Latest

การป้องกันและรักษาเบาหวานต้องกินผลไม้แยะๆ

อาจารย์ครับ
แนะนำตัวครับ ผมเปนหมอสาขา… จบจาก…. ปล่อยตัวอ้วนมานาน 5ปี ตอนเรียนเฉพาะทาง น้ำหนัก 85 เตี้ย 165 มีอาการนอนกรนหยุดหายใจมา 5 ปี วันนึงลองเจาะเลือด ไขมันพุ่ง น้ำตาลขึ้นหน่อย ความดันขึ้น อายุ 31 เองครับ แล้วลองทำ doppler carotid ดู Intima media thickness หนาขึ้นกว่า อายุมาก ผมเลยตก ใจมาก เลยทำ intensive lifestyle change 4 เดือน ลดจาก 84—59kg เช้ากินกับข้าวแกงจืดเบาข้าว เที่ยงกินเกาเหลาผักบุ้ง เย็นกินปลากระพงลุยสวนผักต้ม วิ่งวันละ 6.5 km 1 hour ทำทุกวันเว้นวันนึงต่ออาทิดครับ
อยากมาแชร์ประสบการครับ เหนอาจารย์มี paper ว่า reverse atherosclerosis ได้ผมเลยมีความหวังครับ ผมคิดว่า process atherosclerosis ผมมาจาก osa ครับ ตอนนี้จะเปลี่ยนมาเน้นผักผลไม้มากขึ้นแต่กลัวน้ำตาลขึ้นครับ เลยจะเน้นเปนพวก low glycemic index ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิลเขียว แก้วมังกร จริงๆลดน้ำหนักมา25kg แทบจะไม่กรนแล้วครับแต่จะลองไปตรวจsleep test กำจัดปัจจัยเสี่ยงครับอาจารย์

………………………………………………..

ตอบครับ

     ก่อนจะตอบจดหมายของคุณหมอท่านนี้ ผมขออนุญาตแปลศัพท์บางคำที่พวกหมอเขาชอบพูดกันแต่คนนอกวงการอาจจะยังไม่รู้ความหมาย
doppler แปลว่าการตรวจภาพของผนังหลอดเลือดและการไหลของเลือดในหลอดเลือด โดยอาศัยคลื่นเสียงสะท้อน 
carotid แปลว่าหลอดเลือดแดงที่คอ ซึ่งนำเลือดไปเลี้ยงสมอง
Intima media thickness แปลว่าความหนาของผนังหลอดเลือดชั้นในและชั้นกลาง คือผนังหลอดเลือดมีสามชั้น ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดตีบ ชั้นในและชั้นกลางจะหนาตัวขึ้น
intensive lifestyle change แปลว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น อันหมายถึงการเปลี่ยนอาหารมากินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด เป็นต้น
paper เป็นภาษาพูด หมายถึงผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ต่างๆ
atherosclerosis แปลว่าหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป้นปฐมเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ อัมพาต ความดันสูง และโรคไตเรื้อรัง
reverse atherosclerosis แปลว่าทำให้โรคหลอดเลือดแดงถอยกลับหรือพูดง่ายๆว่าหายได้
osa ย่อมาจาก obstructive sleep apnea แปลว่าโรคนอนกรน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร
glycemic index แปลว่าดัชนีน้ำตาล หมายถึงตัวชี้วัดว่าอาหารชนิดไหน เมื่อกินเข้าไปแล้วจะไปทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้มากหรือน้อย ยกตัวอย่างเช่นน้ำตาลทรายและขนมปังขาว กินเข้าไปแล้วทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมากที่สุดและเร็วที่สุด จึงมีดัชนีน้ำตาลเป็น 100% ขณะที่ขนมปังโฮลเกรนแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์กินแล้วน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงครึ่งหนึ่งของน้ำตาลทราย จึงมีดัชนีน้ำตาล 51% แพทย์จำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่วงการแพทย์ทั้งหมด) เชื่อว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงทำให้เป็นเบาหวานได้ง่ายกว่า แต่ความเชื่ออันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นหนานัก เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังขัดกันเอง
sleep test แปลว่าการตรวจการนอนหลับโดยให้ไปนอนหลับในโรงพยาบาลแล้วติดสายระโยงระยางที่สมองเพื่อวัดคลื่นสมองดุจำนวนครั้งของการตื่นขณะหลับ เพื่อเอาตัวเลขมายืนยันการวินิจฉัยโรคนอนกรน
     เอาละ ได้นิยามศัพท์กันให้คนนอกวงการตามทันแล้ว คราวนี้มาตอบจดหมายของคุณหมอกัน ความจริงคุณหมอไม่ได้ตั้งประเด็นถามเรื่องอะไร แต่ผมเห็นว่าจดหมายของคุณหมอจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านในวงกว้่าง จึงขอตั้งประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้เห็นดังนี้
     ประเด็นที่ 1. การที่คนไทยอายุสามสิบ มีไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดเริ่มจะสูง ความดันเริ่มจะสูง และเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งแล้วอย่างคุณหมอนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่ใช่เพิ่งมาเป็นกัน เป็นกันมาอย่างนี้เป็นสิบๆปีแล้ว เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนผมหากินทางดูแลสุขภาพคนทำงานในหัวงานก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่ระยอง ดูแลคนเป็นหมื่นคน เห็นผลการตรวจเลือดประจำปีผมก็อึ้งตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

     จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้คนไทยอายุสี่สิบต้นๆ ก็เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) กันเป็นว่าเล่นทั้งผู้ชายผู้หญิง ที่เป็นคนไข้ในมือผมตอนนี้ก็มีหลายคน ที่สมัครมาเข้าแค้มป์ RD ของหมอสันต์รุ่นสองนี้ก็มีตั้งหลายคน แล้วที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่า สำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย ตุ่มไขมันบนผนังหลอดเลือดจะเป็นชนิดมีเยื่อคลุมที่บางมากและไม่แข็งแรง ภาษาหมอเรียกว่าเป็น vulnerable plaque พอมีเหตุเฉียบพลันเช่นโมโหปรี๊ดแตก หรือกินอาหารไขมันสูงๆมื้อเดียว หรือโซเดียมสูงเพราะกินของเค็มๆมื้อเดียว หรือปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจังๆเพียงครั้งเดียว หรือความดันสูงขึ้นจื๊ดเดียว เยื่อคลุมนี้จะฉีกขาดชะเวิกออก ทำให้คนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจมาก่อน เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบไม่ทันตั้งตัว บางคนโชคดี ฟื้นขึ้นมาได้แม้ว่าหัวใจจะล้มเหลวไปมากบ้างน้อยบ้าง แต่อีกประมาณ 30% ไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาอีกเลย เรียกว่ามีอาการครั้งแรกก็..ลงหลุมไปซะแล้วเรียบร้อย ดังนั้นคนหนุ่มคนสาวทั้งหลายอย่าได้ปลื้มว่าตัวเองได้รับการคุ้มครองจากอายุ ให้ตั้งต้นปรับวิถีชีวิตและจัดการปัจจัยเสี่ยงของตัวเองเสียตั้งแต่ตอนนี้


     ประเด็นที่ 2. คุณหมอเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับคนไข้ ในการปรับวิถีชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง ดูผลงานแล้วก็น่าชื่นชม ใช้เวลาเพียง 4 เดือนก็ลดน้ำหนักลงไปได้ถึง 25 กก. และวิธีที่ทำก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนไข้ได้ คือไม่ได้ใช้วิธีพิศดารอะไรเลย แค่ปรับอาหารกินพืชผักให้มากๆ และวิ่งออกกำลังกายวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวัน ก็ประสบความสำเร็จอย่างนี้แล้ว ผมจึงอยากให้ท่านผู้อ่านที่โอดโอยอ้างเหตุต่างๆนาๆให้ดูคุณหมอเป็นตัวอย่าง ว่าเรื่องมันง่าย แต่คุณพยายามจะทำให้มันเป็นเรื่องยากเพื่ออ้างเป็นเหตุสนับสนุนความขี้เกียจของตัวเองเท่านั้นเอง

     ประเด็นที่ 3. ที่คุณหมอบอกว่าจะเปลี่ยนมาเน้นผักผลไม้มากขึ้นแต่กลัวน้ำตาลขึ้นนั้น ตรงนี้ผมอยากจะให้ข้อมูลคุณหมอเพิ่มเติมนิดหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับที่แพทย์เราส่วนใหญ่ยึดถือมาแต่เดิม แต่ข้อเสนอของผมล้วนมาจากหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับเชื่อถือได้ทั้งสิ้น คือ

     3.1 ความเชื่อที่ว่ากินผลไม้มาก โดยเฉพาะผลไม้หวานๆ จะทำให้เป็นเบาหวาน เป็นความเชื่อที่ผิด

     งานวิจัยเรื่องนี้ทุกงานให้ผลสรุปตรงกันว่าการกินผลไม้มากแม้จะเป็นผลไม้ที่หวาน ไม่ได้ทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น ต่างจากการกินน้ำตาลเพิ่มในเครื่องดื่มมากหรือการกินธัญพืชที่ขัดสีมาก ซึ่งทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น

     งานวิจัยระดับสูงชิ้นหนึ่ง [1] ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนไข้เบาหวานที่กำลังรักษาด้วยยาอยู่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้จำกัดผลไม้ไม่ให้เกินวันละสองเสิรฟวิ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินผลไม้มากๆเกินสองเสริฟวิ่งขึ้นไปและไม่จำกัดจำนวนทั้งไม่จำกัดว่าหวานหรือไม่หวานด้วย ทำวิจัยอยู่ 12 สัปดาห์แล้ววัดน้ำตาลสะสมในเลือดก่อนและหลังการวิจัย พบว่าทั้งสองกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดไม่ต่างกัน

     ผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคนของฮาร์วาร์ด [2] ซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

     เช่นกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study [3,4] ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น

     แม้แต่ผลไม้ที่มีรสหวานที่สุด คืออินทผาลัมหรือเดท (date) งานวิจัย [5] ให้คน 10 คน กินเดททั้งพันธ์เมดจูลและพันธ์ฮาลาวีวันละ 100 กรัมทุกวัน กินอยู่นาน 4 สัปดาห์แล้วเจาะเลือดก่อนและหลังการวิจัย พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แถมไตรกลีเซอไรด์ลดลงเสียอีก 8-15% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีมวลกาย และไขมันในเลือดทั้ง LDL และ HDL โดยด้านดีก็คือมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นในเลือดและการเกิดออกซิเดชั่นในร่างกายลดลง 33% จนผู้วิจัยเสนอว่าควรใช้เดทเป็นผลไม้ต่อต้านโรคหลอดเลือด

     ดังนั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าคนเป็นเบาหวานควรกินผลไม้ให้มากๆ โดยเน้นกินผลไม้ทั้งผลแบบธรรมชาติ (whole food) และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้คั้นที่ไม่มีกากตามธรรมชาติเสีย

     3.2 ความเชื่อที่ว่าคาร์โบไฮเดรททำให้เป็นเบาหวาน เป็นความเชื่อที่ผิด อาหารเนื้อสัตว์ต่างหากที่ทำให้เป็นเบาหวาน

     งานวิจัยเปรียบเทียบแบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารสองชนิด [6] กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกันซึ่งมีทั้งเนื้อสัตว์และพืช อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว คือท้ายงานวิจัยซึ่งนานหกเดือนพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่กินแต่พืชเลิกยาเบาหวานได้หมด ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหารที่มีพืชเป็นหลัก ไม่ใช้น้ำมันผัดทอด ไม่มีเนื้อสัตว์แม้กระทั่งไข่ นม และปลาเลย

     งานวิจัยข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ซึ่งตอนนี้ได้ตามดูมาแล้วสิบกว่าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม) [3, 4]

     3.3 ความเชื่อที่ว่าอาหารไขมันไม่เกี่ยวกับการเป็นเบาหวานเป็นความเชื่อที่ผิด งานวิจัยพิสูจน์กลไกการดื้อต่ออินสุลิน [8] พบว่าการดื้ออินสุลินเกิดจากการมีไขมันเก็บสะสมไว้ในเซลมาก งานวิจัยนี้ทำโดยทำการวัดระดับความเข้มข้นของไกลโคเจนและกลูโคสที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อไว้ก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซล ซึ่งพบว่าอินสุลินทำให้มีการนำกลูโค้สเข้าเซลมากขึ้น มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจนมากขึ้น อันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายตามปกติ ต่อมาในขั้นทดลองก็ทำการฉีดไขมันจากอาหารตรงเข้าไปไว้ในเซลกล้ามเนื้อก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซลอีกครั้ง ซึ่งครั้งหลังนี้พบว่าอินสุลินไม่สามารถนำกลูโค้สเข้าไปในเซล และไม่มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจน ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่เซลกล้ามเนื้อดื้อต่ออินสุลิน อันสืบเนื่องมาจากการมีไขมันไปสะสมในเซลกล้ามเนื้อมาก

หลักฐานที่ว่าไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินอันเป็นต้นเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้มีการวิจัยกันบ่อยครั้ง  อีกงานวิจัยหนึ่ง[9] ทำที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้เลือกผู้ไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงมากอยู่แล้วมา 21 คน แล้วเลือกผู้กินเนื้อสัตว์ที่มีโครงสร้างสุขภาพคล้ายๆกันและกินคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้วมา 21 คน ให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายเท่ากัน กินอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากันทุกวันต่างกันเฉพาะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชเท่านั้น กินอยู่นาน 7 วันแล้วเจาะเลือดดูปริมาณอินสุลินที่ร่างกายผลิตขึ้นและตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจดูปริมาณไขมันสะสมในกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบกว่ากลุ่มวีแกนที่กินแต่พืชมีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่าและมีไขมันสะสมในกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก ซึ่งผลนี้ชี้บ่งไปทางว่าอาหารพืชหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ได้กระตุ้นการเพิ่มอินสุลิน แต่อาหารเนื้อสัตว์หรือไขมันต่างหากที่กระตุ้นการปล่อยอินสุลินและทำให้เป็นเบาหวาน

     ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรจำกัดอาหารไขมันให้เหลือน้อยที่สุด ไม่กินไขมันที่ได้จากการสกัดเช่นน้ำมันทำอาหารต่างๆ กินแต่ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วหรือนัททั้งเมล็ด เป็นต้น

     3.4 ความเข้าใจที่ว่าข้าวและแป้งทำให้เป็นเบาหวานตะพึด เป็นความเข้าใจที่ผิด เฉพาะธัญพืชที่ขัดสีเท่านั้นที่ทำให้เป็นเบาหวาน

     ความเป็นจริงคือถ้าเป็นธัญพืชไม่ขัดสีหรือแป้งที่เป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนตามธรรมชาติ -ข้าวกล้อง มันเทศ ทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น

     การวิเคราะห์ผลวิจัยติดตามสุขภาพแพทย์และพยาบาลของฮาร์วาร์ด [10] พบว่าการบริโภคข้าวขาวมาก(สัปดาห์ละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวกล้องมาก (สัปดาห์ละ 2 เสริฟวิ่งขึ้นไป) กลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว

     การทบทวนงานวิจัยที่ทำในยุโรป [11] เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินธัญพืชชนิดขัดสีและไม่ขัดสีกับการเป็นเบาหวานประเภท 2 ก็พบว่าการกินธัญพืชไม่ขัดสีมีผลลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่การกินธัญพืชขัดสีกลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่2 มากขึ้น

     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสุลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber – HCF) พบว่าทำให้ต้องใช้อินสุลินน้อยลงขณะที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง [12]

     ทั้งสี่ประเด็นนี้ฟังดูแม่งๆแปลกๆ คุณหมอไม่ต้องเชื่อผมในทันทีหรอกครับ แต่ลองเอางานวิจัยที่ผมให้ไว้ท้ายนี้ไปอ่านนิพนธ์ต้นฉบับดูนะครับ บางทีคุณหมออาจจะเห็นด้วยกับผมว่าการจะป้องกันและรักษาเบาหวานนั้น เราควรกินผลไม้ให้มากๆทุกชนิด ไม่ว่าจะหวานหรือไม่หวานก็ตาม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetesa randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.
2. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies.BMJ, 2013. 347: p. f5001.
3. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPICInterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 4759.
4. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPICInterAct Study. Diabetologia, 2014. 57(2): p. 32133.
5. Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009. 57(17): p. 80107.
6. Barnard, N.D., et al., A lowfat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care, 2006. 29(8): p. 177783.
7. Kahleova, H., et al., Vegetarian diet in type 2 diabetesimprovement in quality of life, mood and eating behaviour. Diabet Med, 2013. 30(1): p. 1279.
8. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acidinduced insulin resistance in humans.J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 285965.
9. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 2918.
10. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 9619.
11. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and doseresponse metaanalysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 84558.
12. Anderson, J.W. and K. Ward, Highcarbohydrate, highfiber diets for insulintreated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 231221.