Latest

LPRD ดีหรือ GERD ดี หรือเป็นคนบ้าดี

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

ดิฉันมักจะอ่านบล็อกคุณหมออยู่บ่อยๆ ได้ความรู้ดีมาก เพราะอาจารย์มักให้ข้อมูลดีๆที่หาอ่านที่อื่นไม่ได้
วันนี้จะขอปรึกษาคุณหมออาการป่วยของตัวเองค่ะ

ปัจจุบันดิฉันอายุ 47 ปี คือดิฉันเวลาป่วยเป็นหวัด ไอ มักจะไอนานมาก 3-4 เดือนกว่าจะหาย เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ป่วยทีไรจะรีบหาหมอ กินยา ไม่ปล่อยทิ้งไว้เลย แต่ก็ยังใช้เวลานานมากหลายเดือนกว่าจะหาย เป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ เกือบทุกปี จนชีวิตย่ำแย่มาก เพราะใน  1 ปี จะมีถึง 4 เดือนที่ป่วยไอ อย่างหนัก ไอจนไม่มีแรง อ่อนเพลีย หาหมอทั้งด้านหู คอ จมูก ภูมิแพ้ ทางเดินหายใจ ก็ไม่ทราบว่าทำไมไอนานขนาดนี้ ทุกครั้งก็เอกซ์เรย์ ปอด เอกซ์เรย์ไซนัส มีบางปีที่มีอาการไซนัสอักเสบ แต่ส่วนใหญ่ปกติค่ะ

จนเมื่อ  5 ปีก่อน ป่วยเป็นหวัด ไอ หาหมอหลายด้าน ก็ไม่หาย เพื่อนเลยแนะนำไปรามาพบอาจารย์หมอด้านทางเดินหายใจ หมอฟังปอด บอกว่าคุณเป็นหอบหืด หมอให้ทาน theophylline  prednisolone  พ่น seretine  พ่น berodual หลังจากใช้ยาสักพัก อาการก็แย่ลง มีอาการอาหารจุกที่คอ หายใจลำบาก แอดมิท ที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไกล้ที่ทำงานเล่าอาการให้หมอฟัง หมอบอกว่าคุณอาจเป็นกรดไหลย้อนนะ หมอให้ทานยาลดยากลุ่ม PPI แล้วอาการดีขึ้นก็ discharge แต่อาการไอ เสมหะ เยอะยังไม่หายนะคะ ก็กลับไปหาหมอที่รามาบอกคุณหมอฟังว่า admit ไป หมอสงสัยมีกรดไหลย้อนให้ทายาลดกรดแล้วดีขึ้น คุณหมอท่านนี้ก็บอกว่าไม่ใช่หรอกคุณเป็นหอบหืด ดิฉันก็เชื่อหมอ ก็หมอเป็นถึงศาสตราจารย์ และเพื่อนบอกหมอท่านนี้เก่ง  กินยาพ่นยาต่อ อาการไอ กับเสมหะ ลดลงคะ แต่ เหนือย หายใจไม่ค่อยออก แล้วมีอาการร้อนที่คอเหมือนมีไฟลน กินอะไรไม่ได้ ยิ่งกินยิ่งร้อนมาก ดิฉันเลยหาข้อมูลในเวบ และคิดว่ากรดไหลย้อนแน่ๆ เลยไปพบหมอทางเดินอาหารที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ หมอดูคอบอกว่าน่าจะกรดไหลย้อน กินอาหารไม่ได้มา 2  วันแล้ว อ่อนเพลียมากให้แอดมิทให้น้ำเกลือ แล้วส่องกล้อง ผลคือเป็นกรดไหลย้อน แต่เป็น LPR ไม่ใช่ GERD รักษาตัวกินยาอยู่ 8 เดือนกว่าจะหาย หลังจากนั้นก้อพยายามดูแลเรื่อง อาหาร ไม่นอนหลังกินอิ่ม และหลีกเลี่ยงในที่ที่คนอยู่เยอะ กลัวติดหวัดเพราะรู้ตัวว่าเป็นหวัด ไอทีไร เสร็จไอหลายเดือนค่ะ ดิฉันก้อรอดพ้นมาหลายปี ไม่ป่วยเลย  พอมาเดือนตุลานี้ เป็นหวัด ไอ เอาอีกแล้ว รักษามาตลอดหลายเดือนไม่หาย หาหมอ หู คอ จมูก และทางเดินหายใจ ไม่หายสักที ยังคงไอ มีเสมหะเยอะ พูดไม่ไหว ไม่มีแรงพูด เหนื่อย หายใจ ลำบาก จุกลิ้นปี่บ้าง เลยคิดว่ากรดไหลย้อนมาอีกแหงๆ เลยไปหาหมอทางเดินอาหารอีก หมอจับส่องกล้องอีก
ผลก็คือเป็นกรดไหลย้อนนะคะ มีการอักเสบแดงที่ bilateral arytrenoid
มี telangiectasia at cardia
hypertrophic gastric mucosa at fundus
chornic gastritis at distal corpus
chornic gastritis at antrum
gastritis antrum and pylorus
mild duodenitis at bulb
คุณหมอก็ไม่ได้อธิบายทุกภาพที่ถ่ายให้ฟังนะคะ บอกว่ากรดไหลย้อน grade A ให้ทานยา

คราวนี้เลยหาข้อมูลในเวบของหมอที่อเมริกา ว่ามีพูดโรคนี้ยังไงบ้างส่วนใหญ่หมอจะบอกว่าต้องใช้ยา double dose ของการรักษา GERD แต่ตอนนี้หมอให้ทาน dexilant  30 mg. แค่ 1 เม็ดก่อนอาการเช้า ก้อ แสบท้องตลอดเลยค่ะ ก็กินผลไม้ลองท้องทุก 1.30 ชม. แต่เลือกผลไม้ที่ไม่เปรี้ยว เข่น ลูกพลับ แตงโม แคนตาลูป ชมพู่ แต่ ปัญหาคือกินบ่อยเสมหะก็ออกเยอะ แล้วทำให้ไอ ก็ไม่รู้จะทำไงดี รอกลับไปพบหมอว่าต้องเพิ่มยาไหมค่ะ

มีหมอท่านนึงด้านทางเดินอาหารที่อเมริกาเขียนไว้ว่าคนไข้ที่เป็น LPR ส่วนใหญ่อาการ LPR จะกำเริบเมื่อมีการป่วยติดเชื้อ ไอ ซึ่งมันใช่เลยสำหรับดิฉันค่ะ

สิ่งที่อยากถามคุณหมอคือ

1. ผลส่องกล้องดิฉันมีอะไรที่ต้องกังวลไหม มี chornic gastritis หลายจุด (เข้าใจว่าเป็นการอักเสบเรื้อรัง) ควรดูแลตัวเองอย่างไร แม้จะหายจากไอ รอบนี้แล้วต้องทำยังไง ให้การอักเสบเรื้อรังนี้หายไป

2. ถ้าป่วยติดเชื้อ ไอ เมื่อไร จะทำอย่างไรไม่ให้ LPR กำเริบมีวิธีไหนช่วยได้ไหมค่ะ ต้องกินยาลดกรดไปพร้อมๆกับยาพวก antibiotic เลยดีไหมค่ะ

3. มีสมุนไพรอะไรที่กินแล้วช่วยให้ทำให้อาการกรดไหลย้อนไม่รุนแรงจะได้ไม่ต้องใช้ยาเยอะมีไหมคะ เห็นมีการพูดถึง DGL licorice กับ probiotic

4. มีการออกำลังกาย หรือ วิธีใดที่จะทำให้หูรูด LES มันแข็งแรงขึ้น ปิดได้สนิทขึ้น

ดิฉันป่วยบ่อยมากในช่วง 20  ปี ที่ผ่านมา ไม่กล้าไปเที่ยวในช่วงหน้าหนาวที่ไหนเลย เพราะที่ผ่านมาพอไปกลับมาจะป่วยค่ะ กลัวกลับมาป่วยมากๆ เบื่อตัวเองมากไม่ทราบจะทำยังไงดีจริงๆค่ะ

ขอบพระคุณคุณหมอมากๆนะคะ

Sent from my Samsung Galaxy smartphone.

……………………………

ตอบครับ

     ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ ขอพูดเรื่อง “บ้าดี” ก่อนนะ เพราะกำลังคิดได้ แก่แล้ว หากคิดอะไรได้ไม่รีบเขียนแล้วก็จะลืม อีกอย่างหนึ่ง มันก็เกี่ยวกับการจัดการปัญหาของคุณอยู่ไม่น้อย

     คำว่า “บ้าดี” นี้ผมหมายถึงการหลงไปสร้างคอนเซ็พท์หรือความคิดเป็นตุเป็นตะเล็กๆขึ้นมาในห้วงจิตสำนึกรับรู้อันใหญ่โตของมนุษย์เราเปรียบเหมือนกบเอากะลามาครอบตัวเองไว้ แล้วไปยึดถือว่าเป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจังว่าโลกทั้งโลกมันก็มีอยู่แค่เนี้ยะ ในแง่ของการรับรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ความคิดเล็กๆแยกส่วนที่สร้างขึ้นมานี้เรียกง่ายๆว่า “อีโก้” หรือ “ตัวกู” ในแง่ของการเป็นคนดีคนชั่วคอนเซ็พท์แบบนี้ก็คือความ “บ้าดี” ในแง่ของสุขภาพ ความคิดเล็กๆแยกส่วนนี้ผมขอตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่าการจัดการสุขภาพแบบคุณหญิงละเอียด (health micromanagement) คือต้องวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไรให้ได้ก่อนหนึ่งในหมื่นโรคที่ตำราแพทย์นิยามไว้ แล้วต้องจัดการแบบคุณหญิงละเอียดคือต้องเติมยานั่น วิตามินนี่ ทาตรงนั้น ตัดตรงนี้ออก ยิ่งเดินแนวทางการแพทย์แบบคุณหญิงละเอียดนี้ไปนานเท่าใด สาขาการแพทย์ยิ่งแตกแขนงซอยย่อยยุบยิบยับมากขึ้นจนโรคในการแพทย์สาขาหนึ่ง เอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วแพทย์ที่อยู่ในอีกสาขาหนึ่งหูไม่กระดิกเลย เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในชีวิต ข้างคนป่วยนั้นก็เต้นแทงโก้เข้าขากับแพทย์เป็นปี่เป็นขลุ่ย คือขยันอ่านอินเตอร์เน็ท พออาการโรคนี้เหมือนของตัวเองเปี๊ยบก็วินิจฉัยเลยว่า..ใช่แน่ แต่ว่าทำอย่างคุณหญิงละเอียดนี้แล้วใช่ว่าสุขภาพของผู้คนจะดีขึ้นนะ เปล่าเลย โรคทั้งหลายที่แตกชื่อขยายนิยามแบ่งกลุ่มแบ่งชั้นออกไปนั้นก็คือโรคเดิมนั่นแหละ คือ “โรคที่แพทย์ไม่รู้สาเหตุและไม่มีปัญญารักษา” แล้วการวินิจฉัยที่หมอของคุณทุกหมอวินิจฉัยไปก็ถูกหมดแม้ชื่อโรคไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโรค GERD, หรือ LPRD, หรือ Asthma ก็ล้วนถูกหมด ขึ้นอยู่กับหมอเขาจะวินิจฉัยจากงวง หรือจากขา หรือจากหางของช้าง วินิจฉัยอย่างไรก็ถูก เพราะโรคของคุณมันเป็นโรคช้าง จะงวง จะขา จะหาง มันก็ช้าง..ง เหมือนกัน

     เขียนมาถึงเรื่องการที่คนเราชอบแบ่งกลุ่ม ตั้งนิยาม จัดลำดับชั้นแยกแยะให้เห็นความแตกต่างนี้ จะว่าแต่เนื้อหาวิชาแพทย์ก็ไม่ได้ มันเป็นไปหมดทุกวงการ อย่างคนไปปฏิบัติธรรมก็จะปวดหัวกับเรื่องชั้นของการบรรลุ เธอได้โสดาแล้วหรือ เห็นว่าท่านได้อนาคาแล้วนะ ไม่มั่ง..น่าจะอยู่ที่สกิทามากกว่า เห็นแมะ ว่าคนปฏิบัติธรรมก็บ้า เอ๊ย ไม่ใช่ก็ชอบนิยามเรื่องของเขาแบบคุณหญิงละเอียดเหมือนกัน

     แม้ในวงการเมืองก็ไม่เว้น เมื่อวานนี้ผมขับรถมาจากมวกเหล็กมีผู้ขอโดยสารมาด้วยหลายคน ได้ยินผู้โดยสารอ่านข่าวจากเฟซให้ฟังว่าคุณลุง…(ท่านผู้นำของเรา) ต้องการให้คนไทยเป็นคนเบอร์ 4.0 ผมถามว่าเบอร์ 4.0 หมายความว่าอย่างไร ก็ได้รับคำตอบจากผู้โดยสารว่า

     ” ยกตัวอย่างง่ายๆ ติ๊งต่างว่าถ้าท่านมีโทรศัพท์ แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐานก็ยังคงเป็น“คนไทย 1.0 ถ้าหากท่านใช้มือถือ ในการส่งอีเมล ส่งไฟล์เอกสาร ท่านก็เป็นคนไทย 2.0 แต่ถ้าหากสามารถใช้มือถือสมาร์ทโฟนแทนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อออกอินเตอร์เน็ต ไปค้นหาความรู้ใหม่ๆ   พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านอาจได้ชื่อว่าเป็น คนไทย 3.0  ยิ่งหากท่านสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แบบว่าทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็น คนไทย 4.0”

     ผมจึงถามแซวคนอ่านข่าวด้วยความรักชอบคุณลุงเป็นการส่วนตัวว่า แล้วตัวคุณลุงท่านบอกว่าท่านเป็นคนไทยเบอร์อะไร คนอ่านข่าวยังไม่ทันตอบ ก็มีเสียงเด็กตอบมาจากหลังรถว่า

     “..คุณลุง..เป็นเบอร์ 0.4”

    ฮ้า ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

    หิ หิ เปล่าล้อเลียนนะครับคุณลุง แซวเล่นด้วยความรักน้บถือ

     กลับมาพูดถึงเรื่องบ้าดีของเราต่อดีกว่า ประเด็นคือว่าทั้งคนไข้ทั้งหมอต่างพากันมุ่งไปสู่การจัดการโรคแบบคุณนายละเอียด health micromanagement โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าโรคเหล่านั้นเกิดจากอะไร ต้องรักษาอย่างไร พอลงไปละเอียดก็ลืมภาพรวมของการมีสุขภาพดี วงการแพทย์รู้แต่ว่าระบบต่างๆของร่างกายมีหลายระบบที่ผูกพันลึกซื้งกับความเครียด ในกรณีของคุณก็คือระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะเกิดการอักเสบหรือต่อต้านสิ่งแปลกปลอมขึ้นที่นั่นที่นี่ วงการแพทย์รู้แน่ชัดแล้วว่าความเครียดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันรวน จากตรงนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้

     ลองถอยมามองภาพใหญ่ดู การจะสบายกายสบายใจคนเราต้องเข้าใจภาพใหญ่ของการเกิดความเครียด ต้องเข้าใจชีวิตในภาพรวม นึกภาพกบอยู่ในกะลา ถ้ามันยังคิดว่าตัวมันใหญ่คับโลกทั้งใบซึ่งก็คือกะลาใบนี้ แล้วคุณคิดว่ามันจะสบายกายสบายใจได้ไหม การจะสบายกายสบายใจของคนเราก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องรู้ให้ถูกต้องก่อนว่าจริงๆแล้วเนี่ยเราเป็นใคร มาอยู่นี่ได้ไง แล้วจะไปไหนต่อ ไหนคุณลองตอบผมมาซิ ว่าคุณเป็นใคร ใช่ ผมถามคุณ คุณนั่นแหละ คุณเป็นใคร Who are you?

     ถ้าคุณไม่น็อตหลุดใส่ผมเสียก่อน คุณก็คงจะใจเย็นๆตอบอย่างจริงใจว่า

     “…ดิฉันเหรอคะ ก็เป็นหญิงอายุ 47 ปี มีการศึกษาสูง ระดับเมืองนอกเมืองนา ฝรั่งมังค่า ฟุตฟิตฟอไฟ สนใจฟูมฟักดูแลสุขภาพตัวเองทำทุกอย่างตามแพทย์แนะนำ ดิฉันเป็นเจ้าของร่างกายนี้ซึ่งก็มีแต่ความเจ็บป่วยไม่สบายที่ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำให้ดิฉันกังวลถึงอนาคต ว่าวันนี้ขนาดนี้ วันหน้าจะไม่แย่กว่านี้หรือ”

     สิ่งที่คุณตอบมานั่น ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ตัวคุณ มันเป็นเพียงความคิด หรือคอนเซ็พท์เล็กๆหรือ “องค์” ที่คุณวาดขึ้นเกี่ยวกับตัวคุณ จะเรียกมันว่าอีโก้ หรือตัวกู หรือ separated self ก็คงได้ ความเป็นจริงก็คือความคิดไม่ใช่ตัวคุณที่แท้จริง ร่างกายของคุณก็ไม่ใช่ตัวคุณที่แท้จริง ตัวคุณที่แท้จริงคือจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ซึ่งเป็นตัวให้กำเนิดความคิดและร่างกายของคุณอีกต่อหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ความคิดของคุณไม่ซิ้งค์ (sync) กับจิตสำนึกรับรู้ของคุณ เมื่อนั้นก็จะเกิดความคิดลบขึ้นในใจคุณ ซึ่งรวมไปถึงความกังวลถึงอนาคตที่ไม่มีอยู่จริงด้วย เมื่อเกิดความคิดลบหรืออารมณ์ลบขึ้นก็จะแสดงออกเป็นอาการสาระพัดสาระเพทางร่างกายของคุณ นั่นก็คือโรคที่หมอขยันตั้งชื่อให้ แต่ไม่รู้ว่าจะรักษามันอย่างไร

     เอาละ ผมได้พูดเรื่องที่ผมกลัวจะลืมเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าผลส่องกล้องมีอะไรที่ต้องกังวลไหม ตอบว่าไม่มี แต่ตัวความกังวลของคุณนั่นแหละเป็นอะไรที่จะต้องจัดการให้หายขาดให้ได้

     2.  ถามว่าถ้าป่วยติดเชื้อ ไอ เมื่อไร จะทำอย่างไรไม่ให้ LPR กำเริบ ต้องกินยาลดกรดไปพร้อมๆกับยาพวก antibiotic เลยดีไหม ตอบว่ากินยาอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการดูแลร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ แข็งแรง มีชีวิตชีวา (vibrant) ด้วยการออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารที่มีพืชผักผลไม้ที่หลากหลาย นอนหลับให้พอ และจัดการความเครียดให้ดี

     3. ถามว่ามีสมุนไพรอะไรที่กินแล้วช่วยให้ทำให้อาการกรดไหลย้อนไม่รุนแรง ถ้ากิน DGL, licorice กับ probiotic ดีไหม ตอบว่า ณ วันนี้ยังไม่มีงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบว่าสมุนไพรอะไรกินแล้วจะทำให้อาการของกรดไหลย้อนดีขึ้น แปลไทยให้เป็นไทยก็คือตอบว่าผมไม่รู้ จึงแนะนำว่าคุณอยากกินสมุนไพรอะไรก็กินไปเถอะ กินแบบเสี่ยงเอาเอง เพราะวงการแพทย์ต้องอาศัยหน่วยกล้าตายอย่างคุณจึงจะได้ข้อมูลมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆต่อไปในวันหน้า

     4. ถามว่าการออกกำลังกายแบบไหนที่จะทำให้หูรูด LES มันแข็งแรงขึ้น ตอบว่ากล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหาร (LES) เป็นกล้ามเนื้อเรียบ อยู่นอกเหนือการควบคุณของจิตใจ คุณไปสั่งมันให้ออกกำลังกายไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าคุณออกกำลังกายให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของคุณมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ ด้วยการออกกำลังกายควบทั้งแบบแอโรบิกและการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้โปรดเข้าใจว่าผลวิจัยทางสรีรวิทยาพบว่าการเกิดกรดไหลย้อนเป็นปรากฏการณ์ปกติในคนปกติทุกคน แต่มีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีปฏิกริยาการอักเสบที่นั่นที่นี่ตามมาในระดับรุนแรงจนมีอาการ

     5. ถามว่าควรดูแลตัวเองอย่างไร ตอบว่าความรู้แพทย์ปัจจุบันนี้พบว่าสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนเป็นโรคในกลุ่มนี้ (กรดไหลย้อน -GERD, คอและกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังจากกรดไหลย้อน – LPRD,  หอบหืดเรื้อรังจากกรดไหลย้อน – irritative Asthma) สิ่งที่จะช่วยได้คือ

ขั้นที่ 1. ปรับวิถีชีวิตก่อน โดย
(1) ถ้าน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนัก
(2) เลิกแอลกอฮอล์ ชอกโกแลต น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ กาแฟ
(3) เปลี่ยนวิธีทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆหลายๆมื้อ
(4) หลังอาหารมื้อเย็น 3 ชั่วโมง ห้ามนอน
(5) ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขา

ขั้นที่ 2. ใช้ยา ได้แก่
(1) ยาลดกรด หลังอาหารและก่อนนอน
(2) ยาลดการหลั่งกรดเช่น Ranitidine (Zantac)
(3) ยากั้นโปรตอนปั๊ม คือยาชื่อลงท้ายด้วย azole ตัวใดก็ได้ดีเท่ากันทุกตัว เช่นยา Lansoprazole (Prevacid) และ Esomeprazole (Nexium) จัดเป็นกลุ่มที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้ มักได้ผลใน 8 สัปดาห์ มีข้อเสียที่ทำให้ร่างกายเสียแคลเซียมซึ่งทำให้กระดูกพรุนได้ และถ้ากินนานๆทำให้ไตวายเรื้อรังได้
(4) ยาเสริมการเคลื่อนไหวของกระเพาะลำไส้ เช่นยา metoclopramide (Plasil) ใช้ได้ผลบ้างในรายที่อาการไม่มาก และใช้ได้แต่ในระยะสั้นเท่านั้น

ขั้นที่ 3. ทำผ่าตัด ถ้า
(1) อาการคุมไม่ได้ด้วยวิธีอื่นๆทุกอย่างแล้ว หรือ
(2) เยื่อบุปลายล่างของหลอดอาหารอักเสบไปมากจนจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดหลอดอาหารตีบไปเสียก่อนเพราะการอักเสบ
(3) มีภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน เช่นปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง หูอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น
(4) มีปัญหาอื่นที่ทำให้ใช้ยากั้นโปรตอนปั๊มไม่ได้ เช่นเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

     วิธีทำผ่าตัดก็คือเอากระเพาะอาหารไปม้วนหุ้มรอบหลอดอาหารส่วนล่างเพื่อช่วยเป็นลิ้นบีบกล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารอีกแรงหนึ่ง สมัยนี้มักนิยมผ่าแบบผ่านกล้องซึ่งจะทำให้แผลหน้าท้องเล็กและหายเร็วกว่า การผ่าตัดมีโอกาสหายสูงกว่าการกินยามากน้อยแค่ไหน ตอบได้จากงานวิจัยร่วมของยุโรปซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เขาเอาผู้ป่วยที่กินยารักษาโรคนี้อยู่มา 357 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ผ่าตัด อีกกลุ่มหนึ่งให้ผ่าตัด แล้วตามดูเมื่อสิ้นสุด 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ผ่าตัดหยุดยาได้ 62% ส่วนกลุ่มไม่ผ่าตัดหยุดยาได้ 10% และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนคุณภาพชีวิตแล้วกลุ่มที่ผ่าตัดก็ดีกว่าด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้การผ่าตัดกลายมาเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ แต่อย่าลืมว่านี่ดูกันปีเดียว ระยะยาวเกินหนึ่งไปยังไม่รู้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้

     6. ถามว่าป่วยบ่อยมากในช่วง 20  ปี ไม่กล้าไปเที่ยวที่ไหนเลย เพราะไปกลับมาจะป่วย เบื่อตัวเองมากไม่ทราบจะทำยังไงดี

     ตอบว่าถ้าผมเป็นคุณ ผมจะเลิก micromanage สุขภาพของตัวเอง หันมาให้ความสนใจกับภาพใหญ่ของการมีสุขภาพดี เริ่มต้นตั้งแต่สนามหลวง คือการลดความเครียดกังวลด้วยการทำความเข้าใจกับชีวิตและการฝึกสติก่อน คุณอยู่ในเมืองไทยหรือเปล่า ถ้าอยู่ในเมืองไทยผมแนะนำให้หาเวลามาเข้าแค้มป์ฝึกสติรักษาโรค (MBT) รุ่นต่อไปคือ MBT4 วันที่ 4 มีค. 60 ถ้าจะมาจริงให้ดูรายละเอียดตรงนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2016/11/mbt3-3.html ถ้ามาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ให้ลองขยันเปิดอ่านดูในบล็อกนี้จะมีอยู่หลายครั้งที่ผมสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ไว้ในคำตอบหลายเรื่อง ให้คุณค่อยๆอ่านแล้วจับความเอาไปปฏิบัติเอง ควบคู่กันไปก็ปรับวิถีชีวิตในด้านอื่นไปสู่การมีสุขภาพดี เช่น ออกกำลังกายทุกวัน จัดเวลานอนให้พอ กินอาหารที่มีพืชผักผลไม้ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติให้หลากหลาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hampel H, Abraham NS, El-Serag HB. Meta-analysis: obesity and the risk for gastroesophageal reflux disease and its complications. Ann Intern Med. Aug 2 2005;143(3):199-211.

2. Yang YX, Lewis JD, Epstein S, Metz DC. Long-term proton pump inhibitor therapy and risk of hip fracture. JAMA. Dec 27 2006;296(24):2947-53. [Medline]. [Full Text].

3. Agency for Healthcare Research and Quality. Comparative Effectiveness of Management Strategies for Gastroesophageal Reflux Disease – Executive Summary. AHRQ pub. no. 06-EHC003-1. December 2005. Available at http://effectivehealthcare.ahrq.gov/healthInfo.cfm?infotype=rr&ProcessID=1&DocID=42. Accessed April 2, 2011.

4. Lundell L, Miettinen P, Myrvold HE, et al. Continued (5-year) followup of a randomized clinical study comparing antireflux surgery and omeprazole in gastroesophageal reflux disease. J Am Coll Surg. Feb 2001;192(2):172-9; discussion 179-81.

5. Grant AM, Wileman SM, Ramsay CR, et al. Minimal access surgery compared with medical management for chronic gastro-oesophageal reflux disease: UK collaborative randomised trial. BMJ. Dec 15 2008;337:a2664.