Latest

Work Life Balance สุข..โดยไม่ถูกเจ้านายไล่ออก

(บรรยายในการประชุม…)

     สวัสดีครับ ผม สันต์ ใจยอดศิลป์ครับ ดีใจที่ได้มาพบกับพวกวิชาชีพกันเองอีกครั้งที่สุราษฎร์ธานีนี่ ในวันนี้

     หัวเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้คือ “Work Life Balance ในงานแพทย์และสาธารณสุข” คำว่าเวอร์คไลฟ์บาล้านซ์นี้มีคำแปลกันหลายเวอร์ชั่นนะครับ แต่ผมจะขอแปลว่า

“คือการทำงานได้อย่างมีความสุข โดยไม่ถูกเจ้านายไล่ออก”

หมายความว่าบางคนก็มีความสุขเหลือเกิน คือสุขแบบไม่ทำงานเลย อย่างนั้นไม่ใช่เวร์คไลฟ์บาล้านซ์ จะเห็นว่าคำนี้จริงๆแล้วก็เป็นคำเดียวกับความสุขหรือ Happiness ของคนที่ยังทำงานอยู่นั่นเอง

ก่อนที่เราจะไปคุยกันถึงงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขซึ่งมีเยอะมากนั้น มาคุยกันถึงประสบการณ์ในอดีตของเรากันเองก่อนนะ ผมเองก็มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข ณ ขณะนั้น ผมได้นึกย้อนไปดูถึงอดีตอันไกลโพ้นตั้งแต่จำความได้เป็นต้นมา ว่ามีช่วงไหนในชีวิตนะที่ผมมีความสุขจริงจังจนตราตรึงในความทรงจำบ้าง พยายามไล่ดูตอนที่เป็นเหตุการณ์สำคัญหรือการบรรลุเป้าหมายสำคัญของชีวิต นับตั้งแต่ได้เป็นนักเรียนทุนเด็กฉลาดในวัยเด็ก เรื่อยมาจนไปทำงานกับฝรั่งเมืองนอกได้รับรางวัลที่ปกติจะกันไว้ให้คนผิวขาวเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการยอมรับที่หนักแน่นมาก แต่โอกาสเหล่านั้นผมไม่พบว่าผมมีความสุขอะไรมากมายเลย ไม่ต้องไปพูดถึงเมื่อแก่ตัวแล้วได้นั่งตำแหน่งโน่นนี่นั่น ได้เหรียญตราสายสะพาย มันไม่ได้เหลือความสุขใดๆไว้ในความทรงจำเลย การได้เงินนั้นเล่า จะทำให้ผมมีความสุขบ้างไหม ยอมรับว่ามีบ้างในช่วงที่ผมยังไม่มีเงิน แต่ยิ่งมีเงินมากขึ้น ความสุขจากการได้เงินหรือได้ทรัพย์ก็แทบจะไม่เหลือเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หุ้นบูม ผมก็เล่นหุ้นกับเขาเหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมขายหุ้นได้กำไรแยะพอดู แต่ผมไม่เห็นว่าผมจะมีความสุขเลย ไม่เหลือความรู้สึกดีๆอะไรให้ย้อนคิดถึงได้แม้เพียงสักนิดเดียว

แต่พอไล่ลงไปหาเหตุการณ์ย่อยๆในขั้นละเอียด ก็พบว่ามีอยู่บ้างที่เป็นเหตุการณ์ที่ผมจำได้ว่าทำให้ผมมีความสุข ซึ่งหมายความว่ามีทั้งความรู้สึกดีและมีความรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังสักสองสามเหตุการณ์

เหตุการณ์ที่ 1. ราวปีพ.ศ. 2512 ผมเป็นนักเรียนอาชีวะเกษตรอยู่ที่แม่โจ้ ที่นั่นนักเรียกส่วนหนึ่งจะไปปลูกกระต๊อบปลูกผักเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน ช่วงหนึ่งผมไปนอนกระต๊อบกับเพื่อน ตกกลางคืนพระจันทร์สว่างๆเราถอดเสื้อขุดดินปลูกผักกันเหงื่อไหลไคลย้อย เหนื่อยได้ที่แล้วเราก็มานั่งยองๆที่สะพานไม้ข้ามคลองริมทุ่ง ทุ่งแห่งนั้นชื่อทุ่งบางเขน แต่ว่ามันอยู่ที่แม่โจ้นะ คุยกันไป ทำภารกิจไป แบบว่า..ดาวน์โหลดของเสียลงน้ำ ป๋อม…ป๋อม..ม หิ หิ ไม่ถูกสุขลักษณะหรอกครับ แต่ว่านั่นมันพ.ศ. 2512 ที่ชายทุ่งอันมืดมิดไร้ผู้คนนะ เป็นโมเมนต์ที่ผมจำได้ว่ามีความสุขจัง ถ้าจะมีเหตุแอนตี้ความสุขอยู่บ้างก็ตรงที่เวลายุงกัดตรงจุดยุทธศาสตร์ขณะดาวน์โหลดของเสียเราตบยุงไม่ได้นี่แหละ (ขอโทษ..พูดจาเลอะเทอะ)

เหตุการณ์ที่ 2. ราวปีพ.ศ. 2514 ผมกับเพื่อนรวมสี่คนไปเดินป่ากันที่ดอยปุย กะจะเดินไปทางแม่แจ่ม แต่พอไปค้างคืนที่หมู่บ้านแม้วดอยปุยเราเห็นบ้านของหญิงแม้วชราที่อยู่คนเดียว บ้านของเธอซึ่งมีขนาดประมาณห้องส้วมมันผุพังสัปปะรังเคเต็มที พวกเราจึงตัดสินใจหยุดเดินป่าหนึ่งวันเพื่อซ่อมบ้านให้หญิงแม้วคนนั้น เราตัดไม้ในป่า แบกมาเสริมเสาเสียใหม่ ไปเอาใบตองตึงในป่ามาไพซ่อมหลังคา ทำหน้าต่างแบบเปิดปิดด้วยเถาวัลย์แถมให้ด้วย ใช้เวลาก่อสร้างเช้าจรดเย็นก็เสร็จส่งมอบให้คุณยายแม้วได้ พวกเราเหนื่อยเหงื่อโทรมกาย ยืนดูคุณยายแม้วโกงโก๊ะโกงโก้ขึ้นไปอยู่บ้านหลังใหม่ของเธอ โมเมนต์นั้นผมจำได้ว่าผมมีความสุข

เหตุการณ์ที่ 3. ประมาณปีพ.ศ. 2520 ผมเรียนแพทย์ชั้นคลินิกอยู่ที่หาดใหญ่ พอเสร็จจากเรียนผมกับเพื่อนไปตีเทนนิสกันที่สนามกีฬาเทศบาล สมัยนั้นไม่มีใครไปใช้สนาม สนามฟุตบอลเป็นที่เลี้ยววัว ตีเทนนิสเสร็จเหนื่อยได้ที่แล้วเรามานั่งพักที่ขอบสนามฟุตบอลดูวัวกินหญ้า ผมจำได้ว่าโมเมนต์นั้นผมมีความสุข

จะเห็นว่าทั้งสามเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์เล็กๆซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องใหญ่ๆอย่างเป้าหมายชีวิต การทำอะไรสำเร็จ ได้เงิน หรือได้รางวัลเลย ผมมองหาปัจจัยร่วมในเหตุการณ์เล็กๆเหล่านั้นก็พบว่าทุกครั้งมันเกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้ออกกำลังกายแล้วร่างกายได้พัก ได้ผ่อนคลาย และใจผมไม่ได้คิดถึงอะไรไม่ว่าจะในอดีตหรืออนาคต คือสบายกาย สบายใจ แค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว เรียกว่าความสุขนี้จริงๆเราเรียกมันมาหาก็ยังได้ ก็แค่หายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก บอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย ใจอยู่กับลมหายใจไม่คิดอะไร สบายกาย สบายใจ แต่นี้ก็สุขแล้ว

คราวนี้เรามามองดูงานวิจัยที่เกี่ยวกับความสุขบ้าง

     คำถามที่ 1. จริงหรือเปล่าที่บ้างบอกว่าความสุขเกิดจากการได้จินตนาการ ยิ่งจินตนาการออกไปได้ไกลจนพ้นขอบเขตกฎเกณฑ์ข้อจำกัดทั้งหลายยิ่งเป็นสุข งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อจะตอบคำถามนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำโดยนักเรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด ทำได้ดีมาก คือพวกเขาทำแอ๊พไอโฟนขึ้นมา เป็นแอ๊พบันทึกความทุกข์ความสุขส่วนตัว แจกไปให้คนหมื่นกว่าคน สุขก็บันทึก ทุกข์ก็บันทึก มีการบันทึกเหตุการณ์ลงแอ๊พนี้มากกว่า 650,000 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยความสุขชนิดติดตามกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า (cohort) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำกันมา ผลที่ได้เป็นอย่างในสไลด์นี้นะครับ ปรากฏว่าพวกที่กร๊าฟเตี้ยนี้เป็นพวกที่บันทึกคะแนนความสุขขณะได้ปล่อยใจให้ล่องลอยจินตนาการคิดโน่นคิดนี้ มีคะแนนความสุขต่ำกว่าพวกที่บันทึกขณะกำลังจดจ่ออยู่กับอะไรที่อยู่ตรงหน้าแบบไม่มีความคิดอะไรแทรก คือสรุปว่าความสุขเกิดขณะใจไม่ลอย ความแตกต่างนี้เป็นจริงแม้ว่าเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นเหตุการณ์แย่ๆอย่างรถติดเป็นต้น คนที่จดจ่ออยู่กับที่นั่นเดี๋ยวนั้นก็ยังมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่ปล่อยใจให้ล่องล่อยพ้นรถติดไปไหนต่อไหน

     ส่วนสไลด์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับสุขหรือไม่สุขหรอก แต่เอามาให้ดูว่าในงานวิจัยเดียวกันนี้เขากลั่นออกมาให้ดูว่าคนเรานี้ชอบใจลอยตอนไหนกันบ้าง ความจริงเขามีบันทึกไว้ถึงสามสิบกว่ากิจกรรมแต่ผมตัดเอามาบางกิจกรรม คือคิดใจลอยขณะอาบน้ำแปรงฟัน 65% ใจลอยขณะทำงาน 50%  ใจขณะออกกำลังกาย 40% ใจลอยขณะมีเซ็กซ์ 10%

คำถามที่ 2. จริงหรือเปล่าที่ว่าถ้าเรามีอำนาจที่จะเลือกโน่นนี่นั่นได้ เราก็จะมีความสุข ถ้าเราถูกจับให้อยู่กับอะไรที่เรามีไม่มีทางเลือกอย่างอื่น เราจะไม่มีความสุข งานวิจัยนี้ทำเพื่อตอบคำถามนี้ ทำที่ฮาร์วาร์ดเหมือนกัน เขาเอาคนมาลงทะเบียนเรียนถ่ายรูปล้างรูปขาวดำ ให้ใช้อุปกรณ์น้ำยาและห้องล้างห้องอัดของมหาลัยฟรี เรียนกันอยู่หกเดือน ให้กล้องถ่ายรูปตะลอนไปเที่ยวถ่ายรูปที่ตัวเองชื่นชอบ แล้วให้เลือกรูปเด่นของตัวเองมาอัดเป็นภาพขนาดใหญ่ 80 ซม.คนละ 12 ภาพ แล้วให้เลือกภาพที่เด่นที่สุดไว้เป็นสมบัติของตัวเอง 1 ภาพ อีก 11 ภาพที่เหลือตกเป็นของมหาลัย ถึงจุดนี้ก็จะให้นักศึกษาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งครูบอกว่าภาพที่เลือกแล้วถือว่าเลือกเลย เปลี่ยนไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งครูบอกว่าภาพที่เลือกแล้วมีเวลา 4 วันที่ยังเปลี่ยนใจคือเปลี่ยนเอาภาพอื่นแทนได้ แล้วก็วัดคะแนนความสุขและความพอใจภาพของตัวเองของทั้งสองกลุ่ม

     กร๊าฟสีเขียวนี่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจเปลี่ยนภาพได้ กร๊าฟสีเหลืองคือกลุ่มที่ไม่มีอำนาจเปลี่ยนภาพ จะเห็นว่าทันทีที่ทราบว่ามีอำนาจจะเปลี่ยนภาพเมื่อไหร่ก็ได้ ความสุขและความพอใจของกลุ่มที่มีอำนาจก็ลดต่ำกว่าของกลุ่มที่ถูกมัดมือชกให้อยู่กับสมบัติเก่าทันที ยิ่งใกล้ครบกำหนดเปลี่ยนภาพคือสี่วัน ความพอใจในภาพของตัวเองยิ่งลดลง ขณะที่กลุ่มสีเหลืองที่ไม่มีสิทธิเปลี่ยนภาพ ความพอใจในภาพของตัวเองยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แม้จะเลยกำหนดเปลี่ยนภาพไปแล้ว หมายความว่าบางคนก็เอาภาพเก่ามาเปลี่ยนเอาภาพใหม่ไป ความสุขความพอใจในภาพของกลุ่มได้สิทธิ์เปลี่ยนก็ยังน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สิทธิเปลี่ยนภาพอยู่นั่นเอง หลักฐานวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าความเชื่อที่ว่าการมีอำนาจเลือกได้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง

ในบรรดางานวิจัยตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้าหรือ cohort study ที่มีทำกันไว้ในเรื่องความสุขนั้น งานวิจัยที่ถือกันว่าดีที่สุดคืองานวิจัยขนนาดใหญ่ของฮาร์วาร์ดชิ้นนี้ ทำกันอยู่นาน 75 ปี ตอนนี้ก็ยังกำลังทำอยู่ ใช้นักวิจัยสามชั่วอายุคนแล้ว  ตามดูคน 724 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนหนุ่มยากจนในสลัมบอสตัน ตามดูตั้งแต่อายุสิบเก้าจนเดี๋ยวนี้อายุเก้าสิบกว่า เหลืออยู่ 63 คน บ้างก็มีชีวิตจากสูงไปต่ำ บ้างก็จากต่ำไปสูง หนึ่งในจำนวนนี้เติบโตขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ นักวิจัยประเมินทุกคนทุกปีว่าแต่ละคนใครมีความสุขแค่ไหน อะไรเป็นเหตุให้สุขหรือให้ทุกข์ ผลสรุปตลอดที่ผ่านมา 75 ปีนั้นให้ผลที่น่าประหลาดใจมาก คือสรุปผลได้ว่ามีอยู่ปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นเหตุของความสุข คือ..ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง หมายความว่าแต่งงานก็ไม่ทะเลาะกับเมีย มีลูกก็ไม่ทะเลาะกับลูก ทำงานก็ไม่ทะเลาะกับนาย การมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนรอบข้างเป็นปัจจัยที่อยู่ยั้งยืนยงที่สุดในการกำหนดว่าจะสุขหรือทุกข์ ส่วนปัจจัยอื่นแม้กระทั่งสุขภาพ การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายๆอย่างโรคมะเร็งโรคหัวใจก็ไม่มีอำนาจอิทธิพลที่จะลดทอนความสุขลงได้แต่อย่างใด ขอให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดเสียอย่างก็เป็นสุขแล้ว

ลองหันมาดูงานวิจัยแบบตัดขวางหรือ cross section บ้าง อันนี้เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทำกับคนสามหมื่นกว่าคน สรุปว่าปัจจัยที่กำหนดการมีความสุขของสามหมื่นกว่าคนนี้มีสี่อย่างคือ
(1) การมีสุขภาพดี
(2) การได้ง่วนทำอะไร เขาทราบจากการโทรศัพท์ไปถามว่าตอนนี้มีความสุขสะเกลเท่าไหร่ และตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็เอามาเรียงดูคะแนน พบว่าขณะกำลังง่วนทำอะไรอยู่ จะมีความสุขมากกว่าขณะอยู่เฉยๆหรือพักผ่อนเช่นดูโทรทัศน์
(3) การมีเพื่อน
(4) ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อทางศาสนาของตน

     อันนี้เป็นอีกงานวิจัยหนึ่งของสมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) ที่จ้างบริษัทแกลลอพมาวิจัยความสุขของแพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม เพราะแพทย์อเมริกันเป็นกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีความสุขในชีวิตน้อย มีความพึงพอใจในงานอาชีพต่ำ ชนิดที่จำนวนคนไม่มีความสุขมีมากถึง 40% เลยทีเดียว ผลวิจัยของบริษัทแกลลอพพบว่าปัจจัยที่ทำให้แพทย์อเมริกันมีความสุขมีเจ็ดอย่าง คือ

1. มีสุขภาพดี
2. ออกกำลังกายเฉลี่ย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป
3. เชื่อในศาสนาและทำงานจิตอาสา
4. มีเงิน
5. ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยวันละ 1-2 ดริ๊งค์
6. แต่งงานแล้วและยังแต่งงานอยู่
7. ไม่สูบบุหรี่

     ในแง่ของความสุขในการทำงานของคนอาชีพทางการแพทย์ ทีมีวิจัยไว้มากที่สุดคือของแพทย์ประจำบ้านอเมริกัน มีทำวิจัยไว้มากกว่า 199 รายการ เพราะในบรรดาแพทย์ด้วยกัน แพทย์ประจำบ้านจัดว่าเป็นกลุ่มคนที่อกไหม้ไส้ขมกับการทำงานมากที่สุด ในบรรดางานวิจัยเหล่านั้น หลายงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาบางอย่างให้ผลดีกว่าไม่แก้ ตัวอย่างของการแก้ปัญหาให้แพทย์ประจำบ้านที่งานวิจัยพบว่าได้ผลก็เช่น

1. การจัดที่ปรึกษาไว้ให้
2. การปรับลดการทำงานลง ให้ได้พักบ้าง
3. การสลับงาน เช่นให้ไปทำวิจัย ให้ไปช่วยสอน
4. การมีระบบพี่สอนน้อง หรือMentorship programs
5. การสอนวุฒิภาพหรือ EQ ให้แพทย์ประจำบ้าน
6. การจัดทีมลาดตระเวนสอบถามสาระทุกข์สุกดิย เรียกว่า Wellness Teams
7. การสอนการบริหารเวลา
8. การฝึกให้ใช้เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือ Relaxation response
9. การฝึกสติลดความเครียด หรือ MBSR

     งานวิจัยที่ผมเห็นว่าได้ผลชัดเจนโดดเด่นเพราะเป็นการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบด้วย คือการฝึกสติลดความเครียดแบบ MBSR ให้กับแพทย์ประจำบ้าน คำว่า MBSR นี้ย่อมาจาก mindfulness based stress reduction ซึ่งเป็นอะไรที่พวกเราเอาไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะการฝึกสติ รากของมันไปจากพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรัดเอาผลวิจัยสำคัญๆเท่าที่ตีพิมพ์มาแล้วมาสรุปให้ท่านฟังในเวลาอันสั้น ตัวผมเองหากจะสรุปสิ่งที่ผมทำเพื่อแก้ปัญหาการไม่มีความสุขของตัวเองในหลายปีที่ผ่านมาก็อาจจะสรุปได้ว่าผมทำสี่อย่างเท่านั้น คือ

(1) รักษาสุขภาพร่างกาย

(2) ฝึกจิต

(3) เปลี่ยนงานที่ไม่ชอบ มาทำงานที่ชอบ

(4) ทำงานอดิเรก เท่าที่พอจะมีเวลาทำ

      ข้อหนึ่งสองสามผมได้เดินหน้าทำไปบ้างพอควรแล้ว ข้อที่สี่กำลังพยายามอยู่ คือเมื่อเวลาในชีวิตมีจำกัดก็จำเป็นต้องจำกัดงานอดิเรกลงให้เหลือเท่าที่เวลามี เรื่องที่เคยชื่นชอบตั้งใจว่าจะเก็บเอาไว้ทำตอนเกษียณแต่ถึงเวลาจริงๆก็ต้องจำใจตัดทิ้งไปเสียมาก เพื่อนบางคนไม่เข้าใจก็ค่อนขอดว่าผมเป็นอะไรนะชวนไปกินเลี้ยงรุ่นก็ไม่ไป ชวนไปเที่ยวไหนไกลๆก็ไม่ไป ที่ว่าไกลนี่ก็คือไกลถึงขั้วโลกใต้ โถ ขนาดของง่ายๆบางอย่าง ผมลงทุนไปแยะแล้วยังไม่ได้ใช้เลย

     อย่างผมอยากจะวาดรูปสีน้ำมันบนผ้าใบ ซื้อผ้าใบมาขึงไว้แล้วไม่รู้กี่สิบผืน ซื้อสีมาเป็นกุรุส ซื้อผู้กันเป็นกล่อง ซื้อขาตั้งมาหลายตัว เพิ่งทำได้ก๊อกๆแก๊กๆ แต่ก็ต้องตัดใจเลิกไป

     หรืออย่างคิดไว้ว่าจะเล่นเปียโนตอนเกษียณ เพราะสมัยเป็นแพทย์ฝึกหัดอยากเล่นเปียโนมาก แต่ไม่มีเงินซื้อ ต้องเอากระดาษมาวาดเป็นคีย์บอร์ดเปียโน แล้วใช้นิ้วดีดพร้อมกับจินตนาการเสียงเอา พอแก่ตัวลงมีเงินซื้อเปียโนมาแล้ว แต่ก็ได้แค่ตั้งขวางหน้าไว้ ที่บ้านกรุงเทพก็ตัวหนึ่ง ที่บ้านมวกเหล็กก็อีกตัวหนึ่ง จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เล่นซ้ากกะที ก็ต้องตัดใจเลิกไปดื้อๆ เพราะเวลาไม่พอ ตอนนี้เหลืออยู่อย่างเดียวที่ตั้งใจจะทำเป็นงานอดิเรก คือปลูกผัก เพราะกะว่าจะได้อาศัยเป็นการออกกำลังกายไปด้วย แต่จะไปรอดหรือไม่ก็ยังต้องลุ้น ดังนั้นเรื่องชวนไปเที่ยวไหนไกลๆนั้น หิ หิ ขอโทษ cannot afford! แปลว่า..มิอาจ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์