกายนะ ไม่ใช่กำลังทรัพย์)แต่อย่างน้อยต้องมีพลาตินัม (platinum) เป็นตัวเอ้ การแนะนำให้ทำเคมีบำบัดนี้เป็นมาตรฐานที่แพทย์ต้องแนะนำเพราะมีหลักฐานจากการวิจัยเปรียบเทียบว่าจะทำให้อัตรารอดชีวิตในห้าปีเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 44.7% หรืออัตรารอดชีวิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปอีกราว 17% คือจาก 14 เดือนเป็นประมาณ 16.4 เดือน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ทางการแพทย์ถือว่ามีนัยสำคัญ

     ก๊อกที่ 3. ส่งเนื้องอกไปตรวจยีนหาสวิสต์ (driver mutation) ถ้าพบว่ามี ก็ให้ยาทำลายเซลแบบล็อกเป้าที่เจาะจงกับเป้าหรือสวิสต์ที่ตรวจพบนั้น ผลของการใช้ยาล็อคเป้าต่ออัตราการรอดชีวิตยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ยังสรุปเป็นตัวเลขจะจะที่ตกลงกันทุกฝ่ายไม่ได้ แต่มาตรฐานการรักษาก็แนะนำให้ใช้ถ้าตรวจพบเป้า

     ในชีวิตจริงก๊อกที่ 1 ไม่มีปัญหา ทั้งคนไข้ทั้งหมอมักตกลงกันได้เป็นเอกฉันท์ แต่ก๊อกสองมีปัญหา เพราะคนไข้สมัยนี้ไม่เอาคีโมแต่หมอจะให้ บางทีก็มักมาประนีประนอมตกลงกันได้ตรงก๊อกที่ 3 หมายความว่าโอเค…โอเค. ไม่เอาคีโมก็ได้ แต่ให้ยาล็อคเป้าก็แล้วกัน

     ถามหมอสันต์ว่าควรรับเคมีบำบัดไหม ตอบว่าคุณประโยชน์ของยาเคมีบำบัดที่ว่ายืดเวลามีชีวิตอยู่ไปได้อีกราวสิบเปอร์เซ็นต์นั้น ผมเองมองว่าชั่งน้ำหนักกับการที่ต้องจับไข้หัวโกร๋นเข้าๆออกๆโรงพยาบาลนั้น โหลงโจ้งแล้วมันได้อย่างเสียอย่างพอๆกัน จะตัดสินใจเลือกทางไหนก็ได้ครับสุด แล้วแต่คุณ

     แต่ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเคมีบำบัดที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือเคมีบำบัดเป็นเครื่องมือหลอมรวมพลังใจของหมอ ญาติ และคนไข้ ให้มาอยู่ในแนวเดียวกัน พูดง่ายๆว่าเคมีบำบัดเป็นยารักษาโรคประสาทให้ทุกฝ่าย คือผมเห็นคนไข้ที่ปฏิเสธเคมีบำบัดมักต้องรบกับทั้งหมอและทั้งญาติผู้หวังดีประสงค์ดีทั้งหลายด้วยจนตัวเองหมดพลัง แทนที่จะได้พลังจากผู้หวังดีเหล่านั้นมาเสริมพลังตัวเอง ถ้าคุณเหนื่อยกับการแข็งขืนแบบนั้นทำไมไม่ลองคุยกับหมอเรื่องการให้เคมีบำบัดด้วยยาตัวเดียว (single drug therapy) ดูละครับ เพราะผลวิจัยเคมีบำบัดแบบใช้พลาตินัมตัวเดียวในผู้ป่วยมะเร็งปอดก็ให้ผลดีใกล้เคียงการให้ยาควบหลายตัวโดยที่ผลข้างเคียงน้อยกว่ากันมาก เผื่อจะเป็นช่องทางให้เกิดความลงตัวได้

     ประเด็นที่ 6. โภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ตรงนี้ก็เป็นอีกสนามหนึ่งที่คนไข้จะต้องเหนื่อยทะเลาะกับหมอและญาติผู้หวังดี หมอนั้นแน่นอนว่าจะกดดันให้คนไข้กินอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากๆเพราะโดยธรรมชาติขณะหมอรักษาคนไข้ก็จะรักษาใจตัวเองไปด้วย ดัชนีหนึ่งที่หมอใช้ตามดูผลการรักษาก็คือน้ำหนักตัวของคนไข้ ถ้าคนไข้น้ำหนักลด หมอก็ใจหาย

     ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นตรงที่ด้านหนึ่งหมอจะให้กินโปรตีนเยอะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ แต่คนไข้เชื่อว่าเนื้อสัตว์จะไปเป็นอาหารแก่เซลมะเร็งทำให้ตัวเองยิ่งแย่ อีกด้านหนึ่งหมอไม่อยากให้คนไข้ซี้ซั้วกินวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร เพราะกลัวจะไปตีกับยาเคมีบำบัด เพราะหมอเองก็ไม่รู้ว่าอาหารเสริมสมุนไพรเหล่านั้นจริงๆแล้วมันออกฤทธิ์กันอย่างไรบ้าง จึงอยากจะให้คนไข้อยู่ห่างๆไว้ก่อน แต่สำหรับคนไข้ พืชผักสมุนไพรอาหารเสริมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นคือความหวังที่แท้จริงของเขา ไม่ใช่ยาเคมีบำบัด การทะเลาะกันจึงมักจบลงด้วยการหมอขึ้นเสียง คนไข้เงียบ แต่ก็แอบกินอะไรที่ตัวเองเชื่อต่อไป ส่วนหมอก็ดีใจว่าคนไข้ยอมแพ้และเลิกกินวิตามินสมุนไพรอาหารเสริมไปแล้ว

น่าเสียดายที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบจนสรุปได้ว่าระหว่างหมอกับคนไข้ใครผิดใครถูก อาหารที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งควรจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนอกเหนือไปจากอาหารที่ดีสำหรับคนทั่วไปเราก็ยังไม่รู้ ผมจึงไม่มีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ นอกจากประเด็นในทางปฏิบัติบางประเด็นเช่น

     1. จะกินอะไรบ้างนั้นผมแนะนำให้ยึดหลักอาหารที่ดีสำหรับคนทั่วไปนั่นแหละว่าเป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็งด้วย ประเด็นคือขอให้มันอร่อยๆพอกินได้หรือพอกินลงไว้ก่อน เพราะเคมีบำบัดทำให้อาหารขมไปหมด เนื้อก็ขม น้ำก็ขม จนบางครั้งต้องบีบมะนาวใส่น้ำนิดหน่อยจึงจะพอดื่มได้ ดังนั้นผมแนะนำว่าอย่าไปหันหลังให้กับสิ่งปรุงรสถ้ามันจะช่วยให้ทานสิ่งที่มีประโยชน์ได้ อย่างเช่นน้ำพริกทำให้ทานผักได้ ก็ควรใช้น้ำพริกช่วย ถ้าเนื้อมันขมก็ต้องไปลองไข่ หรือหรือปลา หรือถั่วต่างๆ ไปตามเรื่อง หัดปรุงรสด้วยเทคนิคการทำอาหาร เช่น ใช้โยเกิร์ตเป็นตัวให้รสเพื่อให้ทานถั่วและนัทต่างๆได้ ใช้คาร์โบไฮเดรตแบบไม่ขัดสีเช่นข้าวต้มธัญพืชร้อนๆส่งกลิ่นกรุ่นๆเป็นตัวเสริมรสเป็นต้น

     2. อย่ายอมท้องผูก ดื่มน้ำเยอะๆ ทานกากเยอะๆ ถ้าไม่เคยทานกากก็ต้องค่อยๆเพิ่มวันละนิด ไม่ใช่เพิ่มกากในอาหารแบบพรวดพราดจะแน่นท้องเกินไป ออกกำลังกายทุกวันจะทำให้ท้องไม่ผูกมาก

     3. อย่าไปพยายามอ้วนเพื่อเอาใจคนอื่น เพราะคนพอรู้ว่าเราเป็นมะเร็งก็จะทักว่าผอมไปนะ ต้องนั่นต้องนี้ ให้คุณไขหูเสีย แต่มุ่งมั่นไปสู่น้ำหนักที่พอดีสำหรับตัวเอง นั่นก็คือน้ำหนักที่ทำให้ดัชนีมวลกายอยู่ประมาณ 20-22  ถ้ารีดน้ำหนักลงไม่ไหวก็จะใช้สูตรที่สบายกว่านั้นก็ได้คือให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 25 นั่นหมายความว่าสำหรับคนที่อ้วนอยู่ก่อน ช่วงเป็นมะเร็งก็ต้องใช้หลักผอมดีกว่าอ้วน ทานผักแยะๆ ไขมันน้อยๆ

     วันที่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบนี้เป็นวัน Christmas Eve พอดี สปิริตคริสมาสเนี่ย ใช้รักษามะเร็งได้นะครับ สปิริตคริสต์มาสคือ ความรัก ความหวัง และความร่าเริงบันเทิงใจ ทั้งสามอย่างนี้จะทำให้จิตใจของคุณดี ซึ่งจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณดี แล้วสำหรับมะเร็งทุกชนิด ไม่มีปราการไหนจะแข็งแร็งหรือมีประสิทธิผลมากไปกว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราหรอกครับ..so,

..Merry Christmas นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Lindeman NI, Cagle PT, Beasley MB, et al. Molecular testing guideline for selection of lung cancer patients for EGFR and ALK tyrosine kinase inhibitors: guideline from the College of American Pathologists, International Association for the Study of Lung Cancer, and Association for Molecular Pathology. J Thorac Oncol 2013; 8:823.
2. Shi Y, Au JS, Thongprasert S, et al. A prospective, molecular epidemiology study of EGFR mutations in Asian patients with advanced non-small-cell lung cancer of adenocarcinoma histology (PIONEER). J Thorac Oncol 2014; 9:154.
3. Silvestri GA, Tanoue LT, Margolis ML, et al. The noninvasive staging of non-small cell lung cancer: the guidelines. Chest 2003; 123:147S.