Latest

เลดี้น้อย กับความหมายของชีวิต (meaning of life)

     ผมอยู่ที่บ้านมวกเหล็ก ปกติจะไม่ตอบจดหมายจากบ้านมวกเหล็ก แต่วันนี้มันร้อนออกไปทำอะไรไม่ได้จึงมีเวลาเขียนบล็อก ความจริงจะว่าไม่ได้ทำอะไรก็ไม่ใช่เสียทีเดียว วันนี้ผมทำไร่สตรอว์เบอรี่ สตรอว์เบรี่ของผมงามดีโดยที่ผมไม่เหนื่อยมาก เพราะมันมีอยู่ต้นเดียว ปลูกไว้แทรกระหว่างตะไคร้กับพริก บนสวนลอยบาบิโลนแบบที่ผมเคยเล่าให้ฟังนานมาแล้ว วันนี้นอกจากจะดูแลเก็บหอยที่คอยมาจ้องกินสตรอว์เบอรี่แล้ว ผมยังทำการบรรจุแต่งตั้งพนักงานใหม่ คือหม้อและแจกันที่ปลดเกษียณมาจากบ้านกรุงเทพ มารับตำแหน่งใหม่เป็นกระถางพืชผักสวนครัวบนสวนลอยนี้ ผมใส่ดินไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ปลูกอะไร ถ่ายรูปมาให้ดูด้วย ความจริงควรจะต้องมีกะทะเทฟล่อนเก่าอีกสองใบ แต่ถูกคนสวนแฮ็บไปเสียก่อนเพราะเขาบอกว่ามันยังดีอยู่เขาจะเอาไปใช้

     สัปดาห์นี้มาตอบคำถามน่ารักๆของเด็กกัน

สวนสตรอว์เบอรี่ที่ดูแลง่าย กับหม้อและแจกันเพิ่งเกษียณ

เรียนนายแพทย์สันต์ที่เคารพ

     ดิฉันชื่อดญ….. อายุ 14 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย….. ดิฉันได้อ่านที่นายแพทย์สันต์ตอบจดหมายของสุภาพสตรีท่านหนึ่งว่าสารัตถะของการเกิดมามีชีวิตคือการได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ดิฉันพอจะเข้าใจการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าว่าหมายถึงการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลก แต่ดิฉันไม่เข้าใจการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ถามอาจารย์ที่ปรึกษาอาจารย์ก็บอกว่าอย่าเที่ยวสงสัยอะไรที่ครูไม่ได้สอน เดี๋ยวจะเป็นบ้า แต่ดิฉันอยากรู้
จึงขอรบกวนเวลานายแพทย์สันต์ตอบด้วยถ้าท่านจะกรุณาค่ะ

………………………………………………………….

ตอบครับ

     ลูกหลานของเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือตอนเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชายการจะพูดจะจาช่างสุภาพเรียบร้อยรื่นหูจนอดชมคุณครูที่โรงเรียนไม่ได้ แต่พอเป็นนางสาวหรือนายเท่านั้นแหละ ไม่รู้มีกลไกทางพยาธิสรีรวิทยาที่สมองอย่างไรคำพูดคำจาจึงกลับตาลปัตรไปในช่วงเวลาไม่ทันข้ามปี มีสัตว์เลื้อยคลานแทรกอยู่แทบจะทุกครึ่งประโยค หิ หิ ขอโทษ เผลอเป็นตาแก่ขี้บ่นอีกละ ที่ปรารภขึ้นมาเนี่ยเพราะว่ามีแฟนบล็อกนี้เขียนมาบอกว่าบล็อกของคุณหมอมีเด็กอ่านเยอะมา คุณหมอไม่ต้องใช้ภาษาจิ๊กโก๋มากก็ได้ โธ่..ถัง ภาษาจิ๊กโก๋ของหมอสันต์เนี่ยไม่ได้ครึ่งภาษาปกติของเด็กเขาหรอกพะยะค่ะ แล้วภาษาแบบพิเรนนี้ยิ่งอยู่ใกล้ปืนเที่ยง (หมายความว่ายิ่งโรงเรียนอยู่ในหรือใกล้กรุงเทพ) ยิ่งเป็นมาก ที่มวกเหล็กผมมีคนงานอยู่ครอบครัวหนึ่งซึ่งเขามีลูกสาวเรียนมัธยมอยู่โรงเรียนบ้านนอกระดับตำบลที่จังหวัดขอนแก่น ผมบอกให้ย้ายลูกมาอยู่กับพ่อแม่ซึ่งเขาก็ทำตาม ลูกสาวเขามาเรียนโรงเรียนมัธยมที่มวกเหล็ก ซึ่งเป็นระดับอำเภอที่ทั้งเจริญกว่าและใกล้ปืนเที่ยงมากกว่า คนงานเล่าให้ผมฟังว่าลูกสาวเธอรายงานความเป็นไปที่โรงเรียนใหม่ให้ทราบว่า

“แม่รู้ไหม ที่โรงเรียนนี้นะ เวลานักเรียนทุกคนไม่ว่าชายหญิงเขาพูดกัน ทุกประโยคเขาต้องพูดนำก่อนว่า เอี้ยเอ๊ย..เอี้ยเอ๊ย”

ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     มาตอบจะหมายของเลดี้น้อยมาดเฉลาท่านนี้กันดีกว่า

     ถามว่าความหมายของชีวิต (meaning of life) คืออะไร ตอบว่าความหมายของชีวิตก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า

     “เกิดมาทำไม?”

หรือคำถามอะไรอื่นที่ครือๆกัน เช่น

     “ทำไมคนเราต้องเกิดมาด้วย?”

     “จุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร?”

     “เรามาอยู่ที่นี่ได้ไงเนี่ย แล้วเราจะไปไหนต่อ?”

     “ชีวิตมีแค่เนี้ยเหรอ กิน ขับถ่าย สืบพันธ์ นอน แล้วก็ตาย?”

     “ชีวิตนี่มันเป็นของจริงหรือเปล่าเนี่ย?”

     คำถามหาความหมายของชีวิตเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เรามีปมอยู่ในใจว่า “กูแน่” เห็นว่าตัวเองสำคัญ ไม่กิ๊กก๊อกอย่างหมาอย่างแมว แต่เป็นผู้ฉลาดล้ำเป็นหนึ่งในเอกภพอยากรู้อะไรต้องมีคำตอบ พูดถึงความกิ๊กกิ๊อกของมนุษย์เรา คนที่พูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ผมยกให้นักวิทยาศาสตร์พิการชาวอังกฤษท่านหนึ่งชื่อ สตีเฟ่น ฮอว์คินส์ เขาตอบคำถามของสื่อมวลชนอเมริกันที่ถามถึงอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ประมาณว่า

     “..Don’t forget that we are only small mammals living in a small planet, which is a small part of a small solar system, which hangs on the outer rim of milky way galaxy, which is one small galaxy out of millions galaxies in this infinite universe.”

     “..อย่าลืมว่าเราเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะขนาดเล็ก ที่อยู่ชายขอบของกาแลคซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นเพียงกาแลคซีเล็กๆอันหนึ่งในจำนวนไม่รู้กี่ล้านกาแลคซีของเอกภพอันไม่มีขอบเขตสิ้นสุดนี้”

     ฟังแล้วเห็นภาพเลยใช่ไหมครับว่าในระดับเอกภพแล้ว มนุษย์เรานี้กิ๊กก๊อกกระจอกเทียบได้กับผงธุลีก็ไม่ปาน แต่เอาเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็น กลับมาเข้าประเด็นของเลดี้น้อยอีกที

     ถามว่าแล้วคำตอบของการถามหาความหมายของชีวิต คำตอบที่ถูกต้องที่สุดคืออะไร ตอบว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด มีแต่คำตอบที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนาแต่ละศาสนาหรือค่านิยมของสังคมแต่ละสังคม หรือแม้กระทั้งบุคคลแต่ละคน

     ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ ชีวิตที่มีความหมายคือชีวิตที่เชื่อในพระเจ้า ได้รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้า ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ประสงค์ให้เราช่วยโลกช่วยมนุษย์ด้วยกัน เพราะว่าเอกภพนี้พระเจ้าสร้างมากับมือ แม้แต่ตัวคุณเลดี้น้อยเองพระเจ้าก็สร้างมา เพราะอีฟ บรรพบุรุษของเลดี้น้อยนั้นพระเจ้าสร้างขึ้นมาจากซี่โครงของบุญมา เอ๊ย..ไม่ใช่ ซี่โครงของอาดัม ดังนั้นเราทุกคนมาจากพระเจ้า ถ้าทำตัวดี ตายเมื่อไหร่ก็จะได้กลับไปมีชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระเจ้าในสวรรค์..จบข่าว นับว่าเป็นคอนเซ็พท์ที่รวบรัดแต่ตอบโจทย์ความหมายชีวิตได้แบบง่ายๆหมดทุกข้อไม่ว่าจะเป็นเรามาจากไหน เรามาอยู่ที่นี่ได้ไง ต้องใช้ชีวิตอย่างไรดี แล้วตายแล้วเราจะไปไหน

     แล้วชีวิตที่มีความหมายสำหรับผู้นับถือศาสนาพุทธละ เป็นอย่างไร คำสอนของศาสนาพุทธสอนว่าเอกภพนี้ไม่มีจุดกำเนิด ไม่มีจุดสิ้นสุด ถึงเหาะเก่งก็อย่าทะลึ่งเหาะไปหาขอบของเอกภพให้ยากเลย ไม่เจอหรอก ตายเสียก่อนแหง๋ๆ จักรภพอันใหญ่โตไม่รู้โตเท่าไหร่นี้ไม่มีใครสร้างมันขึ้นมา มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แหละ ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ ชีวิตก็เหมือนกัน มันดำเนินเรื่อยมา เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ วนเวียนอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้ว่ายกันมาแต่เมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าจะว่ายกันไปถึงไหน ไม่มีจบ เพราะมันจบไม่ได้ เนื่องจากเมื่อมีเหตุมันต้องมีผล พอมีผลมันก็ไปกลายเป็นเหตุ พัลวัลพัลเกต่อเนื่องกันไป

     แล้วชีวิตมันมีสองภาคมาผสมกัน คือภาคร่างกาย และภาคความคิดจิตใจซึ่งภาคหลังนี้ผมขอเรียกว่า “จิต” ก็แล้วกัน เพราะเท่ดี จิตนี้มันจะมีคุณสมบัติออกไปทางเป็นคลื่นมากกว่าเป็นอนุภาค เลดี้น้อยเรียนม.3 แล้วคงรู้จักคลื่นกับอนุภาคนะ มันเป็นคลื่นแบบเกิดขึ้นอยู่ได้แป๊บเดียวแล้วดับ เกิดแล้วดับ การเกิดของจิตก็คือมีการกุความคิดขึ้นในหัว (though formation) ตัวแหย่ให้มีการกุความคิดขึ้นในหัวนี้มีมาสองทาง ทางหนึ่งคือมาในรูปของสิ่งเร้าเช่นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสซึ่งผ่านมาทางอยาตนะของร่างกายเช่นตาหูจมูกลิ้นผิวหนัง อีกทางหนึ่งเป็นความจำจากอดีตที่เก็บไว้เป็นคลังข้อมูล จะเก็บไว้ในหัวแบบหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือจะเก็บไว้ในก้อนเมฆอย่าง iCloud นี่ท่านไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ บอกแต่ว่านานๆจังหวะเหมาะหน่วยความจำก็ส่งข้อมูลบางชิ้นขึ้นไปแหย่ให้มีการกุความคิดขึ้นเสียทีหนึ่ง ประเด็นก็คือความคิดเมื่อถูกกุขึ้นแล้วแม้จะดับไปแล้วแต่ก็มีอิทธิพลให้มีการกุความคิดใหม่หรือเกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมาแบบว่าเกิดดับๆต่อๆกันไปไม่สิ้นสุดแบบกึ่งอัตโนมัติ คือถ้าเราไม่ใช้ระบบแมนนวลเข้าไปขับเคลื่อนมันก็จะไปของมันแบบอัตโนมัติ

     ถามว่าแล้วถ้าร่างกายตายแตกดังโพล้ะ ความคิดอันสุดท้ายที่ถูกกุขึ้นมาแล้วจะหยุดกึกจบเลยไหม ตอบว่าไม่จบ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันว่าเมื่อความคิดถูกกุขึ้นแม้จะดับไปแล้วมันก็จะต้องมีผลให้เกิดความคิดหรือจิตดวงใหม่

     อ้าว..แต่ร่างกายตายไปแล้ว จิตดวงใหม่จะไปผสมโรงกับร่างกายที่ไหนละ ตอบว่าไม่รู้แหละ ในท้องหมูหมากาไก่ที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ต้องมีจิตดวงใหม่เกิดขึ้นเพราะกระบวนการเกิดดับของจิตเป็นกระบวนการเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกันไป จะไม่หยุดกึกกลางคันแน่นอน อย่างนี้แหละที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ที่พูดมาถึงเรื่องตายนี้ก็เพื่อจะเข้าประเด็นชีวิตที่มีความหมายตามแนวทางพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร

     คือธรรมชาติของจิตนี้นอกจากจะมีส่วนกระบวนการกุความคิดหรือ thought formation แล้ว มันยังมีอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าความรู้ตัว (awareness) ไฮไลท์ของคำสอนศาสนาพุทธคือส่วนหลังคือความรู้ตัวนี้ หากฝึกให้มีทักษะดีๆ ก็จะสามารถใช้เฝ้าดูส่วนแรกคือความคิดที่ถูกกุขึ้นได้ แล้วความคิดที่ถูกกุขึ้นมาหากถูกเฝ้าดูแบบรู้ทันแต่ไม่เข้าไปแทรกแซง มันจะฝ่อหายโดยไม่ไปมีอิทธิพลให้เกิดการกุความคิดใหม่หรือจิดดวงใหม่ขึ้นอีก ทำนองเปลี่ยนระบบขับวงจรเวียนว่ายตายเกิดจากระบบอัตโนมัติมาเป็นระบบแมนนวลขับด้วยมือ การเฝ้าดูนี้เรียกว่าวิปัสสนา เครื่องมือหลักในการเฝ้าดูคือสติ ความจริงมีเครื่องมือย่อยๆอื่นๆอีกหลายชิ้นแต่ผมงดไม่พูดถึงนะเพื่อความรวบรัด นั่นหมายความว่าถ้ามีสติดี 100% สามารถเฝ้าดูการกุความคิดทุกครั้งที่ความคิดเกิด ก็จะสามารถสยบอิทธิพลของความคิดเก่าที่จะไปทำให้เกิดการกุความคิดหรือจิตดวงใหม่ได้ นั่นคือก็จะสยบวงจรการเวียนว่ายตายเกิดได้ เพราะตอนที่ร่างกายตายโพล้ะ ตอนนั้นไม่มีความคิดสุดท้ายค้างอยู่ ก็จึงไม่มีอะไรไปผลักดันให้เกิดการกุความคิดใหม่หรือจิตดวงใหม่ในร่างกายใหม่ แปลว่าตายแล้วเกลี้ยงเลยไม่มีอะไรไปเกิดใหม่

     การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามนัยของพุทธศาสนาก็คือการใช้โอกาสที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีนี้ ขยันฝึกสติแล้วทำวิปัสสนาเพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นจากวงจรเวียนว่ายตายเกิดให้สำเร็จเสียก่อนที่ร่างกายนี้จะตาย ถ้าทำไม่ได้ถึงขนาดนั้นก็เอาอย่างเบาะๆให้ตัวเองมีสติพอที่จะรับรู้การดำเนินชีวิตนี้ไปอย่างเข้าใจและไม่เป็นทุกข์ ซึ่งว่าไปแล้วส่วน “ชาตินี้” เนี่ยเป็น 99% ของคำสอนของศาสนาพุทธเฉพาะส่วนที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้าก็ว่าได้ สำหรับคนที่อินเรื่อง “ชาติหน้า” อย่างน้อยก็ต้องฝึกจนมีผลให้จิตสุดท้ายก่อนตายเป็นจิตที่ดีพอที่จะผลักดันให้จิตดวงใหม่ไปเกิดในภพภูมิที่ดีเพื่อจะได้มีโอกาสฝึกวิปัสนาต่อไปจนหลุดพ้นออกจากวงจรเวียนว่ายตายเกิดนี้ไปได้ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง      

     นอกจากคำสอนของศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธแล้ว ยังมีศาสนาอื่นๆ ค่านิยมๆอื่นๆ วัฒนธรรมอื่นๆ  ที่ชี้นำวิธีใช้ชีวิตอย่างมีความหมายไปตามแบบของใครของมันอีกหลายแบบ ซึ่งผมขอไม่พูดถึงเพราะจะเยอะ แม้คนจำนวนมากที่ถือตัวเองว่าไม่มีศาสนา เขาก็คิดอ่านฟันธงตั้งความหมายของชีวิตตัวเองขึ้นมาแบบของใครของมันได้เช่นกัน เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ใครจะยึดเอาอะไรเป็นความหมายของชีวิตตนก็ได้ทั้งนั้น  

ผมมีความเห็นแตกต่างจากคุณครูของคุณนะ การที่คุณสนใจเสาะหาความหมายของชีวิตผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในทางการแพทย์ มีข้อมูลว่าการที่คนเราจะมีจุดยืนของตัวเองว่าการใช้ชีวิตแบบไหนจึงจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาพดี กล่าวคือมีหลักฐานว่าการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อของตนทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยลง มีความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันน้อยลง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นอัมพาตน้อยลง และทำให้อัตราตายของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนปกติลดลง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Boyle PA, Buchman AS, Barnes LL, Bennett DA. Effect of a purpose in life on risk of incident Alzheimer disease and mild cognitive impairment in community-dwelling older persons. Archives of General Psychiatry. 2010;67:304–310.
2. Kim E, Sun J, Park N, Kubzansky L, Peterson C. Purpose in life and reduced risk of myocardial infarction among older U.S. adults with coronary heart disease: A two-year follow-up. Journal of Behavioral Medicine. (2):124–133.
3. Kim ES, Sun JK, Park N, Peterson C. Purpose in life and reduced incidence of stroke in older adults: The Health and Retirement Study. Journal of Psychosomatic Research. 2013;74(5):427–432.
4. Boyle PA, Barnes LL, Buchman AS, Bennett DA. Purpose in life is associated with mortality among community-dwelling older persons. Psychosfbomatic Medicine. 2009;71:574–579.