Latest

คนที่เป็นแม่แบบ (role model) ในการปรับอาหารลดไขมัน กับโพลิปในถุงน้ำดี

สวัสดีครับ หมอสันต์
หลังจากเข้าอมรมกับคุณหมอ ผมได้ปฏิบัติเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย (ว่ายน้ำ)จน ldl ลงมาที่100 จาก 180 ความดันดีขึ้นจนลดยาได้ครึ่งหนึ่ง เรียกว่าสูตรหมอสันต์ช่วยผมได้จริงเรื่องคลอเรสเตอรอลและความดัน
แต่ผลการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องอาทิตย์ก่อนเจอ multiple polyps (0.2-0.8)cm หมอนัดหกเดือนตรวจอีกครั้ง ถ้าใหญ่ขึ้นให้ตัดถุงน้ำดีออก อยากถามหมอสันต์ว่ามันจำเป็นต้องตัดออกจริงหรือครับและจะมีผลกระทบกับชีวิตประจำวันอย่างไร
ด้วยความเคารพ
…………………………………………….

ตอบครับ

     ผมลงจดหมายของคุณ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ท่านผู้อ่านท่านอื่น ว่านี่ไงคนที่แก้ปัญหาไขมันในเลือดสูงได้สำเร็จด้วยการเลิกยาแล้วมาปรับเปลี่ยนอาหารที่ลดแคลอรี่และออกกำลังกาย  อย่างคุณนี้ระดับไขมันเลว (LDL) เดิม 180 มก.ดล.ก็ถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก สามารถเอาลงมาต่ำกว่า 100 มก/ดล. ซึ่งเป็นระดับทำให้โรคถอยกลับได้นี้ เรียกว่า..ฝีมือ คนอย่างคุณนี้เป็นแม่แบบ (role model) ให้คนที่ไขมันในเลือดสูงคนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ว่าการปรับอาหารและออกกำลังกายสามารถลดไขมันในเลือดสูงได้จริงโดยไม่ต้องใช้ยาเลย ขอให้ลงมือเหอะ เป็นได้เห็นผลแน่

     ที่นี้มาตอบคำถามของคุณ ถามว่าอยู่เฉยๆก็สุขสบายดี แต่ไปตรวจสุขภาพประจำปีโดยตรวจอุลตร้าซาวด์ช่องท้องเจอโพลิปที่ถุงน้ำดี (gall bladder polyp) หมอบอกว่าต้องขยันมาให้ตรวจบ่อยๆนะ ไม่งั้นมันจะเป็นมะเร็ง ผิดท่านักก็ผ่าตัดถุงน้ำดีออกทิ้งไปเสียเลย มันจำเป็นที่จะต้องทำกันถึงขนาดนั้นจริงไหม ตอบว่าไม่จำเป็นดอกครับ เพื่อให้เข้าใจคำตอบของผม ผมขออธิบายเพิ่มเติมบางประเด็นดังนี้

     ประเด็นที่ 1. มะเร็งถุงน้ำดีเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์เกิดต่ำมาก ต่ำระดับ 4 คนใน 100,000 คน ยิ่งผู้ชายยิ่งต่ำหนัก ระดับ 1 คน ใน 100,000 คนโน่นเชียว การจะไปจดจ่อเฝ้าระวังคัดกรองมะเร็งที่มีอุบัติการณ์เกิดต่ำขนาดนั้นมันๆไม่เวอร์คดอกครับ เสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ และมาตรฐานของวิชาแพทย์ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งถุงน้ำดีในการตรวจสุขภาพประจำปี นี่พูดถึงแพทย์แผนปัจจุบันนะ แผนอนาคต หรือแผนอดีต ไม่เกี่ยว หิ หิ

     ประเด็นที่ 2. การตัดถุงน้ำดีออกเพื่อป้องกันมะเร็งถุงน้ำดีกรณีที่ตรวจพบโพลิปโดยบังเอิญนั้นไม่ควรทำ เพราะด้านหนึ่งอุบัติการณ์รวมของมะเร็งถุงน้ำดีก็ต่ำอยู่แล้ว อีกด้านหนึ่งเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งในถุงน้ำดีพบว่ากว่า 75% มะเร็งเกิดตามหลักการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ที่เหลืออีก 25% จึงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆสารพัดรวมทั้งโพลิปด้วย ขนาดคนเป็นนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของมะเร็งถุงน้ำดีแท้ๆ หลักวิชาแพทย์ยังถือว่าการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพื่อป้องกันมะเร็งยังได้ประโยชน์ไม่คุ้มกับความเสี่ยงของการผ่าตัดเลย ไม่ถือเป็นข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัด จึงไม่ต้องไปพูดถึงการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพราะโพลิปซึ่งประโยชน์ที่ได้จะจิ๊บจ๊อยกว่ากันมาก

     ประเด็นที่ 3. ที่คุณหมอเขาชวนให้มาตรวจซ้ำในอีก 6 เดือนเพื่อดูว่ามันโตหรือไม่นั้น ผมว่าเนื่องจากตอนนี้คุณรู้เสียแล้วว่ามีโพลิปขนาด 0.8 ซม.อยู่ในถุงน้ำดี ความไม่สบายใจได้เกิดขึ้นแล้ว การไปตรวจติดตามดูสักครั้งเพื่อรักษาโรคประสาทก็ไม่เสียหลาย เพราะหลักการของการตรวจติดตามก้อนใดๆในร่างกายกรณีสงสัยว่าเป็นมะเร็งมีอยู่ว่า ก้อนใดๆก็ตาม หากมันเพิ่มขนาดได้ถึงหนึ่งเท่าตัวภายในเวลาที่นับกันเป็นเดือน (tumor doubling time) ย้ำ..ในเวลาที่นับกันเป็นเดือนนะ ไม่ใช่นับกันเป็นปี เรียกว่ามันเพิ่มขนาดเร็ว น่าสงสัยว่ามันจะเป็นมะเร็ง ควรผ่าตัดเอาออกเสีย ดังนั้นถ้าคุณไปตรวจอีกครั้งถ้าโพลิปมันไม่โตพรวดไปอีกเท่าตัว คุณก็จะได้หายจากประสาทกิน (โตเล็กน้อยไม่นับ เพราะตาหมอคนเดียวกัน อ่านก้อนเดิมสองครั้งก็อ่านได้ขนาดไม่เท่ากัน)

     ประเด็นที่ 4. สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่เคยไปตรวจอุลตร้าซาวด์ช่องท้องเลยในชีวิต ถามว่าจะต้องไปตรวจบ้างไหมเผื่อจะได้เป็นโรคประสาท..เอ๊ย ไม่ใช่ เผื่อจะได้คัดกรองป้องกันโรคมะเร็งกับเขาบ้าง ตอบว่า การตรวจอุลตร้าซาวด์ช่องท้องประจำปี ในแง่หลักฐานวิทยาศาสตร์แล้วไม่มีประโยชน์เพราะไม่สามารถลดอัตราตายของมะเร็งช่องท้องรวมทั้งมะเร็งตับลงได้ แต่ในแง่ชีวิตจริง แทบทุกคนที่มีเงินจ่ายต่างก็นิยมไปตรวจอุลตร้าซาวด์ประจำปีกันทั้งนั้น ซึ่งก็ไม่มีใครเขาว่าอะไรกัน เพราะมนุษย์เรานี้ชอบตรวจดูดวงชะตาราศรีว่าตัวเองจะเจอโน่นเจอนี่หรือยัง แต่จะหาคนเจ๋งๆอย่างคุณนี้ที่สนใจลงมือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตการกินการอยู่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอย่างจริงจังด้วยนั้น หายากส์..ส์

     ประเด็นที่ 5. ถ้าไปผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกแล้วมีจะมีผลเสียอะไรไหม ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว คุณหาอ่านได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2011/11/post-cholecystectomy-syndrome.html

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์