Latest

อยากอายุยืน ต้องเล่นกล้าม

คุณแม่ของผมอายุ 62 ปี ประสบอุบัติเหตุไถลล้ม คือท่านไปเดินซื้อของ ผ่านหน้าร้านค้าซึ่งเอากระดาษมาปูให้เดินเพราะกำลังซ่อมอะไรอยู่สักอย่าง แล้วคุณแม่ไถลกระดาษแล้วล้ม ต้องหามไปโรงพยาบาล… หมอบอกว่ากระดูกสะโพกหัก ได้รับการผ่าตัด ระหว่างนอนไอซีอยู่วันที่ 8 ก็มีจ้ำเลือดขึ้นมาตามตัว พอวันที่ 9 ก็มีไข้ขึ้น หมอทำ CT ปอดแล้วพบว่าติดเชื้อในปอด ตอนนี้อยู่ไอซียู.มาแล้ว 24 วัน ยังออกจากไอซียู.ไม่ได้เพราะยังถอดเครื่องไม่ได้ หมดค่าใช้จ่ายไปแล้วล้านกว่าเกือบสองล้านบาท วิ่งเต้นขอย้ายไปรพ.รัฐบาลก็ไม่มีที่ไหนมีเตียงรับ เพราะเตียงไอซียู.ทุกแห่งเต็มหมด ผมอยากให้คุณหมอช่วยแนะนำว่าทำอย่างไรจะย้ายไปรพ.ของรัฐบาลได้ เพราะผมไม่มีญาติเป็นหมอเลย มีก็แต่หมอสันต์ที่จะสนิทเหมือนญาติจากการตามอ่านบล็อกแม้จะไม่เคยเห็นหน้าไม่เคยได้พูดคุยกันมาก่อน ในกรณีที่ย้ายก็ไม่ได้ เงินก็หมดแล้ว จะให้ผมทำอย่างไรครับ ในกรณีที่ไม่มีเงินจริงๆ ขอโทษหมอสันต์อย่าว่าผมนะ ผมจะไปฟ้องเอาค่าเสียหายจากร้านที่เอากระดาษปูหน้าร้านได้ไหมครับ

……………………………………………….

ตอบครับ

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ขอผมคุยเรื่องสัพเพเหระก่อนนะ ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบด้วยสองสาเหตุ คือ หนึ่ง ช่วงไม่เกินเดือนที่ผ่านมานี้มีผู้สูงอายุที่เป็นเพื่อนบ้าง เป็นคนรู้จักบ้าง เป็นคนไข้บ้าง ลื่นตกหกล้มแล้วมีอันเป็นไป เอ๊ย..ไม่ใช่ มีอันต้องเข้าโรงพยาบาลราว 4-5 คน บางคนอายุยังไม่เต็มหกสิบใครๆเห็นก็รุมทักว่ายังสาวยังสวยอยู่เลย ในจำนวนทั้งห้าคนนี้บ้างก็ยังค้างอยู่ในโรงพยาบาล บ้างก็กลับไปนอนแซ่วหยอดน้ำข้าวต้มอยู่ที่บ้าน ทั้งหมดนี่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน น่าจะอนุมาณได้ว่าการลื่นตกหกล้มนี้คงเป็นพิมพ์นิยมสำหรับผู้สูงอายุไทย

สอง คือในมือผมขณะนี้ ผมกำลังนั่งอ่านวารสารเวชศาสตร์ป้องกัน (J Preventive Medicine) ซึ่งฉบับเดือนนี้เขาตีพิมพ์ผลวิจัยวิธีทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนซึ่งน่าสนใจ ขอเจาะลงรายละเอียดหน่อยนะ แม้ว่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับที่คุณถาม งานวิจัยนี้เขาได้ติดตามคนอายุเกิน 65 ปีจำนวนสามหมื่นกว่าคน โดยได้ติดตามมานาน 15 ปีแล้ว แบ่งชนิดของคนที่ถูกติดตามดูเป็นสองพวก ระหว่างพวกหนึ่งคือแก่แต่เล่นกล้ามสัปดาห์ละอย่างน้อยสองครั้ง (ซึ่งมีอยู่แค่ประมาณ 10% ของผู้สูงอายุที่ตามดูทั้งหมด) กับอีกพวกหนึ่งแก่แต่ไม่เล่นกล้าม โดยถือเอาเกณฑ์ว่าถ้าเล่นกล้ามสัปดาห์ละ 2 ครั้งขึ้นไปนี้ก็ให้จัดเข้ากลุ่มพวกแก่แต่เล่นกล้าม เพราะมาตรฐานการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย (ACSM/AHA) กำหนดไว้ว่า

    “..ผู้สูงวัยควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้) วันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง บวกเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บวกออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวและปรับแผนการใช้ชีวิตแบบมีการเคลื่อนไหวทั้งวัน..”

     ผลการวิจัยที่อยู่ในมือผมนี้เขาพบว่าพวกคนสูงอายุที่เล่นกล้ามสัปดาห์ละสองครั้งขึ้นไปตายจากทุกสาเหตุน้อยกว่าพวกไม่เล่น 46% และตายจากโรคหัวใจน้อยกว่า 41% ความแตกต่างกันมากขนาดนี้นับว่าน่าทึ่งและผมรับประกันว่าไม่มียาอายุวัฒนะขนานไหนทำได้อย่างแน่นอน

     ก่อนที่จะคุยกันต่อไปผมขอแวะนิยามไว้สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้อ่านบล็อกของผมเสียหน่อย ว่าการเล่นกล้ามหรือการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ก็คือการออกกำลังกายแบบจงใจให้กล้ามเนื้อทีละกลุ่มได้ทำงานมากๆๆซ้ำๆๆจนหมดแรง รายละเอียดของวิธีออกกำลังกายแบบนี้ผมเคยเขียนและลงรูปตัวอย่างไว้ให้ดูแล้ว ท่านลองหาอ่านได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2012/10/strength-training.html

     ในส่วนของการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ที่คำแนะนำข้างบนพูดถึงนั้น เป็นการออกกำลังกายแบบประสานการทำงานของสติ สายตา หู (ชั้นใน) กับกล้ามเนื้อแขนขาและลำตัว ซึ่งผมเคยเขียนถึงวิธีทำไปอย่างละเอียดครั้งหนึ่งแล้ว ท่านย้อนอ่านดูได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2016/04/balance-exercise.html

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณขอสรุปงานวิจัยนี้ก่อนนะ..ว่า นี่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับที่ดีที่สุดที่เคยมีมา ว่าประโยชน์ของการเล่นกล้ามนอกจากที่วงการแพทย์รู้มานานแล้วว่าทำให้กระดูกและข้อแข็งแรง ลดอุบัติการณ์ลื่นตกหกล้มได้ ลดโรคเบาหวาน ลดกระดูกพรุน รักษาโรคอ้วน รักษาปวดหลัง และลดการปวดข้อจากโรคข้อแทบทุกชนิดได้ แต่จากงานวิจัยนี้ต้องบวกประโยชน์ของการเล่นกล้ามไปอีกอย่างหนึ่งว่าทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้นได้ด้วย

     โอเค. คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1..ถามว่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนเงินหมดแล้ว จะย้ายเข้ารพ.รัฐบาลก็ย้ายไม่ได้เพราะทุกแห่งก็อ้างเตียงไอซียู.เต็มหมด จะทำอย่างไร ตอบว่า มันขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่ของคุณเป็นผู้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลประเภทใหน เพราะคนไทยทุกคนต้องมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในในสามอย่างต่อไปนี้คือ

      กรณีที่ (1) ใช้สิทธิประกันสังคม หมายความว่าคุณแม่ต้องมีบัตรผู้ประกันตน วิธีการก็คือดูว่าโรงพยาบาลคู่สัญญา (contractor) ชื่อโรงพยาบาลอะไร แล้วคุณก็เขียนบันทึกเป็นตัวหนังสือแจ้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสำเนาเก็บไว้เองหนึ่งชุด ในหนังสือนั้นแจ้งความว่าคุณแม่ในฐานะคู่สัญญาประสบอุบัติเหตุกำลังรักษาอยู่รพ.เอกชน.. ตอนนี้ประสงค์จะมารับการรักษากับรพ.คู่สัญญาขอให้ไปรับตัวมารักษาด้วย ทันทีที่ได้รับหนังสือ รพ.คู่สัญญาเขาก็จะแจ้นเอารถพยาบาลไปรับคุณแม่คุณมาดูแลเอง เพราะนับตั้งแต่วันได้รับหนังสือ หากเขาไม่ไปรับมา เขากลัวคุณจะไปร้องเรียนกับคณะกรรมการแพทย์ สนง.ประกันสังคม ซึ่งจะมีผลให้รพ.คู่สัญญาต้องรับผิดชอบรายจ่ายที่รพ.เอกชนแห่งทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากคุณเป็นต้นไป

     กรณีที่ (2) ใช้สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ (สามสิบบาท) ใช้หลักเดียวกันกับประกันสังคม คือดูว่าคุณแม่อยู่ในเขตพื้นที่ของรพ.ไหน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรพ.ชุมชนหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจที่เป็นแขนขาของรพ.ชุมชน แล้วก็เขียนบันทึกไปถึงผู้อำนวยการรพ.นั้น เขาก็จะรีบไปรับมาเช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่เคยมีบัตรทองหรือไม่เคยใช้สิทธิสามสิบบาทเลย กรณีเช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้ป่วย “สิทธิ์ว่าง” ต้องไปยื่นบันทึกขอย้ายมารักษาในระบบสามสิบบาทที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (ที่ถนนแจ้งวัฒนะ หรือสำนักงานของแต่ละเขตพื้นที่) เขาก็จะประสานงานหารพ.รับคุณแม่ของคุณเข้ามาสู่ระบบสามสิบบาทเองทันทีเช่นกัน

     กรณีที่ (3) ใช้สิทธิราชการ เป็นกรณีที่ยากที่สุดเพราะไม่มีโรงพยาบาลคู่สัญญาที่มีพันธะสัญญาตามกฎหมายว่าจะต้องรับดูแลคุณแม่ของคุณโดยตรงแต่อย่างใด วิธีปฏิบัติในชีวิตจริงคือให้เริ่มต้นด้วย “เส้น” ถ้ามีเส้น หมายความว่ารู้จักหมอรู้จักพยาบาลที่โรงพยาบาลไหน ก็ให้ไปประสานงานล่วงหน้าผ่านเส้นที่มี อาจจะต้องใส่ชื่อไว้รอคิวก็ต้องยอม พอได้ฤกษ์ก็ย้ายคุณแม่ไปตามที่ได้ประสานงานไว้นั้น เส้นที่ว่านี้อาจเป็นเส้นเล็กๆแค่เส้นด้าย เช่นคนงานเข็นเปลหรือคนขับรถในโรงพยาบาลนั้นก็ได้ เพราะรพ.รัฐบาลเจ้าหน้าที่ทุกระดับต่างอยู่กันมานานตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนแก่จึงรู้จักกันหมด ทุกระดับมักสาวเส้นไปถึงตัวหมอได้ ดังนั้นอย่าดูถูกกระจอกๆอย่างเส้นด้าย

     ถ้าไม่มีเส้นเลย ผมแนะนำให้คุยกับคุณหมอที่ดูแลคุณแม่อยู่ที่รพ.เอกชนปัจจุบัน เพราะหมอเอกชนส่วนใหญ่เป็นหมอรัฐบาลมาหากินภาคค่ำใต้แสงจันทร์ (moonlighting) ในภาคเอกชน ซึ่งไม่ใช่ของแปลก เพราะตัวผมเองสมัยหนุ่มเมื่อรับราชการอยู่ก็วิ่งรอกหากินทั่วพระนครนับรวมได้สามโรงพยาบาลกับอีกสองคลินิก ถึงบางท่านจะไม่ได้มาจากภาครัฐบาล ท่านก็อาจจะมีเพื่อนเป็นหมอภาครัฐบาล หมอทุกคนจะเข้าใจปัญหาและเห็นใจครอบครัวผู้ป่วยที่ตนดูแล จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับการช่วยเหลือผ่านกลไกนี้

     ถ้าเส้นก็ไม่มี หมอที่ดูแลอยู่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ คุณก็ต้องไปขึ้นบัตรแทนคุณแม่เพื่อขอเข้าพบหมอที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกที่รพ.รัฐบาลที่หมายตาไว้นั้น โดยตัวผู้ป่วยยังไม่ต้องไป แล้วเล่าเรื่องให้คุณหมอฟังว่าประสงค์จะย้ายคุณแม่มารักษาที่รพ.นี้ด้วยเหตุอยู่ใกล้บ้านหรือจะบอกตรงๆว่าด้วยเหตุเงินหมดแล้วก็ได้ ถ้าคุณหมอตกลงนัดหมายรับไว้ก็ดำเนินการไปตามวันเวลาที่นัดหมาย

     แต่ถ้าคุณหมอคนแล้วคนเล่าล้วนยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่มีเตียงรับเลย ไม่มีอนาคตด้วยว่าจะมีเมื่อไหร่ คุณก็เหลือวิธีสุดท้ายวิธีเดียวคือวิธีชกแบบมวยวัดซึ่งผมแนะนำว่าไม่จำเป็นไม่ควรงัดออกมาใช้ การชกแบบมวยวัดหมายความว่าไม่เอากติกาอะไรแล้ว วิธีการก็คือคุณต้องขอเอาคุณแม่ออกจากรพ.เดิม ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องให้เซ็นไม่สมัครอยู่ แล้วพาคุณแม่เดินทางไปเอง อาจจะจ้างพยาบาลส่วนตัวบีบถุงลมช่วยหายใจไปหรือจ้างรถพยาบาลเป็นการส่วนตัวมาจากที่อื่นก็ได้ รถพยาบาลของรพ.ที่รักษาอยู่เขามักไม่ยอมไปส่งเพราะเป็นการย้ายนอกคำสั่งของแพทย์เขากลัวคนไข้มีปัญหากลางทางแล้วเขาจะถูกฟ้อง
   
     พอไปถึงรพ.ของรัฐที่หมายตาไว้ก็พาคุณแม่รี่เข้าห้องฉุกเฉินไปเลย โดยบอกคุณหมอประจำห้องฉุกเฉินด้วยหน้าตายว่าสมัครใจมาเองแบบมาฆะบูชา คือไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า ทันทีที่เจ้าหน้าที่เขาลงทะเบียนคุณแม่เป็นคนไข้ห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นคุณก็วางใจได้แล้ว ปล่อยให้กลไกอัตโนมัติดูแลคุณแม่ของคุณเอง หมอเขาจะสาละวนหาเตียงให้ ไปหน่วยนั้นไม่ได้ ไปหน่วยนี้ก่อน ไม่มีที่ไป ไปอยู่ห้องสังเกตอาการก่อน ไม่มีเตียงในรพ.นี้หมอก็เขาจะหาเตียงรพ.โน้นให้เอง ทุกอย่างจะลงตัวในเวลาไม่กี่วัน โดยในระหว่างนี้เขาจะมีระบบการดูแลที่วางใจได้ไม่มีการทอดทิ้ง วิธีการมวยวัดนี้ไม่ใช่ไทยเท่านั้นที่นิยมใช้ ฝรั่งก็นิยม สมัยผมทำงานอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์มีคนไข้มะเร็งปอดคนหนึ่งหมอไม่ยอมผ่าตัดให้เพราะเขาไม่ยอมเลิกบุหรี่ หมอจึงเอาเขาไปไว้ท้ายคิว แบบว่ารอให้ผ่าคนที่ไม่สูบบุหรี่จนหมดประเทศก่อนจึงจะถึงคิวเขา หมอประจำครอบครัวแนะนำให้เขาไปกางมุ้งรอคิวผ่าตัดอยู่หน้าประตูโรงพยาบาล ซึ่งเขาก็ทำจริงๆ กางมุ้งอยู่ได้วันเดียวโรงพยาบาลก็รีบแจ้นรับเขาเข้าห้องผ่าตัดเพราะหนังสือพิมพ์ลงข่าวกันโครมคราม นับว่าวิธีมวยวัดนี้เวอร์คแน่นอนดีจริงๆ

     2.. ถามว่าจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากร้านค้าที่เอากระดาษมาปูทางเดินหน้าร้านทำให้คุณแม่ลื่นล้มได้ไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะผมไม่มีคุณวุฒิพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ ที่เห็นผมเขียนอะไรล้อเลียนท่านทนายความบ้างท่านตุลาการบ้างก็เขียนตามอารมณ์สนุกๆ เนื่องจากท่านพวกนั้นก็ชอบล้อเลียนผมในศาลเหมือนกัน ถือว่าเล่นกันคนละทีเจ๊ากันไป ไม่ได้หมายความว่าหมอสันต์จะรู้กฎบัตรกฎหมายกับเขาด้วยแต่อย่างใดเลย

     ก่อนจบขอเขียนถึงแฟนๆบล็อกซึ่งตอนนี้เกือบครึ่งเป็นผู้สูงวัยว่า เวลาเราลื่นตกหกล้มลงไปแล้ว ไม่ใช่เพียงแต่เราเท่านั้นที่ลำบาก แต่ลูกหลานเขาลำบากแค่ไหน จดหมายฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วเรื่องไม่ใช่ว่าจะจบแค่นี้นะ เพราะนี่อาจจะมาได้ยังไม่ถึงครึ่งเรื่องเลยด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าสถิติผู้หญิงในอเมริกาตายเพราะเรื่องสืบเนื่องจากการลื่นตกหกล้มมากกว่าตายเพราะมะเร็งเต้านมเสียอีกนะ ดังนั้น มันจึงเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเราเองอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องขยันป้องกันการลื่นตกหกล้มของเราเอง ด้วยการขยันออกกำลังกายตามที่มาตรฐานเขาแนะนำ ซึ่งรวมทั้งการเล่นกล้ามอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งและการฝึกเสริมการทรงตัวในทุกโอกาสด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Jennifer L. Kraschnewski, Christopher N. Sciamanna, Jennifer M. Poger, Liza S. Rovniak, Erik B. Lehman, Amanda B. Cooper, Noel H. Ballentine, Joseph T. Ciccolo. Is strength training associated with mortality benefits? A 15year cohort study of US older adults. Preventive Medicine, 2016; 87: 121 DOI: 10.1016/j.ypmed.2016.02.038

……………………………………………

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1

     คุณหมอตอบได้ตามความเป็นจริงมากๆ. คุณแม่ล้มกระดูกสะโพกหัก ด้วยมีอาการวูบหรือหน้ามืดเอง. ต้องพาไปรพ. เอกชนใกล้บ้านก่อน แล้วจึงดิ้นรนหาเตียง รพ รัฐ เพื่อผ่าตัด ระหว่างรอผ่าตัดคุณแม่ทรมานมากขยับที เจ็บมาก. ทุกคนในบ้านเครียดไปหมด และ รพ รัฐมีเตียงจำกัดมาก คิวยาว. โอกาสการย้ายจากเอกชนไปรัฐยากสุดถ้าไม่มีเส้นสายในรพ รัฐ. อีกอย่าง จนท พยาบาลของรพ. บอกว่า มีผู้สูงวัยหกล้มกระดูกหักเยอะมากๆ จากการลื่นล้ม โดยเฉพาะห้องน้ำ. การแนะนำให้ออกกำลังกายจึงมีคุณประโยชน์มาก. แต่คงต้องออกกำลังกายตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุด้วย. เพราะคนไทยที่เป็นหญิงมีปัญหากระดูกพรุนสูงค่ะ

………………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2

     ขอเพิ่มเติมอีกคนนะครับ พี่ๆ (ขอเรียกพี่ๆ นะครับ อิอิ) ลองไปเรียนยูโดเบื้องต้นก็ดีนะครับ เขาจะมีสอนการตบเบาะคือฝึกล้มลงไปบนฟูกโดยใช้แขนกับขาตบถ่ายเทกระจายแรง ทำให้ตอนโดนทุ่มไม่เจ็บหรือได้รับบาดเจ็บน้อย เวลาเดินแล้วหกล้มหรือรถล้ม การตบเบาะของวิชายูโดก็จะช่วยผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้ครับ

…………………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3

     ผู้หญิงสูงอายุ ออกกำลังกายด้วยการเล่นกล้าม เป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับตัวเอง ต้องศึกษาด่วนเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

……………………………………………………