Latest

ตอบคำถามคนใกล้ตาย

อาจารย์หมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันอ่านบล็อกแบบแฟนเงียบมาหลายปี ครั้งนี้เขียนมา เพราะอ่านบทความเรื่องความสุขสงบจากภายในกับชีวิตนิรันดร์ อ่านอยู่ยี่สิบกว่าเที่ยว แต่ยังมีความไม่เข้าใจอยู่อีกมาก ขอเล่าแบคกราวด์นิดนึง ดิฉันอายุ 55 แล้ว เป็นมะเร็ง … ระยะที่สี่ และคงจะต้องตายในเวลาอีกไม่นานนี้ อยากจะขอเวลาอาจารย์หมอไขข้อข้องใจต่อไปด้วยค่ะ
1. ที่ว่าเฝ้าดูความคิดนั้น วิธีทำจริงๆ ทำอย่างไร
2. การอยู่กับปัจจุบันทำนั้น อยู่อย่างไร ทำอย่างไร
3. ที่อาจารย์หมอบอกให้ทิ้งเวลาไป เวลาเป็นของมีค่าไม่ใช่หรือ
4. อาจารย์หมอพูดถึงจิตสำนึกกับความคิดราวกับว่ามันเป็นคนละอัน มันเป็นอันเดียวกันไม่ใช่หรือ
5. ความคิดกับอารมณ์เหมือนกันหรือเปล่า
6. ดิฉันมีความทุกข์จากอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง ควรแก้ไขอย่างไร
7. ต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดด้วย ควรทำอย่างไร
8. อีกไม่นานดิฉันก็จะตายแล้ว และปัจจุบันมันก็แย่ แล้วจะอยู่ได้อย่างไร
9. ขอให้อาจารย์หมอแนะนำวิธีเข้าถึงความสุขสงบภายในด้วยวิธีปฏิบัติที่ทำได้จริง

หวังในความเมตตาของอาจารย์หมอสันต์ค่ะ

……………………………………………………….

ตอบครับ

     พุทธัง ธัมมัง สังคัง ชีวิตนี้มันช่างเต็มไปด้วยความคันคะเยอเป็นอย่างยิ่ง ผมแชทเล่นติดลมกับฝรั่งแล้วเอามาเล่าให้ฟังเล่นๆ แต่มีผู้อ่านเอาไปอ่านกลับไปกลับมายี่สิบกว่าเที่ยว แล้วก็เกิดจิตไม่ว่าง อามิตตาภะ..พุทธะ โปรดอโหสิให้ผมด้วยเถอะ

เพื่อเป็นการไถ่บาป ผมลัดคิวตอบจดหมายให้คุณก่อน

1. ถามว่าการเฝ้าดูความคิดนั้น วิธีทำจริงๆ ทำอย่างไร 

     ตอบว่าก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับความคิดที่เกิดขึ้นในหัวของตัวเองก่อน ผมเคยมีคนไข้มาหาคนหนึ่งบอกผมว่าเธอได้ยินเสียงพูดในหัว พยาบาลผู้ช่วยของผมได้ยินแค่นั้นก็จัดแจงเดาใจผมออกล่วงหน้าและเขียนใบปะหน้าเตรียมส่งคนไข้คนนั้นไปปรึกษาจิตแพทย์แล้ว แต่ในความเป็นจริงผมไม่ได้ส่งคนไข้ไปหรอก และพอจบการรักษาคนไข้คนนั้นแล้วผมถามพยาบาลของผมว่า

     “คุณไม่ได้ยินเสียงพูดในหัวของคุณตลอดเวลาเหมือนเธอหรอกหรือ 
     ผมหมายถึงความคิดของคุณนั่นแหละ”

     ที่ข้างถนนแถวใต้ทางด่วนที่อนุสาวรีย์ชัยมีคนบ้าอยู่คนหนึ่ง เขาพูดพึมพำกับตัวเองตลอดเวลา พวกเราทุกคนก็เป็นเหมือนเขานั่นแหละ ในหัวเรามีความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา เรารับรู้ความคิดของเราตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่บอกเล่าออกมาเป็นเสียงพูดของเราให้คนอื่นได้ยินอีกต่อหนึ่งเหมือนคนบ้าคนนั้นเท่านั้นเอง

     การเฝ้ามองความคิดจากข้างนอก (aware of a thought) ก็คือการใส่ใจฟังเสียงในหัวของคุณนั่นเอง ใส่ใจเป็นพิเศษกับความคิดที่มาในรูปแบบลบๆเดิมๆซ้ำๆซากๆ ความคิดแบบแผ่นเสียงตกร่องเหล่านี้เล่นอยู่ในหัวคุณมานานหลายปีแล้ว คุณเฝ้าดู เป็นประจักษ์พยานรับรู้มัน ฟังอย่างใจเย็น ฟัง แต่อย่าพิพากษา อย่าประณาม เอาแค่ว่านั่นเป็นเสียงในหัว นี่เป็นฉัน เฝ้าฟังเฝ้าดูอยู่ นั่นหมายความว่าขณะเฝ้าดูความคิด คุณไม่ได้มีแค่สติรู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีสติรู้ตัวว่าคุณกำลังเฝ้าดูความคิดด้วย นี่เป็นการรับรู้ว่าจิตสำนึกของคุณออกมาอยู่นอกความคิดได้ เป็นคนละพวกกัน คุณไม่ได้เป็นพวกเดียวกับความคิด เฝ้าดูอยู่อย่างนี้แล้วคุณจะประหลาดใจว่าความคิดเมื่อถูกเฝ้าดู แม้จะไม่ถูกตำหนิติฉิน มันเองจะขวยอายแล้วฝ่อหายไปเอง พอมันฝ่อหายไปแล้ว มันจะเกิดช่องว่างขึ้นแป๊บหนึ่ง แป๊บเดียวเท่านั้น เดี๋ยวอีกความคิดหนึ่งก็จะโผล่มา แต่ว่าแป๊บเดียวนั้นเป็นวินาทีทองที่คุณจะได้สัมผัสภาวะที่กระแสความคิดขาดตอนลง เป็นช่องว่าที่ไม่มีความคิด เมื่อช่องว่างนี้เกิดขึ้นคุณจะรู้สึกถึงความสงบเย็นจากภายใน และถ้าคุณขยันฝึกขยันเฝ้าดูความคิด แป๊บเดียวนี้ก็จะค่อยๆขยายยาวขึ้นๆ ความรู้สึกนิ่งๆ และสงบเย็นจะค่อยๆลึกยิ่งขึ้น บางครั้งก็จะรู้สึกว่ามีความร่าเริงเบิกบานเกิดขึ้นมาจากภายใน ยิ่งลงลึกไปในสภาวะที่ไม่มีความคิดนี้ ยิ่งรู้สึกว่าจิตสำนึกและสติแหลมคม เบิกบานใจ สุขกายสุขใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วันหนึ่งคุณจะพบว่าตัวเองยิ้มให้กับความคิดของตัวเอง ราวกับยิ้มให้กับความไร้เดียงสาของเด็ก นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ถือเอาสาระในความคิดของคุณเป็นตุเป็นตะตะพึดอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าความเป็นตัวคุณ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดของคุณอีกต่อไปแล้ว

     ไม่ต้องกลัวว่าไม่คิดอะไรแล้วชีวิตจะเสียหาย ผมว่า 80-90% ของความคิดของคนเรานอกจากซ้ำซากแล้วยังเป็นผลร้ายต่อเราอีกต่างหาก สารัตถะหลักของความคิดของคนเราเมื่อฟังแล้วลองถอดเทปออกมาดูจะเห็นว่าล้วนวนเวียนอยู่กับความ “ถือดี” ในตัวเอง ผมเรียกง่ายๆว่าอีโก้ก็แล้วกันนะ กลไกการเกิดอีโก้ก็คือการที่จิตสำนึกของเราเข้าไปคลุกคลีตีโมงรับลูกจากความคิดมาเล่นลูกต่อนั่นเอง สำหรับอีโก้ มันมีอยู่สองวาระเท่านั้นเอง วาระที่หนึ่ง คือธำรังรักษาอดีตให้มีชีวิตชีวาอยู่ในหัวของเราเสมอ เพราะหากไม่มีอดีตอันรุ่งเรือง ความถือดีว่าเป็นตัวเราจะมีที่ไหนละใช่แมะ เพราะความถือดีนี้มีอยู่ได้เพราะเราภาคภูมิใจกับอดีตอันรุ่งเรืองและยาวนานของเรา ถ้าสิ้นอดีตก็สิ้นอีโก้ วาระที่สอง ของอีโก้ คือวาดภาพอนาคตให้เราหลงใหลใฝ่ฝันว่าในปีพ.ศ.นั้นพ.ศ.นี้เราจะต้องได้จะต้องมีจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่มีอนาคตให้วาดภาพ อีโกก็หมดความหมายเช่นกัน ดังนั้นอีโก้จึงดำรงอยู่ไม่ได้ในปัจจุบันขณะ เพราะปัจจุบันขณะมีแต่ของจริงที่นี่เดี๋ยวนี้ โดยไม่มีความคิด แต่สำหรับอีโก้ปัจจุบันไม่ใช่ปัจจุบันแบบนี้ ปัจจุบันแบบอีโก้เป็นเพียงขั้นบันได้ที่ใช้เหยียบไปหาอนาคตเท่านั้น เพราะอีโก้นิยามความเป็นตัวเราไว้ในอนาคต สำหรับอีโก้ ปัจจุบันไม่เคยดี ไม่เคยพอ ต้องเอาแบบที่วาดไว้ในอนาคตจึงจะดี จึงจะพอ ถึงแม้ในบางกรณีอีโก้จะยอมรับว่าปัจจุบันดีแล้วมีพอแล้ว อีโก้ก็ยังจะตั้งประเด็นอีกว่าแต่อนาคตถ้าไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้สิ่งที่ดีแล้วพอแล้วในวันนี้ในอนาคตมันจะสูญเสียไปกลายเป็นไม่ดีไม่พอนะ เพราะธรรมชาติของอีโก้คือภาพวาดของตัวเราในอนาคต ดังนั้นหากอยู่ในปัจจุบันที่แท้จริง ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีอนาคต แล้วอีโก้จะไปอยู่ที่ไหน คนบ้าอีโก้จึงอยู่ในปัจจุบันขณะไม่ได้ จะต้องทิ้งอีโก้ไปก่อนจึงจะอยู่ในปัจจุบันขณะได้

     ในแง่ที่ความคิดเป็นเครื่องมือทำมาหากินนั้นไม่มีปัญหา เมื่อทำงานเราก็ใช้ความคิดแก้ปัญหาการงาน พองานจบ คุณก็วางเครื่องมือลง วิธีหนึ่งที่เป็นเทคนิคที่ดีในการคิดเพื่อทำงานหรือเรียนหนังสือก็คือทำงานหรืออ่านหนังสือไปสักพักแล้วหยุดตั้งหลักกลับมาดูปัจจุบันเข้าไปสู่ดินแดนไร้ความคิดสักแป๊บหนึ่งแล้วกลับไปทำงานหรืออ่านหนังสือใหม่ ทำเช่นนี้สลับกันไป จะทำให้การทำงานหรืออ่านหนังสือเป็นไปอย่างโฟกัส มีสติประกอบไม่กระเจิดกระเจิง มีประสิทธิภาพดี และไม่เครียดด้วย

2. ถามว่าการอยู่กับปัจจุบันอยู่อย่างไร

     ตอบว่า ก็คือเปลี่ยนวิถีชีวิตที่แต่เดิมเราใช้ปัจจุบันเป็นเพียงแค่ขั้นบันไดเพื่อจะเหยียบขึ้นไปสู่อนาคตที่เราคาดหมายหรือฝันใฝ่ รีบๆลกๆเพื่ออนาคต คราวนี้ไม่เอาแล้ว เปลี่ยนใหม่ ไม่ว่าจะทำกิจอะไรอยู่ ให้คุณมุ่งให้การทำกิจขณะนั้นนั่นแหละเป็นเป้าหมายปลายทางในตัวของมันเอง ทีละขณะๆ ไม่ต้องไปสนถึงอนาคตว่าคุณจะรีบไปเอาโน่นเอานี่ ไม่ต้องไปสนว่าผลของสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นอย่างไร จะออกหัวหรือออกก้อย สนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงนั้นอย่างหมดจิตหมดใจราวกับว่าชีวิตคุณมีแต่วินาทีนั้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตื่นนอนแล้วเดินลงบันไดบ้าน ให้ใส่ใจทุกก้าวย่างที่เหยียบย่างลงพื้นบันได ทุกลมหายใจที่หายใจเข้า หายใจออก อยู่กับปัจจุบันขณะนั้นอย่างเต็มตัว หรือเมื่อคุณล้างมือ ก็ใส่ใจทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะของการล้างมือ ใส่ใจเสียงของน้ำ ความรู้สึกเย็นของน้ำ ความลื่นไหลของสบู่ การเคลื่อนไหวของมือ เป็นต้น หรือเมื่อเข้าไปนั่งในรถยนต์ ปิดประตูรถแล้ว หยุดชั่วขณะ สังเกตลมหายใจของตัวเอง รับรู้ความเงียบแต่มีพลังของปัจจุบัน ให้คุณทิ้งทุกอย่างที่ก่อตัวค้างอยู่ในใจไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ใดๆ หันมาสนใจสิ่งรอบตัวที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่รับรู้ผ่านเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นและผิวกาย รับรู้เฉยๆ ไม่คิดตีความต่อยอด ฟังเสียงนก เสียงจิ้งหรีด เสียงหมาเห่าแต่ไกล เสียงไก่ขัน ตามองดูต้นไม้หรือท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ รับรู้ความเย็นวูบที่ผิวหนังหรือขนลุกเพราะถูกลมโชยพัดมา

     ตัวชี้วัดว่าคุณอยู่กับปัจจุบันได้สำเร็จจริงหรือไม่ก็คือถ้า ณ ขณะนี้ความสุขสงบจากภายในตัวคุณเกิดขึ้น นั่นก็คือคุณอยู่กับปัจจุบันได้สำเร็จแล้ว แต่ถ้าใจคุณยังไม่สงบ แสดงว่าคุณยังไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน คุณไปเข้าเป็นพวกเดียวกับความคิดซึ่งฟื้นอดีตหรือวาดอนาคต คุณสร้างตัวตนของคุณขึ้นมาจากเนื้อหาสาระของความคิดของคุณ  คุณยังติดกับดักเวลา ชีวิตยังคงถูกบีบอัดด้วยการดิ้นรนอยู่รอดเพื่อพรุ่งนี้ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่ว่าคุณจะต้องเปลี่ยนเลิกไปทำอย่างอื่น เปล่าเลย คุณทำสิ่งที่ทำอยู่เดินนั่นแหละ แต่เปลี่ยนวิธีทำเสียใหม่ คือทำด้วยวิธียอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น แล้วสนใจใส่ใจในสิ่งที่กำลังทำในขณะนั้นให้มากขึ้น หากคุณยังต่อต้านมันอยู่คุณจะใส่ใจทำมันจริงจังไม่ได้ คุณต้องยอมรับมันก่อน แล้วคุณจึงจะใส่ใจจริงจังได้ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อคุณใส่ใจทำจริงจังแล้ว หมายความว่าคุณจะเปลี่ยนมาสนใจตัวการลงมือทำมากกว่าสนใจผลลัพธ์ว่ามันจะได้ผลดีไม่ดีต่อคุณในอนาคตอย่างไรด้วย เมื่อคุณหันเหความสนใจมาที่ปัจจุบัน คุณจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ที่นั่น ความเบิกบานของการ “อยู่” ตรงนั้นและความนิ่ง ความสงบจากภายใน จะไหลอาบคุณเอง คุณไม่ต้องไปพึ่งพาหรือหวังเติมเต็มความพึงพอใจจากความสำเร็จของคุณในอนาคต ไม่ต้องไปรออนาคตมาช่วยให้คุณรอดปลอดภัย อนาคตไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวแต่ ณ ปัจจุบันนี้คุณจะได้สัมผัสพลังความมีชีวิตชีวาของปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ปัญหาชีวิต เช่นเดียวกัน อดีตก็จะไร้ความหมาย เพราะขณะนี้คุณกำลังเป็นคุณ ความจำเป็นที่จะต้องเป็นใครสักคนที่ไม่ใช่ตัวจริงที่คุณกำลังเป็นอยู่ตอนนี้หมดไปแล้ว เราจะไปเก็บภาพหรือหุ่นปั้นตัวของเราที่ปั้นไว้ในอดีตไว้ทำไม คุณอาจจะยังใช้ชีวิตไปตามแผนการที่วางไว้จากอดีตอยู่ก็จริง แต่ในระดับลึก คุณสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ตอนนี้ เป็นอิสระแล้ว จึงมีแต่ความเบิกบานและพลังที่คุณจะทำอะไรได้มากยิ่งขึ้น ไม่ต้องลุ้นผลลัพธ์ด้วยความกลัวหรือกังวลหรือหงุดหงิดที่ต้องทำตัวให้ได้ตามสะเป๊คที่ตัวเองวางไว้จากอดีตอีกต่อไปแล้ว ความสุขหรือความเป็นคุณไม่ขึ้นกับผลลัพธ์ในอนาคตอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องไปเสาะหาความจีรังในอนาคตซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีวันจะหาเจออีกต่อไปแล้ว คุณจึงเป็นอิสระจากความกลัวหรือกังวล

3. ถามว่าเวลาเป็นของมีค่าไม่ใช่หรือ จะทิ้งไปได้อย่างไร

     เวลาอันยาวนานในอดีตและในอนาคตนั้นไม่ได้เป็นสิ่งมีค่าดอก แต่จุดเดียวของเวลาคือปัจจุบันหรือหนึ่งวินาทีนี้เท่านั้นที่มีค่า คุณเคยมีประสบการณ์อะไร คิดอะไร หรือรู้สึกอะไรเมื่อตัวเองอยู่นอกปัจจุบันไหม..ไม่มี้ ไม่มี ทุกอย่างเกิดที่ปัจจุบันทั้งนั้นแหละ ที่คุณคิดว่าเป็นอดีตเป็นเพียงบันทึกเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับปัจจุบันในครั้งนั้น อนาคตเป็นพียงการคาดการณ์ และเมื่ออนาคตมาถึงจริงๆมันมาถึงในรูปของปัจจุบัน อดีตและอนาคตจึงเป็นเพียงแสงสะท้อนของปัจจุบัน ชีวิตเรามีแต่ปัจจุบันเท่านั้น..เรื่อยมา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต แต่ความทุกข์ระทมขมขื่นมันจำเป็นต้องอาศัยมิติของเวลาเพื่ออ้อยอิ่งในใจของคุณชักจูงให้คุณคร่ำครวญถวิลหาอดีต หรือวาดความอ้างว้างของอนาคตให้คุณกลัวและกังวล แต่ ณ ที่ปัจจุบัน ความคิดลบเหล่านั้นไม่มีที่อยู่หรอก ให้คุณเลิกนิสัยปฏิเสธปัจจุบันเสีย หนีจากอดีตหรืออนาคตทุกครั้งที่มันไม่จำเป็นต่องานของคุณ ก้าวออกมาจากมิติของเวลาให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน ถ้ารู้สึกว่ายังทำไม่ได้ก็ให้ลองสังเกตแนวโน้มหรือนิสัยใจของคุณที่คิดจะหนีไปจากปัจจุบันอยู่ร่ำไป สังเกตให้เห็นว่าอนาคตเป็นการคาดการณ์อยู่สองอย่างคือดีกับแย่ ถ้าคาดว่าจะดีคุณก็วางใจ ถ้าคาดว่าจะแย่คุณก็กังวล แต่มันเป็นภาพหลอนทั้งคู่

     สถานการณ์ของชีวิตแตกต่างจากตัวชีวิตนะ สถานะการณ์ของชีัวิตเป็นเรื่องของความคิด มันเป็นของหลอกที่ทำให้เราจมอยู่ในมิติของเวลา แต่ตัวชีวิตเป็นของจริง ซึ่งมีอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ในสถานการณ์ของชีวิตทุกอย่างมีแต่ปัญหาจนไม่มีช่องว่างให้กับอะไรอย่างอื่นเลย ไม่มีแม้แต่ช่องว่างที่จะเปิดให้เข้าไปแก้ปัญหาได้ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำได้ ลองสร้างช่องว่างขึ้นมาด้วยการหยุดคิดและอยู่นิ่งๆสักหน่อยสิ แล้วคุณจะพบกับชีวิตจริงของคุณซึ่งซุ่มอยู่ใต้สถานการณ์ชีวิตนั้น

4. ถามว่าจิตสำนึกกับความคิดเป็นอันเดียวกันไม่ใช่หรือ

     ตอบว่า ไม่ใช่ครับ ความคิดกับจิตสำนึกรับรู้เป็นคนละอย่างกันนะ ความคิด (thought) เป็นเพียงส่วนเล็กๆของจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ถ้าไม่มีจิตสำนึกรับรู้ ความคิดจะมีไม่ได้ แต่จิตสำนึกรับรู้มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีความคิด การพาจิตสำนึกโผล่ขึ้นเหนือระดับความคิดคือการปลดแอกครั้งยิ่งใหญ่ของการเกิดมามีชีวิต เมื่อคุณทำอย่างนั้นได้แล้ว คุณก็ยังใช้ความคิดในการคิดวิเคราะห์อะไรได้อยู่นะ แต่เป็นการใช้งานในลักษณะที่เจาะจงและมีประสิทธิภาพดีกว่าอย่างที่เคยเป็น คุณใช้ความคิดเพื่อการใดการหนึ่ง แต่เป็นอิสระจากเสียงพูดในหัวที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติเกือบตลอดเวลา นั่นคือคุณจะมีความนิ่งภายในขณะที่คุณใช้ความคิดทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณจำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ คุณจะวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างการคิด กับการอยู่นิ่งๆ ระหว่างการคิด กับการไม่คิด วิธีนี้เท่านั้นแหละที่คุณจะคิดสร้างสรรค์อะไรได้ และวิธีนี้เท่านั้นแหละที่ความคิดจะมีพลังที่แท้จริง ปกติความคิดที่เกิดขึ้นเองในหัวจะเป็นเครื่องจักรที่ถนัดไปทางเปรียบเทียบ ชิงดี โจมตีตัวตนของคนอื่น แต่ไม่ถนัดสร้างสรรค์ ศิลปินยิ่งใหญ่ทุกคนสร้างสรรค์งานผ่านจิตสำนึกรับรู้ในภาวะปลอดความคิด แล้วความคิดค่อยเอารูปแบบจากตรงนั้นไปคิดต่อยอดอีกทีหนึ่ง

5. ถามว่าอารมณ์กับความคิดเหมือนกันไหม

     ก่อนอื่นผมขอนิยามก่อนนะ คำว่าอารมณ์ ผมเดาเอาว่าคุณหมายถึงอารมณ์ในภาษาไทยนะ ซึ่งตรงกับคำอังกฤษว่า emotion คุณคงไม่ได้หมายถึงอารมณ์ในภาษาบาลี ซึ่งตรงกับคำอังกฤษว่า mental object

     เมื่อผมพูดถึงความคิด ผมหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจ (thought formation) ซึ่งผมหมายความรวมทั้งความคิด (thought) อารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) ด้วย เพียงแต่ว่าอารมณ์นี้เป็นความคิดชนิดที่เชื่อมต่อกับร่างกายได้อย่างใกล้ชิด

     หมายความว่าอารมณ์คืออาการที่ร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความเจ็บปวดเชิงอารมณ์เช่นแค้นเคือง เกลียด รู้สึกผิด สงสารตัวเอง ซึมเศร้า อิจฉา ก่อความเจ็บปวดทางร่างกาย ความคิดก้าวร้าวจะก่อแรงในร่างกายแบบที่เรียกว่าความโกรธ พร้อมที่จะโจมตีต่อสู้ หลอดเลือดหดตัว ความดันเลือดสูงขึ้น ความคิดกลัว ทำให้ร่างกายหด เกร็ง ซึ่งตามมาด้วยอาการปวดเพลียล้า ยิ่งมีอารมณ์รุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีในร่างกายยิ่งมาก เรื่องนี้วิชาแพทย์รู้กลไกความเป็นไปค่อนข้างแน่ชัด จะพูดว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีนี้เป็นภาควัตถุของอารมณ์ก็ว่าได้

6. ถามว่าจะควบคุมอารมณ์ได้อย่างไร

     ตอบว่าเนื่องจากอารมณ์คือความคิดอย่างหนึ่ง การจะทำให้มันฝ่อไปก็ต้องใช้เทคนิคเฝ้าดูจากข้างนอกนั่นแหละ แต่ว่าในความเป็นจริงคนที่ยังไม่มีทักษะในเรื่องนี้จะไม่รู้ตัวไปเสียทุกครั้งว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่สำหรับอารมณ์ เรายังมีวิธีรับรู้มันอีกวิธีหนึ่งคือมาเฝ้าดูอาการของร่างกาย ถ้าคุณหายใจสั้น หายใจเร็วฟืดฟาด ใจเต้น ใจสั่น เกร็ง ปวด นั่นแหละ คุณมีอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าข้อมูลสองข้างนี้ขัดแย้งกัน หมายความว่าคุณมีอาการทางร่างกายแล้วคุณกลับไปเช็คดูความคิดก็ไม่เห็นจะมีความคิดอะไรที่เป็นอารมณ์รุนแรงเลย ให้คุณเชื่ออาการทางร่างกายไว้ก่อน อย่าเชื่อความคิด เพราะร่างกายไม่เคยโกหก แต่ความคิดโกหกคุณได้เพราะมันเป็นอีโก้ของคุณเอง อีกอย่างหนึ่ง อาการของร่างกายในขณะนั้นอาจเกิดจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นนานมาแล้วแต่โผล่กลับขึ้นมาให้แบบซ้ำซากใหม่

     ยิ่งเราไปคลุกคลีหรือเล่นด้วยกับความคิดของเรามาก อารมณ์ก็จะยิ่งเกิดได้รุนแรง เพราะมันจะเป็นวงจรผีกับโลง กล่าวคือพออารมณ์ปั่นให้พลังงานลบของร่างกาย “ขึ้น” มาได้ที่ ใจเราซึ่งไปคลุกอยู่กับความคิดก็จะเผลอใส่ไฟด้วยการคิดต่อยอด โดยตัวเราไม่รู้ตัว ในสภาวะเช่นนี้ เมื่อใดที่เกิดความคิดหรืออารมณ์ขึ้นเราจะไม่รู้เพราะเรามัวไปขลุกอยู่ในความคิด ต้องไปดูเอาที่ร่างกาย ดังนั้น หากเราจะเฝ้าดูอารมณ์เราเฝ้าดูที่ร่างกาย เฝ้าดูแบบปล่อยให้อารมณ์ดำเนินไป ไม่ต้องพะวงว่ามันจะครอบเรา เพราะตัวคุณไม่ใช่อารมณ์หรือความคิดใดๆอีกต่อไปแล้ว คุณเป็นผู้ดู ผู้สังเกตการณ์ ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ สิ่งต่างๆที่ฝังแฝงอยู่ภายใต้จิตสำนึก จะค่อยๆทยอยถูกพาขึ้นมาสู่จิตสำนึก หากคุณรับรู้มันแบบเฉยๆไปทุกครั้ง นานไปมันก็จะหมดไปเอง หมั่นถามตัวเองจนเป็นนิสัยว่า

     “ตอนนี้ในร่างกายของฉันกำลังเกิดอะไรขึ้น” 

     อนึ่ง เมื่อเกิดความเจ็บปวดขึ้นกับร่างกายแล้ว สำหรับคนที่คลุกอยู่กับความคิดตัวเองจนแยกไม่ออก ก็จะเกิดผีกับโลงคู่ที่สอง คือพออารมณ์ทำให้เกิดความเจ็บปวดบนร่างกาย ความคิดก็พยายามขจัดความเจ็บปวด แต่ยิ่งพยายาม ยิ่งปวดหนัก เพราะตัวความคิดนั้นแหละที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บปวด มันจะไปขจัดความเจ็บปวดได้อย่างไร

     พูดถึงอารมณ์นี่มันคือความปั่นป่วนนะ ต้องแยกให้ออกจากความรู้สึกเมตตา ความเบิกบาน และความสุขสงบจากภายใน สามอย่างหลังนี้เป็นของละเอียดกว่าและเป็นคนละอันกับอารมณ์ที่เราพูดถึงนะ สามอย่างหลังนี้เป็นลักษณะของจิตสำนึกก้นบึ้งดั้งเดิม หรือจิตเดิมแท้ของเรา ซึ่งเราจะสัมผัสได้เมื่อจิตสำนักตื่นอยู่โดยปลอดจากความคิด

7. ถามว่าการต้องทนทรมานกับความเจ็บปวด ควรทำอย่างไร

     ตอบว่าความเจ็บปวดที่ก่อขึ้นในปัจจุบันเกิดจากการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ในระดับความคิดมันคือการพิพากษา ในระดับอารมณ์มันคืออารมณ์ที่เป็นลบ ความรุนแรงของอาการปวดขึ้นกับความแรงของการปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความแน่นแฟ้นของการเข้าเป็นพวกเดียวกับความคิดของคุณ

     ความคิดมีธรรมชาติปฏิเสธปัจจุบันและหนีจากปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะปัจจุบันไม่มีที่ให้ความคิดอยู่ เมื่อมีความคิดมิติของอดีตอนาคตก็เกิดขึ้น ยิ่งคุณไปเข้าพวกกับความคิดแน่นแฟ้นยิ่งเจ็บปวดมาก ยิ่งให้เกียรติและยอมรับปัจจุบันมากเท่าได้ ยิ่งหายจากความเจ็บปวดได้มากเท่านั้น แต่คุณไปลดค่าของปัจจุบันให้เป็นแค่ขั้นเหยียบเพื่อไปสู่อนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในความคิดเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่ในความเป็นจริง ถ้าไม่อยากเพิ่มความเจ็บปวดขึ้นไปจากที่มีอยู่ ให้หยุดสร้างเวลา หรืออย่างน้อยก็หยุดสร้างเวลานอกเหนือจากที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้ชีวิตปกติดำเนินต่อไปได้ จะหยุดสร้างเวลาอย่างไรนะหรือ ก็โดยการตระหนักรู้ว่าปัจจุบันว่าเป็นขณะที่มีค่าที่สุดที่คุณมี ให้พูด “เยส” กับปัจจุบันเสมอ “เยส” กับชีวิต ยอมรับทุกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยอมรับอย่างที่มันเป็นราวกับว่าคุณเป็นคนเลือกมันมาด้วยตัวคุณเอง แล้วจึงค่อยลงมือดำเนินการใดๆที่คุณเห็นควร ยอมรับ แล้วลงมือดำเนินการ ทำงานร่วมกับปัจจุบัน ไม่ใช่ต่อต้านปัจจุบัน ให้ปัจจุบันเป็นพันธมิตร ไม่ใช่เป็นศัตรู

     ตราบใดที่คุณยังไม่ยอมรับปัจจุบัน ทุกความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะทิ้งรอยไว้ให้มีผลต่อคุณอีก มันจะไปบวกกับความเจ็บปวดในอดีตแล้วหวลกลับมาเล่นงานกายและใจคุณอีกซ้ำซาก ร่างกายที่เจ็บปวดนี้บางครั้งจะเป็นตัวจี้ให้คุณฆ่าตัวตาย จงเฝ้ามองจุดที่ไม่เป็นสุขในร่างกายคุณไม่ว่าจะในรูปแบบไหน มันอาจจะเป็นร่างกายที่เจ็บปวดกำลังเริ่มออกอาการ มันอาจจะแสดงในรูปแบบของความหงุดหงิด ใจร้อน โกรธ มุ่งร้าย ซึมเศร้า เรียกร้อง พอมันโงหัวโผล่ขึ้นมา ให้รีบจับมันให้ได้ จ้องให้ทัน อย่าปล่อยให้มันแอบมาสิงอยู่โดยไม่รู้ตัวแล้วลากเอาคุณไปเป็นพวกมัน ความเจ็บปวดเมื่อได้ก่อความเจ็บปวดมันจะเติบโตขึ้นเมื่อมันเอาคุณเป็นพวกได้ พอปวดแล้ว คุณก็อยากจะปวดอีกให้มากขึ้น คุณกลายเป็นเหยื่อ ลักษณะที่คุณคิดและประพฤตินั้นมุ่งจะทำให้ความเจ็บปวดคงอยู่และเพิ่มขึ้น ความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเจ็บปวดเติบโตในตัวคุณ ถ้าคุณไม่เผชิญหน้า ไม่เอาจิตสำนึกไปรับรู้ความเจ็บปวด คุณก็จะอยู่ในวังวนนั้นซ้ำซาก คุณไม่ต้องกลัว ผมรับประกันได้ ผมเป็นหมอที่อยู่กับคนไข้ที่ประสบความเจ็บปวดทุกรูปแบบมามาก ผมเข้าใจตรงนี้ดี ความเจ็บปวดดูเหมือนยิ่งใหญ่ แต่มันไม่มีอำนาจต่อต้านจิตสำนึกของคุณได้หรอก ทุกความเจ็บปวด ท้ายที่สุดก็คือภาพหลอน ถ้าคุณอยู่ที่นั่น เฝ้าดูความเจ็บปวดอย่างสงบด้วยจิตสำนึกรับรู้ เฝ้าดูหมายถึงยอมรับมัน ณ ขณะนั้น เมื่อเริ่มเฝ้า มันจะปวดมากขึ้นแต่จะไม่นาน เฝ้าดู ในที่สุดมันจะฝ่อหายไป อย่าไปคิดลบ เพราะ ความคิดลบเป็นพันธมิตรกับความเจ็บปวด มันจะไปเสริมพลังกัน การเฝ้าดูความเจ็บปวดเป็นการแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นพลังชีวิต อย่าเอาตัวเองไปเป็นผู้ปวด แต่แยกตัวออกมาเป็นผู้สังเกต มองกลับเข้าไปภายในตัว รับรู้ (aware) ทั้งความเจ็บปวด และทั้งตัวผู้สังเกตอยู่เงียบๆ

8. ถามว่าอีกไม่นานก็จะตายแล้ว และปัจจุบันมันก็แย่ แล้วจะอยู่ได้อย่างไร

     ตอบว่าการที่คุณจะต้องตายวันพรุ่งนี้ ไม่สำคัญ แต่การที่คุณสูญเสียปัจจุบันในวันนี้ไปเป็นเรื่องสำคัญ

     คุณว่าปัจจุบันมันแย่ ผมเข้าใจ ลองสังเกตดูซิว่าคุณบ่นอะไรกับสิ่งรอบตัวไหม แม้แต่กับดินฟ้าอากาศ การบ่นคือการไม่ยอมรับอะไรที่มันเป็นอยู่ มันมีความเป็นลบอยู่ในตัวมันอยู่แล้ว เมื่อคุณบ่น คุณทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ จิตใจคนที่เข้าไม่ถึงความสงบสุขจากภายในจะปฏิเสธปัจจุบันอยู่เสมอ คุณล่องลอยไปที่อื่น เพราะที่นี่เดี๋ยวนี้ไม่ดีพอ

     เมื่อใดที่พบว่าปัจจุบันมันแย่ คุณมีทางเลือกสามทาง คือ (1) หนีไป (2) เปลี่ยนมัน หรือ (3) ยอมรับมันอย่างสิ้นเชิง

     คุณต้องเลือก แล้วยอมรับผลที่จะตามมา ไม่ต้องโอ้เอ้ด้วยการสร้างความคิดลบ หรือปฏิเสธ เมื่อคุณเป็นทุกข์การลงมือดีกว่าการไม่ลงมือ ถ้าลงมือพลาดคุณก็ได้เรียนรู้ ถ้ากลัวให้คุณรับรู้ความกลัวแล้วเฝ้าดูความกลัวนั้น สนใจมันจริงจัง อยู่กับมัน วิธีนี้จะตัดสายสัมพันธ์ระหว่างความกลัวกับความคิดของคุณ
ถ้าคุณหมดทางไปให้ยอมรับมันอย่างสิ้นเชิงว่าคุณอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้กับมัน ทิ้งแรงต่อต้านขัดขืนทุกอย่างหมด อีโก้ที่ชอบแสดงบทนางเอกเจ้าน้ำตา รันทด เสียใจ คุมแค้น ก็จะไม่มีที่อยู่ในใจคุณเพราะคุณยอมรับทุกอย่างเสียแล้ว การยอมศิโรราบไม่ใช่ความอ่อนแอ ตรงกันข้ามเป็นความเข้มแข็งที่จะทำให้คุณเป็นอิสระจากสถานการณ์ชีวิตในทันที

     งานวิจัยการนอนหลับพบว่าเมื่อเราหลับ จิตสำนึกของเราจะวิ่งรอกขึ้นลงระหว่างการหลับลึกและการฝัน (REM sleep) เช่นเดียวกัน เมื่อเราตื่น จิตสำนึกของเราจะวิ่งขึ้นลงระหว่างการรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันโดยไม่มีความคิด กับการคลุกหรือจมอยู่ในความคิดและอารมณ์ ซึ่งกรณีหลังนี้เป็นวิถีหลักของคนทั่วไป ในวิถีนี้อีโก้เป็นผู้กำหนดชีวิตเรา มันเป็นวิถีที่เราจะรับรู้ถึงความหงุดหงิด หรือเบื่อระดับนิดๆอยู่เกือบตลอดเวลาโดยเราไม่รู้ตัว เหมือนกับเราไม่ได้ยินเสียงหึ่งของเครื่องปรับอากาศจนกว่าเครื่องมันจะหยุดเราจึงจะรู้สึกว่าพอมันหยุดแล้วสบายหูดีจัง หลายคนหันไปหาแอลกอฮอล์ ยา เซ็กซ์ อาหาร งาน ทีวี. หรือแม้กระทั่งช้อปปิ้ง เพื่อขจัดความหงุดหงิดหรือความเบื่อนิดๆนี้ ซึ่งมันก็ได้ผลบ้างเป็นระยะสั้นๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่อะไรบางอย่างในชีวิตผิดพลาดไปความหงุดหงิดหรือเบื่อนิดๆนี้จะกลายเป็นความทุกข์ขนาดใหญ่ทันที

     ครั้นพอคุณเรียนรู้การแยกตัวออกมานั่งมองความคิดและอารมณ์ คุณจะแปลกใจที่พบว่าเจ้าตัวความหงุดหงิดหรือเบื่อเล็กๆนี้เป็นตัวป่วนชีวิตคุณอยู่ตลอดเวลา ในระดับความคิดมันชักนำคุณให้ต่อต้านสิ่งรอบตัวในรูปของการตัดสิน พิพากษา วาดภาพอนาคต ในระดับอารมณ์มันทำให้คุณเครียดและประสาทกิน ทั้งสองรูปแบบก็คือการต่อต้านไม่ยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

      คุณรับมือกับปัจจุบันได้เสมอ แต่คุณรับมือกับอนาคตไม่ได้หรอกเพราะมันไม่มีอยู่จริง การพูดว่า “สักวันหนึ่ง” หรือการรออะไรเป็นอาจิณ เช่น รออาชีพใหม่ รอเกษียณ รอเงิน รอตำแหน่ง รอตรัสรู้ การรอเป็น state of mind ที่หมายความว่าคุณรออนาคต คุณไม่ต้องการปัจจุบัน การรอเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ในชีวิตทำให้เสียการใช้ชีวิตไป เป็นการดูดเอาชีวิตและความเบิกบานของปัจจุบันออกไปจากตัวคุณ ไม่ว่าคุณจะได้อะไรมา มันก็ยังไม่ดีพออยู่นั่นเอง อนาคตมันจะดีกว่านี้เสมอ นั่นก็คือคุณจะไม่มีวันได้สัมผัสกับความพึงพอใจในชีวิต คุณเฝ้าแต่รอคอย การวางเป้าหมายไม่มีอะไรไม่ดี แต่การเอาเป้าหมายนั้นทดแทนโอกาสทองที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันต่างหากที่ไม่ดี จำคำที่ฝรั่งชอบพูดกันบ่อยๆว่า..

     “If not now, When?”

     ขอเพียงแค่คุณได้แอบถ้ำมองเข้าไปในจิตสำนึกยามที่ว่างจากความคิดแม้เพียงครั้งเดียว คุณก็จะรู้เลยว่าชีวิตคุณส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน รู้แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จขั้นต้นที่ยิ่งใหญ่แล้ว คุณจะเริ่มวิ่งสับหว่างไปๆมาๆระหว่างปัจจุบันกับมิติของเวลา แล้วช่องว่างระหว่างความคิดมันจะค่อยๆใหญ่ขึ้น คุณจะอยู่ในปัจจุบันมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิถีหลักของคุณได้ในที่สุด

9. ถามว่าการเข้าถึงความสุขสงบจากภายในทำอย่างไร

     ตอบว่าคุณลองจ้องดูท้องฟ้ากลางคืนแล้วรับรู้ความกว้างใหญ่ นิ่งฟังสรรพเสียงของป่าหรือของนกและแมลง การจะเข้าถึง ใจต้องนิ่ง ต้องวางความรู้และเรื่องราวชีวิตทั้งอดีตอนาคตลง มิฉะนั้นแม้มองแต่ก็จะไม่เห็น ฟังแต่ก็จะไม่ได้ยิน นอกจากความสวยงามของธรรมชาติแล้วมันยังมีบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เรียกไม่ถูก ส่องแสงขึ้นมาจากภายในตัวเรา สิ่งนี้จะปรากฏแก่เราเมื่อเราอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในปัจจุบันนี้เท่านั้น ความสุขสงบจากภายในอาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆไม่กี่วินาทีก่อนที่ความคิดจะกลับมา แต่มันก็อยู่ที่นั่น ไม่งั้นคุณจะไม่ได้สัมผัสความงดงามหรอก เพราะความคิดสร้างความงดงามให้คุณสัมผัสไม่ได้ ความที่ช่วงเวลาสุขสงบจากภายในนั้นสั้นนัก คุณอาจไม่ทันได้แยกแยะขั้นตอนการเกิดเป็นขั้นๆในระหว่าง ความงดงาม การรับรู้ด้วยจิต การตีความตั้งชื่อในรูปของความคิด ประเด็นก็คือพอความคิดมาแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ในใจก็คือความจำเกี่ยวกับความคิดนั้นเท่านั้น บางคนจึงไม่เคยรับรู้ความงามของธรรมชาติเลย เพราะเขาไม่นิ่ง ไม่อยู่ที่นั้น เขาจึงไม่เคยเห็นความงามของธรรมชาติ

     คราวนี้คุณลองหลับตาลง หันความสนใจเข้าสู่ภายในร่างกาย รับรู้ร่างกายจากภายใน รู้สึกไหมว่ามีสนามพลังงานแผ่วๆที่มือ แขน ขา เท้า ท้อง หน้าอก ที่คนจีนเขาเรียกว่า “ชี่” นั่นแหละ พลังงานนี้ทำให้ทุกอวัยวะทุกเซลมีชีวิต คุณรับรู้ได้ไหมว่ามันเป็นสนามพลังงานที่หลอมรวมเป็นอันเดียวกันทั้งร่างกาย อย่าไปคิดถึงมันนะ แต่ให้คุณรับรู้มัน (feel it) ยิ่งคุณสนใจมันมาก คุณยิ่งรับรู้พลังงานนี้ได้แรง ราวกับว่าเซลอีกมากมายตื่นขึ้นมามีพลัง อย่าไปจินตนาการให้เห็นภาพ ให้สนใจที่จะรับรู้พลังงานด้วยความรู้สึก เพราะภาพ จะยังไงเสียก็เป็นรูปร่าง เป็นของหลอก ไม่ใช่ตัวพลังงานจริงๆ พลังงานจริงๆนี้คุณจะรับรู้มันได้จากอายตนะบนผิวหนัง เช่นความรู้สึกร้อนวาบ หรือขนลุก หรือรู้สึกยิบๆ หรือซ่าๆ หรือคันๆ หรือชาๆเหน็บๆ หรืออุ่นๆ หรือสั่นสะเทือน ฝ่ามือและนิ้วมือจะเป็นจุดรับรู้พลังงานนี้ได้ง่ายที่สุด แล้วก็ค่อยๆขยายความสนใจไปรับรู้ที่ผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายจนทั่วร่างกาย ที่เขาเรียกว่า “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” นั่นแหละ ใช่เลย แค่สนใจความรู้สึกบนร่างกาย ร่างกายคุณก็จะพลันมีชีวิต ให้คุณนิ่งรับรู้พลังงานของอวัยวะต่างๆจุดละสักสิบห้าวินาที จนถ้วนทั่วร่างกาย

     คราวนี้คุณค่อยๆลืมตาขึ้นได้ละ แต่ยังสนใจสนามพลังงานในร่างกายนี้อยู่นะ แม้ขณะที่คุณกวาดสายตามองออกไปรอบๆ ให้คุณยังใส่ใจเชื่อมโยงกับสนามพลังงานภายในร่างกายนี้อยู่ เพราะสนามพลังงานในร่างกายนี้มันสำคัญ เมื่อคุณเอาจิตสำนึกรับรู้ที่ปลอดความคิดเชื่อมโยงเข้ากับสนามพลังงานในร่างกายนี้ได้ มันจะจูงคุณไปสู่ความสุขสงบจากภายในเอง เมื่อคุณมองออกไปรอบๆ ให้มองให้เห็นสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น อย่าไปตั้งชื่อ หรือตีความ หรือพิพากษา แล้วคุณจะประหลาดใจว่าของง่ายๆคุ้นๆตาที่คุณไม่เคยใส่ใจรายละเอียดอย่างหมอนหรือผ้าห่ม แก้วน้ำ ดอกไม้ ทุกอย่างล้วนมีความสวยงามหรือเป็นตัวของมันเองอย่างที่คุณไม่เคยรับรู้มาก่อน

     ให้คุณฝึกเอาจิตสำนึกรับรู้ที่ปลอดความคิดเชื่อมโยงเข้ากับสนามพลังในร่างกายอย่างที่ผมบอกข้างต้นบ่อยๆ ทุกวันๆ แล้วคุณก็จะพบกับความสุขสงบจากภายในด้วยตัวเอง ไม่มีใครสามารถบอกเล่าเป็นคำพูดให้คุณเห็นได้แจ่มแจ้ง ไม่มีใครพิสูจน์ด้วยวิธีการใดให้คุณยอมรับได้ มีทางเดียวคือคุณต้องฝึกทำจนพบกับมันด้วยตัวเองเท่านั้น คุณนั่นแหละจะเป็นผู้พิสูจน์ให้ตัวคุณยอมรับเอง

     นอกจากการพยายามเชื่อมโยงจิตที่ปลอดความคิดเข้ากับสนามพลังงานในร่างกายซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางหลักหรือทางสายเอกแล้ว การเข้าไปสู่ความสุขสงบจากภายในยังมีอีกหลายทาง ได้แก่ (1) การอยู่กับปัจจุบัน (2) การยอมรับหรือยอมแพ้ทุกอย่างในปัจจุบันอย่างศิโรราบไม่มีเงื่อนไข (3) การอยู่ในความว่าง หมายถึงว่างจากความคิดนะ (4) การอยู่ในความนิ่งและรับรู้บรรยากาศที่นิ่ง (5) การอยู่ในความเงียบและรับรู้ความเงียบ (6) การขยายจิตสำนึกรับรู้ออกจากตัวเองไปครอบคลุมสิ่งนอกตัวอย่างกว้างไกลไร้ขอบเขต (ที่เขาเรียกกันว่า “แผ่เมตตา” นะแหละ) หรือแม้กระทั่ง (7) การรับรู้ความผ่อนคลายของร่างกายขณะพักหลังการออกกำลังกายหนักๆจนเหนื่อย ก็ล้วนเป็นช่องทางให้คุณเข้าไปสู่ความสุขสงบจากภายในได้ง่าย ยิ่งหากคุณทำทุกอย่างที่ผมว่ามาแล้วนี้ได้ทั้งหมดบ่อยๆทุกวันๆ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่คุณจะเข้าถึงความสุขสงบจากภายในได้มากสูงสุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์